ชัยวุฒิ เผยเจตนารมณ์ของ PDPA คุ้มครองข้อมูลของ ปชช. ที่ให้ไว้กับ ผู้ประกอบการ ร้านค้าหรือองค์กรต่างๆไม่ให้รั่วไหล และห้ามนำไปใช้ในทางเสียหายไม่เหมาะสม คือหัวใจสำคัญ

10 มิ.ย. 2565 –  นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม(ดีอีเอส) เปิดเผยถึง กรณีที่ประชาชนอาจจะวิตกกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565  เกรงว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่นั้น พบว่า หนึ่งในข้อกังวล กรณีพบเห็นเหตุการณ์ผิดปกติแล้วถ่ายภาพหรือคลิปเป็นเป็นหลักฐานจะทำได้หรือไม่

 
 

ในกรณีนี้ สามารถทำได้ แต่ต้องไม่นำมาเผยแพร่หรือ โพสต์ด้วยตนเอง โดยควรส่งหลักฐานเหล่านั้น  ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย

“การที่เราเอาภาพที่ไม่เหมาะสม เอาคลิปที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมมาโพสต์ หรือมาแชร์เอง ก็อาจจะไปละเมิดสิทธิของคนอื่น อาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพราะเขาเป็นผู้เสียหายจากสิ่งที่ท่านทำ แต่ถ้าเก็บคลิป แล้วนำไปให้เจ้าหน้าที่เพื่อเป็นหลักฐาน เพื่อประโยชน์ในทางรูปคดีอันนี้ทำได้อยู่แล้ว” ชัยวุฒิกล่าว

พร้อมทั้งย้ำว่ากฎหมาย PDPA มุ่งที่จะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือ ข้อมูลของพี่น้องประชาชนที่เคยให้กับร้านค้า หน่วยงานต่างๆ  ซึ่งผู้ประกอบการและหน่วยงานเหล่านั้น ต้องเก็บข้อมูลของประชาชนให้ดี ไม่ให้รั่วไหล ถ้าจะนำไปใช้ประโยชน์ก็ต้องขอความยินยอมจากผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูล และห้ามนำไปใช้ทำให้พี่น้องประชาชน หรือเจ้าของข้อมูลเกิดความเสียหาย
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า นี่คือหลักการสำคัญของกฎหมาย แต่เรื่องการโพสต์ การแชร์ การให้ข่าวต่างๆ ไม่ได้เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ เพียงแต่อาจจะไปผิดกฎหมายอื่น เป็นการละเมิดสิทธิบุคคลมีการฟ้องแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหายกันอันนี้อีกเรื่องหนึ่ง อยากให้มองว่าเจตนารมณ์ของ PDPA คุ้มครองข้อมูลของเราที่เก็บไว้ในร้านค้าหรือองค์กรต่างๆไม่ให้รั่วไหลนี่คือหัวใจสำคัญ

“ประชาชนเป็นเจ้าของข้อมูลสำคัญของตัวท่านเอง เวลาท่านให้ข้อมูลกับบุคคล ร้านค้า หรือหน่วยงานต่างๆ ท่านมีสิทธิที่จะไม่ยินยอมให้นำข้อมูลที่เป็นความลับ ข้อมูลส่วนบุคคล ร้านค้าหรือหน่วยงานไม่มีสิทธินำข้อมูลไปเปิดเผย หากนำไปเปิดเผยจะมีความผิดตามกฎหมาย PDPA ประชาชนควรติดตามหากมีใครนำข้อมูลส่วนบุคคลของท่านที่ท่านให้ไว้ไปใช้ หรือนำไปเผยแพร่ทำให้เกิดความเสียหายกับตัวเราสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย PDPA” รัฐมนตรีดีอีเอส กล่าว

นับเป็นอีก ภารกิจที่สำคัญของกระทรวงฯ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลคน สคส. ต้องเร่งขับเคลื่อนก็คือ พยายามประสานงานกับภาคธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ให้มีการเก็บข้อมูล ให้มีมาตรฐาน ให้มีระบบที่ดี ไม่ให้มีข้อมูลรั่วไหล  ข้อมูลที่ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ประชาชนก็มีสิทธิในข้อมูลของตัวเอง ดังนั้นต้องคอยติดตามว่าข้อมูลนี้ ใครนำไปใช้ในทางไม่ชอบหรือไม่ ถ้าพบก็แจ้งร้องเรียนมาทางสำนักงาน สคส. เพื่อคุ้มครองสิทธิในข้อมูลของตัวเอง

