แฟ้มภาพ วัคซีน ChulaCOV19 ที่นำมาทดสอบในมนุษย์เมื่อปี 2564
 
แฟ้มภาพ วัคซีน ChulaCOV19 ที่นำมาทดสอบในมนุษย์เมื่อปี 2564

จุฬาฯ เผยข่าวดี วัคซีนโควิด ChulaCov19 สัญชาติไทย ผลิตล็อตแรกในประเทศแล้ว ยื่นขอ อย.อนุมัติทดสอบในคน คาดเริ่มได้เร็วๆ นี้ หากผลดีจ่อขึ้นทะเบียน ระหว่างนี้พัฒนารุ่น 2 รับ“โอมิครอน” เพื่อให้เร็วขึ้น ย้ำ พัฒนาครบวงจร ช่วยพึ่งพาตนเองหากมีระบาดใหม่

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด “ChulaCov19” ชนิด mRNA สัญชาติไทย ว่า ภาพรวมถือว่าเป็นข่าวดี ซึ่งการพัฒนาระยะแรกเป็นการออกแบบวัคซีน และให้โรงงานในสหรัฐอเมริกาผลิตล็อตแรก มีข่าวดีว่า ผ่านการพิสูจน์ในอาสาสมัครระยะที่ 1 และ 2 เรียบร้อยแล้ว มีความปลอดภัย กระตุ้นภูมิได้สูงเป็นที่น่าพอใจ ขนาดที่เราเลือกเมื่อเทียบกับวัคซีนไฟเซอร์ที่อนุมัติใช้ในไทย เราได้ภูมิที่สูงกว่าชัดเจน

ส่วนระยะที่ 2 คือ การผลิตวัคซีนในประเทศ โดยบริษัท ไบโอเน็ตเอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานในไทย สามารถผลิตวัคซีนล็อตแรกเรียบร้อยแล้ว ผ่านการประกันคุณภาพแล้ว ทีมวิจัยได้ส่งเอกสาร ข้อมูลต่างๆ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอทดสอบในอาสาสมัครระยะที่ 1 และ 2 อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจาก อย. คาดว่า จะได้รับคำตอบเร็วๆ นี้ หากทดสอบได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ น่าจะขอขึ้นทะเบียนวัคซีนได้ภายในปลายปี 2565

 

“ขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดในประเทศเริ่มดีขึ้น แต่การพัฒนาวัคซีนไม่ได้หยุด เราอยากเห็นวัคซีนรุ่นที่ 1 ที่ผลิตโดยคนไทยที่ตอนนี้พัฒนากันอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ วัคซีน mRNA ของจุฬาฯ วัคซีนใบยา และวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม หากขึ้นทะเบียนได้ก่อน 1 ชนิด หรือทั้งหมดจะยิ่งดี โดยวัคซีนรุ่นที่ 1 ตามขั้นตอนควรได้รับการขึ้นทะเบียนก่อน ผ่านการพิสูจน์ว่าปลอดภัย ระหว่างขอขึ้นทะเบียนก็มีการพัฒนารุ่นที่ 2 เพื่อป้องกันเชื้อโอมิครอนไปพร้อมกัน เพื่อรอขึ้นทะเบียนลำดับต่อไป” ศ.นพ.เกียรติกล่าว

แฟ้มภาพ การฉีดวัคซีน ChulaCOV19 ในอาสาสมัครเมื่อปี 2564
 
แฟ้มภาพ การฉีดวัคซีน ChulaCOV19 ในอาสาสมัครเมื่อปี 2564


ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีเทคโนโลยีของเราเอง ตั้งแต่คิดค้น ออกแบบ ทดสอบ และผลิตได้ในโรงงานในประเทศ ทำให้เราพึ่งพาตัวเองได้ หากเกิดการระบาดของโควิดกลับมาใหม่ ไม่ว่าสายพันธุ์ไหน หรือเกิดโรคระบาดใหม่ๆ ขึ้น เราก็จะสามารถพัฒนาวัคซีนได้เองในระยะเวลาที่เร็วขึ้น เพราะเราพัฒนาได้ครบห่วงโซ่ด้วยตัวเราเอง

 

“ถ้าวัคซีนไทยขึ้นทะเบียนได้ภายในปีนี้ ก็ต้องอาศัยทุกภาคส่วนช่วยกันสนับสนุน แต่การผลิตวัคซีนต้องทำเป็นขั้นตอน พิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย จุดประสงค์หลักของการพัฒนาวัคซีนของไทย เพื่อให้พึ่งพาตนเองได้ ช่วยกระจายวัคซีนให้ประเทศเพื่อนบ้านได้เร็วขึ้น หากเกิดโรคระบาดและการที่เรามีเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น เราจะทำได้เร็วขึ้น ทั้งคิดค้น ออกแบบ ผลิตและทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 ภายในไม่เกิน 6 เดือน ไม่ใช่ใช้เวลานานปีกว่าเหมือนตอนนี้ เพราะห่วงโซ่ยังไม่ครบวงจร” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

แฟ้มภาพ การฉีดวัคซีน ChulaCOV19 ในอาสาสมัครเมื่อปี 2564
 
แฟ้มภาพ การฉีดวัคซีน ChulaCOV19 ในอาสาสมัครเมื่อปี 2564

 

