5 ม.ค.64-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี ปฏิบัติการแทนอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศกรณีนิสิตหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหวิทยลัยได้รับผลการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผลเป็นบวก
จากการที่หอพักได้รับแจ้งจากโรพยาบาลจุฬาลงกรณ์ว่ามีนิสิตหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน
1 คนได้รับผลการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผลเป็นบวก ซึ่งปัจจุบันเป็นช่วงปิดภาคการศึกษา ไม่เกี่ยวกับการ
เรียนการสอน อย่างไรก็ตามทางหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอแจ้งมาตรการดำเนินการของหอพัก ดังต่อไปนี้
1. ปิดการเข้าออกเพื่อจำกัดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดทั้งภายในหอพัก มหาวิทยาลัยและสังคมภายนอก
ตั้งแต่วันที่ 4-18 มกราคม 2564 (14 วัน)
2. ปิดพื้นที่ที่นิสิตรายดังกล่าวพักอาศัยและทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ดังกล่าวและส่วนกลาง
3. นำนิสิตหอพัก บุคลก และผู้ปฏิบัติงานทุกคนมาเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยศูนย์สุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามลำดับความเสี่ยง โดยเร็วที่สุด
สำหรับนิสิตหอพักที่ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาหลังจากวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ขอให้กักตัวอยู่ที่ที่พักอาศัย
เพื่อสังเกตอาการเป็นระยะเวลา 14 วัน หากมีอาการไม่สบายเข้าข่ายต้องสงสัย ขอให้รีบรายงานตัวกับหน่วยงาน
สาธารณสุขในพื้นที่และแจ้งหอพักเพื่อทราบต่อไป
เพื่อโปรดทราบและให้ความร่วมมืออย่างเคร่งครัด
ประกาศ ณ วันที่ 4 มกราคม 2564
วันที่ 2 ม.ค.64 เพจเฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ชี้แจงเตือนประชาชน ว่า ข่าวปลอม อย่าแชร์ ! เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายผ่านอากาศ (Airborne) โดยระบุว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับเรื่อง เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายผ่านอากาศ (Airborne) ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากที่มีการแชร์ข้อความว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายผ่านทางอากาศได้นั้น ทางกรมควบคุมโรคได้ชี้แจงว่าการติดต่อของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลักๆ ยังคงแพร่กระจายผ่านละอองเสมหะ (droplets) ซึ่งผู้รับเชื้อต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ไอ จาม ในระยะน้อยกว่า 90 ซม. และต้องสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เข้าทางเยื่อเมือก แต่เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถป้องกันได้ ขอให้ทุกคนดูแลร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่จากกรมควบคุมโรค สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/index.php หรือโทร. 1422 ได้ตลอด 24 ชม.
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การติดต่อของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลักๆ ยังคงแพร่กระจายผ่านละอองเสมหะ (droplets) ซึ่งผู้รับเชื้อต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ไอ จาม ในระยะน้อยกว่า 90 ซม. และต้องสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่ง
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ข้อมูลจาก https://siamrath.co.th/n/209061
"ผมกลัว" ที่จะติดเชื้อ Covid-19 ผมจึงทำตามที่รัฐบาลบอก คือ"อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" และจะออกจากบ้านเมื่อจำเป็นจริงๆ
ผมบอกว่า ผมเชื่อว่าใครที่ติดเชื้อ Covid-19 จะไม่มีวันกลับไป"ปกติ" เพราะปอดจะไม่ทำงานเต็มร้อยอีกแล้ว
แต่..แต่ก่อนที่จะเสียชีวิต หากคุณติดเชื้อ รู้ไหมว่ามันทรมานแค่ไหน
คุณรู้ไหมว่าการรักษาโรคปอดติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือ Covid -19 มันไม่ใช่แค่ใส่หน้ากากออกซิเจน แล้วนอนอ่านหนังสือ หรือเล่นโทรศัพท์อยู่บนเตียงสบายๆในโรงพยาบาล
หากแต่เครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วย Covid -19 มันสร้างความเจ็บปวด เพราะต้องสอดท่อลงไปในลำคอและคาไว้จนกว่าคุณจะหายหรือตายภายใน2-3 สัปดาห์โดยไม่สามารถขยับตัว
การรักษานี้ คนไข้จะถูกจับให้นอนคว่ำกลับหัว มีท่อหายใจต่อจากปากของคุณขึ้นไปที่เครื่องช่วยหายใจ ไม่สามารถพูดหรือกินหรือขับถ่ายได้ตามปกติ
แถมเจ็บปวดตลอดเวลา
ที่แพทย์ช่วยได้ก็คือให้ยานอนหลับและยาแก้ปวดเพื่อให้แน่ใจว่าคนไข้สามารถอดทนต่อความเจ็บจากการใส่ท่อช่วยหายใจ เหมือนอยู่ในอาการโคม่าเทียม
ผ่านไป 20 วัน ผู้ป่วยจะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ 40 % และมีแผลในปากหรือหลอดลม เช่นเดียวกับปอด เกิดภาวะแทรกซ้อนของหัวใจ
นี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้คนแก่ หรือผู้ป่วยโรคอื่น เช่น ความดัน หัวใจ ไม่สามารถทนการรักษาได้ และอาจตายในที่สุด
ย้ำ..นี่ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่!
การให้อาหารเหลวใส่หลอดเข้าไปในท้องของคุณไม่ว่าจะผ่านจมูกหรือทางเส้นเลือด การที่ต้องมีพยาบาลมาช่วยขยับแขนขาทุกสองชั่วโมงเพื่อป้องกันแผลกดทับและต้องนอนบนเตียงน้ำที่เย็นเพื่อช่วยลดอุณหภูมิ 40 องศาของคุณ "มันไม่ใช่เรื่องสนุก"
และคนที่บ้านเป็นทุกข์แน่ๆ..
นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ตะวันตกปล่อยให้ตาย ไม่รับรักษา เพราะสิ้นเปลือง..
ผมกลัว..ผมจึงอยู่บ้าน
ถ้าคุณไม่กลัว ก็ตามสบายนะครับ ไม่สวมหน้ากากตอนออกจากบ้าน ไม่รักษาระยะห่าง ไปในที่สุ่มเสี่ยง เป็นเรื่องความรับผิดชอบที่คุณมีต่อครอบครัวของคุณเอง..
ที่เล่ามาทั้งหมดก็เพื่อคนที่คุณรัก เพื่อคนที่รักคุณ และ เพื่อตัวคุณเอง
3 ม.ค. 64 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "โควิด 19 สายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์ พบในประเทศไทยแล้ว
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ได้ถอดรหัสสายพันธุ์ พบเป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือที่เรียกว่า สายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์ B.1.1.7 ได้ในประเทศไทย
เป็นครอบครัวชาวอังกฤษ 4 คน พ่อ แม่ ลูก 2 คน ติดเชื้อทั้ง 4 คน โดยที่แม่และลูก เป็นก่อน พ่อเป็นทีหลัง มาจากเมือง Kent ประเทศอังกฤษ และอยู่ใน ASQ โรงพยาบาลเอกชน และเราควบคุมอย่างดี ไม่ให้แพร่กระจายออกไป
การถอดรหัสพันธุกรรมทำให้ทราบว่า สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ของอังกฤษ ที่กลายพันธุ์ ที่ทั่วโลกเฝ้าระวังกันมาก และมีการระงับเที่ยวบินจากอังกฤษ
ได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรม 2 ราย มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งเกาะจับตัวรับของเซลล์มนุษย์ (N501Y) การกลายพันธุ์ที่จุดตัดของสไปรท์โปรตีน (P681H) ตำแหน่งอื่นๆ ที่ขาดหายไป (spike 69-70 deletion) และตำแหน่งอื่นๆ อีก ดังในรูป
สายพันธุ์นี้ทำให้การแพร่ระบาดได้ง่าย และกระจายอย่างรวดเร็ว ในครอบครัวนี้ ก็ติดหมดทั้ง 4 คน
อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย สายพันธุ์นี้ไม่ได้ทำให้โรครุนแรงขึ้นและไม่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของวัคซีน ขอให้สบายใจได้ ผู้ป่วยทั้ง 4 รายนี้ อยู่ในความควบคุมและระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้เชื้อหลุดรอดออกมาได้ ผู้ป่วยยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ในห้องความดันลบ และต้องมั่นใจว่าไม่มีเชื้อแล้ว จึงจะออกมา ดังนั้นโอกาสที่จะแพร่ขยายในประเทศไทยจึงไม่มี
ผู้ที่มาจากประเทศอังกฤษ มาประเทศไทย จะต้องเฝ้าระวัง ในรายที่มาจากต่างประเทศ การถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อเป็นฐานข้อมูล จะเป็นประโยชน์ในการเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย หาแหล่งที่มาของโรค.
โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิเคราะห์สถานการณ์โควิดล่าสุด : ฉบับรวบรัด
1. ประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ระบาดซ้ำ โดยที่การ
ระบาดซ้ำครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามาแบบไม่ทันตั้งตัว แรง และกระจายเร็ว หาต้นตอลำบาก
ทำให้ภาพรวมดูรุนแรงกว่าระลอกแรก ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์การระบาดของทั่วโลกที่เจอมาก่อน
2. ระบาดซ้ำครั้งนี้ต่างจากระลอกแรก เพราะไม่ใช่แค่มีกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบบครั้งแรกที่เห็นในผับบาร์หรือสนามมวย แต่รอบนี้มีมากมายหลายกลุ่ม (multiple clusters)
และแต่ละกลุ่มแพร่กระจายวงกว้าง เป็น multiple superspreading events ทำให้เปลี่ยนจากเดิมที่เห็นกลุ่มเสี่ยงชัดเจน แต่ตอนนี้คือ แพร่กระจายไปทั่ว และทำให้ทุกคนล้วนมีความเสี่ยง (Everyone is at risk)
โดยเสี่ยงทั้งที่จะติดเชื้อจากการดำรงชีวิตประจำวันในสังคม (Risk to get infected) และเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวว่าตนเองนั้นมีเชื้อไวรัสอยู่ (Risk to spread)
3. ปัญหาของระบบตรวจและรายงานการติดเชื้อที่ตอบสนองต่อการระบาดได้ไม่ดีนัก การรายงานนั้นดูจะไม่ทันต่อสถานการณ์ ทำให้ส่งผลต่อการรับรู้ ความเชื่อมั่น และที่สำคัญคือทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถเตรียมตัวรับมือกับการระบาดได้
4. ระบบบริการตรวจโควิดของประเทศไทยนั้นไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการยามที่เกิดโรคระบาดซ้ำ
ตอนนี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่า สถานการณ์การระบาดนั้นกระจายเร็ว และมากเกินกว่าที่ระบบการติดตามสอบสวนโรคจะรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องการได้ประวัติ การทราบตัวบุคคลที่สัมผัสความเสี่ยงอย่างครบถ้วน และการได้ข้อมูลละเอียดให้ทันเวลา เราจึงเห็นการประกาศสู่สาธารณะให้คนประเมินตัวเองและมารายงานต่อหน่วยงานรัฐถี่ขึ้นเรื่อยๆ
สรุป :
"สถานการณ์การระบาดในปัจจุบันวิกฤติมาก และมีแนวโน้มจะคุมได้ยาก"
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น :
จากประสบการณ์ของต่างประเทศที่ระบาดซ้ำ หากไทยเราไม่สามารถจัดการการระบาดนี้ได้ภายในกลางมกราคม (4 สัปดาห์นับจากเริ่มระบาดซ้ำ) จำนวนการติดเชื้อจะมีแนวโน้มถีบตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถจะคุมได้อีก
และอาจพบจำนวนการติดเชื้อต่อวันสูงกว่าระลอกแรก 5 เท่า คือประมาณ 940 คนต่อวัน และใช้เวลาในการควบคุมการระบาดยาวนานกว่าเดิม 2 เท่า คือ 88 วัน หรือสามเดือน
ทั้งนี้หากเข้าสู่แนวทางการระบาดดังกล่าวข้างต้น มาตรการเดิมที่เคยใช้ได้ผลในระลอกแรก เช่น การล็อคดาวน์ หรืออื่นๆ จะได้ผลตอบสนองที่ช้าลงกว่าเดิม และส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่ และต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
สิ่งที่ควรพิจารณาดำเนินการตอนนี้ มีดังนี้ :
1. ดำเนินมาตรการเข้มข้นใน"ทุกจังหวัดที่มีรายงานเคสติดเชื้อ" ไม่ว่าจะสีใดก็ตาม โดยขอความร่วมมือจากประชาชนให้
"อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อบ้านเกิด"
ตั้งแต่บัดนี้จนถึงกลางเดือนมกราคม 2564
2. รณรงค์ใช้นโยบาย "ใส่หน้ากาก 100%"
3. ตั้งด่านคัดกรองทุกจังหวัด และรณรงค์ให้งดการเดินทางระหว่างจังหวัดโดยไม่จำเป็น
4. ปิดกิจการเสี่ยงต่างๆ และงดการจัดงานที่มีการรวมคนจำนวนมากทั่วประเทศ
5. กิจการอาหารและเครื่องดื่ม ให้เปิดบริการแบบซื้อกลับบ้าน หรือบริการส่งถึงบ้าน ไม่ควรนั่งในร้าน
6. รณรงค์"การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างมีสติและระมัดระวัง" (Travel with caution) จนถึงกลางเดือนมกราคม 2564...โดยต้องเลี่ยงการโฆษณาว่าท่องเที่ยวแล้วปลอดภัย เพราะ
#ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงกระจายตัว และยากที่จะการันตีความปลอดภัย
7. รณรงค์"เคานท์ดาวน์ปีใหม่ที่บ้าน" ในรูปแบบต่างๆ พร้อมกันทั่วประเทศ (หมายรวมถึงสวดมนต์ข้ามปี และกิจกรรมอื่นๆ ผ่านทางออนไลน์)
8. ปรับระบบรายงานการติดเชื้อใหม่ให้เป็นแบบ real time เพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้รับทราบสถานการณ์ของพื้นที่ตนเอง
9. งดการประชาสัมพันธ์เรื่องความเพียงพอของระบบสาธารณสุข เพราะขัดต่อหลักความเป็นจริงที่เห็นจากทั่วโลกว่า
#การระบาดที่รุนแรงนั้นมักเกินขีดความสามารถของระบบที่มี ดังนั้นจึงต้องเน้นย้ำให้"ป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ"
นอกจากนี้ยา Favipiravir ที่มีอยู่ 500,000 เม็ดนั้น พอสำหรับการรักษาคนเพียง 7,000 กว่าคนเท่านั้น
ซึ่งหากระบาดซ้ำแบบประเทศอื่นๆ จะมีโอกาสที่ไทยจะติดเชื้อราว 23,000-33,000 คน หรือมากกว่านั้นได้
วิกฤติครั้งนี้ หากเราร่วมแรงร่วมใจช่วยกันสู้ ยังมีสิทธิที่จะบรรเทาผลกระทบจากการระบาดซ้ำนี้ได้ครับ
สู้ๆ นะครับ
ด้วยรักต่อทุกคน
#ใส่หน้ากากเสมอ
#ลดละเลี่ยงไปพื้นที่เสี่ยง
#อยู่บ้านกันนะครับ
#เชื่อในเรื่องที่ควรเชื่อ
#ทำในสิ่งที่ควรทำ
#ประเทศไทยต้องทำได้
มีโศกนาฎกรรม ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ภายในครอบครัวหลายๆครอบครัว โดยที่คนในครอบครัวไม่รู้ตัว และ มันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีค่าที่สุดของเรา นั่นคือ ลูกหลาน ตัวน้อยๆของเรา...
