1 ส.ค.63 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กโดยมีเนื้อหาดังนี้

 

ติดเชื้อต่อวันทะลุสามแสนคน...ทำลายสถิติที่เคยมีมา 311,527 คน

ตายเพิ่มอีกถึง 7,012 คน สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ยอดรวมทั่วโลกติดเชื้อไปแล้ว 17,720,758 คน 

อเมริกา หนักหนาสาหัส ติดเพิ่มไปอีกถึง 72,389 คน รวม 4,697,705 คน ช่วงนี้มีตายแต่ละวันเกินพันมาตลอด

บราซิล ติดเพิ่ม 52,383 คน รวม 2,662,485 คน 

อินเดีย ติดเพิ่ม 57,430 คน รวม 1,696,780 คน

รัสเซีย ติดเพิ่ม 5,428 คน รวม 839,981 คน

เม็กซิโกเริ่มทิ้งห่างเปรู ติดเชื้อเพิ่ม 7,730 คน และ 6,809 คนตามลำดับ ยอดรวมแต่ละประเทศสี่แสนกว่า

สเปน เยอรมัน ฝรั่งเศส อิหร่าน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงญี่ปุ่น...ดูแล้วลำบาก ติดกันพันกว่าถึงหลายพันต่อวัน 

กลุ่มประเทศอื่นในยุโรปหลายต่อหลายประเทศ รวมถึงปากีสถาน ฮ่องกง ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และจีน ติดกันร้อยกว่าถึงเกือบพัน

ส่วนมาเลเซีย และเกาหลีใต้ ยังหลักสิบ
 
...บอกตรงๆ ว่า สถานการณ์การระบาดตอนนี้เป็นขาขึ้น และรุนแรงพร้อมกันทั่วโลก

ประเทศที่ยืนยันจะหาเงินด้วยการเปิดรับการเดินทางระหว่างกันตอนนี้ล้วนโซซัดโซเซ เจอการระบาดซ้ำอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราเห็นคือ ญี่ปุ่น 

ประเทศอื่นๆ ที่เคยคุมได้ดี ตอนนี้กลับอยู่ในภาวะลำบากมากทีเดียว ทั้งจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และเวียดนาม

ยุทธศาสตร์สำหรับการทำสงคราม COVID-19 ณ เวลานี้ จำเป็นต้องน้อมนำปรัชญา"เศรษฐกิจพอเพียง"มาใช้สำหรับประเทศไทยอย่างเต็มที่

อดทน...อดกลั้น...อดออม

ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง...เพื่อประคับประคองให้พอหายใจต่อได้ อยู่รอดได้ไปอีกราว 6-18 เดือนตามธรรมชาติของโรคระบาดที่เราสังเกตเห็นในอดีต

สำคัญที่สุดของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ "ยืนบนขาของตนเอง" และ "ลดการพึ่งพาต่างชาติ"

การที่รัฐตัดสินใจเปิดรับกลุ่มเป้าหมายทั้ง 4 กลุ่มไปล่าสุดนั้น ไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างด้าวราว 100,000 คนที่จะทยอยเข้ามา หรือกองถ่ายภาพยนตร์ ทีมงานแสดงสินค้า รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยและไม่ป่วยตาม Medical and wellness tourism นั้น...เป็นมาตรการที่นำความเสี่ยงมาสู่ประชาชนทุกคนภายในประเทศมากขึ้นอย่างมาก

โอกาสหลุดรอดจากระบบคัดกรอง กักตัว และติดตาม..."มี"

เคยวิเคราะห์ตามหลักการแล้วว่า 100,000 คน อาจมีโอกาสติดเชื้อ 500 คน และหลุดจากการคัดกรองมาตรฐานได้ราว 65 คน

หากระบบกักตัวไม่ดีพอ ไม่เคร่งครัด การออกมาแพร่ในวงกว้างก็มีสูง

และถึงแม้จะกัก 14 วัน ตามหลักวิชาการแพทย์แล้วยังมีโอกาสอยู่บ้างที่มีคนติดเชื้อบางคนที่อาจนำเชื้อต่อได้นานกว่า 14 วัน แม้โอกาสจะน้อยก็ตาม

ดังนั้น "หัวใจ"สำคัญที่สุดในการป้องกันประเทศของเราตอนนี้คือ

หนึ่ง ทุกคนควรตระหนัก และรับรู้ว่า เราเปิดประตูแล้ว ความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างมาก และยังไม่เห็นประเทศใดรอดจากการเปิดประตูประเทศได้เลย หากปล่อยให้ระบาดซ้ำ จะยากที่จะควบคุม และเราอาจมีทรัพยากรสู้ได้ไม่นาน โรคนี้ยังไม่มียารักษามาตรฐาน ไม่มีวัคซีนป้องกัน ติดง่ายกว่าไข้หวัดใหญ่ และทำให้เสียชีวิตได้
 
สอง ณ เวลานี้ ถึงเวลาที่ทุกคนในประเทศ ต้องรักตัวเองรักครอบครัว เตรียม"อุปกรณ์ป้องกัน" เตรียม"ตัว" เตรียม"ใจ" เตรียม"สถานที่" และ เตรียม"งาน" เพื่อพร้อมรับมือกับภัยคุกคามที่กำลังจะมาถึง หากเราป้องกันตัวอย่างเต็มที่ ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร พูดน้อยลง พบปะคนน้อยลงสั้นลง เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร ก็จะช่วยลดโอกาสแพร่ระบาดไปได้มาก

สาม จากวินาทีนี้เป็นต้นไป มีโอกาสที่เราจะติดเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว คนที่ติดเชื้อสามารถแพร่ให้คนอื่นได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ

ดังนั้นสำคัญมาก และควรทำอย่างยิ่งคือ "การคอยสังเกตอาการของตนเองและสมาชิกในครอบครัว"
หากไม่สบาย มีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ หรือท้องเสีย...ให้หยุดเรียน หยุดงาน และรีบไปตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ อย่าประมาทว่าเป็นอาการหวัดเล็กน้อยแล้วไม่ได้ไปตรวจ หากจะพักดูอาการตนเองสัก 1-2 วัน ก็ต้องแยกตัวจากคนอื่น หรือป้องกันให้เต็มที่ แต่จะให้ดีควรไปตรวจ และขอคุณหมอเค้าตรวจโควิดจะดีกว่าครับ

สำหรับรัฐ...ผมอยากเรียนเสนอว่า หากทบทวนมาตรการแง้มประตูประเทศ หยุดไว้ก่อน เอาเท่าที่จำเป็นจะดีกว่าและขอร้องว่า โปรดเลิกการผลักดันนโยบายฟองสบู่ท่องเที่ยวไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดๆ ไปก่อน อย่างน้อย 6 เดือน ถ้าขืนทำ...หายนะแน่นอน

นอกจากนี้สิ่งที่รัฐควรทำคือ ระบบการให้บริการตรวจ COVID-19 แก่ประชาชนทุกคนในประเทศ ให้สามารถเข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็ว ในไม่ช้านี้เราอาจจำเป็นต้องคัดกรอง COVID-19 ในคนที่มีอาการไข้หวัด หากมีการระบาดจากการแง้มประตูประเทศ ถ้าไม่เตรียมไว้ จะโกลาหลมาก และวิกฤติจะรุนแรงเกินกว่าจะควบคุมได้ครับ

ประเทศไทยต้องทำได้
ด้วยรักต่อทุกคน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net/

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/73087

'ภูมิคุ้มกันหมู่' โควิด-19 ไม่ใช่ทางที่เหมาะสม!

