แคดเมียม (Cadmium)
แคดเมียม เป็นโลหะหนักที่ส่วนใหญ่จะพบปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามบริเวณที่มีการทำเหมืองแร่ โรงงานถลุงแร่ การผลิตปุ๋ย และแหล่งที่ทิ้งขยะ จากแบตเตอรี่ และเครื่องไฟฟ้าและอิเลคโทรนิคต่างๆ แคดเมียมอาจแพร่กระจายในรูปแบบของฝุ่น ไอระเหย หรือละลายอยู่ในน้ำกระจายไปตามแหล่งน้ำต่างๆ ถูกดูดซับเข้าไปในพืชและสัตว์น้ำ คนได้รับแคดเมียมได้หลายทาง ทั้งจากทางอาหารจำพวกสัตว์น้ำ เครื่องในสัตว์ พืชผลทางการเกษตรและผักต่างๆ โดยเฉพาะแคดเมียมที่สะสมอยู่ในใบยาสูบ เป็นผลให้การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่นำแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์
แคดเมียมที่เข้าสู่ร่างกายทั้งโดยผ่านทางระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร จะเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิตจับกับโปรตีน albumin ถูกส่งไปที่ตับ ทำให้มีอาการอักเสบที่ตับ บางส่วนของแคดเมียมจะจับตัวกับโปรตีนอีกชนิดหนึ่ง (metallothionein) เข้าไปสะสมในตับและไต และถูกขับออกทางปัสสาวะ ขบวนการขับแคดเมียมออกจากไตเกิดขึ้นช้ามากใช้เวลาถึงประมาณ 20 ปี ถึงสามารถขับแคดเมียมออกได้ครึ่งหนึ่งของแคดเมียมที่มีการสะสมอยู่ในไตออกได้ ทำให้มีอาการกรวยไตอักเสบ ผู้ที่ได้รับแคดเมียมเรื้อรัง มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่างๆ เช่นมะเร็งปอด ไต ต่อมลูกหมาก และตับอ่อน มีรายงานผู้ป่วยที่กินข้าวที่เพาะปลูกจากแหล่งที่ดินมีการปนเปื้อนแคดเมียม จะมีอาการของโรคกระดูกพรุน และกระดูกมีการเจริญที่ผิดปกติ
ปรอท (Mercury)
ปรอทมีรูปแบบปรากฏอยู่ 3 ลักษณะ คือ (1) รูปของโลหะ (metallic mercury) ซึ่งเป็นของเหลวในอุณหภูมิปกติ (2) รูปแบบที่ปรอทจับตัวกับ chlorine, sulfur หรือ oxygen เกิดเป็นสารประกอบอนินทรีย์ หรือเกลือ และ (3) ปรอทที่อยู่ในรูปของสารประกอบอินทรีย์ เช่น methylmercury และ ethylmercury ได้เคยมีการนำปรอทมาใช้ในรูปแบบของ ของใช้ประจำวันหลายอย่าง เช่น ยา วัคซีน เครื่องสำอาง และในทาง ทันตกรรม เป็นต้น
ปรอทเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ไอละเหยของโลหะปรอท ผ่านเข้าทางการหายใจ หรือผ่านทางผิวหนังโดยตรง รวมทั้งปรอทที่อยู่ในสารอุดฟันเป็นต้น แต่การเข้าสู่ร่างกายวิธีนี้ของปรอทถือว่าไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก ทางที่ปรอทเข้าสู่ร่างกายที่ถือว่าสำคัญที่สุดคือผ่านทางอาหาร โดยเฉพาะ จากปลาทะเล ชนิดกินเนื้อที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารระดับสูง เช่น ปลาฉลาม ปลาดาบ ปลาแมคาดอร์เรล และปลาทูน่า เป็นต้น เคยมีรายงานพบปริมาณปรอทในเนื้อปลาฉลาม สูงถึง 4.540 ppm ซึ่งถือว่าสูงมาก มีคำแนะนำว่าไม่ควรกินปลาทูน่ากระป๋องเกินกว่าสัปดาห์ละ 170 กรัม สารประกอบปรอทในเนื้อปลาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพสูงคือ methylmercury ซึ่งมีอยู่ในเนื้อสัตว์น้ำโดยเฉพาะ เนื้อปลา ซึ่งแม้ทำให้สุกแล้วก็ไม่สามารถกำจัดออกไปให้หมดได้
