ฟรองซ์24/เดอะซัน/MGRออนไลน์ - “ซูเปอร์สเปรดเดอร์”คนหนึ่ง ซึ่งติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แต่ไม่แสดงอาการ กลายเป็นผู้แพร่เชื้อสู่คนอื่นๆ อีก 71 คน ทั้งที่เธอระมัดระวังตัวอย่างเต็มที่ตามมาตรการกักกันโรค โดยใช้ลิฟต์เพียงลำพัง และแต่ละครั้งกินเวลาไม่ถึง 60 วินาที

รายละเอียดของเคสผู้ติดเชื้ออันน่าตกใจนี้ ได้รับเปิดเผยในผลการศึกษาชิ้นใหม่ของคณะนักวิจัยจีน ที่นำมาเผยแพร่โดยศูนย์กลางเพื่อการควบคุมและการป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติ (CDC) สหรัฐฯเมื่อเร็วๆ นี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://wwwnc.cdc.gov/eid/article/26/9/20-1798_article?deliveryName=USCDC_333-DM32083#tnF1)

การศึกษานี้เผยผลการวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบเลวร้ายที่นักเดินทางรายหนึ่งๆ สามารถก่อแก่บุคคลอื่นๆ ในกรณีที่นักเดินทางรายนั้นๆ ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการ

ข้อมูลในรายงานระบุว่า ผู้หญิงผู้ติดเชื้อได้เดินทางจากสหรัฐฯ กลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ ในมณฑลเฮยหลงเจียง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือสุดของประเทศจีน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม โดยแม้ไม่แสดงอาการใดๆ แต่เธอยังกักกันโรคอยู่ในอพาร์ตเมนต์ของตนเอง และหลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ ผลการตรวจทดสอบในเวลาต่อมาเปิดเผยให้ทราบว่า เธอเป็นพาหะนำโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่แสดงอาการ

3 สัปดาห์ต่อมา เพื่อนบ้านของเธอคนหนึ่งและบุคคลอื่นๆ อีก 4 คน ที่สัมผัสใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านรายนี้ มีผลตรวจโควิด-19 ออกมาเป็นบวก

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าคลางแคลงใจ ก็คือ มีเพื่อนบ้านอีก 2 คน ติดเชื้อโควิด-19 เช่นกัน ทั้งที่ทั้งสองคนนี้ไม่ได้พบเจอกับเธอ โดยเพียงแค่เคยใช้ลิฟต์ตัวเดียวกันเท่านั้น แถมยังใช้ต่างเวลากันด้วย

ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยจีนซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯนำมาเผยแพร่ฉบับนี้ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่เพื่อนบ้านจะติดเชื้อจากการใช้ลิฟต์ในอพาร์ตเมนต์ตัวเดียวกับผู้เป็นพาหะไม่แสดงอาการได้ใช้ไปก่อนหน้า และการติดต่ออาจเกิดขึ้นตอนที่เพื่อนบ้านสัมผัสพื้นผิวหรือปุ่มกดภายในลิฟต์

นอกเหนือจากบุุคคลที่กล่าวมา ไม่มีผู้พักอาศัยคนอื่นๆ ในอพาร์ตเมนต์ที่มีผลตรวจออกมาเป็นบวก ขณะที่การติดตามตรวจสอบผู้สัมผัสโรค ทำให้ทราบว่าเพื่อนบ้านที่พำนักในอพาร์ตเมนต์นี้และติดเชื้อ ได้แพร่เชื้อติดต่อไปยังบุคคลอื่นๆ ในวงกว้างออกไปอีก

