“เมื่อคนมาเลเซียมีชัยชนะในการส่งของ
ครอบครองข้อมูลทุกครัวเรือนของคนไทย”
เขียนโดย เอกพร รักความสุข
มีผลการสำรวจด้านการจัดส่งพัสดุด่วน พบว่า Kerry อยู่อันดับหนึ่ง ขณะที่บริษัทไปรษณีย์ไทย อยู่อันดับสอง โดย Kerry ส่งของทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยในจำนวน 1,100,000 ชิ้นต่อวัน
เจ้าของบริษัท Kerry เป็นคนมาเลเซีย ชื่อ โรเบิร์ต ก๊วก ทำธุรกิจหลายอย่างในชื่อ Kuok Group เป็นมหาเศรษฐีของมาเลเซียที่รวยในอันดับ 104 ของโลก มีมูลค่าทรัพย์สิน 384,000 ล้านบาท
คนไทยใช้ Kerry ร้อยละ 56.4 ขณะที่ใช้ไปรษณีย์ไทย ร้อยละ 38.5 โดยจุดขายสำคัญของ Kerry ได้แก่
- การทำงาน 365 วัน ไม่มีวันหยุด
- พัสดุ 1 ชิ้น ใช้คนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงผู้รับ จำนวน 7 คน เป็นอย่างน้อย เพื่อดูแลระบบให้มีคุณภาพ
- People Company ถือว่า คนสำคัญที่สุดในการให้บริการ
จากข้อมูลของหลายธนาคาร พบว่า มูลค่าการซื้อขายสินค้าออนไลน์ สูงกว่า 3.05 ล้านล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า COVID19
ความสำเร็จของคนมาเลเซียที่ให้บริการคนไทยได้ทั่วถึงและเป็นกิจการที่ดีที่สุดอันดับหนึ่งของไทย เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่เป็นข้อคิดที่เราได้มอบ “ข้อมูลคนไทย” ให้ Kerry เป็นข้อมูลความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคนที่ใช้บริการ ต่อไปในอนาคต Kerry สามารถต่อยอดธุรกิจต่างๆ โดยอาศัยความสามารถของการส่งสินค้า มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจต่างๆ ได้
บัดนี้ โอกาสของคนไทยจากท้องถิ่น จะขายสินค้าของไทย ต้องอาศัยฝีมือของคนมาเลเซีย และคนมาเลเซียสามารถนำสินค้าทั่วโลกมาขายคนไทยได้ทุกพื้นที่ เป็นความเสียเปรียบที่คนไทยเต็มใจ และเป็นความเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลที่เรามอบข้อมูลให้คนมาเลเซียใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ครับ
#thaitribune
บรรยากาศที่มหาชัย พม่าเข้าคิวตรวจโควิดดูน่ากลัวกว่าเดิม
สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก เรียกร้องให้เลิกด้อยค่าวัคซีนซิโนแวค ชี้ การกระทำแบบนี้ เป็นการกระทำผิดร้ายแรง ทำร้ายความหวังดี ไม่เคารพในข้อมูลวิทยาศาสตร์และความเป็นจริงเพราะวัคซีนซิโนแวคได้รับการรับรองจาก WHO
สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านบัญชีเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของหน่วยงาน (Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย) เรียกร้องให้หยุดการด้อยค่าวัคซีน ซิโนแวค ชี้เป็นการกระทำผิดร้ายแรง ทำร้ายความหวังดี ไม่เคารพในข้อมูลวิทยาศาสตร์และความเป็นจริง
โพสต์ของสถานทูตจีนมีใจความว่า
"คัดค้านการกล่าวหาวัคซีนจีนโดยไร้เหตุ
โดย โฆษกสถานทูตจีนประจำประเทศไทย
.
ปีนี้ ประเทศจีนได้ส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศไทยในโอกาสแรก เพื่อเป็นการสนับสนุนประเทศไทยในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 โดยได้พยายามเอาชนะกับความยากลำบากที่ความต้องการในการใช้วัคซีนภายในประเทศยังสูงอยู่ และจำนวนวัคซีนที่ผลิตยังไม่เพียงพอ ซึ่งวัคซีนจีนทุกโดสก็เป็นมิตรไมตรีจิตรอันจริงใจที่รัฐบาลและประชาชนจีนมีต่อรัฐบาลและประชาชนไทย
.
