ศูนย์จีโนม รพ.รามาฯ เปิดข้อมูลใหม่เกี่ยวกับ โอไมครอน (Omicron) แพร่เร็วกว่า "เดลตา" แต่อาจจาก "วายร้าย" อาจพลิกกลับมาเป็น "พระเอก"?

 

วันนี้( 4 ธ.ค.64) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ชนิด B.1.1.529 หรือ "โอไมครอน"

โดยระบุข้อความว่า "ข่าวดีจากโควิด-19 “โอไมครอน” ที่อาจเกิดขึ้นในอีก 2 อาทิตย์ข้างหน้า จาก "วายร้าย" อาจพลิกกลับมาเป็น "พระเอก" เราได้รับข่าวสารอันเป็นการคาดการณ์สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst case scenario) ของ "โอไมครอน" กันมามากพอสมควร ดังนั้น post นี้ขอนำเสนอ การคาดการณ์สถานการณ์ที่ดีที่สุด โชคดีที่สุดที่ควรเป็นไปได้ (Best case scenario) ของ “โอไมครอน” บ้าง

Dr. John L. Campbell เป็นผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดียของอังกฤษได้รับความสนใจในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 สำหรับวิดีโออธิบายและข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับไวรัส ดร. แคมเบล สรุปประเด็นของโรคโควิด-19 ได้ดีมาก โดยมีผู้ติดตามถึง 1.6 ล้านคนผ่านช่องทาง “Youtube” เนื่องจากการบรรยายของท่านจะอ้างอิงจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เชื่อถือได้เป็นหลัก

โดยท่านได้สรุปประเด็นของ “โอไมครอน” ไว้อย่างน่าสนใจซึ่งตรงกันหลายประเด็นที่ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้คือ

วัคซีนเชื้อตายอาจช่วยปกป้องการติดเชื้อ "โอไมครอน" ได้ดีหรือไม่?

 

เพราะวัคซีนเชื้อตายเป็นการใช้เชื้อไวรัสทั้งตัวเข้ากระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งแม้จะกระตุ้นภูมิได้ไม่สูงเมื่อเทียบกับวัคซีนประเภทอื่น แต่จะกระตุ้นให้เกิด "แอนติบอดี" มากมายกว่า 20 ชนิด ต่างจากการใช้วัคซีนที่มีไวรัสเป็นพาหะ หรือวัคซีน mRNA ซึ่งภูมิจะขึ้นสูงกว่าแต่จะจำเพาะเจาะจงเฉพาะส่วน "หนาม" เพราะใช้เพียงส่วนหนามเข้ากระตุ้นภูมิเท่านั้น ดังนั้นหากติดเชื้อ "โอไมครอน" ที่ส่วนหนามเปลี่ยนไป อาจทำให้แอนติบอดีในร่างกายเราที่สร้างจากการกระตุ้นเพียงส่วนหนาม (จากวัคซีนไวรัสพาหะ และวัคซีน mRNA) ลดประสิทธิภาพในการป้องกัน "โอไมครอน" ลงได้

และกรณีไวรัสกลายพันธุ์จนสามารถแพร่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว (high transmissibility) ก็มักจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรง (mild symptom) โดยไวรัสเองจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน (immune escape) ได้ลดลงเช่นกัน เหตุการลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นมาแล้วกับสายพันธุ์ “บีตา” ซึ่งเป็นไวรัสโคโรนา 2019 ที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี (immune escape) แต่แพร่ติดต่อได้ไม่ดี จนถูก สายพันธุ์“เดลตา” ซึ่งแพร่ติดต่อได้รวดเร็วกว่า (more transmissibility) เข้ามาแทนที่ โดย “เดลตา” เองแม้จะแพร่ติดต่อได้ดีแต่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีนัก

หากคาดการณ์สถานการณ์ที่เป็นไปอย่างดีที่สุด โชคดีที่สุดที่ควรเป็นไปได้ (Best case scenario) “โอไมครอน” ซึ่งมีการกลายพันธุ์ไปมากและจากข้อมูลล่าสุดพบว่า สามารถแพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คนได้รวดเร็วกว่า “เดลตา” จะมีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้ามาแทนที่เดลตาในที่สุด โดยผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการรุนแรง (mild symptom) ทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดภูมิคุ้มกันโดยไม่ล้มเจ็บต้องเข้า รพ. หรือเสียชีวิต

“โอไมครอน” หากเข้ามาแทน"เดลตา" ได้สำเร็จ อาจช่วยลดระดับความรุนแรงของการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ที่มีอาการลดลงในที่สุด

เสมือนกับการให้วัคซีนชนิดเชื้อเป็น แต่อ่อนฤทธิ์ (live-attenuated vaccine) แก่คนทั่วโลก (โดยธรรมชาติ) ซึ่งเราน่าจะได้คำตอบภายใน 2-3 อาทิตย์ว่าบทสรุปแนวทางนี้ถูกต้องหรือไม่ ติดตามการบรรยายเต็มประมาณ 19 นาทีได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=Ls7zy6_0Z2s"

 ข้อมูลจาก https://www.tnnthailand.com/news/covid19/98388/

 

 

 

 

 

ภาพจาก AFP

ดร.อนันต์ ชี้ โอไมครอน" Pfizer 2 เข็มเอาไม่อยู่ ซ้ำ คาด "แพร่ทางอากาศ" ได้อีก
 
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา เผย ข้อมูลสุดช็อค ไวรัสโควิด โอไมครอน" วัคซีน Pfizer 2 เข็มเอาไม่อยู่ ซ้ำ คาด "แพร่ทางอากาศ" ได้อีก

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา เผย ข้อมูลสุดช็อค ไวรัสโควิด 'โอไมครอน" วัคซีน Pfizer 2 เข็มเอาไม่อยู่ ซ้ำ คาด "แพร่ทางอากาศ" ได้อีก

วันนี้ (26 ต.ค.) เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana หรือ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้โพสต์ระบุข้อความว่า

