โควิด-19 ระบาดหนักในสหรัฐ ฟลอริดาติดเชื้อรายวันสูงสุด

 

รัฐฟลอริดาทำสถิติสูงสุด ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มอีก 15,299 คน ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา หรือประมาณ 1 ใน 4 ของตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันทั่วสหรัฐ และเสียชีวิตรายใหม่ 45 คน โดยรัฐฟลอริดา ซึ่งมีประชากรเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ของสหรัฐ ทำสถิติผู้ติดเชื้อรายวันสูงที่สุดแซงแคลิฟอร์เนียไปแล้ว

ฟลอริดา ซึ่งเริ่มยกเลิกมาตรการคุมเข้มควบคุมการระบาดของไวรัสในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ได้ผล และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการท่องเที่ยวและประชากรผู้สูงอายุ โรงพยาบาลมากกว่า 40 แห่งในฟลอริดา แถลงว่า ห้องรักษาผู้ป่วยหนัก หรือไอซียู เต็มความสามารถแล้ว ขณะที่ รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามผลักดันให้เปิดโรงเรียนอีกครั้งและยังมีการประท้วงต่อต้านการสวมหน้ากากอนามัยในรัฐมิชิแกนและมิสซูรี ด้วย


หากรัฐฟลอริดา เป็นประเทศ จะอยู่อันดับ 4 ของโลกที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุดในวันเดียว เป็นรองสหรัฐ, บราซิลและอินเดีย จากการวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ โดยผู้ติดเชื้อรายวันในฟลอริดา แซงหน้าสถิติผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงที่สุดที่มีรายงานอยู่ในประเทศยุโรปในช่วงที่การระบาดอยู่ในระดับสูงสุดด้วย อีกทั้งยังทำลายสถิติผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดในนิวยอร์ก ซึ่งอยู่ที่ 12,847 คน เมื่อวันที่ 10 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่นิวยอร์กเป็นศูนย์กลางการระบาดของสหรัฐ

ผู้ติดเชื้อในฟลอริดา ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่านายรอน เดอซานติส ผู้ว่าการรัฐจากพรรครีพับลิกัน ได้สั่งให้ปิดบาร์อีกครั้งเมื่อเดือนที่แล้ว แต่เขาปฏิเสธที่จะบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย

การพุ่งขึ้นของผู้ติดเชื้อล่าสุดนี้ มีขึ้นหนึ่งวันหลังวอลต์ ดีสนีย์ เวิลด์ ในเมืองออร์แลนโด เปิดสวนสนุกอีกครั้ง ด้วยการจำกัดการเข้าชมของนักท่องเที่ยว ซึ่งได้รับการต้อนรับด้วยมาตรการที่ปลอดภัย ซึ่งรวมทั้งการสวมหน้ากากอนามัย, การใช้เจลล้างมือ และตรวจวัดอุณหภูมิ ณ จุดคัดกรอง

อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านการสวมหน้ากากอนามัยในหลายรัฐ ซึ่งรวมทั้งฟลอริดาและมิชิแกน จัดการประท้วงต่อต้านคำสั่งของรัฐบาลท้องถิ่นที่ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย โดยแย้งว่า มาตรการดังกล่าวละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของรอยเตอร์เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับ 2 สัปดาห์ก่อนหน้า พบว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังเพิ่มสูงขึ้นในประมาณ 40 รัฐ และสหรัฐก็ทำลายสถิติโลก มีผู้ติดเชื้อรายวันวันเดียวกว่า 60,000 คนติดต่อกัน 4 วันแล้ว อัตราผู้ป่วยติดเชื้อที่ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลก็กำลังเพิ่มสูงขึ้นด้วยในรัฐแอริโซนา, แคลิฟอร์เนีย, ฟลอริดา และเท็กซัส

ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจที่ทรุดหนัก ขณะที่เขาเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ กดดันให้รัฐต่าง ๆ เปิดเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหายและโรงเรียนอีกครั้ง ซึ่งทางเบตซี เดวอส รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐ แถลงเมื่อวันอาทิตย์แล้วว่า กระทรวงศึกษาธิการของเธอไม่มีแผนการที่มีความปลอดภัยพอที่จะส่งเสริมให้มีการเปิดโรงเรียนใหม่ และเขตการศึกษาแต่ละแห่งและแต่ละรัฐต้องพิจารณาแผนการของตัวเองบนพื้นฐานของอัตราการระบาดของไวรัสในท้องถิ่น ว่ามีความปลอดภัยในการเปิดเรียนหรือไม่ด้านดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อและภูมิแพ้แห่งชาติของสหรัฐ (เอ็นไอเอช) ที่ปรึกษาระดับสูงของศูนย์ป้องกันโควิด-19 ประจำทำเนียบขาว วิพากษ์วิจารณ์การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในรัฐฟลอริดา โดยบอกว่า ข้อมูลการระบาดไม่ได้สนับสนุนให้มีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มต่าง ๆ แม้แต่น้อย

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสนับสนุนให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเพื่อจำกัดการระบาดของไวรัส แต่ประเด็นนี้ กลายเป็นความแตกแยกทางการเมืองในสหรัฐ ซึ่งแตกต่างจากหลายประเทศ ที่อัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตลดลงอย่างมาก เนื่องจากผู้คนหันมาสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน

การระบาดของไวรัสที่ล่วงเลยมา 7 เดือน ตัวประธานาธิบดีทรัมป์เอง ก็เพิ่งจะสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก เมื่อเขาเดินทางไปยังโรงพยาบาลทหารในพื้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เขาปฏิเสธสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะมาตลอดก่อนหน้านี้ แต่ก็เรียกร้องให้ชาวอเมริกันสวม โดยบอกว่า มันเป็นทางเลือกส่วนตัว ซึ่งจนถึงขณะนี้ ชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงปฏิเสธที่จะสวมหน้ากากอนามัย ทั้ง ๆ ที่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข บอกว่า สามารถช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ ซึ่งล่าสุดไวรัสมรณะ ได้คร่าชีวิตชาวอเมริกันไปแล้วมากกว่า 135,000 คน และติดเชื้อทั่วประเทศเกือบ 3.3 ล้านคน
 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.newtv.co.th

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.newtv.co.th/news/60110

 
โควิด-19"โอไมครอน" น่ากังวลขั้นสุด ทำความรู้จักเชื้อกลายพันธุ์ชนิดที่5
 
ทำความรู้จักโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" เชื้อแพร่เร็ว รุนแรง อาจดื้อวัคซีน กำลังระบาดอย่างรุนแรงในประเทศแอฟริกาใต้และพบในประเทศอื่นๆ ขณะที่ทุกประเทศทั่วโลกเตรียมพร้อม เฝ้าระวัง รับมือการระบาดประเทศของตนเอง

อย่างที่ทราบกันดีว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา ซึ่งหลังจากที่ นาย โจ ฟาห์ลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้ ประกาศเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2564 ที่ผ่านมาว่าค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ชนิดกลายพันธุ์แบบใหม่  B.1.1.529 กำลังระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศแอฟริกาใต้ แต่ยังไม่ทราบว่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่ใด

  • “โอไมครอน” โควิดกลายพันธุ์ชนิดที่5

ทั้งนี้ นอกจากแอฟริกาใต้แล้ว ไวรัสชนิดกลายพันธุ์แบบใหม่นี้ยังพบในประเทศบอตสวานา ที่มีพรมแดนติดกัน และในนักท่องเที่ยวคนหนึ่งที่เดินทางจากแอฟริกใต้ไปยังฮ่องกงอีกด้วย

ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งชื่อให้เชื้อกลายพันธุ์นี้เป็นที่เรียบร้อย โดยออกแถลงการณ์ เมื่อวานนี้ว่า เชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ตัวล่าสุด B.1.1.529 ถือเป็น "สายพันธุ์น่าวิตกกังวล" (VOC) ใช้ชื่อเรียกจากภาษากรีกว่า "โอไมครอน" (Omicron) โดยถือเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดที่ 5 ที่องค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล หลังจากสายพันธุ์อัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้เหตุผลที่กำหนดให้ โควิดสายพันธุ์ ​B.1.1.529 หรือ โอไมครอน เป็นโควิดเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) ว่าเป็นเพราะมีจำนวนการกลายพันธุ์ที่สูงมากจนน่าวิตก และจากหลักฐานเบื้องต้น พบความเสี่ยงที่อัตราการติดเชื้อจากสายพันธุ์นี้จะสูงขึ้น มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

  • จุดเริ่มต้นของสายพันธุ์โอไมครอน

ประกาศของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ได้รับรายงานถึง สายพันธุ์ ​B.1.1.529 หรือ โอไมครอน Omicron ครั้งแรกในแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีตำแหน่งการกลายพันธุ์ของยีนมากถึง 50 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่ามากผิดปกติอย่างยิ่ง โดยพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่มีจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในภายระยะเวลาเดียวกันที่ตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอน ตัวอย่างเชื้ออันแรกที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์นี้ มีการเก็บมาตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.

