คนเลี้ยงสัตว์อย่าตกใจ "โควิด" ในหมา-แมว หมอแนะวิธีดูแลให้ปลอดภัยจากไวรัส

 

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความ เตือนเจ้าของสัตว์เลี้ยงถึงกรณีที่มีการพบว่าหมา แมวติดโควิดโดยไม่แสดงอาการ ผ่านเฟซบุ๊ก Thiravat Hemachudha   โดยระบุว่า 

โคโรนา และโควิด หมามาคน: เรื่องที่ไม่ต้องตกใจ 
8/11/64

ความสามารถของเชื้อ โควิด-19 จากคนไปสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นที่ทราบกันตั้งแต่เดือนมีนาคม เมษายนของปี 2563 และมีการติดตามและทราบกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่างๆ ตามการติดตามขององค์การอนามัยสัตว์โลก และรายงานการศึกษาจากหลายคณะ ของสัตว์ที่จะมีการติดเชื้อจากมนุษย์ได้ง่าย ยาก ตั้งแต่เสือ แมว หมาและแม้กระทั่งตัวมิ้ง ซึ่งพบมีการติดเชื้อในฟาร์มในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ในปี 2563 และนำไปสู่การฆ่าตัวมิ้งหลาย ล้านตัว ซึ่งในที่สุดก็ระงับไปและเป็นการปฏิบัติที่อาจไม่สมควรโดยที่การแพร่เชื้อจะมิ้งมายังมนุษย์ ไม่มากและไม่เกิดอาการ

สำหรับในสัตว์โดยเฉพาะหมาแมวมีการรายงานตั้งแต่ปี 2563 เรื่อยมา โดนติดจากคน ทั้งนี้ หมา แมวไม่จำเป็นที่จะต้องมีอาการก็ได้และการแพร่มาสู่มนุษย์ ยังไม่มีประสิทธิภาพและในคนที่ติดเชื้อที่กลับมาจากสัตว์ไม่พบเป็นปัญหา ดังที่มีการติดตามตั้งแต่มีการระบาดทั่วโลกตั้งแต่ปีที่แล้วจนกระทั่งถึงปัจจุบัน 

แต่ทั้งนี้ยังคงเป็นการเฝ้าระวังในมนุษย์เป็นสำคัญเมื่อเกิดโรคติดเชื้อ มีความจำเป็นที่ต้องสามารถระบุเชื้อนั้นได้จะทำให้ทราบที่มาของต้นตอ

 

ปรากฏการณ์ของไวรัสโคโรนาจากหมาและไม่ใช่เชื้อโควิด-19 มีตั้งแต่ปี 2017 และ 2018 จากอาสาสมัครที่ไปช่วยภัยพิบัติที่ประเทศเฮติและหลังจากนั้นมีอาการไม่สบาย
ต่อมา มีผู้ป่วยแปดรายที่ประเทศมาเลเซียด้วยปอดบวมโดยเจ็ดรายเป็นเด็กเกิดขึ้นในปี 2017-2018
และพิสูจน์ในปี 2021 ว่าเกิดจากโคโรนาไวรัสของหมา อัลฟาโคโรนา canine enteric coronavirus ซึ่งคล้ายจากแมว หมู feline corona และ swine transmissible gastroenteritis virus และ SARS like coronavirus โดยในหมามี เบต้า betacorona ด้วย ซึ่งคล้าย ในคน คือ OC 43
 

ดังนั้นยังไม่ควรคตกใจเพราะแท้จริง ก็มีไวรัสมากหน้าหลายตาที่ก่อโรคในคนที่เราไม่ทราบชื่ออยู่แล้ว

หน้าที่ก็คือ 
1.รักษาสุขภาพของเราและของสัตว์ และรวมถึงสัตว์เลี้ยง 

2.ถ้าเกิดมีอาการผิดปกติไม่ว่าเป็นอาการทางระบบหายใจ ทางสมอง ทางท้องเสีย ในคนและสัตว์ก็คือหาสาเหตุให้ได้โดยเร่งพัฒนาวิธืการหาเชื้อให้ได้ แม้จะไม่เคยเจอมาก่อน 

3.ความท้าทายก็คือ วิธีนั้นๆ จะต้องประหยัดและราคาถูกในที่สุด

และท้ายสุดประการสำคัญก็คือ ความตื่นตระหนกโดยเกินเหตุจะทำให้เกิดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหมาแมว ซึ่งเป็นเรื่องต้องไม่กระทำ รวมกระทั่งปล่อยหมาแมวออกไปกลายเป็นสัตว์จรจัดและเกิดปัญหาตามติดมาอีกมากมาย

