ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดโยงตลาดสด-ตลาดนัด จังหวัดใดเจอเยอะสุด คนขาย คนซื้อใครติดเยอะกว่า

ละเอียดยิบ เปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 โยงตลาดสด-ตลาดนัด จังหวัดใดเจอเยอะสุด คนขาย คนซื้อใครติดเยอะกว่า ซึ่งเป็นข้อมูลสถานการณ์ระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 - 8 กุมภาพันธ์ 2564

 

สรุปข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีประวัติเชื่อมโยงกับตลาด ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 - 8 กุมภาพันธ์ 2564 โดยพบผู้ติดเชื้อโควิดเชื่อมโยงกับตลาดจำนวน 1,815 ราย กระจายใน 36 จังหวัด

 

สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เชื่อมโยงกับตลาดจำนวน 1,815 ราย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อจำแนกตามประเภทการสัมผัส ดังนี้

 

- ผู้ขาย ร้อยละ 90.19%

- ผู้ซื้อ ร้อยละ 9.81%

 

แบ่งเป็นในตลาดสดถึง 96.86% และตลาดนัดอยู่ที่ 3.14% 

 

จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับแรกจำแนกตามประเภทตลาดและประเภทผู้ป่วย

 

1.สมุทรสาคร ติดเชื้อจากตลาดสด 1,496 ราย ติดเชื้อจากตลาดนัด 46 ราย แบ่งเป็นผู้ขาย 1,456 ราย ผู้ซื้อ 86 ราย

 

2.กทม. ติดเชื้อจากตลาดสด 71 ราย ติดเชื้อจากตลาดนัด 6 ราย แบ่งเป็นผู้ขาย 42 ราย ผู้ซื้อ 35 ราย

3.นนทบุรี ติดเชื้อจากตลาดสด 51 ราย ติดเชื้อจากตลาดนัด 1 ราย แบ่งเป็นผู้ขาย 37 ราย ผู้ซื้อ 15 ราย

 

4.ปทุมธานี ติดเชื้อจากตลาดสด 26 ราย ติดเชื้อจากตลาดนัด 1 ราย แบ่งเป็นผู้ขาย 17 ราย ผู้ซื้อ 10 ราย

 

5.สมุทรปราการ ติดเชื้อจากตลาดสด 23 ราย ติดเชื้อจากตลาดนัด 1 ราย แบ่งเป็นผู้ขาย 16 ราย ผู้ซื้อ 8 ราย

 

ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อเป็นชาวสัญชาติเมียนมาร้อยละ 88.25% ส่วนใหญ่เป็นแผงขายของสด และมีลูกจ้างเมียนมา

 

ส่วนจังหวัดรองลงมา 6-10 ประกอบด้วย เพชรบุรี 15 ราย , ฉะเชิงเทรา 8 ราย , ชลบุรี-สมุทรสงคราม 7 ราย , นครปฐม 6 ราย , ชัยภูมิ-นครราชสีมา-ราชบุรี 4 ราย

 

โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีประวัติเชื่อมโยงกับตลาด มีดังต่อไปนี้ 

 

- ไม่มีการดำเนินการ DMHTT อย่างเคร่งครัด คือ แผงขายแออัดไม่มีระยะห่าง , ไม่สวมหน้ากากอนามัย , สวมหน้ากากอนามัยเป็นบางครั้ง ผู้ขายตะโกนพูดคุยเสียงดัง , ไม่มีการวัดอุณหภูมิก่อนเข้าตลาด , แม่ค้าไม่ค่อยล้างมือ 

 

- ขาดความสม่ำเสมอในการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม เช่น ลูกบิดประตู เป็นต้น 

 

- ไม่มีที่กั้นระหว่างร้านค้าด้วยกันเอง (ติดเชื้อแผงข้างๆกัน) ระหว่างลูกค้า

- ตลาดนัด : มีการหมุนเวียนของแม่ค้า กระจายไปหลายตลาด

 

- ตลาดสด : แม่ค้าเดินทางไปซื้อของจากหลายแหล่ง 

 

ข้อเสนอแนะ 

 

