ศบค. "คลายล็อกดาวน์" นั่งทานอาหารในร้าน 50%-เปิดห้าง-เสริมสวย-นวดฝ่าเท้า-สวนสาธารณะ คงเวลา "เคอร์ฟิว" 21.00-04.00 น. คง 29 จว.เข้มงวดสูงสุดเหมือนเดิม แต่ใช้มาตรการ Universal Prevention
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 27 ส.ค.ที่ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 13/2564 ผ่านระบบวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ตามที่ ศบค.วงเล็กเสนอ โดยมีรายงานว่าที่ประชุมเห็นชอบมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ พร้อมคงจังหวัดสีแดงเข้ม 29 จังหวัด และคงเวลาเคอร์ฟิวจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ประกอบด้วย
1. ร้านอาหารที่มีการเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือ เปิดแอร์อนุญาตนั่งรับประทานในร้านได้คิดเป็น 50% ของจำนวนที่นั่งในร้าน
2. ร้านอาหารที่ไม่มีการเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือไม่เปิดแอร์ ให้นั่งได้ 75% ของจำนวนที่นั่งในร้าน
ทั้งนี้ การเปิดให้ประชาชนนั่งรับประทานอาหารในร้าน โดยจะต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือ ผ่านการตรวจ ATK ไม่เกิน 7 วัน
นอกจากนี้ มาตรการคลายล็อกดาวน์ ยังครอบคลุมห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์หรือสถานประกอบการอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกัน ร้านสะดวกซื้อ ให้เปิดดำเนินการได้ตามปกติจนถึงเวลา 20.00 น. โดยผู้ให้บริการจะต้องปฏิบัติได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว และจะต้องมีการตรวจคัดกรองด้วยชุด ATK เป็นระยะและมีมาตรการเข้มผู้เข้าใช้บริการ
ขณะที่ร้านเสริมสวย หรือตัดผม ร้านนวด เปิดได้ตามปกติ แต่นวดได้เฉพาะฝ่าเท้า นอกจากนี้สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกาย ที่เป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ยกเว้นฟิตเนส และอาคารในสถานศึกษา เปิดได้ตามปกติ แต่ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสถานศึกษาพิจารณา
โดย ที่ประชุม ศปก.ศบค.ยังคงจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัดตามเดิม พร้อมใช้มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล Universal Prevention พร้อมกันนี้เห็นชอบการรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่เดิมกำหนดไม่เกิน 5 คน ขยายเป็น 25 คน
นอกจากนี้ จะเปิดบริการรถสาธารณะ โดยต้องจำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่เกินร้อยละ 75 และคนขับรถจะต้องได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม และเปิดให้เดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งผู้โดยสารจะต้องแสดงเอกสารการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม หรือผลตรวจโควิด-19 ด้วย
ขณะเดียวกัน ยังผ่อนคลายให้ประชาชนสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ สำหรับประชาชนที่มีความจำเป็นเท่านั้น แต่ยังต้องขอความร่วมมือประชาชนงดเดินทางข้ามจังหวัดหากไม่มีความจำเป็น และยังห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้นยังคงอยู่ โดยมาตรการผ่อนคลายต่างๆ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไป
ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/956936?anf=
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. สรุปการ "คลายล็อกดาวน์" พร้อมเปิดรายละเอียดแผนมาตรการป้องกัน "โควิด-19" "การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล"
(27 ส.ค.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. สรุปการ "คลายล็อกดาวน์" พร้อมเปิดรายละเอียดแผนมาตรการป้องกัน "โควิด-19" Universal Prevention หรือเรียกว่า การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล โดยจะเริ่มในวันที่ 1 กันยายน 2564 นี้
สำหรับ Universal Prevention หรือเรียกว่า การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล คือ การระมัดระวังป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลาของทุกคนไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือประชาชนทั่วไป ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ "โควิด-19" แม้ยังไม่พบว่ามีความเสี่ยง
"ขอให้เราคิดเสมอว่า เราอาจติดเชื้อ โควิด-19 โดยไม่รู้ตัวและไม่มีอาการ รวมทั้งทุกคนที่อยู่รอบตัวเราไม่ว่าจะสนิทแค่ไหนอาจเป็นผู้ติดเชื้อแฝงกันทั้งหมด และอาจแพร่เชื้อมาให้เราได้ เราจึงต้องป้องกันอย่างสุดความสามารถที่จะไม่ให้ตนเองไปรับเชื้อโควิด-19 หรือแพร่เชื้อให้ผู้อื่น"
Universal Prevention การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล แบ่งเป็น 10 ข้อ
1.ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น
2.ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จำเป็น (น้อยครั้งและใช้เวลาสั้นที่สุด)
3. เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ในทุกสถานที่
4. สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ทั้งที่อยู่ในและนอกบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน
5. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น
6. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม ไอจาม หรือสัมผัสวัตถุ/สิ่งของ ที่ใช้ร่วมกัน
7. ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ
8. แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น
9. เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ ควรทานอาหารแยกสำรับ หากทานร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว
10. หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง เช่น สัมผัสผู้ที่อาจติดเชื้อ หรือมีอาการ ควรได้รับการตรวจด้วย ATK เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/hot-social/480750?adz=
ภาวนาให้เป็นตามคาดการณ์! หมอประสิทธิ์ เผย เดือนกันยานี้ คาดผู้ติดเชื้อลดลง อาจคลายล็อกประเทศได้เเล้ว ถือเป็นสัญญาณดี!
