องค์การอนามัยโลกเปิดเผยในรายงานประจำสัปดาห์ว่า สายพันธุ์ย่อย BA.2 ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดมากที่สุดทั่วโลกขณะนี้ ถูกตรวจพบแล้วใน 57 ประเทศ และยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงในแง่ความรุนแรงของโรค

รายงานเอเอฟพีเมื่อวันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยในข้อมูลด้านการระบาดวิทยาประจำสัปดาห์นี้เมื่อวันอังคารว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่พบในสิ่งส่งตรวจไวรัสโคโรนามากกว่า 93% ของทั้งหมดที่รวบรวมได้ใน 1 เดือนที่ผ่านมา โดยประกอบด้วยสายพันธุ์ย่อยหลายชนิด ได้แก่ BA.1, BA.1.1, BA.2 และ BA.3

 
 
 

สายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.1.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยชนิดแรกที่จำแนกได้ ยังคงเป็นสายพันธุ์ย่อยกว่า 96% ที่พบในการจัดลำดับทางพันธุกรรมโอมิครอนที่เผยแพร่ผ่านโครงการริเริ่มด้านวิทยาศาสตร์โลก GISAID แต่ก็มีการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนของการติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 ซึ่งมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งจากสายพันธุ์ดั้งเดิม รวมถึงที่โปรตีนหนามบนพื้นผิวไวรัสที่เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์

รายงานกล่าวว่า ถึงขณะนี้ GISAID ได้รับข้อมูลการพบสายพันธุ์ BA.2 แล้วจาก 57 ประเทศ โดยในบางประเทศนั้น สายพันธุ์ย่อยนี้คิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของข้อมูลลำดับพันธุกรรมสายพันธุ์โอมิครอนที่ได้รับ

องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ย่อยต่างๆ และควรต้องมีการศึกษาคุณลักษณะเฉพาะ รวมถึงความสามารถในการแพร่เชื้อ, การหลบหลีกการป้องกันของภูมิคุ้มกัน และศักยภาพในการก่อโรค

ผลการศึกษาหลายชิ้นในช่วงไม่นานมานี้บ่งบอกว่า BA.2 สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม

ระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หนึ่งในคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโควิดของ WHO กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับ BA.2 ยังมีจำกัด แต่ข้อมูลเบื้องต้นบางอย่างบ่งชี้ว่า BA.2 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ BA.1

สายพันธุ์โอมิครอนโดยทั่วไปก่อโรครุนแรงน้อยกว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้ เช่น เดลตา แต่ฟาน เคอร์โคฟกล่าวว่า ถึงเวลานี้ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่า BA.2 มีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของความรุนแรงของโรค

เธอย้ำด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นโควิดสายพันธุ์ใดก็ยังคงเป็นโรคที่อันตราย และผู้คนควรพยายามหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/abroad-news/77864/

BRIEF: ใกล้ความจริง! บริษัทยาสามารถผลิตวัคซีน COVID-19 ที่ป้องกันการติดเชื้อกว่า 90% แล้ว

โลกตกอยู่ท่ามกลางความสิ้นหวังจากวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยาวนานเกือบปี แต่ ณ ตอนนี้ บริษัทผลิตยายักษ์ใหญ่จากอังกฤษ ‘ไฟเซอร์’ (Pfizer)ได้ร่วมมือกับบริษัทไบโอเอนเท็ค (BioNTech) ผลิตวัคซีน COVID-19 ที่ใช้ได้ผลแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 43,500 คนใน 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี บราซิล อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และตุรกี ทำให้ความหวังของโลกที่จะหาทางออกของการรักษา COVID-19 ได้เข้าใกล้มาอีกขั้น

การทดลองใช้วัคซีนดังกล่าวได้เข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว โดยเหลือการทดลองขั้นสุดท้ายอีกแค่สิบกว่าขั้นเท่านั้น ทั้งนี้ การทดลองดังกล่าวทำผ่านการฉีดรหัสพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 ที่เรียกว่า RNA เข้าไปในร่างกายของมนุษย์ เพื่อพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรา โดยการทดลองทำให้เห็นว่า ร่างกายจะสามารถผลิตทั้งแอนตี้บอดี้ และภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า ‘ทีเซลล์’ (T-cells) ในการฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 ที่อยู่ในร่างกายของเราได้อย่างเห็นผล