รายละเอียดของผู้ป่วยติดเชื้อ "โอมิครอน" 2 รายแรกของฮ่องกง ได้ถูกเผยแพร่โดยทีมวิจัยจาก University of Hong Kong ผู้ป่วยรายแรก (Case A) เดินทางมาจากประเทศแอฟริกาใต้ ถึงฮ่องกงวันที่ 11 พฤศจิกายน และได้เข้ากักตัวในโรงแรมแห่งหนึ่ง ผู้ป่วยรายนี้ได้ตรวจ RT-PCR ผลออกมาเป็นลบ 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และ เป็นผู้ได้รับวัคซีน Pfizer ครบสองเข็มไปตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผู้ป่วยรายที่สอง (Case B ) เดินทางมาจากประเทศแคนาดา ถึงฮ่องกงก่อนรายแรกคือวันที่ 10 พฤศจิกายน ได้รับการตรวจ RT-PCR ที่ต้นทางเป็นลบ และ รับ Pfizer เข็มสองไปตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม ทั้งคู่ได้กักตัวอยู่ในโรงแรมเดียวกัน โดยห้องอยู่ตรงข้ามกัน

 

Case A ตรวจพบผล RT-PCR เป็นบวกหลังกักตัวในโรงแรมเพียง 2 วัน โดยปริมาณไวรัสที่ตรวจได้ค่อนข้างสูง คือ Ct = 18 โดยหลังจากนั้นได้ถูกส่งไปที่โรงพยาบาลต่อ แต่ไม่มีรายงานว่าผู้ป่วยรายนี้มีอาการใดๆ ส่วน Case B ตรวจผลออกมาเป็นบวกหลังกักตัวนานถึง 8 วัน แต่เค้าเริ่มมีอาการป่วยเล็กน้อยตั้งแต่วันที่ 7 ของการกักตัว ก่อนส่งไปรักษาตัวต่อในโรงพยาบาล

ทีมวิจัยรายงานว่า การตรวจดูทีวีวงจรปิดตลอดเวลาที่ผู้ป่วยทั้งสองกักตัว ทั้งคู่ไม่เคยออกจากห้องกักตัวและมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ ไม่มีการใช้สิ่งของร่วมกัน ตลอดจนไม่มีบุคคลที่สามที่เข้าไปในห้องของแต่ละคน จังหวะเดียวที่แต่ละคนจะเปิดประตูห้องออกมาพร้อมๆกันคือ เพื่อรับอาหารที่วางไว้หน้าประตูห้องเท่านั้น ซึ่งใช้เวลาสั้นๆ นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นช่วงที่มีคนเข้าไปทำการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจ RT-PCR ซึ่งทำทุก 3 วัน

แต่เนื่องจากทั้งคู่มาพักไม่พร้อมกัน ทำให้การเก็บตัวอย่างดังกล่าวของแต่ละคนไม่ได้ทำวันเดียวกัน การถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสของทั้ง 2 คน ยืนยันว่าเป็นไวรัส "โอมิครอน" ที่มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกันมากๆ แตกต่างกันเพียงแค่ 1 ตำแหน่ง ซึ่งเชื่อว่าเป็นไวรัสตัวเดียวกัน และ เกิดการแพร่หากันจากการที่อยู่ในห้องพักตรงข้ามกันในช่วงเวลา 2 วันที่ Case A พำนักอยู่ในห้อง และ มีโอกาสสูงที่จะแพร่ทางอากาศมากกว่าการสัมผัส หรือ ละอองฝอย

ถ้าวิเคราะห์ตามข้อมูลนี้ Case B อาจจะสัมผัสเชื้อครั้งแรกวันที่ 11 และ เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 17 ทำให้อนุมานคร่าวๆได้ว่า ระยะฟักตัวของโอมิครอนคงใช้เวลาประมาณ 6 วัน หรือ น้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับว่าการสัมผัสเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ปริมาณไวรัสในตัวอย่างของทั้งสองคนมีปริมาณที่สูงทั้งคู่ ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะมีภูมิจากวัคซีน Pfizer มาแล้ว 2 เข็ม

แต่เนื่องจากได้รับวัคซีนมาแล้วประมาณ 5 เดือน ซึ่งอาจจะอนุมานได้ว่าระดับภูมิคุ้มกันที่เหลืออยู่คงไม่พอที่จะป้องกัน "โอมิครอน" ได้ หรือ โอมิครอนต้องการระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่านั้นมาก แต่ประเด็นที่สำคัญคือ ทั้งคู่อาการไม่หนักซึ่งอาจจะเป็นผลจากภูมิจากวัคซีนที่ยังช่วยได้ ทั้งนี้ข้อมูลยังมาจากแค่ 2 เคส คงต้องมีตัวอย่างมาเพิ่มกว่านี้ก่อนที่จะสรุปตัวเลขต่างๆอย่างเป็นทางการได้

ดร.อนันต์ ชี้ โอไมครอน" Pfizer 2 เข็มเอาไม่อยู่ ซ้ำ คาด "แพร่ทางอากาศ" ได้อีก

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/hot-social/495560?adz=

"โอไมครอน" WHO ชี้ วัคซีนโควิด ช่วยชีวิตได้จริง แม้ประสิทธิภาพจะลดลงก็ตาม
 
 

"โอไมครอน" โควิดสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังเป็นประเด็นกังวลทั่วโลก ล่าสุด ทาง WHO ออกมาประกาศว่า การฉีดวัคซีน สามารถช่วยชีวิตได้ ถึงแม้ประสิทธิภาพจะลดลง หากเจอสายพันธุ์โอไมครอนก็ตาม

"โอไมครอน" องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประชาชนจำเป็นต้องรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจาก วัคซีนสามารถช่วยชีวิตได้ ถึงแม้ ตอนนี้จะยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับสายพันธุ์ "โอไมครอน"ก็ตาม หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก มาเรีย แวน เคอร์โคฟ กล่าวว่า ผู้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสมีโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตต่ำกว่าผู้ไม่ได้รับวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญ 


ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มากเกี่ยวกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ "โอไมครอน" ขณะนี้ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าวัคซีนจะไม่ได้ผล การฉีดวัคซีนยังคงดีกว่าการไม่ฉีดเลย เพราะ วัคซีนสามารถช่วยชีวิตได้ ถึงแม้จะมีประสิทธิภาพลดลงก็ตาม