ได้ยินการคาดการณ์แบบนี้ค่อยใจชื้น
วานนี้ 22 สิงหาคม ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย และแนวทางผ่อนคลายมาตรการ ว่า สถานการณ์โควิด-19 ของไทย ในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นตัวเลขขณะนี้อาจดูเหมือนยังไม่ลดลง เพราะผู้ติดเชื้อใหม่ยังแกว่งอยูที่ 1.9-2 หมื่นรายต่อวัน แต่ที่เห็นชัด คือ อัตราการติดเชื้อลดลง ตัวเลขที่จะวิ่งขึ้นมากๆ ไม่เกิดขึ้นมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว
ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเป็น 300 รายต่อวัน เมื่อสอบถามข้อมูลก็พบว่า เป็นตัวเลขที่รายงานเข้าระบบช้า แต่ตอนนี้เข้าใจว่ามีการเคลียร์ตัวเลขแล้ว ดังนั้น ตอนนี้ผู้เสียชีวิตรายใหม่น่าจะอยู่ที่ 200 กว่าราย ทั้งนี้ ตัวเลขเหล่านี้หากดูวันต่อวัน อาจไม่ชัด ต้องดูตัวเลข 7 วัน แล้ว เฉลี่ยกัน เราจะเห็นว่า เส้นความชันเริ่มน้อยลงกว่าเดิมเยอะ ใกล้เข้าสู่ระนาบเส้นตรง และเมื่อถึงจุดหนึ่ง กราฟก็จะเริ่มกดหัวลงเป็นขาลง
พร้อมบอกว่ายังไม่อยากบอกให้เร็วว่าปลายเดือนสิงหาคมนี้ แต่เชื่อว่าภายในเดือนกันยายนนี้ จะเห็นตัวเลขการเสียชีวิตลดลงก่อน เพราะโมเมนตัมของผู้ป่วยใหม่ที่เข้ามาแล้วต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ออกซิเจนลดลง แต่คนที่ใช้อยู่ก่อน เช่น ที่ รพ.ศิริราช รักษากันเดือนกว่า ดังนั้น ตัวเลขการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ก็เป็นการย้อนกลับมา อาจไม่ใช่ตัวเลขที่บอกได้ทันที แต่ตัวเลขผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยใหม่ที่มีปอดอักเสบ ใช้เครื่องช่วยหายใจ จะเป็นตัวคาดการณ์ในอนาคต ถ้าตัวเลขน้อยลงเรื่อยๆ คาดการณ์ว่า อัตราสียชีวิตจะน้อยลง และตอนนี้ เราเริ่มเห็นแนวทางจากข้อมูลสะสมรายสัปดาห์ เราเริ่มเห็นขาที่นิ่ง คงที่ และน่าจะเริ่มมีตัวเลขลงแล้ว แต่อัตราการติดเชื้อใหมจะเห็นช้าไปอีก 2-3 สัปดาห์ หากไม่มีการระบาดคลัสเตอร์ใหญ่ๆ ขึ้นมา ส่วนตัวเชื่อว่าภายในกลางเดือนกันยายนนี้ เราน่าจะเห็นตัวเลขขาลง ค่อนข้างแน่ หากดูในเวิลด์โดมิเตอร์ ก็เริ่มเห็นว่าลงเล็กน้อย อีก 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้น่าจะเห็นชัด”
ก่อนจะทิ้งท้ายว่า การผ่อนคลายมาตรการว่า ต้องดูจากข้อมูลจริง และอัตราคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน ส่วนรูปแบบการผ่อนคลายนั้น ทุกประเทศคล้ายกันคือ ไม่ล็อกดาวน์ (Lockdown) ทั้งประเทศอีกแล้ว แต่จะล็อกตามเป้าหมาย (Target Lockdown) จังหวัดไหนทำได้ดี ก็จะผ่อนคลาย แต่มีมาตรการติดตามใกล้ชิด กิจกรรมที่สามารถควบคุมได้ สถานประกอบการ ผู้เข้าใช้บริการต่างร่วมมือ และมีการฉีดวัคซีน
จันขอให้การคาดการณ์เป็นเริ่องจริง ชีวิตเราจะได้กลับมาปกติสุขอีกครั้ง
“หญิงตั้งครรภ์” เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดโควิด-19 จำนวนมาก ล่าสุดข้อมูลตั้งแต่ระหว่าง 1 เม.ย.- 18 ส.ค.2564 พบว่า หญิงตั้งครรภ์ติดโควิด 2,327ราย เสียชีวิต 53 ราย ทารกติดเชื้อ 119 ราย เสียชีวิต 23 ราย
วานนี้ (19 ส.ค.2564) นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 และการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ ว่าการติดเชื้อหญิงตั้งครรภ์ เฉลี่ยวันละ 2-3 ราย และไม่ได้เสียชีวิตเฉพาะหญิงตั้งครรภ์แต่ทารกในครรภ์ก็เสียชีวิตร่วมด้วย โดยขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์ ได้ฉีดวัคซีนประมาณ 20,000 กว่าคน แต่ในจำนวนดังกล่าวก็ได้ไม่ถึง 10%
- เช็คปัจจัยเสี่ยง 'หญิงตั้งครรภ์' ติดเชื้อโควิด-19
สถานการณ์โควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์และทารกแรกเกิดระหว่าง 1 เม.ย.-18 ส.ค.2564 พบว่า หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 2,327 ราย แบ่งเป็นคนไทย 1,590ราย คนต่างด้าว 737 ราย เคยรับวัคซีน 22 ราย ซึ่งในจำนวนหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ เสียชีวิต 53 ราย แบ่งเป็นคนไทย 40 ราย ต่างด้าว 10 ราย ไม่ระบุ 3 ราย ขณะที่ทารกติดเชื้อ 119 ราย เสียชีวิต 23 ราย
ใน 10 จังหวัดที่มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 462 ราย สมุทรสาคร 356 ราย ปทุมธานี 97 ราย ยะลา 82 ราย สงขลา 80 ราย พระนครศรีอยุธยา 76 ราย นราธิวาส 75 ราย สมุทรปราการ 74 ราย ขอนแก่น 56 ราย และสุรินทร์ 50 ราย