ไฟเซอร์คาดการณ์ว่า พวกเขาจะสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวขึ้นได้จำนวน 50 ล้านโด๊ส ภายในเวลาสิ้นปีที่จะถึงนี้ และจะสามารถผลิตได้ถึง 1.3 พันล้านโด๊ส ภายในสิ้น ค.ศ.2021 ทั้งนี้ พวกเขาสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวใช้ในสหราชอาณาจักรแล้วประมาณ 10 ล้านโด๊ส จากการสั่งจองวัคซีนไว้ล่วงหน้าแล้วกว่า 30 ล้านโด๊ส

แต่วัคซีนดังกล่าวยังคงมีข้อจำกัด โดยเฉพาะการจัดเก็บวัคซีนที่จะต้องถูกเอาไว้ในอุณภูมิลบ 80 องศาเซลเซียส รวมไปถึงระยะเวลาที่ยังไม่รู้ว่าวัคซีนจะยังคงประสิทธิภาพในร่างกายได้นานเพียงใด

ความหวังของมนุษยชาติที่จะพ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้เข้ามาใกล้ไปอีกหนึ่งก้าว ทั้งนี้ จากสถิติทั่วโลกในปัจจุบันนั้น มีผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ไปแล้วกว่า 50.5 ล้านราย รักษาหายแล้ว 33.1 ล้านราย เสียชีวิต 1.26 ล้านราย

อ้างอิงจาก

https://www.bbc.com/news/health-54873105?fbclid=IwAR3UUXTEcY3kVERhCpg0AaXdxfx_x0Hxy1IG-FY0PjHAuECmNRY_pIti85A

https://time.com/5909322/pfizer-covid-19-vaccine-effective/?fbclid=IwAR008YZUstfmTUdP612ffsDPAEtKsIFbnbzDFTMNwbcC3f3Lng48DHtx0Wo

https://edition.cnn.com/2020/11/09/health/pfizer-covid-19-vaccine-effective/index.html?fbclid=IwAR2yM3A-Mc9UTdLNFTQfRFmHfBln4X7dkbFkdGeFvfT3Oj7R8CGFVB9DuU8

https://news.google.com/covid19/map?hl=en-US&mid=/m/07f1x&gl=US&ceid=US:en

#Brief #TheMATTER

ใครได้ ใครเสีย จากความสำเร็จของ 'วัคซีนโควิด-19'?

 

ความคืบหน้า "วัคซีนโควิด-19" ถือเป็นข่าวดีของทุกประเทศที่ต้องเผชิญเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์มานานเกือบปี นอกจากนี้ตลาดหุ้นยุโรปและไทยต่างก็ได้อานิสงส์จากข่าววัคซีนเช่นกัน ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่เคยได้ประโยชน์ช่วงก่อนหน้ากลับให้ผลตอบแทนน้อยกว่า

ของขวัญปีใหม่ที่คนทั่วโลกรอคอยกำลังจะมาถึงและเร็วกว่าทุกๆ ปี ...เพราะในเดือนพฤศจิกายนที่พึ่งผ่านไป มีบริษัทที่ประกาศความสำเร็จในการทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ใน Phase 3 หรือการทดลองในกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากแล้วถึง 3 บริษัท คือ

1. Pfizer ร่วมกับ BioNTech พบว่า 95% ของผู้เข้าร่วมทดลองมีภูมิคุ้มกันจากโรคโควิด-19 โดยวัคซีนของค่ายนี้เป็นแบบ mRNA ซึ่งผลิตจากชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส แต่จะมีข้อจำกัดในการขนส่ง เพราะวัคซีนต้องอยู่ในอุณหภูมิต่ำกว่า -70 องศาเซลเซียส

2. Moderna ผลิตวัคซีนแบบ mRNA เช่นเดียวกัน และมีอัตราความสำเร็จที่ 94.5% วัคซีนค่ายนี้ได้เปรียบตรงที่สามารถเก็บในอุณหภูมิเพียง 2-8 องศาเซลเซียสได้นานถึง 30 วัน