 

ด้านการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยพิเศษ มีมติจัดตั้งคณะกรรมการการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INB) เพื่อร่างและเจรจาเรื่องการประชุม, ข้อตกลง หรือเครื่องมือระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก สำหรับการป้องกัน, การเตรียมความพร้อม และการรับมือเชื้อไวรัสสายพันธุ์ "โอไมครอน"

แถลงการณ์จากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า คณะกรรมการฯ มีกำหนดจัดการประชุมครั้งแรกภายในวันที่ 1 มี.ค. 2022 เพื่อตกลงวิธีการทำงานและลำดับเวลา และจัดการประชุมครั้งที่สองภายในวันที่ 1 ส.ค. เพื่อหารือความก้าวหน้าของร่างการทำงาน

นอกจากนั้น องค์การอนามัยโลก ยังมีแผนจะส่งมอบรายงานความก้าวหน้าต่อการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 76 ในปี 2023 และยื่นผลการทำงานสำหรับการพิจารณาภายในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 77 ในปี 2024 ตามลำดับต่อไป

องค์การอนามัยโลก, WHO

องค์การอนามัยโลก, WHO

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/hot-social/495360?adz=

2021 11 29 09 50 31

แพทย์แอฟริกาใต้เผยอาการคนติดโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" เป็นอาการที่ "ไม่ปกติแต่ไม่รุนแรง" กลุ่มผู้ป่วยที่มีสุขภาพดี แค่อ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ ปวดเมื่อยร่างกาย-กล้ามเนื้อ

วันนี้ (28พ.ย.64) แพทย์หญิงแองเจลิเก้ โคเอตซี แพทย์ประสบการณ์ 30 ปี ประธานแพทยสภาแอฟริกาใต้ (ซามา) ซึ่งเป็นผู้ที่ออกมาเตือนถึงเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เป็นคนแรก ระบุว่า หลังจากที่ตนเอง พบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่คลินิกในกรุงพริทอเรีย เมืองหลวงของประเทศแอฟริกาใต้ จำนวน 19 คนที่มีอาการที่แปลกออกไป จากคนไข้ที่เคยรักษาก่อนหน้านี้

เวลานี้มีคนไข้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ราว 24 รายส่วนใหญ่เป็นชายวัยรุ่น ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน และในจำนวนคนไข้ทั้งหมดไม่มีใครเลยที่สูญเสียการรับรสหรือดมกลิ่น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการเช่นปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียเป็นเวลา 1 หรือ 2 วัน มีอาการไอเล็กน้อย แต่ไม่ได้มีอาการที่โดดเด่น โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อเหล่านี้มีจำนวนหนึ่งที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน

แพทย์หญิงโคเอตซี ระบุว่า เคสที่น่าสนใจก็คือ เด็กหญิงวัย 6 ขวบ ที่มีอาการตัวร้อน มีอัตราการเต้นของหัวใจสูง จนคิดว่าจะต้องแอทมิต แต่หลังผ่านไป 2 วัน ก็อาการดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงโคเอตซี ระบุว่า คนไข้ทั้งหมดที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ของตนนั้นเป็นคนที่มีสุขภาพดี แต่ที่น่ากังวลก็คือกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอาจมีผลกระทบกับการติดเชื้อโอไมครอนได้มากกว่า

 

เช่นเดียวกับที่อิตาลี ซึ่งพบผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอน รายนั้น พบว่า ได้ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม แต่สุขภาพแข็งแรง ยังไม่มีอาการใดๆ

ทั้งนี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากโรงพยาบาลเด็กแบมบิโน จีซู ในกรุงโรมของ อิตาลี ได้เผยแพร่ภาพถ่ายเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอไมครอน ภาพแรกของโลกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 พ.ย.)

ภาพถ่ายแสดงให้เห็นว่า เชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์บริเวณหนามโปรตีนมากกว่า ไวรัสกลายพันธุ์เดลตา 3.5 เท่า หรือมากถึง 32 ตำแหน่ง บริเวณหนามซึ่งใช้ในการก่อโรคในมนุษย์ ขณะที่สายพันธุ์เดลต้า กลายพันธุ์ที่ส่วนหนามเพียง 9 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การค้นพบดังกล่าว ไม่ได้ชี้ให้เห็นโดยตรงว่าเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนมีอันตรายมากกว่า

ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคน จึงมองว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่ SARS-CoV-2 อาจเริ่มเปลี่ยนแปลงเหมือนไวรัสอื่น ๆ คือเมื่อมีการระบาดมากขึ้น ความรุนแรงจะเริ่มลดลง

 

 

ภาพจาก AFP

ข้อมูลจาก https://www.tnnthailand.com/news/covid19/97834/

 

 

 สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลีและสาธารณรัฐเช็ก ตรวจพบเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์ "โอไมครอน" ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในวันเสาร์(27พ.ย.) และบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษแถลงมาตรการใหม่ต่างๆนานาเพื่อควบคุมไวรัสตัวนี้ ในขณะที่มีประเทศต่างๆเพิ่มเติม กำหนดข้อจำกัดด้านการเดินทางที่มาจากภูมิภาคทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

การพบตัวกลายพันธุ์ใหม่นี้โหมกระพือความกังวลทั่วโลก มีคำสั่งห้ามการเดินทางหรือข้อจำกัดต่างๆออกมาเป็นชุด และก่อแรงเทขายในตลาดทุนเมื่อวันศุกร์(26พ.ย.) ในขณะที่พวกนักลงทุนกังวลว่า "โอไมครอน" อาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากโรคระบาดใหญ่เล่นงานมาเกือบ 2 ปี

เคสผู้ติดเชื้อ 2 รายในสหราชอาณาจักรที่เชื่อมโยงกับตัวกลายพันธุ์ใหม่ เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปยังทางใต้ของทวีปแอฟริกา จากการเปิดเผยซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุข

ในเวลาต่อมา นายกรัฐมนตรีจอห์นสัน เปิดเผยมาตรการต่างๆ ในนั้นรวมถึงยกระดับตรวจเชื้อเข้มข้นขึ้นสำหรับคนที่เดินทางเข้าประเทศ แต่ยังไม่ถึงขั้นกำหนดข้อจำกัดกิจกรรมต่างๆทางสังคม ยกเว้นแต่บังคับสวมหน้ากากในบางสถานที่

