19 ส.ค.64 - นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวว่า การตรวจภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สูตรฉีดไขว้สลับชนิด โดยเฉพาะการต่อสู้และกำจัดสายพันธ์เดลต้า (อินเดีย) ซึ่งเป็นการศึกษาจากเชื้อสายพันธุ์เดลต้าจริง กับเลือดของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนในสูตรต่างๆ ดังนี้วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม สามารถกำจัดไวรัสในหลอดทดลอง ค่าเฉลี่ยภูมิคุ้มกันขึ้นไป 24-25 ถือว่าจัดการกับไวรัสได้ แต่ภูมิคุ้มกันจะค่อยๆ ลดลงตามระยะเวลา

การสลับสูตรแอสตร้าเซนเนก้า เข็มแรก ตามด้วยซิโนแวค เข็มที่ 2 พบว่าภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 25 ไม่แตกต่างไปจากการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม การสลับสูตรแบบนี้ ไม่ได้สร้างคุณค่าเพิ่มขึ้น จึงไม่แนะนำให้ฉีด ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดเข็มที่ 2 ผ่านไป 2 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันขึ้นไป 76 เท่า สูงกว่าซิโนแวค2 เข็ม และการสลับสูตร ซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 พบว่าค่าเฉลี่ยขึ้นไปที่ 78 เหนือกว่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มอยู่เล็กน้อย แต่มีข้อได้เปรียบที่ใช้เวลาสั้นลงเพียง 5 สัปดาห์ และใช้ต่อสู้กับสายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน 

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่าผลการตรวจภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส ดังนี้ บูสเตอร์ด้วยซิโนฟาร์ม หลังฉีดซิโนแวค 2 เข็ม แต่สูตรนี้เก็บตัวอย่างน้อย มีเพียง 14 คน ภูมิคุ้มกันขึ้นมาที่ 61 ซึ่งไม่มากเท่าไร เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน ทำให้กระตุ้นภูมิได้ไม่สูงมาก และฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และบูสเตอร์เข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ภูมิคุ้มกันขึ้นไปที่ 271 สามารถกำจัดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ดีมาก และมีภูมิคุ้มกันมากกว่าการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม 10 เท่า

นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ยังต้องติดตามว่าภูมิคุ้มกันที่ขึ้นสูงจะอยู่ได้นานอย่างไร รวมถึงการตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ และประสิทธิภาพของวัคซีนในการต่อสู้กับเชื้อสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) โดยการศึกษาวิจัยของกรมวิทย์ฯ จะให้คำตอบว่าวัคซีนบูสเตอร์โดสจำเป็นอย่างไร และต้องฉีดในระยะเวลาห่างกันอย่างไร เนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงตามระยะเวลา ทั้งนี้ประชาชนไม่จำเป็นต้องไปตรวจภูมิคุ้มกัน เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ว่าสามารถป้องกันเชื้อแต่ละสายพันธุ์ได้อย่างไร

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังเร่งศึกษาการฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนัง ประสบการณ์การฉีดวัคซีนในอดีตพบว่า ใช้วัคซีนเพียง 25% สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงพอ กับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่ต้องใช้วัคซีน 100% หากผลการวิจัยมีผลสำเร็จ จะมีโอกาสเพิ่มจำนวนคนที่จะได้รับวัคซีนได้มากขึ้น 4-5 เท่า ก็จะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับการบริหารจัดการวัคซีนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้คงต้องรอผลทางวิทยาศาสตร์ 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/113880

 

31 ก.ค. 2564  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำ  คู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation ที่คุณหมอหลายท่านช่วยกันรวบรวมข้อมูลสำคัญ เพื่อให้ใครก็ตามที่กำลังมองหาทางเลือกในการดูแลรักษาผู้ป่วย #โควิด19 ในสถานการณ์นี้ 


คลิก ดาวน์โหลด คู่มือ การแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้ที่ >> http://ssss.network/rnzwu

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/111726

 

5 พ.ค.65- นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย แถลงผลสรุปการจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Universal Health and Preparedness Review (UHPR) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-29 เมษายน 2565

นายอนุทินกล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เลือกประเทศไทยให้เป็นประเทศต้นแบบลำดับที่ 3 ในการนำร่องจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า จากการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี และข้อเสนอแนะระหว่างประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ซึ่งข้อสรุปเบื้องต้นจากการจัดกิจกรรมฯ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกและทีมประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีการบริหารจัดการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีโควิด 19 เป็นอย่างดี มีความยืดหยุ่น ปรับตัวไปตามสถานการณ์ และเน้นการปฏิบัติได้จริง โดยพบปัจจัยสำคัญ

