'การบิน' ป่วยหนักกว่า... ติด 'โควิด'

 

วิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลก วันนี้ความรุนแรงดูจะน้อยกว่าสถานการณ์การบินโลก ซึ่งหลายคนมองว่าอาจถึงปี 2023 หรือเลยไปกว่านั้น ที่ดีมานด์การบินจะกลับมาเช่นเดิม และคาดว่ามีเพียง 30 สายการบิน ใน 700 กว่าสายการบินทั่วโลกที่สามารถอยู่รอดได้

ภาพความแออัดของสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ทั้งในห้องผู้โดยสารและรันเวย์จะไม่ได้เห็นไปอีกนาน เพราะการอาละวาดของโควิด-19

ใครที่คาดว่าทุกอย่างในเรื่องการบินจะกลับมาเหมือนก่อนหน้าโควิด-19 นั้น คงต้องทบทวนใหม่ เพราะผู้คุ้นเคยธุรกิจนี้ในระดับโลกเชื่อว่าสถานการณ์ซบเซาของการบินจะอยู่ไปอีกหลายปี

ลองดูพฤติกรรมตัวเลขของผู้ผลิตเครื่องบิน 2 รายใหญ่ของโลก ก็พอจะเห็นภาพว่าเขามองสถานการณ์หลังโควิด-19 กัน อย่างไรความเชื่อว่าดีมานด์ของการบิน รวมทั้งโลกในอนาคตจะลดลงอย่างเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้ Boeing ประกาศลดกำลังการผลิตลง 50% และยกเลิกแผนที่จะพัฒนาเครื่องบินใหม่ 2 แบบในทศวรรษหน้า ส่วน Airbus ซึ่งมีออเดอร์อยู่มากขนาดงานจะไม่ว่างเลยในทศวรรษหน้ายังตัดสินใจลดกำลังผลิตลง 30%

ก่อนหน้าโควิด-19 มีการพยากรณ์กันว่าดีมานด์ของการเดินทางทางอากาศของคนทั่วโลกจะเติบโตปีละ 4.3% ตลอด 20 ปีข้างหน้าจนต้องผลิตเครื่องบินใหม่ออกมาทั่วโลกประมาณ 40,000 ลำแต่บัดนี้ไม่เชื่อแล้วเพราะเห็นฤทธิ์ของโควิด-19 ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา เครื่องบินทั่วโลกกว่า 5,000 ลำต้องจอดอยู่บนรันเวย์เพราะโรคระบาด

Warren Buffett พหูสูตรเรื่องการลงทุน ขายหุ้นสายการบินอเมริกันทิ้งจนขาดทุนไปหลายพันล้านดอลล่าร์ แต่ก็ต้องทำเพราะคาดว่าหากถือไว้จะเจ็บตัวกว่านี้อีกมาก

เครื่องบินแบบที่กำลังถูกทอดทิ้งอย่างน่าสงสารก็คือ Boeing-747 ซึ่งมีขนาดยักษ์ จุผู้โดยสารกว่า 300 คน บินได้ไกลนับเป็นพันไมล์ ในช่วงโควิด-19 ระบาดต้องจอดบนรันเวย์เกือบทั้งหมดเช่นเดียวกับ Air Bus รุ่น A-380 ขนาดยักษ์ก็จะจบชีวิตเช่นกัน สายการบิน Emirates ซึ่งเคยมี 747 อยู่ 242 ลำขายไป 115 ลำในปี 2020

 

เหตุใดจึงมองธุรกิจการบินในแง่ร้ายขนาดนี้? สาเหตุข้อแรก ก็คือเชื่อกันว่าการระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลกนั้นขณะนี้ยังอยู่ในขั้นแรกการระบาดรอบหนึ่งยังไม่จบในสหรัฐ ยุโรปหลายประเทศอเมริกาใต้ ตลอดจนอินเดียและโดยเฉพาะทวีปอาฟริกา ซึ่งมีประชากรรวม 1,200 ล้านคน ในประชากร 7,700 ล้านคนทั่วโลก