"เราจะบังคับทุกคนที่เดินทางเข้าสหราชอาณาจักรเข้ารับการตรวจ PCR ในช่วงท้ายของวันที่ 2 หลังจากพวกเขาเดินทามาถึงและให้กักโรคตนเองจนกว่าพวกเขามีผลตรวจเป็นลบ" จอห์นสันระบุระหว่างแถลงข่าว

นอกจากนี้แล้ว จอห์นสัน กล่าวต่อว่าบุคคลใดที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอไมครอนจะต้องกักโรคตนเองเป็นเวลา 10 วัน และรัฐบาลจะยกระดับกฎระเบียบสวมหน้ากากปกปิดใบหน้า และมาตรการต่างๆเหล่านี้จะมีการทบทวนอีกครั้งใน 3 สัปดาห์

ส่วนกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาวาเรียของเยอรมนี ก็แถลงเช่นกันยืนยันพบเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอไมครอน 2 ราย โดยทั้ง 2 คนเดินทางเข้าสู่เยอรมนีที่สนามบินเมืองมิวนิคในวันที่ 24 พฤศจิกายน ก่อนหน้าที่เยอรมนีจะกำหนดให้แอฟริกาใต้เป็นพื้นที่ของตัวกลายพันธุ์ไวรัสและจำเป็นต้องกักโรค จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าบุคคลทั้ง 2 เดินทางมาจากแอฟริกาใต้

 
ในอิตาลี สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติระบุว่าพบเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์ใหม่นี้ในเมืองมิลาน ในบุคคลที่เดินทางมาจากโมซัมบิก

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสาธารณรัฐเช็กก็เปิดเผยเช่นกันว่ากำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบเคสต้องสงสัยตัวกลายพันธุ์โอไมครอน ในบุคคลที่เคยไปอยู่ในนามิเนีย ก่อนที่โรงพยาบาลท้องถิ่นในเมืองลิเบเรช ยืนยันในเวลาต่อมาว่าคนไข้หญิงรายดังกล่าวติดเชื้อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์โอไมครอน

กระทรวงสาธารณสุขเดนมาร์กเปิดเผยในวันเสาร์(27พ.ย.) ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะพบเชื้อตัวกลายพันธุ์โอไมครอนในบุคคล 2 รายที่เดินทางมาจากแอฟิกาใต้ "เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีเหตุผลให้ต้องสงสัยว่าเรามีเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์ใหม่โอไมครอน 2 เคสแรกในเดนมาร์ก"

 
 
เมื่อวันศุกร์(26พ.ย.) องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งชื่อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์ B.1.1.529 ที่พบในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ว่าโอไมครอน โดยเป็นการเรียกชื่อตามลำดับอักษรกรีก พร้อมประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล((variant of concern) เนื่องจากมีแนวโน้มแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า แม้บรรดาพวกผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามันจะก่ออาการรุนแรงหรือเบากว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ

คริส วิทตี หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอังกฤษระบุในการแถลงข่าวเดียวกันกับจอห์นสัน ว่ายังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับตัวกลายพันธุ์โอไมครอน แต่ "มันมีโอกาสพอสมควร ที่อย่างน้อยๆตัวกลายพันธุ์นี้จะสามารถหลบหลีกวัคซีนได้ระดับหนึ่ง"

ตัวกลายพันธุ์นี้ถูกพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ และนับตั้งแต่นั้นก็พบในเบลเยียม บอตสวานา อิสราเอลและฮ่องกง ก่อนลุกลามขยายวงกว้างยิ่งขึ้นล่าสุด

(ที่มา:รอยเตอร์)
 

 

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า โมเดิร์นนา มีการตอบรับศึกษาเรื่อง สายพันธุ์ Omicron ได้เร็วมากครับ คงต้องรอผลนิดหนึ่ง (เขาว่าเป็นแค่อาทิตย์) ว่าจะใช้ขนาดเท่าไหร่ และต้องเป็น multivalent ใดที่ต้องใช้เป็นการเฉพาะสำหรับกระตุ้นภูมิ

ยังไงก็ตามแนะนำใหม่ ณ เวลานี้ ถ้าจะกระตุ้นด้วยรุ่นเดิม (mRNA 1273) ที่เราได้มาขณะนี้ควรใช้ 100 ไมโครกรัม ไปก่อนครับ สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือหากกังวลในสายพันธุ์ Omicron (ก่อนหน้านี้ โมเดิร์นนาได้รับอนุมัติจาก FDA ให้ใช้กระตุ้นด้วยขนาด 50 ไมโครกรัม ด้วย mRNA 1273)

สำหรับปีหน้าที่อาจได้วัคซีนชนิด multivalent mRNA 1273.211 หรือ mRNA 1273.213 ที่ถูกออกแบบไว้สำหรับ สายพันธุ์ที่กังวล(VOC)ก่อนหน้าซึ่งก็มีส่วนที่ครอบคลุมถึงจุดที่กลายพันธุ์ของ Omicron ด้วย หรือ mRNA 1273.529 วัคซีน multivalent

ล่าสุดที่ออกแบบสำหรับสายพันธุ์เดลต้า และเบต้า ก็มีจุดที่ครอบคลุมส่วนกลายพันธุ์ของ Omicron ด้วยเช่นกันนั้น ยังอยู่ระหว่างการศึกษาว่าควรเป็นขนาด 50 ไมโครกรัม หรือ 100 ไมโครกรัมกันแน่ ……..ติดตามอย่ากระพริบตาครับ

ส่วนวัคซีนอื่นๆก็คงมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเช่นกัน ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ถึงเวลานี้ยอมรับกันแล้วว่า การได้วัคซีนให้ครบ ควรเป็น 3 เข็ม และผมยังมีความเห็นส่วนตัว(มีข้อมูลวัคซีนอื่นๆในอดีต) ว่าเป็น สามเข็มชนิดใดก็ได้ เมื่อกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสม
ผู้กำหนดนโยบายการฉีดวัคซีนควรติดตามข้อมูลใหม่ๆอย่างใกล้ชิด และกำหนดนโยบายตามหลักวิชาการ(sciences and facts)