ข้อมูลจาก https://mgronline.com/qol/detail/9650000042337

 
อัพเดตล่าสุด สูตรวัคซีนโควิด-19เด็ก เร่งฉีดก่อนเปิดเรียน on-site
อัพเดตสูตรฉีดวัคซีนโควิด-19เด็กวัยเรียน   กลุ่ม12-17 ปีฉีดเข็ม3 บูสเตอร์ยังน้อยเพียง 5.2 % แจ้งประสงค์บูสเตอร์ไฟเซอร์ ครึ่งโดสกว่า 1.75 ล้านคน สธ.เร่งฉีดรับเปิดเทอม1/2565 เปิดเรียน on-site

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  การบริหารจัดการกฉีดวัคซีนโควิด-19ในนักเรียน นักศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเรียนที่ 1/2565 โดยมติการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 451 เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2565 เห็นชอบ 1.มอบสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประสานหารือสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ในการดำเนินการสำรวจความครอบคลุมการได้รับวัคซีนของนักเรียนในแต่ละโรงเรียน 2.มอบสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/กรุงเทพมหานคร กำกับติดตามการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามนโยบายแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข 3.เห็นชอบแผนเร่งรัดฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเป้าหมายอายุ 5-17 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเรียนที่ 1/2565

 

เด็ก12-17 ปีบูสเตอร์ ฉีดครึ่งโดส
ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค. 2565 ผลการฉีดวัคซีนโควิด-19กลุ่มเป้าหมายอายุ 12-17 ปีจำนวนเป้าหมาย 4.7 ล้านคน จากฐานข้อมูล MOPH IC   ฉีดเข็มที่ 1แล้ว 3.6 ล้านคน คิดเป็น 77.2 % ฉีดเข็มที่ 2แล้ว 3.5 ล้านคน คิดเป็น 75.5 % ฉีดเข็มที่ 3แล้ว 2.4 แสนคน คิดเป็น 5.2%  

แผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับกลุ่มเป้าหมายอายุ 12-17 ปี

1. การเข้ารับบริการ เลือกได้ตามความสมัครใจ

- ผ่านระบบสถานพยาบาล บริการทั้งขนาดฉีดเต็มโดส และฉีดครึ่งโดส

- ผ่านระบบสถานศึกษา บริการขนาดฉีดครึ่งโดส

2. การฉีดผ่านระบบสถานศึกษา ข้อมูลจากศึกษาธิการจังหวัดประสานไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ณ วันที่ 28 เมษายน 2565 มีนักเรียนอายุ 12 ปี ขึ้นไป ที่ประสงค์ต้องการรับวัคซีน Pfizer เข็มกระตุ้นขนาดฉีดครึ่งโดส จำนวน 1.75 ล้านคน คิดเป็น 50 % (โดยเปรียบเทียบกับผลการฉีดเข็ม 2 จากระบบ MOPH IC)

3. การจัดสรรวัคซีน กรมควบคุมโรคจะจัดส่งวัคซีน Pfizer ฝาม่วงสำหรับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ภายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565

   ฉีดวัคซีนโควิด-19เด็ก5-11 ปี
ส่วนผลการฉีดวัคซีนโควิด-19เด็ก กลุ่มเป้าหมายอายุ 5-11 ปี  จำนวนเป้าหมาย 5.1 ล้านคน ข้อมูลจากระบบ MOPH IC วันที่ 2 พ.ค.2565  ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 2.7 ล้านคน คิดเป็น 53.3 %  และเข็ม 2 แล้ว  6.7 แสนคน คิดเป็น 13.1 %

         แผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19เด็กสำหรับกลุ่มเป้าหมายอายุ 5-11 ปี

1. อยู่ในระหว่างการเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 สูตร Pfizer-Pfizer

2. กรมควบคุมโรคได้ทำการสำรวจข้อมูลในเต็กอายุ 5-11 ปี ที่ประสงค์รับวัคซีนเพิ่มเติม ข้อมูล ณ วันที่ 28 เม.ย. 2565 ดังนี้

1. วัคซีน Pfizer เข็ม 1 เก็บตก จำนวน 1.1 แสนคน

2. วัคซีน Pfizer สำหรับการฉีดเป็นเข็มที่ 2 สูตรไขว้ Sinovac-Pfizer จำนวน 1.6 แสนคน

3. กรมควบคุมโรคได้ทยอยจัดส่งวัคนให้กับทั้งกลุ่มเป้าหมายที่มีกำหนดนัดฉีดและที่แสดงความประสงค์เพิ่มเติมในทุกสัปดาห์
อัพเดตล่าสุด สูตรวัคซีนโควิด-19เด็ก เร่งฉีดก่อนเปิดเรียน on-site
สูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19เด็ก

   อนึ่ง สำหรับสูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19เด็ก ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน คือ

 อายุ 5-6 ปี 

เข็ม 1 ไฟเซอร์  เข็ม 2ไฟเซอร์  ห่างกัน  8 สัปดาห์ เข็ม 3 ยังไม่มีกำหนด

อายุ 6-11 ปี 
เข็ม 1 ไฟเซอร์  เข็ม 2ไฟเซอร์  ห่างกัน  8 สัปดาห์ เข็ม 3 ยังไม่มีกำหนด
เข็ม 1 ซิโนแวค เข็ม 2 ไฟเซอร์  ห่างกัน 4 สัปดาห์ ยังไม่มีกำหนด
  อายุ 12-17 ปี 

เข็ม 1 ไฟเซอร์  เข็ม 2 ไฟเซอร์ ห่างกัน 3-4 สัปดาห์  เข็ม 3 ไฟเซอร์ ห่างกัน 4-6 เดือน เต็มโดส/ครึ่งโดส