วัคซีนที่ฝ่ายจีนส่งมอบให้ฝ่ายไทยนั้น ได้รับการอนุมัติโดยองค์การอนามัยโลกให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินได้ และได้ผ่านการวิจัยและทดลองในมนุษย์ในระยะต่าง ๆ ตามข้อกำหนดของคณะกรรมการอาหารและยาของไทยอย่างเคร่งครัด เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีประสิทธิผลและมีการรับรองคุณภาพ"
"การกลายพันธุ์ของตัวไวรัสโคโรนาเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่บริษัทผลิตวัคซีนของจีนติดตามโดยตลอด บริษัทซิโนแวคได้ทำการทดสอบแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ระหว่างเซรั่มของผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวคกับไวรัสกลายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งก็ได้ผลออกมาอย่างดี ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศชิลีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคในการป้องกันการรักษาที่โรงพยาบาล อาการหนักและเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 86% ผลการวิจัยของรัฐบาลอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม แสดงให้เห็นว่า ประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคในการป้องกันการรักษาที่โรงพยาบาลและเสียชีวิตได้ถึง 92% และ 95% ซึ่งข้อมูลดังกล่าวพิสูจน์ได้ว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิผลในการป้องกันไวรัสกลายพันธ์ุเป็นอย่างดี ไม่ใช่วัคซีน “คุณภาพต่ำ” ตามที่กล่าวหาอย่างแน่นอน
.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ บางคนและบางองค์การของประเทศไทยได้ด้อยค่าและใส่ร้ายวัคซีนจีนโดยไม่มีเหตุผลใด ๆ ซึ่งเป็นการกล่าวหามุ่งร้ายที่ไม่เคารพข้อมูลวิทยาศาสตร์และความเป็นจริง และเป็นการทำร้ายความหวังดีของฝ่ายจีนในการสนับสนุนประชาชนไทยต่อสู้กับโรคระบาด สถานทูตจีนจึงขอคัดค้านอย่างเด็ดขาด และเรียกร้องให้บุคคลและองค์การที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำผิดอย่างร้ายแรงเช่นนี้
.
ฝ่ายจีนยินดีที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทยต่อไป โดยยึดมั่นในความจริงใจและความหวังดีอย่างมากที่สุด ให้ความช่วยเหลือกับฝ่ายไทยในการต่อสู้กับโรคระบาด หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะเอาชนะกับโรคโควิด-19 โดยเร็ว และกลับคืนสู่ภาวะปกติในการดำรงชีวิตและทำงานในเร็ววัน"
ข้อมูลจาก https://www.springnews.co.th/news/815244
(คุยกับหมอสันต์เรื่องสถานะการณ์โควิด19 ต่อจากครั้งที่แล้ว)
ถาม
สถานะการณ์โควิดตอนนี้วิกฤติมากและเกินจุดที่จะเยียวยาแล้วใช่ไหม?
นพ.สันต์
ไม่ใช่หรอกครับ นับถึงวันนี้ (7 กค. 64) ข้อมูลจริงของประเทศไทยเป็นอย่างนี้นะ
มีคนติดเชื้อแล้ว 294,653 คน (0.43% ของประชากรทั้งหมด)
ตายไปแล้ว 2,333 คน (อัตราตาย 0.79%)
ฉีดวัคซีนครบแล้ว 3,082,746 คน (4.60%)
จำนวนโด้สวัคซีนที่ฉีดไปแล้ว 11,328,043 โด้ส
