'หัวหน้า' และ 'คนทำงาน' แบบไหน ที่โลกต้องการในปี 2021

เช็คลิสต์! คุณสมบัติของ "หัวหน้า" หรือ "ผู้บริหาร" รวมถึง "คนทำงาน" ที่ตลาดแรงงานปี 2021 ต้องการ และทิศทางการปรับตัวให้ทันโลกที่เหวี่ยงเร็วก่อนที่เราจะถูกเหวี่ยงออกจากการทำงานในอนาคต

ตัวเลขคน "ตกงาน" ที่มีแนวโน้มมากขึ้นในบ้านเราเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาที่มากขึ้น การดิสรัปของเทคโนโลยี และอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญมาก คือ "ทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน" 

นี่ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วคล้ายคลึงกันในหลายประเทศทั่วโลก และเป็นการส่งสัญญาณว่า "การทำงานแบบเดิมๆ จะไม่สามารถตอบโจทย์การทำงานได้อีกต่อไป"

  •  แล้วคนแบบไหนที่โลกการทำงานต้องการ ในปี 2021? 

ข้อมูลจากงานสัมมนา "Brand inside forum 2020 New Workforce" สะท้อนให้เห็นว่าในอนาคตการทำงานที่เคยเปลี่ยนมาตลอด จะเปลี่ยนแปลงไปยิ่งกว่านี้ และนั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่คนทำงานยุคใหม่ต้องเปลี่ยนตัวเองให้ทันโลก หรือในบางครั้งอาจจะต้องนำหน้าการหมุนของโลกก่อนที่จะถูกเหวี่ยงออกไปจากตลาดแรงงาน

ทว่าการเปลี่ยนแปลงในอนาคตไม่เลือกหน้า ไม่ว่าจะอยู่ใน "ระดับปฏิบัติงาน" "ลูกน้อง" หรือนั่งเก้าอี้ "ผู้บริหาร" หรือผู้ที่ต้องรับผิดชอบระดับ "หัวหน้างาน" ก็จะต้องปรับตัวเพื่อขับเคลื่อนทีมของตัวเองไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพที่อาจต้องเปลี่ยนไปจากทศวรรษก่อนหน้าแทบจะสิ้นเชิง

 

160446133022

 

  •  "ผู้นำ" แบบไหน ที่ลูกน้องอยากได้ในอนาคต 

ธนา เธียรอัจฉริยะ, Chief Marketing Officer SCB พูดถึงแนวโน้มการเป็นผู้บริหารและผู้นำยุคใหม่ที่ใครๆ ก็ต้องการปี 2021 ซึ่งหน้าที่ของผู้บริหารหรือหัวหน้านับตั้งแต่ปี 2021 จะไม่เหมือนยุค 90's อีกแล้ว

ธนา เล่าว่า เมื่อพูดถึงหัวหน้า หรือที่หลายคนเรียกว่าเจ้านายเมื่อราว 10-20 ปีที่แล้ว คือคนที่น่าเกรงขาม คอยสั่งงาน และผลักดันให้งานนั้นสำเร็จ แต่ในโลกยุคใหม่จะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหน้าที่สำคัญของผู้นำที่ดี คือการ "สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงาน" นั่นหมายถึงการสร้างบรรยากาศที่กระตุ้นให้ทีมสามารถแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ และมีความสุข ไม่ใช่แค่ทำตามคำสั่งเพื่อวัดผล

 

"ผู้นำที่ดีคือคนที่สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงาน และดึงศักยภาพของคนทีมออกมาได้ดี" 



ธนา เธียรอัจฉริยะ

โดย ธนา ได้เน้นย้ำ 4 เรื่องสำคัญที่คนเป็นผู้บริหาร หัวหน้างาน หรือผู้นะต้องมีในโลกของการทำงานยุคใหม่ที่มีความไม่แน่นอนจากทุกทิศทาง ประกอบด้วย

Humble : รู้ว่าตัวเองไม่รู้ ณ ที่นี้หมายถึงการไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว พร้อมที่จะยอมรับว่าตัวเองไม่รู้อะไร เพื่อเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ทำตัวรู้ไปเสียทุกเรื่อง 

Empathy: ทำตัวให้เล็กเข้าไว้ ในอดีตผู้บริหารหรือหัวหน้ามักจะเป็นผู้ที่ชี้นำทุกอย่างให้กับคนทำงาน แต่คนในเจเนอเรชั่นใหม่ต้องการแสดงความเห็น และแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนจุดหมายบางอย่างร่วมกัน ดังนั้น เป็นผู้นำยุคใหม่ ลองเป็นผู้ตามในบางเรื่องแล้วจะเจออะไรใหม่ๆ และมีโอกาสเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจคน เมื่อมีความเข้าใจและรู้จักรับฟังอย่างแท้จริง 