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/hot-social/491724

ย้อนตำนานไวรัสมรณะ โควิดคร่าชีวิต 5 ล้านคน
จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จากทั่วโลกผ่านหลัก 5 ล้านคน มากกว่าการระบาดของไวรัสในศตวรรษที่ 20 และ 21 แบบเทียบไม่ติด ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่โลกนี้ผ่านการระบาดใหญ่ของไวรัสมาแล้วหลายครั้ง

มีเพียงการระบาดของไข้หวัดสเปนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 50 ล้านคนระหว่าง พ.ศ.2461-2462 ที่มากกว่าการเสียชีวิตเพราะโควิด-19 มาก อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าวว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดที่แท้จริงอาจสูงกว่าตัวเลขทางการ 2-3 เท่า สำนักข่าวเอเอฟพีเปรียบเทียบข้อมูลสำคัญไว้ดังนี้

โรคระบาดในศตวรรษที่ 21

การเสียชีวิตของมนุษย์จากโควิด-19 ที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่าSARS-CoV-2 มากกว่าการระบาดของไวรัสอื่นๆ ในศตวรรษที่ 21

ปี 2562 ไวรัส H1N1 หรือไข้หวัดสุกรระบาด ตัวเลขเสียชีวิตทางการที่ 18,500 คน ต่อมาวารสารการแพทย์แลนเซ็ตปรับตัวเลขอยู่ระหว่าง 151,700-575,400 คน

ปี 2545-2546 โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) เกิดขึ้นครั้งแรกในจีนประเทศเดียวกับที่เกิดโควิด แต่มีผู้เสียชีวิตจากโรคซาร์สแค่ 774 คนเท่านั้น

ไข้หวัดใหญ่

จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่ไม่เป็นข่าวหน้าหนึ่ง ทั่วโลกอยู่ระหว่าง 290,000-650,000 คนต่อปีจากผู้ป่วยรุนแรง 5 ล้านคนตามข้อมูลของดับเบิลยูเอชโอ

ในศตวรรษที่ 20 เคยมีไข้หวัดใหญ่ระบาดนอกฤดูกาลสองครั้ง คือไข้หวัดเอเชียระหว่าง พ.ศ.2500-2501 และไข้หวัดฮ่องกง พ.ศ.2511-2513 แต่ละครั้งมีผู้เสียชีวิตราว 1 ล้านคน

โรคระบาดยุคใหม่ที่สร้างความหายนะที่สุดนับถึงวันนี้คือไข้หวัดสเปน ระหว่าง พ.ศ.2461-2462 เพราะเกิดจากไวรัสตัวใหม่ งานวิจัยเผยแพร่ในทศวรรษ 2000 ระบุว่า การระบาดต่อเนื่อง 3 ระลอกคร่าชีวิตผู้คน 20-100 ล้านคน สูงกว่าผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่กว่า 10 ล้านคนอยู่มาก

ไวรัสเขตร้อน

ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับอีโบลา ที่พบครั้งแรกใน พ.ศ.2519การระบาดใหญ่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกระหว่างเดือน ส.ค.2561-มิ.ย.2563 คร่าชีวิตประชาชนเกือบ 2,300 คน

 การระบาดเป็นช่วงๆ ของอีโบลาใน4 ทศวรรษคร่าชีวิตประชาชนไปราว 15,300 คน ทั้งหมดอยู่ในแอฟริกา อัตราการเสียชีวิตจากอีโบลาสูงกว่าโควิด-19 อยู่มาก ที่ราว 50% แต่อีโบลาติดต่อน้อยกว่าโรคจากเชื้อไวรัสอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นเพราะไม่ได้ติดเชื้อผ่านอากาศ แต่เป็นการติดต่อกันด้วยการสัมผัสโดยตรงและสัมผัสใกล้ชิด

ไวรัสเขตร้อนอื่นๆ เช่น ไข้เลือดออกที่คนป่วยหนักอาจถึงแก่ชีวิตได้มีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่า

ไข้เลือดออกที่มียุงเป็นพาหะ มีผู้ป่วยมากขึ้นช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่คร่าชีวิตประชาชนราวปีละไม่กี่พันคน ตัวเลขล่าสุดจากดับเบิลยูเอชโอ ปี 2558 มีผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออก 4,032 คน

เอดส์และตับอักเสบ

ถึงขณะนี้เอดส์ยังคงเป็นโรคระบาดสมัยใหม่ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ตั้งแต่ปี 2523 ทั่วโลกเสียชีวิตจากเอดส์ที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและไม่สามารถรักษาได้เกือบ 36.3 ล้านคน

ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเอดส์มีแต่ยาต้านไวรัส เมื่อใช้สม่ำเสมอสามารถลดการเจ็บป่วยและลดความเสี่ยงแพร่เชื้อได้ การรักษาวิธีนี้ช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากที่เคยสูงสุด 1.7 ล้านคนในปี 2547 มาอยู่ที่ 680,000 คนในปี 2563 ได้

