28 ส.ค. 2565 – นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุถึงโรคไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) ว่า ดังที่เป็นข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการกล่าวถึงไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย เมือง Kerala ในเด็กต่ำกว่า 5 ปี ร่วมร้อยคน และยังมีการพบเพิ่มเติมที่เมือง Tamil Nadu และ Odishaการตั้งชื่อไข้หวัดมะเขือเทศ เพราะเด็กที่ป่วยจะมีลักษณะ ผื่นแดง เป็นตุ่มน้ำ คล้ายมะเขือเทศ ลักษณะอาการ จะมีอาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด คือมีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว และต่อมามีผื่นขึ้น ผื่นที่ขึ้นจะมีลักษณะแดง และเป็นตุ่มน้ำ

โรคไม่รุนแรงและหายได้เอง ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต

จากการสันนิษฐานลักษณะอาการคล้าย ไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) ไข้เลือดออก มือเท้าปาก

ที่จริงแล้วการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุไวรัสในปัจจุบัน ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดียน่าจะรู้แล้วว่าเกิดจากไวรัสตัวไหน แต่ปัจจุบันยังไม่มีประกาศออกมาเป็นทางการ

 
 

จากที่ผมได้ติดตาม และดูลักษณะผื่นที่ขึ้นจากรูปถ่าย ที่รายงานตามหนังสือพิมพ์ของอินเดีย แทบจะบอกได้เลยว่า ลักษณะนี้คือผื่นที่ขึ้นเหมือนกับ โรคมือเท้าปาก ที่พบในบ้านเรา โดยเชื้อหลักของลักษณะผื่นแบบนี้ คือ Coxsackie A6 ลักษณะผื่นๆที่ขึ้นที่มือ ที่เท้า ที่ข้อศอก ข้อเข่า รอบก้น และถ้าเป็นมาก ก็จะดูค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของเชื้อไวรัส CA6 ที่เราได้ติดตามมาตั้งแต่ปี 2012 เคยระบาดในบ้านเรา และในปีนี้ ในบ้านเราก็ระบาดด้วยสายพันธุ์ CA6 และมีลักษณะผื่นค่อนข้างรุนแรง ดังแสดงในรูป เป็นโรคมือเท้าปากที่พิสูจน์แล้วว่าเป็น จากเชื้อไวรัส CA6 ส่วนมากเป็นในเด็ก แต่ก็เคยพบในผู้ใหญ่

รูปที่แสดง เป็น โรคมือเท้าปาก เชื้อ CA6

ส่วนไข้ปวดข้อยุงลาย เท่าที่ติดตามอยู่ขณะนี้ ในเด็กเล็กจะมีอาการปวดข้อน้อยมาก ไม่เหมือนผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ

เราคงต้องติดตามว่าไวรัสที่เกิดในอินเดียเกิดจากตัวไหน จากการคาดการณ์ของผมเชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัส Coxsackie ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก และไม่รุนแรง ไม่เหมือนเชื้อ enterovirus A 71 ที่อาจทำให้เกิดสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/general-news/209354/

 

 

22 พ.ย. 2564 – ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด-19 วัคซีน วัคซีนเชื้อเป็นแบบพ่นจมูก บทเรียนจากไข้หวัดใหญ่

ในการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ประเทศไทยก็เตรียมพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น เชื้อจะไวต่ออุณหภูมิที่สูง เมื่อพ่นเข้าจมูก จะติดเชื้ออยู่ในโพรงจมูกเท่านั้นไม่สามารถลงไปในปอดได้ เพราะจะทนอุณหภูมิของร่างกายที่ 37 องศาในร่างกายไม่ได้ เชื้อจะกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานต่อไข้หวัดใหญ่ ได้เป็นอย่างดี เหมือนกับติดเชื้อในธรรมชาติ

ในปีนั้น ประเทศไทย รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศรัสเซีย และพยายามจะนำมาพัฒนา ไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น สายพันธุ์เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ยังจำได้ดี และก็ไม่ไปถึงไหน เพราะถึงทำขึ้นมา ก็ไม่ตอบสนองวัตถุประสงค์ในการป้องกันการป่วยตาย องค์การเภสัชกรรมเปลี่ยนมาเป็นเชื้อตายทีหลัง และที่ใช้อยู่ในปัจจุบันในไทยก็เป็นเชื้อตายทั้งสิ้น