ส่วนเราจะมีวัคซีนอะไรในประเทศแต่ละช่วงเวลานั้นเป็นเรื่องที่ต้องปรับตามสถานการณ์ โดยคำแนะนำต้องใช้หลักวิชาการนำหน้าก่อนเรื่องอื่นใดครับ

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/34131/

 
โควิด-19"โอไมครอน" น่ากังวลขั้นสุด ทำความรู้จักเชื้อกลายพันธุ์ชนิดที่5
 
ทำความรู้จักโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" เชื้อแพร่เร็ว รุนแรง อาจดื้อวัคซีน กำลังระบาดอย่างรุนแรงในประเทศแอฟริกาใต้และพบในประเทศอื่นๆ ขณะที่ทุกประเทศทั่วโลกเตรียมพร้อม เฝ้าระวัง รับมือการระบาดประเทศของตนเอง

อย่างที่ทราบกันดีว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา ซึ่งหลังจากที่ นาย โจ ฟาห์ลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้ ประกาศเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2564 ที่ผ่านมาว่าค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ชนิดกลายพันธุ์แบบใหม่  B.1.1.529 กำลังระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศแอฟริกาใต้ แต่ยังไม่ทราบว่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่ใด

  • “โอไมครอน” โควิดกลายพันธุ์ชนิดที่5

ทั้งนี้ นอกจากแอฟริกาใต้แล้ว ไวรัสชนิดกลายพันธุ์แบบใหม่นี้ยังพบในประเทศบอตสวานา ที่มีพรมแดนติดกัน และในนักท่องเที่ยวคนหนึ่งที่เดินทางจากแอฟริกใต้ไปยังฮ่องกงอีกด้วย

ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งชื่อให้เชื้อกลายพันธุ์นี้เป็นที่เรียบร้อย โดยออกแถลงการณ์ เมื่อวานนี้ว่า เชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ตัวล่าสุด B.1.1.529 ถือเป็น "สายพันธุ์น่าวิตกกังวล" (VOC) ใช้ชื่อเรียกจากภาษากรีกว่า "โอไมครอน" (Omicron) โดยถือเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดที่ 5 ที่องค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล หลังจากสายพันธุ์อัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้เหตุผลที่กำหนดให้ โควิดสายพันธุ์ ​B.1.1.529 หรือ โอไมครอน เป็นโควิดเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) ว่าเป็นเพราะมีจำนวนการกลายพันธุ์ที่สูงมากจนน่าวิตก และจากหลักฐานเบื้องต้น พบความเสี่ยงที่อัตราการติดเชื้อจากสายพันธุ์นี้จะสูงขึ้น มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

  • จุดเริ่มต้นของสายพันธุ์โอไมครอน

ประกาศของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ได้รับรายงานถึง สายพันธุ์ ​B.1.1.529 หรือ โอไมครอน Omicron ครั้งแรกในแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีตำแหน่งการกลายพันธุ์ของยีนมากถึง 50 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่ามากผิดปกติอย่างยิ่ง โดยพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่มีจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในภายระยะเวลาเดียวกันที่ตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอน ตัวอย่างเชื้ออันแรกที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์นี้ มีการเก็บมาตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.

โควิดสายพันธุ์ ​B.1.1.529 หรือ โอไมครอน Omicron ระบาดแล้วในประเทศ

  • แอฟริกาใต้
  • บอตสวานา
  • เบลเยียม
  • ฮ่องกง
  • อิสราเอล

อย่างไรก็ดี WHO ระบุว่า ต้องใช้เวลาอีก 2-3 สัปดาห์ จนกว่าจะทราบถึงผลกระทบของโควิดสายพันธุ์นี้

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศแอฟริกาใต้ ตรวจพบการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ ซึ่งมีการกลายพันธุ์อย่างรุนแรงในยีนหลายสิบตำแหน่ง ทำให้หวั่นเกรงกันว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้อาจแพร่ระบาดได้ง่าย และเป็นอันตรายยิ่งกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ทั่วโลกเคยพบมา

ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ดังกล่าวมีชื่อว่า B.1.1.529 ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะตั้งชื่อเรียกให้ตามลำดับตัวอักษรกรีกว่า โอไมครอน

เจ้าหน้าที่พบการระบาดในเคาเต็ง (Gauteng) แอฟริกาใต้เป็นหลัก โดยมีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว 77 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อในประเทศบอตสวานาอีก 4 ราย รวมทั้งพบกรณีที่ผู้ติดเชื้อเดินทางจากแอฟริกาใต้ไปยังฮ่องกงด้วยเที่ยวบินตรงอีก 1 ราย

  • กลายพันธุ์น่ากังวล แพร่ง่าย อันตรายสูง

ศ.ทูลิโอ เด โอลิเวรา ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการรับมือโรคระบาดของแอฟริกาใต้ ระบุว่า ไวรัสโควิดชนิดใหม่นี้มีการกลายพันธุ์ของยีนรวมทั้งสิ้นถึง 50 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าผิดปกติอย่างยิ่งและทำให้มันมีความแตกต่างจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์อื่น ๆ ที่เคยพบมาเป็นอย่างมาก

การกลายพันธุ์แบบเหนือความคาดหมายนี้ จัดเป็นการกลายพันธุ์ของโปรตีนบนส่วนหนามของไวรัสถึงกว่า 30 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนดังกล่าวมีความสำคัญยิ่ง ในการเป็นกุญแจที่ไวรัสใช้ไขประตูเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์

นอกจากนี้ยังพบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ (receptor binding domain) ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเราถึง 10 ตำแหน่งด้วย ในขณะที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่ร้ายแรงอย่างสายพันธุ์เดลตา มีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุอีกว่า การกลายพันธุ์อย่างรุนแรงในลักษณะนี้ น่าจะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อในผู้ป่วยเพียงรายเดียว โดยร่างกายของผู้ป่วยที่เป็นต้นตอของการกลายพันธุ์ดังกล่าว ไม่สามารถต่อสู้ต้านทานกับเชื้อโรคได้ การที่เชื้อไวรัส B.1.1.529 มีการเปลี่ยนแปลงจนแตกต่างไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งมีต้นกำเนิดที่นครอู่ฮั่นของจีน ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า วัคซีนโควิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ และหากมีการแพร่ระบาดลามออกไปเป็นวงกว้าง ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์โควิดในหลายประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับการระบาดระลอก 4 เลวร้ายยิ่งขึ้น