การระบาดรอบ 2 นั้นเกิดขึ้นในหลายประเทศแล้ว จนแน่ใจว่าประมาณใกล้ปลายปี 2020 ก็จะเกิดอีกในหลายประเทศของทั้งยุโรปและในสหรัฐ วัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น อย่างเร็วที่สุดที่จะออกมาให้คนบางส่วนได้ใช้กันก็ไม่หนีต้นปี 2021 และต้องใช้เวลาเกือบทั้งปีจนถึง 2022 กว่าที่คนส่วนใหญ่ของโลกจะเข้าถึง

การที่คนจะโดยสารเครื่องบินข้ามประเทศได้นั้น หลายประเทศต้องมีความเห็นร่วมกันว่าปลอดภัยสำหรับประชาชนของตนและโอกาสที่หลายประเทศจะเห็นว่า ปลอดภัยจากโควิด-19 ร่วมกันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไม่ง่ายต้องใช้เวลาอีกหลายปี จนอาจถึงปี 2023 หรือหลังกว่านั้นจึงอาจกลับมาเหมือนเดิม

ความกลัวโรคโควิด-19 จะอยู่ในใจผู้คนจนไม่อยากบินระยะทางไกล หรือแม้แต่ใกล้ เพราะอากาศในเครื่องถ่ายเทจำกัดและมีโอกาสติดโรคสูง ดีมานด์การบินจึงกลับมาได้ช้า โดยขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของแต่ละประเทศซึ่งไม่มีผู้วิเศษคนใดสามารถไปควบคุมได้ทั้งหมด

สาเหตุที่ 2 การเดินทางเพื่อธุรกิจภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งเดิมเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของสายการบินจะลดลงไปมาก เนื่องจากการประชุมออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั่วโลกและจะอยู่ไปถาวร บริษัททั้งหลายจึงประหยัดค่าใช้จ่ายโดยให้พนักงานใช้การประชุมออนไลน์แทนการเดินทาง นอกจากนี้ บริษัทยังกลัวถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากพนักงานที่ติดเชื้อโควิด-19 จากการเดินทางนอกจากนั้นยังหาบริษัทประกันการเจ็บป่วยจากโควิด-19 ได้ยากอีกด้วย

ส่วนการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวนั้น ถึงแม้อยากเดินทางระหว่างประเทศแต่ความกลัวเชื้อโควิด-19 นั้นมีมากกว่า จนทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากมีทางโน้มที่จะเดินทางเพียงภายในประเทศซึ่งทำให้ดีมานด์การบินระหว่างประเทศลดลงไปมาก

“Travel-Bubbles” ซึ่งเป็นการเดินทางตามสัญญาที่ทำไว้ระหว่าง 2 ประเทศหรือกลุ่มประเทศเพื่อให้เดินทางถึงกันได้ โดยไม่มีการกักตัวอาจล้มในกรณีที่เกิดการระบาดครั้งที่ 2 หรือ 3

ประการที่ 3 ไวรัสขนาดเพียง 0.1 ไมครอน สามารถทำให้สายการบินขนาดใหญ่มีสภาพวิกฤติไปตามๆ กัน IATA(International Air Transport Association) ซึ่งพยากรณ์ไว้อย่างใจดีว่าธุรกิจการบินจะฟื้นตัวกลับไปเท่าระดับก่อนโควิด-19 ก่อนหน้าปี 2023 และคาดว่ามีเพียง 30 สายการบินเท่านั้น ใน 700 กว่าสายการบินทั่วโลกที่สามารถอยู่รอดได้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