ในขณะเดียวกัน ก็มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่ใช้พ่นจมูก ในอเมริกา และทางตะวันตก มีชื่อว่า FluMist ของบริษัท MedImmune เป็นเชื้อเป็น ใช้สเปรย์ใส่จมูก ไวรัสนี้จะไม่ทนความร้อน ไม่สามารถลงปอดได้

เนื่องจากเป็นเชื้อเป็น จึงไม่สามารถให้ในผู้มีภูมิต้านทานอ่อนแอ เช่นเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุมากกว่า 50 ปี ผู้ที่กินยากดภูมิต้านทาน ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง คนท้อง ผู้ที่กินยาอักเสบ aspirin เพราะว่าจะเกิด Reye syndrome โดยสรุปก็คือกลุ่มเสี่ยงที่เป็นไข้หวัดใหญ่ แล้วจะได้รับอันตรายเป็นปอดบวมถึงชีวิต ไม่สามารถให้ได้ ให้ได้เฉพาะคนแข็งแรง ที่เป็นโรคแล้วไม่รุนแรง ในทางปฏิบัติจริง การใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เราจะเน้นป้องกันกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ที่เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่แล้วจะเกิดอันตรายถึงชีวิต ถ้าวัคซีนใช้ได้เฉพาะคนที่แข็งแรงโดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่น จึงสวนทางกับความเป็นจริง ในจุดมุ่งหมายการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ที่ต้องการลดการป่วยตาย

ทำนองเดียวกันการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ถ้าไวรัสยังมีชีวิตอยู่ ข้อบ่งชี้ต่างๆ ก็คงจะต้องคล้ายกัน โดยเฉพาะในคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ เพราะกลัวว่าไวรัสนี้จะแพร่กระจาย ทำให้เป็นข้อห้าม ในผู้มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เด็กเล็ก ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคโควิด วัคซีนพ่นจมูกใช้ได้เฉพาะบุคคลที่แข็งแรง เหมือนวัคซีนพ่นจมูกไข้หวัดใหญ่ จะไม่เกิดประโยชน์เลย เพราะบุคคลดังกล่าวเหล่านั้น ติดเชื้อเป็น covid-19 ก็ไม่รุนแรง โอกาสนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตน้อยมาก

จุดอ่อนของวัคซีนพ่นจมูกของไข้หวัดใหญ่ ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงไม่มีการนำมาใช้ในประเทศไทย ทั้งที่การใช้สะดวกมาก.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/30211/

 

13 ม.ค.2564 -  ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด-19 วัคซีน” ระบุว่า โรคทุกโรคป้องกันได้ควรได้รับการป้องกัน ทำนองเดียวกันโควิด-19 ก็ควรได้รับการป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือ หรือ ถูแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างของบุคคล นอกจากการปฏิบัติแล้ว ถ้ามีวัคซีนในการป้องกันควรได้รับการป้องกัน

โควิด-19 ระบาดอย่างรวดเร็วและยากที่จะกวาดล้างให้หมดไป มาตรการในการควบคุมป้องกันการระบาด และสูญเสีย จึงจำเป็นที่จะต้องมีวัคซีนมาเสริมป้องกันและควบคุม จึงมีการเร่งพัฒนาผลิตวัคซีนในการป้องกันอย่างมากและรวดเร็วการพัฒนาเป็นไปตามขั้นตอน จากการทดลองในสัตว์ผ่านเข้าสู่อาสาสมัครในมนุษย์ ระยะที่ 1, 2 และ 3 ในระยะที่ 3 จะต้องใช้อาสาสมัครเป็นหลักหมื่นและทำการศึกษาอย่างละเอียด

ในภาวะฉุกเฉิน จึงมีการยอมให้ขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉินและภาวะปกติจะตามมาทีหลัง มีการรายงานผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในการให้ประชาชนหมู่มาก โดยทั่วไปจะติดตามต่อหลังใช้แล้วอีก 2 ปี การอนุมัติให้ใช้แบบฉุกเฉินจะมีการคำนึงถึงผลได้ ประโยชน์ และอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น

ขณะนี้วัคซีนในการป้องกันโควิด-19 แต่ละชนิดมีการใช้หลายล้านโดสโดยรวมได้ถูกไปใช้แล้วประมาณ 30 ล้านโดส และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด กว่าประเทศไทยจะได้ใช้ ก็น่าจะมีการใช้ทั่วโลกไปแล้วโดยรวมเป็นร้อยล้านโดสแล้ว