ส่วนไวรัสตับอักเสบ บีและซี ที่ส่วนใหญ่ติดต่อกันทางเลือด ก็มียอดเสียชีวิตสูงเช่นกัน แต่ละปีกว่า 1 ล้านค ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยากจน

 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/world/969286?anf=

 

ไขข้อสงสัย “วัคซีนmRNA" ฉีดให้เด็ก อันตรายหรือไม่ ตัดสินใจอย่างไร
"วัคซีนโควิดสำหรับเด็ก"ทำไมต้องเป็นวัคซีน mRNAหรือ"วัคซีนไฟเซอร์" และควรฉีดกี่เข็ม โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว เรื่องนี้ผู้ปกครองควรรู้อะไรบ้าง ลองอ่านคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

อีกความสงสัยในเรื่องความปลอดภัยของการรับวัคซีนโควิด19 ในกลุ่มเยาวชนวัย 12 - 18 ปี ที่กำลังทยอยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA  อยู่ในขณะนี้

และเพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ปกครองและเยาวชนที่กำลังลังเลในการเข้ารับวัคซีน mRNA เราได้นำเสนอข้อมูลหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ในกลุ่มเยาวชนอายุ 12 - 18 ปี

จากกิจกรรมเสวนาออนไลน์ “One Health in the Virtual Park” ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (THOHUN) ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อแบ่งปันข้อมูลในหัวข้อ “วัคซีน mRNA ในเด็ก ดีจริงไหม อันตรายหรือไม่ ตัดสินใจยังไงดี?”

วัคซีนเด็ก ทำไมต้องวัคซีนไฟเซอร์

ทำไมเยาวชนวัย 12 - 18 ปี จึงต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ชนิด mRNA ของไฟเซอร์ แทนที่จะเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) อย่างซิโนแวค หรือวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (recombinant viral vector vaccine) อย่างแอสตร้าเซนเนก้า เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้สูงอายุ

อ่านข่าว : ผบ.ทร. จัดกำลังพล "บิ๊กคลีนนิ่ง" โรงเรียนในพื้นที่รับผิดชอบรับเปิดเทอม

 

ไขข้อสงสัย “วัคซีนmRNA" ฉีดให้เด็ก อันตรายหรือไม่ ตัดสินใจอย่างไร

(นักวิชาการยืนยัน มีข้อมูลที่ทำให้ใช้วัคซีน mRNA ในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ส่วนการฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ ในเด็ก ยังต้องรอ)

ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ กุมารแพทย์จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “วัคซีน mRNA ได้มีการใช้ฉีดให้กลุ่มเด็กวัยรุ่นในทุกทวีปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกา ละตินอเมริกา ยุโรป หรือในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์แล้ว

ดังนั้นเราจะพบว่ามีข้อมูลมากเพียงพอต่อการตัดสินใจให้ใช้วัคซีน mRNA ในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ส่วนการฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ ในเด็ก ยังต้องรอต้องมีผลวิจัยและมีข้อมูลที่ชัดเจนมารองรับเสียก่อน”

โดยขณะนี้ ในประเทศไทยมีเพียงวัคซีนชนิด mRNA เท่านั้น ที่ได้รับอนุมัติจาก อย. ให้สามารถใช้ในเด็กอายุ 12-17 ปีได้ และสาเหตุที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด 19 ชนิดอื่น ๆ  นอกจากวัคซีนชนิด mRNA ให้ใช้กับเด็กอายุระหว่าง 12 - 17 ปี เป็นเพราะว่ายังไม่มีผลการวิจัย และหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนมากเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์ในกลุ่มเด็กวัยรุ่นในสหรัฐอเมริกา พบว่าเด็กที่ต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการของโรคโควิด 19 รุนแรง ล้วนเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าการรับวัคซีน mRNA ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 และการเกิดอาการป่วยรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้ด้วย

วัคซีน mRNA กับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ

แม้จะมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่าง ๆ ออกมายืนยันว่าวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้มากกว่าวัคซีนชนิดอื่น ๆ

แต่ก็มีข้อมูลหลายกระแสเกี่ยวกับอาการข้างเคียงรุนแรงของผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ โดยมีบางรายที่พบว่าเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กและผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย เกิดความลังเลที่จะพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีน mRNA ที่ถูกจัดสรรให้

ไขข้อสงสัย “วัคซีนmRNA" ฉีดให้เด็ก อันตรายหรือไม่ ตัดสินใจอย่างไร

ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 เองก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออักเสบได้

โดยมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 450 ใน 1,000,000 ราย ซึ่งนับเป็นอัตราที่มากกว่าการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่สูงกว่า ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน mRNA ถึง 9 เท่า