ใครก็ตามในยุคนี้ ที่อยากมีลูก หรือ อยากมีหลานไว้อุ้ม ถือว่า ท่านคิดผิดมหันต์ เพราะ ลูกหลาน ที่เป็นเด็ก และ เยาวชนในยุคนี้ และ ยุคต่อจากนี้ไป เกือบครึ่งหนึ่ง จะเป็นลูกหลาน ที่เนรคุณ ที่มีความอกตัญญู ไม่รู้บุญคุณ กับคนที่เป็น พ่อแม่ ลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย
ดังนั้น ใครที่เป็นพ่อแม่ ลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย ของเด็กๆในยุคนี้ และยุคต่อไป ต้องทำความเข้าใจตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป
ต้องทราบว่า ในวันนี้ และ วันข้างหน้า เด็กๆ เหล่านี้ กำลังมีสภาวะอารมณ์ที่รุนแรง! เพราะ ในช่วง ๑๕ ปี ที่ผ่านมา นักวิจัยได้พบสถิติ ที่น่าตกใจมาก เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้น ของความเจ็บป่วยทางจิต ของเด็กๆ และ. จำนวนเด็กที่เจ็บป่วยก็มีจำนวนที่เพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องและ ค่อนข้างเร็วมากกว่ายุคใดๆ
#สถิติไม่โกหก เพราะ เป็นความจริง เชิงประจักษ์ :
• เด็ก ๑ ใน ๕ คน มีปัญหาสุขภาพจิตค่อนข้างรุนแรง
• เด็กที่วินิจฉัยว่าเป็น ADHD เพิ่มขึ้นถึง ๔๓%
• มีรายงาน ภาวะซึมเศร้าของเด็ก วัยรุ่นเพิ่มขึ้นถึง ๓๗%
• มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ๒๐๐% ในเด็กอายุ ๑๐ ถึง ๑๔ ปี
มันเกิดอะไรขึ้น และ เรา พวกผู้ใหญ่ พ่อแม่ ได้ทำอะไรผิดพลาดไปหรือเปล่า ⁉️
เพราะ เด็กในวันนี้ ได้ถูกกระตุ้นมากเกินไป เพื่อให้มีพรสวรรค์ ทางด้านวัตถุ เพื่อจะได้เป็นคนเก่ง มากจนเกินไป บางครอบครัว ถึงขนาด ให้ลูกหลาน เป็นนักล่ารางวัลต่างๆ แท้จริงแล้ว เป็นการทำให้ พวกเด็กๆถูกปิดกั้น ถูกละเลย จากสิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญ ที่ทำให้มีช่วงวัยเด็ก ที่ควรมี ที่ดี ที่มีคุณภาพ (healthy childhood) สูญเสียไป เช่น
• ไม่มีการกำหนด ขอบเขตที่ชัดเจน ให้เด็กๆ ทราบว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้
•ขาด โภชนาการที่สมดุล และ การนอนหลับที่เพียงพอ
• เด็กขาด การเคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวกลางแจ้ง
• เด็กขาด การเล่นอย่างสร้างสรรค์ การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ขาดโอกาสที่จะได้เล่นอย่างอิสระ และ ช่วงเวลาที่เด็กๆ จะได้รู้สึกเบื่อ เพื่อจะคิดหาวิธีการเล่นเพื่อแก้เบื่อของตนเอง
เพราะ ในหลายๆปี ที่ผ่านมา เด็กๆ ถูกแทนที่ สิ่งสำคัญเหล่านี้ด้วย....
•ผู้ปกครองที่วุ่นวาย อยู่กับ อุปกรณ์ดิจิตอลต่างๆ
•ผู้ปกครองยอมทำตาม และ ยอมอนุญาตให้เด็กๆเป็นคน "ปกครองโลก" และเป็นคนที่กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆเอง ในวัยที่ไม่สมควร
•ทำให้เด็กๆ เข้าใจผิดว่า เป็นเรื่องถูกต้อง ที่ตัวเองสมควรที่จะได้รับทุกสิ่งที่ต้องการ โดยที่ไม่ต้องทำอะไร หรือ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย
• เด็กๆ นอนหลับไม่เพียงพอ และ มีโภชนาการที่ไม่สมดุล
• รูปแบบการใช้ชีวิตของเด็ก เป็นแบบขยับตัวน้อย (Sendentary Lifestyle) นั่งหน้า TV. นั่งหน้า Computer ไม่ออกไปข้างนอก อยู่แต่ในห้องของตน
• เด็กๆ ถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา มีเทคโนโลยีเป็นเพื่อนเป็นพี่เลี้ยง ทั้งทางเฟสบุ๊ค ไลน์ อินสตราแกรม ไอจี ฯลฯ เด็ก จะได้สิ่งที่ต้องการ ในทันที และ ไม่มีช่วงเวลาที่น่าเบื่อ เพราะ ถูกกระตุ้นตลอดเวลา
😥แล้วพวกผู้ใหญ่ จะทำอย่างไรกันดี?
ถ้า เราต้องการให้ลูกหลาน ของเรา เป็นคนที่มีความสุข และ มีสุขภาพดี (จริงๆ) พวกเรา ต้องตื่นได้แล้ว และกลับไปสู่พื้นฐาน กลับไปสู่เบสิค และ มันยังคงเป็นไปได้ที่จะแก้ไข แม้จะมีหนทางค่อนข้างน้อยก็ตาม
มีหลายครอบครัว เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เพียงไม่กี่สัปดาห์ หลังจากทำตาม คำแนะนำ ดังต่อไปนี้:
๑.กำหนด จำกัดขอบเขต ให้กับลูกหลาน และจำไว้ว่า คุณเป็นกัปตันของเรือ เป็นผู้นำครอบครัว ไม่ใช่ให้ลูกเป็นผู้นำ ทั้งๆที่ ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ลูกหลานของคุณ จะรู้สึกมั่นใจมากขึ้น เมื่อรู้ว่า คุณสามารถควบคุมทิศทาง หรือ หางเสือของชีวิตได้
๒.ต้องช่วยให้ลูกหลาน มีวิถีชีวิตที่สมดุล ที่เต็มไปด้วย สิ่งที่ลูกหลาน จำเป็นต้องมี ไม่ใช่แค่สิ่งที่ลูกหลานต้องการ อย่ากลัวที่จะพูดคำว่า "ไม่" กับลูก ๆ หลานๆ ของคุณ หากสิ่งที่พวกเขาต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น
๓.ต้องให้ลูกหลาน ทานอาหารที่มีคุณค่า และลด จำกัด อาหารขยะทั้งหลาย
๔.ต้องให้ลูกหลาน ใช้เวลากลางแจ้ง อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อวัน ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การขี่จักรยาน การเดิน การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา สนามเด็กเล่นกลางแจ้ง หรือ ช่วยปลูกผักสวนครัว ฯลฯ
๕.พยายาม ทานอาหารด้วยกัน ในครอบครัวทุกวัน โดยไม่มี สมาร์ทโฟนหรือไอแผ็ด ไอโฟน หรือ เทคโนโลยีอื่น ที่ทำให้เสียสมาธิ ซึ่งทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
๖.พยายามเล่นกับลูกหลาน ใช้เวลาด้วยกันในครอบครัว
๗.ให้ลูกหลาน ของคุณ มีส่วนร่วม ในการทำงานบ้าน ตามอายุของพวกเขา (พับเสื้อผ้า, แขวนเสื้อผ้า,ล้างจาน, กวาดบ้าน, ถูบ้าน ,จัดโต๊ะ, ให้อาหารสุนัข ฯลฯ )
๘.ให้มีการเข้านอนเป็นเวลา เพื่อให้แน่ใจว่า ลูกหลานของคุณ ได้นอนหลับเพียงพอ ความสำคัญ จะมากยิ่งขึ้น สำหรับเด็กในวัยเรียน
๙.ต้องสอนลูกหลาน ในเรื่องความรับผิดชอบ และ เรื่องเสรีภาพ อย่าปกป้องลูกมากเกินไป จากความรู้สึกไม่พอใจ หงุดหงิด เสียใจ หรือ ความผิดพลาดทั้งหมด ความเข้าใจผิด จะช่วยให้พวกเขา สร้างความยืดหยุ่น และ เรียนรู้ที่จะเอาชนะความท้าทายในชีวิตต่อไปได้
