27 พ.ค.63- รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ ประเด็นสระว่ายน้ำกับโรค COVID-19 ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า สระว่ายน้ำนั้นเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคได้ ไม่ว่าจะแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หรืออื่นๆ
เหตุผลในการเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค เพราะหนึ่ง เป็นที่ที่มีคนมาใช้ร่วมกัน การติดเชื้อจึงเป็นได้ทั้งจากการใกล้ชิด สัมผัสตัวกัน สัมผัสละอองฝอยน้ำลายหรือสิ่งคัดหลั่งขณะพูดคุยเล่น หรือแม้แต่การเผลอกินน้ำในสระที่ปนเปื้อนน้ำลาย เสมหะ อาเจียน ปัสสาวะ อุจจาระที่เล็ดออกมา
สอง เป็นที่ที่คุณภาพและความปลอดภัยของคนมาใช้บริการต้องอาศัยการบำรุงดูแลรักษาตามมาตรฐานทางสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด หากละเลยเพิกเฉยหรือหย่อนยาน คนที่มาใช้บริการก็จะตกเป็นผู้เคราะห์ร้ายโดยไม่รู้ตัว และยากต่อการตรวจสอบจนกว่าจะเกิดเรื่องใหญ่โตขึ้นมา
สาม "คลอรีน"ไม่ใช่ยาวิเศษที่ฆ่าเชื้อได้ทุกอย่าง มีเหตุการณ์ในอดีตหลายเหตุการณ์ที่ส่งผลให้คนป่วยจากการไปว่ายน้ำ โดยเคยมีงานวิจัยชี้ให้เห็นแล้วว่าแม้คลอรีนอยู่ในระดับมาตรฐานก็อาจยังมีปนเปื้อนได้ ดังนั้นก็ต้องไปใช้บริการอย่างระมัดระวัง มีสติอยู่เสมอ
ไวรัสที่เคยระบาดในสระว่ายน้ำมีหลายต่อหลายชนิด เช่น Adenovirus, Norovirus, Enterovirus, Hepatitis A เป็นต้น
อย่าง Adenovirus ที่ก่อให้เกิดโรคหวัดได้นั้น เคยมีคนวิจัยการระบาดในสระว่ายน้ำ และนำน้ำจากสระไปตรวจพบเชื้อ โดยพิสูจน์ว่าเป็นตัวที่เหมือนกับตัวที่ทำให้คนป่วยมากมาย เช่น จอร์เจีย กรีซ จีน เป็นต้น
สำหรับ COVID-19 นั้นก็เป็นไวรัสชนิดหนึ่ง จึงต้องไม่ประมาท
ผู้ประกอบกิจการสระว่ายน้ำควรเคร่งครัดในมาตรฐานสุขอนามัย ดูแลทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชิ้นอย่างสม่ำเสมอ วัดปริมาณคลอรีนให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานและวัดบ่อยๆ จำกัดปริมาณคนใช้บริการ ตรวจวัดไข้ทุกคน ใครมีอาการไม่สบายไม่ว่าจะน้อยเพียงใดก็ต้องห้ามเข้าใช้บริการ และสำคัญไม่แพ้กันคือ ช่วงไหนใครไม่ลงน้ำก็ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างๆ กัน
ส่วนประชาชนที่วางแผนจะใช้บริการสระว่ายน้ำก็ควรประเมินสุขภาพตนเอง ถ้าช่วงที่ยังมีโรคระบาดโดยยังไม่มียามาตรฐานรักษาและไม่มีวัคซีนป้องกัน เลี่ยงไปออกกำลังกายแบบอื่นจะปลอดภัยกว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าพูดตรงๆ หากไม่มีสระว่ายน้ำในบ้านเป็นส่วนตัวแล้ว น่าจะปล่อยให้เหล่านักกีฬาว่ายน้ำไปใช้บริการไปก่อนน่าจะดีกว่าครับ แต่สำหรับคนที่อยากเรียนว่ายน้ำ ควรนัดเรียนกับครูเค้าเป็นส่วนตัวก็น่าจะดีกว่าเป็นกลุ่มโดยควรแน่ใจว่าทั้งคุณครูและลูกศิษย์ได้ตรวจเช็คสุขภาพแล้วและสระที่นัดไปเรียนนั้นได้มาตรฐานและไม่แออัดจริงๆ
ด้วยรักต่อทุกคน...