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/general-news/159136/

'หมอธีระ' ยกผลวิจัยมะกันเตือนสติคนไทยให้ตระหนักถึงการป้องกันตัวการ์ดห้ามตก ชี้แม้ฉีดวัคซีนไปแล้วก็ลดความเสี่ยงของ Long COVID ได้ไม่มากนัก

26 พ.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 532,571 คน ตายเพิ่ม 1,265 คน รวมแล้วติดไปรวม 529,430,127 คน เสียชีวิตรวม 6,305,358 คน

 
 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และออสเตรเลีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 74.57 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 66.4 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 52.45 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 15.33

...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม
ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 17.01% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

...คนที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดติดเชื้อโควิดขึ้นมานั้นเสี่ยง Long COVID แค่ไหน? ล่าสุด งานวิจัยขนาดใหญ่จากประเทศสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระดับสากล Nature Medicine เมื่อวานนี้ 25 พฤษภาคม 2565 ศึกษาในประชากรที่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน แล้วเกิดติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวนถึง 33,940 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและไม่ได้ติดเชื้อ จำนวน 2.56 ล้านคน และกลุ่มประชากรที่ฉีดวัคซีนและไม่ได้ติดเชื้ออีก 10.7 ล้านคน

ประเมินดูอัตราการเกิดภาวะ Long COVID รวมถึงผลลัพธ์ทางสุขภาพอื่นๆ ณ 6 เดือนหลังจากเกิดการติดเชื้อ
สาระสำคัญที่พบคือ

1.การฉีดวัคซีนนั้นลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Long COVID ได้ 15% ทั้งนี้ผลที่ค้นพบจากการศึกษาขนาดใหญ่ครั้งนี้ ถือว่าน้อยกว่าที่การศึกษาอื่นในช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก เพราะการศึกษาก่อนๆ เคยประเมินว่าลดความเสี่ยงได้ราว 41% ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน โดยวัคซีน mRNA จะสามารถลดความเสี่ยงได้มากกว่าวัคซีนประเภท viral vector

2.การฉีดวัคซีนนั้นจะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ราว 34% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

3.แม้จะฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่หากติดเชื้อขึ้นมา ก็ยังทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ณ 6 เดือน สูงกว่าคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ 1.75 เท่า และทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกายจาก Long COVID สูงกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ 1.5 เท่า

...ผลการศึกษานี้ สะท้อนให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัว แม้ฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ช่วยลดความเสี่ยงของ Long COVID ได้ไม่มากนัก การใส่หน้ากากอย่างสม่ำเสมอยังเป็นเรื่องจำเป็น Health consciousness หรือความใส่ใจต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยประคับประคองให้เราอยู่รอดในสถานการณ์ระบาดที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ควรหลงตามกิเลส ใช้สติและปัญญาในการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัว

อ้างอิง
Al-Aly, Z., Bowe, B. & Xie, Y. Long COVID after breakthrough SARS-CoV-2 infection. Nat Med. 25 May 2022.

 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/148933/

 

 2021-10-26_09-25-38.jpg

นายกฯลงนามประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว 'กทม.' - 16 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว มีผลตั้งแต่ 5 ทุ่ม 31 ต.ค. ห้ามจัดกิจกรรมเสี่ยงแพร่โควิด ไม่ให้รวมกลุ่มเกิน 500 คน

22 ต.ค. 2564 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 23.30 น. ของวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 36 โดยระบุว่า ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นั้น

โดยที่การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวนในระดับคงที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง และผู้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนและขับเคลื่อนแผนการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่ประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งปัจจุบันอัตราการได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศ

รัฐบาลจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการฟื้นฟูประเทศเพื่อประโยชน์ด้านการใช้ชีวิตความเป็นอยู่และด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชน ในเบื้องต้นจึงเห็นควรให้มีการเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นปัจจัยเอื้อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศได้มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้

1.การกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้มีการกำหนดเขตพื้นที่นำร่อง (Sandbox) ด้านการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อการดำเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กับการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่แบบบูรณาการ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสม ความพร้อม และบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อการบังคับใช้ให้เหมาะสมและเป็นการเฉพาะจากเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์