ผมไฮไลท์ให้เห็นอีกทีนะ มีคนไทยเพิ่งติดเชื้อโควิดไปเพียง 0.43% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ประเทศที่ติดโรคนี้หนักๆเขาติดโรคนี้กันระดับ 10% และคนไทยก็เพิ่งฉีดวัคซีนครบแล้วเพียง 4.6% ขณะที่ประเทศที่เขาขยันฉีดเขาฉีดไปแล้ว 50% คือถ้าเปรียบเรื่องนี้เป็นการทำสงครามของไทยเราก็เพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้นรบกันเหยาะๆแหยะๆที่โน่นนิดที่นี่หน่อยเท่านั้นเอง สงครามใหญ่ยังไม่เกิดขึ้น ยัง..ยัง ยังไม่ถึงวิกฤติหรือจุดที่เยียวยาไม่ได้หรอก ยังอยู่อีกไกล และยังมีอะไรที่ลงมือทำแล้วจะพลิกสถานะการณ์ได้อีกแยะ
ท่านที่กังวลว่าอัตราการติดเชื้อ 0.43% นี่ของหลอกหรือเปล่าเพราะเราตรวจค้นหาเชิงรุกได้น้อย ก็ให้มาดูที่อัตราตายก็ได้ครับซึ่งเป็นตัวเลขจริงที่ช่วยควบคุมว่าอัตราการติดเชื้อน้อยกว่าความเป็นจริงหรือเปล่า กล่าวคือหากอัตราการติดเชืัอตรวจได้น้อยกว่าความเป็นจริงอัตราตายก็จะสูงกว่าตัวเลขสากลโดยอัตโนมัติเพราะคนไทยสมัยนี้คนที่ใกล้ตายเกือบทั้งจะหมดมาตายที่โรงพยาบาลและคนที่ถูกรับเข้าโรงพยาบาลทุกคนล้วนถูกตรวจหาเชื้อโควิด อัตราตายจากโควิดของไทยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ 0.79% ซึ่งต่ำกว่าอัตราตายสากลที่มีอัตราตายเฉลี่ยทั่วโลก 2.16% ยิ่งหากรวมพวกติดเชื้อที่คาดเดาเอาว่ายังมีอีกมากเพราะไม่ได้ตรวจอัตราตายก็จะยิ่งต่ำกว่าอัตราตายสากลไปมากกว่านี้อีก ตัวเลขอัตราตายที่ต่ำกว่าสากลนี้เป็นตัวช่วยคุมว่าตัวเลขการติดเชื้อไม่ได้ต่ำกว่าความเป็นจริงไปมากนัก
ถาม
แล้วแนวทางแก้ไขต้องมีอะไรใหม่ไหม?
นพ.สันต์
ไม่มี ก็ทำตามแนวทางที่ทำมานั่นแหละแต่ทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิม คือด้านหนึ่งก็กดโรคให้อยู่ อีกด้านหนึ่งก็ระดมฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้
ถาม
ตามเสียงของแพทย์ต่างๆที่แสดงความเห็นออกมาใน public โรคมันกดไม่อยู่แล้วไม่ใช่หรือ?
นพ.สันต์
ไม่จริ๊ง..ง โรคเพิ่งกระจายไปได้แค่ 0.43% ของประชากรจะบอกว่ากดไม่อยู่ได้อย่างไร โรคนี้ระบาดไปทั่วโลกนานปีกว่าแล้วนะ แล้วทำไมเราติดโรคแค่ 0.43% ขณะที่ประเทศอื่นเขาติดกัน 5% บ้าง 10% บ้าง นี่แหละคือเรายังกดโรคไว้อยู่ เพียงแต่ว่ามาระยะหลังนี้แนวโน้มเวลาที่จำนวนเคสดีดตัวเพิ่มเป็นสองเท่า (doubling time) มันชักจะสั้นลงจึงมีคนกังวลว่าโรคมันกำลังลุกลาม นั่นเป็นแค่ความกังวล แต่ความเป็นจริงคือตามกลไกของการระบาดตอนนี้โรคยังอยู่ในระยะกระจายเป็นหย่อมๆ (cluster of cases) ยังไปไม่ถึงระยะการระบาดในชุมชน (community infection) ดังนั้นการตั้งหน้ากดโรคจึงเป็นทางไปทางเดียว ทางอื่นไม่มี การคิดจะปล่อยหรือเลิกควบคุมโรคนั้นไม่ใช่ทางเลือกเลย
ทุกวันนี้ในชนบทซึ่งเป็นฐานที่มั่นอย่างแท้จริงของการควบคุมโรคในระดับประเทศนั้นกลไกการควบคุมโรคยังได้ผลดีระดับใกล้ 100% เลยทีเดียว การที่ชนบทหยุดโรคในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาได้เป็นเครื่องยืนยัน