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thaipost.net
เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/67037
30 เม.ย.63- รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า ความสำคัญของห้องสุขาในยุค COVID-19
เมื่อวานได้รับการติดต่อโฟนอินจากรายการข่าว พิธีกรได้ถามถึงเหตุผลในการที่หลายหน่วยงานกำลังออกมาตรการให้ร้านอาหารต่างๆ รวมถึงสวนสาธารณะ ต้องทำความสะอาดห้องสุขาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทั้งวัน
จริงอยู่ที่เราทราบกันดีว่าไวรัสโรค COVID-19 นี้ติดเชื้อผ่านทางเดินหายใจ โดยละอองเสมหะ น้ำมูก หรือการหยิบจับสิ่งที่ปนเปื้อนมาขยี้ตา ล้วงแคะแกะเกาจมูกและปาก
เชื้อเข้าไปในร่างกายโดยการติดเชื้อผ่านเซลล์ปอดโดยมีตัวรับ Angiotensin Converting Enzyme 2 (ACE2 receptor) เป็นหลัก
อย่างไรก็ตามพบว่า เซลล์ในอวัยวะอื่นๆ ในทางเดินอาหารก็มีตัวรับนี้เช่นกัน จึงเป็นตัวอธิบายว่า สามารถตรวจพบสารพันธุกรรม RNA ของไวรัสนี้ในอุจจาระได้ แถมตรวจพบได้ยาวนานกว่าในทางเดินหายใจอีกต่างหาก บางรายงานพบว่าตรวจได้ยาวนานเป็นเดือน
แม้ยังไม่มีรายงานใดที่พิสูจน์ชัดๆ ว่าเกิดการติดเชื้อจากอุจจาระได้ แต่ก็ยังคงแนะนำว่าต้องระมัดระวัง เพราะอาจมีการสูดละอองน้ำอุจจาระจากการราดน้ำหรือ flush สุขภัณฑ์ เข้าทางเดินหายใจได้ การรักษาความสะอาดสุขาจึงจำเป็นที่จะต้องทำ
นอกจากนี้ ตัวรับ ACE2 ยังพบในกระเพาะปัสสาวะ อัณฑะ และไตอีกด้วย แต่อดีตถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานวิจัยที่จะสามารถตรวจพบตัวไวรัสในปัสสาวะ และอสุจิได้
แต่...แต่...แต่... ล่าสุดวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมานี้เอง Sun J และคณะจากประเทศจีน เพิ่งตีพิมพ์งานวิจัยที่พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถตรวจพบ"ตัวไวรัส"จากปัสสาวะของผู้ป่วยอายุ 72 ปีที่ติดเชื้อโรค COVID-19 ได้ และได้ทำการทดสอบด้วยว่าไวรัสที่ตรวจพบในปัสสาวะของผู้ป่วยนี้ยังสามารถติดเชื้อไปสู่เซลล์อื่นได้ด้วย นี่จึงเป็นรายงานล่าสุดที่ตอกย้ำให้ทุกคนต้องระมัดระวังเรื่องโอกาสแพร่เชื้อผ่านทางปัสสาวะด้วย
ดังนั้นการทำความสะอาดสุขา นอกจากทำความสะอาดบริเวณที่หยิบจับบ่อยๆ เช่น ประตูห้องสุขา ก๊อกน้ำ ปุ่มกดต่างๆ และตัวสุขภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอุจจาระแล้ว ยังต้องทำความสะอาดที่โถปัสสาวะด้วย
พออ่านรายงานทางการแพทย์ล่าสุดเกี่ยวกับปัสสาวะแล้ว และมาประกอบกับความรู้เกี่ยวกับอุจจาระ ก็น่าจะพอสรุปได้ว่า เพื่อความปลอดภัย ประชาชนเวลาไปใช้ห้องสุขานอกบ้าน ควรใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยด้วย และหมั่นล้างมือบ่อยๆ นะครับ
นอกจากนี้ที่ผมเป็นห่วงมากๆ คือ พนักงานที่ทำความสะอาดห้องสุขา ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษจากนายจ้าง กรุณาจัดสรรอุปกรณ์ป้องกันแก่เค้าให้เพียงพอ และจัดฝึกอบรมโดยเชิญวิทยากรที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการจัดให้มีการตรวจร่างกาย คัดกรองโรค COVID-19 แก่พนักงานอย่างสม่ำเสมอนะครับ เค้าทำงานช่วยเหลือพวกเราทุกคนแล้ว ก็ต้องช่วยกันดูแลเค้าด้วยครับ.