ขณะนี้หลายประเทศมีการกลับทิศ มุ่งกำหนดแนวทางควบคุมโรคโควิด-19 เพราะเริ่มเห็นถึงทิศทางว่าการปล่อยให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” (herd immunity)กับโรคนี้โดยไม่ทำอะไร อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

ช่วงต้นที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโรคโควิด-19 เริ่มระบาดออกไปนอกประเทศจีน เข้าสู่ประเทศต่างๆกระจายไปทุกทวีป ผู้นำหลายประเทศเลือกที่จะไม่ดำเนินมาตรการใดเป็นการเฉพาะในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมการระบาด เลือกที่จะปล่อยให้ประชาชนมีการติดเชื้อและเกิดภูมิคุ้มกันธรรมชาติขึ้น แต่ขณะนี้ประเทศเหล่านั้นมีการกลับทิศ มุ่งกำหนดแนวทางควบคุมโรค เพราะเริ่มเห็นถึงทิศทางว่าการปล่อยให้เกิด“ภูมิคุ้มกันหมู่”(herd immunity)กับโรคนี้โดยไม่ทำอะไร อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

การเชื่อเช่นนั้น นั่นเพราะ“ภูมิคุ้มกันหมู่”(herd immunity) คือ การที่ประชากรส่วนมาของชุมชนหรือสังคมมีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นในสัดส่วนจำนวนคนที่มากพอแล้ว ก็จะไม่เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งอาจเกิดเองตามธรรมชาติเมื่อหายจากโรคหรือการได้รับวัคซีน เมื่อโควิด-19ยังไม่มีวัคซีน การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จึงต้องให้เป็นไปตามธรรมชาติ

ทว่า มีการระบาดของโรคเกิดขึ้นครึ่งปี มีการศึกษามากมายที่เริ่มปรากฏออกมาว่า คนที่ติดเชื้อและหายป่วยจากโรคนี้ แม้จะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นแต่อยู่ไม่นาน จึงไม่อาจการันตีจะไม่มีการติดเชื้อซ้ำขึ้น

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า เมื่อติดเชื้อไวรัสเชื่อว่าร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้น แต่เนื่องจากโควิด-19เป็นโรคใหม่ จึงมีการศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลักฐานในหลายๆประเทศพบว่า แม้ว่าจะมีการติดเชื้อมาแล้ว ในบางรายภูมิต้านทานก็ไม่เกิดขึ้น บางรายเกิดขึ้นไม่มาก ในส่วนของประเทศไทยก็มีการศึกษาและลักษณะผลที่เกิดขึ้นก็คล้ายกับต่างประเทศ

 

“นั่นหมายความแนวคิดที่จะให้ประชาชนมีการติดเชื้อและเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก็คงไม่เหมาะ ซึ่งประเทศไทยคงไม่ยอมที่จะแลกว่าหากมีคนติดเชื้อ โดยเฉพาะไปยังกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือคนมีโรคประจำตัวแล้วนำไปสู่การเสียชีวิต และที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยปล่อยให้ใครไม่ได้รับการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตของประเทศไทยไม่สูง มีผู้ป่วย 3,000 กว่าราย มีการเสียชีวิต 58 ราย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

นพ.สุวรรณชัย ย้ำว่า ด้วยมาตรการการควบคุมโรคที่ดี เชื่อว่าคนไทยโดยส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทานกับเชื้อนี้ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องคงมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้หมายความจะไม่มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยที่จะติดเชื้อภายในประเทศเพราะเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่สามารถทำได้คือสามารถที่จะป้องกัน ให้โอกาสที่จะพบนั้นต่ำๆ และดำเนินชีวิตทางสังคม เศรษฐกิจให้มีการขับเคลื่อนไปได้ โดยควบคู่กับมาตรการป้องกันควบคุมโรคแบบระแวดระวังเป็นนิวนอมัล

“ภาพโดยรวม หลักการที่ง่ายๆในการป้องกัน การที่ทุกคนสวมหน้ากากทำให้โอกาสในการติดเชื้อ ลดลงจากกว่า 70 % เหลือเพียง 1.5 % และหากร่วมกับมาตรการอื่นทั้งล้างมือบ่อยๆและการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล โอกาสที่จะเกิดเชื้อก็จะน้อยลง การติดเชื้อก็จะน้อยๆ ลง ส่วนคนหนุ่มสาวที่ร่างกายแข็งแรงแล้วคิดว่าปล่อยให้ตัวเองติดเชื้อเพราะอาการไม่รุนแรงจะได้มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น ไม่ต้องวิตกกังวลอีกนั้น ด้วยหลักฐานการศึกษาต่างๆ ไม่สนับสนุนแนวคิดนี้” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากคิงส์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ จากการติดตามคนไข้โควิด-19 จำนวน 63 คน พบว่า 60 คนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น แต่เมื่อติดตามต่อเนื่อง ภูมิคุ้มกันลดลงและหายไป 17% ใน 2 เดือน

สำหรับประเทศไทย ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า แม้ประเทศไทยไม่ได้วัดภูมิต้านทานของคนไทยต่อโรคโควิด-19 แต่เชื่อว่าคนไทยมีภูมิน้อยถึงน้อยมาก โดยที่ศิริราชมีการศึกษาภูมิคุ้มกันของนักศึกษาแพทย์ศิริราช พบว่า ไม่มีภูมิเลย ขณะที่รพ.รามาธิบดี มีการตรวจหาภูมิในบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยโควิด พบว่ามีภูมิ 3 % แต่ในสังคมไทยทั่วไปมีผู้ติดเชื้อสะสม 3,000 กว่าราย เพราะฉะนั้นสังคมไทยยังมีภูมิคุ้มกันโควิดน้อยมาก หากมีเชื้อจากข้างนอกเข้ามา แล้วไม่พบ ไม่รู้ และไม่สามารถไปควบคุมได้ จะเกิดการแพร่กระจายใหม่ได้ จำเป็นที่จะต้องป้องกันการติดและแพร่เชื้อ จนกว่าจะมีวัคซีนขึ้นมา

