9 มิ.ย.63-  นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ ผู้ได้รางวัลแพทย์ดีเด่นจากแพทย์สภา ประจำปี 2561  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ว่า องค์การอนามัยโลกกลับลำแนะทั่วโลกใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ จากเดิมที่เคยบอกว่าไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนมากพอว่าหน้ากากอนามัยช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงคนไม่ป่วย ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย มาเป็นทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเวลาออกไปในที่สาธารณะ

คำประกาศใหม่ถือว่าล่าช้าเกินไป เนื่องจากในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย ได้มีการแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องออกจากบ้านก่อนหน้านี้แล้ว

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์ล่าช้า WHO เพิ่งเตือนถึงผลเสียของการฉีดพ่นน้ำยาเคมีกำจัดเชื้อโรคพื้นที่กว้างใหญ่นอกอาคาร บนทางเดิน ถนน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม และมีอันตรายต่อผู้สัมผัส สิ้นเปลืองไม่ได้ประโยชน์ ทางกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยได้ออกมาเตือนเรื่องนี้ก่อนหน้าองค์การอนามัยโลกแล้ว

ย้อนหลังไปค.ศ.1997 องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์การตรวจหาความไวต่อยาของเชื้อวัณโรคในประเทศที่กำลังพัฒนา ทำไม่ได้ สิ้นเปลือง และเปล่าประโยชน์ ผมออกมาโต้แย้งในปีค.ศ.1998 ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องตรวจ เพราะถ้าไม่ทราบผลความไวต่อยา อาจให้ยารักษาไม่ตรงกับเชื้อ ทำให้เชื้อยิ่งดื้อยามากขึ้น แพร่ระบาดให้คนอื่นต่อไป ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยขณะนั้นตอบว่าการแนะนำของผมขาดความรับผิดชอบ เพราะต้องดึงเงินจากงบประมาณอื่นมาใช้

ผมได้ก่อตั้งทุนวิจัยวัณโรคดื้อยาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ศิริราชมูลนิธิ ในปีค.ศ.2001 ทำการตรวจหาความไวต่อยาของเชื้อวัณโรคให้รพ.ของรัฐฟรีทุกแห่ง ในที่สุดองค์การอนามัยโลกก็เปลี่ยนคำแนะนำใหม่ให้ทุกประเทศตรวจหาความไวของเชื้อวัณโรคต่อยาก่อนเริ่มการรักษา แต่คำแนะนำนี้ล่าช้าเกินไป หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ได้วิจารณ์ความผิดพลาดในการทำงานขององค์การอนามัยโลกเรื่องวัณโรคในปีค.ศ. 2012 (ดูรูป)

ในอดีตองค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำความปลอดภัยทางถนนเน้นสาเหตุเฉพาะ เมา เร็ว เคารพกฎจราจร ใส่หมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย ที่นั่งสำหรับเด็ก ผมออกมารณรงค์ง่วงอย่าขับ หลังจากดูแลคุณบิ๊ก ดีทูบี ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากง่วงหลับใน ปีค.ศ.2003 ผมได้ก่อตั้งทุนง่วงอย่าขับในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มูลนิธิรามาธิบดีปีค.ศ.2005 ได้ทำการศึกษาอุบัติการง่วงหลับในของคนขับรถโดยสารและรถบรรทุก ตีพิมพ์ในปีค.ศ.2006 (ดูรูป) รณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงอันตรายจากง่วงแล้วขับ วิธีการแก้ไข ความสำคัญของการนอนหลับให้เพียงพอ และประโยชน์ของการงีบหลับ องค์การอนามัยโลกแถลงการณ์เพิ่ม ง่วงหลับใน ยาบางชนิดทำให้ง่วง การใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนนในปีค.ศ.2015 นี่คืออีกหนึ่งความล่าช้าขององค์การอนามัยโลก

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศจะถอนประเทศสหรัฐอเมริกาออกจากองค์การอนามัยโลก และงดเงินสนับสนุน เนื่องจากองค์การอนามัยโลก”ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง”ในการบริหารจัดการวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และเป็นองค์กรที่อยู่”ใต้เงาจีน”

ถึงเวลาแล้วองค์การอนามัยโลกต้องมีการปฏิรูป ปรับปรุง รับฟังความเห็นต่าง เพื่อให้คำแนะนำในการทำงานช่วยเหลือมนุษยชาติได้ถูกต้อง และรวดเร็วขึ้น.