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดจากวัคซีน mRNA สามารถสังเกตได้ โดยมักจะเกิดหลังจากที่รับวัคซีนโดสที่สองไปแล้ว 3 - 7 วัน และมักมีอาการในเพศชายมากกว่า

แม้จะมีโอกาสเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นจริง แต่ อ.นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์และที่ปรึกษาด้านโรคหัวใจ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า "ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่หลังจากการรับวัคซีน mRNA นี้มีความรุนแรงน้อยกว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อโควิด 19

และมีอาการที่แตกต่างจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยจะมีอาการเจ็บหน้าอกและคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ และ 95 % ของผู้ป่วยจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีอาการแล้วไม่รุนแรง หรือสามารถหายได้เอง”

แพทย์ทั้งสองเห็นสอดคล้องกันว่า ประโยชน์ของการรับวัคซีน mRNA ในกลุ่มเด็กอายุ 12 - 18 ปี ในเชิงการป้องกันการติดเชื้อ ลดอาการรุนแรงของโรค

และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 นั้นถือว่ามีมากกว่าอัตราการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง และเด็กที่กำลังจะเข้ารับวัคซีนควรพิจารณาให้รอบคอบ

วัคซีนในเด็กกับความปลอดภัย

สำหรับเยาวชนอายุ 12 - 18 ปีที่จะตัดสินใจรับวัคซีน mRNA ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมีคำแนะนำว่า เด็กชายและหญิงอายุ 16 - 18 ปี ทุกราย รวมถึงเด็กชายและเด็กหญิงอายุ 12-16 ปี ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคโควิด 19 รุนแรงอาจถึงเสียชีวิต ควรได้รับวัคซีนทั้ง 2 เข็ม

สำหรับเด็กหญิงอายุ 12 - 16 ปี ควรได้รับวัคซีนทั้ง 2 เข็ม ส่วนเด็กชายอายุ 12 - 16 ปีให้ฉีดเพียงเข็มเดียวก่อน แล้วให้พิจารณาตามอาการว่าจะฉีดเข็มที่ 2 หรือไม่ เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่พบความเสี่ยงเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมากที่สุด

ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค และผู้เชี่ยวชาญในคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ระบุว่า เด็กชายอายุ 12 - 16 ปี สามารถฉีดวัคซีน mRNA ทั้ง 2 เข็มได้

ศ.พญ.ธันยวีร์ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการฉีดวัคซีน mRNA ในเด็กไว้ว่า “ในประเทศไทย เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เพราะจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้สูงกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ป่วยหรือมีโรคประจำตัว ควรรับวัคซีน 2 เข็ม เนื่องจากหากเด็กกลุ่มนี้ หากติดเชื้อโควิด 19 จะมีโอกาสเข้าโรงพยาบาลและมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กปกติทั่วไป เราจึงแนะนำให้เด็กกลุ่มนี้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2”

 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/health/969119?anf=

เป็นปลื้ม "WHO"  ชื่นชม ไทยควบคุม "วัณโรค" โดดเด่น-ชัดเจน

 

"WHO" เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่มชมไทย ควบคุม "วัณโรค" โดดเด่นและชัดเจน ส่งผลให้หลุดจากกลุ่มประเทศที่มีภาระวัณโรคดื้อยาหลายชนิดสูง

"WHO" เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่มชมไทย ควบคุม "วัณโรค" โดดเด่นและชัดเจน ส่งผลให้หลุดจากกลุ่มประเทศที่มีภาระวัณโรคดื้อยาหลายชนิดสูง

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการ  กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายเเพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เเละแพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค เข้าร่วมประชุมทางไกลในการประชุมผู้นำระดับสูง ด้านการตอบโต้วัณโรคระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (High-Level Meeting for Renewed TB Response in the WHO South-East Asia Region) และประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรวมพลังในการยุติวัณโรคในช่วงการระบาดของ    โรคโควิด 19 
 

 

นายเเพทย์โอภาส กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าว   เเถลงการณ์ในนามผู้เเทนของประเทศไทย โดยเน้นถึงสามประเด็นหลัก ได้แก่ ประการที่ 1 คือ การค้นหา   เชิงรุกเเละเพิ่มการเข้าถึงการรักษาในประชากรกลุ่มเสี่ยง อาทิ แรงงานข้ามชาติ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ต้องขัง ประการที่ 2 คือ ให้ความสำคัญกับการตรวจจับเเละรักษาวัณโรคดื้อยา

โดยประกาศให้วัณโรคเป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่สถานพยาบาลทุกแห่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญและดำเนินการตามแนวทางการรักษา เเละประการที่ 3 คือ ขยายขอบเขตการวินิจฉัยและการรักษาการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค อาทิ เด็กเเละผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อให้เข้ารับการรักษาได้โดยเร็วหากมีการติดเชื้อ
 