ขอบคุณข้อมูลจาก  ttps://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/891476?anf=

 
‘ฮ่องกง’ เตือนระบบสาธารณสุข ‘ล่มสลาย’ รับระบาดใหญ่โควิด
 

ผู้บริหาร “ฮ่องกง” เตือน ระบบสาธารณสุขเสี่ยง “ล่มสลาย” หากเขตปกครองพิเศษนี้ต้องรับมือการระบาดใหญ่ของโควิด-19

นางแคร์รี หล่ำ หัวหน้าคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกง แถลงวันนี้ (29 ก.ค.) ว่า ทางการได้บังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมรอบใหม่ หลังพบการติดเชื้อในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และว่า ขณะนี้ ฮ่องกงเสี่ยงเข้าสู่การระบาดระลอกใหญ่ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้ระบบสาธารณสุข “ล่มสลาย” และเกิดการสูญเสียชีวิตจำนวนมาก

“เรากำลังยืนอยู่บนปากเหวของการระบาดระดับชุมชนครั้งใหญ่ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะล่มสลายของระบบสาธารณสุขของเรา จนทำให้โรงพยาบาลรองรับจำนวนผู้ป่วยใหม่ไม่ทันและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ” นางหล่ำเผย

ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือน ก.ค. โดยตัวเลขรายวันแตะระดับสูงสุดอยู่ที่ 145 คนในสัปดาห์นี้ ทำให้ยอดรวมพุ่งเป็นกว่า 2,880 คน ณ วันอังคาร (28 ก.ค.)

 

นอกจากนี้ นางหล่ำยังขอให้ประชาชนอยู่ในบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามมาตรการใหม่ที่มีผลบังคับในวันนี้ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค

มาตรการใหม่ รวมไปถึงห้ามการจับกลุ่มมากกว่า 2 คน ห้ามการรับประทานอาหารในร้าน และบังคับให้สวมหน้ากากตามสถานที่สาธารณะและกลางแจ้ง โดยนับเป็นมาตรการที่เข้มงวดที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดในฮ่องกง

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.bangkokbiznews.com/

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/891333

องค์การการท่องเที่ยวโลกของยูเอ็นระบุว่า วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกสูญเสียรายได้ 3.2 แสนล้านดอลลาร์ หรือกว่า 10 ล้านล้านบาท ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563

แฟ้มภาพ เจ้าหน้าที่พ่นฆ่าเชื้อในเครื่องบินของเวียดนามแอร์ไลน์ ที่สนามบินในกรุงฮานอย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563

 

    แถลงการณ์ขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติเมื่อวันอังคารระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกสูญเสียรายได้ 320,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 10,077,600 ล้านล้านบาท ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้ เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาด เทียบแล้วยังมากกว่าความสูญเสียจากวิกฤติการเงินโลกปี 2552 เกิน 3 เท่า

    การเดินทางมาเยือนของนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลงถึง 300 ล้านครั้งในช่วงเวลา 5 เดือน หรือ 56% โดยเป็นผลจากมาตรการควบคุมการเดินทางอย่างเข้มงวด

    ซูรับ โปโลลิคัชวิลี เลขาธิการองค์การ กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดนี้เน้นชัดเจนถึงความสำคัญของการเปิดการท่องเที่ยวโดยเร็วที่สุดเมื่อมีความปลอดภัยพอ การท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ลดลงอย่างมากทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนหลายล้านคนอยู่ในความเสี่ยง.

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net/

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/72760

28 ก.ค.63- รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า  สถานการณ์ทั่วโลกวันนี้ 28 กรกฎาคม 2563

มีรายงานติดเชื้อเพิ่ม 231,925 คน ตายเพิ่ม 4,304 คน ยอดรวม 16,612,326 คน

 

คาดว่าอีกจะทะลุ 17 ล้านวันที่ 30 กรกฎาคม

อเมริกา ติดเพิ่ม 59,920 คน รวม 4,425,330 คน

บราซิล ติดเพิ่ม 23,2384 คน รวม 2,442,375 คน ดูแนวโน้มจำนวนติดเพิ่มต่อวันของบราซิลจะลดลง ขอให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เอาใจช่วยจริงๆ

อินเดีย ติดเพิ่ม 46,484 คน รวม 1,482,503 คน หากอินเดียคุมไม่ได้ อีกเดือนนึงจะแซงบราซิล

รัสเซีย ติดเพิ่ม 5,635 คน รวม 818,120 คน

วันนี้เม็กซิโกแซงเปรูจนได้ ทั้งสองประเทศติดเพิ่มราวห้าพันคน ยอดรวมแต่ละประเทศเกือบ 400,000 คน

สเปน อิหร่าน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ยังติดกันหลักพันถึงหลายพัน ที่น่าห่วงคือ อินโดนีเซีย วันนี้ทะลุยอด 100,000 คนไปแล้ว ติดหลักพันมาตลอดเช่นกัน

กลุ่มประเทศยุโรปหลายต่อหลายประเทศ รวมถึงเพื่อนบ้านเราอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ ก็ยังไม่ดีขึ้น ติดกันหลักร้อยถึงหลายร้อย

จีนพุ่งขึ้นชัดเจน ติดเพิ่มไปถึง 61 คนในวันเดียว ส่วนมาเลเซียและเกาหลีใต้ก็ยังมีรายงานเพิ่มตั้งแต่หลักหน่วยไปถึงหลักสิบ

สถานการณ์ทั่วโลกที่ยังระบาดรุนแรงเช่นนี้ ถ้ายังบ้าคลั่งกับความคิดที่จะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ ก็มีโอกาสสูงมากที่จะทำให้เกิดการระบาดซ้ำ และจะทำให้ไทยกลายเป็นดินแดนดงโรคระยะยาว

ไม่ว่าจะใช้รูปแบบไหน ไม่ว่าจะเปิดเกาะ เปิดจังหวัดท่องเที่ยว หรือรูปแบบใดก็ตาม...มาตรการฟองสบู่ท่องเที่ยวจำเป็นต้องวางไว้บนหิ้งไปอีกอย่างน้อย 6 เดือนครับ แล้วค่อยประเมินสถานการณ์อีกที

No Travel Bubbles...

ประเทศไทยต้องทำได้

ด้วยรักต่อทุกคน.