Sacrifice: เสียสละ คนที่ไม่พร้อมจะเสียสละ..เป็นผู้นำไม่ได้ ต้องเหนื่อยให้ทีมงานเห็น จึงจะเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของคนได้ โดยเฉพาะทีมงานของตัวเอง

Courage: มีความกล้าหาญ ผู้นำต้องกล้า ทั้งกล้าคิด กล้าทำสิ่งใหม่ๆ ถ้ายอมรับเมื่อมีอะไรผิดพลาด ไม่มัวแต่โทษคนอื่น 

ด้าน กานติมา เลอเลิศยุติธรรม, Group Chief Human Resources Officer, AIS  ได้กล่าวถึงผู้บริหารในอนาคตไว้ว่า "ถ้าผู้บริหารกำลังติดกรอบความสำเร็จเดิม เพราะบริบาทการแข่งขันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ลูกค้าเปลี่ยนเจเนอเรชั่น ผู้บริหารหลายคนมักจะเอาการแก้ปัญหาเดิมๆ มาแก้ปัญหาใหม่ ท่านกำลังไปสู่หายนะ"

 

"คนรุ่นก่อนอาจจะถามว่าเวลาเราเจ็บป่วยองค์กรจะดูแลยังไง แต่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามว่าองค์กรจะดูแลเรายังไงไม่ให้ป่วย"

กานติมา เลอเลิศยุติธรรม

กานติมาอธิบายอีกว่า คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามและมีมุมมองที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ไม่นับถือผู้บริหารเพียงเพราะอยู่ในลำดับบังคับบัญชาที่สูงกว่า แต่จะนับถือคนที่ออนท็อปส์ให้พวกเขาเก่งและเติบโตได้ คนรุ่นก่อนอาจจะถามว่าเวลาเราเจ็บป่วยองค์กรจะดูแลยังไง แต่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามว่าองค์กรจะดูแลเรายังไงไม่ให้ป่วย

ที่สำคัญคือ คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานประจำ คนที่มีศักยภาพไม่อยากทำงานให้องค์กรใดองค์กรหนึ่ง ดังนั้นผู้นำต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้คนทำงานที่มีประสิทธิภาพอยู่กับองค์กรได้ หรือทำงานให้องค์กรแบบใดได้บ้างบนความบาลานซ์แบบใหม่ด้วย

 

บทความจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/905977?anf=

2 ก.ย. 2565 – นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 2 ปีกว่าที่ผ่านมา คนที่ติดตามการทำงานขององค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด จะสังเกตเห็นว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกบางเรื่องของโรคโควิด-19 ดูจะล่าช้าเกินไปสำหรับองค์กรระดับโลก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด องค์การอนามัยโลกกว่าจะยอมรับว่า เชื้อไวรัสโรคโควิด-19 สามารถแพร่กระจายทางอากาศ ติดต่อกันทางการหายใจเหมือนเชื้อไวรัสโรคหัด อีสุกอีใส และเชื้อวัณโรค ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี

ผมออกมาให้ความเห็นว่าไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่กระจายได้ทางอากาศ หลังจากเห็นการระบาดอย่างเป็นกลุ่มก้อนในสนามมวยลุมพินีในเดือนมีนาคม 2563 มีคนติดเชื้อในสนามมวยวันนั้นมากกว่า 50 คน ทั้งๆที่อยู่ห่างกันหลายสิบเมตร เพราะอยู่ในสถานที่ที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อากาศถ่ายเทไม่ดี คนป่วยตะโกนเสียงดัง ส่งเสียงเชียร์ ปล่อยเชื้อไวรัสออกมาในอากาศ โดยช่วงนั้นคนยังใส่หน้ากากอนามัยน้อยมาก คนติดเชื้อจากการหายใจเชื้อไวรัสที่ล่องลอยอยู่ในอากาศเป็นเวลาหลายชั่วโมงไปได้ไกลหลายสิบเมตร ประเทศไทยเสียเงิน เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามพื้น เช่นตลาด และโรงเรียนที่พบการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันเลิกทำแล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ผอ.องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์ เรายังพูดไม่ได้ว่า “เรากำลังเรียนรู้อยู่ร่วมกับโควิด”

 
 

เรื่องนี้ผมได้ออกมาแนะนำให้คนไทยเรียนรู้อยู่ร่วมกับโควิดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เพราะเห็นว่าเราไม่มีทางกำจัดเชื้อไวรัสโควิดให้หมดไปจากโลกนี้ได้ เราต้องยอมรับ และอยู่ร่วมกับไวรัสโควิดอย่างมีสติ อย่าท้อแท้ อย่าวิตกกังวล กลัวโรคโควิดมากเกินไป

ปัจจุบันรัฐบาลเกือบทุกประเทศกำลังปรับลดระดับการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับโรคติดต่อเฝ้าระวังตามฤดูกาลเช่นไข้หวัดใหญ่ และใช้วิธีการที่เข้มงวดน้อยลง ยืดหยุ่นมากขึ้นในการลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส เพื่อสร้างสมดุลระหว่างกิจกรรมทางการศึกษา การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุข.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/212868/

