รักษาโควิดผ่าน Telemedicine ถ้าอาการเข้าเกณฑ์ จะได้ยาฟาวิฯ-โมนูลฯ แน่นอน
 
“อนุทิน” มอบ สปสช.จัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ช่วยเสริมแรงโรงพยาบาล ย้ำการรับบริการผ่านระบบ Telemedicine หากแพทย์เห็นว่าจำเป็นต้องได้รับยา ก็จะจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์หรือโมนูลพิราเวียร์ให้ถึงบ้านแน่นอน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้ สปสช.จัดระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเติม เพื่อเสริมกำลังช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลและเป็นอีกทางเลือกในการรับบริการแก่ประชาชน

โดย สปสช. ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการระบบการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine จำนวน 3 ราย ได้แก่ แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี), แอป Good Doctor (กู๊ด ด็อกเตอร์) และแอป Clicknic (คลิกนิก) 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ลงทะเบียนเข้ารับบริการในช่องทางนี้ จะได้รับการดูแลที่มีมาตรฐาน ได้พบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ ได้รับยารักษาตามอาการ และในกรณีแพทย์มีความเห็นว่าอาการเข้าเกณฑ์ที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือโมนูลพิราเวียร์ ก็จะได้การจัดส่งยาให้ถึงที่บ้าน โดยเป็นยาที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข

  • รักษาโควิดผ่านแอปฯ อาการเข้าเกณฑ์ได้รับยาฟาวิฯ

ทั้งนี้ พื้นที่การดูแลของแต่ละแอปจะแตกต่างกัน  ซึ่งแอป Clicknic (คลิกนิก) จะรับดูแลทั้งผู้ป่วยโควิดกลุ่มอาการสีเขียว และผู้ป่วยโควิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 โดยให้บริการทั่วประเทศ

ขณะที่แอป MorDee (หมอดี) และแอป Good Doctor (กู๊ด ด็อกเตอร์) จะดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มอาการสีเขียว แต่ไม่รับกลุ่ม 608 และดูแลเฉพาะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) 

"กระบวนการดูแลไม่ต่างจากการไปรับบริการที่โรงพยาบาล เพียงแต่ทุกอย่างทำผ่านออนไลน์ ระบบ Telemedicine นี้ จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย ไม่ต้องเดินทางไปแออัดที่โรงพยาบาล ลดความเสี่ยงในการกระจายเชื้อ และถ้าอาการเข้าเกณฑ์ก็ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือโมนูลพิราเวียร์ตามดุลยพินิจของแพทย์แน่นอนนพ.จเด็จ กล่าว

การให้บริการขณะนี้ครอบคลุม 2 สิทธิการรักษาแล้ว จากเดิมดูแลเฉพาะผู้ป่วยบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) โดยกรมบัญชีกลางได้ออกหลักเกณฑ์รองรับเพื่อให้ข้าราชการและครอบครัวที่ป่วยโควิดลงทะเบียนรักษาแบบ Telemedicine กับ 3 แอปพลิเคชันได้เช่นกัน 

  • เช็กช่องทางรักษาโควิดผ่าน Telemedicine

เลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า นอกจากช่องทาง Telemedicine แล้ว ที่ดูแลผู้ป่วยโควิดสิทธิบัตรทองและสวัสดิการข้าราชการแล้ว สปสช.ยังจัดระบบเสริมอื่นๆ เช่น การไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการ ที่ตอนนี้ครอบคลุม 3 สิทธิรักษาพยาบาลเช่นกัน หรือไปใช้บริการเจอ แจก จบ ที่หน่วยบริการตามสิทธิการรักษา รวมถึงการโทรมาที่สายด่วน 1330 เพื่อแจ้งอาการ

หากจำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือโมนูลพิราเวียร์ตามดุลยพินิจของแพทย์ เจ้าหน้าที่ก็จะจัดส่งยาถึงบ้านให้เช่นกัน แต่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ กทม. และปริมณฑล 5 จังหวัดเท่านั้น เนื่องจากในต่างจังหวัด สถานพยาบาลยังจัดการได้ดี