  • ทั่วโลกเตรียมพร้อมรับมือ “โอไมครอน”

ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ได้ในหลายๆ ประเทศ อาทิ รัฐบาลฮ่องกง พบนักท่องเที่ยวรายหนึ่งที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 ส่วนอีกรายเป็นนักท่องเที่ยวที่กักตัวอยู่ในโรงแรม คาดว่าพักอยู่ห้องตรงข้ามกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้ติดเชื้อรายที่ 2 อาจติดเชื้อจากผู้ป่วยรายแรกจากอากาศที่หมุนเวียนระหว่างห้องพัก

ขณะที่ อังกฤษ นายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลสังคมแห่งสหราชอาณาจักร ประกาศขึ้น บัญชีแดงโควิด 6 ประเทศทวีปแอฟริกา คือ

แอฟริกาใต้

นามิเบีย

เลโซโท

บอตสวานา

เอสวาทินี (Eswatini)

ซิมบาบเว

ส่วนนิวซีแลนด์ นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่า พร้อมรับมือโดยนิวซีแลนด์มีแผนรับมือกับสายพันธุ์ในอนาคตอยู่แล้วและจะยังคงเข้มงวดและรักษาระดับการป้องกันรวมถึงข้อกำหนดเรื่องพรมแดนไว้ตามเดิม โดยนิวซีแลนด์สั่งปิดพรมแดนมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว

เช่นเดียวกับออสเตรเลีย นายเกร็ก ฮันท์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลีย ระบุว่า ทันทีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จำแนกสายพันธุ์นี้ว่าเป็นสายพันธุ์หลัก และหน่วยงานทางการแพทย์แนะนำให้เปลี่ยนมาตรการก็จะดำเนินการทันที เช่น การปิดกั้นพรมแดน หรือการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ

อ้างอิง:บีบีซีไทย,Dailymail , theguardian

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/974308?anf=

 

ที่กระทรวง​สาธารณสุข​ นพ.ศุภกิจ​ ศิริ​ลักษณ์ ​อธิบดี​กรม​วิทยา​ศาสตร์​การแพทย์​ ​แถลงข่าวภายหลังองค์การอนามัยโลกประกาศให้เชื้อไวัรสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล โดยตั้งชื่อว่า “โอไมครอน” (Omicron) ว่า มีข้อมูลตั้งแต่กลาง พ.ย.64 ว่ามีการระบาดที่บอตสวานา ขยับมาที่แอฟริกาใต้ ไปหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง เบลเยียม อิสราเอล โดยบางคนที่ตรวจเชื้อเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว สำหรับประเทศไทยยังไม่พบเชื้อตัวนี้ 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เชื้อโอไมครอนมีการกลายพันธุ์​หลายตำแหน่งมากถึง 50 กว่าตำแหน่ง โดยมี 32 ตำแหน่งอยู่ในสไปก์โปรตีน หรือโปรตีนหนามที่จะมาจับกับเซลล์มนุษย์ ซึ่งมากกว่าสายพันธุ์​เดลต้า (อินเดีย)​ ที่มีการกลายพันธุ์​ในสไปก์โปรตีนเพียงแค่ 9 ตำแหน่ง ทั้งนี้การกลายพันธุ์บางส่วนอาจเพิ่มอำนาจการแพร่เชื้อได้มากขึ้น น่าจะหลบภูมิคุ้มกันได้พอสมควร หรือดื้อต่อวัคซีน รวมถึงข้อมูลเบื้องต้นในบริเวณพื้นที่ที่พบ พบว่าการตรวจเจอเชื้อค่อนข้างเข้มข้น และหาเชื้อง่ายในแต่ละรายที่ตรวจพบ เนื่องจากเชื้อเยอะมากสะท้อนให้เห็นว่าอาจมีการติดเชื้อง่าย และเร็วขึ้น จึงต้องติดตามข้อมูลกันต่อไป

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ไทยมีเปิดประเทศ มี Test&Go ซึ่งกำลังประสานกับผู้ตรวจเชื้อ ให้ส่งตัวอย่างของผู้ติดเชื้อมาตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์ของโควิด-19 ครั้งนี้ ไม่ใช่ลูกหลานของเดลต้า หรืออัลฟ่า (อังกฤษ)​ แต่เป็นการกลายพันธุ์ตัวใหม่ และหลายตำแหน่ง แต่ข้อมูลยังมีไม่มากพอ ต้องมีการติดตาม และระบบเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

นพ.ศุภกิจ​ กล่าวเพิ่มเติมว่าข้อได้เปรียบของไทย คือ ประชาชนค่อนข้างเคร่งครัดในการปฎิบัติตามมาตรการต่างๆ ฉะนั้น ขอให้ทุกคนปฎิบัติในการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดต่อไป การ์ดอย่าตก เพราะไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนเกิดขึ้นก็สามารถจัดการได้ และการดื้อต่อวัคซีนไม่ใช่ข้อมูล 100% ขอให้ทุกคนตั้งสติและรับมือ มั่นใจในภาครัฐว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้พี่น้องประชาชนปลอดภัย และการตรวจหาพันธุกรรมไวรัสมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการทำงานเรื่องนี้ รวมถึงอยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้มงวดในการเข้าประเทศ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะทางอากาศเท่านั้น แต่ตามชายแดนต่างๆ ก็ต้องกวดขันอย่างจริงจัง 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/34047/

ศ.webp

หมอธีระวัฒน์'ยันการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ไม่ใช่ประหยัดอย่างเดียว แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดและผลแทรกซ้อน เผยทำการทดสอบแล้วได้ผลดี ผลข้างเคียง ต่ำกว่าการฉีดเข้ากล้าม 10 เท่าหรือมากกว่า