 

'หมอนิธิพัฒน์' เผยตัวเลขโควิดเริ่มดีขึ้น เชื่อหาลดต่อเนื่องจะเดินหน้าประเทศเต็มที่ได้ ชี้ยุคโอไมครอนฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้อยู่ถึงเวลาเก็บเข้ากรุ หายาต้านไวรัสอื่นได้แล้ว

01 ก.ย.2565 - รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า สถิติโควิดวันนี้ ร้อยละการตรวจพบเชื้อในรอบเจ็ดวันที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่องเหลือ 5.79% ถึงน้อยกว่า 5% เมื่อไรจะได้อุ่นใจเดินหน้าประเทศกันเต็มสูบ

ความมั่นคงทางยาและเครื่องมือแพทย์ เป็นหลักประกันหนึ่งของประเทศในยุคเปลี่ยนผ่านสำหรับโควิด ลองมาสำรวจดูว่าอาวุธที่เรามีใช้งานอยู่ ทั้งผลิตได้เองในประเทศและที่ต้องนำเข้า ยังมีประสิทธิผลดีเพียงพอหรือไม่ ในการรับมือกับโอไมครอน BA.5 ซึ่งยังเป็นขาใหญ่ครองตลาดอยู่ในขณะนี้

เริ่มจากการป้องกันก่อนติดเชื้อ สำหรับคนที่แนวโน้มภูมิคุ้มกันจะขึ้นไม่ดีหลังฉีดวัคซีน บ้านเราได้จัดเตรียมแอนติบอดี้ออกฤทธิ์นาน ยี่ห้อ Evusheld ไว้ในปริมาณเพียงพอระดับหนึ่ง แม้จะมีข่าวว่ารัฐบาลอังกฤษชะลอการจัดซื้อยานี้ออกไป แต่ประเทศอื่นส่วนใหญ่ยังไว้ใจในอาวุธสำคัญชิ้นนี้ และมีการสั่งซื้อเตรียมพร้อมไว้ใช้งานได้เพียงพอในประเทศ

 

ในบทความตามลิงค์ https://www.journalofinfection.com/action/showPdf... กล่าวถึงผลการใช้ยานี้ในโลกแห่งความเป็นจริงจากหลายภูมิภาค โดยคณะผู้นิพนธ์ได้ทำการทบทวนวรรณกรรมจาก 5 การศึกษา ส่วนใหญ่ทำในช่วงที่มีการระบาดของโอไมครอนแล้ว ครอบคลุมประชากรราวเกือบหนึ่งหมื่นห้าพันคน เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับยานี้ซึ่งมีอย่างละครึ่งใกล้เคียงกัน พบว่า Evusheld สามารถช่วยลดอัตราตายลงได้ราวครึ่งหนึ่ง แต่อาจมีข้อจำกัดบ้างที่ประชากรที่ทำการศึกษาได้รับวัคซีนโควิดมาแตกต่างกัน และขนาดยาที่ใช้ในแต่ละการศึกษายังมีความแตกต่างกันไปบ้าง สำหรับในบ้านเราเองกำลังติดตามผลการใช้รักษาจริงหน้างาน และถ้าเป็นได้ผมกำลังชักชวนนักวิจัยในประเทศที่สนใจด้านเภสัชวิทยา เพื่อทำการศึกษาถึงขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับคนไทย

ถัดมาเป็นยาที่ใช้เมื่อเราติดเชื้อแล้วไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยเหมือนไข้หวัด ฟ้าทะลายโจรช่วยบรรเทาอาการได้เร็ว และอาจช่วยป้องกันโรคลุกลามได้ ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการสร้างแบบจำลองเพื่อหาขนาดยาที่เหมาะสม พบว่าถ้าจะให้ได้ผลดี วันแรกควรกินยาฟ้าทะลายโจร ในขนาดที่เพิ่มเป็นสองเท่าจากขนาดซึ่งแนะนำกันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ได้ปริมาณสารออกฤทธิ์คือ andrographolide (APE) เป็น 360 มิลลิกรัมในวันแรก คือ จากเดิมที่ให้กินวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 เม็ดถ้าเป็นยาที่มี APE เม็ดละ 20 มิลลิกรัม หรือ ครั้งละ 5 เม็ดถ้าเป็นชนิดมี 12 มิลลิกรัม ก็ต้องเพิ่มเป็นครั้งละ 6 หรือ 10 เม็ดแล้วแต่ปริมาณ APE ส่วนอีกสี่วันที่เหลือจึงค่อยกินยาต่อในขนาดซึ่งแนะนำในปัจจุบัน แต่ต้องเน้นกันไว้ก่อนว่า ขนาดยาที่สูงขึ้นสองเท่าในวันแรกนี้ ยังไม่มีการศึกษาในการใช้งานจริงว่ามีความปลอดภัย โดยเฉพาะในคนที่มีโรคตับอยู่ก่อน หรือกินยาอื่นที่มีผลต่อตับร่วมด้วย https://www.worldscientific.com/doi/10.1142/S0192415X22500732?url_ver=Z39.88-2003&rfr_id=ori:rid:crossref.org&rfr_dat=cr_pub%20%200pubmed