สำหรับ ไอปรอท ที่ผ่านเข้าทางระบบหายใจมีความเป็นพิษสูงมาก สามารถผ่านเข้าสู่สมอง ผ่านเข้าสู่เด็กในครรภ์ ก่อให้เกิดอาการพิษ และอาจถึงแก่ชีวิตถ้าได้รับในปริมาณมาก อาการพิษจากไอปรอท แบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 เกิดขึ้น 1-3 วันหลังจากการได้รับไอปรอท อาการที่พบคล้ายกับโรคหวัด ช่วงที่ 2 จะมีอาการทางระบบหายใจและปอด ช่วงที่ 3 จะมีอาการอักเสบของเยื่อบุในปากและคอ สูญเสียความทรงจำ นอนไม่หลับ กล้ามเนื้อกระตุก และตัวสั่นเป็นต้น
Methyl mercury (MeHg) ส่วนใหญ่เข้าสู่ร่างกายจากการกินปลา หรือสัตว์น้ำที่มีสารปรอทอยู่ในเนื้อ อาการพิษที่พบระยะแรกมักไม่ชัดเจน แต่อาจเสียชีวิตได้แม้ได้รับในปริมาณไม่มากนัก ปรอทเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้มีการทำลาย เซลล์ประสาทในสมองส่งผลให้ควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้ มีอาการตัวสั่น สูญเสียการมองเห็นและการได้ยิน และยังสามารถถ่ายทอดไปถึงลูกในครรภ์ได้
สำหรับ Mercuric chloride (HgC2) แม้จะเป็นพิษต่อระบบประสาทเช่นกัน แต่การดูดซึมผ่านทางระบบทางเดินอาหารเป็นไปได้น้อยมาก จึงไม่มีความสำคัญมากนัก เช่นเดียวกับ ethylmercury ที่ปัจจุบันยังไม่รู้ถึงความเป็นพิษมากนัก เมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์
โลหะหนักที่เป็นพิษ (Toxic elements)
มีโลหะหนักหลายชนิดที่มนุษย์ได้รับจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วก่อให้เกิดอาการต่างๆของโรค ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม ตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยจนถึงอาการรุนแรง รวมทั้งถึงการเสียชีวิต ในจำนวนโลหะหนักที่มีมากมายในสิ่งแวดล้อม สารที่ปัจจุบันถือน่าเป็นภัยต่อสุขภาพมากที่สุด ได้แก่ ตะกั่ว(Lead) ปรอท(Mercury) แคดเมียม(Cadmium) และ อาเซนิก(Arsenic) บทความนี้จะบรรยายอย่างย่อๆ โดยจะเน้นเฉพาะส่วนที่สารนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขอนามัยของเรา
ตะกั่ว (Lead)
ตะกั่วนับเป็นโลหะหนัก อันดับต้นๆที่รับรู้กันมานานว่าเมื่อเข้าสู่ร่างกาย แล้วก่อให้เกิดผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆของร่างกาย สารตะกั่วมีอยู่ในของใช้ประจำวันต่างๆ เช่นใน แบตเตอรี่ สีย้อม สีทาบ้าน ของเล่นเด็ก การทำซีรามิค น้ำมันรถยนต์ รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอาง ตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทางคือ ทางระบบหายใจ และทางระบบทางเดินอาหาร แต่ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางอาหาร ผู้ใหญ่จะดูดซึมประมาณ 15% ของตะกั่วที่อยู่ในอาหาร แต่เด็กและหญิงตั้งครรภ์จะดูดซึมได้สูงถึง 50% ดังนั้นตะกั่วจึงเป็นอันตรายต่อเด็ก และหญิงตั้งครรภ์มากกว่าผู้ใหญ่