โควิดสายพันธุ์ ​B.1.1.529 หรือ โอไมครอน Omicron ระบาดแล้วในประเทศ

  • แอฟริกาใต้
  • บอตสวานา
  • เบลเยียม
  • ฮ่องกง
  • อิสราเอล

อย่างไรก็ดี WHO ระบุว่า ต้องใช้เวลาอีก 2-3 สัปดาห์ จนกว่าจะทราบถึงผลกระทบของโควิดสายพันธุ์นี้

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศแอฟริกาใต้ ตรวจพบการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ ซึ่งมีการกลายพันธุ์อย่างรุนแรงในยีนหลายสิบตำแหน่ง ทำให้หวั่นเกรงกันว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้อาจแพร่ระบาดได้ง่าย และเป็นอันตรายยิ่งกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ทั่วโลกเคยพบมา

ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ดังกล่าวมีชื่อว่า B.1.1.529 ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะตั้งชื่อเรียกให้ตามลำดับตัวอักษรกรีกว่า โอไมครอน

เจ้าหน้าที่พบการระบาดในเคาเต็ง (Gauteng) แอฟริกาใต้เป็นหลัก โดยมีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว 77 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อในประเทศบอตสวานาอีก 4 ราย รวมทั้งพบกรณีที่ผู้ติดเชื้อเดินทางจากแอฟริกาใต้ไปยังฮ่องกงด้วยเที่ยวบินตรงอีก 1 ราย

  • กลายพันธุ์น่ากังวล แพร่ง่าย อันตรายสูง

ศ.ทูลิโอ เด โอลิเวรา ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการรับมือโรคระบาดของแอฟริกาใต้ ระบุว่า ไวรัสโควิดชนิดใหม่นี้มีการกลายพันธุ์ของยีนรวมทั้งสิ้นถึง 50 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าผิดปกติอย่างยิ่งและทำให้มันมีความแตกต่างจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์อื่น ๆ ที่เคยพบมาเป็นอย่างมาก

การกลายพันธุ์แบบเหนือความคาดหมายนี้ จัดเป็นการกลายพันธุ์ของโปรตีนบนส่วนหนามของไวรัสถึงกว่า 30 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนดังกล่าวมีความสำคัญยิ่ง ในการเป็นกุญแจที่ไวรัสใช้ไขประตูเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์

นอกจากนี้ยังพบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ (receptor binding domain) ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเราถึง 10 ตำแหน่งด้วย ในขณะที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่ร้ายแรงอย่างสายพันธุ์เดลตา มีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุอีกว่า การกลายพันธุ์อย่างรุนแรงในลักษณะนี้ น่าจะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อในผู้ป่วยเพียงรายเดียว โดยร่างกายของผู้ป่วยที่เป็นต้นตอของการกลายพันธุ์ดังกล่าว ไม่สามารถต่อสู้ต้านทานกับเชื้อโรคได้ การที่เชื้อไวรัส B.1.1.529 มีการเปลี่ยนแปลงจนแตกต่างไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งมีต้นกำเนิดที่นครอู่ฮั่นของจีน ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า วัคซีนโควิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ และหากมีการแพร่ระบาดลามออกไปเป็นวงกว้าง ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์โควิดในหลายประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับการระบาดระลอก 4 เลวร้ายยิ่งขึ้น

  • ทั่วโลกเตรียมพร้อมรับมือ “โอไมครอน”

ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ได้ในหลายๆ ประเทศ อาทิ รัฐบาลฮ่องกง พบนักท่องเที่ยวรายหนึ่งที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 ส่วนอีกรายเป็นนักท่องเที่ยวที่กักตัวอยู่ในโรงแรม คาดว่าพักอยู่ห้องตรงข้ามกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้ติดเชื้อรายที่ 2 อาจติดเชื้อจากผู้ป่วยรายแรกจากอากาศที่หมุนเวียนระหว่างห้องพัก