อีกหัวข้อที่เป็นที่ถกเถียงในแวดวงวิชาการกันมาก คือยาฟาวิพิราเวียร์ จากประสบการณ์ของแพทย์ไทยดูจะได้ประโยชน์ดีในยุคแรกๆ จนมาถึงช่วงกึ่งกลางของระลอกเดลตา ที่ชักพบว่าถึงแม้ให้ยานี้เร็วก็รับมือกับโรคไม่ค่อยอยู่ คณะนักวิจัยจากหลายสถาบันในบ้านเราเอง ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยจำนวน 93 คน ที่ติดเชื้อมาไม่เกิน 10 วันและยังไม่มีปอดอักเสบ โดย 62 คนได้รับยาอีก 31 คนไม่ได้รับ พบว่าค่ามัธยฐานของการมีอาการของโรคโดยรวมดีขึ้นต่างกันชัดเจน คือ 2 วันในกลุ่มได้รับยาและ 14 วันในกลุ่มได้รับยา โดยกลุ่มที่ได้รับยาเกิดปอดอักเสบภายหลังน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหนึ่งเท่าตัว แต่ปอดอักเสบทั้งสองกลุ่มก็ไม่รุนแรงและหายได้ดี https://www.tandfonline.com/.../22221751.2022.2117092...

ข้อสังเกตคือการศึกษานี้ทำในช่วงก่อนเดลตาระบาดเป็นส่วนใหญ่ โดยประชากรทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีนโควิดมาเลย สำหรับเครื่องมือที่ใช้วัดอาการของโรคโดยรวมคือ NEWS นั้น นิยมใช้ในการจำแนกผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงว่าควรให้การรักษาเร่งด่วนหรือไม่ แต่การนำมาใช้ติดตามผู้ป่วยว่าอาการดีขึ้นยังไม่มีการศึกษาแพร่หลายว่าใช้งานได้ดี (NEWS ประกอบด้วยการให้คะแนนโดยดูจาก 6 องค์ประกอบ คือ อุณหภูมิ ชีพจร อัตราการหายใจ ความดันโลหิต ระดับความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้ว และระดับการรู้ตัว) นอกจากนี้เมื่อดูผลการกำจัดไวรัสไปจากร่างกายเร็วหรือช้า พบว่าทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกัน

อีกการศึกษาหนึ่งจากมาเลเซียเพื่อนบ้านทางใต้ของเรา ที่คล้ายกันและทำในช่วงเวลาเดียวกัน เพียงแต่มีผู้เข้าร่วมถึง 500 คน โดยมีอาการปานกลางและฉีดวัคซีนไม่ถึง 5% จุดสนใจหลักคือการลุกลามของโรคจนเกิดภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด (hypoxemia) จุดสนใจรองคือ อัตราการต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อัตราต้องนอนไอซียู และอัตราการเสียชีวิต พบว่ากลุ่มที่ให้ยาเกิดจุดสนใจทั้งสี่คิดเป็น 18.4%, 2.4%, 5.2%, และ 2.0% ตามลำดับ เทียบกับในกลุ่มที่ไม่ได้ยาฟาวิพิราเวียร์เกิด 14.8%, 2.0%, 4.8%, และ 0% ตามลำดับ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ข้อสรุปสำหรับผม ในยุคโอไมครอนที่คนไทยฉีดวัคซีนกันได้มากแล้ว ยาฟาวิพิราเวียร์ที่รับใช้เราในการต่อสู้กับโควิดมายาวนาน ได้เวลาเก็บเข้ากรุแห่งความทรงจำแล้ว มียาต้านไวรัสอื่นที่ได้ผลดีกว่าในราคาที่ไม่แตกต่างกัน #เตรียมพร้อมยุคหลังโควิด

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/212151/

16 มิ.ย.63- รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก. Thira Woratanarat ว่า

...รักก็คือรัก หลงก็คือหลง ถ้าถามชาวประมงก็คงไม่เข้าใจ...