ทั้งนี้ สามารถเลือกลงทะเบียนตามแบบฟอร์มลงทะเบียนโครงการ Self-Isolation สำหรับผู้ป่วย COVID-19 สนับสนุนโครงการโดย สปสช. และ สวทช. ผ่านการให้บริการบน  

1. แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) ให้บริการโดย บริษัท คลิกนิก เฮลท์ จำกัด : https://forms.gle/hfo2Wr9jdvybn8d57  
รับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มอาการสีเขียว และกลุ่มเสี่ยง 608 ทั่วประเทศ สิทธิบัตรทอง/สวัสดิการข้าราชการ สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @clicknic 

2. แอปพลิเคชัน Good Doctor Technology ให้บริการโดย บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) : https://forms.gle/YKVMKy1p8FRDDBje7  
รับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว ไม่รับกลุ่ม 608 เฉพาะที่ผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เท่านั้น สอบถามเพิ่มเติม Line ID: @GDTT  

3. แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) ให้บริการโดย บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ปจำกัด : https://form.typeform.com/to/cNKqNz3p  
รับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว ไม่รับกลุ่ม 608 เฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล 5 จังหวัด นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เท่านั้น  สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @mordeeapp 

สำหรับบริการ เจอ แจก จบ ที่ร้านยา เป็นบริการครอบคลุมทั่วประเทศ รับทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ สามารถดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการใกล้บ้าน คลิก https://www.nhso.go.th/downloads/197

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/public_health/1019483?anf=

แฟ้มภาพ

รัฐบาลย้ำใช้กฎหมาย PDPA เพื่อประโยชน์คุ้มครองกับประชาชน ให้เวลาผู้ประกอบการขนาดเล็กปรับตัว ดีอีเอสเตรียมประกาศกฎหมาย 8 ฉบับผ่อนคลายเกณฑ์สำหรับเอสเอ็มอี คาด 4 ฉบับมีผลบังคับสัปดาห์หน้า 

19 มิ.ย.2565 –  น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า จากที่พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย PDPA  ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เร่งดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปถึงรายละเอียดและประโยชน์ของข้อกฎหมาย  

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทั้งนี้ ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ประชาชนเข้าใจถึงเจตนารมณ์แท้จริงที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วยมาตรฐานสากล ขณะเดียวกันผู้ที่เกี่ยวข้องก็มีภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายน้อยที่สุด ให้เวลาในการปรับตัวโดยเฉพาะเอสเอ็มอี 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี ดีอีเอสได้เตรียมประกาศกฎหมาย 8 ฉบับ ซึ่งจะมีผลผ่อนคลายความเข้มงวดของกฎหมาย PDPA ที่จะบังคับใช้ต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดย 4 ฉบับ เป็นประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับในสัปดาห์หน้า  ส่วนอีก 4 ฉบับจะทยอยประกาศภายในเดือนมิ.ย.ต่อไป   

“ดีอีเอสกำลังดำเนินการตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับว่าเนื่องจาก PDPA เป็นกฎหมายใหม่สำหรับประเทศไทย ในช่วงเริ่มต้นขอให้เน้นการให้ความรู้ความเข้าใจ ให้ภาระเกิดกับผู้เกี่ยวข้องน้อยที่สุด” น.ส.ไตรศุลี กล่าว 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การผลักดันให้กฎหมาย PDPA มีผลบังคับ ให้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนได้รับความคุ้มครองนี้ จะเป็นส่วนทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลที่ได้มาตรฐานและเป็นสากล จากปัจจุบันไทยมีกฎหมายครอบคลุมเกือบทุกด้านแล้วไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA  สามารถติดตามข้อมูลด้วยตนเองได้ที่เฟซบุ๊ค PDPC Thailand หรือ โทร 1111. 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/general-news/164742/