3. AstraZeneca ร่วมกับมหาวิทยาลัย Oxford คิดค้นวัคซีนแบบ Viral vector คือ การฉีดเชื้อไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนแอลงเข้าไปในร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน พบว่าวัคซีนได้ผล 70.4% และมีจุดเด่นที่ราคาถูกกว่าวัคซีนของค่ายอื่น

ขณะนี้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนได้ขออนุมัติจากองค์กรด้านสุขภาพเพื่อใช้เป็นกรณีฉุกเฉินแก่บุคลากรทางการแพทย์ก่อน และในลำดับถัดไปถึงจะจำหน่ายวัคซีนในวงกว้าง ซึ่งความสำเร็จของวัคซีนนี้เป็นความหวังที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินเป็นปกติได้

ตั้งแต่มีข่าวความสำเร็จของวัคซีน ตลาดหุ้นก็ตอบรับในทันที โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่ม +3.2% นำโดยหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์สูงจากความสำเร็จของวัคซีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) ที่ผลประกอบการมักจะพลิกฟื้นได้หากเศรษฐกิจกลับมาเปิดเป็นปกติ เช่น กลุ่มการเงิน +11.7% กลุ่มพลังงาน +25.6% รวมทั้งหุ้นกลุ่มที่ราคาปรับตัวลงแรงจากการปิดเมือง อย่างโรงแรมและสายการบินที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นถึง +23% (ราคาตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 30 พฤศจิกายน)

 

หากดูเป็นรายประเทศจะพบว่าตลาดหุ้นที่ได้อานิสงส์จากข่าววัคซีนมากกว่าประเทศอื่นๆ ได้แก่ หุ้นยุโรป +9.0% และหุ้นไทย +11.7% เนื่องจากเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซนและไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ประกอบกับโครงสร้างตลาดหุ้นมีหุ้นกลุ่มวัฏจักรเป็นส่วนใหญ่

ในทางกลับกัน หุ้นกลุ่มผู้ชนะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่า อย่างเช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับเพิ่มเพียง +1.1% ส่วนกลุ่ม Healthcare นั้นกลับปรับลดลง -0.4% ด้านประเทศจีนที่ควบคุมการแพร่ระบาดฯ ได้ดีกว่าที่อื่นๆ และสามารถหลุดพ้นจากวิกฤตโรคโควิด-19 จนเศรษฐกิจพลิกมาขยายตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/2020 ให้ผลตอบแทนเพียงราว +1% เท่านั้น

การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดคำถามว่า ความสำเร็จของวัคซีนจะทำให้หุ้นกลุ่มผู้ชนะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เสื่อมมนต์ขลังได้หรือไม่

การที่หุ้นกลุ่มวัฏจักรปรับเพิ่มขึ้นมานั้นอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การสลับกลุ่มเล่นจากนักลงทุนที่ได้กำไรจากกลุ่มเทคฯ มาเยอะแล้ว หรืออาจจะเกิดจากนักลงทุนที่พึ่งเริ่มมีความเชื่อมั่นในการลงทุนจึงเลือกลงทุนในกลุ่มนี้เพราะ ราคายังต่ำอยู่ และเรามองว่าการปรับเพิ่มขึ้นยังอยู่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น แต่ทั้งนี้การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยง

ในระยะข้างหน้าหุ้นกลุ่มวัฏจักรยังจะต้องเผชิญความท้าทายอีกมาก เพราะการที่ราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นต่อได้อย่างยั่งยืนต้องอาศัยเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างทั่วถึงและแข็งแกร่งจนทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมที่จะถอนคันเร่งของการผ่อนคลายและเสริมสภาพคล่อง หันมาเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากในเร็ววันนี้ ดังนั้นการที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักรจะต้องใช้ความระมัดระวัง โดยเฉพาะการเลือกสรรหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีพอ และติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

สำหรับหุ้นกลุ่ม New economy เช่น เทคโนโลยี และนวัตกรรมการแพทย์ จะยังให้ผลตอบแทนที่ดี เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและรูปแบบการดำเนินธุรกิจไปแล้ว โดยมีวิกฤตโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่ง ซึ่งเพิ่มทั้งประสิทธิภาพและความสะดวกสบาย ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีจะเติบโตได้อย่างมาก

กลยุทธ์ที่เหมาะสมคือ ลงทุนหุ้นกลุ่มวัฏจักรเพื่อคว้าโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะสั้น โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการติดตามการฟื้นตัวของราคาและการเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ ขณะที่การลงทุนในหุ้นกลุ่ม New economy ในสัดส่วนที่สูงกว่าจะสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นในระยะยาว

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/911216?anf=

ในฐานะที่ผมทำงานด้านวิศวโยธา....

ขอยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงกล่าวคือ

ความชื้นที่หยุดการเคลื่อนตัวในท่อดัทท์จะสะสมเมื่อเทียบอายุการหยุดการทำงานกระทันหันเป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือน

เชื้อราอันประกอบด้วยความแห้งของอากาศที่ไม่มีการหมุนเวียน(ปิดเครื่องการทำงานมานาน)

จะสะสมในแนวท่อดัทท์เป็นแผ่นยางๆตลอดความยาวของท่อในทุกๆชั้นของห้าง....(อันตรายอยู่ตรงจุดนี้)....เมื่อห้างเปิดใช้งาน

(ให้สังเกตุผนังภายในร้านทุกร้านเลือกดูจุดที่สูงๆจะเห็นคราบของเชื้อราเกาะติดในผนังและพื้นทั่วไป)

สินค้าทุกชนิดจะขึ้นราย้ำทุกชนิด...แต่ทางห้างจะทำความสะอาดไม่ให้เรามองเห็นเพื่อเปิดห้าง....

ในจุดที่อันตรายที่สุดเมื่อห้างเปิด ทางห้สงจะเปิดแอร์ในห้างทุกชั้น เมื่อเครื่องเดินระบบการถ่ายเทหมุนเวียนภายในห้าง

คอยร้อนและคอยเย็นของระบบทำงานหมุนเวียนถ่ายเทความเย็นลงสู่พื้น อากาศภายในห้างจะมีการหมุนเวียนผ่านท่อดัทท์(ท่อส่งความเย็น)....

จังหวะนี้แหละที่เชื้อราที่จับภายในผิวท่อดัทท์จะถูกแรงลมภายในท่อดันให้เชื้อราลอยออกมาพร้อมๆกับความเย็นและส่งผ่านช่องแอร์

ลงสู่พื้นอย่างต่อเนื่องการหมุนเวียนของความเย็นจะปะปนกับเชื้อราลอยอยู่ในห้าง เราจะหายใจเอาเชื้อราเข้าสู่ปอดโดยไม่รู้ตัวครับ

อธิบายง่ายๆคงเข้าใจในระดับหนึ่งนะครับ....ถ้าเป็นผม....ผมแนะนำให้ห้างเปิดสัก 7 วัน แล้วค่อยเข้าไปภายในห้าง...

เพื่อปล่อยให้เชื้อราที่ปลิวอยู่ในอากาศภายในห้างให้เหลือน้อยที่สุดและเจือจางน้อยที่สุด...หวังว่าคงเป็นประโยชน์แก่ทุกท่าน...

ขอบคุณบทความข้างต้นที่นำเสนอให้เห็นถึงภัยของเชื้อราหลังจากที่มีการสั่งปิดห้างฯกระทันหัน

(บทเรียนที่รัฐฯไม่ควรมองข้ามก่อนการสั่งการให้ยุติ....แบบกระทันหัน)

 
ไขข้อสงสัย "รพ.เอกชน" ออกแพ็กเกจรักษาโควิด-19 ได้หรือไม่
 
กรม สบส. แจง กรณี "รพ.เอกชน" บางแห่งออกแพ็กเกจรักษา "ผู้ป่วยโควิด-19" โดยระบุให้เลือกรูปแบบการรักษาและมีค่าใช้จ่าย สามารถทำได้ แต่จะต้องเป็นยาที่ รพ.เอกชนจัดซื้อมาเอง ไม่ใช่ยาที่รัฐจัดให้ เป็นทางเลือกประชาชน แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษา และมาตรฐานสถานพยาบาล