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thaipost.net
เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/64667
21 ส.ค.63 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาดังนี้
สถานการณ์ทั่วโลกล่าสุด 21 สิงหาคม 2563
พรุ่งนี้จะทะลุ 23 ล้านคน
เมื่อวานติดเชื้อเพิ่มอีกถึง 269,033 คน ตายเพิ่มอีก 6,408 คน ยอดรวมตอนนี้ 22,791,986 คน
อเมริกา ติดเพิ่ม 46,856 คน รวม 5,739,998 คน ตายเพิ่มเกินพัน
บราซิล ติดเพิ่ม 45,323 คน รวม 3,501,975 คน ตายเพิ่มเกินพัน
อินเดีย ติดเพิ่ม 68,507 คน รวม 2,904,329 คน ตายเพิ่มเกือบพัน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 4,785 คน รวม 942,106 คน ตายหลักร้อย
แอฟริกาใต้ เม็กซิโก เปรู ติดเพิ่มสี่พัน ห้าพัน เก้าพัน ตามลำดับ เปรูดูจะสถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม ยอดติดต่อวันเพิ่มขึ้นมาก
สหราชอาณาจักร เยอรมัน ฝรั่งเศส อิหร่าน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ติดเพิ่มกันหลักพันถึงหลายพัน ส่วนญี่ปุ่นติดเกือบพัน
หลายประเทศในยุโรป รวมทั้งแคนาดา ปากีสถาน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ติดเพิ่มกันหลายร้อย
ส่วนสิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม ติดเพิ่มกันหลักสิบ
จีน มาเลเซีย และนิวซีแลนด์ ต่ำกว่าสิบ
...สถานการณ์ในภาพรวม การระบาดทั่วโลกยังไม่ดีขึ้น เพิ่ม 1 ล้านทุก 4 วันเช่นเดิมตั้งแต่กรกฎาคมมาสิงหาคม ไวกว่ามีนาคม 9 เท่า...
...ข้อมูลทางการแพทย์ที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค COVID-19 นี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน
เดิมเชื่อว่าติดเชื้อกันผ่านทางไอ จาม ไวรัสเกาะมากับละอองฝอยของน้ำลาย เสมหะ หรือสิ่งคัดหลั่งต่างๆ รวมถึงที่เกาะติดกับสิ่งของในสภาพแวดล้อมและไปจับต้องถูกสิ่งของเหล่านั้น นำมาล้วงแคะแกะเกา
แต่ตอนนี้ชัดเจนขึ้นมากว่า มีหลักฐานบ่งชี้ถึงการแพร่ผ่านทางอากาศ หรือ aerosol transmission ได้ เช่น การระบาดหมู่มากใน call center ประเทศเกาหลี, คณะร้องเพลงในโบสถ์ในประเทศอเมริกา, รวมถึงการติดเชื้อในร้านอาหารในประเทศจีน เป็นต้น
ดังนั้นประชาชนทุกคนจึงควรรับทราบความรู้เหล่านี้ ตามอัพเดตอยู่เสมอ จะได้ระแวดระวัง ปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะไม่ติดเชื้อไวรัสโรค COVID-19 นี้
โรคนี้แพร่ไวกว่าไข้หวัดใหญ่ เป็นแล้วตายได้ ไม่ใช่หวัดธรรมดา และยังไม่มียารักษามาตรฐาน ไม่มีวัคซีนป้องกัน
ตอนนี้ความเสี่ยงที่จะมีการระบาดซ้ำในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากศึกนอกและศึกใน
เชื่อว่าทางศบค.ได้พยายามเต็มที่ที่จะวางแผนอย่างรัดกุม
การนำเข้าชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศจำเป็นต้องทำเฉพาะที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น และระบบการคัดกรองโรค กักตัว รวมถึงติดตาม ต้องเข้มแข็ง จึงจะลดโอกาสการแพร่ระบาดซ้ำได้