นพ.เอกชัย กล่าวต่อว่าเมื่อวิเคราะห์จากการตายของมารดาที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 53 ราย พบว่า ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อ้วน 8 ราย อายุ 32 ปีขึ้นไป 13 ราย เบาหวาน 3 ราย ความดันโลหิตสูง 3 ราย ใช้สารเสพติด 1 ราย โรคธาลัสซีเมีย 3 ราย
ส่วนแหล่งสัมผัสเชื้อ ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากบุคคลในครอบครัว 12 ราย สถานที่ทำงาน 7 ราย ตลาด 3 ราย งานเลี้ยง 1 ราย ไม่มีข้อมูล 30 ราย
- 'หญิงตั้งครรภ์' เสี่ยงติดเชื้อโควิดมากกว่าคนทั่วไป 3 เท่า
ขณะนี้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับ สตรีตั้งครรภ์ ติดเชื้อมากมาย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมคำถามและไขข้อข้องใจดังนี้ สตรีตั้งครรภ์ ถ้าติดโควิด-19 มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า โดยมีโอกาสเข้าห้องไอซียูสูงกว่า 2-3 เท่า ใช้เครื่องช่วยหายใจสูงกว่า 2.6-2.9 เท่า เสียชีวิต 1.5-8 คน ใน 1,000 คน
ขณะเดียวกันถ้า หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ จะมีผลต่อลูกในหลายอย่าง อาทิ คลอดลูกก่อนกำหนด 1.5 เท่า เด็กตายคลอด 2.8 เท่า ลูกต้องเข้าไอซียู 4.9 เท่า ลูกติดเชื้อได้ 3-5% แต่ส่วนใหญ่ของเด็กที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการ
สตรีตั้งครรภ์ควรจะไปตรวจหาเชื้อโควิด หากมีคนในครอบครัวติดเชื้อ และหากมีอาการ เช่น ไข้ ไอ หายใจติดขัด เจ็บคอ มีน้ำมูก และเบื้องต้นขอให้ตรวจ ATK แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน
สำหรับอาการที่หญิงตั้งครรภ์ติดโควิด พบมีดังนี้ 50% จะมีอาการไอ 43% ปวดศีรษะ 37%ปวดกล้ามเนื้อ 32%ไข้ 28%เจ็บคอ 26% หายใจเหนื่อย 22%จมูกไม่ได้กลิ่นหรือลิ้น และ 14% อ่อนเพลีย
หากสตรีตั้งครรภ์ติดเชื้อเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ไม่แสดงอาการหรืออาการน้อย ขอให้แยกกักตัวรักษาที่บ้าน แต่หากมีอาการมากขึ้นขอให้เข้ารับการรักษาในรพ.เพื่อแยกจากคนที่ไม่ติดเชื้อ ประเมินอาการและความรุนแรงของโรค ให้การรักษาร่วมกับทีมอายุรแพทย์
นอกจากนั้นสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ สามารถคลอดได้ปกติ ไม่ต้องผ่าท้องคลอด สามารถให้การระงับความรู้สึกด้วยการบล็อคหลังได้ และการผ่าท้องคลอดจะทำตามข้อบ่งชี้ที่แพทย์เป็นผู้พิจารณาเท่านั้น
- ตอบทุกคำถามที่ 'หญิงตั้งครรภ์'ควรรู้
หากติดเชื้อหลังคลอด หากไม่พบเชื้อในตัวลูกมารดาสามารถกอดและอุ้มลูกได้ แต่ควรงดหอมแก้มลูก และควรสวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังจับตัวลูก ที่สำคัญต้องไม่ไอหรือจามใส่ลูก เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หากพบว่าลูกติดเชื้อรุนแรงจะต้องแยกไปรักษาที่หอผู้ป่วยเด็กแรกเกิด
นพ.เอกชัย กล่าวด้วยว่าถ้าแม่ติดเชื้อสามารถให้ลูกดูดนมจากเต้าได้ แต่แม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือก่อนและหลังจับตัวลูก หลีกเลี่ยงการไอ จาม เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวหรือวัตถุที่สัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือใช้วิธีปั้มนมออกมาแล้วให้ญาติหรือพี่เลี้ยงเอาไปให้ลูกกิน แต่หากแม่ที่ติดเชื้อและได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ จะต้องงดให้นมลูก
ที่สำคัญสตรีตั้งครรภ์ควรรีบฉีดวัคซีน ซึ่งสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยแนะนำให้ฉีดหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้น ซึ่งชนิดของวัคซีน ใช้ได้หลากหลาย เช่น ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า หรือแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม หรือ mRNA 2 เข้ม
ส่วนผลข้างเคียงของวัคซีน พบได้น้อยและไม่แตกต่างจากคนทั่วไป หลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดพร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ยกเว้นจำเป็น การฉีดวัคซีนชนิดอื่นควรเลื่อนไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์
ส่วนถ้าฉีดวัคซีนป้องกันโควิดไปแล้ว พบว่าตั้งครรภ์สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ เพราะปัจจุบันไม่พบว่าวัคซีนทำให้เกิดทารกพิการแต่กำเนิด แต่ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ออกไปฉีดในช่วงหลังเมื่ออายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แล้ว
อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ต้องปฎิบัติตามมาตรการ DMHTT ในครอบครัวที่มีความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด ประเมินไทยเซฟไทย ถ้ามีความเสี่ยงตรวจ ATK กำหนดหรือสนับสนุนมาตรการWFH ในหญิงตั้งครรภ์
ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/955708?anf=
สธ. เผยผลการศึกษาการ "ฉีดวัคซีนไขว้ชนิด" จะมีภูมิคุ้มกันได้เร็วและสูงกว่า "ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า" 2 เข็ม 3 เท่า โดยใช้เวลาฉีดเพียง 3 สัปดาห์
วันนี้( 19 ส.ค.64) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพใภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด 19 รักษาหายกลับบ้านได้ 22,208 ราย ผู้ติดเชื้อใหม่ 20,902 ราย เสียชีวิต 301 ราย ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นยอดผู้ติดเชื้อที่ตกค้างจากเดือนมิถุนายน 4 ราย กรกฎาคม 26 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์
นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวต่อว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 เพื่อฉีดครอบคลุมประชากรโดยเร็วที่สุด ขณะนี้จำนวนวัคซีนที่อยู่ในแผนการส่งมอบประมาณ 83-84 ล้านโดส โดยในไตรมาส 4 วัคซีนของ Johnson and Johnson ที่เจรจาไว้ไม่สามารถจัดส่งให้ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยได้ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตมีปัญหาในกระบวนการผลิต ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าสามารถส่งได้ 5-6 ล้านโดสต่อเดือนจึงต้องจัดหาวัคซีนให้ได้เดือนละประมาณ 10 ล้านโดส เป็นวัคซีนทุกชนิดที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และส่งมอบได้ในช่วงเวลาที่กำหนด จึงได้สั่งไฟเซอร์และซิโนแวคเพิ่มเติมให้ครบตามเป้าหมาย
ประกอบกับมีผลการศึกษาว่า การฉีดวัคซีนไขว้ชนิด เข็มที่ 1 ซิโนแวค และเข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า จะมีภูมิคุ้มกันสูงและเร็ว กว่าฉีดซิโนแวค 2 เข็ม หรือแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มถึง 3 เท่า และใช้เวลาฉีดครบทั้ง 2 เข็มเพียง 3 สัปดาห์ จะทำให้การฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรได้เร็วขึ้น
“ขอให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพและประสิทธิภาพวัคซีน ซึ่งมีการศึกษาในสถานการณ์จริงจากการติดเชื้อในบุคลากรการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนและไม่ฉีดวัคซีน พบว่าซิโนแวค 2 เข็ม สามารถป้องกันการเสียชีวิตและป่วยหนักได้ 98% ป้องกันการติดเชื้อได้ 72% อย่างไรก็ตาม แม้จะฉีดวัคซีนแล้วการดูแลตัวเองยังจำเป็น ให้คิดเสมอว่าคนรอบตัวและตัวเรามีเชื้อแฝงอยู่ ขอให้เข้มงวดการใส่หน้ากากอนามัย อยู่ห่าง ล้างมือ ถือเป็นมาตรการสำคัญที่ป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างกัน” นายแพทย์เฉวตสรรกล่าว
ข้อมูลจาก https://www.tnnthailand.com/news/covid19/88543/
19 ส.ค.64 - นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวว่า การตรวจภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สูตรฉีดไขว้สลับชนิด โดยเฉพาะการต่อสู้และกำจัดสายพันธ์เดลต้า (อินเดีย) ซึ่งเป็นการศึกษาจากเชื้อสายพันธุ์เดลต้าจริง กับเลือดของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนในสูตรต่างๆ ดังนี้วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม สามารถกำจัดไวรัสในหลอดทดลอง ค่าเฉลี่ยภูมิคุ้มกันขึ้นไป 24-25 ถือว่าจัดการกับไวรัสได้ แต่ภูมิคุ้มกันจะค่อยๆ ลดลงตามระยะเวลา
การสลับสูตรแอสตร้าเซนเนก้า เข็มแรก ตามด้วยซิโนแวค เข็มที่ 2 พบว่าภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 25 ไม่แตกต่างไปจากการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม การสลับสูตรแบบนี้ ไม่ได้สร้างคุณค่าเพิ่มขึ้น จึงไม่แนะนำให้ฉีด ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดเข็มที่ 2 ผ่านไป 2 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันขึ้นไป 76 เท่า สูงกว่าซิโนแวค2 เข็ม และการสลับสูตร ซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 พบว่าค่าเฉลี่ยขึ้นไปที่ 78 เหนือกว่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มอยู่เล็กน้อย แต่มีข้อได้เปรียบที่ใช้เวลาสั้นลงเพียง 5 สัปดาห์ และใช้ต่อสู้กับสายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่าผลการตรวจภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส ดังนี้ บูสเตอร์ด้วยซิโนฟาร์ม หลังฉีดซิโนแวค 2 เข็ม แต่สูตรนี้เก็บตัวอย่างน้อย มีเพียง 14 คน ภูมิคุ้มกันขึ้นมาที่ 61 ซึ่งไม่มากเท่าไร เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน ทำให้กระตุ้นภูมิได้ไม่สูงมาก และฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และบูสเตอร์เข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ภูมิคุ้มกันขึ้นไปที่ 271 สามารถกำจัดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ดีมาก และมีภูมิคุ้มกันมากกว่าการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม 10 เท่า
นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ยังต้องติดตามว่าภูมิคุ้มกันที่ขึ้นสูงจะอยู่ได้นานอย่างไร รวมถึงการตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ และประสิทธิภาพของวัคซีนในการต่อสู้กับเชื้อสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) โดยการศึกษาวิจัยของกรมวิทย์ฯ จะให้คำตอบว่าวัคซีนบูสเตอร์โดสจำเป็นอย่างไร และต้องฉีดในระยะเวลาห่างกันอย่างไร เนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงตามระยะเวลา ทั้งนี้ประชาชนไม่จำเป็นต้องไปตรวจภูมิคุ้มกัน เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ว่าสามารถป้องกันเชื้อแต่ละสายพันธุ์ได้อย่างไร
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังเร่งศึกษาการฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนัง ประสบการณ์การฉีดวัคซีนในอดีตพบว่า ใช้วัคซีนเพียง 25% สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงพอ กับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่ต้องใช้วัคซีน 100% หากผลการวิจัยมีผลสำเร็จ จะมีโอกาสเพิ่มจำนวนคนที่จะได้รับวัคซีนได้มากขึ้น 4-5 เท่า ก็จะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับการบริหารจัดการวัคซีนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้คงต้องรอผลทางวิทยาศาสตร์
ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/113880
สลด! ศบค. เผยยอดคนเสียชีวิตจากโควิดวันนี้ (19 ส.ค.) พบที่บ้าน 4 ราย หญิงท้อง 3 คน ระบุมีพยาบาลด้วย 1 คน ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว ตั้งแต่เมษาฯ 64 คาดพรุ่งนี้ (20 ส.ค.64) ทำสถิติใหม่ ไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิดทะลุ 1 ล้านคน นับตั้งแต่ปี 2563 ที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19
วันที่ 19 สิงหาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 20,902 ราย หายป่วยแล้ว 747,901 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 960,996 ราย และเสียชีวิตสะสม 8,492 ราย
ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 หายป่วยแล้ว 775,327 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 989,859 ราย เสียชีวิตสะสม 8,586 ราย
คาด 20 ส.ค. ยอดติดเชื้อโควิดทะลุ 1 ล้านราย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หากดูตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยเฉลี่ย 20,000 รายต่อวัน วันพรุ่งนี้ (20 ส.ค.64) ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดสะสมของประเทศไทยจะทำสถิติใหม่ทะลุเกิน 1 ล้านราย นับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสมวันนี้อยู่ที่ 989,859 ราย (1,000,000-989,859 = 10,141) ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อในกทม. ประมาณ 2.3 แสนราย
สำหรับผุ้ป่วยรักษาตัวในวันนี้มีจำนวน 205,946 ราย เป็นผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 48,895 ราย รพ.สนามและอื่น ๆ 157,051 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก 5,439 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,168 ราย
สำหรับผู้รับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 417,169 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 122,206 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 8,936 ราย
ไทยรั้งอันดับ 34 ของโลก
ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 210,105,354 ราย อาการรุนแรง 108,059 ราย รักษาหายแล้ว 188,219,284 ราย เสียชีวิต 4,405,540 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับ 1.ยังเป็นสหรัฐอเมริกา จำนวน 38,072,656 ราย 2.อินเดีย จำนวน 32,320,898 ราย 3.บราซิล จำนวน 20,458,221 ราย 4.รัสเซีย จำนวน 6,663,473 ราย 5.ฝรั่งเศส จำนวน 6,533,383 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 34 ของโลกจากจำนวนผู้ป่วยสะสม 989,859 ราย
ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มี 2 ราย เป็นชาวอิสราเอล ในจำนวนนี้เป็นลูกเรือ 1 ราย และไม่ระบุอาชีพ 1 ราย ผลพบเชื้อและมีอาการทั้ง 2 ราย เข้าพักที่ รพ.เอกชนในภูเก็ต
นอกจากนั้นมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าพัก รพ.เอกชนใน กทม. จากมาเลเซีย 1 ราย เข้าพัก LQ ปานาเระที่ จ.ปัตตานี จากลาว 1 ราย พักที่ รพ.สนาม ศรีสะเกษ กัมพูชา 6 ราย เข้าพักที่ LQ สระแก้ว รพ.อรัญประเทศ สระแก้ว เมียนมา 13 ราย เข้าพักที่ LQ เชียงราย รพ.ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดในวันนี้ อันดับ 1 ยังเป็นกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีผู้ติดเชื้อจำนวน 4,392 ราย รวมสะสม 230,419 ราย
รองลงมาเป็นสมุทรสาคร 1,739 ราย ชลบุรี 1,322 ราย สมุทรปราการ 937 ราย นครปฐม 644 ราย นครราชสีมา 639 ราย ราชบุรี 585 ราย นนทบุรี 495 ราย สระบุรี 481 ราย และฉะเชิงเทรา 472 ราย
สลด! เสียชีวิตที่บ้าน 4 ราย หญิงท้อง 3 ราย พยาบาล 1 ราย
ส่วนผู้เสียชีวิตจำนวน 301 คนในวันนี้ เป็นชาย 171 คน หญิง 130 คน ค่ากลางของอายุอยู่ที่ 65 ปี (26-105 ปี) โดยเป็นผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป 184 ราย และอายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 69 ราย
และผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ใน กทม. 79 ราย สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี และนครปฐม จำนวน 62 ราย ปัตตานี สงขลา ยะลา นราธิวาส ระนอง นครศรีธรรมราช ตรัง ภูเก็ต ชุมพร พัทลุง รวม 18 ราย ที่เหลือกระจายไปในอีกหลายจังหวัด (ตามตาราง)
ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังมาจากโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต โรคอ้วน และมีปัจจัยเสี่ยงจากคนรู้จัก 129 ราย และอาศัยหรือไปพื้นที่ระบาด นอกจากนี้วันนี้พบว่า ยังมีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 4 ราย อยู่ใน กทม. 1 ราย ลพบุรี 2 ราย และจันทบุรี 1 ราย และในจำนวนผู้เสียชีวิตวันนี้มีหญิงตั้งครรภ์ด้วย 3 ราย อยู่ที่ อุบลราชธานี ตราด และยะลา และมีพยาบาล (HCW) เสียชีวิต 1 ราย ได้รับวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็มเมื่อ 21 เมษายน 2564
สำหรับพยาบาล Health care workers (HCW) คือ บุคคลที่ทำงานในสถานพยาบาลที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วย หรือสิ่งที่อาจมีการปนเปื้อนหรือติดเชื้อ
ขณะที่สัดส่วนผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัด (71จังหวัด) กับกทม.และปริมณฑล พบว่า สัดส่วนอยู่ที่ 58% ต่อ 42% โดยในพื้นที่ต่างจังหวัดอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้น (12,103ราย) ขณะที่ กทม.และปริมณฑลอยู่ที่ 8,627 ราย กราฟเริ่มปักหัวลง (ดูกราฟท้ายข่าว)
ข้อมูลจาก https://www.prachachat.net/general/news-742577
วันนี้ (19 ส.ค.) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตามที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019; COVID-19) ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา (Severe acute respiratory syndrome-related coronavirus-2; SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นเชื้ออุบัติใหม่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีอันตรายร้ายแรง และมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ได้มีการผลิตวัคซีนและใช้เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ในขณะที่ไวรัส SARS-CoV-2 มีการปรับตัว เปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมจนเกิดการกลายพันธุ์ทำให้การติดเชื้อง่ายมีความรุนแรงมากขึ้นและสามารถหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดีจนองค์การอนามัยโลกประกาศไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ที่ต้องควบคุมป้องกันว่าเป็นกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern, VOC) ซึ่งได้แก่ ไวรัสสายพันธุ์อัลฟา เดลตา เบตา และแกรมมา