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ข้อกำหนด 'คลายล็อกเฟส 4-ยกเลิกเคอร์ฟิว' เริ่ม 15 มิ.ย.63

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 เว็บไซต์ได้เผยแพร่ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 10) โดยมีเนื้อความดังนี้ 

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปตั้งแต่ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ จนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ นั้น

โดยที่สมควรผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) เป็นช่วงที่ ๔ ต่อเนื่องจากการผ่อนคลายที่ดําเนินมาก่อนแล้ว เป็นลําดับ ทั้งนี้ ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การเว้นระยะห่างทางสังคม และการยอมรับ ระบบติดตามตัวผ่านแอปพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๕๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดเป็นการทั่วไปและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน เพื่อเป็นมาตรการผ่อนคลายและบรรเทา ผลกระทบต่อการดําเนินชีวิตประจําวันของประชาชน จึงให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน ทั่วราชอาณาจักรเฉพาะเหตุอันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่เวลา ๒๓.00 นาฬิกา ของวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๓

ข้อ ๒ การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นการ เตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา ๒๕๖๓ จึงผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอน หรือการฝึกอบรมของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเพิ่มเติมจากที่ได้กําหนดไว้แล้ว ตามข้อกําหนด (ฉบับที่ ๔) ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยให้โรงเรียนในระบบ ประเภทนานาชาติ สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ โรงเรียนนอกระบบประเภทกวดวิชาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน โรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนที่มีจํานวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบคน สามารถใช้อาคารสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรมได้ โดยผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ต้องดําเนินการจัดรูปแบบการเรียนการสอน สถานที่ รวมทั้งบุคลากรและเจ้าหน้าที่ ให้มีความพร้อมสอดคล้องกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด รวมทั้ง จัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามคําแนะนําของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยคํานึงถึง ความเสี่ยงต่อการติดโรค การแพร่กระจายเชื้อ และความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสําคัญ

ส่วนการเปิดเรียนและรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือ มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณีกําหนด โดยปฏิบัติตามความในวรรคก่อนด้วย โดยอนุโลม

ข้อ ๓ การผ่อนคลายให้ดําเนินการหรือทํากิจกรรมบางอย่างได้ เพื่ออํานวยความสะดวก แก่ประชาชนและขับเคลื่อนกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติมจากที่ได้กําหนดไว้แล้วตามข้อกําหนด (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อกําหนด (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ และข้อกําหนด (ฉบับที่ ๔) ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการ ป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามคําแนะนํา ของทางราชการ ให้สถานที่หรือการดําเนินกิจกรรมที่เคยมีข้อกําหนดหรือคําสั่งของผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดให้ปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ และตามข้อกําหนด (ฉบับที่ ๕) ลงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ สามารถ เปิดดําเนินการหรือทํากิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติมได้ทั่วราชอาณาจักร ตามความสมัครใจและความพร้อม ดังต่อไปนี้

 

(๑) กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดําเนินชีวิต

ก. การจัดการประชุม การอบรม การสัมมนา การจัดนิทรรศการ การจัดแสดงสินค้า การจัดเลี้ยง งานพิธี การแสดง นาฏศิลป์ ดนตรี คอนเสิร์ต หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ในโรงแรม โรงมหรสพ ห้องประชุม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงภาพยนตร์ หรือในสถานที่อื่น ๆ ให้สามารถดําเนินการได้

ข. การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในภัตตาคาร สวนอาหาร โรงแรม ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไป หรือในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและได้ผ่อนคลาย ให้เปิดดําเนินการอยู่ก่อนแล้วให้สามารถทําได้ภายในกําหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
ในส่วนของสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังไม่อนุญาตให้เปิดดําเนินการ

ค. สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กพิเศษ สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานที่บริการดูแล สถานที่พํานักอาศัย หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่จัดสวัสดิการ ให้แก่เด็กหรือผู้สูงอายุ สามารถเปิดดําเนินการให้บริการแบบรายวันได้ ทั้งนี้ การเดินทางไปกลับ สถานที่ดังกล่าวถือเป็นเหตุยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรการอันพึงปฏิบัติของกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยง ต่อการติดโรค