 


คือ 1.มีการสนับสนุนโดยผู้บริหารระดับสูงที่กำหนดนโยบายประเทศ 2.ระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็งจากการลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบปฐมภูมิมาอย่างต่อเนื่องกว่า 4 ทศวรรษ 3.มีความร่วมมือเชื่อมต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และภาคการศึกษา รวมถึง อสม. 4.มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนและชุมชน และ 5.มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูล

ส่วนอุปสรรคและความท้าทายที่ยังสามารถพัฒนาได้ คือ การบูรณาการข้อมูลจากหลายแหล่ง, การดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น แรงงาน ผู้อาศัยในชุมชนแออัด ให้เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น, การเตรียมความพร้อมรับภาวะฉุกเฉินในเขตเมืองและระบบปฐมภูมิ, การต่อยอดหรือสร้างความยั่งยืนในการใช้นวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น และการจัดการกับขยะทางการแพทย์หรือขยะติดเชื้อ โดยมีข้อเสนอให้เพิ่มการลงทุนเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้สามารถใช้งานต่อเนื่อง พัฒนากำลังคนแบบสหสาขาและนำกลยุทธ์ที่ใช้ได้ดีไปเตรียมพร้อมรับมือการระบาดครั้งต่อไป ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสุขภาพ สุขภาวะของประชาชนที่ครอบคลุมถึงกลุ่มเปราะบาง ยกระดับขีดความสามารถการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน ยา ชุดตรวจ และเวชภัณฑ์ พัฒนากลยุทธ์ในการบูรณาการข้อมูล รวมถึงค้นหาและบันทึกตัวอย่างที่ดี บทเรียนที่สำคัญในการจัดการกับการระบาดใหญ่เพื่อเผยแพร่ต่อไป

“ประเทศไทยได้รับคำชมจากผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก ถึงนโยบายและมาตรการแนวทางการดำเนินงานดูแลประชาชน ทั้งการรักษาพยาบาลผู้ป่วยและการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ทางองค์การอนามัยโลก ระบุว่ายินดีสนับสนุนและร่วมทำงานกับประเทศไทย โดยขอให้ประเทศไทยจัดทำรายงาน UHPR และเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อขอความเห็นชอบรายงาน นอกจากนี้ ให้เตรียมการแถลงประสบการณ์ UHPR ในที่ประชุม World Health Assembly (WHA) ปลายเดือนพฤษภาคม 2565 และร่วมกับอีก 3 ประเทศนำร่องในการทบทวนปรับปรุงกระบวนการ UHPR ให้ดียิ่งขึ้นก่อนนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ” นายอนุทินกล่าว

ด้าน นพ.จอส กล่าวว่า หลักพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ประเทศใดๆ เตรียมพร้อมและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขได้ดี จะต้องมี 1.ผู้นำทางการเมืองระดับสูงรับเรื่องเป็นพันธสัญญา 2.การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และ 3.กรอบความรับผิดชอบ 3 ด้าน ได้แก่ สุขภาพถ้วนหน้า การเตรียมพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และสุขภาวะที่ดีขึ้นของประชากร นอกจากนี้ ความสำเร็จจะเกิดได้ขึ้นกับการนำไปสู่การลงมือปฏิบัติโดยถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนซึ่ง ดร.สมิลา อัสมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก แสดงความชื่นชมที่รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องนี้

สำหรับกิจกรรมการทบทวน UHPR ตลอดช่วงวันที่ 21-29 เมษายน 2565 มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องของการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ในสถานประกอบการและผู้ประกันตน การดูแลแรงงานทุกเชื้อชาติ ติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ชลบุรี และสมุทรสาคร กิจกรรมหน่วยงานเครือข่ายและชุมชนในกรุงเทพมหานคร มีการฝึกซ้อมแผนด้วยสถานการณ์สมมติ โดยหน่วยงานจากกระทรวงต่างๆ ที่ร่วมดำเนินมาตรการรับมือภาวะฉุกเฉินกรณีโรคโควิด 19 และสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการป้องกันควบคุมโรค ทำให้เห็นการประสานงานหลายภาคส่วนจนถึงในระดับชุมชน

 

 