จากกรณีที่ รพ.เอกชน บางแห่งออกแพ็กเกจรักษา ผู้ป่วยโควิด-19 โดยระบุให้เลือกรูปแบบการรักษาและมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน อาทิ ยาฟาวิพิราเวียร์ ครบโดส 50 เม็ด ราคา 2,900 บาท หรือยาฟาวิพิราเวียร์แบบครบโดสกับปรอทและเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ราคา 3,000 บาท หรือ ยาโมลนูพิราเวียร์ 20-30 เม็ด ราคา 5,700 บาท เป็นต้น ซึ่ง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ระบุว่า สามารถดำเนินการได้ แต่จะต้องเป็นยาที่รพ.เอกชนจัดซื้อมาเอง ไม่ใช่ยาที่รัฐจัดให้ไปเพื่อใช้ในการรักษาฟรีให้กับประชาชนนั้น

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า หากเป็นคนไข้โควิด-19 ไปรักษาใน รพ.ตามสิทธิ เป็นไปตามระบบนั้น โรงพยาบาลที่รักษาตามสิทธินั้นๆ ย่อมไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ เพราะรัฐเป็นผู้สนับสนุนยาไปยังโรงพยาบาล แต่หากรพ.เอกชน ต้องการทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายและมีกำลังจ่าย ก็สามารถทำได้ แต่การรักษาต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ และยาส่วนที่จะนำคิดค่ารักษาจะต้องเป็นของเอกชน เนื่องจากปัจจุบันในส่วนยาจากภาครัฐจะเตรียมยาไว้ให้รพ.เอกชนที่ดูแลคนไข้ตามสิทธิ

“สิ่งสำคัญการออกแพ็กเกจใดๆ ต้องอิงอาการคนไข้เป็นหลัก ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษา และมาตรฐานสถานพยาบาล กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะมีการประชุมหารือและกำชับรพ.เอกชน ในการปฏิบัติเรื่องนี้ให้ถูกต้อง หากสงสัยว่า รพ.เอกชนทำได้หรือไม่ให้แจ้งมาที่ สบส. เพื่อตรวจสอบต่อไป และการออกแพ็กเกจต้องแจ้งล่วงหน้า และแจ้งราคาให้ประชาชนทราบล่วงหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"แต่ที่สำคัญการให้ยาต้องรักษาตามอาการ ตามมาตรฐาน หากทำผิดนอกเหนือจากนั้น จะผิดทั้งพรบ.สถานพยาบาลฯและหากแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายนอกเหนืออาการก็จะเข้าข่ายผิดเรื่องการประกอบวิชาชีพ จะเป็นในส่วนของแพทยสภาตรวจสอบ” นพ.ธเรศกล่าว

ว่ากันว่า การที่ รพ.เอกชนที่ออกแพ็กเกจอาจเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกสบาย เพื่อให้ผู้ป่วยที่สามารถจ่ายได้มีทางเลือก ว่ากันว่ากรณีเช่นนี้หากเป็นการอำนวยความสะดวกได้จริงและไม่ผิดหลักเกณฑ์ใดๆ ก็น่าจะทำได้ และประชาชนก็ได้ความสะดวกสบาย ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นผู้รับบริการจะต้องรับผิดชอบเอง 

“โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด” ใช้ภาวะฉุกเฉิน

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิดที่ใช้ในการรักษาโควิด-19นั้น ยังขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นเดียวกับทั่วโลก แต่เมื่อยาได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย.แล้ว สถานพยาบาลเอกชนก็สามารถจัดซื้อยาดังกล่าวมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ หากบริษัทผู้ผลิตมียาที่ขายให้ได้ อย่างไรก็ตาม การสั่งจ่ายยาดังกล่าวของสถานพยาบาลให้กับผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่เป็นแนวทางการรักษาที่ออกโดยกรมการแพทย์

ล่าสุด กรมการแพทย์ ได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 24 วันที่ 11 ก.ค. 2565 โดยความร่วมมือของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างาน ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการใน ประเทศ และต่างประเทศ

 

ไขข้อสงสัย "รพ.เอกชน" ออกแพ็กเกจรักษาโควิด-19 ได้หรือไม่

รักษาตามความรุนแรง-ปัจจัยเสี่ยง 4 กรณี

1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้านแบบ ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้ายไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์