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/68198


'หมอมนูญ'ยกเคสเกาหลีใต้อัตราเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ต่ำที่สุดในโลก ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ร้อยละ 86 ได้รับวัคซีนครบโดส ส่วนใหญ่เป็น ชนิด mRNA ไฟเซอร์ ตามด้วยแอสตร้าเซเนก้า

23 มี.ค.2565- นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC มีเนื้อหาดังนี้

 
ประเทศเกาหลีใต้มีประชากร 52 ล้านคน ติดเชื้อไวรัสโควิดไปแล้ว 9.94 ล้านคน แต่เสียชีวิตเพียง 1.3 หมื่นคน อัตราเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ต่ำที่สุดในโลก คนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น สัปดาห์ที่แล้วเกาหลีใต้มีติดเชื้อสูงสุดมากกว่า 6 แสนคนต่อวัน แต่ขณะนี้เริ่มลดลงแล้ว

การที่คนเกาหลีใต้เสียชีวิตน้อยมากจากโรคโควิด-19 เพราะ :

1.คนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าหลายเท่า

2.คนเกาหลีใต้มากกว่าร้อยละ 86 ได้รับวัคซีนครบโดส และมากกว่าร้อยละ 63 ได้รับเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะคนอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับเข็มกระตุ้นมากถึงร้อยละ 90

3.วัคซีนที่คนเกาหลีใต้ได้รับเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนชนิด mRNA ไฟเซอร์ ตามด้วยแอสตร้าเซเนก้า และโมเดอร์นา(ดูรูป) ประเทศเกาหลีใต้ไม่ใช้วัคซีนเชื้อตายซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม

คนสูงอายุของไทย 2.1 ล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว มี 10 ล้านคนได้รับวัคซีนครบ 2 โดส และมีเพียง 4.2 ล้านคนที่ได้รับเข็มกระตุ้น ถ้าเราจะลดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำเหมือนประเทศเกาหลีใต้ เราต้องเร่งฉีดวัคซีนชนิด mRNA ไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับคนสูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียว รวมทั้งฉีดเข็มกระตุ้นให้มากที่สุดให้ได้ร้อยละ 70

 ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/109811/
 

 

28 ส.ค.64 - นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” ในหัวข้อ “ทั่วโลกรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่ำกว่าความเป็นจริง”

ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสมที่รายงานทั้งโลกน้อยกว่าความเป็นจริง 10 เท่า นักวิทยาศาสตร์ด้านระบาดวิทยาให้ความเห็นว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รายงานเหมือนกับยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะมีคนจำนวนมากที่ไม่ได้รับการตรวจถึงแม้จะมีอาการ และมีคนอีกมากมายที่ไม่มีอาการ ไม่ได้รับการตรวจ จำนวนนี้อยู่ใต้น้ำมองไม่เห็น มากกว่ายอดจำนวนผู้ติดเชื้อภูเขาน้ำแข็งที่เรามองเห็น ขณะนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อสะสมทั้งโลกยืนยันแล้ว 215 ล้านคน แท้จริงแล้วอาจจะมีผู้ติดเชื้อมากถึง 2,150 ล้านคน หรือประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรโลก การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงดำเนินต่อไป

มีหน่วยงาน 4 แห่งที่ทำแบบจำลอง คำนวณหาตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายวันที่แท้จริงของแต่ละประเทศ อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา หลายหน่วยงานเห็นพ้องต้องกันว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงของสหรัฐฯน่าจะสูงกว่าตัวเลขที่รายงานประมาณ 4 เท่า จากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รายงาน 39 ล้านคน ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะเป็น 156 ล้านคนซึ่งก็ยังน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ มีการทำกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯรายวันที่คำนวณสูงกว่าที่รายงานทุกวันประมาณ 4 เท่า (ดูกราฟ)

สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน บางวันที่มีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสะสม 2 หมื่นราย ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่คำนวณ ดูในกราฟสูงถึง 1.2 แสนราย หรือมากกว่า จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันขณะนี้ 1.13 ล้านคน เป็นไปได้ที่ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อจริงอาจสูงถึง 9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรไทย

คนไทยไม่ต้องตกอกตกใจเมื่อเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงถึง 9 ล้านคน ควรจะดีใจด้วยซ้ำที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดไปแล้วตั้ง 9 ล้านคน โดยที่คนเกือบ 8 ล้านคนที่ติดเชื้อ ไม่มีอาการหรืออาการน้อย คนที่ติดเชื้อหายแล้วจะไม่รับเชื้อสายพันธุ์ที่กำลังระบาดขณะนี้ และจะไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นอีก นอกจากนี้แล้วยังทำให้คนไม่ต้องหวาดกลัวกับโรคโควิด-19 มากเกินไป เพราะโรคนี้อัตราตายหรือสัดส่วนการเสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อจะลดลงถึง 8 เท่า แทนที่อัตราตายจะเป็นคนเสียชีวิต 10,587 ราย หารด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ 1.13 ล้านคน หรือร้อยละ 0.9 จะเปลี่ยนเป็น 10,587 ราย หารด้วย 9.0 ล้านคน หรือร้อยละ 0.12

เราคงต้องอยู่กับโรคโควิด-19 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ถ้าคนไทยกลุ่มเสี่ยงคือคนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนให้เร็วที่สุดทุกคน และตามมาด้วยคนทั่วไป เมื่อติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนจะป่วยไม่รุนแรงถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิต โรคนี้ก็จะเป็นเหมือนไข้หวัดใหญ่ เราต้องเรียนรู้อยู่กับมัน ไม่ต้องกลัวมัน อยู่อย่างมีสติ ป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ ปีหน้าคงมียาต้านไวรัสเชื้อโควิด-19 ตัวใหม่ให้ทุกคนได้ใช้ และวิถีชีวิตก็คงจะกลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติมากที่สุด

ข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net/main/detail/114818

 

 

'หมอมนูญ' เจอเคส ผู้ป่วยโควิด ติดครั้งที่ 2 ห่างกัน 19 วัน เผยอาการหนักกว่าครั้งแรก
 
 
 

‘หมอมนูญ’ เจอเคส ผู้ป่วยโควิด ติดครั้งที่ 2 ห่างกัน 19 วัน เผยอาการหนักกว่าครั้งแรก แม้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว คาดติดเชื้อต่างสายพันธุ์ระหว่างเดินทาง

 

วันที่ 5 ส.ค.65 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หรือ “หมอมนูญ” ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก เล่าถึงผู้ป่วยโควิด-19 ความว่า ไวรัสโควิด-19 ติดครั้งที่ 2 ห่างกัน 19 วัน

 
 

ผู้ป่วยชายไทยอายุ 67 ปี มาโรงพยาบาลด้วยไข้ ไอ มีเสมหะ 10 วัน ประวัติเดินทางไปเที่ยวประเทศอิตาลี ขึ้นเครื่องบินวันที่ 20 มิ.ย.65 หลังเดินทางไปถึงประเทศอิตาลี 4 วัน วันที่ 24 มิ.ย. เริ่มมีอาการไข้ ไอ เสมหะ ตรวจ ATK เองได้ผลบวก ภรรยาที่ไปด้วย มีอาการคล้ายกัน และตรวจ ATK ให้ผลบวกเหมือนกัน ทั้ง 2 คนกินฟ้าทะลายโจร อาการดีขึ้นหายเป็นปกติ เดินทางกลับถึงประเทศไทยวันที่ 9 ก.ค.

หลังกลับถึงกรุงเทพ 4 วัน วันที่ 13 ก.ค. เริ่มมีอาการไข้ ไอและมีเสมหะอีก ตรวจ ATK เองให้ผลลบ กินยาปฏิชีวนะไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยมีไข้ ไอ มีเสมหะต่อเนื่อง 10 วัน เริ่มเหนื่อย ผู้ป่วยเคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองรักษาหายแล้ว หยุดยาทุกอย่าง 5 ปี ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม และกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม

ตรวจร่างกาย มีไข้อุณหภูมิ 39.5 องศาเซลเซียส ฟังปอดผิดปกติทั้ง 2 ข้าง เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวที่ปอดด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วต่ำเล็กน้อย 94 ตรวจ ATK และ RT-PCR SARS-CoV2 ให้ผลบวก ค่า RdRp/N-gene (CT Value) 17.4 ส่งตรวจ respiratory virus และ bacteria PCR panel ไม่พบไวรัส และแบคทีเรียตัวอื่นๆที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ ตรวจไม่พบเชื้อวัณโรค