ด้าน ดร.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ (Dr.Poonam Khetrapal Singh) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO-SEARO) ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยเเละเนปาล

"ที่มีการควบคุมวัณโรคที่โดดเด่น มีระบบเเละแผนงานที่ชัดเจนจนทำให้หลุดออกจากกลุ่มประเทศที่มีภาระวัณโรคดื้อยาหลายชนิดสูงได้ เเละได้กล่าวเป็นกำลังใจให้ทุกหน่วยงานทำงานอย่างปลอดภัย ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการยุติวัณโรคภายในปี 2573"

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/hot-social/490235

2021-11-02_10-01-23.jpg
.
2021-11-02_10-01-55.jpg

2021-11-02_10-02-38.jpg


🇯🇵 โดยยานี้ได้รับการอนุมัติในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมิถุนายน 2021 ที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ว่าเนื้องอกหดตัวหลังจากผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส แต่ไม่มีใครสามารถพัฒนายารักษามะเร็งได้เป็นเวลาหลายปี
.
🇯🇵 หลายปีต่อมา ศัลยแพทย์ระบบประสาทของสหรัฐได้ปูทางสำหรับการผลิตยาดังกล่าวสำหรับเนื้องอกในสมอง และศัลยแพทย์ทางประสาทชาวญี่ปุ่น นาย โทโมคิ โทโดะ ที่เห็นเอกสารของเขาได้ทำการปรับปรุงเพิ่มเติมจนทำเป็นยาได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกของโลก
.
🇯🇵 โดยเซลล์สีแดงคือเซลล์มะเร็งในสมอง ที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ไวรัสจะเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์มะเร็งจนทำให้เซลล์ระเบิดและตายไป
.
🇯🇵 หลักการของ Oncolytic virotherapy คือ การใช้ Oncolytic virus ใส่เข้าไปในตัวผู้ป่วย จากนั้น Oncolytic virus จะเข้าไปในเซลล์โดยเซลล์มะเร็งจะมีผลให้เกิด virus replicates จากนั้นจึงเกิดเซลล์แตก โดยกลไกนี้จะเกิดในเซลล์มะเร็งเท่านั้น

 
 

รายงานรอยเตอร์และแชนเนลนิวส์เอเชียเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2564 กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์รายงานในวันเดียวกันว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ของวันพุธนับถึงช่วงเที่ยงวันพฤหัสบดี มีถึง 5,324 คน เสียชีวิตเพิ่ม 10 คน ทำให้จำนวนรวมผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 184,419 คน เสียชีวิตรวม 349 คน

จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากจากตัวเลขรายวันของวันอังคารที่มี 3,277 คน และสถิติสูงสุดเดิมของวันที่ 19 ตุลาคม ซึ่งอยู่ที่ 3,994 คน

คำแถลงของกระทรวงกล่าวว่า จำนวนที่ "เพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ" เมื่อวันพุธ ส่วนใหญ่เป็นเพราะการตรวจของห้องแล็บให้ผลบวกออกมาจำนวนมากภายในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงของบ่ายวันอังคาร กระทรวงกำลังตรวจสอบการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกตินี้ และกำลังติดตามแนวโน้มดังกล่าวอย่างใกล้ชิดในช่วง 2-3 วันข้างหน้า

ผู้ติดเชื้อเกือบ 98.7% ของผู้ติดเชื้อ 90,203 คนช่วงเดือนที่ผ่านมาเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย โดยอีกราว 0.2% เสียชีวิต และอีก 0.1% กำลังถูกเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิดในแผนกผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) หรือมีอาการวิกฤติและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

แม้ว่าสิงคโปร์จะมีประชากรฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้วถึง 84% และ 14% ฉีดโดสบูสเตอร์แล้ว แต่จำนวนผู้ป่วยนอนไอซียูถึงวันพุธสูงถึง 79.8% โดยผู้ป่วยโควิด-19 คิดเป็นราวครึ่งหนึ่งหรือ 142 เตียง และยังเหลือเตียงในแผนกไอซียูอีกราว 72 เตียงเท่านั้น กระทรวงกล่าวว่า กำลังจัดเตรียมเตียงไอซียูเพิ่มเติม โดยสามารถจัดหาเตียงเพิ่ม 100 เตียงได้ในเวลากระชั้นชิด

สัปดาห์ที่ผ่านมา สิงคโปร์ขยายข้อจำกัดทางสังคมออกไปอีกราว 1 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อและลดแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ เช่นการจำกัดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและอนุญาตให้ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารนอกบ้านได้ไม่เกิน 2 คน.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/news-update/abroad-news/13973/

หมอยง แสดงความเห็นเรื่อง โควิด 19 วัคซีน การให้วัคซีนสลับเชื้อตาย กับ mRNA

2021-10-26_09-28-10.jpg

24 ต.ค. 2564 – ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นเรื่อง โควิด 19 วัคซีน การให้วัคซีนสลับเชื้อตาย กับ mRNA โดยระบุว่า