ฟองสบู่ท่องเที่ยวจำเป็นต้องยุติไปก่อนอย่างน้อย 6 เดือน เพราะสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงทั่วโลก ไม่มีที่ใดปลอดภัย
นโยบายรัฐควรใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ยืนบนขาตนเอง ลดการพึ่งพาต่างชาติ จึงจะมีโอกาสรอดในสงครามนี้ซึ่งคาดว่าจะกินเวลาอีกอย่างน้อย 6-18 เดือนจึงจะซาลง
ขณะที่ภายในประเทศ ก็ขอให้พวกเราทุกคนป้องกันตัวเองเสมอ มีสติในการดำรงชีวิต อดทน อดกลั้น อดออม และพอเพียง
#ใส่หน้ากากเสมอ
#ล้างมือบ่อยๆ
#อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร
#ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับคนอื่น
#พูดน้อยลง
#พบคนน้อยลงสั้นลง
#คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว
#หากไม่สบายให้หยุดเรียนหยุดงานและรีบไปตรวจรักษา
ประเทศไทยต้องทำได้
ด้วยรักต่อทุกคน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง
Airborne transmission of covid-19. BMJ 2020;370:m3206
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/
เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/75097
26 พ.ค.63- รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผ่านเฟซบุ๊กว่า ทีมวิจัยจากประเทศเยอรมันเพิ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระดับโลก The Lancet ฉบับ 21 พฤษภาคม 2563 นี้เอง
รายงานการตรวจหาไวรัสโรค COVID-19 ในมารดา 2 คน ที่ติดเชื้อโรค COVID-19 เพิ่งคลอดและเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม
ผลการตรวจด้วยวิธี RT-PCR พบว่า มีมารดา 1 คนที่ตรวจพบไวรัสในน้ำนม ในช่วงที่มีอาการโรค COVID-19 อยู่ประมาณ 9 วัน ทั้งนี้สามารถตรวจพบถึง 3 วัน
เค้าทำการคาดประมาณว่ามีไวรัสอยู่ในน้ำนมประมาณ 94,800-132,000 ตัวต่อซีซี
และพบว่าลูกของมารดาคนนี้ก็ติดเชื้อ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าติดจากน้ำนมที่กิน หรือจากทางอื่นๆ
งานวิจัยนี้ตอกย้ำให้มีความระแวดระวัง และยังต้องการการวิจัยในกลุ่มประชากรจำนวนมากกว่านี้เพื่อนำไปสู่การสรุปแนวทางหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการให้นมลูกของมารดาที่ติดเชื้อโรค COVID-19 ต่อไป
แต่ในยุคนี้ที่เรายังไม่มียามาตรฐานและวัคซีนป้องกัน ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์และมีอาการคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ หรือมีอาการอื่นๆ ที่น่าสงสัยว่าจะเป็นโรค COVID-19 เช่น ตาแดง ดมแล้วไม่ได้กลิ่น กินอาหารไม่ได้รสชาติ เป็นต้น ก็น่าจะไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองให้ดีว่าติดเชื้อหรือไม่ จะได้วางแผนในการดูแลรักษาและป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง
Rüdiger Groß et al. Detection of SARS-CoV-2 in human breastmilk. The Lancet. 21 May 2020.