รายงานการศึกษานี้บอกว่า ศูนย์กลางเพื่อการควบคุมและการป้องกันโรคติดต่อของประเทศจีน ได้ศึกษาตรวจสอบการจัดลำดับทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสจากตัวอย่างของผู้ติดเชื้อเหล่านี้ และยืนยันได้ว่ากลุ่มก้อนผู้ป่วยเหล่านี้จำนวน 71 รายติดเชื้อซึ่งมาจากต้นตอเดียวกัน โดยเป็นเชื้อซึ่งมีลำดับทางพันธุกรรมแตกต่างจากไวรัสที่เคยแพร่กระจายอยู่ในจีนก่อนหน้านี้ บ่งชี้ว่าต้นตอน่าจะมาจากต่างประเทศ รวมทั้งบ่งบอกว่า หญิงซึ่งเดินทางกลับมาจากสหรัฐฯ คือ คนไข้หมายเลขศูนย์ (patient zero) ของกลุ่มก้อนผู้ติดเชื้อ 71 คนเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจวบจนกระทั่งถึงวันที่ 22 เมษายน เธอผู้นี้ยังคงไม่ได้แสดงอาการป่วยไข้ใดๆ

“ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า ผู้ติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ไม่แสดงอาการคนเดียว สามารถก่อการแพร่เชื้ออย่างกว้างขวางในชุมชน” ผู้เขียนผลการศึกษาสรุป

ก่อนหน้านี้ พวกนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ลิฟต์คือแหล่งเพาะเชื้อที่สมบูรณ์แบบของไวรัส เนื่องจากเป็นสถานที่แคบๆ และเป็นพื้นที่ปิด โดยเหล่านี้คือสภาพแวดล้อมอันเลอเลิศต่อการแพร่กระจายเชื้อของไวรัส เนื่องจากโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อผ่านละอองฝอย ตอนที่ผู้ติดเชื้อไอ จามหรือพูด

ผลการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า โควิด-19 สามารถอยู่บนพื้นผิวบางอย่างได้นานหลายวัน โดยเฉพาะเหล็ก สเตนเลส หรือพลาสติก

รายงานการศึกษาชิ้นนี้ซึ่งระบุว่ามีกำหนดจะได้รับการเผยแพร่ในเดือนกันยายน ได้ถูกนำออกเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ CDC สหรัฐฯล่วงหน้า โดยขึ้นคำเตือนว่า บทความที่เผยแพร่ออกมาก่อนเช่นนี้ยังไม่ถือว่าเป็นเวอร์ชั่นสุดท้าย และอาจมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้อีก ซึ่งจะปรากฏในเวอร์ชั่นออนไลน์ในเดือนที่บทความดังกล่าวเผยแพร่อย่างเป็นทางการ
 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://mgronline.com/

เนื้อหาต้นฉบับ https://mgronline.com/around/detail/9630000071915

ซิโนแวค ไบโอเทค เผยผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong) ระบุว่า การได้รับวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac)” 3 เข็ม สามารถป้องกันการเสียชีวิตหรือความเจ็บป่วยรุนแรงได้ 98% ในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งเป็นข้อมูลที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของวัคซีนเข็มกระตุ้นแก่ผู้ที่ได้รับเชื้อโควิด-19

จากรายงานพบว่าหลังจากการฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ระดับประสิทธิผล (effective rate) ของวัคซีนซิโนแวค (SINOVAC) ช่วยป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ถึง 97.9% และประสิทธิผลของวัคซีน ไบโอเอ็นเทค (BioNTech) อยู่ที่ 98.0% ทั้งนี้ ระดับประสิทธิผลในการป้องกันการเสียชีวิตของวัคซีนซิโนแวค และ ไบโอเอ็นเทค เท่ากับ 98.3% และ 98.1% ตามลำดับ

การศึกษาวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นด้วยว่า สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ในกรณีที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม ระดับประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวค และ ไบโอเอ็นเทค ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง อยู่ที่ 72.2% และ 89.6% ตามลำดับ ส่วนระดับประสิทธิผลในการป้องกันการเสียชีวิตอยู่ที่ 77.4% และ 92.3% ตามลำดับ ส่วนผลการศึกษาจากสถานการณ์จริงก็ยืนยันประสิทธิผลของวัคซีนชนิดเชื้อตายของจีนเช่นกัน และข้อดีด้านความปลอดภัยของวัคซีนชนิดนี้ยังสามารถลดอาการข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงได้ เช่น มีไข้สูง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) รวมถึงอาการแพ้เฉียบพลันที่เกิดจากการใช้วัคซีน mRNA ในปริมาณมาก