วินิจฉัยเป็นปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งที่ 2 ให้ยาฉีดเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) 5 วัน และเสตียรอยด์ทางหลอดเลือด คนไข้ดีขึ้น ไข้ลง ไอน้อยลง ไม่เหนื่อย เอกซเรย์ปอดดีขึ้น หยุดใช้ออกซิเจน ระดับออกซิเจนในเลือดกลับมาปกติ

 

ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อไวรัสโควิด 2 ครั้งห่างกันเพียง 19 วัน เชื่อว่าติดเชื้อต่างสายพันธุ์ระหว่างเดินทางในเครื่องบินทั้งขาไปและขากลับ เพราะเวลากินอาหารในเครื่องบินต้องถอดหน้ากากอนามัย ติดเชื้อครั้งที่ 2 รุนแรงกว่าติดเชื้อครั้งแรก ทั้งๆที่ผู้ป่วยได้รับวัคซีน 3 เข็มแล้ว แต่ผู้ป่วยอาจมีภูมิคุ้มกันไม่ดี เนื่องจากเคยป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ถึงแม้จะรักษาหายขาด 5 ปีแล้วก็ตาม

ข้อมูลจาก https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_7197867

 

27 ก.พ. 2565 – นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า

คนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ หากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ถึงแม้จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าแล้ว 2 เข็ม หรือถ้าได้วัคซีนเชื้อตายซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าอีก 1 เข็ม เชื้อก็ยังอาจลงปอด เกิดปอดอักเสบได้ จำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นาอีก 1 เข็มถึงจะปลอดภัยมากขึ้น

 

ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 93 ปี เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ เคยผ่าตัดมะเร็งเต้านม 2 ปีก่อน ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข็มแรกเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 และเข็ม 2 วันที่ 13 กันยายน 2564 เตรียมตัวจะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แต่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เสียก่อน ผู้ป่วยไม่ได้ออกนอกบ้าน แต่ติดเชื้อโควิดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 จากคนงานในบ้าน มีเจ็บคอ น้ำมูก ไอบ้าง ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส ไม่มีท้องเสีย มาโรงพยาบาลวันที่ 7 กพ. ตรวจ ATK ให้ผลบวก ยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR SARS-CoV2 วัดระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วปกติ 96 % เอกซเรย์ปอดปกติ คนไข้สมัครใจขอนอนรักษาตัวที่บ้าน โทรศัพท์ติดตามทุกวัน ไม่ได้ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เพราะผู้ป่วยกินยาเบาหวาน และไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบยาฟาวิพิราเวียร์กับยาหลอกว่ายาฟาวิพิราเวียร์สามารถลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้

ติดตามคนไข้ทางโทรศัพท์ทุกวันจนวันที่ 7 หลังติดเชื้อไวรัสโควิด ผู้ป่วยกินอาหารได้น้อย น้ำตาลในเลือดตกเหลือ 53 mg% เริ่มมีไข้ เหนื่อยให้เข้ามานอนในโรงพยาบาลทันทีวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 65 มีไข้ อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส ระดับออกซิเจนในเลือดตกเหลือ 92 % เอกซเรย์ปอดเริ่มมีฝ้าขาวทั้ง 2 ข้าง (ดูรูป) เม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำ 4,490 ค่าอักเสบในเลือด hs-CRP 57 สูง (ค่าปกติ 0-5) LDH 312 สูงเล็กน้อย (ค่าปกติ 120-246) ได้ออกซิเจนทางจมูก (nasal cannula) 3 ลิตร/นาที ให้การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ทางเส้นเลือด 5 วัน ไข้ลง ไม่เหนื่อย ระดับออกซิเจนในเลือดดีขึ้น เอกซเรย์ปอดดีขึ้น คนไข้กลับบ้านได้ ไม่ต้องใช้ออกซิเจน หลังนอนโรงพยาบาล 6 วัน ติดตามเอกซเรย์ปอด 1 สัปดาห์หลังออกจากโรงพยาบาล เอกซเรย์ปอดกลับมาเป็นปกติ (ดูรูป) ปัจจุบันคนไข้สบายดี ไม่เหนื่อย ไม่ไอ กินอาหารได้ดี ถ้าก่อนหน้านี้คนไข้ได้รับวัคซีน mRNA ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา กระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 อาการหลังติดเชื้อโอมิครอนคงจะเบากว่านี้

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/93713/

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