วัคซีนเชื้อตาย เป็นตัว prime ที่ดี ทำให้ร่างกายเราเหมือนกับรับรู้ว่าเคยติดเชื้อเพราะได้รับ แอนติเจนทั้งตัวไวรัส เมื่อมีการกระตุ้นด้วย ไวรัสเวกเตอร์หรือ mRNA วัคซีน จะมีผลที่เรียกว่าปฏิกิริยาการกระตุ้น หรือตามประสาวัคซีนเรียกว่า booster effect

ดังที่ทราบกันว่า เมื่อให้วัคซีนเชื้อตาย เริ่มต้นแล้วให้ไวรัสเวกเตอร์ ที่ใช้อยู่ขณะนี้ กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดี และก็เช่นเดียวกัน ถ้าให้วัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม แล้วกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไวรัสเวกเตอร์ ก็จะได้ปฏิกิริยาภูมิต้านทานร่างกายตอบสนองที่สูงมาก

จากการศึกษาในสถานการณ์จริง ที่มีการฉีดวัคซีนสลับโดยให้เข็มแรก เป็นวัคซีนเชื้อตาย (sinovac) แล้วตามด้วยเข็มที่ 2 เป็น mRNA (pfizer) ปฏิกิริยาการตอบสนองก็เช่นเดียวกัน กับการให้วัคซีนสลับ เชื้อตายกับไวรัสเวกเตอร์ ดังแสดงในรูป

การศึกษาทางคลินิก กำลังดำเนินการต่อไปให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน

ในอนาคตถ้าวัคซีนเชื้อตายสามารถใช้ในเด็กในประเทศไทยได้ วิธีการให้สลับโดยเริ่มต้นจากวัคซีนเชื้อตายเข็มแรก แล้วตามด้วย mRNA ก็จะเป็นวิธีการหนึ่งในการหลีกเลี่ยงการให้วัคซีน mRNA เข็มที่ 2 ในเด็ก เพื่อไม่ให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

สิ่งที่ปรากฏชัดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าปฏิกิริยาการตอบสนอง หรือที่เรียกว่า booster effect จะเกิดได้ดีระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ถ้ายิ่งห่างก็จะมีปฏิกิริยากระตุ้นภูมิได้สูงมาก แต่การเว้นระยะห่างหลังฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียงเข็มเดียว จะเกิดการติดเชื้อเสียก่อน

จากข้อมูลในรูปเราเห็นว่าระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ถ้าห่างถึง 3 เดือน จะกระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงมาก แต่ไม่ควรทำเพราะจะเกิดการติดเชื้อระหว่างรอเข็ม 2 ได้

การศึกษา booster effect เห็นได้ชัดจากการศึกษาตั้งแต่ไวรัสตับอักเสบ บี การให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี 3 เข็ม ถ้าห่างกันระยะ 1 เดือน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะไม่แตกต่างกับการให้ 2 เข็มที่ห่างกัน 1 เดือน แต่ถ้าให้เข็ม 3 ห่างออกไปที่ 6 เดือน (0, 1 และ 6) หรือ 12 เดือน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังเข็ม 3 จะมีปฏิกิริยาการกระตุ้นที่สูง (booster effect)

ดังนั้นกฎเกณฑ์ในการให้วัคซีน ถ้าลืม หรือยังไม่พร้อมในการให้ และเลื่อนออกไป สามารถให้ต่อได้เลย โดยไม่ต้องมีการเริ่มต้นใหม่

 
 ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/news/10566/
 
ถอดบทเรียนโควิดสิงคโปร์ก่อน“เปิดประเทศ”
 
ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศร่ำรวยอย่างสิงคโปร์ ทำให้หลายประเทศที่กำลังต่อกรกับไวรัสร้ายต้องอิจฉา แต่จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่พุ่งทุบสถิติ กลายเป็นเครื่องเตือนใจว่าความเสี่ยงอาจยังรออยู่ข้างหน้า

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แม้สิงคโปร์บังคับสวมหน้ากาก ควบคุมการพบปะกันของประชาชนอย่างเข้มงวด และฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นมาเดือนกว่าแล้ว แต่การติดเชื้อจากการระบาดรอบล่าสุดของสายพันธุ์เดลตาทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 280 คน จาก 55 คนเมื่อต้นเดือน ก.ย.