ตะกั่วที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตจะจับตัวกับ hemoglobin และถูกนำไปสะสมในเนื้อเยื่ออ่อน (softtissue) โดยเฉพาะ ตับและไต รวมทั้งในกระดูกและในเส้นผม แต่ในที่สุดตะกั่วในร่างกายเกือบทั้งหมดจะเข้าไปสะสมอยู่ในกระดูกซึ่งสามารถอยู่ได้นานถึงกว่า 60 ปี (half-life = 32 ปี)
อาการพิษจากตะกั่วอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ อาการเฉียบพลัน (acute exposure) จะพบกรณีที่ได้รับสารตะกั่วจำนวนมากในระยะเวลาสั้น สารตะกั่วจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะสมอง อาการตัวสั่น ไม่รู้สึกตัว ส่วนผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหารจะมีอาการปวดท้อง จุก เสียด คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น สำหรับผู้ที่ได้รับสารตะกั่วทีละเล็กละน้อยเป็นเวลานานจะมีอาการเรื้อรัง (chronic exposure) อาการที่พบคือ ปวดเมื่อยตัว เบื่ออาหาร ท้องผูก มีเลือดออกในปัสสาวะและโลหิตจาง
ตะกั่วส่งผลอย่างมากต่อหญิงที่ตั้งครรภ์และเด็ก พิษจากสารตะกั่วจะทำให้เด็กมีไอคิวต่ำ และอาจเสียการได้ยิน ระดับของสารตะกั่วในเลือดที่ยอมรับได้คือ ต่ำกว่า 5 microgram/dl และในปัสสาวะต่ำกว่า 50 microgram/g creatinine
การตรวจหาสารตะกั่วจะต้องใช้เครื่องมือและเทคนิคที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น Atomic absorption spectroscopy (AAS), Inductively coupled plasmaoptical emission spectroscopy (ICP-OES) หรือ Inductively coupled plasma-mass spectrometry (ICP-MS) เป็นต้น
กลุ่มอาการโรคดาวน์ เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท และทางร่างกายทั้งภายนอกและภายใน อาทิเช่น เด็กเจริญเติบโตผิดรูปร่าง ตัวสั้น หัวสั้นกลม แขน ขา นิ้วมือนิ้วเท้าสั้น ลิ้นหนา เป็นต้น อาการของโรคดาวน์ จะมีความรุนแรงแตกต่างกันไปแต่โดยทั่วไปเด็กจะมีไอคิวเฉลี่ยไม่เกิน 50
สาเหตุของโรคดาวน์เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมโดยที่คนทั่วไปจะมี 46 โครโมโซม (23คู่) แต่เด็กที่เป็นโรคดาวน์จะมี โครโมโซมที่ 47 เป็นส่วนเกินติดอยู่กับโครโมโซมคู่ที่ 21 ซึ่งเรียกว่า (trisomy 21)
การเกิดโรคดาวน์ในเด็กมีความสัมพันธ์กับอายุการตั้งครรภ์ของแม่ กล่าวคือ
- สตรีที่ตั้งครรภ์ขณะอายุ 20 ปี จะมีความเสี่ยงการเกิดโรคดาวน์ของลูกเท่ากับ 1:2000
- สตรีที่ตั้งครรภ์ขณะอายุ 35 ปี จะมีความเสี่ยงการเกิดโรคดาวน์ของลูกเท่ากับ 1:300
- สตรีที่ตั้งครรภ์ขณะอายุ 40 ปี จะมีความเสี่ยงการเกิดโรคดาวน์ของลูกเท่ากับ 1:100
- สตรีที่ตั้งครรภ์ขณะอายุ 45 ปี จะมีความเสี่ยงการเกิดโรคดาวน์ของลูกเท่ากับ 1:40
ขณะที่อายุของพ่อต่อการเกิดโรคดาวน์ในลูกไม่มีความสัมพันธ์กันมากนัก
การวินิจฉัยโรคดาวน์สำหรับเด็กในครรภ์สามารถทำได้เหมาะสมที่สุดขณะอายุตั้งครรภ์
อยู่ในช่วง 14 -18 สัปดาห์ ซึ่งปัจจุบันมี วิธีตรวจวินิจฉัย 2 วิธี คือ