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thaipost.net
เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/66951
12 มิ.ย.63 -รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพซบุ๊ก เรื่องมาตรการที่เหมาะสมสำหรับคอนเสิร์ต
มีเนื้อหาดังนี้
เช้านี้เห็นข่าวในทีวี พูดถึงมาตรการที่รัฐกำลังจะพิจารณาสำหรับคอนเสิร์ตที่อาจอนุญาตให้สามารถจัดขึ้นได้หลังประกาศปลดล็อค
มาตรการที่ออกมา ควรเข้าใจธรรมชาติของกิจกรรมและธรรมชาติของคน
ตรงไปตรงมา...คอนเสิร์ต...ถ้าจะอนุญาตให้จัดแล้ว ขืนไปออกกฎห้ามตะโกน กรี๊ด ร้องเพลงกันดังๆ คงทำไม่ได้แน่นอน และขืนให้ใส่หน้ากาก ก็เชื่อขนมกินได้ว่า มีถอดกันแหงๆ
การจะไปให้รักษาระยะห่าง จะทำได้จริงหรือ
การจะให้กำหนดที่นั่งฟังคอนเสิร์ตห่างๆ กัน ใครจะทำตามได้จริง
การรักษาระยะห่างในคอนเสิร์ต คงจะทำได้ในลักษณะการฟังแบบดนตรีคลาสสิค โอเปร่า หรือการแสดงที่ชูเรื่องความสงบ
ดังนั้น การพิจารณากฎเกณฑ์นั้นสำคัญอย่างยิ่ง
อาศัยความรู้ทางการแพทย์ที่เรามีอยู่คือ...
แค่การคุยกันระยะใกล้ โดยที่เค้าไม่มีไอ ไม่มีจาม การวิจัยพบว่าจะมีละอองน้ำลาย (aerosol) ขนาดราว 1 ไมครอนออกมาเวลาพูดคุยกันได้
แถมจำนวนละอองฝอยขนาดเล็กนี้ มีปริมาณถึง 10 ละอองต่อวินาที
นั่นคือ การคุยกันธรรมดา 10 นาที เรามีโอกาสสัมผัสละอองฝอยจากคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการใดๆ มากถึง 6,000 ละอองฝอย (หากพูดไม่หยุดเลย 😊)
แต่หากคุยแบบเสียงดัง ตะโกน ตะเบ็ง จำนวนละอองฝอยที่ออกมาจะมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังเคยมีคนทำการวิจัยไว้ด้วยว่า ละอองฝอยเหล่านี้สามารถนำพาเอาไวรัสไข้หวัดใหญ่ไปได้ ซึ่งก็เป็นไปได้สำหรับโควิด-19 เช่นกัน
แม้จะมีปัจจัยอื่นๆ แวดล้อมที่อาจส่งผลต่อโอกาสแพร่เชื้อด้วย เช่น การถ่ายเทอากาศ ทิศทางและความแรงของลม ฯลฯ
เมื่อเราทราบข้อมูลความรู้ข้างต้น เราจึงน่าจะทราบได้ดีว่า ถ้ามีคนติดเชื้อไวรัสอยู่ในคอนเสิร์ต ย่อมมีความเสี่ยงในการแพร่กันได้มาก
จุดสำคัญจึงอยู่ที่...
1. การคัดกรองอาการ ตรวจประวัติไม่สบาย การเดินทาง อาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไข้ ตาแดง ท้องเสีย ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ถ้ามี ก็ไม่ควรเข้าไปในงาน
2. จิตสำนึกของทุกคนที่เข้ามาในคอนเสิร์ต ประเมินตนเองให้ดีตามความจริง ไม่ปิดบัง
3. ระบบประกันความเสี่ยงจากการจัดคอนเสิร์ต ผู้จัดควรมีประกันสำหรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อผู้เล่น ผู้ฟัง และสังคม ซึ่งเดิมไม่เคยมีมาก่อน
4. หลังคอนเสิร์ต คนเข้าร่วมงานคอนเสิร์ตทุกคนควรหมั่นประเมินอาการตนเอง หากภายในสองสัปดาห์มีอาการไม่สบาย ให้รีบไปปรึกษาแพทย์
ส่วนตัวแล้วคิดว่า มาตรการที่รัฐคลอดออกมา ควรสอดคล้องกับธรรมชาติของงาน เราคงห้ามไม่ได้ทุกอย่าง และหากรู้ว่ามีความเสี่ยง ก็ควรกระตุ้นให้คนทราบถึงความเสี่ยง และเตรียมพร้อมจัดการอย่างทันท่วงทีครับ
ด้วยรักต่อทุกคน
อ้างอิง
Asadi S et al. The coronavirus pandemic and aerosols: Does
COVID-19 transmit via expiratory particles? Aerosol Science and Technology. 3 April 2020. DOI: 10.1080/02786826.2020.1749229
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thaipost.net
เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/68469
หน้าที่ 6 จาก 147