ง. ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และ วัฒนธรรม

จ. การถ่ายทํารายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ ให้ดําเนินการได้โดยมีจํานวน ผู้แสดง ผู้ร่วมรายการและคณะทํางานถ่ายทํารวมกันไม่เกินคราวละหนึ่งร้อยห้าสิบคนและมีผู้ชม ไม่เกินห้าสิบคน

(๒) กิจกรรมด้านการออกกําลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ

ก. การอบตัว อบสมุนไพร การอบไอน้ําแบบรวมหรือการนวดบริเวณใบหน้า ในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ให้ดําเนินการได้ ยกเว้น ในส่วนของสถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด ยังไม่อนุญาตให้เปิดดําเนินการ

ข. การออกกําลังกายแบบกลุ่มในสวนสาธารณะ ลานกิจกรรม พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ หรือลานกีฬากลางแจ้ง ให้ดําเนินการได้

ค. สวนน้ํา สนามเด็กเล่น สวนสนุก ยกเว้นการใช้เครื่องเล่นในลักษณะที่เป็นการติดตั้งชั่วคราว หรือเครื่องเล่นที่มีพื้นผิวสัมผัสมากซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรคในเด็ก เช่น บ้านบอล บ้านลม

ง. สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกําลังกาย การเล่นกีฬา หรือเพื่อการเรียนการสอน ในทุกประเภทกีฬา ให้เปิดดําเนินการได้ ยกเว้นสนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา หรือ สนามการแข่งขันอื่นในลักษณะทํานองเดียวกันยังไม่อนุญาตให้เปิดดําเนินการ
สถานที่ที่ได้รับการผ่อนคลายสามารถจัดให้มีการแข่งขันและถ่ายทอดโทรทัศน์ การแข่งขันกีฬาหรือการถ่ายทอดผ่านสื่ออื่น ๆ ได้ แต่ต้องไม่มีผู้ชมอยู่ในสนามแข่งขัน และผู้จัดการแข่งขันต้องดําเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่ทางราชการกําหนดด้วย

จ. ตู้เกม เครื่องเล่นหยอดเหรียญที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดําเนินการได้

ข้อ ๔ การขนส่งสาธารณะข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เพื่ออํานวยความสะดวก และรองรับ การเดินทางของประชาชนภายหลังมาตรการผ่อนคลายการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ให้หน่วยงาน ที่รับผิดชอบตรวจสอบและกํากับดูแลการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท (รถโดยสารประจําทาง รถปรับอากาศ รถตู้ รถไฟ เรือ เครื่องบิน) โดยผู้ประกอบการต้องจัดระบบ และระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งให้มีการจอดพักรถ การเว้นที่นั่ง และการจํากัดจํานวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยว ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด

ข้อ ๕ การดําเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ในข้อ ๒ หรือข้อ ๓ มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรการ ป้องกันโรค รวมทั้งดําเนินการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ตามคําแนะนํา เงื่อนไข และเงื่อนเวลา ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือตามที่ทางราชการกําหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจเข้าตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่ตามข้อ ๒ และ การดําเนินการของเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ตามข้อ ๓ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ที่ทางราชการกําหนด หากพบการกระทําที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คําแนะนํา ตักเตือน ห้ามปราม และมีอํานาจกําหนด ช่วงระยะเวลาเพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ดําเนินการปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ของโรค รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอํานาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ มีคําสั่งปิดสถานที่ในพื้นที่รับผิดชอบไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้

ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีคําสั่งปิดสถานที่ไว้ เป็นการชั่วคราว เมื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ได้ดําเนินการให้เป็นไป ตามมาตรการที่ทางราชการกําหนดและจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ แล้ว ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี มีอํานาจสั่งให้เปิดดําเนินการในสถานที่ดังกล่าวได้