เข็ม 1 ซิโนแวค เข็ม 2 ไฟเซอร์ ห่างกัน 4 สัปดาห์ เข็ม 3 ไฟเซอร์ ห่างกัน 4-6 เดือน  เต็มโดส
อายุ 6-17 ปี

เข็ม 1 ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม  เข็ม 2  ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม ห่างกัน 4 สัปดาห์  เข็มที่ 3 ไฟเซอร์ เต็มโดส ตามช่วงอายุ ห่างกัน 4 สัปดาห์

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1002434?anf=

ซิโนแวค ไบโอเทค เผยผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong) ระบุว่า การได้รับวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac)” 3 เข็ม สามารถป้องกันการเสียชีวิตหรือความเจ็บป่วยรุนแรงได้ 98% ในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งเป็นข้อมูลที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของวัคซีนเข็มกระตุ้นแก่ผู้ที่ได้รับเชื้อโควิด-19

จากรายงานพบว่าหลังจากการฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ระดับประสิทธิผล (effective rate) ของวัคซีนซิโนแวค (SINOVAC) ช่วยป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ถึง 97.9% และประสิทธิผลของวัคซีน ไบโอเอ็นเทค (BioNTech) อยู่ที่ 98.0% ทั้งนี้ ระดับประสิทธิผลในการป้องกันการเสียชีวิตของวัคซีนซิโนแวค และ ไบโอเอ็นเทค เท่ากับ 98.3% และ 98.1% ตามลำดับ

การศึกษาวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นด้วยว่า สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ในกรณีที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม ระดับประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวค และ ไบโอเอ็นเทค ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง อยู่ที่ 72.2% และ 89.6% ตามลำดับ ส่วนระดับประสิทธิผลในการป้องกันการเสียชีวิตอยู่ที่ 77.4% และ 92.3% ตามลำดับ ส่วนผลการศึกษาจากสถานการณ์จริงก็ยืนยันประสิทธิผลของวัคซีนชนิดเชื้อตายของจีนเช่นกัน และข้อดีด้านความปลอดภัยของวัคซีนชนิดนี้ยังสามารถลดอาการข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงได้ เช่น มีไข้สูง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) รวมถึงอาการแพ้เฉียบพลันที่เกิดจากการใช้วัคซีน mRNA ในปริมาณมาก

ผลการวิจัยซึ่งวิเคราะห์ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในช่วงที่เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนระบาดอย่างต่อเนื่องในฮ่องกง ซึ่งส่งผลต่อกลยุทธ์การจัดการโควิดในประเทศจีน โดยข้อมูลของทางการของจีนแสดงให้เห็นว่า ความครอบคลุมของวัคซีนของผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม อยู่ที่ 88% และผู้คนจำนวน 659 ล้านคน ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว อย่างไรก็ตามจากข้อมูลปัจจุบันที่เป็นทางการ ยังมีช่องว่างที่ควรได้รับการปรับปรุงในส่วนของอัตราการฉีดวัคซีนของกลุ่มผู้สูงอายุในบางพื้นที่ เนื่องจากประมาณครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุที่มีอายุ 80 ปี ขึ้นไปยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย

ในเดือนตุลาคม ปี 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 3 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปี ที่เคยได้รับวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว การศึกษาครั้งนี้สนับสนุนสมมติฐานที่ว่า การได้รับวัคซีนซิโนแวค 3 เข็ม สามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงหรือการเสียชีวิตในผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีได้ดีกว่าการได้รับวัคซีนซิโนแวค เพียง 2 เข็ม

ข้อมูลจาก https://www.plewseengern.com/plewseengern/86624?fbclid=IwAR0MWE7CGbI3dqxRsjiDWGGO_un5m3RJgD-sjb6_iOFcTvjv51cR8mPyhXw

 
ระวัง!ไข้มาลาเรีย “โนวไซ” ติดจากลิง แบ่งตัวในคนเร็ว 
 
กรมควบคุมโรค เตือนระวังโรคไข้มาลาเรียสายพันธุ์ “โนวไซ” ติดต่อจากลิง แบ่งตัวในร่างกายคนได้เร็ว-มากกว่าเชื้อชนิดอื่น อาการไข้สูง หนาวสั่น การรักษายังใช้ตัวยาเดียวกับเชื้อชนิดอื่นได้ หากสงสัยให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสลิง เพื่อรักษาได้ทันเวลา

วันนี้ (2 พฤษภาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้มาลาเรียชนิด “โนวไซ” (Plasmodium knowlesi) เป็นโรคไข้มาลาเรียที่ติดต่อจากลิงสู่คน โดยยุงก้นปล่องกัดลิงที่มีเชื้อแล้วมากัดคน ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่ายุงสามารถนำเชื้อจากคนสู่คนได้ ลิงที่เป็นสัตว์รังโรคในไทย ได้แก่ ลิงกัง ลิงวอก ลิงเสน ลิงแสม และลิงอ้ายเงี๊ยะ พบรายงานผู้ป่วยในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2547 และพบปีละประมาณ 10 รายมาตลอด แต่ในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 - 31 มีนาคม 2565 พบผู้ป่วยไข้มาลาเรียจากเชื้อชนิดนี้แล้ว 70 ราย โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดระนอง สงขลา และตราด
          ดังนั้น ผู้ที่มีประวัติสัมผัสลิงในป่าในพื้นที่จังหวัดดังกล่าว แล้วมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น เหงื่อออกมาก ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และแจ้งประวัติเข้าป่า เพื่อให้การรักษารวดเร็ว เพราะหากช้าอาจจะมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตได้ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือผู้ทำงานในป่า นักท่องเที่ยว ควรป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุง และนอนในมุ้ง

นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้มาลาเรียอย่างเข้มแข็ง โดยใช้เทคโนโลยีการรายงานผู้ป่วยผ่านระบบมาลาเรียออนไลน์ในการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งแจ้งเตือนภัยทุกสัปดาห์ และเมื่อพบผู้ป่วยแต่ละราย มีการใช้มาตรการ 1-3-7 คือ รายงานผู้ป่วย ภายใน 1 วัน ติดตามสอบสวนการป่วย ภายใน 3 วัน และดำเนินการควบคุมกำจัด การแพร่เชื้อโรคไข้มาลาเรียอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใน 7 วัน รวมถึงมียารักษาที่เพียงพอ

ทั้งนี้ กองโรคติดต่อนำโดยแมลง ได้ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนองและสงขลา ดำเนินการสอบสวนโรคผู้ป่วยไข้มาลาเรียโนวไซที่พบเพิ่มมากขึ้นอย่างละเอียด เพื่อวางแผนป้องกันควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะได้ประสานดำเนินการกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและ พันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสำรวจและควบคุมโรคในลิงที่เป็นรังโรคด้วย  และขอให้หน่วยงานสาธารณสุขและผู้นำชุมชน ร่วมประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากโรค ไข้มาลาเรียชนิดนี้ด้วย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1002120?anf=

 

"หมอมนูญ" ยกเคสวัคซีนช่วยเสริม "ยารักษาโควิด" ลดความรุนแรงโควิดได้ดีกว่า 

"หมอมนูญ" ยกเคสเปรียบเทียบ ผู้รับ "ยารักษาโควิด" โมลนูพิราเวียร์ พบผู้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม รักษาอาการได้ดีกว่าผู้ไม่ได้รับวัคซีน แนะเลิกใช้ ฟาวิพิราเวียร์ ในการรักษาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง

"หมอมนูญ" นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ยกเคสเปรียบเทียบผู้ป่วยสูงอายุ 2 คน คนหนึ่งได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม อีกคนหนึ่งไม่เคยรับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว ได้ "ยารักษาโควิด" โมลนูพิราเวียร์ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการรุนแรง
หลังติดเชื้อไวรัสโควิด19

ผู้ป่วยชายอายุ 74 ปี มีโรคความดันโลหิตสูง ต่อมลูกหมากโต ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม เข็มสุดท้ายเดือนมิถุนายน 2564 เริ่มมีไข้ ไอ เจ็บคอ 3 วัน ไม่เหนื่อย

ตรวจพบติดเชื้อไวรัสโควิด RT-PCR บวก วันที่ 3 เมษายน 2565 ระดับออกซิเจนในเลือดปกติ เอกซเรย์ปอดปกติ เริ่มยาโมลนูพิราเวียร์ 4 แคปซูล ทุก 12 ชั่วโมง ไข้ลง ไอ เจ็บคอดีขึ้น ไม่มีผลข้างเคียงจากยา หลังกินยาโมลนูพิราเวียร์ครบ 5 วัน สบายดี กลับบ้านได้ ติดตามอีก 2 สัปดาห์ เอกซเรย์ปอดปกติ

ผู้ป่วยชายอายุ 77 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่เคยฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว ไอ มีเสมหะ 4 วัน ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย ตรวจพบติดเชื้อไวรัสโควิด19 RT-PCR บวกวันที่ 11 เมษายน 2565 ระดับออกซิเจนในเลือดปกติ เอกซเรย์ปอดปกติ ค่าบ่งชี้ถึงการอักเสบในร่างกายปกติ hs-CRP 1.6 (ค่าปกติ 0-5) เริ่มยาโมลนูพิราเวียร์วันที่ 12 เมษายน 2565 ไอ เสมหะลดลง ไม่มีผลข้างเคียงจากยา หลังกินยาครบ 5 วันอาการดีขึ้น แต่วันที่ 18 เมษายน หลังหยุดยาโมลนูพิราเวียร์ 1 วัน มีไข้ เจ็บคอ ตรวจพบค่าการอักเสบในร่างกายเพิ่มขึ้น hs-CRP 30.2 เอกซเรย์ปอดปกติ ระดับออกซิเจนในเลือดยังปกติ ได้ให้ยาสเตียรอยด์ 5 วัน อาการไข้ ระคายคอดีขึ้น ติดตามผู้ป่วยดีขึ้น เอกซเรย์ปอดปกติ

สรุป : การได้รับวัคซีน 2 เข็มถึงแม้จะยังไม่ได้เข็มกระตุ้น ดีกว่าไม่เคยรับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว วัคซีนช่วยทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ยาโมลนูพิราเวียร์ ให้เร็วภายใน 5 วัน มีประสิทธิภาพช่วยป้องกันคนสูงอายุที่ยังไม่ได้วัคซีนเข็มแรก หรือได้รับ 2 เข็มยังไม่ได้เข็มกระตุ้น ไม่ให้ป่วยรุนแรง ป้องกันปอดอักเสบได้ ถึงเวลาแล้วที่แพทย์ไทยไม่ควรใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีความเสี่ยงสูงเกิดอาการรุนแรง เพราะเรามียาที่มีประสิทธิภาพดีกว่า