๑๐.อย่าถือกระเป๋า หรือ เป้สะพายหลัง หรือ ถือของให้ลูกหลาน ต้องพยายาม ให้ลูกหลาน ช่วยตัวเองมากที่สุด โดยให้คำยกย่องชมเชย เมื่อสามารถทำอะไรได้เอง ถ้าลูกลืมการบ้าน อย่าไปเอามาให้ อย่าปอกเปลือกกล้วย หรือ เปลือกส้ม หรือ ทำอะไรให้ลูกหลาน มากเกินไป ถ้าหากพวกเขา สามารถทำได้ด้วยตัวเอง แทนที่จะให้ปลา แต่สอนพวกเขา ให้รู้จัก วิธีการหาปลาเองเป็น ต้องสอนแต่เนิ่นๆตั้งแต่ เป็นเด็กเล็ก
๑๑.ต้องสอนลูกหลาน ให้รู้จักรอ และ ชะลอความพึงพอใจในสิ่งต่างๆได้ สอนให้รู้จัก การอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ได้
๑๒.ให้ลูกหลาน มีโอกาสได้พบ "ความเบื่อ" เนื่องจากความเบื่อหน่าย เป็นช่วงเวลาที่ ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้น เพื่อหาวิธีแก้เบื่อ ไม่ต้องเป็นพ่อแม่ที่รู้สึกว่าต้องทำให้ ลูกหลานสนุกตลอดเวลาเท่านั้น
๑๓.อย่าใช้เทคโนโลยี เป็นวิธีแก้ความเบื่อของลูกหลาน เพราะ จะทำให้ลูกหลานอ่อนแอ และ ต้องแข็งใจ ไม่ต้องสนองความต้องการทุกครั้ง เมื่อลูกหลานร้องขอ เพราะ จะเป็นผลเสียหายร้ายแรงต่อลูกหลานในอนาคต ที่จะเอาแต่ใจตัวเป็นใหญ่ จะเป็นคนที่มีปัญหาตกต่ำในอนาคต (ท่าน ต้องท่องไว้ว่า ความเบื่อ จะก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ)
๑๔.หลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยี ในระหว่างมื้ออาหาร ในรถยนต์ ในร้านอาหาร ในศูนย์การค้า ในบ้าน ใช้ช่วงเวลาเหล่านี้ เป็นโอกาสในการเข้าสังคม โดยการฝึกสมอง ให้รู้วิธีการทำงาน เมื่ออยู่ในโหมด: "เบื่อ" (boredom)
๑๕. เมื่อลูกหลาน เบื่อ อาจจะช่วยจุดประกายไอเดีย แก้เบื่อได้บ้าง
๑๖.พยายามมีอารมณ์ร่วมกับลูกหลาน ต้องไวต่อความรู้สึกของลูกหลาน และต้องสอนให้พวกเขา รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง และ สอนทักษะทางสังคม
๑๗.ปิดโทรศัพท์ในเวลากลางคืน เมื่อลูกหลาน ต้องเข้านอน เพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวน จากสัญญานโทรศัพท์ และ สิ่งต่างๆ จากโทรศัพท์
๑๘. ต้องพยายาม เป็นผู้ควบคุม หรือ เป็นผู้ฝึกอารมณ์ สำหรับลูกหลานของคุณ สอนพวกเขา ให้รู้จัก และ จัดการความผิดหวัง และ ความโกรธของตนเอง
๑๙.ต้องสอนลูกหลาน ให้ทักทายคนอื่นเป็น รู้จักการรอคิว รู้จักผลัดกันเล่น ผลัดกันใช้ รู้จักแบ่งปัน รู้จักการพูดขอบคุณ และ การขอโทษ อย่างมีมารยาท รู้จักการยอมรับในความผิดพลาด ทั้งนี้ โดยตัวท่านเอง ต้องทำเป็นแบบอย่างที่ดี ในชีวิตประจำวัน ของค่านิยมทั้งหมดนี้
๒๐.ต้องเชื่อมต่อ อารมณ์กับลูกหลาน โดยการ- ยิ้ม กอด จูบ หอม จี้เอว หัวเราะ สนุก อ่านนิทาน เต้นรำ กระโดดเล่นกับลูกหลานบ่อยๆ
ถ้าเราอยากเห็น ความเปลี่ยนแปลงที่ดี ในชีวิตลูกๆหลานๆของเราจริงๆ.... โปรดทำตามคำแนะนำดังกล่าว ท่านอาจได้ลูกหลานที่ดีกลับคืนมาก็ได้ 🙂
Cr. Dr. Luis Rojas Marcos Psychiatrist
**********
ชวนให้คิดครับ
โฆษก กทม.ทยอยเปิดไทม์ไลน์ ติดเชื้อโควิดในกรุงเทพฯ 75 คนแล้ว ไล่สอบสวนโรค พบไปหลายห้าง ดูหนัง คาราโอเกะ
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยผ่านเพจเฟซบุ๊กเอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang ถึง ไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กทม. ซึ่งเชื่อมโยงกับการแพร่ระบาดที่จ.สมุทรสาคร
โฆษกศบค.เผยว่า วันที่ 27 ธันวาคม 63 กทม. พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 17 รายเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ กทม. 16 ราย และอยู่ระหว่างสอบสวนโรค 1 ราย
กทม.พบผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 20–27 ธ.ค. 63 รวม 75 ราย
ไทม์ไลน์ เผยไปแล้ว 21 ราย (วันที่ 20 ธ.ค.ถึง 26 ธ.ค.) และ วันนี้ มี ไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อที่อยู่ใน กทม. ซึ่งได้สอบสวนโรคเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพิ่มอีก 22 ราย และยังอยู่ระหว่างสอบสวนโรค อีก 18 ราย และมีคนที่ไม่ได้พักอาศัยในพื้นที่ กทม. 14 ราย
ทั้งนี้เปิดเผยไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 10 ราย ดังนี้
รายแรกและรายที่ 2 ชายเมียนมา วัย 27 ปี และวัย37 ปี ช่วง 9 -22 ธันวาคม 2563 ไปตลาดแสมดำ และทำงานโรงงานผลิตรองเท้าย่านพระราม 2
รายที่ 3 ชายชาวจีนวัย 28 ปี ระหว่าง 15-18 ธ.ค.63 พักกับเพื่อนชาวจีน 2 คน ก่อนออกมาพักโรงแรมย่านสุขุมวิท พื้นที่คลองเตย ก่อนไปพบแพทย์เพื่อขอใบรับรองแพทย์เดินทางกลับจีน แต่ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19
รายที่ 4 หญิงวัย 39 ขายอุปกรณ์ไฟฟ้าย่านเอกมัย พบว่าไปเล่นแบดมินตัน ที่สปอร์ตคลับย่านปรีดีพนมยงค์ ไปร้องคาราโอเกะย่านศรีนครินทร์ - อ่อนนุช ก่อนยืนยันพบเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 25 ธันวาคม 2563
รายที่ 5 ชายวัย 26 เจ้าหน้าที่สวทช.ทำงานในพื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ไปห้างโลตัสย่านบางมด ไปห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ห้างแพลตตินัม ไปตลาดอินดี้ ไปต่อใบขับขี่ที่ขนส่งบางขุนเทียน ก่อนพบเชื้อรายที่ 6 หญิงอายุ22 ปี นักศึกษาฝึกงานในสนามบินดอนเมือง ไปรับประทานอาหารร้านหอมปลาแดก ย่านดอนเมือง 2 ครั้ง ไปงานรับปริญญาเพื่อน ม.รังสิต ไปเลือกตั้งที่ฉะเชิงเทรา กลับมาฝึกงาน รับประทานอาหารร้าน JJ ชาบู เดินตลาดโอโซนวัน ก่อนพบเชื้อโควิด-19