1.ทุกตลาดต้องดำเนินมาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องการใส่หน้ากากฯ อย่างถูกต้องตลอดเวลาในกลุ่มผู้ขาย ลูกค้า และลูกจ้างแรงงานต่างด้าว  

 

2.ถ้าไม่สามารถเว้นระยะห่างแผงขายได้ ควรมีฉากกั้น โดยเฉพาะแผงขายของสด

 

3.งดการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างด้าวอย่างเคร่งครัด 

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/news/regional/457954?adz=

 


ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ในวันพุธ (31 มี.ค.) ออกคำสั่งให้ฝรั่งเศสเข้าสู่ล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นรอบที่ 3 และเผยว่าโรงเรียนต่างๆ ต้องปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ในขณะที่เขาพยายามรับมือกับการแพร่ระบาดระลอก 3 ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่เสี่ยงทำให้คนไข้ล้นโรงพยาบาล

ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตขยับเข้าใกล้ 100,000 คน ห้องไอซียูตามภูมิภาคต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดกำลังเข้าสู่จุดแตกหัก และการแจกจ่ายวัคซีนล่าช้ากว่าที่วางแผนไว้ ทำให้ มาครง ถูกบีบให้ต้องละทิ้งเป้าหมายเดิมที่หวังเปิดประเทศต่อไปเพื่อปกป้องเศรษฐกิจ “เราจะสูญเสียการควบคุม หากเราไม่ดำเนินการในตอนนี้” ประธานาธิบดีแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ

คำแถลงของเขานั่นหมายความว่ามาตรการจำกัดความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่บังคับใช้ในกรุงปารีส บางแคว้นทางภาคเหนือและทางใต้ของประเทศ มาราวๆ 1 สัปดาห์ เวลานี้จะถูกขยายบังคับใช้ทั่วประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ (3 เม.ย.) เป็นต้นไป

มาครงบอกด้วยว่าโรงเรียนต่างๆ จะปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ หลังสุดสัปดาห์นี้ กลับลำคำสัญญาที่เคยประกาศว่าจะปกป้องการศึกษาจากโรคระบาดใหญ่

ประธานาธิบดีมาครง วัย 43 ปี พยายามหลีกเลี่ยงล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นรอบที่ 3 นับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2021 เสี่ยงเดิมพันว่าหากเขาสามารถนำพาฝรั่งเศสหลุดพ้นจากโรคระบาดใหญ่โดยไม่ต้องล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง มันจะเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการดำดิ่งอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ทางเลือกของอดีตนายธนาคารเพื่อการลงทุนรายนี้แคบลง เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าเดิม ทั่วฝรั่งเศสและพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรป

เมื่อผ่านพ้นสุดสัปดาห์นี้ เด็กนักเรียนจะเข้าสู่การเรียนทางไกลเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และหลังจากนั้นสถาบันการศึกษาจะปิดเทอมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งปีนี้โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศจะปิดเร็วกว่ากำหนด


จากนั้นนักเรียนระดับอนุบาลและประถมจะกลับเข้าสู่ชั้นเรียน แต่นักเรียนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายจะยังคงต้องเรียนทางไกลต่ออีก 1 สัปดาห์ “นี่คือทางออกที่ดีที่สุดเพื่อชะลอไวรัส” มาครงกล่าว พร้อมระบุว่าฝรั่งเศสประสบความสำเร็จที่สามารถคงการเปิดการเรียนการสอนระหว่างโรคระบาดใหญ่ได้นานกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายชาติ

จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นเท่าตัวนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เฉลี่ยแล้วเกือบ 40,000 คนต่อวัน ส่วนจำนวนคนไข้โควิด-19 ที่ต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียูทะลุ 5,000 คนแล้ว เกินกว่าระดับสูงสุดครั้งที่ประเทศแห่งนี้เข้าสู่ล็อกดาวน์เป็นเวลา 6 สัปดาห์เมื่อช่วงปลายปีก่อน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

มาครง ระบุว่าจะมีการเพิ่มเตียงคนไข้ในห้องอีซียูเป็น 10,000 เตียง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