ผลการวิจัยซึ่งวิเคราะห์ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในช่วงที่เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนระบาดอย่างต่อเนื่องในฮ่องกง ซึ่งส่งผลต่อกลยุทธ์การจัดการโควิดในประเทศจีน โดยข้อมูลของทางการของจีนแสดงให้เห็นว่า ความครอบคลุมของวัคซีนของผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม อยู่ที่ 88% และผู้คนจำนวน 659 ล้านคน ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว อย่างไรก็ตามจากข้อมูลปัจจุบันที่เป็นทางการ ยังมีช่องว่างที่ควรได้รับการปรับปรุงในส่วนของอัตราการฉีดวัคซีนของกลุ่มผู้สูงอายุในบางพื้นที่ เนื่องจากประมาณครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุที่มีอายุ 80 ปี ขึ้นไปยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย

ในเดือนตุลาคม ปี 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 3 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปี ที่เคยได้รับวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว การศึกษาครั้งนี้สนับสนุนสมมติฐานที่ว่า การได้รับวัคซีนซิโนแวค 3 เข็ม สามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงหรือการเสียชีวิตในผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีได้ดีกว่าการได้รับวัคซีนซิโนแวค เพียง 2 เข็ม

ข้อมูลจาก https://www.plewseengern.com/plewseengern/86624?fbclid=IwAR0MWE7CGbI3dqxRsjiDWGGO_un5m3RJgD-sjb6_iOFcTvjv51cR8mPyhXw

ไฟเซอร์-ไบออนเทคเผยผลการทดลองระยะที่ 3 ของการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 โดสบูสเตอร์ของไฟเซอร์ ว่าให้ประสิทธิภาพสูงถึง 95.6% ในการป้องกันการติดเชื้อที่แสดงอาการ รวมถึงสายพันธุ์เดลตา ด้านเอฟดีเออนุมัติใช้โมเดอร์นาและเจแอนด์เจเป็นบูสเตอร์ และสามารถฉีดวัคซีนไขว้ได้ด้วย
 

2021-10-26_09-22-36.jpg 

แถลงการณ์ของบริษัท ไฟเซอร์ จากสหรัฐ และบริษัท ไบออนเทค จากเยอรมนี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 กล่าวว่า การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 กับผู้เข้าร่วม 10,000 ราย ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป แสดงให้เห็นว่า การฉีดไฟเซอร์เป็นโดสกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ประสิทธิภาพ 95.6% ในการต้านการติดเชื้อโควิด-19 ที่แสดงอาการ การทดลองนี้กระทำในช่วงเวลาที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาเป็นสายพันธุ์ที่แพร่หลาย

รายงานรอยเตอร์อ้างคำแถลงของไฟเซอร์ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีน 2 โดสนั้นลดลงตามกาลเวลา โดยผลการศึกษาเผยให้เห็นว่า ประสิทธิภาพหลังฉีดโดสที่ 2 ผ่านไป 4 เดือน ลดเหลือ 84% จาก 96%

การศึกษาเว้นช่วงระหว่างโดสที่ 2 กับโดสกระตุ้นหรือโดสหลอก ประมาณ 11 เดือน โดยพบผู้ป่วยโควิด-19 เพียง 5 รายในกลุ่มที่ได้รับโดสกระตุ้น ขณะที่กลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอกนั้น พบผู้ป่วย 109 ราย กลุ่มที่ศึกษามีอายุเฉลี่ย 53 ปี โดย 55.5% เป็นกลุ่มที่อายุระหว่าง 16-55 ปี และ 23.3% อายุ 65 ปีขึ้นไป

ไฟเซอร์-ไบออนเทคบอกว่า พวกเขาจะส่งผลลัพธ์ของการทดลองอย่างละเอียดเพื่อตีพิมพ์สำหรับการตรวจทานโดยผู้รู้เสมอกัน รวมถึงส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ), องค์การยาแห่งยุโรป และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ โดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐและสหภาพยุโรปได้อนุมัติการใช้วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นาเป็นโดสกระตุ้นภูมิแล้วก่อนหน้านี้ สำหรับผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