รายที่ 7 ชายวัย 28 อาชีพขายอาหารทะเลที่สมุทรสาคร พักย่านบางขุนเทียน รายที่ 8 หญิงอายุ 65 ปี อาชีพขายอาหารทะเล ไปตลาดทะเลไทยสมุทรสาคร ไปวัดตึก สมุทรสาคร ไปร้านที่ตลาดอ่อนนุช ไปธนาคารกสิกรไทย สาขาบิ๊กซีอ่อนนุช เดินทางรถสาธารณะไปตรวจหาเชื้อโควิด ไปประปาพระโขนง นั่งรถสาธารณะ รายที่ 9 ชายวัย 43 อาชีพขายกุ้งตลาดย่านบางบอน และขับรถแท็กซี่ รับผู้โดยสารย่านฝั่งธนฯแต่สวมหน้ากากอนามัยตลอดและล้างมือด้วยเจลฯประจำ รายที่ 10 ชายวัย 32 ปี อาชีพขายอาหารทะเล ไปตลาดแพกุ้ง ไปธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโลตัสกำแพงแสน ไปร้านเคเอฟซี ขับรถมากทม.ดูหนังกับภรรยา ที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ปิ่นเกล้า รอบ 11.30 น.วันที่ 19 ธันวาคม 2563 ไปเลือกตั้งอบจ.ที่ศาลากลาง ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 และไปเดินซื้ออาหารที่วังหลัง อย่างไรก็ตามยังมีไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อที่ผ่านการสอบสวนโรคแล้วอีก 12 ราย จะรายงานให้ทราบต่อไปถ้าหยุดโควิดไม่ได้ตอนนี้ไทยอาจกลายเป็นแบบเมียนมา
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับมาอยู่ในสภาวะน่าวิตกอีกครั้ง หลังเวลานี้เริ่มพบการระบาดที่เป็นลักษณะการติดเชื้อภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงการติดเชื้อโควิดจากแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายชาวเมียนมาที่สมุทรสาคร จนพบคนติดเชื้อกระจายไปยังหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร
หากเราได้ไปศึกษาประวัติศาสตร์ตอนที่เกิดไข้หวัดใหญ่สเปน ที่ประชากรโลกตายไปร่วม 50 กว่าล้านคน สิ่งที่เกิดเวลานั้นคือ พอมีไข้หวัดใหญ่สเปนเข้ามา ก็เกิดการแพร่เชื้อ-ติดเชื้อในประเทศต่างๆ คล้ายกับสถานการณ์ในช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งเวลานั้นแต่ละประเทศ ก็พยายามควบคุมและป้องกัน เช่น การใส่หน้ากาก การมีระยะห่างของคนในสังคม โดยที่เวลานั้นเทคโนโลยียังไม่มีประสิทธิภาพมากเหมือนปัจจุบัน จนต่อมาตัวเลขการแพร่เชื้อ-ติดเชื้อก็เริ่มลดลง และสิ่งที่ตามมาก็คือเมื่อมีการควบคุมการแพร่เชื้อ มีการขอให้ประชาชนอยู่ในบ้านพัก แต่เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ โดยสมัยนั้นเมื่ออัตราการติดเชื้อของประชากรเริ่มลดลง ประชาชนก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ มีการทำกิจกรรมร่วมกัน จนตัวเลขการติดเชื้อก็เริ่มกลับมาใหม่อีกรอบ หลายประเทศก็เจอเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว โดยคิดว่าเมื่อประชาชนกลับมาได้รับเชื้อ แต่อีกสักระยะตัวเลขการติดเชื้อต่างๆ ก็จะลดลงไปเอง เพราะมองว่าตอนรอบแรก ตัวเลขต่างๆ ก็ยังลดลงได้เลย คนเลยเชื่อว่าทำแบบเดิมตัวเลขก็จะลดลงมาเอง
ยกตัวอย่าง ก็มาถึงตอนนี้แทนที่จะรีบตัดสินใจตอนนี้ว่าจะทำอย่างไร ก็บอกกันว่ารออีกสักระยะ ซึ่งการบอกว่ารออีกสักระยะ แต่ไวรัสมันไม่เหมือนน้ำท่วม เพราะน้ำท่วมยังรอ 1-2 วันให้น้ำลดลงได้ แต่ไวรัสจะมารออีก 1-2 วันไม่ได้ เพราะไวรัสจะกระจายตัวออกไป สุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์คือพอเริ่มจะตัดสินใจทำอะไรก็สายเกินไป การระบาดมันระบาดเร็วเกินไปเกินกว่าที่จะควบคุมได้ เมื่อเป็นแบบนั้นก็ทำให้มีคนเจ็บป่วยมาก คนป่วยเยอะเกินศักยภาพของโรงพยาบาล-สถานพยาบาลที่จะดูแล ก็ปรากฏว่าคนไข้ไปโรงพยาบาลก็เข้าไปไม่ได้ เพราะมันทะลัก เนื่องจากการติดเชื้อมันเยอะ สุดท้ายคนก็ทยอยเสียชีวิต สิ่งนี้คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีที่แล้ว
...ตอนที่ประเทศไทยเริ่มพบการแพร่ระบาดของโควิดรอบแรก ผมก็เชื่อว่ายังไงการแพร่ระบาดของรอบ 2 ยังไงก็มา เพราะนี่คือพฤติกรรมมนุษย์ เลยคาดการณ์ไว้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น ซึ่งมันก็เป็นจริง
ตอนโควิดระบาดรอบแรกคงจำกันได้ พอตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงมาเรื่อยๆ จนเราเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่เริ่มเมื่อ 3 พ.ค.63 จากเดิมที่การพบตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศ เราพบสูงสุดที่วันละ 188 รายต่อวัน ซึ่งพบเมื่อ 19 มี.ค.63 โดยตอนนั้นเมื่อเราควบคุมการแพร่เชื้อ จนตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง เราคุมกันได้
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ที่เกิดขึ้นก็คือเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ประชาชนก็เริ่มออกจากบ้านมาทำกิจกรรม แต่ก็ยังมีการคุมกันอยู่บ้าง ค่อยๆ คุม ซึ่งช่วงแรกๆ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังใส่หน้ากากอนามัยอยู่-ล้างมือ-รักษาระยะห่าง แล้วก็มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เป็นระยะ จนหลายคนเริ่มจะชะล่าใจ เพราะคิดว่าไม่มีอะไร แต่ระหว่างนั้น สิ่งที่คู่ขนานกับไทยไปเรื่อยๆ ก็คือ ขณะที่ประเทศเรากำลังดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อมองไปรอบๆ ประเทศเรา พบว่ามันไม่ใช่ หลายประเทศพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการแพร่เชื้อรอบ 2 เกิดขึ้น ขณะที่เรากำลังสบายๆ แต่ประเทศรอบๆ ตัวเลขเริ่มเป็นสีแดง
ตอนนั้นผมก็เริ่มออกมาเตือนเป็นระยะว่า ไทยอย่าชะล่าใจ ไม่มีประเทศไหนในโลกจะปลอดภัย ถ้าประเทศอื่นยังมีการติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายจะทะลักเข้ามาได้ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะปิดรูโหว่ต่างๆ ได้ทั้งหมด สำหรับประเทศไทย เป็นเรื่องดีที่คนไทยเราร่วมมือกัน จนผ่านมา 6 ระยะของการผ่อนคลาย จนเกือบจะเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ช่วงตอนนั้นจะพบว่า การแพร่เชื้อกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศต่างๆ