สายการบินที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐจนอยู่ในสภาพวิกฤต ได้แก่ Flybe (สายการบินภายในทวีปยุโรปที่ใหญ่ที่สุด) / Virgin Australia / LATAM (สายการบินใหญ่ที่สุดของอเมริกาใต้) และถึงแม้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐแต่ก็อยู่ในสภาพย่ำแย่ ได้แก่ Air France / KLM / Lufthansa / American Airlines เป็นต้น

ธุรกิจสายการบินมีธรรมชาติที่อ่อนไหวกับการขาดสภาพคล่อง (เงินสด) สูงกว่าธุรกิจอื่น เนื่องจากมีต้นทุนสูง เช่น ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าชำระเงินกู้ซื้อเครื่องบิน ค่าน้ำมันเงินเดือน ค่าจ้าง ฯลฯ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ต้องจ่ายให้กับหลายบริษัทในหลายประเทศการคาดการณ์ที่ผิดเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนราคาน้ำมัน เส้นทางบิน ขนาดเครื่องบิน ฯลฯ อาจทำให้สายการบินมีปัญหาได้ไม่ยากเมื่อเครื่องบินถูกห้ามบินเพราะโรคระบาดจึงขาดรายได้ (เงินสด) ในขณะที่รายจ่ายเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะเงินชำระหนี้เงินกู้ก้อนใหญ่

ผลพวงที่สำคัญจากการระบาดของโควิด-19 ก็คือต้นทุนการบินต่อคนจะสูงขึ้นเนื่องจาก (ก) กฎหมายบังคับให้เว้นที่นั่ง (จำกัดรายได้) (ข) หนี้เก่าสะสมที่ค้างอยู่ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น (ค) ต้องมีข้อตกลง Travel- Bubbles จึงทำให้ทำการบินได้จำกัด (ง) กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุม climate changeจำกัดการบิน (จ) การแข่งขันที่แต่เดิมเข้มข้นจะถูกขจัดลงด้วยการรวมหัวกันแสดงพลัง “อัตราผูกขาด” ของสายการบินที่อยู่รอด

ทั้งหมดนี้ไปในทางที่ทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินสูงขึ้นยุคสมัยรุ่งเรืองสุดของเครื่องบินราคาประหยัดได้หมดลงแล้ว

พยากรณ์ที่เลวร้ายของธุรกิจการบินดังกล่าวขึ้นอยู่กับสมมติฐานว่าการระบาดรอบแรกยังไม่จบและรอบสองจะกลับมาอีก ถ้าวัคซีนมาเร็วกว่าที่คาด และทำให้ชาวโลกวางใจจนกล้าเดินทางทางอากาศกันอีกครั้งแล้ว ธุรกิจการบินก็คงมีโฉมหน้าใหม่ที่งดงามขึ้น

คนยังป่วยไข้ได้แล้วทำไมธุรกิจการบินจะป่วยไข้บ้างไม่ได้เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นใจและเอาใจช่วยคนป่วย“การบินไทย” สายการบินของพวกเราทุกคนเสมอครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/891033?anf=

รัฐควิเบกของแคนาดา ซึ่งกำลังดิ้นรนควบคุมการแพร่เชื้อของโอมิครอน วางแผนเก็บภาษีด้านสุขภาพเพิ่มเติมกับประชากรวัยผู้ใหญ่ทุกคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชี้พวกปฏิเสธวัคซีนมีราวครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยนอนไอซียู

Photo by Andrej Ivanov / AFP

รายงานรอยเตอร์และเอเอฟพีเมื่อวันพุธที่ 12 มกราคม 2565 กล่าวว่า ฟร็องซัวส์ เลอโกลต์ มุขมนตรีรัฐควิเบก ซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับสองของแคนาดา แถลงต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคารว่า รัฐบาลของเขากำลังจัดทำแผนเก็บเงินอุดหนุนด้านสุขภาพกับผู้ใหญ่ทุกคนที่ปฏิเสธฉีดวัคซีนภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพราะคนกลุ่มนี้เป็นภาระทางการเงินสำหรับชาวควิเบกทั้งหมด