ฟังดนตรีเพลินๆ ก็มีคำถามในใจขึ้นมา

ถามว่าตอนนี้ผมวางแผนว่าจะถามชาวประมงว่าอะไร เหตุใดจึงคาดว่าเค้าจะไม่เข้าใจ

ที่ผมจะถามคือ รู้ไหมว่าในช่วงต้นปีนั้น ณ ดวงดาวโอเมก้าเดลต้าอัลฟ่า-32187 เหตุใดจึงมีการสนับสนุนจัดงานแข่งรถบางอย่าง การันตีความปลอดภัย และออกข่าวว่าจะได้เงินเข้าประเทศจากนักท่องเที่ยวเรือนแสน ทั้งๆ ที่มีโรคระบาดในสังคม? แต่สุดท้ายก็เงียบไป

เหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์หน้ากากล่องหน? แต่สุดท้ายก็เงียบไป

เหตุใดจึงมีเรื่องหัวคิวสถานกักตัวสังเกตอาการ? แต่สุดท้ายก็เงียบไป

เหตุใดจึงเกิดกระแสยาเสพติดโด่งดังเรื่องสรรพคุณรักษาโรคมากมาย ทั้งๆ ที่หลักฐานวิชาการแพทย์สากลมีที่ใช้อย่างจำกัดมาก? มีแพทย์มากมายออกมาทักท้วง แต่สุดท้ายก็เงียบไป จะทำอ่ะ ใครจะทำไรได้

ตกลงโคขวิดคือหวัดธรรมดาไหมนะ? เห็นดังอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วเงียบๆ ไปเหมือนกัน

พอเรากวาดตามองจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีปรากฏการณ์ที่เราไม่เข้าใจอยู่มากเหลือเกิน

ไม่เข้าใจว่า...เกิดขึ้นได้อย่างไร หากดำเนินชีวิตอย่างมีสติอยู่เสมอ ใช้ปัญญาในการคิดไตร่ตรอง และสำคัญที่สุดคือ การผ่านด่านคุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรม ก่อนจะตัดสินใจประพฤติปฏิบัติ

หันมามองบ้านเรา ดีใจที่วันนี้ไม่มีเคสติดเชื้อรายใหม่

0 รายติดต่อกันนานทีเดียว

แต่อย่าเพิ่งประมาทนะครับ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ก็มีเคสติดเชื้อใหม่กลับมาแม้เค้าจะศูนย์มาหลายสัปดาห์มากกว่าเรา

ย้ำหลายครั้งว่า โควิด-19 เป็นโรคที่เกิดจากไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเรายังไม่มียารักษามาตรฐาน ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

อาวุธเดียวที่เรามีคือ การ์ดจากสองแขนของเรานี่แหละที่จะต้องช่วยกันป้องกันอย่างพร้อมเพรียง

ใส่หน้ากากเสมอ...ล้างมือบ่อยๆ...อยู่ห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1 เมตร...

พูดน้อยลง...พบปะคนน้อยลงสั้นลง

เลี่ยงที่แออัดอโคจร...และหมั่นตรวจเช็คอาการของตนเองและครอบครัว ถ้าไม่สบายให้รีบปรึกษาแพทย์ใกล้ตัว

เคสใหม่ไม่มีรายงาน ไม่ได้แปลว่าไวรัสหมดไปจากประเทศ

รัฐช่วยปลดล็อคให้มีการใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติแล้ว ขอให้มีสติในการใช้ชีวิต

ศึกนี้ยาวนาน...ควรอดทน อดกลั้น อดออม พอเพียง

นโยบายใดๆ ที่รัฐจะกระทำออกมานั้น หากมีความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน อยากขอเรียกร้องให้มีกลไกกลางในการกลั่นกรองและได้รับการพิจารณาจากท่านนายกรัฐมนตรีและทีมงานอย่างละเอียด

เน้นว่าโปรดระวังการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ผ่านกลุ่มการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่ง เพราะจะขาดการถ่วงดุลอำนาจการตัดสินใจ

ยิ่งโรคระบาดลามไปทั่วโลก ยิ่งต้องระวังนโยบายด้านสุขภาพ ท่องเที่ยว และเดินทางครับ.

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net/

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/68859

13 ก.ค.64 - นายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง  "เผชิญโควิดระลอกใหม่ด้วย “ความคิดใหม่”" ผ่านเว็บไซต์ www.thaipost.net มีเนื้อหาดังนี้                                                                        

ความคิดใหม่ ที่ ๑ : เราต้องรู้จักอยู่กับโควิด

ถาม    อะไรคือความคิดเก่า?

ตอบ    ต้องทำยอดผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์ ใครติดเชื้อต้องทุ่มเทหาตัวมากักกันให้หมดรวมทั้งกลุ่มเสี่ยงด้วย  พบเชื้อแล้วต้องอยู่โรงพยาบาล โรงพยาบาลที่ตรวจพบต้องรับรักษาเสมอ  ผู้ติดเชื้อจะอยู่กับบ้านไม่ได้  วัคซีนต้องจัดหาและฉีดให้ราษฎรโดยรัฐเท่านั้น  รัฐเท่านั้นที่จะจัดการตรวจเชื้อ ฯ

ความคิดที่เห็นตนเองเป็นพ่อ ไม่ยอมให้ชาวบ้านเลือกอะไรได้เอง ทั้งวัคซีน ทั้งการตรวจ ทั้งการดูแลรักษาตนเอง จนปฏิเสธทั้งเสรีภาพชาวบ้านกับการทำงานของกลไกการตลาดทั้งหมดอย่างนี้  นี่แหละครับคือความคิดเก่า  ที่ทำให้ประชาชนต้องกลายเป็นเสมือนไก่ในเล้าปิดที่มีโรคระบาดเต็มเล้า   มีสัตว์แพทย์ คอยออกจอชี้แจงยอดติดเชื่อยอดตาย กับผู้จัดการเดินวนพูดนะจ๊ะๆๆ ไปวันๆเท่านั้น

ถาม    ความคิดใหม่เป็นอย่างไร?