...ซึ่งผมก็ได้ออกมาเตือนอีกครั้งหนึ่ง เพราะตอนที่ไข้หวัดสเปนระบาดรุนแรงมาก จะเกิดขึ้นช่วงฤดูใบไม้ร่วง-หน้าหนาวของทางตะวันตก ที่อากาศจะเย็นลง ที่ทำให้การติดเชื้อมากขึ้น จากปัจจัยต่างๆ เช่น เมื่ออากาศเย็น ไวรัสจะอยู่นอกตัวเราได้นานขึ้น และเมื่ออากาศเย็นลง คนก็จะอยู่แต่ในอาคาร มีการปิดหน้าต่าง เพราะอากาศหนาว ทำให้อยู่ในพื้นที่ปิด ซึ่งพื้นที่ปิดคือพื้นที่เสี่ยง และเมื่ออยู่ในอาคาร พฤติกรรมโดยทั่วไป คนก็จะไม่ใส่หน้ากาก ทำให้เมื่อมีใครสักคนติดเชื้อโควิดแล้วเข้ามาในอาคาร โอกาสที่จะมีการแพร่กระจายก็จะเยอะขึ้น
ที่ผ่านมาผม รวมถึงนักวิชาการจากประเทศต่างๆ เช่น ยุโรป-สหรัฐอเมริกา ก็มีการออกมาเตือนหลายครั้ง ให้ระมัดระวังการแพร่เชื้อ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทำให้คนก็กลับมาใช้ชีวิตสุขสบายมากขึ้น ไม่อยากยอมกลับไปอยู่ในลักษณะการถูกควบคุม อย่างจะเห็นได้ว่าในกลุ่มประเทศทางตะวันตก ที่โดยธรรมชาติของเขาจะไม่ยอมใส่หน้ากากอนามัยอยู่แล้ว เพราะแนวคิดเขาคือ คนใส่หน้ากากคือคนเจ็บป่วย และมองว่ายิ่งรัฐบาลมาบังคับให้ใส่ ก็ยิ่งเป็นการลิดรอนสิทธิ ทำให้ต่อมาในกลุ่มประเทศทางตะวันตกก็เริ่มกลับมาพบว่าตัวเลขการติดเชื้อเริ่มกลับมาเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์เสริมเข้ามาคือเรื่องของ สายพันธุ์โควิด ที่เข้าไปในตะวันตก ที่พบว่าเริ่มเปลี่ยนไปจากสายพันธุ์เดิมที่อยู่ที่อู่ฮั่น ที่เป็นสายพันธุ์ D164 แต่สายพันธุ์ใหม่คือ G164 อันนี้คือการมองย้อนหลังกลับไป เพราะตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเป็นสายพันธุ์อย่างไร แต่พอถึงช่วง พ.ค.-ส.ค.63 ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าตัวเลขการติดเชื้อในกลุ่มประเทศทางตะวันตก ตัวเลขมันวิ่งขึ้นเร็ว และคนเริ่มล้มตาย ทางประเทศในยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวกลับเข้าไปเที่ยวในประเทศได้ ก็เลยกลายเป็นการเปิดให้เชื้อดังกล่าววิ่งเข้าประเทศตัวเอง ก็เริ่มเกิด WAVE2 ขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งหลายประเทศกว่าจะตัดสินใจว่าจะควบคุมจัดการอย่างไร พบว่าก็เหมือนเมื่อร้อยปีที่แล้ว คือบอกกันว่ารอสักหน่อย แต่ระหว่างนั้นตัวเลขการติดเชื้อก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวมีการแพร่กระจายพันธุ์ได้รวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐ
สำหรับประเทศไทย ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน ตัวเลขของเราต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก แต่ก็เริ่มเห็นแล้วถึงสถานการณ์ในประเทศรอบบ้านเรา ทั้งที่ภาคใต้ จนถึงแถบตะวันตกของไทย พบว่าตัวเลขเริ่มไม่ใช่แล้ว มันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะแถบตะวันตก คือเมียนมา พบว่าวันที่ 16 ส.ค. ที่เมืองซิตตเว ที่อยู่ในรัฐยะไข่ของเมียนมา ที่เป็นเมืองซึ่งฐานะประชาชนจะยากจน เป็นเมืองที่มีชาวไร่ยะไข่กับโรฮีนจาอยู่ด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่ฐานะไม่ดี ประกอบกับเชื้อพบว่ามาจากบังกลาเทศที่หลุดเข้าไปในอินเดีย
จนเมื่อ 16 ส.ค. พบว่ามีคนไข้เป็นผู้หญิง 2 คน ตรวจเจอติดเชื้อโควิดที่เมืองซิตตเว ซึ่งแม้เจอ 16 ส.ค. แต่อาจมีการติดเชื้อก่อนหน้านี้ โดยตัวเลขที่ผมย้อนกลับไปดูก็คือ 10-20 สิงหาคม มีคนประมาณ 5,000 คนที่เดินทางจากยะไข่เข้าสู่ย่างกุ้ง และต่อมาเมื่อ 17 ส.ค. ประเทศเมียนมาทั้งประเทศมีคนติดเชื้อโควิดแค่ 409 ราย แต่จากวันที่ 16 ส.ค.ที่มีคน 5,000 คนเดินทางเข้ากรุงย่างกุ้ง รัฐบาลเขาก็พยายามไปสอบสวนโรค แล้วก็หาตัวคนติดเชื้อได้ แต่ไม่ถึงครึ่ง โดยการหาตัวหากพบคนติดเชื้อ ก็มีการแยกตัวออกมา quarantine แต่พอหาไม่เจอ คนเหล่านี้ถ้าหากมีการติดเชื้อ เราก็จะตามตัวไม่เจอ คนเหล่านี้ก็จะไปแพร่เชื้อ โดยจากยะไข่ คนติดเชื้อก็เดินทางไปเมืองอื่นๆ สิ่งที่มันเริ่มเกิด ก็คล้ายกับของเราในเวลานี้คือ มันมีจุดหนึ่งที่มีการแพร่ระบาด แล้วกระจายไปโดยตามหาไม่ได้ ไม่สามารถสืบสวนโรคได้ ว่าใครไปเจอกับใคร แล้วเดินทางไปไหนบ้าง ซึ่งก็จะคล้ายของเราเวลานี้
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ย้ำว่า สถานการณ์โควิดในเมียนมาก็คือ จาก 17 ส.ค.ที่มีแค่ 409 ราย จนถึง ณ วันนี้ที่ให้สัมภาษณ์ (23 ธ.ค.) พบผู้ติดเชื้อมีประมาณ 110,000 กว่าราย จาก 400 กลายเป็นแสนกว่ารายในเวลา 3 เดือนเล็กน้อย นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้คู่ขนานไปกับภาคใต้ของเรา ที่มาเลเซียพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อก็จะขึ้นสูงเป็นครั้งคราว เราก็จะพบตัวเลขคนติดโควิดขึ้นมาจากภาคใต้เข้ามาบ้าง แต่รอบสัปดาห์นี้ที่มาเลเซีย ตัวเลขคนติดเชื้อขึ้นตลอดเลย จนถึงตอนนี้ 23 ธ.ค. มาเลเซียก็พบผู้ป่วยใหม่ 2,000 กว่ารายต่อ 1 วัน ก็เป็นอีกหนึ่งศึก ลำพังแค่ฝั่งตะวันตกของเราก็เยอะอยู่แล้ว ซึ่งฝั่งนั้นมันน่ากลัวตรงที่ชายแดนไทยกับเมียนมา 2,401 กิโลเมตร มันเดินเข้ามาง่ายมาก ทำให้โอกาสที่คนจะหลบหนีเข้ามา เพราะเราจะไปกันชายแดน 2,401 กิโลเมตร เกือบจะเรียกได้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ ตรงนี้ก็น่ากลัว
เมื่อประเทศเมียนมาคนติดเชื้อเยอะ อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ คนจำนวนหนึ่งก็หลบหนีเข้ามาในไทย ก็ทำให้เรามีแรงงานต่างด้าวที่หลบเข้ามาในประเทศไทย ก็มาเกิดกรณีที่ ท่าขี้เหล็ก ที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีการแพร่ระบาดโควิดมาก แล้วคนไทยไปเที่ยว พอมีการติดเชื้อขึ้น ก็หนีกลับเข้ามาโดยหลบไปจากระบบควบคุมโรค ตามจับไม่ทัน เราก็เห็นจุดโหว่ มันมีจุดอ่อนที่ระบบควบคุมสุดท้ายมันควบคุมไม่ได้ และจากท่าขี้เหล็ก ที่กระจายตัวไปยังเชียงใหม่-เชียงราย ก็มีการติดตาม จนควบคุมได้ระดับหนึ่ง แล้วก็มาเกิดเหตุที่สมุทรสาคร ที่แม่ค้าในตลาดแพกุ้งเกิดตรวจเจอติดเชื้อโควิด ที่ก็เชื่อว่าน่าจะติดจากแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่เข้ามา จนมีการสอบสวนโรค