1. โดยการตรวจเลือดของมารดา เรียกว่า triple serum screening ซึ่งจัดเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้น กรณีที่ผลการตรวจเป็นบวก เด็กในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดาวน์ ได้ 1 ใน 200 ราย แต่ถ้าผลออกมาเป็นลบก็เชื่อได้ว่าเด็กในครรภ์จะไม่เป็นโรคดาวน์
2. การตรวจน้ำคร่ำ (amniotic fluid chromosome study) กรณีที่ผลการตรวจคัดกรองเป็นบวกก็สามารถตรวจยืนยันต่อได้ โดยการเจาะน้ำคร่ำจากครรภ์มาตรวจหาโครโมโซมที่ผิดปกติ (trisomy 21) โดยตรง ซึ่งถ้าตรวจไม่พบก็ยืนยันได้แน่นอนว่าเด็กจะไม่เป็นโรคดาวน์
กรุงเทพ พยาธิ-แลป มีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจได้ทั้ง 2 วิธี ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานสูงระดับสากล ได้รับการรับรองด้านคุณภาพห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (ISO 15189:2007) จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และการประกันคุณภาพโดย College of American Pathologists (CAP)
การตรวจวิธีที่ 1 (triple serum screening) แม่ที่ตั้งครรภ์ช่วงสัปดาห์ที่ 16 ถึงสัปดาห์ที่ 18 สามารถมาเจาะเลือดตรวจได้ด้วยตนเองที่ห้องปฏิบัติการของ กรุงเทพ พยาธิ-แลป ผลการตรวจจะทราบได้ในเวลา 3 วัน
การตรวจวิธีที่ 2 (amniotic fluid chromosome study) แพทย์จะเป็นผู้เจาะดูดน้ำคร่ำในครรภ์ แล้วส่งมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการของกรุงเทพ พยาธิ-แลป ใช้ระยะเวลาการตรวจ ประมาณ 3 สัปดาห์
อภิมหาเศรษฐีจากธุรกิจ คอมพิวเตอร์
นิตยสาร Forbes ของอเมริกา ฉบับเดือนตุลาคม 2011 ได้จัดอันดับอภิมหาเศรษฐีของอเมริกา 400 คน พบว่า มีจำนวนไม่น้อยที่ร่ำรวยจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ เช่น
Bill Gates อภิมหาเศรษฐี อันดับที่ 1 อายุ 55 ปี
ร่ำรวยจาก อาณาจักร Microsoft
มีมูลค่าทรัพย์สินทั้งสิ้น US $ 59 billion
Mark Zuckerberg อายุ 27 ปี อันดับที่ 14
ร่ำรวยจากอาณาจักร Facebook
มีมูลค่าทรัพย์สิน ทั้งสิ้น US $ 17.5 billion
Dustin Moskovitz อายุ 27 ปี อันดับที่ 31
ร่ำรวยจากอาณาจักร Facebook
มีมูลค่าทรัพย์สินทั้งสิ้น US $ 3.5 billion
Sean Parker อายุ 31 ปี อันดับที่ 200
ร่ำรวยจากอาณาจักร Facebook
มีมูลค่าทรัพย์สินทั้งสิน US $ 2.1 billion
Steve Jobs อายุ 56 ปี คนสุดท้ายที่พึ่งเสียชีวิตไปเมื่อเร็วๆนี้
สร้างอาณาจักร Apple, Ipod, iPhone และ Ipad จนประสบความสำเร็จ
ได้รับการยกย่องว่าเป็น ICON of American
ไม่มีข้อมูล มูลค่าทรัพย์สินในปัจจุบัน
ยังมีอภิมหาเศรษฐีอื่นๆ ที่ร่ำรวยจากธุรกิจคอมพิวเตอร์ที่รู้จักกันดี แต่ไม่ค่อยคุ้นเคยนักในประเทศไทย เช่น Larry Ellison อันดับที่ 3 อาณาจักร Oracle มีมูลค่าทรัพย์สิน US $ 33 billion; Jeff Bezos อันดับที่ 13 อาณาจักร Amazon.com มีมูลค่าทรัพย์สิน US $ 19.1 billion; Sergey Brin และ Larry Page อันดับที่ 15 จาก อาณาจักร Google มีมูลค่าทรัพย์สินคนละ US $ 16.7 billion; Michael Dell อันดับที่ 18 ร่ำรวยจาก อาณาจักร Dell Computer มีมูลค่าทรัพย์สิน ทั้งสิ้น US $ 15 billion; และ Steve Ballmer จาก อาณาจักร Microsoft มีมูลค่าทรัพย์สิน US $ 13.5 billion;