ตอบ ความคิดเก่ามันฝืนทั้งความจริงและสิทธิพื้นฐาน     คุณเห็นไหม ในที่สุดรัฐก็ต้อง   ยอมขยายประตูนำเข้าวัคซีน ทั้งโดยภาคเอกชนและส่วนท้องถิ่น  รวมทั้งเครื่องมือตรวจเชื้อก็เริ่มขยายประคูแล้ว  

นี่คือทิศทางที่ถูก ผู้ติดเชื้อจะมีโอกาสตรวจตนเอง ดูแลตนเองได้  ถ้าไม่ไหวก็มีสถานที่แยกตัวชุมชนเป็นโรงเรียน เป็นวัดมาช่วยก็ได้    แต่ทิศทางนี้ ปัจจุบันก็ยังมีแรง  กีดกั้นจากความคิดเก่าๆอยู่อีกมาก

ในทางตะวันตกที่ประชาชนไม่ยอมเป็นไก่ เขาจะให้ชาวบ้านดูแลตนเองได้  การจัดหาและกระจายวัคซีนก็เปิดกว้างเข้าถึงง่ายกว่านี้   ตัวอย่างที่ชัดมากๆ ก็เช่นที่อเมริกา

ถาม    ก็คนป่วยล้นโรงพยาบาล ตายเป็นเบือแล้ว  เขาถึงยอมให้คนรักษาตัวอยู่กับบ้านได้ไม่ใช่หรือ

ตอบ    ไม่ใช่ครับ  เขาไม่ยอมกันแต่แรกโดยเห็นเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนเลย  ชาวบ้านในเมืองเขา ตรวจเชื้อได้เร็ว ซื้อเครื่องตรวจจากร้านขายยาข้างบ้านก็ได้  พบเชื้อแล้วรัฐก็มีข่ายที่ปรึกษาและชุดยากับเครื่องมือดูแลตนเองให้  ไปไม่ไหวจริงๆจึงจะรับเข้านอนโรงพยาบาล

ถาม    เขาเถียงเรื่องชนิดวัคซีนกันเหมือนบ้านเราหรือไม่ 

ตอบ    ให้เสรีภาพแล้ว คุณก็รับผิดชอบตนเอง เลือกเองไปตามที่คุณเชื่อ แล้วจะมาเถียงอะไรกันอีกให้หนวกหู  จะฉีดหรือไม่ ยี่ห้ออะไร ฉีดกี่เข็ม ฉีดข้ามชนิดได้ไหม ก็เลือกเอาเอง   แต่ถ้าไม่ยอมฉีด ไม่ยอมตรวจ แล้วขึ้นเครื่องบินไม่ได้ ก็ไม่รู้นะ

ถาม    บ้านเราเอาตัวอย่างเขามาปรับใช้ได้บ้างไหม

ตอบ    ยอดผู้ติดเชื้อไม่ต้องประกาศ บอกยอดผู้ป่วยในโรงพยาบาลกับความคับขันเท่านั้นก็พอ จะได้ตื่นตัวดูแลตัวเองกันมากๆ  

มาตรการการดูแลตนเองหรือโดยชุมชนนั้นเราต้องสนับสนุน พร้อมชุดยาและเครื่องมือจากรัฐ

วัคซีนตัวไหน   เครื่องมือตรวจเชื้อด้วยตนเองแบบไหนที่โลกเขาใช้กันแล้ว  ต้องเอาเข้ามาได้โดยสะดวก  อย.ต้องลดบทบาทลงมาดูที่ข้อมูลและการโฆษณาเท่านั้น   ภาษีทุกชนิดที่เกี่ยวข้องต้องไม่เสีย พอไม่เสียแล้ว รัฐก็ประกาศเข้าคุมราคาไม่ให้ค้ากำไรเกินควรอีกที    

ถาม    ในทางกฎหมายทำได้หรือครับ

ตอบ    นี่คือภาวะฉุกเฉิน จะมัวคิดเป็นขุนนางหวงอำนาจ เฝ้าแต่ละเมียดอำนาจไม่ได้ นายกฯต้องออกกฎหมายพิเศษ ตราพระราชกำหนดออกมาเลย    จะไปรอ  หมอขุนนาง หรือหมอวิชาการเสนอทำไม    มันชัดเจนแล้วว่าเรื่องโควิดนี้ เราต้องคืนเสรีภาพให้ประชาชนดูแลตนเองได้  ทั้งโดยความเป็นจริงและหลักการ