กรณีของประเทศเมียนมา ผมดูจากเอกสารของรัฐบาลเขา พบว่าโควิดในเมียนมาเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์เป็นโควิดสายพันธุ์ G164 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดง่าย โดยตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าโควิดที่ระบาดในไทยเป็นสายพันธุ์ไหน แต่ทั่วโลกตอนนี้โควิด G164 มามากกว่าสายพันธุ์เดิม D164 เราก็ต้องคิดเผื่อไว้ก่อนว่า หากสายพันธุ์ที่เข้ามาเป็นสายพันธุ์ระบาดเร็ว เราก็ต้องรีบจัดการเร็ว
สำหรับกรณีที่ สมุทรสาคร ที่เป็นแหล่งค้าส่งอาหารทะเลสด เราลองนึกภาพ การขนส่งที่เมื่อเรือประมงจับสัตว์ทะเลมาได้ แล้วส่งเข้าไปในตลาดที่จะแช่เย็นส่งเข้าไป และเพื่อให้ส่งไปถึงต่างจังหวัดได้ จึงมีการนำอาหารไปแช่ในตู้เย็น ซึ่งของเย็นๆ เหล่านี้เชื้อโควิดมันอยู่ได้ พวก Packaging คลุมสินค้าอาหารเหล่านั้นทำให้เชื้อยังอยู่
สมมุติเมื่อรถจากสมุทรสาคร สมมุติไปส่งสินค้าที่จังหวัดในภาคอีสาน พอไปถึงจุดรับสินค้า มีการเปิดรถออก เอาของลง ถึงตอนนั้นหากจังหวัดไม่เคยมีโควิด เขาก็ไม่ระวังตัว หรือถึงมีเชื้ออยู่ในจังหวัด แต่คนก็อาจไม่คิดอะไร ก็แกะของที่แพ็กส่งมา พวกกุ้งแช่แข็งอะไรต่างๆ ทำไปก็คุยไป เชื้อพวกนี้มันก็มีโอกาสเข้าไปในคนในตลาด คืออาหารพวกนี้หากทำสุกยังไงเชื้อก็ตายหมด ไม่ต้องห่วง แต่ที่สำคัญคือตอนที่มีการจัดการของในตลาด เชื้อมันจะเข้าไปในตัวคนแล้ว แล้วคนเหล่านี้ทำทุกอย่างเสร็จ ก็กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว ไปเจอเพื่อน ยิ่งจังหวัดไหนที่ตอนแรกยังไม่มีรายงานการติดเชื้อ คนก็อาจไม่ระวัง
ผมจึงพยายามบอกว่าครั้งนี้ต้องระวังเพราะมันจะคล้าย ๆ กับที่เมียนมา คือจากจุดหนึ่งที่พบแล้วมันจะกระจายออกไป ซึ่งจุดที่มันกระจายไปจากสมุทรสาคร คืออาหารทะเลที่ไปยังที่ต่างๆ บวกกับปัจจัยที่สอง คือในสมุทรสาคร มีแรงงานต่างด้าวเยอะ ถูกกฎหมายก็มาก ผิดกฎหมายก็เยอะ พวกแรงงานที่เข้ามาโดยถูกกฎหมายแล้วตรวจพบการติดเชื้อ กรมควบคุมโรคก็จะเข้าไปสอบสวนโรคทันที แต่สำหรับพวกแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย ลองคิดดู หากเราไปเจอแรงงานต่างด้าวคนหนึ่ง ที่เข้ามาโดยถูกกฎหมายแล้วตรวจพบเชื้อบวก ก็จะมีการสอบสวนโรคว่าก่อนหน้านี้เดินทางไปยังสถานที่แห่งใดบ้าง ไปเจอใครมาบ้าง เพื่อจะได้ไปตาม แต่หากเป็นแรงงานเข้ามาโดยผิดกฎหมายแล้วตรวจพบการติดเชื้อ การสอบสวนโรคเขาก็จะไม่ค่อยให้ความร่วมมือเพราะเหตุผลต่างๆ เช่น เกรงเพื่อนที่เข้ามาโดยผิดกฎหมายด้วยจะโดนจับ ก็ทำให้การสอบสวนโรครอบนี้มันจะไม่สมบูรณ์แบบ แล้วอาจจะมีการเช่น แจ้งเพื่อนทันทีว่าจะมีเจ้าหน้าที่ของเราเข้าไปสอบสวน คนที่ได้รับแจ้งก็จะรีบหนีออกจากสมุทรสาคร ก็หนีไปจังหวัดอื่น เพราะยังไงเขาก็ไม่กลับไปเมียนมาอยู่แล้ว
....ทำให้จากนี้ไป คาดเดาได้เลยว่าจะพบการติดเชื้อเกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ ที่ตอนนี้ก็เริ่มพบการกระจายตัวออกไป จนตอนนี้มาถึงจุดที่ว่าตัวเลขการติดเชื้อโควิดในไทยที่เราเห็น มันไม่ได้เป็นตัวเลขการติดเชื้อจากแรงงานต่างด้าวแล้ว แต่กลายเป็นคนไทยที่ติดกันภายในเองแล้ว มันเข้าสู่รอบ การติดเชื้อกันภายในประเทศ ซึ่งการติดกันภายในแล้วหากกระบวนการสืบสวนโรคทำได้ไม่ดีพอ มันจะเริ่มเข้าสู่ภาวะ การแพร่ระบาด ซึ่งหากเข้าสู่สภาวะการแพร่ระบาดก็จะเข้าสู่เกณฑ์ที่เรียกว่า ระบาดรอบสอง เวลาที่เราพูดถึงการแพร่ระบาดรอบหนึ่งรอบสอง หากพบแค่การติดเชื้อจากแรงงานต่างด้าวอย่างเดียว แบบนี้ยังไม่เรียกว่าแพร่ระบาดรอบสอง เพราะเราไปตรวจและจับได้ แต่หากติดเชื้อกันภายในประเทศกันเอง แล้วสอบสวนโรคกันไม่ได้ แบบนี้ต้องระวัง เราต้องมองตัวอย่างของกรณีประเทศเมียนมา ที่ภายในเวลาแค่ 3 เดือนตัวเลขการติดเชื้อมันเพิ่มขึ้นถึง 250 เท่า เราก็ต้องระวัง
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอความเห็นว่า สำหรับการหยุดการแพร่เชื้อ การเฝ้าระวัง หลังจากนี้เห็นว่ามาตรการที่จะใช้ต้องเหมือนกับมาตรการตอนรอบแรก คือทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อลดลงให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะหากผู้ป่วยติดเชื้อมีจำนวนมาก คนไข้เหล่านี้ก็จะทะลักเข้าไปในโรงพยาบาล ซึ่งหากทะลักเข้าไปมากจนเกินศักยภาพของโรงพยาบาล นั่นหมายถึงอัตราการเสียชีวิตที่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยตอนนี้โรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นของกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานอื่น การเตรียมพร้อมรอบนี้เราดีกว่ารอบแรก เพราะมีการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เอาไว้แล้ว จากที่ตอนระบาดรอบแรกเราขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์เยอะมาก แต่รอบนี้มีการเตรียมการพอสมควรอยู่ แต่หากว่า เกิดมีคนไข้เยอะมากๆ การรองรับผู้ป่วยก็อาจไม่พอ ดังนั้น ตอนนี้ก็ต้องทำคู่ขนานกันไป คือพบคนไข้ ทางแพทย์ก็เตรียมการรักษา ขณะเดียวกันเนื่องจากตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายจะปิดการเดินทาง ก็ต้องระวังด้วยเพราะหากเริ่มพบในจังหวัดหนึ่ง คนก็อาจจะหนีไปอยู่อีกจังหวัดหนึ่ง ก็จะแพร่เชื้อไปยังจังหวัดนั้น สิ่งเหล่านี้ต้องระวัง ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้เสมอ คือไล่จับกัน แต่คนที่ถูกจับมีเชื้อก็ไปแพร่เชื้อในจังหวัดอื่นๆ เรื่อยๆ
-สถานการณ์โควิดในประเทศไทยเวลานี้ถือว่าโคม่า หรือเข้าขั้นวิกฤติแล้วหรือยัง?