ขณะที่ อังกฤษ นายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลสังคมแห่งสหราชอาณาจักร ประกาศขึ้น บัญชีแดงโควิด 6 ประเทศทวีปแอฟริกา คือ

แอฟริกาใต้

นามิเบีย

เลโซโท

บอตสวานา

เอสวาทินี (Eswatini)

ซิมบาบเว

ส่วนนิวซีแลนด์ นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่า พร้อมรับมือโดยนิวซีแลนด์มีแผนรับมือกับสายพันธุ์ในอนาคตอยู่แล้วและจะยังคงเข้มงวดและรักษาระดับการป้องกันรวมถึงข้อกำหนดเรื่องพรมแดนไว้ตามเดิม โดยนิวซีแลนด์สั่งปิดพรมแดนมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว

เช่นเดียวกับออสเตรเลีย นายเกร็ก ฮันท์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลีย ระบุว่า ทันทีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จำแนกสายพันธุ์นี้ว่าเป็นสายพันธุ์หลัก และหน่วยงานทางการแพทย์แนะนำให้เปลี่ยนมาตรการก็จะดำเนินการทันที เช่น การปิดกั้นพรมแดน หรือการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ

อ้างอิง:บีบีซีไทย,Dailymail , theguardian

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/974308?anf=

 

 สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลีและสาธารณรัฐเช็ก ตรวจพบเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์ "โอไมครอน" ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในวันเสาร์(27พ.ย.) และบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษแถลงมาตรการใหม่ต่างๆนานาเพื่อควบคุมไวรัสตัวนี้ ในขณะที่มีประเทศต่างๆเพิ่มเติม กำหนดข้อจำกัดด้านการเดินทางที่มาจากภูมิภาคทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

การพบตัวกลายพันธุ์ใหม่นี้โหมกระพือความกังวลทั่วโลก มีคำสั่งห้ามการเดินทางหรือข้อจำกัดต่างๆออกมาเป็นชุด และก่อแรงเทขายในตลาดทุนเมื่อวันศุกร์(26พ.ย.) ในขณะที่พวกนักลงทุนกังวลว่า "โอไมครอน" อาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากโรคระบาดใหญ่เล่นงานมาเกือบ 2 ปี

เคสผู้ติดเชื้อ 2 รายในสหราชอาณาจักรที่เชื่อมโยงกับตัวกลายพันธุ์ใหม่ เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปยังทางใต้ของทวีปแอฟริกา จากการเปิดเผยซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุข

ในเวลาต่อมา นายกรัฐมนตรีจอห์นสัน เปิดเผยมาตรการต่างๆ ในนั้นรวมถึงยกระดับตรวจเชื้อเข้มข้นขึ้นสำหรับคนที่เดินทางเข้าประเทศ แต่ยังไม่ถึงขั้นกำหนดข้อจำกัดกิจกรรมต่างๆทางสังคม ยกเว้นแต่บังคับสวมหน้ากากในบางสถานที่

"เราจะบังคับทุกคนที่เดินทางเข้าสหราชอาณาจักรเข้ารับการตรวจ PCR ในช่วงท้ายของวันที่ 2 หลังจากพวกเขาเดินทามาถึงและให้กักโรคตนเองจนกว่าพวกเขามีผลตรวจเป็นลบ" จอห์นสันระบุระหว่างแถลงข่าว

นอกจากนี้แล้ว จอห์นสัน กล่าวต่อว่าบุคคลใดที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอไมครอนจะต้องกักโรคตนเองเป็นเวลา 10 วัน และรัฐบาลจะยกระดับกฎระเบียบสวมหน้ากากปกปิดใบหน้า และมาตรการต่างๆเหล่านี้จะมีการทบทวนอีกครั้งใน 3 สัปดาห์

ส่วนกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาวาเรียของเยอรมนี ก็แถลงเช่นกันยืนยันพบเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอไมครอน 2 ราย โดยทั้ง 2 คนเดินทางเข้าสู่เยอรมนีที่สนามบินเมืองมิวนิคในวันที่ 24 พฤศจิกายน ก่อนหน้าที่เยอรมนีจะกำหนดให้แอฟริกาใต้เป็นพื้นที่ของตัวกลายพันธุ์ไวรัสและจำเป็นต้องกักโรค จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าบุคคลทั้ง 2 เดินทางมาจากแอฟริกาใต้