 
 

เขากล่าวว่า ร้อยละ 10 ของชาวควิเบกที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะต้องไม่ทำอันตรายต่อคนร้อยละ 90 ที่ฉีดวัคซีนแล้ว แต่แผนนี้จะไม่ครอบคลุมถึงผู้ที่มีเหตุผลทางการแพทย์ที่ทำให้ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ โดยคาดว่าเงินที่รัฐจะเก็บเพิ่มจากผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนนั้นจะไม่ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์แคนาดา (2,659 บาท)

มุขมนตรีผู้นี้อธิบายอีกว่า แม้ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนโควิดในรัฐนี้จะมีเพียง 10% แต่ผู้ป่วยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนคิดเป็นประมาณ 50% ของผู้ป่วยที่รักษาในแผนกผู้ป่วยหนัก ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ "น่าช็อก"

ขณะนี้ ในรัฐควิเบกซึ่งมีผู้อยู่อาศัยราว 8 ล้านคน เป็นหนึ่งในรัฐที่มีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงที่สุดของประเทศ และมีบุคลากรทางการแพทย์หลายพันคนที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ โดยมีผู้ป่วยโควิดรักษาในโรงพยาบาล 2,742 คน และ 255 คนอยู่แผนกไอซียู

ที่รัฐออนแทริโอ รัฐเพื่อนบ้านที่มีประชากรมากที่สุดในแคนาดา ก็มีอัตราผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีผู้ป่วย 3,220 คน และผู้ป่วยหนัก 477 คน

รัฐบาลควิเบกพยายามควบคุมการแพร่เชื้อโควิดโดยออกข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงประกาศเคอร์ฟิวหลัง 4 ทุ่ม และห้ามการรวมตัวกัน

ก่อนหน้านี้ ควิเบกประกาศห้ามร้านค้าที่ขายสินค้าที่ไม่จำเป็น ขายให้แก่ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน โดยเริ่มต้นจากร้านขายแอลกอฮอล์และกัญชา การออกข้อบังคับเก็บภาษีสุขภาพกับผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนจะถือเป็นครั้งแรกของโลก แม้ว่าหลายประเทศกำลังหามาตรการต่างๆ เพื่อกดดันให้ผู้คนเลิกปฏิเสธวัคซีน เช่น ฝรั่งเศสที่รัฐบาลเสนอใช้บัตรผ่านวัคซีน แต่ถูกประชาชนเดินขบวนประท้วงต่อต้าน ส่วนที่ออสเตรีย ออกกฎบังคับพลเมืองทุกคนฉีดวัคซีน อิตาลีบังคับกับพลเมืองที่อายุเกิน 50 ปี ขณะที่สิงคโปร์ประกาศจะไม่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาโควิดให้ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/abroad-news/63302/

'ดร.สันต์' เตือนถ้าควบคุมโควิดไม่ได้จะติดเชื้อถึง 70% ของประชากรและเกิด ภูมิคุ้มกันหมู่แบบอินเดีย ในช่วงเดือน ก.ค. - ส.ค. ต้องสู้แบบเจ็บๆอีกนานกว่าจะจบ

1เม.ย.2565- ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง Covid-19: Wave#5 Omicron เดินหน้าสู่สงกรานต์ เตรียมพร้อมรับ India Model สู้แบบเจ็บๆอีกนานกว่าจะจบ มีเนื้อหาดังนี้

 

เวลาผ่านไป 3 เดือนใน Wave#5 ของ Omicron คำถามในใจผู้คนมากมาย
1. ไหนว่าจะขาลงมา 2 รอบแล้ว แต่ทำไมยังไม่ถึง Peak สักที
2. ติดเชื้อกันจริงๆวันละเท่าไหร่ คนรอบตัวติดเชื้อกันมากมายต่อเนื่อง
3. เมื่อไหร่จะจบสักที จะเข้าโรคประจำถิ่นเมื่อไหร่
4. ทำอย่างไรถึงจะรอด
ผมมีคำตอบครับ จากการคำนวณและประมาณการณ์