2.การกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวให้สถานที่ กิจการ หรือการดำเนินกิจกรรมในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว สามารถเปิดดำเนินการได้ ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด เช่น มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร(Covid Free Setting) รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ

3.การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน ให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวซึ่งเดิมเคยกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากการจำแนกจังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ แต่ได้มีคำสั่งกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวตามข้อกำหนดนี้ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่เวลา 23.00 นาฬิกา ของวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564

4.การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 500 คนในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว

5.การเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ในระยะเริ่มแรกของการดำเนินการเปิดเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวยังคงปิดดำเนินการไว้ก่อนในช่วงเวลานี้ โดยให้หน่วยงานและผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อการผ่อนคลายมาตรการตามที่ได้ประกาศไว้แล้วในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ต่อไปตามแผนและกรอบเวลาที่รัฐบาลจะประกาศกำหนด

6.การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยภายในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวและการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) เพื่อตรวจสอบ กลั่นกรอง และเสนอนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาปรับระดับความเข้มข้นหรือการผ่อนคลายของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในระดับท้องที่หรือเขตอำเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัด ในความรับผิดชอบของตนได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19ในห้วงเวลาต่าง ๆ

ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยสั่งปีด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของสถานที่ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19

7.การกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม เพื่อเอื้อต่อการเดินทางเข้าราชอาณาจักรของบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศต้นทางซึ่งได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และได้มีการประสานความร่วมมือเพื่อดำเนินการตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล

8.มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การกำหนดมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในประเภทซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุข ตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล ตามที่ได้เพิ่มเติมโดยข้อกำหนดนี้ เช่น การกำหนดประเทศหรือพื้นที่ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศอนุมัติ การมีหนังสือรับรองหรือหลักฐานการลงทะเบียนการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบตามเกณฑ์ การตรวจยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 การมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลตามเกณฑ์ที่กำหนด และหลักฐานการชำระค่าที่พัก ให้เป็นไปตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัด แนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 18/2564 เรื่อง พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวนั้น ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ 2.กระบี่ 3.ชลบุรี (เฉพาะ อ.บางละมุง เมืองพัทยา ศรีราชา เกาะสีชัง และสัตหีบ เฉพาะ ต.นาจอมเทียน และ ต.บางเสร่) 4.เชียงใหม่ (เฉพาะ อ.เมืองเชียงใหม่ ดอยเต่า แม่ริม และแม่แตง) 5.ตราด (เฉพาะ อ.เกาะช้าง) 6.บุรีรัมย์ (เฉพาะ อ.บุรีรัมย์) 7.ประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะ ต.หัวหิน และ ต.หนองแก)

8.พังงา 9.เพชรบุรี (เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ) 10.ภูเก็ต 11.ระนอง (เฉพาะเกาะพยาม) 12.ระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด) 13.เลย (เฉพาะ อ.เชียงคาน) 14.สมุทรปราการ (เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ) 15.สุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า) 16.หนองคาย (เฉพาะ อ.เมืองหนองคาย สังคม ศรีเชียงใหม่ และท่าบ่อ) และ 17.อุดรธานี (เฉพาะ อ.เมืองอุดรธานี บ้านดุง กุมภวาปี นายูง หนองหาน และประจักษ์ศิลปาคม).

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/news/9132/

'หมอยง' อธิบายสาเหตุที่ทำไมถึงต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 -4 เพราะแม้ไม่สามารถป้องกันการตัดได้ แต่จะลดความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะไวรัสกลายพันธุ์ทั้งหลาย

24 ก.พ.2565 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมรูปในหัวข้อ “โควิด- 19 วัคซีน ทำไมจึงต้องมีการกระตุ้นเข็ม 3 เข็ม 4” ระบุว่า วัคซีนในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่เป็นที่ยอมรับความมีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง

 

แต่เดิมหลังจากพัฒนาวัคซีน มีเป้าหมายป้องกันการติดเชื้อ ไวรัสโควิดมีระยะฟักตัวสั้น จึงทำให้ยากต่อการป้องกันการติดเชื้อ เพราะต้องการระดับภูมิที่สูงอยู่ตลอดเวลา