ผมยังไม่อยากเรียกว่าโคม่า แต่ถ้าถามผม ก็วิกฤติ ความเห็นผมเป็นแบบนี้คือ หลายคนบอกว่าผมชอบมองโลกในแง่ร้าย แต่หากมองโลกในแง่ดีเกินไปแล้วเกิดร้ายขึ้นมาจริง เราจะทำอะไรไม่ทัน
อย่างตอนน้ำท่วมปี 2554 เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า แต่ละจังหวัดน้ำจะลดลงไปในระดับใด แล้วก็เป็นไปตามนั้น แต่การติดเชื้อเราคิดไม่ได้ คนติดเชื้อโควิดหนึ่งคนไปคุยกับคนที่ยังไม่ติดเชื้อ 20 คน จับพลัดจับผลูติดกันหมด แล้ว 20 คนไปคุยกับคนอีก 200 คน โรคก็แพร่กระจายไปแล้ว เป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้ อย่างเราคุยกันก็อาจจะติดเชื้อก็ได้ เพราะวันนี้ที่หน้าผากไม่มีใครติดป้ายว่า "ฉันไม่ติดเชื้อ" เพราะคนมีเชื้อโควิดแต่ไม่มีอาการตอนนี้ก็แพร่เชื้อได้
ดังนั้นตอนนี้ที่ดีที่สุดก็คือ เราก็ต้องใส่วัคซีนที่ดีที่สุดของประเทศไทยคือ "หน้ากากอนามัย" แล้วก็ล้างมือ รักษาระยะห่าง เป็นการป้องกันที่ดีที่สุด ไม่ว่าโควิดจะกลายพันธุ์หรือไม่กลายพันธุ์ สิ่งนี้คือการป้องกันที่ดีที่สุด
"ช่วงตอนนี้คือช่วงสำคัญ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะช่วงนี้ทั่วโลกระบาดกันเยอะ อยู่ในช่วงขาขึ้น ระบาดกันมาก โดยของไทยเจอแล้ว ที่มาจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาจากเมียนมา จนตอนนี้เราเข้าสู่ระยะของแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งตอนนี้หากเราไม่ช่วยกันหยุดมัน เราอาจกลายเป็นเหมือนเมียนมา ถ้าแบบนี้เราจะเดือดร้อน ตอนนี้จึงอยู่ในช่วงที่ประเทศไทยเราต้องติดตามกำกับดูแลอย่างเข้มงวด อย่าชะล่าใจ หากพบมีผู้ติดเชื้อจังหวัดไหน จังหวัดนั้นต้องรีบ take action แล้วรัฐบาลก็ต้องมีมาตรการออกมา โดยหากสถานการณ์แย่ลง การใช้มาตรการที่เข้มงวดก็ต้องรีบนำออกมาใช้ จะชะลอไม่ได้ หากช้าอาจจะยิ่งแย่ลง"
...ตอนนี้อยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่คนอยากไปเที่ยว แต่ก็เชื่อว่าปีนี้หลายจังหวัดอาจจะปิดล็อก ธุรกิจหลายอย่างอาจทำไม่ได้ ทำให้ปีนี้การเดินทางออกต่างจังหวัดอาจจะลดน้อยลง
อยากฝากว่า ปีนี้ควรถือโอกาสปีนี้ให้เป็นช่วง ปีใหม่สร้างสายใยในครอบครัว โดยการฉลองปีใหม่ที่บ้าน อยู่บ้าน อยู่กับพ่อแม่พี่น้อง ลูกหลานก็อยู่บ้านดูแลพ่อแม่ที่บ้าน ทำอาหารกินกันที่บ้าน ก็ปลอดภัยด้วย ก็ทำให้สังคมไทยซึ่งที่ผ่านมาอาจมีความแตกแยกกันบ้างในช่วงที่ผ่านมา ก็ใช้โอกาสนี้เยียวยาดึงความสุขในครอบครัวกลับคืนมา ทั้งบ้านก็มาเคาต์ดาวน์ปีใหม่ตอนเที่ยงคืนด้วยกัน มันได้บรรยากาศอีกแบบหนึ่งที่ดีด้วยซ้ำ เราไม่มีบรรยากาศแบบนี้มานานแล้ว
-ฝ่ายภาคธุรกิจอาจไม่อยากให้มีมาตรการอะไรต่างๆ ออกมา เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบแล้วอาจต้องใช้วิธีต่างๆ เช่น ปลดพนักงาน?
ก็ต้องบอกเขาว่า ถ้าปล่อยให้มีการติดเชื้อเยอะๆ ก็เจ๊งเลย หากพวกเราไม่ช่วยกันอดทน ผมก็รู้ว่าทุกคนเดือดร้อน อย่างตอนโควิดระบาดรอบแรก ก็ขอความร่วมมือให้อยู่กับบ้าน ตอนนั้นก็เดือดร้อนบ้าง แต่พอเราควบคุมกันได้ดี พอผ่านไป 6 สัปดาห์ก็เริ่มผ่อนคลายให้มีการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างทุกวันนี้สหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตวันละเฉลี่ยเกือบ 3,000 คน เราคงไม่อยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบนั้น เพราะหากถึงตอนนั้นต่อให้มีการเปิดร้านอะไร คนก็ไม่เข้าไปกิน ก็แย่อยู่ดี สู้ตอนนี้เรามาช่วยกันดีกว่า หยุดมันให้ได้ เพราะถ้าเราหยุดมันได้ ทุกอย่างก็จะกลับมาแบบเดิม ก็ค่อยคลายให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ แล้วถึงตอนนั้น ความเห็นผมอย่าให้รอบบ้านเข้ามาอีก แล้วทำให้เศรษฐกิจมันหมุน แต่ตอนนี้ต้องคิดเรื่องแรกก่อนคือ "หยุดมันให้ได้" ถ้าเราหยุดได้เร็ว เศรษฐกิจก็พังช้า พังน้อย แต่ถ้าเรามัวแต่เอาเรื่องเศรษฐกิจแล้วปัญหามันไม่หยุด มันยื้อไปเรื่อยๆ ถ้ายื้อไปอีกสักเดือน เราเดือดร้อนแน่
-หากสุดท้ายการแพร่ระบาดทำให้มีคนติดเชื้อจำนวนมากขึ้นมาจริง ความพร้อมของระบบสาธารณสุขประเทศไทยและบุคลากรทางการแพทย์รับมือได้เพียงใด?
ขึ้นอยู่กับจำนวน อย่างหากมีคนไข้หนักสัก 2,000-3,000 คนก็รับได้อยู่ แต่หากมีคนไข้หนักสัก 5,000-10,000 คน แล้วเข้ามาแบบอาการหนัก เข้ามาพร้อมกันหมด ถ้าแบบนี้ก็ไม่อยู่ อย่างหากมีคนป่วยจำนวนมากแบบพรวดๆ อย่างที่เมียนมาตอนนี้ก็ยาก ซึ่งถ้าไม่อยู่ก็คืออาจมีคนเสียชีวิต เพราะมันเกินศักยภาพ อย่างที่โอซากา ตอนนี้ไม่มีเตียงไอซียูรับคนไข้อาการหนัก หรือที่เกาหลีใต้ก็มีบางโรงพยาบาลไม่มีเตียงผู้ป่วยหนักแล้ว นี่ขนาดประเทศที่เคยเอาอยู่ ซึ่งการจะตอบว่าจะรับได้อยู่หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนคนไข้.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
หน้าที่ 53 จาก 73