‘หมอธีระ’ เตือนโควิดระบาดหนักมาก ติดได้ทั้งในอาคาร-ที่สาธารณะ ย้ำใส่หน้ากากสำคัญสุด ชี้ส่วนใหญ่ตกม้าตาย ใส่ไม่ถูก-มีพฤติกรรมเสี่ยง

1.ใส่ให้ถูกต้อง ปิดปาก ปิดจมูก ไม่มีร่องข้างจมูกและข้างแก้ม 

2.หากหน้ากากอนามัยไม่แนบสนิทกับใบหน้า ต้องใส่หน้ากากผ้าทับไว้ข้างนอก เพื่อกดให้หน้ากากอนามัยด้านในชิดกับใบหน้า

3.คนที่ทำงานเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก ควรใช้ N95 หรือเทียบเท่า และตรวจสอบความฟิตกับใบหน้าก่อนใช้

4.ส่วนใหญ่ตกม้าตายด้วยเหตุผลเพียง 2 เรื่องคือ ใส่ไม่ถูกต้องและมีพฤติกรรมเสี่ยงขณะนั้น และถอดหน้ากากตอนอยู่ใกล้ชิดกับคนอื่น เช่น กินอาหาร/ดื่มร่วมกันทั้งในและนอกที่ทำงาน ไปงานเลี้ยงสังสรรค์ ออกกำลังกาย สนทนาชิทแชท ฯลฯ

ส่วนการติดในครัวเรือนนั้นป้องกันได้ยาก ทำได้เพียงคอยสังเกตอาการผิดปกติ หรือใครไปมีประวัติเสี่ยงมา ก็ควรตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วรีบแยกจากสมาชิกในครัวเรือน

ย้ำว่าระบาดหนักมากตอนนี้ ติดกันได้หมดทั้งในอาคาร หรือในที่สาธารณะ

 

การฉีดวัคซีนช่วยเรื่องลดโอกาสป่วยรุนแรง และเสียชีวิต แต่ไม่การันตี 100% หากไม่ป้องกันตัว จะติดเชื้อได้ ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID การใส่หน้ากากคือหัวใจสำคัญที่สุด

ข้อมูลจาก https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_7151153

 

 

'หมอธีระ' ยกงานต่างประเทศ บอกโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ติดเร็วกว่าสายพันธุ์ธรรมดา ชี้วัคซีน mRNA ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ แต่ฉีดดีกว่าไม่ฉีด

26 ม.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ประจำวันที่ 26 มกราคม 2565 ว่าทะลุ 358 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 3,001,336 คน ตายเพิ่ม 8,416 คน รวมแล้วติดไปรวม 358,670,890 คน เสียชีวิตรวม 5,631,996 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อเมริกา อินเดีย อิตาลี และบราซิล จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.72 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.8

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 53.31 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 43.13 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...อัพเดต 2 เรื่องน่ารู้
1. Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2 ข้อมูลจาก Prof.Moritz Gerstung จาก German Cancer Research Center
พบว่าจำนวนคนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของเยอรมนี เป็น BA.2 มากกว่าเดลตา (5% vs 2-3%) หากเทียบอัตราการขยายตัวของการระบาดแต่ละสายพันธุ์ จะพบว่า Omicron BA.1 (สายพันธุ์แรก) จะเร็วกว่าเดลตาราว 15% แต่ Omicron สายพันธุ์ BA.2 นี้จะเร็วกว่าเดลตาราว 20% ตอนนี้เมืองที่มี BA.2 มากสุดคือ กรุงเบอร์ลิน มีสัดส่วนของ BA.2 ถึง 30%

2.อัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจาก mRNA vaccines
Oster ME และคณะ ได้ตีพิมพ์การศึกษาติดตามผลหลังฉีดวัคซีน mRNA (Pfizer/Biontech: BNT162b2 และ Moderna mRNA-1273) ในวารสารวิชาการแพทย์สากล JAMA วันที่ 25 มกราคม 2565 ตั้งแต่ธันวาคม 2563 ถึงสิงหาคม 2564 มีจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป จำนวน 192 ,405 ,448 คน ได้รับวัคซีนไป 354 ,100 ,845 โดส มีรายงานจำนวนคนที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบทั้งหมด 1,626 คน อัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น พบมากในช่วงอายุ 12-15 ปี (70.7 รายต่อการฉีด BNT162b2 จำนวน 1 ล้านโดส) โดยสูงสุดในวัยรุ่นเพศชายอายุ 16-17 ปี (105.9 รายต่อการฉีด BNT162b2 จำนวน 1 ล้านโดส) และในผู้ชายอายุ 18-24 ปี (52.4 รายต่อการฉีด BNT162b2 จำนวน 1 ล้านโดส และ 56.3 รายต่อการฉีด mRNA-1273 จำนวน 1 ล้านโดส) ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบส่วนใหญ่ได้รับการดูแลรักษาจนหายดี โดยมักใช้ยาต้านการอักเสบ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs: NSAIDS)