เมื่อวันพุธ เอฟดีเอเพิ่งประกาศอนุมัติการใช้วัคซีนสูตรไขว้สำหรับโดสบูสเตอร์สำหรับกลุ่มคนที่จำเป็นต้องกระตุ้นภูมิ ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนชนิดใดใน 3 ชนิดที่ผ่านการอนุมัติในสหรัฐ ซึ่งได้แก่ ไฟเซอร์-ไบออนเทค, โมเดอร์นา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

เอเอฟพีรายงานว่า ผลการตัดสินใจของเอฟดีเอล่าสุด จะทำให้ผู้ที่ได้ฉีดโมเดอร์นา 2 โดสแรก และเป็นผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป, ผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงสูงต่อโควิด หรือผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไปที่ทำงานเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สามารถฉีดบูสเตอร์ได้

ส่วนผู้ใหญ่ทุกคนที่ฉีดวัคซีนเจแอนด์เจ ซึ่งฉีดเพียง 1 เข็ม ก็มีสิทธิฉีดบูสเตอร์หลังจากนั้นอย่างน้อย 2 เดือน

ก่อนหน้านี้ ทางการสหรัฐอนุญาตให้ฉีดไฟเซอร์โดสกระตุ้นกับผู้ที่อยู่ในภูมิคุ้มกันอ่อนแอ, ผู้สูงอายุหรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น

คำแถลงกล่าวด้วยว่า ข้อมูลที่มีเผยว่าผู้ที่ฉีดเจแอนด์เจเข็มแรกมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันดีขึ้นเมื่อฉีดไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา และการฉีดบูสเตอร์สูตรไขว้มีความปลอดภัยกับผู้ใหญ่ แต่เจ้าหน้าที่เอฟดีเอย้ำว่า ข้อมูลที่มียังไม่มีความชัดเจนว่าการผสมสูตรใดให้ผลที่ดีกว่า.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/news-update/abroad-news/9046/

2022 01 11 10 17 18

ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช เผยผลวิจัยเบื้องต้น กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าฯหรือไฟเซอร์ ได้ภูมิคุ้มกันเท่าไหร่ ป้องกัน "เดลตา-โอมิครอน"ได้แค่ไหนมาดูกัน!

วันนี้( 10 ม.ค.65) ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช เผยผลการวิจัยเบื้องต้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันชนิด PVNT50 ต่อสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน ด้วยวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ครึ่งโดส และไฟเซอร์เต็มโดส ที่ 2 สัปดาห์หลังกระตุ้นเข็มที่ 3 ในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือ แอสตร้าเซนเนก้ามาแล้ว 2 เข็ม พบว่า

ซิโนแวค+ซิโนแวค+แอสตร้าเซเนก้า

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาได้ = 587 GMT

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนได้ระดับต่ำกว่าประมาณ 2-3 เท่า = 170 GMT

 

ซิโนแวค+ซิโนแวค+ไฟเซอร์ครึ่งโดส

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาได้ดี = 1,002 GMT

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอมิครอนได้ระดับต่ำกว่าประมาณ 2 เท่า = 507 GMT

 

ซิโนแวค+ซิโนแวค+ไฟเซอร์เต็มโดส

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาได้ดี = 1,143 GMT

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอมิครอนได้ระดับต่ำกว่าประมาณ 2 เท่า = 531 GMT

 

แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาได้ดี = 121 GMT

-สายพันธุ์โอมิครอนได้ไม่ดีนัก = 22 GMT

 

แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์ครึ่งโดส

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาได้ดี = 674 GMT

-สายพันธุ์โอมิครอนได้ระดับต่ำกว่าประมาณ 2-3 เท่า = 232 GMT

 

แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์เต็มโดส

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลต้าไดดี = 917 GMT

-สายพันธุ์โอมิครอนได้ระดับต่ำกว่าประมาณ 2-3 เท่า = 521 GMT

 