เป็นที่น่าสังเกตว่า อภิมหาเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและร่ำรวยจากความสำเร็จทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์หลายคน เรียนไม่จบระดับมหาวิทยาลัย แต่ไม่ใช่ว่าเขาพวกนั้นไม่ฉลาด แต่เป็นเพราะพวกเขาฉลาดเกินกว่าจะเสียเวลาเรียนในมหาวิทยาลัยมากกว่า อาทิเช่น
Bill Gates หลังจากเรียนจบระดับมัธยมสอบ SATs ได้คะแนนเกือบเต็มและได้ทุนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย Harward เมื่อเรียนถึงปีที่ 2 เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา สร้างผลงานมากมายก่อนลาออกมาเริ่มธุรกิจของตัวเองร่วมกับเพื่อน สร้างโปรแกรม Microsoft ใช้กันทั่วโลก
Sean Parker เมื่ออายุ 15 ปี ถูก FBI จับจากการ hack เข้าไปในคอมพิวเตอร์ของบริษัทและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และถูกลงโทษ ให้ทำงานเพื่อสังคม อายุ 16 ได้รับรางวัล Virginia State Computer Science Fair จน CIA จ้างไปทำงานด้วย เมื่อเรียนปีที่ 4 เขาหาเงินได้ถึง US $ 80,000 จึงตัดสินใจออกมาทำธุรกิจของตัวเอง
Mark Zuckerberg แม่เป็นชาวเกาหลี พ่อมีเชื้อสายยิว ขณะเรียนมัธยม ได้รับรางวัลด้านวิทยาศาสตร์หลายสาขา ขณะเรียนที่มหาวิทยาลัย Harward ได้สร้างโปรแกรมที่เรียกว่า “Facemash” ส่งรูปนักศึกษา 2 คน ออกไป ให้นักศึกษาออกเสียงว่าใครจะดูดีกว่ากัน และมีการจัดอันดับผู้ที่ดูดีที่สุด หลังจากโปรแกรมถูกส่งออกไปช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เมื่อถึงวันจันทร์ มหาวิทยาลัยต้องสั่งปิด เนื่องจากมีการใช้งานมาก ทำให้ Server ของมหาวิทยาลัยเต็มจนใช้งานไม่ได้ ต่อมา Mark จึงหยุดการเรียนที่มหาวิทยาลัยออกมาทำโปรแกรมที่เรียกว่า Facebook ของตัวเอง ซึ่งคำว่า Facebook มาจากหนังสือของมหาวิทยาลัยที่ชื่อ Face Books ที่มีรูปและชื่อของนักศึกษาทุกคนที่อยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย
Steve Jobs เกิดเมื่อปี 1955 พ่อเป็นนักศึกษาชาว Syria แม่เป็นชาวอเมริกัน หลังคลอดได้ยก Steve ให้ครอบครัว Jobs เป็นบุตรบุญธรรม ขณะเรียนระดับมัธยม ทำงานไปด้วยกับบริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด เมื่อเรียนจบระดับมัธยมได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย Reed ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในรัฐ Oregon แต่เรียนได้เพียงเทอมเดียวก็ออกมาตั้งบริษัท Apple ร่วมกับเพื่อน Steve Wozniak ซึ่งเป็นวิศวกรที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง Steve Jobs ไม่ได้เป็นทั้งวิศวกรคอมพิวเตอร์ หรือนักออกแบบอุตสาหกรรม แต่รู้ความต้องการของมนุษย์จึงทำให้ บริษัท Apple เติบโตอย่างรวดเร็ว เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2011 ขณะมีอายุ 56 ปี เขาได้รับยกย่องว่าเป็น American Icon ถัดจาก Thomas Edison และ Henry Ford ในทางธุรกิจก็ถือได้ว่า Steve Jobs เป็นนักบริหารธุรกิจที่ยิ่งใหญ่แห่งยุกต์ ที่จะได้รับการจดจำอีก 100 ปีข้างหน้า