 
ในอิตาลี สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติระบุว่าพบเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์ใหม่นี้ในเมืองมิลาน ในบุคคลที่เดินทางมาจากโมซัมบิก

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสาธารณรัฐเช็กก็เปิดเผยเช่นกันว่ากำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบเคสต้องสงสัยตัวกลายพันธุ์โอไมครอน ในบุคคลที่เคยไปอยู่ในนามิเนีย ก่อนที่โรงพยาบาลท้องถิ่นในเมืองลิเบเรช ยืนยันในเวลาต่อมาว่าคนไข้หญิงรายดังกล่าวติดเชื้อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์โอไมครอน

กระทรวงสาธารณสุขเดนมาร์กเปิดเผยในวันเสาร์(27พ.ย.) ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะพบเชื้อตัวกลายพันธุ์โอไมครอนในบุคคล 2 รายที่เดินทางมาจากแอฟิกาใต้ "เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีเหตุผลให้ต้องสงสัยว่าเรามีเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์ใหม่โอไมครอน 2 เคสแรกในเดนมาร์ก"

 
 
เมื่อวันศุกร์(26พ.ย.) องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งชื่อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์ B.1.1.529 ที่พบในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ว่าโอไมครอน โดยเป็นการเรียกชื่อตามลำดับอักษรกรีก พร้อมประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล((variant of concern) เนื่องจากมีแนวโน้มแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า แม้บรรดาพวกผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามันจะก่ออาการรุนแรงหรือเบากว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ

คริส วิทตี หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอังกฤษระบุในการแถลงข่าวเดียวกันกับจอห์นสัน ว่ายังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับตัวกลายพันธุ์โอไมครอน แต่ "มันมีโอกาสพอสมควร ที่อย่างน้อยๆตัวกลายพันธุ์นี้จะสามารถหลบหลีกวัคซีนได้ระดับหนึ่ง"

ตัวกลายพันธุ์นี้ถูกพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ และนับตั้งแต่นั้นก็พบในเบลเยียม บอตสวานา อิสราเอลและฮ่องกง ก่อนลุกลามขยายวงกว้างยิ่งขึ้นล่าสุด

(ที่มา:รอยเตอร์)
 
 
โควิดจบ เจอ Long COVID เช็ค 9 รพ. "รักษาลองโควิด" เปิดให้บริการ 9 พ.ค.นี้
 

เมื่อโควิดเป็นแล้วไม่จบ เจอ Long COVID ซ้ำอีก เช็ค 9 โรงพยาบาล "รักษาลองโควิด" กทม.นำร่อง เปิดให้บริการ 9 พ.ค.นี้

โควิดไม่หาย ต้อง "รักษาลองโควิด" ต่ออีก ล่าสุด นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้เตรียมเปิด "คลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID" โดยดำเนินการตามแนวทางของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่พ้นระยะเฉียบพลัน และยังคงมีอาการผิดปกติในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย

โดยครอบคลุมการให้คำปรึกษา การตรวจประเมิน การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือตรวจพิเศษ การวินิจฉัย การดูแลรักษา ติดตามอาการ และการส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (กรณีจำเป็น) ในรูปแบบการให้บริการแบบผู้ป่วยนอก (Onsite และ Online Telemedicine) โดยเปิดคลินิก 1 วัน/สัปดาห์ เริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 9 พ.ค. 65 เป็นต้นไป ในวันและเวลาราชการ

สำหรับคุณสมบัติผู้ป่วยที่เข้ารับการ "รักษาลองโควิด" ในคลินิก Long COVID จะต้องเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วย มากกว่า 1 เดือนขึ้นไป การให้บริการจะเน้นไปทางติดตามอาการที่เกิดหลังจากหายป่วยโควิด-19 ผู้ป่วยสามารถรับบริการผ่าน 2 ช่องทาง ดังนี้