คำสั่งล็อกดาวน์รอบใหม่เสี่ยงชะลออัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส หลังจากปีที่แล้วดำดิ่งอย่างหนัก โดยมาตรการดังกล่าวจะบังคับปิดธุรกิจต่างๆ กว่า 150,000 แห่งเป็นการชั่วคราว ก่อความเสียหายคิดเป็นมูลค่าราวๆ 11,000 ล้านยูโรต่อเดือน จากการประเมินของกระทรวงการคลัง

มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ของฝรั่งเศสตอกย้ำถึงความเสียหายมหาศาลที่ต้องชดใช้ อันสืบเนื่องจากการแจกจ่ายวัคซีนต่อต้านโควิด-19 ที่ล่าช้าของสหภาพยุโรป

ประธานาธิบดีมาครงระบุว่า จำเป็นต้องเร่งมือโครงการวัคซีนให้เร็วขึ้น หลังจากประสบปัญหาติดขัดเกี่ยวกับระเบียบราชการและอุปทานขาดแคลน โดยจนถึงตอนนี้หลังผ่านไป 3 เดือน ฝรั่งเศสเพิ่งฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนไปได้เพียงแค่ 12% เท่านั้น

ในความพยายามเดินหน้าโครงการให้เร็วขึ้น มาครงบอกว่าประชาชนในช่วงวัย 60 ปีเศษๆ จะมีสิทธิ์เข้ารับการฉีดวัคซีนตั้งแต่กลางเดือนเมษายนเป็นต้นไป และในอีก 1 เดือนหลังจากนั้นจะเป็นคิวของกลุ่มคนในวัย 50 ปีเศษๆ พร้อมเน้นย้ำว่ายังคงวางเป้าหมายฉีคซีนแก่ประชากรวัยผู้ใหญ่ให้ได้ 30 ล้านคนในช่วงกลางเดือนมิถุนายน

มาครงบอกว่ามาตรการล็อกดาวน์เดือนเมษายน และการยกระดับความรวดเร็วของโครงการฉีดวัคซีนจะเปิดทางให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาเปิดอย่างช้าๆ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยเริ่มจากพิพิธภัณฑ์และที่นั่งกลางแจ้งของบาร์และร้านอาหารต่างๆ ภายใต้กฎระเบียบอันเข้มงวด

(ที่มา : รอยเตอร์)
 
 

 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า...

โควิด-19 วัคซีน องค์การอนามัยโลก ให้คำแนะนำในการฉีดวัคซีน “สูตรไขว้”

องค์การอนามัยโลก ได้ลงพิมพ์ Interim recommendations for heterologous COVID-19 vaccine schedules ใน Interim guidance วันที่ 16 December 2021

ที่ผ่านมาในคนไทยด้วยกันเอง มีการโต้แย้งกันมาก
ทั้งที่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เป็นที่แน่ชัด และกำลังลงพิมพ์ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า อีกหลายบทความ คณะกรรมการพิจารณางานวิจัย ให้แก้ไขบทความน้อยมาก และเชื่อว่าจะได้ลงพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียง ตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยทีมวิจัยของเราได้ทำวิจัยอย่างได้มาตรฐาน

จะเห็นว่าองค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำ ในการใช้วัคซีน “สูตรไขว้” ของไทย โดยใช้ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นเอกสารอ้างอิง และ ข้อมูลที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ใช้วัคซีนเชื้อตาย สลับกับ virus Vector หรือ mRNA เพื่อใช้เป็นแนวทาง ให้แต่ละประเทศปรับความเหมาะสมในการให้วัคซีน ตามสภาวะของวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศนั้นๆ อยากอยู่ในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการใช้วัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม สลับด้วยการกระตุ้นด้วย ไวรัส Vector หรือ mRNA อย่างที่เราใช้กันในประเทศไทย

กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกัน โรคโควิด 19แล้ว ที่ใช้สูตรสลับ SV-AZ ประสิทธิภาพเท่าเทียมกับ AZ-AZ
หลักฐานการศึกษาวิจัย องค์การอนามัยโลกได้เอาไปใช้อ้างอิง และมีการเผยแพร่ไปทั่วโลก จะเห็นว่ามีข้อมูลการศึกษาออกจากประเทศไทย โดยเฉพาะในทีมที่เราทำการศึกษากันมาอย่างต่อเนื่อง