อเล็กซ์ คุก ผู้เชี่ยวชาญด้านตัวแบบโรค จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (เอ็นยูเอส) เผยว่า สิงคโปร์อาจเผชิญคลื่นการระบาดอีก 2-3 ระลอก หลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมมากขึ้น

“กว่าจะถึงตอนนั้น การเสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนกว่าผู้สูงวัยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหลายคนฉีดวัคซีนแล้ว หรือมีคนฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้น” คุกกล่าวพร้อมคาดว่า การติดเชื้อระลอกปัจจุบันจะเบาบางลงเมื่อประชากรมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยจนรักษาตัวที่บ้านเองได้

 
 

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศทีใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ บังคับใช้มาตรการบางประการเข้มงวดที่สุดในโลกเพื่อระงับการติดเชื้อและเสียชีวิตให้ต่ำกว่าที่อื่นมาก นั่นเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์รอให้ประชากรส่วนใหญ่จากทั้งหมด 5.5 ล้านคนได้รับวัคซีนครบแล้วจึงค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการควบคุมทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น

ตอนนี้สิงคโปร์ค่อยๆ เปิดประเทศขยายการเดินทางไม่ต้องกักตัวให้ 11 ประเทศ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็เริ่มทำแบบเดียวกัน ขณะที่จีนยังไม่เอาด้วย

แต่คำถามที่ทางการต้องเผชิญคือจะป้องกันไม่ให้การติดเชื้อพุ่งในกลุ่มผู้สูงวัยและผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้อย่างไร โดยเฉพาะหลังจากสายพันธุ์เดลตาที่เข้ามาในสิงคโปร์ปีนี้ กลายเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลก

แม้ว่าประชาชนในสิงคโปร์ 84% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ส่วนใหญ่เป็นไฟเซอร์/ไบออนเทคหรือไม่ก็โมเดอร์นา แต่วัคซีนก็อาจปกป้องกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่มไม่ได้

การเสียชีวิตตลอดเดือนก่อน 30% เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ส่วนใหญ่อายุเกิน 60 ปีที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อน สอดคล้องกับผลการศึกษาที่ชี้ว่า วัคซีนปกป้องคนชราและป่วยหนักได้น้อยลง

หากพิจารณาค่าเฉลี่ยการเสียชีวิตรายวันต่อประชากร 1 ล้านคนในรอบ 7 วัน สิงคโปร์อยู่ที่ 1.77 สูงกว่าเพื่อนร่วมภูมิภาคอย่างญี่ปุ่นที่ 0.14 เกาหลีใต้ 0.28 และออสเตรเลีย 0.58 แต่ยังตามหลังสหรัฐที่ 4.96 และอังกฤษ 1.92 และถ้าเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมกับสัดส่วนประชากร อัตราของสิงคโปร์ยังต่ำสุดของโลกที่ 47.5 ต่อประชากรล้านคน เทียบกับบราซิลอยู่ที่ 2,825.7 สหรัฐอยู่ที่ 2,202.4

สายพันธุ์เดลตาเปลี่ยนทุกสิ่ง

หลังจากผ่อนคลายการควบคุมในเดือน ส.ค. การระบาดระลอกล่าสุดของสิงคโปร์ทำให้การติดเชื้อต่อวันในสัปดาห์นี้สูงถึงเกือบ 4,000 คน หรือสูงเกือบสามเท่าจากจุดสูงสุดเมื่อปีก่อน

ช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่โควิดระบาด การควบคุมที่เข้มงวดยับยั้งการติดเชื้อได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า

ประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เดลตาดูเหมือนจะลดลง แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงหมายความว่าผู้ติดเชื้อเกือบทุกรายไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย

“ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนที่ไม่ฉีดวัคซีนเพียงไม่กี่คน ความจริงก็คือเมื่อโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น ผู้คนก็จะติดโควิดกันมากขึ้น”เดล ฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติกล่าว 

สัปดาห์นี้ทางการประกาศว่า สิงคโปร์จะขยายมาตรการเว้นระยะบางอย่างออกไปอีกหนึ่งเดือน เพื่อป้องกันระบบสาธารณสุขไม่ให้ตึงตัวเกินไป ตอนนี้คนอายุเกิน 12 ปีแทบไม่เหลือใครที่ยังไม่ฉีดวัคซีน รัฐบาลจึงเน้นที่การฉีดเข็มกระตุ้น ประชาชนฉีดไปกว่า 600,000 คนแล้ว โดยรัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับผู้สูงวัย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ที่อายุเกิน 30 ปี

มาตรการที่ไม่ได้บังคับฉีด เช่น ห้ามคนไม่ฉีดวัคซีนเข้าห้างสรรพสินค้าหรือรับประทานอาหารนอกบ้านช่วยดันตัวเลขคนฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อสัปดาห์ก่อนได้ถึง 17,000 คน เพิ่มขึ้น 54% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