1.ผู้ป่วยมาเข้ารับบริการที่คลินิกปกติ และแพทย์วินิจฉัยอาการที่เข้าได้กับ Long COVID และส่งผู้ป่วยมาที่คลินิกดังกล่าว
2.ผู้ป่วยที่สงสัยอาการตนเอง และเข้ามารับบริการที่คลินิก Long COVID โดยตรง รูปแบบการให้บริการแบบ One stop service จัดให้มีการบริการคัดกรอง พบแพทย์ในจุดเดียว กรณีที่ต้องมีการปรึกษาจิตแพทย์ จะให้มีการทำแบบสอบถามเพื่อประเมินความเสี่ยงทางด้านสุขภาพจิตก่อนเข้าพบแพทย์ ทั้งนี้ การรักษาพยาบาลเป็นไปตามสิทธิของผู้ป่วย

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในคลินิก Long COVID จะแบ่งเป็น

1. บุคลากรที่ปฏิบัติงานในคลินิก Long COVID ประกอบด้วย แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป พยาบาลวิชาชีพ สหวิชาชีพอื่น ๆ เช่น นักกายภาพบำบัด เป็นต้น 2.กรณีที่จำเป็นต้องได้รับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ประกอบด้วย อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ อายุรแพทย์ระบบประสาท จิตแพทย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป สามารถรับบริการ "รักษาลองโควิด" ได้ที่โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 9 แห่ง รายละเอียดดังนี้

  1. โรงพยาบาลกลาง ณ คลินิกประกันสุขภาพ ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.
  2. โรงพยาบาลตากสิน ณ ARI Clinic ทุกวันจันทร์ เวลา 13.00-16.00 น.
  3. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันพุธ เวลา 13.00-16.00 น.
  4. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.
  5. โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.
  6. โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันอังคาร เวลา 08.00-12.00 น.
  7. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ณ ARI Clinic ทุกวันพุธ เวลา 13.00-16.00 น.
  8. โรงพยาบาลสิรินธร ณ คลินิกวัณโรค ทุกวันอังคาร เวลา 08.00-12.00 น. และ
  9. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ณ คลินิกผู้ป่วยนอก ทุกวันพุธ 13.00-16.00 น. 

โดยสามารถนัดหมายรับบริการผ่าน BFC ของโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง และขยายช่องทางให้บริการตรวจรักษาผ่านระบบ telemedicine ในแอปพลิเคชัน "หมอ กทม." เพื่อรองรับการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครผ่านการเบิกจ่ายค่ารักษาตามสิทธิ

โควิดจบ เจอ Long COVID เช็ค 9 รพ. "รักษาลองโควิด" เปิดให้บริการ 9 พ.ค.นี้

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/513957?adz=

คอลัมน์ “อาหารสมอง”
กรุงเทพธุรกิจ
อังคาร 16 ก.พ. 2564
 
โควิดติดได้อีกทางจาก.......
 
 วรากรณ์ สามโกเศศ

ถึงแม้โลกจะมีความรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้นแต่ก็ยังไม่ครบถ้วน    มีเรื่องการติดเชื้ออยู่ลักษณะหนึ่งที่ใกล้ตัวแต่อาจมองข้ามจนอาจตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่งได้โดยไม่รู้ตัว    มาดูกันว่ามันเป็นมาอย่างไร และเราจะดูแลตัวเองกันอย่างไรให้ “อยู่ดี-อยู่รอด”  จากการระบาดครั้งนี้

เรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้มาจากการได้ฟังการนำเสนอและจากการอ่านข้อเขียน     งานศึกษาของวิศวกรไทยกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจมาก      กลุ่มนี้มาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    ซึ่งประกอบด้วย ดร.กริชชาติ ว่องไวลิขิต     ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุล   ดร.พิสุทธิ์   เพียรมนกุล    ดร.ธวัชชัย ชรินพาณิชกุล  และ ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล   ท่านได้ร่วมกันเขียนบทความเรื่อง “การระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยละอองลอย และมาตรการควบคุมการระบาดเบื้องต้น”

เราทราบกันดีว่าเชื้อโควิดแพร่กระจายผ่านหยดละออง (droplets) ของสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ(น้ำมูก น้ำลายซึ่งมีเชื้อปนอยู่เนื่องจากคอ จมูก ตามีช่องถึงกันหมด)ด้วยการไอ  จาม    พูดคุย   ลมหายใจรดกัน ฯลฯ หยดละอองมีขนาด 60 ไมครอนถึง 2,000 ไมครอน    ระยะการกระจายตัวไม่เกิน 1-2 เมตร     ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้ใส่หน้ากากโดยมีระยะห่างคนอื่น 2 เมตร