สรุปสถานการณ์ที่ผ่านมา และกำลังเป็นไป: Past & Present
1. Wave#5 เป็นขาขึ้นตลอดตั้งแต่ 1 ม.ค. แต่ตรวจ RT-PCR น้อย ตัวเลขเลยขึ้นไม่สุด เห็นไม่ครบ ควบคุมโรคไม่ได้ หางเวฟจึงยาวมากๆไม่จบจนบัตนี้
2. ATK เริ่มตรวจลดลงไปมาก ตัวเลขรวมที่เคยขึ้น ก็กลับมาทรงตัว แต่ไม่ลงต่อ ทั้งๆที่สถานการณ์ยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง
3. ชลบุรีขยันตรวจมาก จังหวัดเดียวเจอรวม PCR+ATK วันละเกือบ 10,000 แล้ว ถ้าขยันแบบนี้ทุกจังหวัด ตัวเลขทั่วประเทศน่าจะข้ามแสนไปแล้ว
4. คนที่ตรวจไม่เจอ ไม่ยอมตรวจ จะเป็นมดงานแพร่เชื้อไปเรื่อยๆ ทำให้ประเทศไทยค่อยๆเดินหน้าเข้าสู่ India Model แบบ Herd Immunity ที่จบแบบต้องสังเวยชีวิต หลายประเทศเป็นแบบนี้

ตัวเลขและกราฟ:
กทม.:
1. กราฟ %Increase ของ RT-PCR เป็นขาลงช้าๆที่ Time Constant ยาวนานถึง 84 วัน ซึ่งช้าเกินไป
2. กราฟผู้ติดเชื้อสะสมจะยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ใน 4 เดือนข้างหน้านี้
3. เราจะเห็นตัวเลข RT-PCR ระดับ 3,000 ต่อวันไปอีกนาน และอาจยกระดับขึ้นหลังสงกรานต์
4. ผู้ติดเชื้อที่แท้จริงในกทม. ถ้าดูจากอัตราการเสียชีวิตที่สูงเกินจริงถึง 0.4% ถ้าเทียบกับสิงคโปร์ ที่แค่ 0.05 - 0.1% ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงต่อวันในกทม.ควรจะอยู่ที่ระดับ 10,000 - 30,000 คน
5. ถ้ากทม.ไม่จบ จังหวัดอื่นๆจะกลับมาระบาดซ้ำอย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทย: Present & Future
1. กราฟ %Increase ของ RT-PCR เป็นขาลงช้าๆที่ Time Constant ยาวนานถึง 65 วัน
2. กราฟผู้ติดเชื้อสะสมจะยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ใน 4 เดือนข้างหน้านี้
3. เราจะเห็นตัวเลข RT-PCR ต่อวันในระดับมากกว่า 20,000 ไปอีกอย่างน้อยถึง 15 มิ.ย. และยังคงมากกว่า 10,000 ไปจนถึง 1 ส.ค. แต่ตัวเลขอาจยกระดับขึ้นหลังสงกรานต์และเลวร้ายกว่านี้ ถ้าฉีด Booster ไม่พอ
4. กราฟ %Increase ของ RT-PCR+ATK เปลี่ยนแปลงลดลงเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุเมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว น่าจะมาจากการตรวจที่ลดลงมาก
5. Daily Case RT-PCR+ATK ถ้าคำนวณตามเส้นแนวโน้มเดิม วันนี้ 31/3/2022 ผู้ติดเชื้อน่าจะอยู่ที่ระดับ 130,000 คนต่อวัน ไม่ใช่ 40,000 -50,000 คนเท่าที่ตรวจพบ
6. อัตราการเสียชีวิตถ้าคำรวณจากฐานกราฟ RT-PCR+ATK 130,000 คน คิด Delay 19 วันจะได้ อัตราการเสียชีวิต 0.12% สอดคล้องกับระดับวัคซีนที่เป็นจริงและเท่าๆกับในต่างประเทศ
7. อัตราการเสียชีวิตเริ่มลดลงจากระดับ 0.2% มาเข้าใกล้เส้น 0.1% ถ้าฉีด Booster ได้เพิ่ม อาจะลดลงได้ถึง 0.05% ซึ่งจะทำให้ผู้เสียชีวิต ในกรณีเลวร้ายสุดไม่เกิน 200 คนต่อวัน
8. การติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะตรวจเชื้อน้อย อาจไปถึงระดับวันละ 500,000 คน ช่วงปลายพ.ค. แต่เราจะไม่มีวันได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้
9. ถ้าฉีดวัคซีนมากพอ ตัวเลข RT-PCR สำหรับคนที่ต้องเข้ารพ. จะต่ำสุดได้ถึง 2% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ติดเชื้อจริง 500,000 RT-PCR ก็อาจลงต่ำได้ถึง 10,000 ต่อวัน
10. ถ้าควบคุมไม่ได้เลย เราจะติดเชื้อถึง 70% ของประชากรและเกิด Herd Immunity ในช่วงเดือน ก.ค. - ส.ค. 2022 แล้วการติดเชื้อจะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องแลกด้วยผู้เสียชีวิตประมาณ 20,000 - 40,000 คน