ทุกอย่างเกิดขึ้นในภาวะฉุกเฉิน เพราะระยะเวลา เราทำวิจัยอย่างเร่งด่วน ขณะนี้ก็เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำ ในการใช้วัคซีนแบบสูตรสลับ

ข้อมูลจาก https://siamrath.co.th/n/306792

 

ถอดบทเรียนโควิดสิงคโปร์ก่อน“เปิดประเทศ”
 
ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศร่ำรวยอย่างสิงคโปร์ ทำให้หลายประเทศที่กำลังต่อกรกับไวรัสร้ายต้องอิจฉา แต่จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่พุ่งทุบสถิติ กลายเป็นเครื่องเตือนใจว่าความเสี่ยงอาจยังรออยู่ข้างหน้า

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แม้สิงคโปร์บังคับสวมหน้ากาก ควบคุมการพบปะกันของประชาชนอย่างเข้มงวด และฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นมาเดือนกว่าแล้ว แต่การติดเชื้อจากการระบาดรอบล่าสุดของสายพันธุ์เดลตาทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 280 คน จาก 55 คนเมื่อต้นเดือน ก.ย.

อเล็กซ์ คุก ผู้เชี่ยวชาญด้านตัวแบบโรค จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (เอ็นยูเอส) เผยว่า สิงคโปร์อาจเผชิญคลื่นการระบาดอีก 2-3 ระลอก หลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมมากขึ้น

“กว่าจะถึงตอนนั้น การเสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนกว่าผู้สูงวัยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหลายคนฉีดวัคซีนแล้ว หรือมีคนฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้น” คุกกล่าวพร้อมคาดว่า การติดเชื้อระลอกปัจจุบันจะเบาบางลงเมื่อประชากรมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยจนรักษาตัวที่บ้านเองได้

 
 

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศทีใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ บังคับใช้มาตรการบางประการเข้มงวดที่สุดในโลกเพื่อระงับการติดเชื้อและเสียชีวิตให้ต่ำกว่าที่อื่นมาก นั่นเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์รอให้ประชากรส่วนใหญ่จากทั้งหมด 5.5 ล้านคนได้รับวัคซีนครบแล้วจึงค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการควบคุมทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น

ตอนนี้สิงคโปร์ค่อยๆ เปิดประเทศขยายการเดินทางไม่ต้องกักตัวให้ 11 ประเทศ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็เริ่มทำแบบเดียวกัน ขณะที่จีนยังไม่เอาด้วย

แต่คำถามที่ทางการต้องเผชิญคือจะป้องกันไม่ให้การติดเชื้อพุ่งในกลุ่มผู้สูงวัยและผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้อย่างไร โดยเฉพาะหลังจากสายพันธุ์เดลตาที่เข้ามาในสิงคโปร์ปีนี้ กลายเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลก

แม้ว่าประชาชนในสิงคโปร์ 84% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ส่วนใหญ่เป็นไฟเซอร์/ไบออนเทคหรือไม่ก็โมเดอร์นา แต่วัคซีนก็อาจปกป้องกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่มไม่ได้

การเสียชีวิตตลอดเดือนก่อน 30% เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ส่วนใหญ่อายุเกิน 60 ปีที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อน สอดคล้องกับผลการศึกษาที่ชี้ว่า วัคซีนปกป้องคนชราและป่วยหนักได้น้อยลง

หากพิจารณาค่าเฉลี่ยการเสียชีวิตรายวันต่อประชากร 1 ล้านคนในรอบ 7 วัน สิงคโปร์อยู่ที่ 1.77 สูงกว่าเพื่อนร่วมภูมิภาคอย่างญี่ปุ่นที่ 0.14 เกาหลีใต้ 0.28 และออสเตรเลีย 0.58 แต่ยังตามหลังสหรัฐที่ 4.96 และอังกฤษ 1.92 และถ้าเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมกับสัดส่วนประชากร อัตราของสิงคโปร์ยังต่ำสุดของโลกที่ 47.5 ต่อประชากรล้านคน เทียบกับบราซิลอยู่ที่ 2,825.7 สหรัฐอยู่ที่ 2,202.4