ปัญหาก็เหลืออยู่แค่สองจุด หนึ่ง คือกลไกด่านกักกันโรคในระดับประเทศ หมายถึงว่าการกักกันโรคจากภายนอกประเทศไม่ให้เข้ามาซึ่งเรายังทำได้ไม่ดี สอง คือเรายังขาดรูปแบบการควบคุมโรคที่ได้ผลดีสำหรับกรุงเทพและปริมณฑล ถ้าเราเอารูปแบบการควบคุมโรคที่ได้ผลดีแล้วในชนบทมาลองประยุกต์ใช้ ผมหมายถึงว่าคัดลอกรูปแบบ รพ.สต. และ อสม. มาประยุกต์ เช่นมองคอนโดหนึ่งหลัง โรงงานหนึ่งโรง หรือสลัมหนึ่งสลัมว่าเป็นเสมือนหมู่บ้านในชนบทหนึ่งหมู่บ้าน นี่เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าจะลองดู
ถาม
หมายความว่าไม่ต้องล็อคดาวน์
นพ.สันต์
ไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าล็อคดาวน์มีความหมายเหมือนอย่างที่เคยทำมาคือยังมีการเดินทางไปมาหาสู่กันได้ล็อคดาวน์หรือไม่ล็อคดาวน์ก็แปะเอี้ย ความสำคัญมันอยู่ที่การเปลี่ยนยุทธศาสตร์การควบคุมโรคในกรุงเทพและปริมณฑลโดยเอาความสำเร็จของการควบคุมโรคในชนบทเป็นแม่แบบ
ถาม
คุณหมอว่าหนึ่งในสองปัญหาใหญ่อยู่ที่ความอ่อนแอของด่านกักกันโรค การเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็ยิ่งเพิ่มปัญหาสิ
นพ.สันต์
แซนด์บ็อกซ์หรือแซนด์พิทหมายถึงกะบะหรือหลุมทรายสำหรับเด็กเข้าไปเล่น มันเป็นที่จำลองที่ปลอดภัยสำหรับการทดลองเล่นโน่นนี่นั่นสำหรับเด็ก คอนเซ็พท์ของการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็คือเพื่อเป็น test model ว่าเราจะเปิดประเทศได้โดยปลอดภัยได้ไหม ผมว่ามันมีข้อดีตรงที่มันเปิดให้รัฐได้ใช้เป็นสนามซ้อมในการทำด่านกักกันโรคที่มีประสิทธิภาพ ผมกลับมีความเห็นว่าควรจะเปิดแซนด์บ็อกซ์แบบนี้เยอะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด่านที่เราแก้ปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานไม่ได้ เช่นแม่สอดแซนด์บ็อกซ์ แม่สายแซนด์บ๊อกซ์ สระแก้วแซนด์บ็อกซ์ เป็นต้น ยิ่งลองทำแยะยิ่งดี เพราะเมื่อสามารถลองผิดลองถูกได้ ความรู้ว่าวิธีใหนดีไม่ดีก็จะเกิดตามมา ดีกว่านั่งตะบันทำแบบเดิมๆที่ทำมาแล้วหลายสิบปีทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่ามันเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ถาม
เรื่องความกังวลว่าแพทย์พยาบาลจะติดเชื้อป่วยตายจนไม่มีใครมารักษาคนป่วย?
นพ.สันต์
ก่อนอื่นผมออกตัวก่อนว่าผมเป็นเหมือนทหารผ่านศึกที่ปลดประจำการแล้ว ไม่รู้หรอกว่าในสนามรบสมัยนี้เขาใช้ปืนกันแบบไหนโยนระเบิดกันอย่างไร ดังนั้นผมไม่รู้หรอกว่าการบำรุงขวัญกำลังใจให้แพทย์พยาบาลที่หน้างาน ณ วันนี้เราควรจะต้องทำมากประมาณไหน ตรงนี้ผมไม่รู้จริงๆ คนที่ดูแลหน้างานอยู่จริงๆเท่านั้นที่จะให้น้ำหนักได้และตัดสินใจได้ ผมรู้แต่การใช้หลักฐานข้อมูลในภาพรวมมาประเมินความเสี่ยง อย่างเช่นความเสี่ยงที่แพทย์และพยาบาลที่หน้างานจะป่วยจะตายจากโรคนี้มากจนไม่มีคนทำงาน ข้อมูลความจริงทั่วโลกคืออัตราการป่วยและตายจากโควิดของแพทย์พยาบาลไม่ต่างจากอัตราป่วยและตายจากโควิดของประชาชนทั่วไปในเพศและวัยเดียวกันที่โครงสร้างสุขภาพคล้ายกัน ข้อมูลอันนี้ทำให้เรารู้ว่าความกังวลที่ว่าแพทย์พยาบาลจะติดโรคตายกันมากจนไม่มีใครมารักษาคนไข้นั้นเป็นความกังวลที่มากเกินความจริง
ถาม
แล้วถ้าคนไข้ล้นโรงพยาบาลทั่วประเทศขึ้นมาละ?
