เช็คลิสต์! คุณสมบัติของ "หัวหน้า" หรือ "ผู้บริหาร" รวมถึง "คนทำงาน" ที่ตลาดแรงงานปี 2021 ต้องการ และทิศทางการปรับตัวให้ทันโลกที่เหวี่ยงเร็วก่อนที่เราจะถูกเหวี่ยงออกจากการทำงานในอนาคต
ตัวเลขคน "ตกงาน" ที่มีแนวโน้มมากขึ้นในบ้านเราเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาที่มากขึ้น การดิสรัปของเทคโนโลยี และอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญมาก คือ "ทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน"
นี่ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วคล้ายคลึงกันในหลายประเทศทั่วโลก และเป็นการส่งสัญญาณว่า "การทำงานแบบเดิมๆ จะไม่สามารถตอบโจทย์การทำงานได้อีกต่อไป"
- แล้วคนแบบไหนที่โลกการทำงานต้องการ ในปี 2021?
ข้อมูลจากงานสัมมนา "Brand inside forum 2020 New Workforce" สะท้อนให้เห็นว่าในอนาคตการทำงานที่เคยเปลี่ยนมาตลอด จะเปลี่ยนแปลงไปยิ่งกว่านี้ และนั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่คนทำงานยุคใหม่ต้องเปลี่ยนตัวเองให้ทันโลก หรือในบางครั้งอาจจะต้องนำหน้าการหมุนของโลกก่อนที่จะถูกเหวี่ยงออกไปจากตลาดแรงงาน
ทว่าการเปลี่ยนแปลงในอนาคตไม่เลือกหน้า ไม่ว่าจะอยู่ใน "ระดับปฏิบัติงาน" "ลูกน้อง" หรือนั่งเก้าอี้ "ผู้บริหาร" หรือผู้ที่ต้องรับผิดชอบระดับ "หัวหน้างาน" ก็จะต้องปรับตัวเพื่อขับเคลื่อนทีมของตัวเองไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพที่อาจต้องเปลี่ยนไปจากทศวรรษก่อนหน้าแทบจะสิ้นเชิง
- "ผู้นำ" แบบไหน ที่ลูกน้องอยากได้ในอนาคต
ธนา เธียรอัจฉริยะ, Chief Marketing Officer SCB พูดถึงแนวโน้มการเป็นผู้บริหารและผู้นำยุคใหม่ที่ใครๆ ก็ต้องการปี 2021 ซึ่งหน้าที่ของผู้บริหารหรือหัวหน้านับตั้งแต่ปี 2021 จะไม่เหมือนยุค 90's อีกแล้ว
ธนา เล่าว่า เมื่อพูดถึงหัวหน้า หรือที่หลายคนเรียกว่าเจ้านายเมื่อราว 10-20 ปีที่แล้ว คือคนที่น่าเกรงขาม คอยสั่งงาน และผลักดันให้งานนั้นสำเร็จ แต่ในโลกยุคใหม่จะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหน้าที่สำคัญของผู้นำที่ดี คือการ "สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงาน" นั่นหมายถึงการสร้างบรรยากาศที่กระตุ้นให้ทีมสามารถแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ และมีความสุข ไม่ใช่แค่ทำตามคำสั่งเพื่อวัดผล
"ผู้นำที่ดีคือคนที่สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงาน และดึงศักยภาพของคนทีมออกมาได้ดี"
ธนา เธียรอัจฉริยะ
โดย ธนา ได้เน้นย้ำ 4 เรื่องสำคัญที่คนเป็นผู้บริหาร หัวหน้างาน หรือผู้นะต้องมีในโลกของการทำงานยุคใหม่ที่มีความไม่แน่นอนจากทุกทิศทาง ประกอบด้วย
Humble : รู้ว่าตัวเองไม่รู้ ณ ที่นี้หมายถึงการไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว พร้อมที่จะยอมรับว่าตัวเองไม่รู้อะไร เพื่อเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ทำตัวรู้ไปเสียทุกเรื่อง
Empathy: ทำตัวให้เล็กเข้าไว้ ในอดีตผู้บริหารหรือหัวหน้ามักจะเป็นผู้ที่ชี้นำทุกอย่างให้กับคนทำงาน แต่คนในเจเนอเรชั่นใหม่ต้องการแสดงความเห็น และแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนจุดหมายบางอย่างร่วมกัน ดังนั้น เป็นผู้นำยุคใหม่ ลองเป็นผู้ตามในบางเรื่องแล้วจะเจออะไรใหม่ๆ และมีโอกาสเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจคน เมื่อมีความเข้าใจและรู้จักรับฟังอย่างแท้จริง
Sacrifice: เสียสละ คนที่ไม่พร้อมจะเสียสละ..เป็นผู้นำไม่ได้ ต้องเหนื่อยให้ทีมงานเห็น จึงจะเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของคนได้ โดยเฉพาะทีมงานของตัวเอง
Courage: มีความกล้าหาญ ผู้นำต้องกล้า ทั้งกล้าคิด กล้าทำสิ่งใหม่ๆ ถ้ายอมรับเมื่อมีอะไรผิดพลาด ไม่มัวแต่โทษคนอื่น
ด้าน กานติมา เลอเลิศยุติธรรม, Group Chief Human Resources Officer, AIS ได้กล่าวถึงผู้บริหารในอนาคตไว้ว่า "ถ้าผู้บริหารกำลังติดกรอบความสำเร็จเดิม เพราะบริบาทการแข่งขันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ลูกค้าเปลี่ยนเจเนอเรชั่น ผู้บริหารหลายคนมักจะเอาการแก้ปัญหาเดิมๆ มาแก้ปัญหาใหม่ ท่านกำลังไปสู่หายนะ"
"คนรุ่นก่อนอาจจะถามว่าเวลาเราเจ็บป่วยองค์กรจะดูแลยังไง แต่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามว่าองค์กรจะดูแลเรายังไงไม่ให้ป่วย"
กานติมา เลอเลิศยุติธรรม
กานติมาอธิบายอีกว่า คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามและมีมุมมองที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ไม่นับถือผู้บริหารเพียงเพราะอยู่ในลำดับบังคับบัญชาที่สูงกว่า แต่จะนับถือคนที่ออนท็อปส์ให้พวกเขาเก่งและเติบโตได้ คนรุ่นก่อนอาจจะถามว่าเวลาเราเจ็บป่วยองค์กรจะดูแลยังไง แต่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามว่าองค์กรจะดูแลเรายังไงไม่ให้ป่วย
ที่สำคัญคือ คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานประจำ คนที่มีศักยภาพไม่อยากทำงานให้องค์กรใดองค์กรหนึ่ง ดังนั้นผู้นำต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้คนทำงานที่มีประสิทธิภาพอยู่กับองค์กรได้ หรือทำงานให้องค์กรแบบใดได้บ้างบนความบาลานซ์แบบใหม่ด้วย
บทความจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/905977?anf=