จากข้อมูลนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าบุคคลเหล่านี้เป็นอัจฉริยะ อย่างแท้จริง ตามคำกล่าวของ Oscar Wilde ที่ว่า
"Education is an admirable thing, but it is well to remember from time to time that nothing that is worth knowing can be taught."
การศึกษาเป็นสิ่งที่ควรชื่นชม แต่ควรระลึกไว้ว่าความรู้ที่มีคุณค่าไม่สามารถสอนกันได้ ต้องมาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
เป็นที่รู้กันว่าสัตว์ขาข้อทั้งหลาย รวมทั้งสัตว์น้ำ จำพวก กุ้ง กั้ง แมงดาทะเล มีเลือดเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสี ที่เกิดจากเลือดของสัตว์จำพวกนี้ มี copper เป็นส่วนประกอบของโปรตีนที่ใช้เป็นตัวนำออกซิเจน ต่างจากเลือดสีแดงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์ปีกที่มี Iron เป็นส่วนประกอบของโปรตีนที่ใช้เป็นตัวนำออกซิเจน นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าเลือดสีน้ำเงินของสัตว์เหล่านี้ สร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันที่จะทำให้เลือดแข็งตัวทันทีที่มีจุลินทรีย์แปลกปลอมแม้เพียงเล็กน้อยโดยเฉพาะจุลินทรีย์ชนิด E.coli และ Salmonella การทดสอบโดยใช้เลือดสีน้ำเงินของสัตว์เหล่านี้มีความไวสูงมากสามารถตรวจพบจุลินทรีย์ได้ถึงปริมาณ 1 ในล้าน-ล้าน ส่วน (1/trillion) เปรียบเทียบได้กับการตรวจหาเมล็ดข้าวสาร 1 เมล็ดในทะเลสาบขนาดใหญ่
ปัจจุบันอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ได้นำเลือดสีน้ำเงินจากแมงดาทะเล (Horseshoe Crab) มาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะนำมาใช้ตรวจคัดกรองผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความปลอดภัยสูงต่างๆ เช่นการผลิตวัคซีน การผลิตของเหลวเพื่อการฉีดเข้าเส้นเลือด และการผลิต ผลิตภัณฑ์การแพทย์อื่นๆ นับว่าเลือดสีน้ำเงินนี้มีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อมนุษย์ชาติ
Super Bug : Super E.coli
เป็นที่รู้กันดีว่า E.coli เป็นจุลินทรีย์ ที่ไม่มีพิษภัย อาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด แต่เมื่อประมาณ 50-60 ปี ที่แล้วมา นักวิทยาศาสตร์ พบว่ามี E.coli บางสายพันธุ์ ที่ก่อให้เกิดโรคเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากสามารถสร้างสารพิษที่เรียกว่า Shiga toxin ซึ่งรายงานพบเป็นครั้งแรกโดยนักจุลชีววิทยาชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ Kiyoshi Shiga นักวิทยาศาสตร์แยกสายพันธุ์ของ E.coli โดยอาศัยความแตกต่างของโปรตีนที่อยู่บนผิวเซลล์ ต่อมาจึงมีการพบว่า E.coli 0157:H7 เป็นสายพันธุ์ที่สร้าง Shiga toxin ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ติดเชื้อ เข้าไปสู่อวัยวะต่างๆ ทำให้เลือดแข็งตัว (blood clots) และไตล้มเหลว (kidney failure) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยบางราย
การระบาดของ E.coli สายพันธุ์ 0157:H7 เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว อาทิเช่น เมื่อปี 2525 มีการระบาดที่รัฐ Oregon และรัฐ Michigan ในประเทศสหรัฐอเมริกา จากการตรวจสอบพบว่าการติดเชื้อเกิดจากการกิน แฮมเบอร์เกอร์ที่ไม่สุก ต่อมาในปี 2536 มีการระบาดที่รัฐ Washington มีผู้ติดเชื้อกว่า 700 คน เสียชีวิต 4 คน และในปี 2549 มีการระบาดอีกครั้ง มีผู้ติดเชื้อประมาณ 200 คน และมีผู้มีอาการไตล้มเหลวจำนวนหนึ่ง ผลจากการสอบสวนพบว่า การติดเชื้อจากผักสลัด จำพวก ผักโขม ผักกาด และถั่วงอก จากการศึกษาโดยละเอียด พบว่า ผู้ติดเชื้อ E.coli 0157:H7 ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง มีเพียง 1-2% ที่มีอาการรุนแรง ซึ่งเป็นผลจากฤทธิ์ของ Shiga toxin นักวิทยาศาสตร์พบว่า E.coli 0157:H7 ปกติอาศัยอยู่ในลำไส้ของโค แพะ แกะและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ คนติดเชื้อจากการกินเนื้อไม่สุก และจาการที่มูลของสัตว์เลี้ยงถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ เข้าไปปนเปื้อนกับพืชผักต่างๆ เมื่อ E.coli 0157:H7 เข้าสู่คนจึงก่อให้เกิดอาการของโรคที่รุนแรงขึ้น
ปี 2554 มีการระบาดของ E.coli สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงอีกครั้ง ในทวีปยุโรป มีผู้ติดเชื้อกว่า 3,000 คน เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 30 ราย จากการศึกษาพบว่าเป็น E.coli สายพันธุ์ใหม่ที่แตกต่างจาก E.coli 0157:H7 ชัดเจน ซึ่งต่อมามีรายงานว่าเป็นสายพันธุ์ 0104:H4 และที่สำคัญคือ E.coli 0104:H4 มียีนที่ดื้อต่อยาปฎิชีวนะ ทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้น สาเหตุการระบาดของ E.coli 0104:H4 ในยุโรป ยังไม่เป็นที่แน่ชัด เบื้องต้นคาดว่ามาจากผักสลัดและแตง จากประเทศสเปน แต่ยังไม่มีการยืนยัน ล่าสุดคาดว่าน่าจะมาจากถั่วงอก จากออร์แกนิคฟาร์มแห่งหนึ่งในประเทศ เยอร์มันนี แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจนเช่นกัน ปัจจุบันยังคงไม่มีรายงาน พบ E.coli 0104:H4 ในประเทศไทย และยังไม่มีวิธีตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อ E.coli 0104:H4 ที่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้ในห้องปฏิบัติการ ดังนั้นการวินิจฉัยจึงต้องอาศัยการตรวจหา Shiga toxin เป็นหลัก การวิวัฒนาการของ E.coli 0104:H4 คงไม่ใช่เป็นการเกิดขึ้นครั้งสุดท้าย แต่จะต้องมีการเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน รวมทั้งในจุลินทรีย์ชนิดๆอื่นๆด้วย
หน้าที่ 9 จาก 9