สายพันธุ์เดลตาเปลี่ยนทุกสิ่ง

หลังจากผ่อนคลายการควบคุมในเดือน ส.ค. การระบาดระลอกล่าสุดของสิงคโปร์ทำให้การติดเชื้อต่อวันในสัปดาห์นี้สูงถึงเกือบ 4,000 คน หรือสูงเกือบสามเท่าจากจุดสูงสุดเมื่อปีก่อน

ช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่โควิดระบาด การควบคุมที่เข้มงวดยับยั้งการติดเชื้อได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า

ประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เดลตาดูเหมือนจะลดลง แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงหมายความว่าผู้ติดเชื้อเกือบทุกรายไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย

“ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนที่ไม่ฉีดวัคซีนเพียงไม่กี่คน ความจริงก็คือเมื่อโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น ผู้คนก็จะติดโควิดกันมากขึ้น”เดล ฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติกล่าว 

สัปดาห์นี้ทางการประกาศว่า สิงคโปร์จะขยายมาตรการเว้นระยะบางอย่างออกไปอีกหนึ่งเดือน เพื่อป้องกันระบบสาธารณสุขไม่ให้ตึงตัวเกินไป ตอนนี้คนอายุเกิน 12 ปีแทบไม่เหลือใครที่ยังไม่ฉีดวัคซีน รัฐบาลจึงเน้นที่การฉีดเข็มกระตุ้น ประชาชนฉีดไปกว่า 600,000 คนแล้ว โดยรัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับผู้สูงวัย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ที่อายุเกิน 30 ปี

มาตรการที่ไม่ได้บังคับฉีด เช่น ห้ามคนไม่ฉีดวัคซีนเข้าห้างสรรพสินค้าหรือรับประทานอาหารนอกบ้านช่วยดันตัวเลขคนฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อสัปดาห์ก่อนได้ถึง 17,000 คน เพิ่มขึ้น 54% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

“ผมไม่คิดว่าการผ่อนคลายข้อจำกัดจะส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ ปัจจัยสำคัญยังอยู่ที่การเข้าถึงคนชราที่ยังไม่ฉีดวัคซีนและป้องกันกลุ่มเสี่ยง” พอล ทัมบยาห์ ประธานสมาคมจุลชีววิทยาคลินิกและการติดเชื้อเอเชียแปซิฟิกให้ความเห็น

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/world/967514

 

       คุณหมอธนรักษ์ ผลิพัฒน์ หรือที่นักข่าวรู้จักดีในชื่อ “หมอแก้ว” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นหนึ่งใน “นักรบเสื้อขาว” ในแนวหน้าของการทำสงครามกับโควิด-19 ขณะนี้

            ผมอ่านข้อความของคุณหมอเป็นประจำ มีข้อมูลและความคิดเห็นที่น่าสนใจเสมอ

 

            ประเด็นเรื่องคนไทยจำนวนหนึ่งยังมีความลังเลว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ เป็นหัวข้อที่สำคัญ

            วันก่อนผมอ่านพบที่คุณหมอแก้วได้ตอบข้อสงสัยที่รวบรวมมาจากคนไทยหลายฝ่าย

            ผมขอนำเอาบางตอนมาเล่าให้ฟังครับ

            ถาม: คุณหมอฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง ฉีดวัคซีนอะไร มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

            หมอแก้ว: ผมฉีดแล้วครับ ฉีดครบ ๒ เข็มแล้ว ฉีดวัคซีนซิโนแวค ฉีดทั้ง ๒ เข็มก็ไม่ได้มีผลข้างเคียงอะไรครับ ฉีดเช้า บ่ายก็ไปทำงานต่อได้ วันรุ่งขึ้นก็ไม่มีอะไร สามารถทำงานได้ตามปกติครับ

            ถาม: คุณหมอมั่นใจวัคซีนซิโนแวคหรือคะ

            หมอแก้ว: มั่นใจครับ ส่วนตัวผมคิดอย่างนี้ครับ

            ประการแรก วัคซีนของซิโนแวคเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีที่เราคุ้นเคย เป็นวัคซีนเชื้อตาย เทคโนโลยีเดียวกับวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่เราใช้มาหลายปีแล้ว ปัญหาค่อนข้างน้อย