19 พ.ย. 2564 - ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ไม่ใช่ประหยัดอย่างเดียว แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดด้วย
ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ประหลาดมหัศจรรย์ ในการนำวัคซีนทุกประเภทมาใช้ในการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง

ทั้งนี้ประโยชน์ที่จะได้รับนั้นคือการที่จะสามารถประหยัดวัคซีนลงได้มหาศาล โดยเฉพาะในเรื่องของวัคซีนโควิด
ซึ่งข้อมูลในปัจจุบันยืนยันกันแล้วว่าต้องสามารถฉีดให้ได้ 90% ของคนในพื้นที่หรือในประเทศภายในระยะเวลาอันสั้น นั่นคือไม่เกินสามเดือน ทั้งนี้ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้ไวรัสมีการแพร่เป็นลูกโซ่ออกไปต่อ

ซึ่งในระหว่างการแพร่นั้นจะมีการพัฒนาตนเองให้เก่งกาจมากขึ้น ทั้งในการติดง่ายซึ่งหมายถึงหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ตามธรรมชาติและดื้อต่อภูมิที่ได้จากวัคซีนและยังร่วมทั้งดื้อต่อภูมิที่ได้จากการติดเชื้อที่เกิดขึ้นมาก่อนและทำให้อาการหนัก ตายมากขึ้น

โดยเห็นตัวอย่างมากมายแล้วว่าการติดเชื้อซ้ำครั้งที่สอง ยังเกิดได้ ตั้งแต่หนึ่งเดือนครึ่ง เป็นต้นไปและจะชัดเจนขึ้นตั้งแต่สามเดือนไปแล้ว แม้ว่าชื่อไวรัสยังคงเป็นยี่ห้อเดิมเช่นเดลต้า ถ้าเป็นเดลต้าที่มีทั้งไมเนอร์และเมเจอร์เชนจ์ แบบรถยนต์ที่ออกใหม่ที่มีเปลี่ยนไฟหลังไฟหน้าเบาะคอนโซลเป็นต้น นั้นเป็นผลจากการปล่อยให้มีการระบาดอย่างต่อเนื่องโดยควบคุมป้องกันไม่ทัน

จากการที่สามารถใช้วัคซีนปริมาณน้อย เลยทำให้สามารถเผื่อแผ่วัคซีนให้กับคนอื่นได้ทั่วถึง โดยที่วัคซีนแอสตร้านั้น หนึ่งโดสจะกลายเป็นห้า โมเดนา จากหนึ่งจะกลายเป็น 10 และไฟเซอร์จากหนึ่งจะกลายเป็นสาม และวัคซีนเชื้อตายก็เช่นกัน

โดยที่จะเป็นการฉีดกระตุ้นเข็มที่สาม หรือแม้แต่จะเป็นการฉีดตั้งแต่เข็มที่หนึ่งก็ตาม ยกเว้นในกรณีของวัคซีนเชื้อตายถ้าจะใช้ควรใช้เป็นเข็มที่หนึ่งและสองไม่ควรใช้เป็นตัวกระตุ้นเข็มที่สามเนื่องจากไม่ได้มูลค่าเพิ่มหรือกำไรเพิ่มเพราะเชื้อตายนั้นมีประโยชน์เพื่อวางเป็นรากฐานและให้วัคซีนยี่ห้ออื่นต่อยอด

ซึ่งการต่อยอดโดยยี่ห้ออื่นนี้ จะทำให้ภูมิคุ้มกันที่ตกลงอย่างรวดเร็วภายในสองเดือนหลังจากเข็มที่สองของเชื้อตายพุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาสองสัปดาห์และอยู่ในระดับสูงมากของภูมิที่ยับยั้งไวรัสได้
และนอกจากนั้นยังสามารถ คลุมข้ามสายพันธุ์ดั้งเดิมคือสายจีนมาเป็นสายอังกฤษและเดลต้าได้

วัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามนั้น เมื่อฉีดตามเข็มที่หนึ่งและสองของเชื้อตาย ถ้าใช้เอสตร้า จะป้องกันสายแอฟริกาไม่ได้ซึ่งอาจหมายรวมถึงสายเปรูด้วย ในขณะที่เข็มที่สามถ้าเป็นไฟเซอร์จะคุมสายแอฟริกาได้ด้วย แม้ว่าจะไม่ดีนักก็ตาม ซึ่งอาจจะอนุมานได้ว่าวัคซีนโมเดน่า ควรจะมีประสิทธิภาพคล้ายกัน

สำหรับวัคซีนเข็มที่หนึ่งและที่สองในกรณีของเชื้อตายที่ทางการนำมาฉีดไขว้ คือชิโนแว็กต่อด้วยแอสตร้า ตามหลักแล้วจะไม่ค่อยได้กำไรหรือไม่ได้เลย

เพราะหลักการฉีดไขว้นั้น หมายความว่าวัคซีนชนิดนั้นเข็มเดียวต้องเริ่มได้ผลแล้วและยอมรับกันแล้วว่าเข็มแรกแอสตร้า ซึ่งก็ทำให้ภูมิขึ้นได้แล้วและต่อด้วยไฟเซอร์หรือโมเดนา ซึ่งเข็มเดียวก็ได้ผลบ้างอยู่แล้ว เมื่อนำมาฉีดต่อกันจะทำให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันขึ้นดีกว่ายี่ห้อเดี่ยวสองเข็ม

ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการคือในเรื่องของความปลอดภัยและผลแทรกซ้อน การฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะใช้ปริมาณน้อยมาก

ดังนั้นการกระตุ้นทำให้เกิดผลแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจะน้อยกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นยังสามารถอธิบายได้จากการที่การฉีดเข้าชั้นผิวหนังนั้นกลไกในการกระตุ้นภูมิจะแยกออกอีกสายที่เรียกว่าเป็น Th2 ในขณะที่การฉีดเข้ากล้ามการกระตุ้นจะเป็นสาย Th1

และสาย Th1 นี้เองที่เป็นขั้นตอนกระบวนการ ของโควิดที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ต่อจาก เม็ดเลือดขาว นิวโตรฟิล (กระบวนการ NETS สุขภาพพรรษา กลไกที่ทำให้เกิดเสมหะเหนียวขุ่นคลั่กและพังผืด) และต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดมีลิ่มเลือดอุดตันหรือเนื้อเยื่อและอวัยวะอักเสบทั่วร่างกาย