ปัจจุบันประเทศไทยพยายามเร่งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด 19 โดยมีวัคซีนที่ขึ้นทะเบียน และมีการนำมาใช้เป็นหลักในขณะนี้คือวัคซีน CoronaVac ผลิตโดยบริษัท Sinovac วัคซีน AstraZeneca ผลิตโดยบริษัท AstraZeneca ทำให้มีการตั้งคำถามเกิดขึ้นว่าวัคซีนเหล่านี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ถ้ามีการสลับการให้วัคซีน (Mix and Match) รวมถึงการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 แบบ heterologous prime-boost กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ร่วมกับศิริราชพยาบาล ทำการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในซีรั่มของคนที่ได้รับวัคซีน โดยใช้ไวรัสสายพันธุ์จริงที่กำลังระบาดในประเทศไทย คือ สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) ซึ่งพบในการติดเชื้อกว่า 90% ทำการทดสอบโดยวิธีมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วไป คือ วิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งต้องปฏิบัติในห้องชีวนิรภัยระดับ 3 เพื่อความปลอดภัย
ทั้งนี้ เพื่อหาค่าที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาถูกทำลาย 50% (Neutralizing Titer 50%, NT50) โดยแอนติบอดีที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน โดยทำการศึกษาในอาสาสมัคร 6 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 ที่ได้รับวัคซีน CoronaVac 2 เข็ม (SV+SV)
กลุ่มที่ 2 ได้รับ วัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม (AZ+AZ)
กลุ่มที่ 3 ได้รับ วัคซีน CoronaVac และตามด้วย AstraZeneca (SV+AZ)
กลุ่มที่ 4 ได้รับ วัคซีน AstraZeneca และตามด้วย CoronaVac (AZ+SV)
กลุ่มที่ 5 ได้รับ วัคซีน CoronaVac 2 เข็ม และตามด้วย Covilo 1 เข็ม (SV+SV+Sinopharm)
กลุ่มที่ 6 ได้รับ วัคซีน CoronaVac 2 เข็ม และตามด้วย AstraZeneca 1 เข็ม (SV+SV+AZ)
ผลการศึกษา พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันในกลุ่มต่างๆ หลังการได้รับวัคซีนครบโดส 2 สัปดาห์ ต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์เดลตา มีค่าเฉลี่ยระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัส
"หมอศัล" รีวิวฉีด"แอสตราเซเนกา" กระตุ้นเข็ม 3 แบบเข้าชั้นผิวหนังเพียง 0.1 CC ได้ผล 99% ประหยัด และ ผลข้างเคียงน้อย
นพ. เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ แพทย์ศัลยกรรมประสาท โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Methee Wong ภายหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม แล้ว"บูสเตอร์โดส" ด้วยวัคซีน แอสตราเซเนกา ฉีดเข้าผิวหนังชั้นนอกเพียง 0.1 ซีซี ว่า SV+SV + "AZ 0.1 ID" m-RNA ใหม่มากกกก แถมยังไม่รู้ว่า long term จะมีผลอะไรหรือไม่
Astra แม้จะไม่ใหม่มาก แต่ก็ไม่นานพอแบบวัคซีนเชื้อตาย ที่ทราบว่าปลอดภัยมาก ที่สำคัญเห็นหลายคนต้องลาป่วย 2-3 วันล่วงหน้าก่อนฉีด เพราะบางคนไข้ขึ้นสูง ปวดเมื่อยหนาวสั่น ต้องหยุดงานหลังฉีด
Sinovac ปลอดภัยที่สุด แต่ evidence based ปัจจุบัน คือรองรับ delta ไม่ได้ Evidence based จากการทำงานจริงล่าสุดคือ ฉีด vaccine ไม่ว่ายี่ห้ออะไรก็ตาม อาจติดเชื้อได้ แต่ยังไม่เห็นใครที่ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์แล้วปวยหนัก เสียอย่างเดียวคือ ต้องหยุดงานรักษาตัว และกักตัว และอาจส่งผ่านเชื้อให้คนอื่นได้
ทางออกแบบครึ่งทาง ฉีด Astra boost เข็มสาม แต่แทนที่จะฉีด Astra 0.5 ml IM ก็เปลี่ยนเป็น 0.1 ml ID อย่างน้อยก็ลดสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้าร่างกายลงได้ 5 เท่า ทำใจไว้ล่วงหน้าว่า ..หากภูมิไม่ขึ้น...ก็ค่อยไปฉีดแบบเข้ากล้าม หรือไปฉีดพวก m-RNA เลย
หมายเหตุ
IM(ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ) ปลายเข็มฝังลึกเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อ
ID(ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง) ปลายเข็มฝังตื้น ๆ ที่ผิวหนังชั้นนอกลึกไม่เกิน 2-3 มม.(คล้าย ๆ เข็มสะกิด) วิธีนี้มีใช้กันมานานแล้ว แต่ฉีดยากกว่าการฉีดเข้ากล้าม เพราะต้องปักเข็มตื้นมาก ๆ แต่ข้อดีคือ แทบไม่มีความรู้สึกเจ็บเลย มักใช้กับการทดสอบภูมิแพ้ หรือวัณโรค
เหตุที่แทบไม่รู้สึกเจ็บเลย เมื่อเทียบกับการฉีดเข้ากล้าม เพราะ
(1) เข็มที่ใช้จะขนาดเล็กกว่ามาก ปลายเข็มจะมีขนาดประมาณ 0.1 มม.
(2) ปักเข็มตื้นมากไม่เกิน 1-2 มม.
(3) ความที่เข็มเล็ก และปักตื้น ทำให้ปริมาณที่ใช้จะน้อยกว่ามาก ผลคือยิ่งแทบไม่รู้สึกเจ็บขณะเดินยา
ส่วนเหตุที่ผลข้างเคียงหลังฉีดน้อยกว่ามากเพราะ
(1) ยาจะดูดซึมช้ามากที่สุด เมื่อเทียบกับการฉีดวิธีอื่น (ฉีดเข้าเส้นเลือด ฉีดใต้ผิวหน้ง ฉีดในกล้ามเนื้อ) จึงทำให้ยาค่อย ๆ ซึมเข้าร่างกายอย่างช้า ๆ
(2) ปริมาณยาใช้น้อยกว่าวิธีอื่นมาก
(3) ด้วยเหตุดังกล่าว หากเกิดการแพ้วัคซีน คนไข้จะค่อย ๆ มีอาการ เพราะยาดูดซึมช้ามาก แพทย์มีเวลาเหลือเฟือในการรับมือ
RESULT
วันแรกหลังฉีด ปกติดี ไม่นับมีปุ่มนูนแดงที่ไหล่ อันเป็นผลจากการฉีด ID
วันรุ่งขึ้นเช้า ปวดเมื่อยคล้ายนอนหลับไม่สนิท บ่ายตัวรุม ๆ ตกเย็นปกติ
ผล neutralizing Ab (NTAb ภูมิต้านทานในเชิงคุณภาพ) ก่อนฉีด 47% (โอกาสที่ร่างกายจะกำจัดโควิดเมื่อหลุดรอดเข้าไปในตัวเรา อยุ่ที 47%)
หลังได้ 3rd Booster เป็น AZ 0.1 ID 2 สัปดาห์ 99% (ร่างกายมีความสามารถกำจัดไวรัสได้ 99% พูดง่าย ๆ คือ โอกาสติดเชื้อ และป่วยแสดงอาการน้อยกว่า 1% ซึ่งรวมถึงโอกาสการเป็นพาหะก็ลดลงด้วย)
ปล. ส่วนการตรวจแบบเชิงปริมาณ ที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ทำกันอยู่นั้น(ซึ่งบอกแต่ปริมาณ แต่อาจไม่ได้ผลจริงในการป้องกันตามตัวเลขที่สูง) คงไม่ต้องไปทำอีก เพราะ NTAb มีความน่าเชื่อถือกว่าอยู่แล้ว
เท่าที่ทราบ หลายคนที่ฉีดวิธีนี้ ภูมิปกป้อง (Neurtralizing) สูงมากทุกคน อาการข้างเคียงหลังฉีดน้อยมาก
ถ้าผลวิจัยเป็นทางการออกมา รัฐจะมีวัคซีนสำหรับ booster เพิ่มขึ้น 5 เท่าทันที แถมไม่ต้องง้อ m-RNA อีกต่างหาก เพราะ AZ ผลิตได้ในบ้านเราแล้ว และน่าจะยืดระยะเวลาความเสี่ยงจากการได้รับวัคซีน m-RNA vaccine ได้อีกระยะ จนกว่าจะมั่นใจเรื่อง long term sequelae ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปี
การฉีดนี้เป็นการฉีดโดยสมัครใจ
ขณะเดียวกัน สอดรับกับที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เคยแนะนำถึงการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เข้าบริเวณใต้ชั้นผิวหนัง เพียง 1 ใน 4 หรือ 1 ใน 5 โดส จะสามารถประหยัดวัคซีนให้คนอื่นได้อีก 4 คน ถือเป็นทางรอดของคนไทย
ที่มา : Methee Wong
ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/news/regional/478401?adz=
หน้าที่ 35 จาก 73