            ที่ผ่านมาพบว่ามีอาการไม่พึงประสงค์ค่อนข้างน้อย อาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงยิ่งพบได้น้อยมากๆ

            ถ้านับถึงวันนี้ ประเทศไทยเราได้วัคซีนซิโนแวคไปแล้วกว่า 1 ล้าน 3 แสนโดส (ตัวเลขเมื่อสัปดาห์ก่อน) ยังไม่มีใครเสียชีวิตจากวัคซีนเลย อาการแพ้เกิดขึ้นบ้าง ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง ส่วนที่แพ้รุนแรงก็ตรวจพบได้เร็วและสามารถจัดการได้เป็นอย่างดี

            ข้อมูลจากประเทศชิลี ซึ่งมีการใช้วัคซีนทั้งซิโนแวคและไฟเซอร์ พบว่า

            - วัคซีนทั้ง ๒ ชนิดก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงได้ แต่พบไม่บ่อย

            - ซิโนแวคก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงน้อยกว่าวัคซีนของไฟเซอร์ โดย

            - วัคซีนซิโนแวคมีอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง 2.7 ต่อประชากรแสนคนที่ได้รับวัคซีน

            - ในขณะที่ไฟเซอร์มีอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง 10.3 ต่อประชากรแสนคนที่ได้รับวัคซีน

            ประการที่ ๒ วัคซีนมีประสิทธิผลป้องกันโรคได้

            จากข้อมูลที่ซิโนแวคยื่นให้กับองค์การอนามัยโลก

            วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการประมาณ 50% ถึง 84% และ

            สามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ประมาณร้อยละ 85% ถึง 100% ขึ้นอยู่กับว่าทำการวิจัยที่ประเทศใด

            ถาม: แล้วทำไมการวิจัยวัคซีนที่ทำการวิจัยในประเทศต่างๆ จึงมีค่าประสิทธิผลที่แตกต่างกัน

            หมอแก้ว: ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยครับ เช่น ความชุกของการติดเชื้อในขณะนั้น ความรวดเร็วของการระบาด ลักษณะประชากรที่นำมาใช้ในการทำวิจัย และที่สำคัญมากๆ คือ แต่ละการวิจัยใช้วิธีการนับผู้ป่วยไม่เหมือนกัน บางการศึกษานับผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง บางการศึกษาวิจัยนับผู้ป่วยที่อาการค่อนข้างเบา บางการศึกษารวมผู้ติดเชื้อไม่มีอาการเข้าไปด้วย

            นอกจากนี้ สายพันธุ์ของเชื้อที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่ขณะนั้นก็มีผลต่อค่าประสิทธิผลของวัคซีนด้วยเช่นกัน

            ทั้งหมดล้วนทำให้ค่าประสิทธิผลของวัคซีนที่ได้แตกต่างกัน ทำให้เราไม่สามารถจะเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนที่ทำการศึกษาในบริบทที่แตกต่างกันได้

            ขนาดตัวเลขประสิทธิผลของวัคซีนชนิดเดียวกัน ทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ยังให้ผลที่แตกต่างกันได้เลย

            วัคซีนซิโนแวคที่รายงานผลการวิจัยว่ามีประสิทธิผลค่อนข้างต่ำ ประมาณร้อยละ 50 เป็นการศึกษาวิจัยที่ประเทศบราซิลซึ่งเชื้อที่กำลังแพร่ระบาดอยู่เป็นเชื้อสายพันธุ์บราซิล

            ในขณะที่การวิจัยในประเทศชิลี ซึ่งรายงานประสิทธิผลของวัคซีนที่ร้อยละ 60 เป็นการทำการวิจัยในขณะที่เชื้อที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนั้นเป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษและสายพันธุ์บราซิล

            เมื่อเห็นผลการวิจัยจากหลายๆ ที่ ดูข้อมูลจากหลายๆ แหล่งก็ค่อนข้างโอเคครับว่าวัคซีนซิโนแวคมีอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงค่อนข้างต่ำ

            และมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการ และการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงได้ในระดับที่น่าพอใจ