นพ.สันต์
ก็ต้องทำสองอย่าง นอกโรงพยาบาลก็ทำระบาดวิทยาเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ในโรงพยาบาลก็บริหารกำลังพลเพื่อตรึงกำลังให้สู้ได้นานที่สุด คำว่าบริหารกำลังพลผมหมายถึงการทดลองเอาหลักฐานวิทยาศาสตร์มาเปลี่ยนวิธีทำงานให้มันมีคนมาทำงานมากขึ้น ทำงานได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่นแพทย์พยาบาลที่ติดโรคแต่ไม่มีอาการอาจจะไม่ต้องหยุดงาน และวอร์ดที่มีแพทย์พยาบาลติดโรคโดยไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องปิดวอร์ด เพราะไม่มีหลักฐานว่าการทำทั้งสองอย่างจะทำให้อัตราตายของทั้งแพทย์พยาบาลและคนป่วยลดลงแต่อย่างใด การจัดเวรขึ้นกะของพยาบาลก็อาจจะเปลี่ยนให้มันสอดคล้องกับรอบของระยะฟักตัวของโรค เช่นขึ้น 14 วัน หยุด 14 วันแบบพวกทำงานบนแท่นเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง เป็นต้น
ถาม
แต่ทุกวันนี้ในแง่การคัดกรองเชิงรุกนโยบายบังคับให้รพ.ที่ตรวจพบโควิดต้องเป็นผู้รับผู้ป่วยไว้รักษาในราคาที่รัฐล็อคไว้ ทำให้ไม่มีการตรวจคัดกรองเชิงรุก
นพ.สันต์
ก็แจก kit ให้ไปตรวจคัดกรองตัวเองในบ้านหรือในโรงงานของใครของมันสิครับ ไม่ต้องมาร้องขอให้รพ.หรือห้องแล็บตรวจให้ สมัยนี้มีวิธีตรวจคัดกรองแบบง่ายๆที่มีความไวพอควรให้ใช้หลายแบบแล้ว ตรวจเสร็จหากได้ผลบวกก็ค่อยเข้าสู่กระบวนยืนยันและการรักษา เช่นเริ่มด้วยการแจ้งผ่านอสม.หรือศูนย์ควบคุมโรคเขตของตัวเองทราบ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ก็จะจัดชั้นใส่สีและให้คำแนะนำแผนการรักษาให้เป็นคนๆไป คนที่อาการหนักจึงจะไปจบที่โรงพยาบาล โดยวิธีนี้คนก็ไม่ต้องประดังไปโรงพยาบาลเสียตั้งแต่ขั้นตอนการวินิจฉัยโรค และเมื่อป่วยจริงแล้วก็อาจจะไม่ต้องไปโรงพยาบาลเลยเพราะไม่มีอาการหรืออาการเบา อาจจะแค่รักษาตัวเองอยู่ที่บ้านแบบ home isolation ก็ได้ วิธีนี้นอกโรงพยาบาลก็ยังทำระบาดวิทยาเชิงรุกได้อยู่ ในโรงพยาบาลก็บริหารกำลังพลสู้กับโรคไป จนกว่าโรคจะสงบหรือการฉีดวัคซีนจะครอบคลุมทั้งประเทศ
ถาม
มีประเด็นเรื่องประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้ไหม?