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า ประโยชน์ที่ได้จากการฉีดวัคซีนนั้นมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เพราะหากมีการติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเกิดความเสี่ยงต่อการป่วยและการเสียชีวิต รวมถึงผลแทรกซ้อนต่างๆ ตามมามากกว่า

อ้างอิง
Oster ME et al. Myocarditis Cases Reported After mRNA-Based COVID-19 Vaccination in the US From December 2020 to August 2021. JAMA. 2022;327(4):331-340.

 

12 มี.ค.64 - นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กรายงานสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก 12 มีนาคม 2564 มีรายละเอียดดังนี้

ทะลุ 119 ล้านไปแล้ว

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 478,346 คน รวมแล้วตอนนี้ 119,045,435 คน ตายเพิ่มอีก 10,026 คน ยอดตายรวม 2,639,736 คน

อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 62,769 คน รวม 29,909,515 คน ตายเพิ่มอีก 1,684 คน ยอดตายรวม 543,305 คน อีกสองวันจะมียอดติดเชื้อรวมแตะสามสิบล้านคน
อินเดีย ติดเพิ่ม 21,592 คน รวม 11,305,877 คน

บราซิล ติดเพิ่ม 75,412 คน รวม 11,277,717 คน ยอดเสียชีวิตวันนี้สูงที่สุดในโลก 2,233 คน สอดคล้องกับข่าวที่เผยแพร่กันช่วงนี้ว่าระบบสุขภาพของบราซิลไม่สามารถแบกรับภาระการดูแลรักษาได้ พรุ่งนี้บราซิลจะแซงอินเดียขึ้นเป็นอันดับสองของโลก
รัสเซีย ติดเพิ่ม 9,270 คน รวม 4,360,823 คน

สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 6,753 คน รวม 4,241,677 คน  

อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า

ในขณะที่แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพัน

เกาหลีใต้ ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนเมียนมาร์ จีน ไทย ฮ่องกง ออสเตรเลีย และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่สิงคโปร์ เวียดนาม และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

วิเคราะห์ภาพรวมขณะนี้ อเมริกา สหราชอาณาจักร รัสเซีย อินเดีย มีการระบาดที่มีแนวโน้มทรงตัว ดีขึ้นกว่าปลายปีก่อน แต่กลุ่มประเทศยุโรปอื่นๆ นั้นมีสถานการณ์ค่อนข้างแย่ลง อย่างเช่น ฝรั่งเศส อิตาลี โปแลนด์ โรมาเนีย เช็ค รวมถึงประเทศในทวีปอื่นๆ เช่น ตุรกี เป็นต้น

เมื่อวานนี้วัคซีนของ Novavax มีการประกาศอัพเดตข้อมูลผ่าน press release ของบริษัท โดยเผยแพร่สรุปผลการวิจัยระยะที่ 3 ในสหราชอาณาจักร ซึ่งทำการศึกษาในคนอายุ 18-84 ปี โดยมีคนอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปราว 27% สาระสำคัญก็สอดคล้องกับที่เคยมีการเผยแพร่มาก่อนหน้านี้ โดยมีผลการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ถึง 96% และสามารถป้องกันในกรณีที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ทั้งสายพันธุ์สหราชอาณาจักรได้ 86% และแอฟริกาใต้ 55%

ความเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้นทำให้เราเห็นชัดเจนถึงความจริงจังจริงใจ และมุ่งมั่นที่จะปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน การเลือกใช้วัคซีนที่มีสรรพคุณสูง ทั้งเรื่องการป้องกันการติดเชื้อ การป้องกันการเจ็บป่วย การลดความรุนแรงของโรคและอัตราการตาย รวมถึงผลต่อสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ต่างๆ และมีความปลอดภัย จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และเป็นการพิสูจน์ความสามารถในการบริหารจัดการระดับประเทศ

ข้อมูลของวัคซีนชนิดต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการเปิดเผย ให้สืบค้น ตรวจสอบได้อย่างชัดเจน เพื่อยืนยันหลักฐานวิชาการในเรื่องสรรพคุณและความปลอดภัย