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net/

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/72687

 

 
ท่องแดนพิศวง 'เนปาล' เปิดมุมลับ 'ภัตตาคารแร้ง'
 
นมัสเต "เนปาล" การผจญภัยในมุมต่าง ณ ดินแดนแห่งหิมาลัย ที่ซึ่งความงดงามทางธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว

ศิลปะ – วัฒน – ธรรมชาติ @ เนปาล

สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล หรือ ประเทศเนปาล ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย มียอดเขาเอเวอเรสต์เป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่น เห็นแต่ไกลตั้งแต่ก่อนเครื่องบินจะลงจอด ณ ท่าอากาศยานนานาชาติตรีภูวัน โดยการบินไทยใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง พาเราย้อนเวลาไปยังบ้านเมืองที่ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองมาแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เรื่อยมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา และปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้คนก็ยังดำเนินอยู่เช่นนั้น แถมเวลาที่ประเทศเนปาล ก็ช้ากว่าประเทศไทยประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที การไปเยือนเนปาลจึงเหมือนหมุนคืนกลับไปสู่อดีตอันแสนสุข

เที่ยวบินจะมาถึง กรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของประเทศเนปาลในตอนบ่าย พอผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองก็เดินทางไปชมมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่อยู่ไม่ไกลจากสนามบิน พระมหาเจดีย์โพธินาถ (Boudhanath Stupa) หรือพระปฐมเจดีย์ของเนปาลที่ยิ่งใหญ่อลังการ มีอายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี จุดเด่นอยู่ที่ดวงตาเห็นธรรมหรือ ‘ดวงตาแห่งปัญญา’ (Wisdom Eyes) ทั้ง 4 ด้าน โดยจะพบเห็นคนเนปาล, ชาวทิเบต และนักท่องเที่ยวมากราบขอพรกันมากมาย

159575413214

ดวงตาแห่งปัญญา

ช่วงเย็นๆ แดดร่มลมตก ก็ไปชม สยมภูวนาถ (Swoyambhunath) หรือ วัดลิง (Monkey Temple) มรดกโลกทางวัฒนธรรมเช่นกัน สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ามานะเทวะ ในปี พ.ศ. 936 เป็นเจดีย์ของชาวพุทธที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ที่ฐานของสถูปทั้ง 4 ด้านจะมีภาพดวงตาเห็นธรรมด้วยเช่นกัน ตั้งอยู่บนยอดเขาห่างจากกรุงกาฐมาณฑุไปทางทิศตะวันตก 3 กิโลเมตร ตัวสถูปตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ ทำให้เห็นวิวทิวทัศน์เหนือหุบเขากรุงกาฐมาณฑุที่แสนงดงาม โดยมีลิงวอกและเหยี่ยวดำอาศัยอยู่บนภูเขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งตัวสถูปรอดพ้นจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2558 มาได้

ชาวฮินดูเชื่อว่า ‘ลิงวอก’ คือ ‘เหา’ ที่อยู่บนพระเศียรของพระศิวะ จึงปล่อยให้ลิงหาอยู่หากิน แพร่พันธุ์ตามสบาย โดยลิงวอกก็อยู่ร่วมกับคนเป็นระเบียบดี ทั้งๆ ที่รอบวัดมีการขายของกิน

ของใช้ ของบูชาพระ ของตกแต่งบ้าน และเครื่องประดับหลายจุด แต่ลิงก็ไม่สนใจไปข้องแวะ ลองไปสอบถามดูว่าเขากำราบลิงอย่างไร พบว่าทางวัดให้อาหารลิงในสถานที่เฉพาะ ให้เป็นเวลาและอยู่ในส่วนป่า มิได้อยู่ในส่วนท่องเที่ยว ซึ่งลิงจะได้กินอาหารพอประมาณเพื่อควบคุมประชากรระยะยาว มีการเก็บขยะเป็นที่เป็นทาง ส่วนอาหารที่นักท่องเที่ยวนำมาให้ลิง ทางวัดก็ไม่สามารถควบคุมได้ ที่ผ่านมาก็มีนักท่องเที่ยวถูกลิงทำร้ายอยู่บ้าง และมีลิงตายจากกินขยะพลาสติกด้วย

159581448643

สยมภูวนาถ หรือ วัดลิง

 

กลับจากวัดลิง ก็เข้าที่พักเพื่อปรับสภาพร่างกายให้ชินกับความสูงที่ระดับ 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล จากนั้นก็ออกมาทานอาหารเย็นที่ ย่านการค้าทาเมล (Thamal) เป็นตลาดสำหรับนักท่องเที่ยวอยู่ใจกลางเมือง มีสินค้าสารพัดให้เลือกสรร และพบว่ากรุงกาฐมาณฑุ แม้จะมีขนาดใหญ่โตมากๆ แต่ถนนหนทางดั้งเดิม กลับแคบนิดเดียว จนรถแทบขับสวนกันไม่ได้ ซึ่งเป็นเช่นนี้มากว่า 300 ปี ตึกแถวร้านค้าเป็นแบบหน้าแคบถึงแคบมาก หน้ากว้างประมาณ 1.5 - 2 เมตรต่อห้องเท่านั้น แต่อาจสูงขึ้นไปได้ถึง 4 ชั้น และนิยมมีระเบียงด้วย

 

159575409918

วันต่อมาออกเดินทางท่องเมืองปาทาน (Patan) เมืองคู่แฝดของกรุงกาฐมาณฑุและได้รับการขนานนามว่าเมืองแห่งศิลปะ เพราะเป็นศูนย์กลางงานหัตถศิลป์ของชาวทิเบตอพยพ ดั่งนครโบราณที่ยังมีชีวิต ขอแนะนำให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งเมืองปาทาน (Patan Museum) ซึ่งปรับปรุงมาจากส่วนหนึ่งของพระราชวังเก่า ในสมัยศตวรรษที่ 18 เพราะจะได้พบกับศิลปะทางวัฒนธรรมในระดับมรดกโลก ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียสมัยปาละ

แม้เมืองปาทานจะเล็ก แต่ก็มีหลักฐานว่าเก่าแก่กว่าภักตะปุระและกาฐมาณฑุเสียอีก เพราะมี 'สถูปอโศก' ที่บ่งบอกว่าพระเจ้าอโศกมหาราช เคยเสด็จมาเผยแผ่พุทธธรรมตั้งแต่เมื่อราว 2,200 ปีมาแล้ว และการได้มาเยือน จัตุรัสพระราชวังปาทาน (Patan Durbar Square) ถือว่าได้เดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์แบบเปิดก็ว่าได้ เพราะงดงามไปด้วยงานสถาปัตยกรรมชั้นสูง ได้แก่ พระราชวังโบราณ 130 แห่ง เทวาลัย 55 แห่ง และลานสาธารณะอีกนับสิบแห่ง ซึ่งยังใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ ชุมนุม ประกอบพิธีทางศาสนาทั้งฮินดูและพุทธ อย่างต่อเนื่องมาหลายร้อยปี

 

159581392287

เดินทางต่อไปเมืองภักตะปุระ (Bhaktapur) แปลว่าเมืองแห่งความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า อายุประมาณกรุงศรีอยุธยาของไทย ต้องเข้าเยี่ยมชม จัตุรัสพระราชวังภักตะปุระ (Bhaktapur Durbar Square) อันเป็นที่ตั้งของพระราชวังเดิม สิ่งที่สำคัญโดดเด่น คือ ประตูทอง (The Golden Gate) ของ พระราชวังซันโตกา ถูกสร้างในสมัยกษัตริย์ภูปตินทระ มัลละ เมื่อ พ.ศ.2243,วัดไภราพวนารถ (Bhairavnath Temple), วัดนาธาโปลา (Nyatapola Temple) มณฑปสูงที่สุดของประเทศเนปาลราว 30 เมตร สร้างในสมัยกษัตริย์ภูปตินทระ มัลละ เมื่อพ.ศ.2245

159575413743

วัดนาธาโปลา

พระราชวังแห่งภัคตะปุระ หรือ พระราชวัง 55 หน้าต่าง ซึ่งสร้างขึ้นโดยกษัตริย์รานจิต มัลละ ในสมัยศตวรรษที่ 18 ด้วยเพราะกษัตริย์ที่สร้างพระราชวังนี้ มีพระชายาที่ทรงโปรดปราน มากถึง 55 คน, พิพิธภัณฑ์สถานแห่งเมืองภักตะปุระ ที่อัดแน่นไปด้วยวัตถุโบราณระดับโลก และหมู่บ้านช่างปั้นหม้อ

159575414229

ช่างปั้นหม้อ

 

'ภัตตาคารแร้ง' แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งเนปาล

วันต่อมานั่งรถเกือบ 10 ชั่วโมงกับระยะทางประมาณ 250 – 280 กิโลเมตร พากันโขยกเขยก ลัดเลาะไหล่เขาโตรกผา ออกมาจากเมืองหลวง มุ่งหน้าลงใต้ไปพัก ณ รีสอร์ตใกล้ๆ อุทยานแห่งชาติจิตตะวัน เพื่อวันรุ่งขึ้นจะได้เข้าชมความสวยงามในอุทยานแห่งชาติอันดับหนึ่งของประเทศเนปาล ที่ยังคงความหลากหลายทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่ามากมายที่น่าสนใจ เช่น แรดอินเดีย ตะโขงอินเดีย กวางดาว จระเข้น้ำจืด ช้างป่า เสือโคร่ง เสือดาว ฯลฯ

เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่นักชมสัตว์ป่าจากทั่วโลก ต้องไปเยือนให้ได้สักครั้งในชีวิต และมีการจัดโปรแกรมทัวร์โดยคนท้องถิ่น พานักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้าเที่ยวป่าอย่างเป็นระบบ เช่น ถ้าจะเข้าป่าก็มีให้ 3 ทางเลือกได้แก่ เดินเที่ยวชมโดยมีมัคคุเทศก์นำทาง, นั่งช้างเข้าไป โดยมีควาญช้างนำทาง และนั่งเรือขุดตามแม่น้ำรภดี (Rapti River) โดยมีคนเรือนำทาง เป็นต้น

159575413646

ผู้นำทางท่องเที่ยวทุกคน สามารถพูดและตอบโต้ภาษาอังกฤษได้ แม้จะออกสำเนียงแบบแขกๆ และเขาทราบว่า “จุดขาย จุดแข็ง” ของพื้นที่คือสัตว์ป่า ทำให้เขาจะเน้นพาเราไปดูให้เห็นสัตว์ป่าแบบชัดๆ ใกล้ๆ จำนวนเยอะๆ เพื่อให้เราประทับใจ อันนำมาซึ่งการไปเที่ยวซ้ำหรือบอกต่อกันไป จึงทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลไปเยือนหลายแสนคนทุกปี แต่ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานการเคารพสวัสดิภาพสัตว์ป่า ที่ต้องไม่มีการล่า หรือมีสัตว์ป่าทำร้ายชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ เพราะผืนป่าและหมู่บ้านอยู่ใกล้ชิดกันมาก เรียกได้ว่าลงไปซักผ้าที่แม่น้ำ ต้องระวังจระเข้ลากไปกินเลยทีเดียว

ความตื่นเต้นและสนุกสนานที่ได้พบเห็นสัตว์ป่าตัวใหญ่จำนวนมากๆ ซึ่งไม่เคยพบเห็นในประเทศไทยทำให้เวลาผ่านไปเร็วมาก เข้าป่าไปแต่เช้ามืด ออกมาอีกทีก็เกือบหกโมงเย็น โดยมีการนำอาหารกลางวันและน้ำจากรีสอร์ตที่พักไปให้ถึงในป่าด้วย การทานอาหารกลางวัน ณ ริมบึงใหญ่ ภายใต้ร่มไม้ครึ้ม มีลมเย็นพัดเอื่อยๆ เบื้องหน้ามีนกและสัตว์ป่า ลงมากินน้ำให้ชมเป็นระยะๆ ภาพที่เห็นจึงดูงดงาม ได้ดื่มด่ำ ได้คุณค่า และรู้สึกว่ากลมกลืนกับธรรมชาติมาก

159581448531

นั่งหลังช้างออกไปชมสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติจิตตะวัน

 

เมื่อกลับจากป่า ทุกกลุ่มทัวร์จำเป็นต้องไปชมการแสดง การละเล่นของชนพื้นเมืองในตอนค่ำ เพื่อเป็นการแสดงออกและสื่อสารวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองออกสู่โลกกว้าง ในทางกลับกันก็ทำให้ชาวบ้านที่มิได้นำทัวร์เที่ยวป่า ให้มีรายได้ร่วมไปด้วย เงินจะได้กระจายตกถึงมือชาวบ้านทุกกลุ่มรอบป่าจริงๆ

วันต่อมานั่งรถเดินทางโขยกเขยกไปที่ ภัตตาคารแร้งเมืองนาวาลพาราสี (Nawalparasi) หรือในภาษาพื้นเมืองว่า ‘Jatayu Restaurant’ เพื่อฟื้นฟูประชากรแร้งที่ใกล้สูญพันธุ์ของทวีปเอเชียใต้ จัดตั้งโดยสมาคมอนุรักษ์นกเนปาล (BirdConservation Nepal) หนึ่งในภาคีขององค์การอนุรักษ์นกสากล (BirdLife International) เช่นเดียวกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มีนกแร้งมาใช้บริการมากถึง 8 ชนิด ได้แก่ พญาแร้ง แร้งเทาหลังขาว แร้งสีน้ำตาลแร้งตุรกี แร้งอินเดีย แร้งดำหิมาลัย แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย และ แร้งสีน้ำตาลยุโรป (ซึ่งนกแร้งหลายชนิดนี้ ได้แก่ พญาแร้ง แร้งเทาหลังขาว แร้งสีน้ำตาล ก็เคยมีในประเทศไทยแต่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว)