นพ.สันต์
ถึงจะมีประสิทธิผลต่างกันก็ไม่ควรยกมาเป็นเรื่องใหญ่ ในวงการแพทย์นี้เป็นธรรมเนียมมาช้านานแล้วว่าวัคซีนป้องกันโรคระบาดหากมีประสิทธิผล 50% เราก็เอาออกใช้แล้ว วัคซีนทั้งสามตัวที่ WHO อนุมัติให้ใช้มีประสิทธิผลเกิน 50% หมด ส่วนตัวไหนดีกว่าตัวไหนจริงๆแล้วยังไม่มีงานวิจัยเปรียบเทียบแบบ RCT จึงยังไม่มีใครพูดได้เต็มปากได้แต่อ้างหลักฐานเบื้องต้น ไปภายหน้าเวลาจะเปิดเผยให้เรื่องมันแดงขึ้นมาเองว่าตัวไหนดีกว่าตัวไหนแต่ไม่ใช่ตอนนี้ เรื่องวัคซีนนี้ความสำคัญมันอยู่ที่การไม่มีวัคซีนใช้ ทำให้การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม (vaccine coverage) ในระดับประเทศเนิ่นช้าออกไปมาก ดัชนี vaccine coverage นี้เป็นดัชนีควบคุมโรคตัวหลักที่ WHO ใช้โดยไม่แยกแยะชนิดหรือประสิทธิผลของวัคซีน เรื่อง coverage นี้มันเป็นประเด็นสำคัญมากแต่ก็เป็นสภาวะจำยอมที่ไม่มีใครทำอะไรได้ ได้แต่ร้องเพลงรอ แต่ผมอยากให้เรามองย้อนหลังไปว่าหนึ่งปีกว่ามานี้เราก็ไม่มีวัคซีน เพิ่งฉีดไป 4.6% ก็แทบจะเท่ากับยังไม่ได้ฉีด แต่ทำไมเรากดโรคให้ต่ำอยู่แค่ระดับ 0.43% ได้ละ เป็นเพราะความสามารถในการทำระบาดวิทยาเชิงรุกของเราไม่ใช่หรือ นั่นแหละคือจุดแข็งของเรา แล้วทำไมเราไม่โฟกัสที่จุดแข็งของเรา
ถาม
ความเห็นเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มที่สามให้แพทย์พยาบาลหน้างาน
นพ.สันต์
ผมตอบไปแล้วว่าผมเหินห่างจากงานการแพทย์ที่ด่านหน้ามานาน ไม่รู้เลยว่าควรทำอะไรแค่ไหนในแง่ของการสร้างขวัญกำลังใจ ตรงนี้ผมตอบไม่ได้ ต้องให้คนที่ดูแลหน้างานจริงๆเป็นคนตอบ
ถาม
จากนี้ไปคนไทยทั่วไปควรเตรียมรับมือกับโควิดอย่างไร ต้องซื้อเครื่องทำออกซิเจนไว้ใช้ที่บ้านไหม หลวงพ่อที่วัดฝากถามเลยไปถึงว่าต้องเปลี่ยนแปลงเร่งรัดวิธีการทำศพหรือเปล่า?
นพ.สันต์
ใส่หน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ ฉีดวัคซีน และร่วมมือกับรัฐในการควบคุมโรคยังเป็นยุทธศาสตร์หลักสำหรับประชาชนทั่วไป
ส่วนการตุนเครื่องทำออกซิเจนนั้นเป็นเรื่องที่จะเสียมากกว่าได้ คือเสียเงินแต่โอกาสจะได้ใช้จริงมีน้อยมากจนไม่คุ้มที่จะเสียเงิน สำหรับเมืองไทยนี้ถ้ามีการระบาดของโรคจนขนาดต้องดูแลกันเองที่บ้านมากระดับนั้นขึ้นมาจริง การที่รัฐหรือองค์กรการกุศลจะจัดตั้งระบบแชร์เครื่องทำออกซิเจนแบบโฮมยูสไปตามบ้านต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
ส่วนที่หลวงพ่อฝากถามเรื่องควรปรับวิธีเผาศพให้เร็วขึ้นไหมนั้น อันนี้มันต้องเป็นดุลพินิจของหลวงพ่อเองนะครับ ใครทำงานอะไรอยู่ก็ต้องพยายามปรับวิธีทำของตัวเองให้มันดีขึ้นๆนี่มันเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ถ้าถามผมว่าคนจะตายมากจนเผาศพไม่ทันไหม ข้อมูลเท่าที่ผมมีอยู่ตอนนี้คือคนไทยตายเฉลี่ยวันละประมาณ 1,285 คน ในจำนวนนี้ตายจากโควิดประมาณ 75 คน ตายจากอุบัติเหตุประมาณ 35 คน ขณะที่โควิดทำให้คนตายมากขึ้น อุบัติเหตุกลับมีคนตายน้อยลง โหลงโจ้งแล้วนับถึงวันนี้โควิดยังไม่ได้เพิ่มอัตราตายรวมได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนอัตราตายรวมในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมโรคของรัฐบาลและคนไทยทุกคน ซึ่งไม่สามารถคาดเดาตัวเลขได้ หลวงพ่ออยากรู้จริงๆก็ต้องไปถามหมอดูละครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
Bandyopadhyay S, Baticulon RE, Kadhum M, et al. Infection and mortality of healthcare workers worldwide from COVID-19: a systematic review. BMJ Global Health 2020;5:e003097. doi:10.1136/bmjgh-2020-003097