ถึงแม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ในตอนแรกไม่แนะนำให้ใส่หน้ากาก และแนะนำเฉพาะเรื่องการระวังหยดละอองเท่านั้น    อย่างไรก็ดีญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ยืนยันความเสี่ยงในการติดโรคผ่านสิ่งที่เรียกว่าละอองลอย (aerosol) ซึ่งเป็นหยดเล็กมากๆที่มีกำเนิดจากหยดละอองโดยมีขนาดเล็กกว่า 60 ไมตรอน  มันมิได้มาจากการไอ   จาม  พูดคุยและหายใจรดกันเท่านั้น หากมาจากการระเหยของหยดละออง  ในตอนแรกมีการกระจายตัวมากกว่า 1.5 เมตร    และมีอันตรายเพราะมันสามารถลอยตัวอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานับชั่วโมง    สามารถสะสมได้ในห้องที่อากาศถ่ายเทไม่ดี    และสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้จากการสูดหายใจเข้าไปโดยตรง และผ่านอีกหนทางหนึ่งที่อาจถูกมองข้าม


หนทางนี้ก็คือการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ เช่นเฟอร์นิเจอร์  โต๊ะ   เก้าอี้    ก๊อกน้ำ   ที่จับเปิดปิดประตู   พื้น  ฯลฯ ที่ละอองลอยหล่นมาจับหลังจากผู้กระจายเชื้อได้ออกไปจากห้องนั้นนานแล้วหลายชั่วโมง    เมื่อสัมผัสแล้วก็เอามือไปโดนเยื่อจมูก (แคะจมูก    นิ้วถูไชในโพรงจมูก)   ถูลูกตา (น้ำตาเชื่อมต่อกับโพรงจมูกได้)   เชื้อก็จะส่งผ่านเข้าสู่ร่างกาย
เชื้อโควิดนั้นติดกันผ่านเซลล์เนื้อเยื่อในโพรงจมูกเป็นสำคัญเพราะรูปลักษณ์ของเชื้อสามารถล็อกกับเซลล์ของเยื่อในโพรงจมูกได้อย่างเหมาะเจาะ  

เชื้อนี้มิได้ติดกันจากการกินอาหารโดยตรงเหมือนอหิวาต์แต่จากการสัมผัสเชื้อที่ผสมอยู่ในอาหารหรือน้ำลายที่ติดอยู่ที่ช้อนเชื้ออาจซึมเข้าไปถึงเซลล์เนื้อเยื่อโพรงจมูกได้ผ่านเยื่อในปาก การล้างมือบ่อย ๆ หรือฆ่าเชื้อโรคด้วยเจลแอลกอฮอร์คือการฆ่าเชื้อที่อาจติดมือมาจากการสัมผัสผิวสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีละอองลอยหล่นลงมา หรืออาจติดสิ่งของหรือเสื้อผ้า     การห้ามเอามือจับใบหน้าหรือหน้ากากอนามัยก็เพราะอาจเผลอเอามือไปโดนเยื่อในจมูก หรือตา หรือปากได้

การแพร่กระจายของเชื้อผ่านละอองลอยได้รับการยอมรับโดยศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (EDDC) และสถาบัน Robert Koch ของเยอรมันนี     นักวิชาการกว่า 231 คนส่งจดหมายเปิดผนึกถึง WHO เกี่ยวกับการติดเชื้อผ่านละอองลอย   ในปัจจุบัน WHO ยอมรับความสำคัญของการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ผ่านละอองลอยแล้ว

วิศวกรกลุ่มนี้ของไทยศึกษาทฤษฎีและการจำลองสถานการณ์ พบความจริงหลายประการที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19    ขอสรุปอย่างไม่เป็นวิชาการเกินไปดังต่อไปนี้   (1)  ความเสี่ยงในการติดเชื้อขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ  (ก)  ขนาดของห้องและอัตราการถ่ายเทอากาศภายในห้อง     เนื่องจากละอองลอยนั้นลอยอ้อยอิ่งอยู่ในห้องได้เป็นเวลานานห้องยิ่งเล็กและไม่มีการถ่ายเทอากาศยิ่งทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น   ในทางปฏิบัติควรมีการถ่ายเทอากาศ 3-5 เท่าของปริมาตรห้องต่อชั่วโมง  (ข) กิจกรรมภายในห้อง  ถ้ายิ่งมีการพูด ส่งเสียงที่ทำให้น้ำมูกน้ำลายกระเด็นออกมามาก หยดละอองและละอองลอยก็ยิ่งมีมาก ความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มขึ้น (ค)ระยะเวลาในการสัมผัส   ยิ่งอยู่นานเท่าใดความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเพียงนั้น