India Model: ข่าวดีและข่าวร้าย
ข่าวดี:
เกิด Herd Immunity แล้ว เพิ่งผ่านเทศกาลละเลงสีมาโดยไม่เกิด Wave ใหม่เลย Omicron สามารถจบได้จริง
ข่าวร้าย:
เสียชีวิตรายงาน 521,159 ตัวเลขจริงจาก Excess Death น่าจะถึง 7 ล้านคน
ติดเชื้อรายงาน 43,024,440 คน ตัวเลขจริงอาจถึงพันล้านคนแล้ว
อายุเฉลี่ยประชากร 28 ปี เด็กกว่าไทยถึง 12 ปี ยังเจ็บขนาดนี้

บทสรุปและทางเลือก:
1. ประเทศไทยตอนนี้เราตรวจเชื้อน้อย ควบคุมโรคไม่ได้แล้ว น่าจะไปทาง Herd Immunity แบบอินเดีย ผสมกับการฉีดวัคซีนให้อัตราการเสียชีวิตต่ำ
2. อาจจะเกิด Herd Immunity ในอีก 4 เดือนข้างหน้า ใครรักสุขภาพขอให้อดทนรอ เพื่อเป็น 30% สุดท้ายที่อาจรอดจากการติดเชื้อ หรืออย่างน้อยก็เสี่ยงต่ำ
3. ความสำเร็จในการชะลอการระบาดและเร่งฉีด Booster ที่ผ่านมาทำให้ผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นราวๆ 20,000 -40,000 คน น้อยกว่ากรณีฉีดไม่ทันมากที่ระดับ 1-2 แสนคน
4. คน 3 ประเภท คนรักสุขภาพ ขอให้อดทนเก็บตัวอีก 4 เดือน คนอดทนไม่ไหวก็ไปฉีดวัคซีนให้ครบ แล้วยอมรับความเสี่ยง คนไม่ยอมฉีดวัคซีนและอดทนไม่ไหว ก็จะเสี่ยงตายมากกว่าคนอื่นๆ 10 - 40 เท่า