เมื่อให้วัคซีนครบ 2 เข็ม การศึกษาประสิทธิภาพในระยะแรก เป็นการศึกษาประสิทธิภาพในระยะสั้นหลัง 2 เข็ม จึงดูเหมือนว่าได้ผลดี แต่ความเป็นจริงเมื่อกาลเวลายาวนานออกระดับภูมิต้านทานลดต่ำลง ประสิทธิภาพในการป้องกันและลดอาการของโรคจึงลดลงตามระยะเวลาที่ห่างออกไป

เมื่อมีการกระตุ้นเข็มสาม จะมีการยกระดับภูมิต้านทานให้ขึ้นสูงไปใหม่ และก็จะลดลงตามกาลเวลาอีกเช่นเคย จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้นให้ภูมิต้านทานอยู่ในระดับที่สูงขึ้นอีก และก็จะลดลงอีก จึงมีความสำคัญในการกระตุ้นโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง

ภูมิคุ้มกันที่วัด ที่เป็นแอนติบอดี้หรือระดับ B เซลล์ จะป้องกันการติดเชื้อ ยิ่งสูงก็จะสามารถป้องกันข้ามสายพันธุ์ได้ ส่วนระดับ T เซลล์ จะช่วยลดความรุนแรงหรือทำให้หายเร็วขึ้น

เมื่อเราให้วัคซีนมาแล้วเป็นระยะเวลายาวนาน ขณะนี้การให้วัคซีนในประเทศไทยจะครบ 1 ปี จึงไม่แปลกที่ภูมิต้านทานจะลดลง และจำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้นเข็ม 3 และถ้านานวันออกไปอีก โดยเฉพาะปีนี้เป็นปีที่ 2 ก็จะไม่แปลกที่จะต้องมีการให้เข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้นอีกหรือให้เข็มที่ 4 เพื่อยกระดับภูมิต้านทานที่สูงขึ้น ดังแสดงในรูป

ไวรัสกลายพันธุ์หลบหลีกระบบภูมิต้านทาน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องใช้ภูมิต้านทานในระดับที่สูงกว่าปกติ และที่ผ่านมาก็จะเห็นว่า เมื่อให้วัคซีนในประชากรหมู่มากขึ้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราความรุนแรงของโรค และอัตราการเสียชีวิต ลดลงกว่าการระบาดในปีแรกๆ

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/91839/

'ภูมิคุ้มกันหมู่' โควิด-19 ไม่ใช่ทางที่เหมาะสม!

ขณะนี้หลายประเทศมีการกลับทิศ มุ่งกำหนดแนวทางควบคุมโรคโควิด-19 เพราะเริ่มเห็นถึงทิศทางว่าการปล่อยให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” (herd immunity)กับโรคนี้โดยไม่ทำอะไร อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

ช่วงต้นที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโรคโควิด-19 เริ่มระบาดออกไปนอกประเทศจีน เข้าสู่ประเทศต่างๆกระจายไปทุกทวีป ผู้นำหลายประเทศเลือกที่จะไม่ดำเนินมาตรการใดเป็นการเฉพาะในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมการระบาด เลือกที่จะปล่อยให้ประชาชนมีการติดเชื้อและเกิดภูมิคุ้มกันธรรมชาติขึ้น แต่ขณะนี้ประเทศเหล่านั้นมีการกลับทิศ มุ่งกำหนดแนวทางควบคุมโรค เพราะเริ่มเห็นถึงทิศทางว่าการปล่อยให้เกิด“ภูมิคุ้มกันหมู่”(herd immunity)กับโรคนี้โดยไม่ทำอะไร อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

การเชื่อเช่นนั้น นั่นเพราะ“ภูมิคุ้มกันหมู่”(herd immunity) คือ การที่ประชากรส่วนมาของชุมชนหรือสังคมมีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นในสัดส่วนจำนวนคนที่มากพอแล้ว ก็จะไม่เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งอาจเกิดเองตามธรรมชาติเมื่อหายจากโรคหรือการได้รับวัคซีน เมื่อโควิด-19ยังไม่มีวัคซีน การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จึงต้องให้เป็นไปตามธรรมชาติ

ทว่า มีการระบาดของโรคเกิดขึ้นครึ่งปี มีการศึกษามากมายที่เริ่มปรากฏออกมาว่า คนที่ติดเชื้อและหายป่วยจากโรคนี้ แม้จะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นแต่อยู่ไม่นาน จึงไม่อาจการันตีจะไม่มีการติดเชื้อซ้ำขึ้น