2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ อาจพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์ ควรเริ่มยาโดยเร็ว หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี โดยหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หากมีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ

โดยมีลำดับการให้ยา คือ โมลนูพิราเวียร์ ,เรมเดซิเวียร์,เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) และฟาวิพิราเวียร์ หากมีปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อขึ้นไป ให้เรมเดซิเวียร์ หรือเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) หรือโมลนูพิราเวียร์  ทั้งนี้ การจัดลำดับการให้ยา พิจารณาจากปริมาณยาที่มีในประเทศ ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราการป่วยหนักและอัตราตาย ความสะดวกในการบริหารยา และราคายา

ซึ่งข้อมูลปัจจุบัน เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่มีราคาสูงที่สุด ส่วนฟาวิพิราเวียร์ ไม่ช่วยลดอัตราการป่วยหนัก แต่ช่วยลดอาการได้ หากได้รับยาเร็วตั้งแต่วันแรกที่มีอาการในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง  ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่รุนแรง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ,โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี

4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการและได้รับออกซิเจน แนะนำให้เรมเดซิเวียร์ โดยเร็วที่สุด เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ร่วมกัยให้ยาคอร์ดิโคสเตียรอยด์ (corticosteroid) 

สปสช.ส่งยาถึงบ้านฟรี

ในส่วนของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง 30 บาท สปสช.ได้เพิ่มการรักษาด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) กับ 2 ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันด้านสุขภาพดิจิทัล คือ บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการ Good Doctor Technology แอปพลิเคชัน และ ทรู เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) เพื่อทำการดูแลผู้ป่วยฯ ผ่านบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) พร้อมบริการจัดส่งยาถึงบ้านพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล 5 จังหวัด นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เท่านั้น

ลงทะเบียนได้ที่ 

  • แอปพลิเคชัน Good Doctor Technology ให้บริการโดย บริษัท กู็ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย): คลิก หรือ
  • แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) โดย ทรู เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด : คลิก

พบแพทย์ผ่านออนไลน์ ซักถามและจ่ายยาตามอาการ ให้คำแนะนำการใช้ยารักษาโควิด-19 พร้อมจัดส่งถึงบ้าน ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย

สอบถามได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือไลน์ไอดี @nhso หรือ คลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

แนวปฏิบัติ สิทธิประกันสังคม ม.33/ 39

สำนักงานประกันสังคมเผยแนวปฏิบัติผู้ติดเชื้อโควิด-19มาตรา 33 และมาตรา 39  กรณีมีอาการเข้าข่ายหรือตามดุลยพินิจของแพทย์ ติดเชื้อโควิด-19ตรวจATKได้ ณ สถานพยาบาลประกันสังคมและสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการทั่วประเทศ ตรวจ ATK ขึ้น 1 ขีด ไม่ติดโควิด-19  ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ติดโควิด-19 

1.รักษาตามแนวทาง “เจอ แจก จบ” 

ผู้ประกันตนที่มีอาการป่วยไม่รุนแรง รักษาแบบ OP - self isolation “เจอ แฉก จบ ” ณ สถานพยาบาลประกันสังคมและสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐ และเอกชนทุกแห่ง/คลีนิกและร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

2.กรณีที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน 

ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ณ สถานพยาบาลประกันสังคมและสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐและเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

3.เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สีเหลือง-สีแดง

อาการ ได้แก่ หอบเหนื่อยหนักมาก พูดไม่เป็นประโยค แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว มีภาวะช็อค/โคม่า ซึมลง ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ค่าอ๊อกซิเจนต่ำกว่า 94

หากเข้าเกณฑ์คัดแยกผู้ป่วย สีเหลือง-สีแดง ใช้สิทธิ UCEP Plus ณ สถานพยาบาล ทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ผู้ประกันตน ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 สำนักงานประกันสังคม จะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่สถานพยาบาล และแพทย์ผู้ดูแลรักษาพิจารณาแล้วว่าผู้ป่วย เข้าเกณฑ์การดูแลรักษาในที่พักระหว่างรอเข้ารักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล (Home Isolation) และการดูแลรักษาในโรงพยาบาลสนาม สำหรับคนในชุมชน (Community Isolation) ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/health/1015193?anf=

 

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