            ทั้งยังน่าจะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อังกฤษและสายพันธุ์บราซิลได้ระดับหนึ่งด้วย

            ถาม: พอเข้าใจแล้วว่า เราไม่ควรนำตัวเลขผลการวิจัยจากรายงานที่ทำการวิจัยแยกกันมาเปรียบเทียบกัน ถ้าอย่างนั้นตัวเลขประสิทธิผลของวัคซีนของไฟเซอร์ที่สูงมากถึง 95% ก็ไม่ได้แปลว่าไฟเซอร์ดีกว่าวัคซีนชนิดอื่นหรือเปล่าคะ

            หมอแก้ว: การจะตอบว่าวัคซีนตัวไหนดีกว่าตัวไหนจริงๆ สามารถทำได้ ถ้าเราสามารถนำวัคซีน ๒ ชนิดมาทำการวิจัยเชิงทดลองเปรียบเทียบกันแบบตัวต่อตัวในงานวิจัยชิ้นเดียวกันที่ทำการศึกษาในประชากรเดียวกัน ด้วยวิธีการเก็บข้อมูลที่เหมือนกัน และมีสภาพแวดล้อมอื่นเหมือนกัน

            ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการทำงานวิจัยแบบนี้ออกมา ทำให้การเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีน ๒ ชนิด ทำได้ยากมาก

            ขอยกตัวอย่างแล้วกันครับ เช่น

            ถ้าเราดูตัวเลขประสิทธิผลของไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้าที่ต่างคนต่างทำวิจัย จะพบว่าไฟเซอร์รายงานประสิทธิผลของตัวเองอยู่ที่ 95% และแอสตร้าเซนเนก้ารายงานประสิทธิผลวัคซีนของตัวเองอยู่ที่ 62-90% โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 70% ถ้าดูอย่างนี้บางคนก็อาจจะสรุปว่าไฟเซอร์ดีกว่าแอสตร้าเซนเนก้า

            ต่อมา มีรายงานผลงานวิจัยเชิงสังเกตชิ้นหนึ่งออกมา โดยทำการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนทั้งไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้าในประชากรเดียวกัน

            และเขาก็รายงานเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนทั้ง ๒ ชนิดหลังจากที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไป 28-34 วัน พบว่าวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิผลสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 85% ในขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิผลสามารถป้องกันโรคได้ 94%

            อย่างนี้ก็อาจจะพอพูดได้ว่าวัคซีนทั้ง ๒ ชนิดนี้เมื่อนำมาใช้จริงในภาคสนามในประชากรเดียวกันก็พบว่ามีประสิทธิผลพอๆ กัน ดูแอสตร้าเซนเนก้าจะมีภาษีเหนือกว่าไฟเซอร์เล็กน้อยด้วยซ้ำไป

            ในขณะที่งานวิจัยเชิงสังเกตอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเก็บข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนในภาคสนาม เมื่อนำวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและวัคซีนของไฟเซอร์มาใช้งานจริง ก็รายงานผลออกมาว่าวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์มีประสิทธิผลประมาณ 65-70% และวัคซีนทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิผลในภาคสนามไม่แตกต่างกัน

            ตรงนี้ผมแค่อยากจะบอกว่า การพยายามเปรียบเทียบคุณภาพของวัคซีนแบบแยกกันดู แล้วพยายามมาบอกว่าวัคซีนตัวไหนดีกว่าตัวไหน จริงๆ แล้วไม่สามารถทำได้ และสามารถก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้มาก

            ในปัจจุบันที่มีกระแสความคิดที่ว่าวัคซีนไฟเซอร์ดีที่สุด ก็น่าจะมาจากความเข้าใจผิดแบบนี้

            ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นยังไงเราก็ยังไม่รู้แน่ชัด เรายังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันแน่นหนักว่ามันเช่นนั้นจริงๆ เลย

            งานวิจัยที่ผมยกตัวอย่างมาเพื่อแสดงว่าประสิทธิผลของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับไฟเซอร์อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ก็เป็นเพียงข้อมูลชุดแรกๆ ที่เพิ่งออกมา เราคงต้องติดตามดูข้อมูลเหล่านี้กันต่อไป

ครับ

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/103353

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