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/89643

 

30 พ.ค. 2565 – ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19 วัคซีนเข็มที่ 4

การให้วัคซีนครบ หมายถึงให้เบื้องต้น 2 เข็ม และตามด้วยเข็ม กระตุ้นเข็มที่ 3 ระดับภูมิต้านทานจะขึ้นมาสูง แล้วก็ค่อยๆ ลดลงอีก ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ อยากให้ทุกคนได้รับอย่างน้อย 3 เข็ม

 
 

มีคำถามเข้ามามากโดยเฉพาะ เข็ม 4

การให้เข็ม 4 จะเป็นการกระตุ้นให้ระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นอีก ดังนั้น บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 ที่มีอายุเกิน 60 ปี หรือ ถ้าอายุน้อย แต่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 1 อย่าง หรือ บุคคลที่เสี่ยงต่อการติดโรค บุคลากรทางการแพทย์ ทำงานอยู่ด่านหน้า ควรจะได้รับเข็ม 4 เพื่อให้ระดับภูมิต้านทานสูง และถ้าติดโรค ก็จะได้ลดความรุนแรงของโรคลง

ขณะนี้มีวัคซีนเพียงพอ ขอให้กลุ่มดังกล่าวไปรับวัคซีน โดยเฉพาะถ้าให้เข็ม 3 มานานแล้วอย่างน้อย 4 เดือน

ในกลุ่มที่มีอายุน้อย หรือวัยรุ่น ขณะนี้ให้ได้รับวัคซีนเพียง 3 เข็ม รอดูสถานการณ์ถ้ามีการระบาดของโรคมาก ค่อยพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/151260/

 

  

13 พ.ค.2563- ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด 19 มองโลกในแง่ดี” ระบุว่า โควิด 19ทำให้ประเทศไทยเกิดนักวิจัยมากมาย ในอนาคตเราอาจมีนักวิจัยมากที่สุดในโลกก็ได้ 

ผมได้รับโทรศัพท์เกือบทุกวัน มีสิ่งของอยากให้มาทดลอง ตั้งแต่การกรองเชื้อ จนถึงยาฆ่าเชื้อ โควิด 19
ก็นึกอยู่ว่าจะทำให้ประเทศไทย มีนักวิจัย นักประดิษฐ์คิดค้นมากมาย

 

เคยได้รับโทรศัพท์ตอน 3.00 น ผมคิดว่ามีเรื่องด่วน บอกว่านั่งสมาธิ พบเห็นสมุนไพร แล้วเลยรีบโทรมา เพื่อให้ทดลอง ถ้าไม่รีบโทรมาคงกลัวจะลืม 

เมื่อวานนี้ก็มีอีก โทรมาบอกว่าพบสูตรตำรายาป้องกันโรค โควิด 19 และตนได้กินไปแล้ว เชื่อว่าในเลือดจะมีภูมิต้านทาน จะขอมาบริจาคพลาสมาเอาไว้รักษาให้กับคนอื่น มีคนขอทดลอง อาหารที่กินขึ้นจมูกของญี่ปุ่น เชื่อว่ารักษา โควิด 19

ผมเองก็เกรงกลัวว่า จะเหมือนอินเดีย ที่เภสัชกรคิดค้นยารักษา โควิด 19 แล้วให้กับตนเองและภรรยา ผลลัพธ์คือเสียชีวิตทั้งคู่ ยังมีอีกมากมาย ที่นักวิจัยของเรา ฝันเกินความเป็นจริง ทำได้ 1 สลึง แต่ขอคุยไว้ 1 บาทก่อน เช่นจะได้ยา x ในเวลา 4 ปี 

ในยามว่างแบบนี้ มีคนมีแนวคิดมากมาย ถ้าให้ดี เวลานี้น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะ กับการค้นหาความรู้ใส่ตัว ปัจจุบันความรู้หาได้ง่ายมาก เพราะอยู่ในก้อนเมฆ ไม่ใช่ความรู้มาจากความฝัน ขอให้ search ถ้าไม่รู้ ก็ search หรือ re-search และถ้ายังไม่รู้อีก ค่อยเอา “-” ออก เป็น research หรือวิจัยจึงจะได้สิ่งใหม่ องค์ความรู้ใหม่

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thaipost.net

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/65782

 

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