สธ.ชี้จุดเสี่ยงติดโควิด 19 ช่วงถอดหน้ากากเพื่อรับประทานอาหารร่วมกัน

สธ เผยโควิด 19 ระลอกใหม่อัตราเสียชีวิตลดลง 10 เท่าจากระลอกแรก ย้ำจุดเสี่ยงติดเชื้อคือช่วงรับประทานอาหาร เหตุไม่สวมหน้ากาก ทั้งกรณีบิ๊กไบค์ และดีเจมะตูม เตือนที่ทำงานควรงดรับประทานอาหารร่วมกันหลายคน แนะผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับดีเจมะตูมกักตนเองและตรวจหาเชื้อ

 

วันนี้ (21 มกราคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 142 ราย การติดเชื้อระลอกใหม่สะสม 8,558 ราย พบว่า อัตราเสียชีวิตระลอกใหม่ลดลง 10 เท่า โดยระลอกแรกติดเชื้อ 4,237 ราย เสียชีวิต 60 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.42 ระลอกใหม่ติดเชื้อ 6,416 ราย เสียชีวิต 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.13 เนื่องจากเรามีความรู้ ยา และเวชภัณฑ์มากขึ้น ผู้มีโรคประจำตัวระมัดระวังตัวมากขึ้น สำหรับในกทม.แนวโน้มมีผู้ป่วยไม่มากหลักสิบรายต่อวัน ยังค้นหาเชิงรุกในชุมชนต่อเนื่อง เช่น ชุมชนย่านวัดสิงห์ ประชาชนมารับการตรวจอย่างดี ช่วยให้การควบคุมโรคทำได้ดี

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดที่พบการติดเชื้อใหม่ ต้องสอบสวนโรคให้ได้ไทม์ไลน์อย่างละเอียด ติดเชื้อจากที่ไหน สัมผัสกับใคร ใครเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำ เพื่อดำเนินการควบคุมโรค  ล่าสุด จ.นครพนม ที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกวันที่ 18 มกราคม 2564 มีไทม์ไลน์ค่อนข้างสมบูรณ์ พบว่ามีความเชื่อมโยงกับบ่อนพนัน ที่นำมาติดเพื่อนซึ่งเดินทางมาเยี่ยม ส่วนดีเจมะตูมได้ให้ไทม์ไลน์อย่างละเอียด จุดเสี่ยงติดเชื้อคือการรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนที่ติดเชื้อเมื่อวันที่ 9 มกราคม ดังนั้นผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูงคือ ผู้สัมผัสตั้งแต่วันที่ 11 มกราคมเป็นต้นไป เนื่องจากระยะฟักตัวสั้นที่สุดคือ 2 วัน โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงคือ ผู้ที่ถูกผู้ติดเชื้อไอหรือจามใส่ หรือพูดคุยใกล้ชิด 5 นาที และอยู่ร่วมในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท 15 นาทีขึ้นไป แต่ความเสี่ยงจะลดลงหากใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ดังนั้น ผู้ที่เข้าข่ายผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องกักตัวเองและตรวจหาเชื้ออย่างน้อย 2 ครั้ง คือ วันที่ 1 ของการเริ่มกักตัวและในวันที่ 5-7

ส่วนกรณี อ.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ที่สัมผัสกับดีเจมะตูม และมาเข้าร่วมงานลงนามร่วมพัฒนาหลักสูตรอาหารผลิตภัณฑ์จากกัญชากัญชง เมื่อวันที่ 20 มกราคม ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วม ผลการตรวจของ อ.ยิ่งศักดิ์วันที่ 20 มกราคมเป็นลบ แสดงว่าวันดังกล่าวไม่มีเชื้อ แพร่เชื้อให้ใครไม่ได้ ผู้ที่สัมผัสกับ อ.ยิ่งศักดิ์ในวันนั้นถือว่าไม่มีความเสี่ยง ไม่ต้องกักตัว ส่วนกรณีข่าวพบผู้ติดเชื้อที่วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี 300 คน เมื่อวันที่ 19 มกราคมไม่เป็นความจริง เป็นภาพการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกในคนไทย 104 คน และต่างด้าว 51 คน กำลังรอผล ซึ่งทราบว่าส่วนใหญ่ไม่ติดเชื้อ