(2)  การใส่หน้ากากอนามัยทำให้สามารถสู้ละอองลอยได้แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่เพราะในพื้นที่ปิดที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศเพียงพอ    ละอองลอยสามารถลอดผ่านหน้ากากได้โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อระหว่างจมูกและหน้ากาก (มีคำแนะนำจากต่างประเทศว่าการใส่หน้ากาก 2 ชั้น   โดยชั้นในเป็นหน้ากากชนิดการแพทย์ และชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้าชนิดที่ได้การรับรองจะช่วยได้มากเพราะชั้นนอกจะช่วยทำให้หน้ากากชั้นในกระชับขึ้น)

(3)  ควรตรวจวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในห้องเพื่อดูว่ามีการถ่ายเทอากาศเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดโดยเฉพาะห้องประชุมและห้องเรียน  หากมีค่าคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่า 800 ppm (parts per mllion) แสดงว่ามีการระบายอากาศที่ไม่ดี  มีโอกาสสูงในการแพร่กระจายเชื้อ  หากสูงกว่า 1,000 ppm ต้องจัดการอย่างรีบด่วน

(4)  ระบบแอร์รวมทำให้เกิดการสะสมของไวรัสในรูปของละอองลอยในอากาศเพราะไม่ได้เป็นการระบายอากาศสู่ภายนอก หากวนเวียนอยู่   จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ระบบแอร์รวมหากไม่จำเป็น  หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรติดแผ่นกรองอากาศที่มีระบบฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเลต หรือระบบที่มีตัวกรองอากาศประสิทธิภาพสูงร่วมอยู่ด้วย
(5) การจัดกิจกรรมในพื้นที่เปิดโล่ง หรือกลางแจ้งสามารถตัดความกังวลเรื่องการถ่ายเทของอากาศไปได้   สามารถลดโอกาสในการติดเชื้อทั้งจากละอองฝอยและละอองลอยจากการใส่หน้าการตลอดเวลาโดยเว้นระยะห่าง 2 เมตร

(6)ในการป้องกันโควิด-19 ในรูปละอองลอยสำหรับร้านอาหารและพื้นที่ปิดอื่น ๆ ควรมีอัตราการระบายอากาศอย่างน้อย 5 เท่าของปริมาตรห้องในหนึ่งชั่วโมงโดยการเปิดหน้าต่างและประตูเป็นระยะ หรือใช้พัดลมร่วมและควรติดตั้งเครื่องวัดคาร์บอนไดออกไซด์  หากสูงกว่า 800 ppm ควรแก้ไขด้วยการลดจำนวนผู้ใช้ห้องหรือเพิ่มการระบายอากาศ


การทราบอันตรายจากละอองลอยในลักษณะต่าง ๆ ทำให้เราสามารถจัดการกับตนเองให้มีโอกาสในการติดเชื้อน้อยที่สุดได้ผู้เขียนคิดว่าโรงพยาบาลเป็นสถานที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด   หากมีผู้ติดเชื้อหลุดเข้าไปอยู่ในจำนวนคนไข้มากมายสักหนึ่งคน ภายใต้ระบบแอร์รวมและระบบการระบายอากาศที่เกือบทั้งหมดยังไม่สามารถปรับได้ทันโควิด-19    จะมีละอองลอยมากเพียงใดและจับอยู่พื้นที่ผิวต่าง ๆกว้างขวางเพียงใด
ลิฟต์เป็นอีกสถานที่น่าจะอันตรายที่สุดหากใช้โดยไม่ใส่หน้ากากที่มีประสิทธิภาพ


ก่อนจับหรือสัมผัสสิ่งใดให้นึกถึงละอองลอยไว้เสมออย่างไม่ใจลอยเพราะคุณภาพชีวิตของเราอาจหลุดลอยไปได้อย่างไม่ยากเลย
............................................

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