พื้นที่นี้อยู่ในแนวป่ากันชนของอุทยานแห่งชาติจิตตะวัน เดิมบริเวณนี้เป็นที่ทิ้งขยะของหมู่บ้าน ซึ่งปกติมีการนำวัวที่แก่หรือป่วยใกล้ตายมาผูกทิ้งไว้แต่ประเทศเนปาลไม่มีการฆ่าวัว เพราะเชื่อว่าเป็นพาหนะของพระศิวะในศาสนาฮินดู เพราะฉะนั้น ไม่ว่าวัวจะแก่ บาดเจ็บ หรือป่วย ก็จะถูกปล่อยให้ตายไปเองตามความเชื่อทางศาสนา เพื่อตกเป็นอาหารของเหล่านกแร้งที่อาศัยอยู่แถวๆ นั้น บางครั้งมีนกแร้งบินวนอยู่เหนือศพมากถึง50 ตัว สุดท้ายก็จะลงรุมกินซาก ส่งเสียงดังโหวกเหวก จากการต่อสู้แย่งอาหารกันตลอดเวลามีการขโมย จิกตี หรือข่มขู่ระหว่างแร้งด้วยกัน

159581448558

ที่ภัตตาคารแร้ง ลูกแร้งต้องเรียนวิชาหากินและเอาตัวรอด

 

สำหรับวัวหนึ่งตัว จะถูกนกแร้งรุมกินจนหมดจนเหลือแต่กระดูกในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงเท่านั้น เมื่อสังเกตเห็นดังนั้น ทางสมาคมอนุรักษ์นกเนปาลก็เลยขอใช้พื้นที่บางส่วนของป่ากันชนกับทางรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อปรับเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือ ‘ภัตตาคารแร้ง’ สำหรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติโดยเฉพาะ เพราะต้องซื้อตั๋วเข้าไปนั่งในบังไพรเฝ้าดูฝูงแร้งมากินซากวัว แถมยังนำ ‘แร้งเทาหลังขาว’ ที่เพาะพันธุ์ได้ในกรงเลี้ยง มาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเป็นครั้งแรกของโลกด้วย เพราะแร้งที่เกิดในกรงไม่มีสัญชาติญาณการเฝ้าระวังภัยจำเป็นต้องเรียนรู้วิถีชีวิตแร้งธรรมชาติ เพื่อจะได้เติบโตและใช้ชีวิตต่อไปได้เองในอนาคต โดยใช้เวลา 5 – 6 ปี แร้งรุ่นพี่ต้องสอนให้หนี ให้กิน ให้ต่อสู้

ที่ผ่านมาถูกหมาจรจัดกัดตายหรือโดนแร้งตัวอื่น ถีบเป็นแผลรุนแรง จนป่วยตายไปบ้างก็มี แต่ปัญหาหลักที่ทำให้ประชากรนกแร้งในธรรมชาติลดลงมากมาจากยาแก้ปวดชนิดไดโครฟิแนก (Diclofenac) เป็นยาฉีดยอดนิยมที่ถูกใช้ในวัว ควาย ม้า ลา ฬ่อ และช้างบ้าน ทั่วภูมิภาคเอเชียใต้ ใช้แก้ปวดกล้ามเนื้อและแก้อาการลุกไม่ขึ้นในปศุสัตว์ โดยชาวบ้านจะไปซื้อยาจากร้านขายยาสัตว์ใกล้บ้าน และฉีดแก่สัตว์เองโดยขาดการควบคุม โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่บนภูเขาซึ่งมีแร้งอาศัยอยู่มาก เมื่อวัวใกล้ตายก็จะถูกนำมาผูกทิ้งไว้ให้ตายเองเพื่อเป็นอาหารแร้ง แต่ยานี้กลับเป็นพิษรุนแรง ทำให้นกแร้งไตวายเฉียบพลัน ตายไปมหาศาลหลายล้านตัวแทบเกือบสูญพันธุ์

คาดการณ์กันว่า ประชากรนกแร้งในภูมิภาคเอเชียใต้หายไปร้อยละ 99 จากเมื่อ 20 ปีก่อน การได้มาเยือนและสนับสนุน 'ภัตตาคารแร้ง' เมืองนาวาลพาราสีจึงเป็นหลักประกันประชากรนกแร้งให้อยู่คู่โลกต่อไป

159581393478

แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/891075?anf=

'การบิน' ป่วยหนักกว่า... ติด 'โควิด'

 

วิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลก วันนี้ความรุนแรงดูจะน้อยกว่าสถานการณ์การบินโลก ซึ่งหลายคนมองว่าอาจถึงปี 2023 หรือเลยไปกว่านั้น ที่ดีมานด์การบินจะกลับมาเช่นเดิม และคาดว่ามีเพียง 30 สายการบิน ใน 700 กว่าสายการบินทั่วโลกที่สามารถอยู่รอดได้

ภาพความแออัดของสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ทั้งในห้องผู้โดยสารและรันเวย์จะไม่ได้เห็นไปอีกนาน เพราะการอาละวาดของโควิด-19

ใครที่คาดว่าทุกอย่างในเรื่องการบินจะกลับมาเหมือนก่อนหน้าโควิด-19 นั้น คงต้องทบทวนใหม่ เพราะผู้คุ้นเคยธุรกิจนี้ในระดับโลกเชื่อว่าสถานการณ์ซบเซาของการบินจะอยู่ไปอีกหลายปี

ลองดูพฤติกรรมตัวเลขของผู้ผลิตเครื่องบิน 2 รายใหญ่ของโลก ก็พอจะเห็นภาพว่าเขามองสถานการณ์หลังโควิด-19 กัน อย่างไรความเชื่อว่าดีมานด์ของการบิน รวมทั้งโลกในอนาคตจะลดลงอย่างเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้ Boeing ประกาศลดกำลังการผลิตลง 50% และยกเลิกแผนที่จะพัฒนาเครื่องบินใหม่ 2 แบบในทศวรรษหน้า ส่วน Airbus ซึ่งมีออเดอร์อยู่มากขนาดงานจะไม่ว่างเลยในทศวรรษหน้ายังตัดสินใจลดกำลังผลิตลง 30%

ก่อนหน้าโควิด-19 มีการพยากรณ์กันว่าดีมานด์ของการเดินทางทางอากาศของคนทั่วโลกจะเติบโตปีละ 4.3% ตลอด 20 ปีข้างหน้าจนต้องผลิตเครื่องบินใหม่ออกมาทั่วโลกประมาณ 40,000 ลำแต่บัดนี้ไม่เชื่อแล้วเพราะเห็นฤทธิ์ของโควิด-19 ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา เครื่องบินทั่วโลกกว่า 5,000 ลำต้องจอดอยู่บนรันเวย์เพราะโรคระบาด

Warren Buffett พหูสูตรเรื่องการลงทุน ขายหุ้นสายการบินอเมริกันทิ้งจนขาดทุนไปหลายพันล้านดอลล่าร์ แต่ก็ต้องทำเพราะคาดว่าหากถือไว้จะเจ็บตัวกว่านี้อีกมาก

เครื่องบินแบบที่กำลังถูกทอดทิ้งอย่างน่าสงสารก็คือ Boeing-747 ซึ่งมีขนาดยักษ์ จุผู้โดยสารกว่า 300 คน บินได้ไกลนับเป็นพันไมล์ ในช่วงโควิด-19 ระบาดต้องจอดบนรันเวย์เกือบทั้งหมดเช่นเดียวกับ Air Bus รุ่น A-380 ขนาดยักษ์ก็จะจบชีวิตเช่นกัน สายการบิน Emirates ซึ่งเคยมี 747 อยู่ 242 ลำขายไป 115 ลำในปี 2020

 

เหตุใดจึงมองธุรกิจการบินในแง่ร้ายขนาดนี้? สาเหตุข้อแรก ก็คือเชื่อกันว่าการระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลกนั้นขณะนี้ยังอยู่ในขั้นแรกการระบาดรอบหนึ่งยังไม่จบในสหรัฐ ยุโรปหลายประเทศอเมริกาใต้ ตลอดจนอินเดียและโดยเฉพาะทวีปอาฟริกา ซึ่งมีประชากรรวม 1,200 ล้านคน ในประชากร 7,700 ล้านคนทั่วโลก

การระบาดรอบ 2 นั้นเกิดขึ้นในหลายประเทศแล้ว จนแน่ใจว่าประมาณใกล้ปลายปี 2020 ก็จะเกิดอีกในหลายประเทศของทั้งยุโรปและในสหรัฐ วัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น อย่างเร็วที่สุดที่จะออกมาให้คนบางส่วนได้ใช้กันก็ไม่หนีต้นปี 2021 และต้องใช้เวลาเกือบทั้งปีจนถึง 2022 กว่าที่คนส่วนใหญ่ของโลกจะเข้าถึง

การที่คนจะโดยสารเครื่องบินข้ามประเทศได้นั้น หลายประเทศต้องมีความเห็นร่วมกันว่าปลอดภัยสำหรับประชาชนของตนและโอกาสที่หลายประเทศจะเห็นว่า ปลอดภัยจากโควิด-19 ร่วมกันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไม่ง่ายต้องใช้เวลาอีกหลายปี จนอาจถึงปี 2023 หรือหลังกว่านั้นจึงอาจกลับมาเหมือนเดิม

ความกลัวโรคโควิด-19 จะอยู่ในใจผู้คนจนไม่อยากบินระยะทางไกล หรือแม้แต่ใกล้ เพราะอากาศในเครื่องถ่ายเทจำกัดและมีโอกาสติดโรคสูง ดีมานด์การบินจึงกลับมาได้ช้า โดยขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของแต่ละประเทศซึ่งไม่มีผู้วิเศษคนใดสามารถไปควบคุมได้ทั้งหมด

สาเหตุที่ 2 การเดินทางเพื่อธุรกิจภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งเดิมเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของสายการบินจะลดลงไปมาก เนื่องจากการประชุมออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั่วโลกและจะอยู่ไปถาวร บริษัททั้งหลายจึงประหยัดค่าใช้จ่ายโดยให้พนักงานใช้การประชุมออนไลน์แทนการเดินทาง นอกจากนี้ บริษัทยังกลัวถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากพนักงานที่ติดเชื้อโควิด-19 จากการเดินทางนอกจากนั้นยังหาบริษัทประกันการเจ็บป่วยจากโควิด-19 ได้ยากอีกด้วย

ส่วนการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวนั้น ถึงแม้อยากเดินทางระหว่างประเทศแต่ความกลัวเชื้อโควิด-19 นั้นมีมากกว่า จนทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากมีทางโน้มที่จะเดินทางเพียงภายในประเทศซึ่งทำให้ดีมานด์การบินระหว่างประเทศลดลงไปมาก

“Travel-Bubbles” ซึ่งเป็นการเดินทางตามสัญญาที่ทำไว้ระหว่าง 2 ประเทศหรือกลุ่มประเทศเพื่อให้เดินทางถึงกันได้ โดยไม่มีการกักตัวอาจล้มในกรณีที่เกิดการระบาดครั้งที่ 2 หรือ 3

ประการที่ 3 ไวรัสขนาดเพียง 0.1 ไมครอน สามารถทำให้สายการบินขนาดใหญ่มีสภาพวิกฤติไปตามๆ กัน IATA(International Air Transport Association) ซึ่งพยากรณ์ไว้อย่างใจดีว่าธุรกิจการบินจะฟื้นตัวกลับไปเท่าระดับก่อนโควิด-19 ก่อนหน้าปี 2023 และคาดว่ามีเพียง 30 สายการบินเท่านั้น ใน 700 กว่าสายการบินทั่วโลกที่สามารถอยู่รอดได้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

สายการบินที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐจนอยู่ในสภาพวิกฤต ได้แก่ Flybe (สายการบินภายในทวีปยุโรปที่ใหญ่ที่สุด) / Virgin Australia / LATAM (สายการบินใหญ่ที่สุดของอเมริกาใต้) และถึงแม้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐแต่ก็อยู่ในสภาพย่ำแย่ ได้แก่ Air France / KLM / Lufthansa / American Airlines เป็นต้น

ธุรกิจสายการบินมีธรรมชาติที่อ่อนไหวกับการขาดสภาพคล่อง (เงินสด) สูงกว่าธุรกิจอื่น เนื่องจากมีต้นทุนสูง เช่น ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าชำระเงินกู้ซื้อเครื่องบิน ค่าน้ำมันเงินเดือน ค่าจ้าง ฯลฯ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ต้องจ่ายให้กับหลายบริษัทในหลายประเทศการคาดการณ์ที่ผิดเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนราคาน้ำมัน เส้นทางบิน ขนาดเครื่องบิน ฯลฯ อาจทำให้สายการบินมีปัญหาได้ไม่ยากเมื่อเครื่องบินถูกห้ามบินเพราะโรคระบาดจึงขาดรายได้ (เงินสด) ในขณะที่รายจ่ายเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะเงินชำระหนี้เงินกู้ก้อนใหญ่

ผลพวงที่สำคัญจากการระบาดของโควิด-19 ก็คือต้นทุนการบินต่อคนจะสูงขึ้นเนื่องจาก (ก) กฎหมายบังคับให้เว้นที่นั่ง (จำกัดรายได้) (ข) หนี้เก่าสะสมที่ค้างอยู่ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น (ค) ต้องมีข้อตกลง Travel- Bubbles จึงทำให้ทำการบินได้จำกัด (ง) กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุม climate changeจำกัดการบิน (จ) การแข่งขันที่แต่เดิมเข้มข้นจะถูกขจัดลงด้วยการรวมหัวกันแสดงพลัง “อัตราผูกขาด” ของสายการบินที่อยู่รอด

ทั้งหมดนี้ไปในทางที่ทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินสูงขึ้นยุคสมัยรุ่งเรืองสุดของเครื่องบินราคาประหยัดได้หมดลงแล้ว

พยากรณ์ที่เลวร้ายของธุรกิจการบินดังกล่าวขึ้นอยู่กับสมมติฐานว่าการระบาดรอบแรกยังไม่จบและรอบสองจะกลับมาอีก ถ้าวัคซีนมาเร็วกว่าที่คาด และทำให้ชาวโลกวางใจจนกล้าเดินทางทางอากาศกันอีกครั้งแล้ว ธุรกิจการบินก็คงมีโฉมหน้าใหม่ที่งดงามขึ้น

คนยังป่วยไข้ได้แล้วทำไมธุรกิจการบินจะป่วยไข้บ้างไม่ได้เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นใจและเอาใจช่วยคนป่วย“การบินไทย” สายการบินของพวกเราทุกคนเสมอครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/891033?anf=

27  ก.ค.63- นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ว่าข้อมูลใหม่ ความรุนแรงของโรคไวรัสโควิด-19 ขึ้นกับปริมาณของอนุภาคเชื้อไวรัสที่หายใจเข้าไป การใส่หน้ากากอนามัยช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ถึงจะไม่ 100% ก็ยังช่วยลดปริมาณของเชื้อโรค ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง

ปริมาณของเชื้อไวรัสเป็นตัวกำหนด คนรับเชื้อจะป่วยน้อยหรือป่วยหนัก การใส่หน้ากากอนามัยช่วยลดการหายใจปริมาณของเชื้อไวรัสที่เกาะอยู่บนละอองฝอย จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อ และลดความรุนแรงของโรคได้

มีการทดลองในคน โดยใช้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่พบว่า คนที่ได้รับเชื้อปริมาณมาก จะป่วยมากกว่าคนที่รับเชื้อปริมาณน้อย

 

ในสัตว์ทดลองหนูแฮมสเตอร์ hamster พบว่าการใช้หน้ากากกั้นระหว่างกรงสามารถลดการป่วยของหนูจากโรคไวรัสโควิด-19 และถึงป่วยก็ไม่ป่วยรุนแรง

หน้ากาก N95 กรองเชื้อไวรัสได้ 90-95% หน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยกรองได้ 65-85% ถ้าทุกคนใส่ หน้ากากช่วยลดปริมาณเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกาะบนละอองฝอย กระจายออกมาในอากาศ และหายใจเอาเชื้อเข้าไป (ดูรูป)

องค์การอนามัยโลกเพิ่งจะประกาศว่าทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ตั้งแต่คนทั่วโลกใส่หน้ากากอนามัยมากขึ้น คนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ พบเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 40 และอัตราการเสียชีวิตลดลง ถ้าคนทั่วโลกใส่หน้ากากมากกว่าร้อยละ 80 การระบาดของโรคอาจจะเริ่มลดลงภายในเวลา 2 เดือน

คนไทยให้ความร่วมมือใส่หน้ากากตั้งแต่เดือนมีนาคม ก่อนหน้าองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทุกคนใส่ ขอให้คนไทยทุกคนใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าต่อไป เวลาออกไปในที่สาธารณะ มีคนรวมตัวกันมาก ในที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่ดี ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เวลาพูด ไอ จาม ร้องเพลง เราใส่หน้ากากเพื่อเขา เขาใส่เพื่อเรา ทุกคนจะปลอดภัยจากการติดเชื้อ ถึงป่วยก็จะไม่ป่วยรุนแรง.

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net/

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/72600

มอสโก 15 ก.ค.- กระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยว่า ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่มีความปลอดภัย หลังจากทดลองทางคลินิกกับอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง 

 

กระทรวงแถลงวันนี้ว่า อาสาสมัครกลุ่มแรก 18 คนเสร็จสิ้นการทดลองแล้วโดยไม่มีผลตรงกันข้ามร้ายแรง อาการทางร่างกาย อาการแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงใด ๆ ผลการทดลองนี้ทำให้สามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่าวัคซีนปลอดภัยและมีความทนต่อยาอย่างดี แต่ไม่ได้ระบุว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 หรือไม่ ขณะที่แพทย์ในคณะทดลองเผยว่า ภูมิคุ้มกันของอาสาสมัครทำงานด้วยดี ร่างกายกำลังสร้างสารภูมิต้านทาน ถือว่าได้รับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้ว รัสเซียมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 มากเป็นอันดับสี่ของโลก ยอดสะสมอยู่ที่ 746,369 คน เสียชีวิตเกือบ 12,000 คน

นายเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรายงานต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินช่วงโรคโควิด-19 ระบาดหนักในรัสเซียเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมว่า คณะนักวิจัยของกองทัพกำลังพัฒนาวัคซีนร่วมกับสถาบันกามาเลียในกรุงมอสโก อาสาสมัครรับวัคซีนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ถูกแยกดูอาการในโรงพยาบาลทหารเบอร์เดนโก ผลการตรวจสุขภาพทุกวันเป็นเวลา 28 วันพบว่า สัญญาณชีพที่ประกอบด้วยอุณหภูมิ ชีพจร การหายใจและความดันโลหิตยังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทหารนายหนึ่งที่เข้าร่วมการทดลองกล่าวก่อนออกจากโรงพยาบาลว่า ตนเองมีภูมิคุ้มกันร้อยเปอร์เซนต์แล้ว ส่วนอาสาสมัครกลุ่มที่สองที่รับวัคซีนเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนยังคงอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการอยู่ กระทรวงคาดว่า จะเสร็จสิ้นการทดลองทางคลินิกภายในสิ้นเดือนนี้.-สำนักข่าวไทย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.mcot.net/

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.mcot.net/viewtna/5f0eeffee3f8e40af846782f?read_meta=%7B%22label%22:%22articlepage_number1%22%7D