พวกเราอยู่ใน Wave Omicron นี้ที่ใครๆก็ชอบบอกว่ามันจะสั้น ขึ้นเร็วลงเร็ว แต่เวลา 3 เดือนได้พิสูจน์แล้วว่า Wave มันไม่ลงถ้าไม่ควบคุมโรคจริงจัง ไม่ฉีดวัคซีนที่ดีและมากพอ ไม่ปฏิบัติตามกฎอะไรกันเลย และใช้ชีวิตกันด้วยความประมาทเต็มที่ แต่ถึงอย่างไรมันก็ผ่านมาแล้ว สายเกินกว่าจะแก้ไขหรือกลับไป Lockdown ทุกอย่างจะต้องเดินหน้าต่อไป ถ้าไม่มีสายพันธุ์ใหม่มาอีก มันจะจบภายใน 3-4 เดือนข้างหน้า แต่ละคนก็จะสามารถเลือกวิธีจบได้แตกต่างกันไป ณ วินาทีนี้ ทุกอย่างจะเป็นไปตามธรรมชาติแล้ว ผู้ใดแข็งแกร่ง ผู้นั้นอยู่รอด ผู้ใดโชคดี ผู้นั้นก็อยู่รอด แต่ถ้าไม่อยากเพิ่งโชคมากนัก ก็ไปฉีดวัคซีนให้ครบ แล้วดูแลสุขภาพครับ

ปล. คำว่าจบที่ว่า น่าจะยังมีผู้ติดเชื้อต่อเนื่องวันละหลายหมื่นคน ผู้เสียชีวิตวันละหลายสิบ ในแต่ละปีโควิดจะเป็นสาเหตุการตายหลายหมื่นคน เป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเท่านั้น แต่ชีวิตพวกเราส่วนใหญ่จะกลับมาเดินหน้าไปได้ตามปกติครับ นี่คือ Endemic ที่อาจไม่ได้สวยหรู แต่ก็ต้องจำใจอยู่กับมันครับ

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/115725/

10ก.ย.2565- ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า โควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนอาจไม่ได้เกิดจากธรรมชาติดังนี้

นักวิจัยชาวญี่ปุ่น 2 ท่าน ส่งงานเขียนเข้าตีพิมพ์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จู่ๆไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนก็อุบัติขึ้นมาพร้อมกับการกลายพันธุ์แบบเยอะมาก อาจจะไม่ได้เกิดจากการที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา (ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าด้วยกลไกใด) แต่อาจจะเป็นไวรัสที่ออกแบบสร้างมาจากไวรัสสายพันธุ์ก่อนหน้าโอมิครอนแล้วปรับการเปลี่ยนสไปค์ให้มีคุณสมบัติเป็นโอมิครอน ซึ่งแตกต่างจากสายพันธุ์รุ่นเก่าอย่างมีนัยสำคัญ

นักวิจัย 2 ท่าน ดูการกลายพันธุ์ของไวรัสโอมิครอนโดยเฉพาะตำแหน่งสไปค์ พบว่า มีถึง 29 คำแหน่งที่เป็น non-synonymous mutation คือ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนเป็นกรดอะมิโนตัวใหม่ และ มีแค่ตำแหน่งเดียวที่เป็น synonymous คือ เปลี่ยนเบสแต่กรดอะมิโนอ่านได้เป็นตัวเดิม ซึ่งเค้ามองว่าเกิดขึ้นได้ยากมาก ทั้งคู่ได้คำนวณด้วยสูตรคณิตศาสตร์แบบเชิงลึก ที่เกินความสามารถที่ผมจะเข้าใจ แต่ได้ตัวเลขออกมาว่า การเกิดปรากฏการณ์ของโอมิครอนได้ตามธรรมชาติจริงความน่าจะเป็นจะอยู่ที่ 0.0016 ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า มันเกิดขึ้นได้ยากมากๆ

ทีมวิจัยยังให้ความเห็นว่า ไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงในผู้ป่วยที่ติดโควิดนานๆ แล้วบ่มเพาะในผู้ป่วยรายนั้น สูงสุดที่เคยค้นพบคือ การเกิดการเปลี่ยนเบสแบบ non-synonymous แบบ 8 ตำแหน่ง ถ้าลงในสูตรที่คำนวณได้จะมีความน่าจะเป็นที่ 0.095 ซึ่งยังสูงกว่าโอกาสการเกิดโอมิครอนมาก