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จ่อเพิ่ม "วัคซีน TDAP" ป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในหญิงตั้งครรภ์ เป็นวัคซีนพื้นฐานใหม่ เพิ่มภูมิคุ้มกันถึงทารกแรกคลอด ลดป่วยรุนแรงช่วงก่อนรับวัคซีน
นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมเพิ่มวัคซีนพื้นฐานใหม่เข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ว่า ปัจจุบันในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คณะอนุกรรมการวัคซีนหลักแห่งชาติ มีการบรรจุวัคซีนพื้นฐานเข้าสู่แผนงานแล้ว 11 ชนิด ได้แก่
- วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG)
- วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี
- วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก
- วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี
- วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน
- วัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ (HIB) ซึ่งบรรจุเข้ามาในปี 2562
- วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรตา ซึ่งบรรจุในปี 2563
วัคซีนใหม่ที่กำลังพิจารณาเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมีหลายชนิด แต่ที่คืบหน้าที่สุด คือ วัคซีน TDAP สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ในการป้องกันโรคบาดทะยัก (Tetanus) คอตีบ (Diphtheria) และไอกรน (Acellular Pertussis) เนื่องจากภูมิคุ้มกันของโรคต่างๆ เหล่านี้ซึ่งเคยได้รับในตอนเด็ก เวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันจะลดลง การให้ในหญิงตั้งครรภ์เพื่อหวังผลเพิ่มภูมิคุ้มกัน 2 ส่วน ทั้งในหญิงตั้งครรภ์และป้องกันในเด็กทารกด้วย ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวัคซีนหลักแห่งชาติแล้ว เหลือกระบวนการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เข้าใจว่าปี 2565 ก็น่าจะเสร็จเรียบร้อย ก็จะเสนอเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
“การฉีดให้หญิงตั้งครรภ์และมีผลไปถึงทารกด้วยนั้น จะช่วยลดการป่วยของเด็กทารกใน 3 โรคนี้ก่อนที่จะเริ่มรับวัคซีนพื้นฐานตามเกณฑ์ ซึ่งจะมีช่องว่างหรือ Gap อยู่ เนื่องจากเด็กทารกจะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เข็มแรกคือ 2 เดือน ตามด้วย 4 เดือน 6 เดือน เป็น 3 เข็มแรก และต่อด้วย 1 ขวบครึ่งและ 5 ขวบ ซึ่งต้องรอ 3 เข็มแรกภูมิคุ้มกันถึงจะพอป้องกันได้ แต่จากข้อมูลพบว่า บางครั้งเด็กป่วย เช่น โรคไอกรนตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่อายุไม่ถึง 4 เดือน ส่วนใหญ่ติดในครอบครัว เป็นช่วงที่เด็กยังมีภูมิคุ้มกันไม่เต็มที่หรือยังขึ้นไม่ทัน เนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีนหรือวัคซีนไปเพียงเข็มเดียว ก็จะป่วยก่อนแล้วไอกรนในเด็กเล็กมักรุนแรงมากด้วย ถ้าให้วัคซีน TDAP ในหญิงตั้งครรภ์จะช่วยลดในลูกได้”นพ.นครกล่าว
ส่วนความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีนเอชพีวีเพื่อฉีดย้อนหลังให้เด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ไม่ได้ฉีดไป 2 ปีจากสถานการณ์โควิด-19 นพ.นครกล่าวว่า บริษัทที่นำเข้าวัคซีนเอชพีวีก็มีวัคซีนเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก ซึ่งทางกรมควบคุมโรคและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่ระหว่างการเตรียมการงบประมาณในการจัดซื้อ เพราะขณะนี้เป็นช่วงปลายปีงบประมาณ
ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1020710?anf=
หน้าที่ 90 จาก 147