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/513542?adz=

"วัคซีนเข็ม 4 จำเป็นไหม" วันที่ Omicron เป็นสายพันธุ์หลัก ไม่หายใน 6 เดือน
 
 

"วัคซีนเข็ม 4 จำเป็นไหม" ในวันที่ "โอไมครอน" ระบาดเป็นสายพันธุ์หลัก และไม่หายใน 3-6 เดือน หมอมนต์เดช ตอบแล้ว วัคซีนเข็มที่ 4 ยังจำเป็น พบภูมิจากเข็มที่ 3 ไม่เพียงพอ

การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย แม้จะมีผู้ติดเชื้อลดลง แต่สังคมยังมีคำถามประเด็นเรื่อง "วัคซีนเข็ม 4 จำเป็นไหม" โดย ผศ.นพ.มนต์เดช สุขปราณี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ได้ให้มุมมองว่า หากจะรับมือกับ โอไมครอน อย่างอยู่หมัด วัคซีนเข็มสี่อาจมีความจำเป็น

 
 

เจาะประสิทธิภาพเข็มสามต่อสายพันธุ์โอไมครอน

หลังจากที่เราใช้ชีวิตอยู่กับโควิด19 มากว่า 2 ปี เป็นที่ทราบกันดีว่า ระดับภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนต่อเชื้อไวรัสนั้นจะเริ่มลดลงหลังจาก 6-8 เดือน นั่นจึงเป็นที่มาของการฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์โอไมครอน ผศ.นพ. มนต์เดช อธิบายว่า "ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนมีจุดกลายพันธุ์มากถึง 30 จุดที่ส่วนยึดจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ ทำให้หลุดรอดภูมิต้านทานได้มากกว่าเดิม และทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีน 2 เข็มอาจไม่เพียงพอ"

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine ซึ่งทำการศึกษาระหว่างการแพร่ระบาดของโอไมครอน (พฤศจิกายน 2564 - มกราคม 2565) พบว่า วัคซีนแอสตราเซนเนกาแทบไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อแบบไม่มีอาการได้เลย หลังจากได้รับวัคซีน 2 เข็มตั้งแต่ 20 - 24 สัปดาห์ ในขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์อยู่ที่ 65.5% ก่อนจะลดลงเหลือเพียง 8.8% หลังจาก 25 สัปดาห์ และวัคซีนโมเดอร์น่าอยู่ที่ 75.1% ก่อนลดลงเหลือ 14.9% ภายในช่วงเวลาเดียวกัน

ผลวิจัยระบุว่า หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่สาม ชนิด mRNA วัคซีนสามารถช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงกับหลังจากได้รับวัคซีน 2 เข็มแรก อย่างไรก็ตาม ระดับภูมิต้านทานมีแนวโน้มลดลงค่อนข้างเร็ว โดยหลังจาก 10 สัปดาห์ ประสิทธิผลของวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่สามลดลงเหลือ 39.6% หากได้รับวัคซีนแอสตราเซนเนกา 2 เข็มแรก และเหลือ 45.9% หากได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มแรก ในขณะที่ประสิทธิผลของวัคซีนโมเดอร์น่าภายหลัง 5 - 9 สัปดาห์ลดลงเหลือ 60.9% และ 64.4% ตามลำดับ

ผศ.นพ.มนต์เดช อธิบายต่อว่า "ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า ประสิทธิผลของวัคซีน mRNA ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์น่าในการเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถป้องกันสายพันธุ์โอไมครอนได้ในระดับที่ดี แต่วัคซีนทั้ง 2 ชนิดอาจไม่ได้เป็นเหมือนพี่น้องฝาแฝดกันเสียทีเดียว จากผลการศึกษา พอจะสรุปได้ว่า วัคซีนโมเดอร์น่าถือว่ามีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่า และความคงทนของภูมิต้านทานที่นานกว่า ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากการใช้งานจริงของวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ในช่วงสายพันธุ์เดลต้าระบาดในหลายประเทศ เช่น อิสราเอล กาตาร์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา"

ผลข้างเคียง mRNA น่ากังวลแค่ไหน

วันนี้วัคซีน mRNA มีการใช้กันมากขึ้นในประเทศไทย แต่บางคนอาจยังมีความไม่มั่นใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ผศ.นพ.มนต์เดช กล่าวว่า ในการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลเมดพาร์คทั้งหมด 252,378 โดส ไม่ได้พบผลข้างเคียงรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน

"สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ ผลข้างเคียงที่พบมี 3 ราย ได้แก่ 2 รายเกิดอาการชักและความดันโลหิตสูง แต่กลับมาเป็นปกติภายใน 2 - 3 นาที โดยคนไข้มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง เมื่ออาการดีขึ้นก็กลับบ้านได้ ส่วนรายที่ 3 อายุ 90 ปี ความดันโลหิตต่ำและมีอาการถ่ายดำจากเลือดออกทางลำไส้ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนฉีดวัคซีน จึงได้รับรักษาตัวใน ICU และอาการดีขึ้นตามลำดับ ในส่วนของโมเดอร์น่า อาการที่พบบ่อย คือ อ่อนเพลีย เป็นไข้ ปวดเมื่อยตัว ง่วงนอน 1 - 3 วัน โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ไม่พบอาการภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่อย่างใด"

ต้องไปต่อหรือไม่กับเข็มสี่

ประเทศไทยได้เริ่มปูพรมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในวงกว้างตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 แต่ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายคนคงตั้งคำถามว่า มีความจำเป็นจะต้องฉีดเข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่สี่มากน้อยเพียงใด ผศ.นพ.มนต์เดช กล่าวว่า "การศึกษาในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่าระดับภูมิต้านทานต่อสายพันธุ์โอไมครอนมีแนวโน้มลดลงเร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้าอย่างมาก แม้วัคซีนเข็มที่สาม ที่มีประสิทธิภาพที่สุดต่อโอไมครอนอย่าง mRNA ก็ยังยืนระยะได้ไม่เกิน 3-6 เดือน ดังนั้น หากโอไมครอนไม่หายไปภายใน 3 - 6 เดือน การกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนเข็มสี่ ก็มีความจำเป็น"

สำหรับคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนชนิดต่างๆ จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ผศ.นพ.มนต์เดช แนะนำว่า "วัคซีนแอสตราเซนเนกา 2 เข็ม แม้จะรับมือกับสายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้าได้ดี แต่ยืนระยะได้ไม่นาน และต้องมีการกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์ แต่ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอไมครอนของไฟเซอร์ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก และยังลดลงค่อนข้างเร็ว สำหรับ วัคซีน mRNA 3 เข็ม ยังถือว่ารับมือกับโอไมครอนได้ดี โดยเฉพาะหากเข็มที่สาม เป็นโมเดอร์น่า จะยืนระยะได้นานที่สุดประมาณ 6 เดือนหรือน้อยกว่า อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้ผลิตวัคซีนยังคงเร่งศึกษาวิจัยวัคซีนจำเพาะสายพันธุ์โอไมครอน จึงต้องติดตามข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป"

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/513508?adz=

หมอมนูญ ระบุการได้รับวัคซีน 2 เข็มถึงแม้จะยังไม่ได้เข็มกระตุ้น ดีกว่าไม่เคยรับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว  วัคซีนช่วยทำให้ผลการรักษาดีขึ้น

2 พ.ค.2565-นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ว่า เปรียบเทียบผู้ป่วยสูงอายุ 2 คน คนหนึ่งได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม อีกคนหนึ่งไม่เคยรับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการรุนแรงหลังติดเชื้อไวรัสโควิด-19

 

ผู้ป่วยชายอายุ 74 ปี มีโรคความดันโลหิตสูง ต่อมลูกหมากโต ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม เข็มสุดท้ายเดือนมิถุนายน 2564 เริ่มมีไข้ ไอ เจ็บคอ 3 วัน ไม่เหนื่อย ตรวจพบติดเชื้อไวรัสโควิด RT-PCR บวก วันที่ 3 เมษายน 2565 ระดับออกซิเจนในเลือดปกติ เอกซเรย์ปอดปกติ เริ่มยาโมลนูพิราเวียร์ 4 แคปซูล ทุก 12 ชั่วโมง ไข้ลง ไอ เจ็บคอดีขึ้น ไม่มีผลข้างเคียงจากยา หลังกินยาโมลนูพิราเวียร์ครบ 5 วัน สบายดี กลับบ้านได้ ติดตามอีก 2 สัปดาห์ เอกซเรย์ปอดปกติ

ผู้ป่วยชายอายุ 77 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่เคยฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว ไอ มีเสมหะ 4 วัน ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย ตรวจพบติดเชื้อไวรัสโควิด RT-PCR บวกวันที่ 11 เมษายน 2565 ระดับออกซิเจนในเลือดปกติ เอกซเรย์ปอดปกติ ค่าบ่งชี้ถึงการอักเสบในร่างกายปกติ hs-CRP 1.6 (ค่าปกติ 0-5) เริ่มยาโมลนูพิราเวียร์วันที่ 12 เมษายน 2565 ไอ เสมหะลดลง ไม่มีผลข้างเคียงจากยา หลังกินยาครบ 5 วันอาการดีขึ้น แต่วันที่ 18 เมษายน หลังหยุดยาโมลนูพิราเวียร์ 1 วัน มีไข้ เจ็บคอ ตรวจพบค่าการอักเสบในร่างกายเพิ่มขึ้น hs-CRP 30.2 เอกซเรย์ปอดปกติ ระดับออกซิเจนในเลือดยังปกติ ได้ให้ยาสเตียรอยด์ 5 วัน อาการไข้ ระคายคอดีขึ้น ติดตามผู้ป่วยดีขึ้น เอกซเรย์ปอดปกติ

สรุป: การได้รับวัคซีน 2 เข็มถึงแม้จะยังไม่ได้เข็มกระตุ้น ดีกว่าไม่เคยรับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว  วัคซีนช่วยทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ยาโมลนูพิราเวียร์ให้เร็วภายใน 5 วัน มีประสิทธิภาพช่วยป้องกันคนสูงอายุที่ยังไม่ได้วัคซีนเข็มแรก หรือได้รับ 2 เข็มยังไม่ได้เข็มกระตุ้น ไม่ให้ป่วยรุนแรง ป้องกันปอดอักเสบได้ ถึงเวลาแล้วที่แพทย์ไทยไม่ควรใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีความเสี่ยงสูงเกิดอาการรุนแรง เพราะเรามียาที่มีประสิทธิภาพดีกว่า

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/133882/

 
"หมอยง" แนะวิธีรับมือโควิดอย่างไรให้ปลอดภัยช่วง "เปิดเทอม" เช็คที่นี่
 
 

"หมอยง" แนะ วิธีรับมือโควิด-19 ช่วงเปิดเทอม1/2565 ทุกระดับที่อาจได้รับเชื้อ ทั้ง โรงเรียน นักเรียนทุกระดับชั้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก จนถึงพ่อแม่ผู้ปกครองทางบ้าน เช็คที่นี่มีรายละเอียด

ใกล้ "เปิดเทอม" ภาคเรียนที่1 /2565 แล้ว เด็กๆ และพ่อแม่ผู้ปกครอง คงจะตื่นเต้นดีใจ หวังได้เรียนออนไซต์ที่โรงเรียนเต็มรูปแบบในช่วงเปิดเทอมนี้ เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ ครู ผู้ปกครอง  ครูของครูแพทย์ หรือ "หมอยง" มีคำแนะนำดีๆ มาฝาก

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า ใกล้เปิดเทอมแล้ว เด็กต้องไปโรงเรียน หยุดมา 2 ปีแล้ว เรียนทางไกล สิงคโปร์ ปีที่แล้วไม่หยุดเรียน

ผู้ปกครองอดห่วงไม่ได้ การระบาดโรคทางเดินหายใจ จะเป็นช่วงเปิดเทอมฤดูฝน มิถุนายน ถึงกันยายน ทุกปี ถ้าเปิดเรียนปกติ โรคทางเดินหายใจ ไข้หวัดใหญ่ ไข้โควิด จะพบเพิ่มขึ้น เด็กเป็นผู้ขยายกระจายเชื้อได้ดี เราต้องช่วยกัน มีความพร้อมทั้งตัวนักเรียน ทางบ้าน และโรงเรียน

เด็กนักเรียน

โรคโควิด 19 ในเด็ก จะมีความรุนแรง และที่พบเสียชีวิตได้ ถึงแม้เป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนใหญ่พบในเด็กเล็กน้อยกว่า 5 ปี โดยเฉพาะ 2 ขวบปีแรก กลุ่มนี้ไม่มีวัคซีน ในบางประเทศเช่นจีน และอีกหลายประเทศ ให้วัคซีนเชื้อตายตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไป ประเทศไทย อย. ยังไม่อนุมัติให้ในเด็กต่ำกว่า 6 ปี ถ้าวัคซีนลดความรุนแรงของโรคได้ น่าจะต้องมีการพิจารณา

เด็กอนุบาล

เป็นเรื่องยากมากในการดูแล ทางด้านสุขอนามัย กำหนดระยะห่าง และหน้ากากอนามัย สำหรับเด็กเล็ก ในบางโอกาสก็ไม่เหมาะ จึงต้องช่วยกันโดยเฉพาะเด็กอนุบาล ที่จะเปิดเทอม

เด็กประถม

ควรรับวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อลดความรุนแรงของโรค เคร่งครัดในระเบียบวินัย เด็กป่วยต้องไม่ไปโรงเรียน มีการตรวจกรองสม่ำเสมอ เพื่อแยกผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ ด้วยวิธีที่เหมาะสม การใช้ ATK ทั้งประเทศคงเป็นการยาก

เด็กมัธยม

บางโรงเรียน นักเรียน ต้องมีการจัดการเป็นรูปธรรม ให้เปิดโรงเรียนได้ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ และมีนักเรียนต่อห้องจำนวนมาก

ทางบ้าน

เด็กมีโอกาสนำเชื้อจากบ้านไปสู่โรงเรียน หรือจากโรงเรียนกลับมาอยู่บ้าน คนในบ้านโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม เพื่อลดความรุนแรงของโรค เพราะมีโอกาสที่จะติดต่อกันในครอบครัว

ด้านโรงเรียน

ต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับของทุกคน และปฏิบัติได้ ตรวจกรองเด็กป่วย ทุกวัน เด็กป่วยต้องไม่ไปโรงเรียน เพื่อลดการสัมผัสกับนักเรียนอื่น การกักตัวนักเรียนเสี่ยงสูง ในการให้หยุดเรียน มีมาตรการชัดเจน เพื่อลดการระบาดในโรงเรียน เคร่งครัดสุขอนามัย กำหนดระยะห่าง ลดการสัมผัสโรค ใส่หน้ากากอนามัย

สถานที่เรียน

ควรโปร่ง อากาศถ่ายเทดี ในชนบทไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ถ้าห้องแอร์ ต้องมีการระบายอากาศ เปิดหน้าต่างเป็นครั้งคราว หรือเปิดไว้ เล็กน้อยเพื่อให้อากาศถ่ายเท ดูแลเรื่องความสะอาด มีสถานที่ล้างมืออย่างเพียงพอ

ทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อการศึกษาไทยได้เดินไปข้างหน้า

เราเสียเวลามา 2 ปี มากพอแล้ว

ขอบคุณที่มา : เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/news/512609?adz=

 

 
อาการ "Long COVID" เกิดได้สูง 20-40 % วัคซีนช่วยได้แต่ขึ้นอยู่กับชนิดที่ฉีด
 
 

อาการ "Long COVID" หมอธีระเผยเกิดได้สูงกว่า 20-40% แม้วัคซีนจะช่วยลดอาการได้แต่ขึ้นอยู่กับชนิดที่ฉีด ย้ำลองโควิดยังคงกระทบต่อชีวิตระยะยาว

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน  เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat  เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และการเกิดาภาวะ "Long COVID" หรือ "ลองโควิด" กับผู้ที่เคยติดเชื้อ โดยระบุ ว่า  24 เมษายน 2565  ทะลุ 509 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 542,456 คน ตายเพิ่ม 1,527 คน รวมแล้วติดไปรวม 509,057,806 คน เสียชีวิตรวม 6,241,856 คน  5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ อิตาลี และญี่ปุ่น
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 83.63 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 81.4
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 33.34 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 36.28 

สถานการณ์ระบาดของไทย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก
ทั้งนี้จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 23.41% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

...การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ภาวะผิดปกติหลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เรียกว่า "Long COVID" หรือ "Post-COVID Syndrome" นั้นจะเป็นปัญหาระยะยาว ทั้งต่อคนที่เป็น สมาชิกในครอบครัว/คนรัก/คนใกล้ชิด ที่ทำงาน และสังคม
เกิดขึ้นได้ทั้งคนที่เคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง โอกาสเกิดราว 20-40% ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง 
ยิ่งหากประเทศใดมีคนติดเชื้อมาก โอกาสเจอผู้ป่วยระยะยาวที่เป็น "Long COVID" ก็ยิ่งมากเป็นเงาตามตัว แม้มีงานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนครบ จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะ "Long COVID" ลงได้ราว 40% แต่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีนที่ใช้ และถึงแม้จะลดความเสี่ยงลงได้บ้าง แต่พอคูณเป็นจำนวนผู้ป่วยจริง (absolute number) ที่จะเกิดขึ้นก็ยังคงมหาศาล   

รศ.นพ. ธีระ ระบุเพิ่มเติมว่า ล่าสุดมีงานวิจัยจาก Taquet M และทีมงาน เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Brain, Behavior, and Immunity วันที่ 22 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา โดยทำการศึกษาแบบเปรียบเทียบย้อนหลังในประชากรของสหรัฐอเมริกาที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงมกราคมถึงสิงหาคม 2564 ที่มีประวัติได้รับและไม่ได้รับวัคซีน จำนวนราวกลุ่มละ 10,000 คน พบว่าอัตราการเกิด "Long COVID" ไม่ได้แตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการวิจัยขนาดใหญ่ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ ถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนมาแล้วหรือไม่ก็ตาม  
"Long COVID" เกิดได้ทุกเพศ ทั้งชายและหญิง ทุกวัย ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต วัยทำงาน และคนสูงอายุ
เพศหญิงเสี่ยงกว่าเพศชาย
ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก
ป่วยปานกลางและรุนแรง เสี่ยงกว่าป่วยน้อยและไม่มีอาการ แต่ทุกประเภทจะเกิด "Long COVID" ได้ทั้งสิ้น

ปัจจุบันเชื่อว่ามีกลไกหลายกลไกที่เกิดขึ้นได้ 
1. การมีการติดเชื้อในร่างกายแฝงอยู่ในเซลล์ของอวัยวะต่างๆ (persistent infection) 
2. การติดเชื้อทำให้เกิดกระบวนการอักเสบระยะยาวเรื้อรัง (chronic inflammatory process)
3. การติดเชื้อทำให้เกิดการทำงานอวัยวะ/ระบบต่างๆ ของร่างกายที่ผิดปกติไปจากเดิม (organ dysfunction from viral infection)
4. การติดเชื้อทำให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง (autoantibody)
5. การติดเชื้อทำให้เกิดการเสียสมดุลของเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะในทางเดินอาหาร และส่งผลต่อความผิดปกติของอวัยวะและระบบต่างๆ ตามมา (Dysbiosis)
Long COVID เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายแทบทุกระบบ ตั้งแต่สมอง/ระบบประสาท มีตั้งแต่ความจำเสื่อม คิดวิเคราะห์ลำบากหรือสมรรถนะถดถอยลงกว่าปกติ ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ปัญหาการนอนหลับ และความผิดปกติทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า เครียดวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน 
ไปจนถึงระบบอื่น 
ที่หนักหนาและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นคือ ปัญหาด้านหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่กล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อบุหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด หัวใจหยุดเต้น รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง และการอุดตันของหลอดเลือดตามที่ต่างๆ
ระบบหายใจมีปัญหา ทำให้เหนื่อยง่าย หอบเหนื่อย เพราะมีความผิดปกติของสมรรถนะของปอดและการแลกเปลี่ยนออกซิเจน
ระบบต่อมไร้ท่อ จะเกิดความผิดปกติ ได้แก่ การเกิดโรคเบาหวานในคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงคนที่เคยเป็นเบาหวานมาก่อนก็ประสบปัญหาคุมโรคได้ยากมากขึ้น และปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ
อาการทางระบบอื่นของร่างกาย ได้แก่ อ่อนเพลียอ่อนล้าจนทำงานไม่ไหว ออกกำลังกายไม่ไหว ผมร่วง และอาการปวดที่ต่างๆ ตามร่างกายทั้งกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ
อาการเกิดขึ้นได้ตั้งแต่หลายเดือนไปเป็นปี หรือเป็นแบบถาวร ขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้น
ยังไม่มีวิธีป้องกันหรือรักษาแบบเฉพาะเจาะจง นอกจากการป้องกันตนเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อ
การป้องกันที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลคือ 
"ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น"

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/512549?adz=

 

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ

กิจกรรม

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
3002430

มี 87 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซด์นี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา

นโยบายใช้งานคุกกี้