 
 
 

แนวคิดนี้น่าสนใจถึงแม้ว่าจะไม่สามารถได้ข้อสรุปอะไรชัดเจนจากหลักฐานดังกล่าว ถ้ามองในมุมของนักไวรัสวิทยา ทางเทคนิคเห็นด้วยว่า เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถสร้างไวรัสจากโควิดตัวเริ่มต้นให้เป็นแบบโอมิครอนได้จริงๆครับ ประเด็นคือ ถ้าเป็นจริง การอุบัติขึ้นของโอมิครอนอาจจะเกิดจากความตั้งใจ หรือ ไม่ตั้งใจ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก การสรุปอะไรไปอาจส่งผลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ การสื่อสารตามหลักฐานที่มีแบบไม่ใส่ความคิดเห็นเกินไป จึงสำคัญมากๆ
https://zenodo.org/record/6904363#.YxwAtHZByUk

 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/218736/
 

13 พ.ค.2563 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence และ Actuarial Science and Risk Management คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่า ที่มีคนโวยวายว่า ก็ต้องกินข้าวโต๊ะเดียวกันในร้านอาหารได้สิ หลังจากเปิดผ่อนคลายให้กินข้าวในร้านอาหารได้

คนไทยนี้อ้างเหตุผลว่า นโยบาย คำสั่งของรัฐบาลงี่เง่า ก็มารถคันเดียวกัน 4-5 คน เบียดกันมา ทำไมจะกินข้าวโต๊ะเดียวกันไม่ได้ จะเป็นอะไรไป ในเมื่อเป็นครอบครัวเดียวกัน

ผมขออธิบายว่า ที่รัฐบาลสั่งนั้นถูกต้องแล้วตามหลักการทางระบาดวิทยาในการป้องกันการแพร่เชื้อโรค

ประการแรก ตอนนั่งรถมาใส่หน้ากากอนามัยกันมาบนรถ ไม่ได้ถอดหน้ากากอนามัยออกเหมือนตอนนั่งกินข้าวในร้าน

ประการสอง ที่พูดคุยกันในรถ ก็ไม่ได้เปิดหน้ากากอนามัย แต่มากินข้าวที่ร้าน ถอดหน้ากากอนามัยออกก่อนกิน (ไม่งั้นจะกินได้ไง) และตอนกินตอนเคี้ยว ฝอยละอองน้ำลายกระเด็นกันไปเท่าไหร่ แพร่เชื้อกันไปขนาดไหน ก็ต้องไปลองคิดดู

ประการสาม มีเคสที่เกิดการติดเชื้อจากการกินสุกี้ยากี้ต้มเดือดๆ หม้อเดียวกัน ร้อนๆ เชื้อโควิด-19 ตายหมด อ้าวฝอยละอองน้ำลายตอนอ้าปากเคี้ยว มันไม่ได้ลงหม้อสุกี้ยากี้เดือดๆ ทุกละอองฝอยสักหน่อยหนาออเจ้า ยังหายใจรดกันอีกตอนสุมหัวลวกสุกี้ยากี้ เคสนี้ที่ร่วมหม้อสุกี้ยากี้กัน ปรากฏว่าติดโควิดกันหมด

ผมขอยืนยันว่า เวลากินให้แยกโต๊ะกินกันโต๊ะละคนถูกหลักการแล้ว แม้จะไม่ถูกใจ แต่ระงับป้องกันการแพร่เชื้อได้ อ้อ ในรถเป็นพื้นที่ส่วนตัวจะทำอะไรก็ทำไป แต่ในร้านอาหารมีคนอื่นนั่งกินด้วยเป็นพื้นที่สาธารณะ เข้าใจคำว่าพื้นที่สาธารณะไหม?

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thaipost.net

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/65783

 

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