“จุดสำคัญที่พบการติดเชื้อบ่อยคือการรับประทานอาหารร่วมกัน อย่างปาร์ตี้บิ๊กไบค์ งานเลี้ยงดีเจมะตูม เป็นต้น เนื่องจากตอนรับประทานอาหารไม่ได้ใส่หน้ากาก นั่งไม่ห่างมากนัก หากสนุกสนานก็มีการพูดคุย เป็นจุดที่มีความเสี่ยง ดังนั้น สถานที่ทำงานหลายแห่งไม่ควรรับประทานอาหารร่วมกันหลายคน ต้องอยู่ห่างพอสมควร และต้องฝึกพูดคุยผ่านหน้ากากถ้าไม่อยู่คนเดียว” นพ.โอภาสกล่าว

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/news/government-of-thailand/455990?adz=

 

สธ.ประกาศ 'เดลตา' สายพันธุ์หลักโควิดระบาดในกทม.

 

สธ.เผย “เดลตา” สายพันธุ์หลักระบาดในกทม. เจอแล้วกว่า 52% ต่างจังหวัดพบใน 47 จังหวัด แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นอัลฟา

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 5 ก.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด-19 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลการจำแนกตามสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง ณ เวลา 18.00 น. วันที่ 2 ก.ค. 2564 ภาพรวมทั้งประเทศเฝ้าระวังตั้งแต่ 1 เม.ย.-2ก.ค.2564 เป็นสายพันธ์อัลฟา(อังกฤษ) 81.98 % เดลตา(อินเดีย) 16.36 % และเบตา(แอฟริกาใต้) 1.66 %

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจสายพันธุ์ในภาพรวมประเทศพบว่า สายพันธุ์เดลตา 32.2%  อัลฟา 65.1 % และเบตา 2.6% 

หากพิจารณา เฉพาะพื้นที่กทม. สายพันธุ์เดลตา 52 %  อัลฟา 47.8 % เบตา 0.2% ซึ่งจะเห็นว่าในพื้นที่กทม.สายพันธุ์เดลตาระบาดมากกว่าอัลฟาแล้ว ถือว่าเป็นการเข้ามาค่อนข้างเร็วกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อย

ในขณะที่ต่างจังหวัดก็เพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วพบแล้วเดลตา 18 % ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยพบใน 47 จังหวัด ส่วนอัลฟาพบ 77.6 % และเบตา 4.4 %

"สถานการณ์โควิดในกทม.การแพร่ระบาดในกทม.ขณะนี้เป็นสายพันธุ์เดลตา กระจายอยู่ในทุกเขต ทางตอนเหนือแชมป์หลักสี่ไปทางทิศตะวันตกตอนล่างมากพอสมควรและกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ " นพ.ศุภกิจ กล่าว

ส่วน สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้)  สัปดาห์ที่ผ่านนมาเพิ่ม 50 กว่ารายแต่ยังจำกัดวงอยู่ที่จ.นราธิวาสมีกระจายไปจังหวัดใกล้เคียงอยู่พอสมควรที่ จ.สุราษฎร์ธานีมียืนยัน 1 ราย  นครศรีธรรมราช 3 ราย กระบี่ 1 ราย ส่วนกรุงเทพฯเพิ่มอีก 2 รายซึ่งเป็นญาติของรายแรกที่พบการติดเชื้อ หมายความว่าพื้นที่กรุงเทพฯยังไม่ได้มีการกระจายไปไหนแต่ยังเป็นผู้ที่ติดจากรูปที่มาจากจังหวัดนราธิวาส

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า กรมกำลังดำเนินการทดสอบภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนโควิด โดยวางแผนจะทดสอบทั้งในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 8 กลุ่ม ตัวอย่างเลือดกลุ่มละอย่างน้อย  5 ตัวอย่าง คือ 1.ซิโนแวค 2 เข็ม มีแล้ว 12 ตัวอย่าง 2.แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม มีแล้ว 31 ตัวอย่าง 3.แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม 4.ซิโนแวคตามด้วยแอสร้าเซนเนก้า มีแล้ว 8 ตัวอย่าง 5. ซิโนแวค 2 เข็มตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 6.mRNA 2 เข็ม มีแล้ว 20 ตัวอย่างจากผู้ที่เดินทางไปฉีดหรือมาจากต่างประเทศ 7.ซิโนแวค 1 เข็มตามด้วย mRNA  และ8.แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ตามด้วย mRNA โดยในส่วนที่มีตัวอย่างอยู่แล้วคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มอื่นก็จะทำให้เร็ว เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงโมเดลที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนสำหรับประเทศไทย จะเสนอฝ่ายนโยบายในการพิจารณาต่อไป
 
 

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