ที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกประเทศคือ การต้องไม่ปิดกั้น และต้องพยายามสนับสนุนให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงอาวุธป้องกันโรคที่ดี มีสรรพคุณสูง ทัดเทียมนานาประเทศ ไม่ทำแบบปากอย่างใจอย่างและกระทำอีกอย่าง

การรับหรือไม่รับวัคซีนใดๆ นั้น เป็นสิทธิของประชาชนแต่ละคน โดยควรได้รับการบอกกล่าวเล่าแจ้งเกี่ยวกับข้อมูลโดยละเอียด และมีข้อมูลให้เข้าถึงได้จริง ไม่ใช่โฆษณาเพียงลมปากการันตีโดยคนหรือหน่วยงานใดเพียงเท่านั้น

หากพัฒนาให้คนในสังคมมีสมรรถนะในการรู้เท่าทัน เข้าถึง สืบค้น และนำความรู้ที่ถูกต้องมาเป็นแสงส่องทางประกอบการตัดสินใจตามหลักเหตุและผลแล้ว ก็จะทำให้สังคมเราสามารถต่อสู้กับภัยคุกคามในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ถูกหลอกลวงหรือตกกับดักได้โดยง่าย

สถานการณ์ปัจจุบันของเรา ยืนยันว่ายังไม่ปลอดภัย มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดครับ

ด้วยรักและปรารถนาดี.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/95812

16 พ.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทะลุ 521 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 310,275 คน ตายเพิ่ม 532 คน รวมแล้วติดไปรวม 521,144,746 คน เสียชีวิตรวม 6,288,226 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ไต้หวัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อิตาลี และเกาหลีใต้ เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 71.72 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 76.31 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 49.25 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 35.15

…สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ถึงแม้กระทรวงสาธารณสุขจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนเสียชีวิตที่รายงานนั้นลดลงก็ตาม ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 27.27% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

…เปรียบเทียบเรื่องการเสียชีวิต ณ ปัจจุบัน จำนวนเสียชีวิตรายวันต่อประชากรล้านคนของไทยเรานั้น ยังมีอัตราเฉลี่ยรอบสัปดาห์ (7 days rolling average) ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกและทวีปเอเชีย และหากเทียบกับกลุ่มประเทศ upper middle income แล้ว เรายังสูงกว่า

อัตราการเสียชีวิตส่วนเกินจากทุกสาเหตุ (excess mortality rate) ณ 1 พฤษภาคม 2565 เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้ามีการระบาด จะพบว่ายังสูงถึง 21%

…การอยู่ร่วมกับโรค COVID-19

1.ควรอยู่อย่างรู้เท่าทัน ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อให้ตนเองและครอบครัวมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต

2.ประเมินความเสี่ยงในการใช้ชีวิต เลือกรับความเสี่ยงที่อยู่ในวิสัยที่ตนเองรับได้และจัดการได้ โดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่คนใกล้ชิด และคนอื่นในสังคม

3.ไม่หลงงมงาย แสร้งว่าสงครามโรคจบแล้ว ทั้งที่ไม่จบ

4.ไม่ว่าพื้นที่ใด ที่ไม่สามารถจัดการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ย่อมส่งผลให้มีการระบาดที่รุนแรง ยาวนาน กระจายทั่วไปจนจับต้นชนปลาย หาต้นเหตุได้ยากนั้น สะท้อนถึงการที่พื้นที่ต่างๆ เป็นแดนดงโรค เป็นพื้นที่โรคชุกชุม ประจำถิ่นไปโดยปริยายแล้ว หาทางกำจัดออกไปได้ยาก

5.โรคประจำถิ่น ไม่ได้แปลว่าไม่อันตราย ไม่รุนแรง หรือกลายเป็นหวัดธรรมดา มีมากมายหลายโรคที่ประจำถิ่นทั่วโลก แต่ทำให้ป่วยหนัก เสียชีวิตได้มาก

“Please choose prudently to live with certain risks, but do not pretend the threat is gone” เลือกดำรงชีวิตอย่างรู้เท่าทัน แต่อย่าเสแสร้งทำเป็นหลอกตัวเองว่าปลอดภัยไร้กังวล

…ส่วนตัวแล้ว แนะนำว่าการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ คือหัวใจสำคัญในการประคับประคองให้อยู่รอด ลดความเสี่ยงในการดำรงชีวิตประจำวัน จนกว่าสถานการณ์ทั่วโลกจะดีขึ้น

โควิด…ไม่จบแค่หาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ได้.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/142449/

8 พ.ย. 2563 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 

 

สถานการณ์ทั่วโลก 8 พฤศจิกายน 2563...

ทั่วโลกแตะหลัก 50 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว ใช้เวลาราว 21 วัน

เวลาที่ใช้ในการติดเพิ่มทุก 10 ล้านคนนั้นลดลงเรื่อยๆ จาก 43 มา 38 มา 31 และมา 21 วัน เป็นสัญญาณที่ไม่ดีเลย

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มอีก 462,499 คน รวมแล้วตอนนี้ 50,071,869 คน ตายเพิ่มอีก 6,870 คน ยอดตายรวม 1,254,507 คน 

อเมริกา ติดเพิ่ม 124,398 คน รวม 10,155,482 คน ตายเพิ่มอีกมากถึง 1,188 คน ขณะนี้ตายไปแล้ว 243,127 คน 

อินเดีย ติดเพิ่ม 39,230 คน รวม 8,500,003 คน

บราซิล ติดเพิ่ม 5,000 คน รวม 5,636,181 คน

รัสเซีย ทำลายสถิติเดิม ติดเพิ่มอีกถึง 20,396 คน รวม 1,753,836 คน   

อันดับ 5-10 ตอนนี้ ฝรั่งเศส สเปน อาร์เจนตินา โคลอมเบีย สหราชอาณาจักร และเม็กซิโก บางประเทศติดถึงหลายหมื่นต่อวัน

อิตาลี เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมาร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายหมื่น

ตอนนี้อิตาลีติดเชื้อแต่ละวันหลายหมื่นคน คาดว่าอาจแซงเปรูขึ้นอันดับ 11 ของโลกในวันพรุ่งนี้ได้

หลายต่อหลายประเทศในยุโรป ก็ยังติดกันหลักร้อยถึงหลักพัน

ส่วนจีน และเกาหลีใต้ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย เวียดนาม และนิวซีแลนด์ยังมีติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

...สถานการณ์ในเมียนมาร์ ทะลุหกหมื่นไปแล้ว เมื่อวานติดเพิ่ม 1,071  คน ตายเพิ่มอีก 20 คน ตอนนี้ยอดรวม 60,348 คน ตายไป 1,396 คน อัตราตายตอนนี้ 2.3% 

ในขณะที่ต้องจับตาดูคือ ญี่ปุ่น ขณะนี้ติดเชื้อต่อวันเกินพันคนมาแล้ว การระบาดดูแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น

หากโรค COVID-19 ยังคงอัตราเร็วแบบนี้ ปลายปีเราอาจมีตัวเลขสะสมอยู่ที่ราว 80 ล้านคน แต่หากไวรัสทวีความรุนแรงขึ้นแบบแนวโน้มที่ผ่านมา โดยประชาคมโลกไม่ได้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ก็อาจมีสิทธิแตะหลักร้อยล้านได้
หวังใจลึกๆ ไว้ว่า มาตรการเข้มข้นที่หลายประเทศกำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดังที่เห็นในยุโรปตอนนี้ น่าจะมีส่วนชะลอการระบาดให้ช้าลงได้ในขณะที่เรารอดูผลการศึกษาวัคซีนป้องกันโรค ที่จะออกมาช่วงปลายปีนี้
ยังยืนยันเช่นเดิมครับว่า เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ ไม่ว่าจะชาติใดก็ตาม เพราะเสี่ยงกันถ้วนหน้า

หลายเคสที่ผ่านมา ติดเชื้อก็หาต้นตอไม่ได้ 

ชีวิตจริงก็มีสาเหตุเพียง ติดโดยนำเข้ามาจากต่างประเทศ หรือระหว่างเดินทาง หรือภายในประเทศ

หนทางป้องกันคือ "ไม่นำเข้ามาจากต่างประเทศโดยไม่จำเป็น" และ"ส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคภายในประเทศอย่างทั่วถึง" 

แต่หากเราสังเกต จะพบว่า ที่ทำๆ กันอยู่นั้น ทั้งสองเรื่องดันไม่ได้ทำในแบบที่ควรทำ แถมดันพยายามจะลดวัน ทำให้ปราการกักตัวมาตรฐานอ่อนลงด้วยซ้ำ

ขอให้เราทุกคนรักตัวเอง รักครอบครัว ป้องกันตัวเสมอนะครับ

ด้วยรักต่อทุกคน

 

บทความจาก https://www.thaipost.net/main/detail/83141

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ

กิจกรรม

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
2999194

มี 53 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซด์นี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา

นโยบายใช้งานคุกกี้