ข้อ ๖ ในกรณีมีปัญหาว่าสถานที่หรือกิจกรรมใดเข้าข่ายตามที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดนี้ หรือไม่ ให้หารือคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคง แห่งชาติในฐานะหัวหน้าสํานักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 เป็นประธาน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๓
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

159198259088

159198276490

159198279559

159198281955

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/884903

สถานการณ์โควิดอาจกำลังกลับมาเขย่าโลกอีกครั้ง กับการแพร่เชื้อสายพันธุ์ 'โอไมครอน' ที่เริ่มพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ระดับน่ากังวล (Variants of Concern: VOC) โดยข้อมูลทางการแพทย์ขององค์การอนามัยโลกระบุว่า  ยังต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์จึงจะระบุได้ว่าไวรัสโอไมครอนจะดื้อต่อวัคซีนโควิดที่มีการผลิตในปัจจุบันหรือไม่ จนทำให้หลายประเทศตื่นตระหนกว่า สุดท้ายแล้ววัคซีนที่มีอยู่ในทางการแพทย์ และมาตราการต่างๆ ในการป้องกันและสกัดการแพร่โควิด จะรับมือโอไมครอนได้หรือไม่

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประเทศในเอเชีย-อาเซียน โดยทางการสิงคโปร์, มาเลเซีย, อินเดีย และศรีลังกา ประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอนเป็นครั้งแรกในประเทศเมื่อวันพฤหัสบดีและศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียหวั่นไวรัสแพร่ระบาดในชุมชน หลังพบผู้ติดเชื้อที่ไม่มีประวัติเคยเดินทาง

มีข้อมูลเผยแพร่ออกมาว่า ถึงปัจจุบันมีมากกว่า 30 ประเทศแล้วที่รายงานพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน รวมถึงอินเดีย ซึ่งเคยเผชิญการระบาดอย่างรุนแรงของสายพันธุ์เดลตาเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เผยเมื่อค่ำวันพฤหัสบดีว่า พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนครั้งแรกในประเทศ เป็นชาย 2 คนในรัฐกรณาฏกะทางภาคใต้ ด้านศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (อีซีดีซี) กล่าวเตือนในแถลงการณ์ว่า ผู้ติดเชื้อโอไมครอนอาจมีมากเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อในยุโรปภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า

ขณะที่ในประเทศไทย ที่มีการเปิดประเทศมาได้เดือนเศษ และรัฐบาล-ศบค. ก็คลายล็อกดาวน์หลายอย่างแล้ว หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยลดลงจากที่เคยวิกฤตสุดๆ กว่า 20,000 คน ตอนนี้เหลืออยู่ที่ประมาณเฉลี่ยตัวเลขอยู่ที่วันละ 4,000-5,000 คน โดยที่การฉีดวัคซีน ถึงขณะนี้เชื่อได้ว่าตัวเลขที่รัฐบาลเคยตั้งเป้าจะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ที่รวมหมดตั้งแต่เข็มหนึ่งจนถึงเข็มสี่ ยังไงยอดทะลุเกินแน่นอน เพราะอย่างเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ตัวเลขสะสมการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 94,280,248 โดส และเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ก็ทำให้ระบบการดูแลรักษาก็ไม่วิกฤตเหมือนก่อนหน้านี้ จำนวนเตียงในโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยก็เพิ่มมากขึ้น, ยา-เวชภัณฑ์ที่ใช้ก็มีสำรองมากขึ้น-วัคซีนก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะในปีหน้า ที่จะมีจนล้นจำนวนประชากร 