คำแนะนำสำหรับผู้ที่ฉีดซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม และแอสตร้าเซนเนก้ามาแล้ว 2 เข็ม ควรฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ จะได้ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงสุดทั้งต่อเดลตาและโอมิครอน

(หน่วยวัดเป็นค่า GMT = Geometric Mean Titer)

 

ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช

ภาพจาก AFP/รอยเตอร์

ข้อมูลจาก https://www.tnnthailand.com/news/covid19/101594/

งานวิจัยใหม่ของอิสราเอลพบคนที่เคยฟื้นไข้จากการติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างการแพร่ระบาดระลอกก่อนหน้านี้ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงติดเชื้อตัวกลายพันธุ์เดลตา ต่ำกว่าบุคคลที่ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทคครบ 2 เข็ม

 

 

 

ในการวิเคราะห์ขนานใหญ่ในโลกจริง เปรียบเทียบภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติที่เกิดจากการติดเชื้อก่อนหน้านี้ กับบุคคลที่ได้รับการปกป้องจากวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค ซึ่งเป็นหนึ่งในวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในปัจจุบัน พบว่า การติดเชื้อซ้ำเกิดขึ้นน้อยกว่าค่อนข้างมาก

รายงานจากบรรดานักวิจัยล่าสุด ถือว่าสวนทางกับผลการศึกษาต่างๆ ก่อนหน้านี้ในอิสราเอล ซึ่งพบว่าการฉีดวัคซีนมอบการป้องกันดีกว่าการติดเชื้อ แต่ที่ผ่านมา ผลการศึกษาเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับตัวกลายพันธุ์เดลตา

ผลการศึกษานี้ถือเป็นข่าวดีสำหรับคนไข้ในเคยเอาชนะในศึกต่อสู้กับโควิด-19 แต่ขณะเดียวกัน มันกลายเป็นความท้าทายใหม่สำหรับคนพึ่งพิงวัคซีนโดยเฉพาะ โดยผลการศึกษาพบว่าคนที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคมีความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อตัวกลายพันธุ์เดลตามากกว่าคนที่หายป่วยจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 6 เท่า

นอกจากนี้แล้ว คนที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค ยังมีความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อตัวกลายพันธุ์เดลตาแบบแสดงอาการ มากกว่าคนที่หายป่วยจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 7 เท่า

"ผลการวิเคราะห์นี้แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติมอบการป้องกันการติดเชื้อ ติดเชื้อแบบแสดงอาการและอาการหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล สืบเนื่องจากตัวกลายพันธุ์เดลตา ได้ยาวนานและเข้มแข็งกว่า" พวกนักวิจัยระบุ

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษายังพบด้วยว่าภูมิคุ้มกันโควิด-19 ในบุคคลที่เคยติดเชื้อแล้ว ก็ลดลงเรื่อยๆ เช่นกันเมื่อเวลาผ่านไป

กระนั้นก็ตามความเสี่ยงเกิดเคสฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อ (vaccine-breakthrough) ในคนที่ฉีดวัคซีน มีมากกว่า 13 เท่า หากเปรียบเทียบเคยเคสติดเชื้อโควิด-19 แล้วติดเชื้อเป็นครั้งที่ 2 ระหว่างเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ 2021

ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้วมีความเสี่ยงต่อโรคระบาดใหญ่มากกว่าคนที่เคยติดเชื้อก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก

ในผลวิจัย พบว่า การฉีดวัคซีนแค่เข็มเดียวให้แก่คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็ดูเหมือนจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่คนกลุ่มนี้ได้เช่นกัน แม้ผลประโยชน์ระยะยาวของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด

ผลการศึกษาตีโพสต์ลงบนเว็บไซต์ medRxiv ในฐานะบทความก่อนตีพิมพ์ และยังไม่ผ่านการตรวจสอบทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ

ข้อมูลจาก  https://mgronline.com/around/detail/9640000084978

 

 

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ

กิจกรรม

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
3002910

มี 12 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซด์นี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา

นโยบายใช้งานคุกกี้