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า เมื่อติดเชื้อไวรัสเชื่อว่าร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้น แต่เนื่องจากโควิด-19เป็นโรคใหม่ จึงมีการศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลักฐานในหลายๆประเทศพบว่า แม้ว่าจะมีการติดเชื้อมาแล้ว ในบางรายภูมิต้านทานก็ไม่เกิดขึ้น บางรายเกิดขึ้นไม่มาก ในส่วนของประเทศไทยก็มีการศึกษาและลักษณะผลที่เกิดขึ้นก็คล้ายกับต่างประเทศ

 

“นั่นหมายความแนวคิดที่จะให้ประชาชนมีการติดเชื้อและเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก็คงไม่เหมาะ ซึ่งประเทศไทยคงไม่ยอมที่จะแลกว่าหากมีคนติดเชื้อ โดยเฉพาะไปยังกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือคนมีโรคประจำตัวแล้วนำไปสู่การเสียชีวิต และที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยปล่อยให้ใครไม่ได้รับการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตของประเทศไทยไม่สูง มีผู้ป่วย 3,000 กว่าราย มีการเสียชีวิต 58 ราย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

นพ.สุวรรณชัย ย้ำว่า ด้วยมาตรการการควบคุมโรคที่ดี เชื่อว่าคนไทยโดยส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทานกับเชื้อนี้ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องคงมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้หมายความจะไม่มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยที่จะติดเชื้อภายในประเทศเพราะเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่สามารถทำได้คือสามารถที่จะป้องกัน ให้โอกาสที่จะพบนั้นต่ำๆ และดำเนินชีวิตทางสังคม เศรษฐกิจให้มีการขับเคลื่อนไปได้ โดยควบคู่กับมาตรการป้องกันควบคุมโรคแบบระแวดระวังเป็นนิวนอมัล

“ภาพโดยรวม หลักการที่ง่ายๆในการป้องกัน การที่ทุกคนสวมหน้ากากทำให้โอกาสในการติดเชื้อ ลดลงจากกว่า 70 % เหลือเพียง 1.5 % และหากร่วมกับมาตรการอื่นทั้งล้างมือบ่อยๆและการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล โอกาสที่จะเกิดเชื้อก็จะน้อยลง การติดเชื้อก็จะน้อยๆ ลง ส่วนคนหนุ่มสาวที่ร่างกายแข็งแรงแล้วคิดว่าปล่อยให้ตัวเองติดเชื้อเพราะอาการไม่รุนแรงจะได้มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น ไม่ต้องวิตกกังวลอีกนั้น ด้วยหลักฐานการศึกษาต่างๆ ไม่สนับสนุนแนวคิดนี้” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากคิงส์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ จากการติดตามคนไข้โควิด-19 จำนวน 63 คน พบว่า 60 คนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น แต่เมื่อติดตามต่อเนื่อง ภูมิคุ้มกันลดลงและหายไป 17% ใน 2 เดือน

สำหรับประเทศไทย ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า แม้ประเทศไทยไม่ได้วัดภูมิต้านทานของคนไทยต่อโรคโควิด-19 แต่เชื่อว่าคนไทยมีภูมิน้อยถึงน้อยมาก โดยที่ศิริราชมีการศึกษาภูมิคุ้มกันของนักศึกษาแพทย์ศิริราช พบว่า ไม่มีภูมิเลย ขณะที่รพ.รามาธิบดี มีการตรวจหาภูมิในบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยโควิด พบว่ามีภูมิ 3 % แต่ในสังคมไทยทั่วไปมีผู้ติดเชื้อสะสม 3,000 กว่าราย เพราะฉะนั้นสังคมไทยยังมีภูมิคุ้มกันโควิดน้อยมาก หากมีเชื้อจากข้างนอกเข้ามา แล้วไม่พบ ไม่รู้ และไม่สามารถไปควบคุมได้ จะเกิดการแพร่กระจายใหม่ได้ จำเป็นที่จะต้องป้องกันการติดและแพร่เชื้อ จนกว่าจะมีวัคซีนขึ้นมา

ขอบคุณข้อมูลจาก  ttps://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/891476?anf=

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