ทั้งหมดคือสัญญาณที่ทำให้คนไทยมีความหวัง ในการได้กลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น แม้อาจไม่เหมือนเดิม ยิ่งช่วงนี้ ที่ใกล้ถึงช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้คนไทยก็ไม่อยากตื่นตระหนกเจอข่าวร้ายสิ้นปี หากพบการติดเชื้อโอไมครอน ในประเทศไทย เพราะหากเจอคงทำให้คนในสังคมบางส่วนกังวลไม่น้อย โดยเฉพาะ "กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด" ทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและผลกระทบในการดำเนินชีวิต ที่ทำเอาหลายครอบครัวล้มทั้งยืนมาแล้ว ต่างไม่อยากกลับไปเผชิญหน้ากับฝันร้ายดังกล่าวอีกครั้ง

ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ศบค. จะต้องดำเนินการในการป้องกันการแพร่เชื้อโควิดโอไมครอน อย่างสุดความสามารถ โดยหากพบว่าสถานการณ์อาจทำท่าไม่ดี ก็จะต้องรีบตัดสินใจโดยเด็ดขาดในการป้องกันและสกัดกั้น แม้บุคลากรทางการแพทย์ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะบอกให้คนไทยทำใจไว้ว่า สุดท้าย ประเทศไทยก็จะหนีโอไมครอนไม่พ้น เพียงแต่ยืดเวลาให้ช้าที่สุด เพื่อความเตรียมพร้อม

อย่างไรก็ตาม จะดีกว่าแน่นอน หากประเทศไทยสามารถสกัดกั้นโควิดโอไมครอนไม่ให้เข้ามาได้หรือเข้ามา แต่ต้องไม่ให้แพร่ระบาดในวงกว้าง จนสุดท้าย ต้องมาออกมาตรการล็อกดาวน์ ปิดประเทศกันอีก เพราะที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจ-สาธารณสุขบอบช้ำเสียหายมาเยอะแล้ว

การรับมือกับโควิดโอไมครอน รอบนี้ จึงเป็นเดิมพันสำคัญที่พลเอกประยุทธ์และ ศบค. พลาดไม่ได้.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/dominate-the-situation-news/38770/

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ข้อกำหนด 'พรก.ฉุกเฉิน' เร่งควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ห้ามชุมนุม-เข้าพื้นที่เสี่ยง

 

วันที่ 25 ธ.ค.2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 15 โดยมีรายละเอียดดังนี้

เมื่อปัจจุบันพบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ขึ้นในบางพื้นที่ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการกระชับและยกระดับมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อเข้าแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ป้องกันมิให้เกิดการระบาดลุกลามเป็นวงกว้างต่อไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.248 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

1. การห้ามใช้หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดโรค ห้ามประชาชนใช้ เข้าไป หรืออยู่ในพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค

2. การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พิจารณาสั่งปิดสถานที่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคและการแพร่ของโรคไว้เป็นการชั่วคราว

3. การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อง ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานกาณณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงประกาศกำหนด

4. มาตรการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจคัดกรองการเดินทางและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว

5. การปฏิบัติและบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้ส่วนราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานควบคุมโรคติดต่อ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้ประชาชนทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

6. การประสานงาน ให้ ศปก.ศบค. ซึ่งมีเลขา สมช. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติขับเคลื่อน เร่งรัด และติดตามการปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือในการปฏิบัติงาน เพื่อให้สถานการณ์ฉุกเฉินสามารถยุติโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

7. เพื่อให้การกำหนดมาตรการป้องกันโรคเป็นไปในทางเดียวกัน การออกประกาศ หรือคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดตามข้อ 1 หรือข้อ 2 เพื่อการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ ให่ดำเนินการตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรี หรือตามที่ ศบค.กำหนด ให้ศนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย ร่วมกันพิจารณาประเมินและกำหนดพื้นที่สถานการณ์เพิ่มเติมเพื่อการบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดใหม่

8. ให้บรรดาประกาศ หรือคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นตามข้อกำหนดนี้

 

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ข้อกำหนด 'พรก.ฉุกเฉิน' เร่งควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ห้ามชุมนุม-เข้าพื้นที่เสี่ยง

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ข้อกำหนด 'พรก.ฉุกเฉิน' เร่งควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ห้ามชุมนุม-เข้าพื้นที่เสี่ยง

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