“ผมไม่คิดว่าการผ่อนคลายข้อจำกัดจะส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ ปัจจัยสำคัญยังอยู่ที่การเข้าถึงคนชราที่ยังไม่ฉีดวัคซีนและป้องกันกลุ่มเสี่ยง” พอล ทัมบยาห์ ประธานสมาคมจุลชีววิทยาคลินิกและการติดเชื้อเอเชียแปซิฟิกให้ความเห็น

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/world/967514

 2021-10-26_09-25-38.jpg

นายกฯลงนามประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว 'กทม.' - 16 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว มีผลตั้งแต่ 5 ทุ่ม 31 ต.ค. ห้ามจัดกิจกรรมเสี่ยงแพร่โควิด ไม่ให้รวมกลุ่มเกิน 500 คน

22 ต.ค. 2564 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 23.30 น. ของวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 36 โดยระบุว่า ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นั้น

โดยที่การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวนในระดับคงที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง และผู้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนและขับเคลื่อนแผนการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่ประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งปัจจุบันอัตราการได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศ

รัฐบาลจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการฟื้นฟูประเทศเพื่อประโยชน์ด้านการใช้ชีวิตความเป็นอยู่และด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชน ในเบื้องต้นจึงเห็นควรให้มีการเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นปัจจัยเอื้อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศได้มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้

1.การกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้มีการกำหนดเขตพื้นที่นำร่อง (Sandbox) ด้านการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อการดำเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กับการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่แบบบูรณาการ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสม ความพร้อม และบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อการบังคับใช้ให้เหมาะสมและเป็นการเฉพาะจากเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์

2.การกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวให้สถานที่ กิจการ หรือการดำเนินกิจกรรมในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว สามารถเปิดดำเนินการได้ ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด เช่น มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร(Covid Free Setting) รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ

3.การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน ให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวซึ่งเดิมเคยกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากการจำแนกจังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ แต่ได้มีคำสั่งกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวตามข้อกำหนดนี้ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่เวลา 23.00 นาฬิกา ของวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564

4.การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 500 คนในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว

5.การเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ในระยะเริ่มแรกของการดำเนินการเปิดเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวยังคงปิดดำเนินการไว้ก่อนในช่วงเวลานี้ โดยให้หน่วยงานและผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อการผ่อนคลายมาตรการตามที่ได้ประกาศไว้แล้วในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ต่อไปตามแผนและกรอบเวลาที่รัฐบาลจะประกาศกำหนด

6.การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยภายในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวและการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) เพื่อตรวจสอบ กลั่นกรอง และเสนอนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาปรับระดับความเข้มข้นหรือการผ่อนคลายของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในระดับท้องที่หรือเขตอำเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัด ในความรับผิดชอบของตนได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19ในห้วงเวลาต่าง ๆ

ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยสั่งปีด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของสถานที่ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19

7.การกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม เพื่อเอื้อต่อการเดินทางเข้าราชอาณาจักรของบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศต้นทางซึ่งได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และได้มีการประสานความร่วมมือเพื่อดำเนินการตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล

8.มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การกำหนดมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในประเภทซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุข ตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล ตามที่ได้เพิ่มเติมโดยข้อกำหนดนี้ เช่น การกำหนดประเทศหรือพื้นที่ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศอนุมัติ การมีหนังสือรับรองหรือหลักฐานการลงทะเบียนการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบตามเกณฑ์ การตรวจยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 การมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลตามเกณฑ์ที่กำหนด และหลักฐานการชำระค่าที่พัก ให้เป็นไปตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัด แนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 18/2564 เรื่อง พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวนั้น ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ 2.กระบี่ 3.ชลบุรี (เฉพาะ อ.บางละมุง เมืองพัทยา ศรีราชา เกาะสีชัง และสัตหีบ เฉพาะ ต.นาจอมเทียน และ ต.บางเสร่) 4.เชียงใหม่ (เฉพาะ อ.เมืองเชียงใหม่ ดอยเต่า แม่ริม และแม่แตง) 5.ตราด (เฉพาะ อ.เกาะช้าง) 6.บุรีรัมย์ (เฉพาะ อ.บุรีรัมย์) 7.ประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะ ต.หัวหิน และ ต.หนองแก)

8.พังงา 9.เพชรบุรี (เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ) 10.ภูเก็ต 11.ระนอง (เฉพาะเกาะพยาม) 12.ระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด) 13.เลย (เฉพาะ อ.เชียงคาน) 14.สมุทรปราการ (เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ) 15.สุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า) 16.หนองคาย (เฉพาะ อ.เมืองหนองคาย สังคม ศรีเชียงใหม่ และท่าบ่อ) และ 17.อุดรธานี (เฉพาะ อ.เมืองอุดรธานี บ้านดุง กุมภวาปี นายูง หนองหาน และประจักษ์ศิลปาคม).

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/news/9132/