รวมกระทั่งถึงกล้ามเนื้อหัวใจและสมองอักเสบที่เราเรียกว่ามรสุมภูมิวิกฤติ (cytokine storm)

ทั้งนี้เราทุกคนต้องไม่ลืมว่าวัคซีนนั้นคือร่างจำลองของไวรัสโควิดนั่นเองและส่วนที่วัคซีนทุกยี่ห้อนำมาใช้นั้นจะมีส่วนหรือชิ้นของไวรัสที่เกาะติดกับเซลล์มนุษย์และเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่ทำให้เกิดการอักเสบ จาก ACE2 รวมกระทั่งถึงการทำให้มีความเบี่ยงเบน ขาดสมดุลระหว่าง Th1 และTh2 โดยออกไปทาง Th1 และ ต่อด้วยอีกหลายสายย่อยรวมทั้ง 17 เป็นตัน

การฉีดเข้าชั้นผิวหนังเริ่มตั้งแต่ 37 ปีที่แล้ว โดยที่คณะของเราพยายามแก้ปัญหาที่ต้องการเลิกใช้วัคซีนเชื้อตายพิษสุนัขบ้าที่ทำจากสมองสัตว์และเกิดสมองอักเสบมากมาย แต่เมื่อจะใช้วัคซีนชนิดดีก็มีราคาแพงจึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นการฉีดเข้าชั้นผิวหนังและเริ่มใช้ที่สถานเสาวภาก่อนในปี 1987 และขยายไปใช้ทั่วประเทศและได้แสดงให้ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันปาสเตอร์ของฝรั่งเศส จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐและสถาบันไวรัส เอสเสน ของเยอรมัน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญอื่นๆรับทราบและในที่สุดองค์การอนามัยโลกยอมรับให้ใช้ทั่วโลกในปี 1991 จากนั้นมีการทบทวนและการติดตามความปลอดภัยและประโยชน์ที่ได้รับเป็นระยะ ทุก 4-5 ปี และจวบจนกระทั่งครั้งสุดท้ายมีการจัดประชุมขององค์การอนามัยโลกที่คณะแพทยศาสตร์จุฬา ในปี 2017 และออกคู่มือคำแนะนำในปี 2018 ก็ยังยืนยันการฉีดเข้าชั้นผิวหนังอยู่เช่นเดิม จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้โดยที่มีคณะทำงานอิสระภายใต้องค์การอนามัยโลกทำการประเมินและรายงานในปี 2018 เช่นกัน
ทั้งนี้ได้มีการติดตามวิเคราะห์ข้อมูลทั่วโลกโดยยืนยันว่า คนที่ถูกหมากัดที่สงสัยหรือพิสูจน์ว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า 30,000 รายรอดชีวิตทั้งหมด

การฉีดเข้าชั้นผิวหนังยังนำมาใช้ในทวีปแอฟริกากับวัคซีนไข้เหลืองและยังรวมไปจนถึงวัคซีนสมองอักเสบ JE วัคซีนตับอักเสบบี และแม้แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ได้อนุมัติจากองค์การอนามัยโลกและสหรัฐ ที่ใช้จนถึงปัจจุบันนี้ก็ใช้วิธีการฉีดเข้าชั้นผิวหนังเช่นกัน

มีผู้สงสัยอยู่ว่า แล้วทำไมไม่เอาวิธีการฉีดเข้าชั้นผิวหนังตั้งแต่ต้น

คำถามนี้เป็นคำถามตั้งแต่ 37 ปีที่แล้ว และเราก็ได้ทราบคำตอบจากบริษัทวัคซีนหลายแห่งว่าเพราะขายได้น้อยลง แต่เราก็ช่วยอธิบายว่าถ้าสามารถใช้ได้ทั่วทุกคนจำนวนที่ขายแท้จริงแล้วก็ไม่ได้ลดลงและอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ
คำถามที่ว่าการฉีดยุ่งยากแท้จริงแล้วเป็นการฉีดที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พยาบาลปฏิบัติกัน ด้วยความช่ำชองยกตัวอย่างเช่น การฉีดวัคซีน บีซีจี ในเด็กแรกเกิด เป็นต้นและแม้แต่การฝึกการฉีดเพียง 15 นาทีหรือครึ่งชั่วโมงก็ฉีดเป็น โดยใช้กระบอกฉีดยาที่ใช้ฉีดในคนเป็นเบาหวานและใช้เข็มขนาดเล็กมาก

โดยประโยชน์ที่ได้รับและทำให้คนเข้าถึงได้ทุกคน เท่าเทียมกันในระยะเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งมีความปลอดภัยมากกว่า

ทั้งนี้จนกระทั่งถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2564 คณะทำงานประสานทีมต่างๆของเราอันประกอบไปด้วย อาจารย์หมอเขตต์ ศรีประทักษ์สถาบันโรคทรวงอก อาจารย์หมอทยา กิติยากร โรงพยาบาลรามาธิบดี และอาจารย์ด็อกเตอร์อนันต์ จงแก้ววัฒนา ไบโอเทค สวทช และหมอเองและคณะศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬา
ได้ทำการทดสอบการฉีดเข้าชั้นผิวหนังไม่ต่ำกว่า 400 ราย ได้ผลดีและมีผลข้างเคียงเป็นเฉพาะที่ตุ่มแดงหรือคันโดยผลข้างเคียงรุนแรงไข้ปวดหัวปวดเมื่อยและอาการร้ายแรงอื่นๆไม่ปรากฏหรือน้อยมาก ซึ่งประสบการณ์การศึกษาของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ก็ได้แสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในลักษณะเดียวกัน โดยผลข้างเคียงที่เกิดแก่ระบบทั่วร่างกาย ต่ำกว่าการฉีดเข้ากล้าม 10 เท่าหรือมากกว่า

จนกระทั่งถึงเวลานี้ เดี๋ยวนี้คงต้องเป็นเรื่องที่ทางการต้องรีบตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศและความปลอดภัยสูงสุด