'วัคซีนโควิด' กับสตาร์ทอัพ

 

เจาะลึกสตาร์ทอัพและบริษัทวิจัย "วัคซีนโควิด" อย่าง Pfizer/BioNtech และ AstraZenaca กับเส้นทาง กระบวนคิดค้น และขั้นตอนการทดสอบ ภาพสะท้อนของสตาร์ทอัพที่ทำงานร่วมกับบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ในภาวะวิกฤติ

สองอาทิตย์ที่ผ่านมาน่าจะเป็นช่วงที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของมนุษยชาติ เมื่อทั้งผู้ผลิตยารายใหญ่อย่าง Pfizer/BioNtech, Moderna และ AstraZenaca/มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ต่างก็ประกาศความสำเร็จในการทดลองวัคซีนโควิด-19 ขั้นสุดท้ายกับกลุ่มทดลองที่เป็นคนหมู่มาก (กว่า 30-40,000 คน) แล้วมีผลที่น่าพึงพอใจ และอยู่ระหว่างการจดทะเบียนกับองค์กรอาหารและยาในประเทศต่างๆ เพื่อการผลิตเป็นมวลมาก (mass production) แล้วกระจายให้ประชากรโลกต่อไป

 

ผมจะขอเล่าถึงรายแรกที่ประกาศว่าผลเป็นที่น่าพอใจคือ Pfizer/BioNtech ก่อนนะครับ BioNtech เป็นสตาร์ทอัพหรือบริษัทวิจัยขนาดเล็กทางด้านชีววิทยา ที่ต้องการศึกษาวิธีการทำวัคซีนป้องกันมะเร็งต่างๆ ซึ่งใช้เทคนิคที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้มีการรับรองและอาจจะใช้เวลาอีกนานที่จะยอมรับถ้าไม่เกิดเหตุการณ์โควิด 

โดยปกติแล้ววัคซีนป้องกันไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ วิธีง่ายๆ คือฉีดเชื้อหวัดอ่อนๆ เข้าไปในร่างกายคน เมื่อร่างกายเจอเชื้อดังกล่าวก็จะสร้างเซลล์เพื่อทำการต่อสู้และฆ่าเชื้อดังกล่าว เมื่อสำเร็จก็จะทำให้คนคนนั้นมีภูมิคุ้มกัน เนื่องจากร่างกายรู้ว่าคือเชื้ออะไร และเคยเอาชนะเชื้อดังกล่าวอย่างไร นั่นคือการฉีดวัคซีนทั่วไปเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

แต่สิ่งที่กลุ่ม BioNTech วิจัยและพัฒนาคือสิ่งที่เรียกว่า messenger RNA หรือ mRNA กล่าวคือแทนที่จะส่งเชื้ออ่อน วัคซีนนี้ทำหน้าที่เป็นคนถือสาส์นที่ส่งข้อความหรือสัญญาณเข้าไปในร่างกายเพื่อบอกให้ร่างกายรู้ว่ากำลังจะถูกบุกรุกจากไวรัสชนิดไหน แล้วให้ร่างกายเตรียมตัวที่จะต่อต้านหรือกำจัดเชื้อดังกล่าว คงคล้ายกับคำสั่งในคอมพิวเตอร์ หรือการส่งสัญญาณให้เตรียมพร้อมว่าข้าศึกกำลังจะบุกในการสงครามเพื่อให้กองทัพเตรียมตัวให้พร้อม โดยโปรตีนที่จะทำลายข้าศึกได้คืออะไรบ้าง 

 

กระบวนการดังกล่าวเป็นการคิดที่แตกต่าง และอยู่ระหว่างการพิสูจน์ทางชีววิทยาและการแพทย์ แต่ภาวะโควิดทำให้สามารถนำมาใช้ทางปฏิบัติได้เร็วขึ้น โดย Dr.Ugur Sahin และ Dr.Ozlem Tureci คู่สามีภรรยาเชื้อสายตุรกีที่ครอบครัวของทั้งคู่อพยพไปประเทศเยอรมนี ได้ร่วมกันคิดค้นและก่อตั้งบริษัท BioNTech เมื่อ 12 ปีก่อนเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าว 

ในช่วงต้นนั้น เป็นการวิจัยหาวัคซีนเพื่อต่อต้านมะเร็ง แต่งานวิจัยเดียวกันนี้สามารถใช้กับโควิดได้ และในเดือน ก.พ.ปีนี้ หลังจากได้เห็นถึงรายละเอียดของโครงสร้างของไวรัส (genetic code) จากนักวิทยาศาสตร์จีน จึงได้หันมาพัฒนาวัคซีนดังกล่าว เมื่อมีความคืบหน้าและพิจารณาแล้วว่าจะต้องผลิตเป็นจำนวนมาก จึงได้เซ็นสัญญาร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ในวงการยาคือ Pfizer เพื่อที่จะสามารถตอบโจทย์ในการ scale up หรือขยายขึ้นเป็นธุรกิจ เพราะอย่างที่ทราบว่าหนึ่งคนต้องฉีดสองเข็ม และถ้าต้องให้ประชากรในยุโรปทั้ง 740 ล้านคนได้ฉีดวัคซีนดังกล่าว หมายถึงต้องเตรียมกว่า 1,500 ล้านชุด ซึ่งสตาร์ทอัพคงไม่สามารถที่จะตอบโจทย์

ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับบริษัทขนาดกลางหรือ Mittelstand (คงคล้ายกับ SME บ้านเรา) เมื่อบริษัทต่างๆ ทราบถึงความต้องการและความจำเป็นของการผลิตวัคซีนดังกล่าว เหล่า supply chain ก็มีการเตรียมตัวอย่างเร่งรีบ เช่น หลอดแก้วที่จะต้องบรรจุวัคซีนซึ่งมีบริษัท 2-3 แห่ง ผู้ผลิตที่ได้ประสานงานและเตรียมผลิตอย่างจำนวนมาก โดยสามารถผลิตได้ 1,000 ล้านชิ้นในระยะเวลาอันสั้น 

อีกประเด็นคือการเก็บรักษาหลอดดังกล่าวต้องเป็นที่อุณหภูมิต่ำถึง -70 องศาเซลเซียส ระหว่างการขนส่งจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง บริษัทอย่าง Va-Q-Tec ก็เตรียมพร้อมที่จะผลิต thermal box หรือกล่องเก็บความเย็นจำนวนมากเพื่อที่จะประสานกับ DHL ซึ่งเป็นบริษัทจัดส่ง (Logistic) ระดับโลกของเยอรมนีในการขนส่งทั้งในยุโรปและทวีปอื่นๆ เช่น เอเชีย แอฟริกา เป็นต้น จึงเห็นว่าการทำงานของประเทศเยอรมนีนั้นเป็นระบบและเตรียมพร้อมมาก

เทคโนโลยีของ Moderna เป็นแบบ mRNA เช่นกัน แต่สามารถเก็บโดยไม่เสื่อมคุณภาพได้ที่ -20 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้ต้นทุนการกักเก็บลดลง น่าจะมีราคาจะต่ำกว่ากลุ่มแรก และก็เห็นว่าได้ร่วมมือกับรัฐบาลของสหรัฐ เพื่อเตรียมพร้อมในการ scale up เช่นกัน 

ส่วน AstraZenaca ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด รัฐบาลอังกฤษและน่าจะรวมถึงรัฐบาลไทยด้วย ในการ scale up ยังคงใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมคือ ส่งม้า Trojan หรือเชื้ออ่อนๆ เข้าไปในร่างกายเพื่อสร้างภูมิก่อน พบว่าถ้าจะให้ได้ผลถึง 90% นั้น ต้องฉีดแค่ครึ่งเข็มในเข็มแรก แล้วเข็มที่สองจึงฉีดทั้งหลอด และด้วยที่เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมจึงน่าจะมีต้นทุนต่ำสุด ที่น่าจะเอื้อมถึงได้ไม่ยากสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย

จะเห็นว่าในภาวะโควิดนั้น แม้สตาร์ทอัพในหลายๆ อุตสาหกรรมได้หายไปจากเรดาร์ แต่ทางชีววิทยาและเภสัชกรรมมีการขยายตัวอย่างมาก แต่ที่สำคัญที่สุดคือการที่สตาร์ทอัพทำงานร่วมกับบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่เพื่อให้การขยายเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่เป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการอยู่รอดของชีวิตเรา

ก็หวังว่าทั้งสามบริษัท รวมถึงรายที่สี่คือสปุตนิกจากรัสเซีย ประสบความสำเร็จในการผลิตเป็นจำนวนมาก และโลกมนุษย์เราจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบ old normal ได้โดยเร็วนะครับ

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/910051?anf=

'สหรัฐ' ปิดดีล 'โมเดอร์นา' ซื้อวัคซีนโควิดกว่า 1.5 พันล้านดอลล์

“สหรัฐ” บรรลุข้อตกลงร่วม “โมเดอร์นา” ซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 100 ล้านโดส มูลค่ากว่า 1.5 พันล้านดอลล์

 

บริษัท โมเดอร์นา อิงค์ ร่วมกับทำเนียบขาว แถลงในวานนี้ (11 ส.ค.)ว่า รัฐบาลสหรัฐได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัทโมเดอร์นา อิงค์ของสหรัฐ เพื่อซื้อวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ปริมาณ 100 ล้านโดส มูลค่าราว 1.5 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ วัคซีนต้านโควิด-19 ของโมเดอร์นานั้น มีราคาต่อโดสอยู่ที่ราว 30.50 ดอลลาร์ ซึ่งประชาชนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าวจำนวน 2 โดสต่อคน

 

โมเดอร์นาเปิดเผยว่า วัคซีน mRNA-1273 เป็นหนึ่งในวัคซีนต้านโควิดเพียงไม่กี่ตัวที่เข้าสู่การทดลองขั้นสุดท้ายแล้ว และการทดลองดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐได้ทำข้อตกลงกับหลายบริษัทเพื่อซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวนหลายร้อยล้านโดส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Operation Warp Speed ที่มีเป้าหมายเพื่อจะเริ่มใช้วัคซีนในสหรัฐภายในสิ้นปีนี้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/893367?anf=

10 ส.ค. 63 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "สถานการณ์ทั่วโลก 10 สิงหาคม 2563 ติดเชื้อเพิ่มอีก 208,627 คน ตายเพิ่ม 4,449 คน ยอดรวมตอนนี้ 19,981,875 คน ช่วงสายๆ ของวันนี้จะทะลุ 20,000,000 คน

อเมริกา ติดเพิ่ม 46,266 คน รวม 5,192,022 คน ยอดผู้เสียชีวิตตอนนี้ 165,541 คน

 

บราซิล ติดเพิ่ม 23,010 คน รวม 3,035,422 คน เมื่อวานยอดเสียชีวิตทะลุ 100,000 คนไปแล้ว ทำให้บราซิลเป็นประเทศที่สองที่มีจำนวนคนตายเกินแสน รองจากอเมริกา

อินเดีย ติดเพิ่ม 62,117 คน รวม 2,214,137 คน

รัสเซีย ติดเพิ่ม 5,189 คน รวม 887,536 คน

แอฟริกาใต้ เม็กซิโก เปรู ติดกันเพิ่มอีก 6-7 พันกว่าคน

ในขณะที่สหราชอาณาจักร อิหร่าน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ติดกันหลักพันถึงหลายพัน เฉกเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่สถานการณ์ดูระบาดหนักขึ้นเรื่อยๆ

น่าเป็นห่วงญี่ปุ่น ที่เริ่มมีกระแสปลุกระดมให้ไม่ใส่หน้ากาก และให้เชื่อว่า "COVID-19 เป็นหวัดธรรมดา"...หากทางการไม่สามารถคุมโรคได้โดยเร็ว อาจพบจำนวนผู้เสียชีวิตสูงขึ้นมากในเวลาอันใกล้นี้ เพราะเขาเป็นสังคมสูงอายุ และในระยะยาว มีแนวโน้มว่าหากวัคซีนมีประสิทธิภาพที่ไม่สูงมากนัก ก็อาจทำให้กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค หรือพื้นที่ดงโรคได้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยวที่อาจแก้ไขได้ยาก

หลายประเทศในทวีปยุโรป ปากีสถาน แคนาดา สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มกันหลักร้อย

ส่วนจีน ฮ่องกง มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ติดเพิ่มกันหลักสิบ

...พรุ่งนี้รายงานอย่างเป็นทางการจะมียอดติดเชื้อทั่วโลกเกิน 20 ล้านคน...

หากเราลองฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายต่อหลายคน ทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ไทยเรามีโอกาสสูงมากที่จะเกิดการระบาดซ้ำในไม่ช้านี้

ความเห็นดังกล่าวนั้นตั้งอยู่บนความจริงที่ว่า รัฐแง้มประตูประเทศให้มีการเดินทางของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ จากต่างประเทศเข้ามาได้

หากเปิดอ้าซ่า ไม่มีประเทศใดเลยที่รอดจากการระบาดซ้ำ และระลอกสองนั้นรุนแรงกว่าระลอกแรก คุมยากกว่า และก่อให้เกิดความเสียหายที่หนักหนา

รัฐ ศบค. และสมช. โปรดทบทวนเกณฑ์ของระยะที่ 5-6 เสียใหม่

หากท่านตามข่าว ท่านจะพบว่ามีการใช้เกณฑ์ที่ประกาศไปเพื่อนำเข้ากลุ่มชาวต่างชาติจำนวนมาก

บางเรื่องดูจะมีความจำเป็น เช่น แรงงาน

บางเรื่อง ไม่ใช่ความจำเป็น ไม่มีก็ไม่ตาย ไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชนในประเทศ เช่น นักกีฬา นักวิ่งแข่งขัน นักฟุตบอล

บางเรื่อง อาจไม่ต้องนำเข้าและใช้คนไทยทำแทน หรือหากจะนำเข้าก็ควรมีรายละเอียดการคัดเลือกแหล่งที่มาให้ลดความเสี่ยงลงให้น้อยที่สุด เช่น ครูสอนภาษา เป็นต้น

โปรดคำนึงไว้เสมอว่า ทั่วโลกระบาดรุนแรง หลายต่อหลายประเทศมีอัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อสูงกว่าไทยหลายสิบเท่า

การนำเข้าแต่ละคน แต่ละครั้ง ล้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดการหลุดรอดของผู้ติดเชื้อเข้ามาสู่ชุมชน และแพร่ระบาดได้ จึงต้องขันน็อต ระแวดระวังให้ดี

ประชาชนไทยก็ควรตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าว และรักตัวเองรักครอบครัว ป้องกันตนเองเสมอ ใส่หน้ากาก...ล้างมือ...อยู่ห่างๆ คนอื่นหนึ่งเมตร พูดน้อยลง...พบปะคนน้อยลงสั้นลง เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว...หากไม่สบาย ให้หยุดเรียนหยุดงานและรีบไปตรวจรักษา".

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/73947

1 ส.ค.63 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กโดยมีเนื้อหาดังนี้

 

ติดเชื้อต่อวันทะลุสามแสนคน...ทำลายสถิติที่เคยมีมา 311,527 คน

ตายเพิ่มอีกถึง 7,012 คน สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ยอดรวมทั่วโลกติดเชื้อไปแล้ว 17,720,758 คน 

อเมริกา หนักหนาสาหัส ติดเพิ่มไปอีกถึง 72,389 คน รวม 4,697,705 คน ช่วงนี้มีตายแต่ละวันเกินพันมาตลอด

บราซิล ติดเพิ่ม 52,383 คน รวม 2,662,485 คน 

อินเดีย ติดเพิ่ม 57,430 คน รวม 1,696,780 คน

รัสเซีย ติดเพิ่ม 5,428 คน รวม 839,981 คน

เม็กซิโกเริ่มทิ้งห่างเปรู ติดเชื้อเพิ่ม 7,730 คน และ 6,809 คนตามลำดับ ยอดรวมแต่ละประเทศสี่แสนกว่า

สเปน เยอรมัน ฝรั่งเศส อิหร่าน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงญี่ปุ่น...ดูแล้วลำบาก ติดกันพันกว่าถึงหลายพันต่อวัน 

กลุ่มประเทศอื่นในยุโรปหลายต่อหลายประเทศ รวมถึงปากีสถาน ฮ่องกง ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และจีน ติดกันร้อยกว่าถึงเกือบพัน

ส่วนมาเลเซีย และเกาหลีใต้ ยังหลักสิบ
 
...บอกตรงๆ ว่า สถานการณ์การระบาดตอนนี้เป็นขาขึ้น และรุนแรงพร้อมกันทั่วโลก

ประเทศที่ยืนยันจะหาเงินด้วยการเปิดรับการเดินทางระหว่างกันตอนนี้ล้วนโซซัดโซเซ เจอการระบาดซ้ำอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราเห็นคือ ญี่ปุ่น 

ประเทศอื่นๆ ที่เคยคุมได้ดี ตอนนี้กลับอยู่ในภาวะลำบากมากทีเดียว ทั้งจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และเวียดนาม

ยุทธศาสตร์สำหรับการทำสงคราม COVID-19 ณ เวลานี้ จำเป็นต้องน้อมนำปรัชญา"เศรษฐกิจพอเพียง"มาใช้สำหรับประเทศไทยอย่างเต็มที่

อดทน...อดกลั้น...อดออม

ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง...เพื่อประคับประคองให้พอหายใจต่อได้ อยู่รอดได้ไปอีกราว 6-18 เดือนตามธรรมชาติของโรคระบาดที่เราสังเกตเห็นในอดีต

สำคัญที่สุดของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ "ยืนบนขาของตนเอง" และ "ลดการพึ่งพาต่างชาติ"

การที่รัฐตัดสินใจเปิดรับกลุ่มเป้าหมายทั้ง 4 กลุ่มไปล่าสุดนั้น ไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างด้าวราว 100,000 คนที่จะทยอยเข้ามา หรือกองถ่ายภาพยนตร์ ทีมงานแสดงสินค้า รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยและไม่ป่วยตาม Medical and wellness tourism นั้น...เป็นมาตรการที่นำความเสี่ยงมาสู่ประชาชนทุกคนภายในประเทศมากขึ้นอย่างมาก

โอกาสหลุดรอดจากระบบคัดกรอง กักตัว และติดตาม..."มี"

เคยวิเคราะห์ตามหลักการแล้วว่า 100,000 คน อาจมีโอกาสติดเชื้อ 500 คน และหลุดจากการคัดกรองมาตรฐานได้ราว 65 คน

หากระบบกักตัวไม่ดีพอ ไม่เคร่งครัด การออกมาแพร่ในวงกว้างก็มีสูง

และถึงแม้จะกัก 14 วัน ตามหลักวิชาการแพทย์แล้วยังมีโอกาสอยู่บ้างที่มีคนติดเชื้อบางคนที่อาจนำเชื้อต่อได้นานกว่า 14 วัน แม้โอกาสจะน้อยก็ตาม

ดังนั้น "หัวใจ"สำคัญที่สุดในการป้องกันประเทศของเราตอนนี้คือ

หนึ่ง ทุกคนควรตระหนัก และรับรู้ว่า เราเปิดประตูแล้ว ความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างมาก และยังไม่เห็นประเทศใดรอดจากการเปิดประตูประเทศได้เลย หากปล่อยให้ระบาดซ้ำ จะยากที่จะควบคุม และเราอาจมีทรัพยากรสู้ได้ไม่นาน โรคนี้ยังไม่มียารักษามาตรฐาน ไม่มีวัคซีนป้องกัน ติดง่ายกว่าไข้หวัดใหญ่ และทำให้เสียชีวิตได้
 
สอง ณ เวลานี้ ถึงเวลาที่ทุกคนในประเทศ ต้องรักตัวเองรักครอบครัว เตรียม"อุปกรณ์ป้องกัน" เตรียม"ตัว" เตรียม"ใจ" เตรียม"สถานที่" และ เตรียม"งาน" เพื่อพร้อมรับมือกับภัยคุกคามที่กำลังจะมาถึง หากเราป้องกันตัวอย่างเต็มที่ ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร พูดน้อยลง พบปะคนน้อยลงสั้นลง เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร ก็จะช่วยลดโอกาสแพร่ระบาดไปได้มาก

สาม จากวินาทีนี้เป็นต้นไป มีโอกาสที่เราจะติดเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว คนที่ติดเชื้อสามารถแพร่ให้คนอื่นได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ

ดังนั้นสำคัญมาก และควรทำอย่างยิ่งคือ "การคอยสังเกตอาการของตนเองและสมาชิกในครอบครัว"
หากไม่สบาย มีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ หรือท้องเสีย...ให้หยุดเรียน หยุดงาน และรีบไปตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ อย่าประมาทว่าเป็นอาการหวัดเล็กน้อยแล้วไม่ได้ไปตรวจ หากจะพักดูอาการตนเองสัก 1-2 วัน ก็ต้องแยกตัวจากคนอื่น หรือป้องกันให้เต็มที่ แต่จะให้ดีควรไปตรวจ และขอคุณหมอเค้าตรวจโควิดจะดีกว่าครับ

สำหรับรัฐ...ผมอยากเรียนเสนอว่า หากทบทวนมาตรการแง้มประตูประเทศ หยุดไว้ก่อน เอาเท่าที่จำเป็นจะดีกว่าและขอร้องว่า โปรดเลิกการผลักดันนโยบายฟองสบู่ท่องเที่ยวไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดๆ ไปก่อน อย่างน้อย 6 เดือน ถ้าขืนทำ...หายนะแน่นอน

นอกจากนี้สิ่งที่รัฐควรทำคือ ระบบการให้บริการตรวจ COVID-19 แก่ประชาชนทุกคนในประเทศ ให้สามารถเข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็ว ในไม่ช้านี้เราอาจจำเป็นต้องคัดกรอง COVID-19 ในคนที่มีอาการไข้หวัด หากมีการระบาดจากการแง้มประตูประเทศ ถ้าไม่เตรียมไว้ จะโกลาหลมาก และวิกฤติจะรุนแรงเกินกว่าจะควบคุมได้ครับ

ประเทศไทยต้องทำได้
ด้วยรักต่อทุกคน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net/

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/73087

6 พ.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 508,140 คน ตายเพิ่ม 2,097 คน รวมแล้วติดไปรวม 515,755,796 คน เสียชีวิตรวม 6,271,647 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อิตาลี และฝรั่งเศส เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 
 
 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 72.57 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 76.39 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 24.69 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 10.58

…สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก แม้ว่าจำนวนเสียชีวิตที่รายงานจะลดลงมากตั้งแต่ 1 พ.ค. เพราะหน่วยงานไทยปรับการรายงานเหลือเฉพาะคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 (Death from COVID-19) ไม่รวมคนที่เสียชีวิตจากโรคร่วมและพบว่าติดเชื้อ (Death with COVID-19)

ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 24.32% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

หากดูจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อวัน รวม ATK ไทยเราจะติดอันดับ Top 10 ของโลกมาติดต่อกันยาวนานถึง 49 วันแล้ว

ส่วนจำนวนการเสียชีวิตต่อวันนั้น หลังจากติดอันดับ Top 10 ต่อเนื่องมา 19 วัน ล่าสุดหยุดสถิตินี้ไว้ได้แล้วเนื่องจากจำนวนลดลงหลังจากปรับรายงานเฉพาะ Death from COVID-19…

อัปเดตงานวิจัย Long COVID…

NEJM Journal Watch วันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ทบทวนงานวิจัยเรื่องผลของการติดเชื้อโรคโควิด-19 ต่อสมอง

โดยสรุปงานวิจัยสำคัญจากสหราชอาณาจักร ซึ่งเปรียบเทียบผลการตรวจสมองด้วยการทำ MRI และการทดสอบความคิดความจำ (cognitive test) จำนวน 2 ครั้ง ในกลุ่มที่มีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 ระหว่างระยะเวลาที่ติดตามนาน 18 เดือน จำนวน 401 คน และกลุ่มที่ไม่ได้ติดเชื้อ จำนวน 384 คน ทั้งนี้มีเพียง 4% ของผู้ติดเชื้อที่ป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า แม้จะติดเชื้อโดยป่วยเล็กน้อยก็ตาม จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมองหลายอย่าง ทั้งขนาดสมองที่ลดลง, เนื้อสมอง gray matter ในส่วน orbitofrontal cortex และ parahippocampal gyrus บางลง, และสมรรถนะด้านความคิดความจำลดลง

การเปลี่ยนแปลงของสมองดังกล่าวนั้นจะคงอยู่ยาวนานเพียงใด? จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะ Long COVID หรือไม่? และจะนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมในอนาคตหรือไม่? ยังเป็น 3 คำถามสำคัญ ที่จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อพิสูจน์ให้เห็น

…ด้วยสถานการณ์ระบาดของไทย ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงควรตระหนัก รู้เท่าทัน และประพฤติปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเหมาะสม ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด…

อ้างอิง

1.Komaroff AL. Even Mild COVID-19 Can Lead to Substantial Brain Changes. NEJM Journal Watch. 4 May 2022.

2.Douaud G et al. SARS-CoV-2 is associated with changes in brain structure in UK Biobank. Nature 2022 Apr 28; 604:697.

3.Gollub RL. Brain changes after COVID revealed by imaging. Nature 2022 Apr 28; 604:633.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/136342/

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