“ความคิดเก่า” ไม่ควรมีที่อยู่อีกต่อไป

ถาม    จีนเขาก็ใช้ใช้ความคิดเก่า เอาโควิดอยู่หมัดเลยไม่ใช่หรือ

ตอบ    ระบบพรรคเดียวของเขามันถี่ถ้วนจนสร้างความรับผิดชอบของทุกฝ่ายได้  บ้านเราไม่มีโครงสร้างเช่นนั้น  อย่างบ้านเรานี้ ถ้าการนำไม่ดี  คิดไม่เป็น หาความรับผิดชอบไม่ได้  มันก็ไปไหนไม่เป็นเลย ไม่เห็นหรือ
อย่างเรื่องฉีดวัคซีนนี่  ที่ถูกแล้ว ต้องรับจดทะเบียนแสดงความประสงค์เป็นตำบลก่อน  พอรัฐได้วัคซีนในมือแล้วจึงติดต่อให้มาฉีดตามตำบล ตามเวลาที่นัดหมายอีกที  ไม่มีใครเขารับนัดกันทีเดียวทั้งประเทศเป็นสองสามเดือนอย่างนี้หรอกครับ  ระบบนี้มันจัดการความเสี่ยงไม่ได้หรอก

ถาม    เขาไม่เห็นหรือครับ ว่าระบบจองวัคซีนของ “หมอพร้อม”มันใช้ไม่ได้

ตอบ    มันเป็นเรื่องที่ต้องซักถามกันในสภาว่าทำไมต้องแทงม้าตัวเดียว แล้วให้จองทีเดียวแบบนั้น   ลึกๆแล้วคุณต้องการเร่งสร้างภาพทางการเมืองให้ชาวบ้านสบายใจว่าได้วัคซีนแล้ว  ใจเย็นได้แล้วๆว่า “วัคซีนกำลังจะหมุนไป” ใช่หรือไม่ 

คุณทำได้อย่างไร ทั้งๆที่เห็นความเสี่ยงอยู่เต็มหน้าอย่างนั้น  นี่ไม่ใช่เรื่องคอร์รัปชั่นครับ  แต่เป็นเรื่องความไว้วางใจให้กุมชีวิตของเรา

ความคิดใหม่ที่ ๒ : การบริหารใหม่

ถาม    ถ้า กระทรวงหรือหมอเก่าๆ คัดค้านทิศทาง ตามความคิดใหม่นี้ จะว่าอย่างไร

ตอบ    นายกฯต้องรู้ว่าตนคือผู้นำและผู้รับผิดชอบ  ที่จริงนั้น ศบค.ยุบเสียก็ได้   แล้วตั้งผู้ช่วยรัฐมนตรีพร้อมคณะที่ปรึกษาในเรื่องโควิดนี้โดยเฉพาะ   ทำงานเต็มเวลามีหน้าที่ขบคิดรวบรวมหาข้อมูล ความคิดจากฝ่ายต่างๆ มาสกัดเป็นทางเลือกทางนโยบาย ( Delivery Office )  ให้นายกฯตัดสินใจโดยอธิบายได้ให้ได้ เรื่องไหนสำคัญก็เข้า ครม.  ถ้ารัฐมนตรีสาธารณะสุขขวางคลอง นายกฯก็ปลดเลย   ไม่ใช่ไปรวบเอาอำนาจตามกฎหมายมาให้นายกฯสั่งการเองทั้งหมด  แต่ข้อมูลกับงานมันกลับอยู่ที่กระทรวงอย่างนี้ มันผิดหลักจริงๆ

ถาม    แล้ว นายกฯทุกวันนี้ ทำอะไรอยู่

ตอบ    ปัญหาอยู่ที่เขาไม่ยอมเป็น “ผู้นำ” ครับ  เขาให้ ศบค.เป็นผู้พิจารณาและพูดให้เขาฟังเป็นเรื่องๆตามแต่วิกฤตมันจะพาไป  งานการมันจึงตามหลังปัญหาตลอด   ศบค.เองก็ตัดสินโดยการประชุมเป็นครั้งคราวตามประเด็นปัญหาที่ปรากฎเท่านั้น  

ทำงานอย่างนี้ มันสร้างการตัดสินใจไปในอนาคตด้วยข้อมูลและทางเลือก ที่ครบถ้วนกลั่นกรองแล้วไม่ได้

ถาม    ทำไมการจัดหาวัคซีน ถึงเละตุ้มเป๊ะเช่นทุกวันนี้

ตอบ    นายกฯอังกฤษ ตั้ง “คณะทำงานจัดหาวัคซีน” ตั้งแต่ได้ข่าวอูฮั่นแล้ว เขาเลือกจากคนที่เหมาะสมโดยครบถ้วนจริงๆ หมอขุนนางจากกระทรวงมีที่นั่งแค่ ๑ ที่นั่ง   หมอวิชาการอาวุโสที่มั่นใจตนเองมาก แต่ความรู้น้อยไม่เท่าทันกับความก้าวหน้าในวงวิชาการที่เกี่ยวข้องเขาก็ไม่เอา  ผู้ใหญ่ภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ในการหาแหล่งเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ เขาก็เอาเข้ามานั่งด้วยจะได้ชี้ให้เห็นถึงการจัดการความเสี่ยง ไม่ใช่แทงม้าตัวเดียว แล้วเอาม้าขาเป๋มาทดแทนแบบบ้านเรา

ถาม    พูดมาถึงตรงนี้ก็หลายประเด็นมาก  แล้วใครเขาจะฟังที่อาจารย์พูด

ตอบ    ผมพูดกับ “ประชาชน”  

ถาม    แล้วไม่มีอะไรจะพูดกับนายกฯ เลยหรือครับ?

ตอบ    นายกฯเปรม  ท่านก็มาจากระบบเลือกตั้งครึ่งใบเหมือนกัน   แต่ท่านไม่มีอีโก้ และรู้ซึ้งถึงความรับผิดชอบว่าท่านต้องเป็นผู้นำ   ที่สำคัญท่านรู้จักใช้ความรู้ ท่านรู้ว่าท่านไม่รู้อะไรบ้าง รู้ว่าความรู้อะไรที่ต้องใช้ ความรู้นั้นอยู่ที่ไหน ใครคือคนที่ต้องพึ่งพาให้มาช่วยบ้านเมือง แต่นายกฯปัจจุบัน ไม่ใช่คนอย่างนั้น  และอุปนิสัยที่ฝังลึกอย่างนี้ มันเปลี่ยนกันไม่ได้ด้วย   เป็นเรื่องส่วนบุคคลคุณอย่าไปเหมารวมว่าทหารใช้ไม่ได้    

ถาม    ท่านนายกฯเปรมไม่พูด “นะจ๊ะ” ด้วยนะครับ

ตอบ    นายกฯจะพูดจ้ะพูดจ๋าก็ไม่เป็นไร ถ้อยคำมันไมใช่ปัญหา  แต่ท่าทีและพฤติการณ์ที่แสดงจนรู้ได้ว่าไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความทุกข์ยากของประชาชนเลยนั้น ตรงนี้ต่างหาก   ที่เป็นปัญหาด้านการสื่อสารของนายกฯคนนี้

ถาม    พูดอย่างนี้ ต้องมีคนไม่เห็นด้วยกับอาจารย์มากทีเดียว

ตอบ    เราต้องสร้างระบบที่ทำให้ประโยชน์อันเป็นธรรมของราษฎรจำนวนมากที่สุดปรากฏขึ้นมาเป็นเสาหลักในบ้านเมือง ให้ได้  ตรงนี้คือกระบวนการทางการเมืองที่พวกเราราษฎรต้องช่วยกันคิดอ่านและแสดงออก  จนเกิดการตัดสินใจ ของ “ประชาชน”ขึ้นมาได้ในที่สุด

ผมยังเชื่อว่ากระบวนการนี้ยังเป็นไปได้  ราษฎรคนไหนจะรักหรือเกลียด ลุงตู่หรือโทนี่ทักษิณ หรือบ้าชูสามนิ้วไล่งับหางชาติตัวเองไปวันๆ ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา  ผมไม่ใส่ใจ ผมใส่ใจกับกระบวนการของ “ประชาชน” เป็นส่วนรวม

ถาม    แล้วพวกที่เห็นว่า คนไทยมากเรื่อง จะเอาวัคซีนฟรี โยกโย้จะเอาโน่นเอานี่อยู่ตลอดเวลา สู่รู้ไปเสียทุกอย่าง ล่ะครับ

ตอบ    ในบทความนี้ ผมพยายามชี้บ่งว่าชาวบ้านกำลังถูกทำให้เป็นเสมือนไก่ในเล้าปิด ที่โรคกำลังระบาดจนร้องเจี๊ยวจ๊าวไปหมด   ถ้าภาพนี้ถูกต้อง คุณจะมาตัดสินว่าไก่เล้านี้ไม่รู้จักพอ หนวกหู พูดมากไม่ได้    เราทุกคนล้วนเป็นไก่ในเล้าปิดนี้เหมือนกัน  คุณอาจต่างกับเขาก็ตรงเป็นไก่ที่ไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง

ช่วยกันคิดใหม่จนเลิกเป็นไก่ แล้วเป็นเสรีชนร่วมกันเผชิญวิกฤตรักษาบ้านเมืองให้ลูกหลานตาดำๆต่อไปเถิด นะจ๊ะ นะจ๊ะ นะจ๊ะ นะครับ..

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/109565

 

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