25 ต.ค.2563 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า

โควิด 19 กับภูมิคุ้มกันกลุ่ม herd immunity เพื่อให้โรคสงบ 

ภูมิคุ้มกันกลุ่มหรือที่เรียกว่า herd immunity คือ ประชาชนส่วนใหญ่ ต้องมีภูมิต้านทานต่อ โควิด 19 โดยการติดเชื้อโรคแล้วหายจากโรค มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น 

หรือเกิดจากการฉีดวัคซีน เป็นจำนวนมากที่เพียงพอ โรคก็จะไม่ระบาด

เปรียบเสมือนคนที่มีภูมิต้านทานแล้วเป็นแกะขาว คนที่ไม่มีภูมิต้านทานเป็นแกะดำ ถ้าในฝูงแกะ มีแกะขาวเป็นส่วนใหญ่ 

เชื้อโรคหรืออันตรายที่จะลุกล้ำเข้าไปหาแกะดำ จะมีแกะขาวล้อมรอบอยู่ เข้าไปได้ยาก

การเกิดภูมิต้านทานในแต่ละโรคในการป้องกันหรือให้สงบ 

อัตราส่วนของประชากรที่มีภูมิต้านทานแล้วแตกต่างกัน โรคที่ติดต่อกันง่ายมากเช่น โรคหัด ติดต่อทางอากาศ 

จำเป็นที่จะต้องมีภูมิต้านทานกลุ่ม ในอัตราที่สูงมากมากกว่าร้อยละ 90 ขึ้นไป 

โรคไข้หวัดใหญ่อาศัยภูมิต้านทานเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ก็ไม่เกิดการระบาดของโรค 

จากการประมาณการว่า โควิด 19 อาศัยภูมิคุ้มกันกลุ่มประมาณร้อยละ 60  หรือกล่าวว่าถ้าเราปล่อยให้ประชากรติดเชื้อไป 60% ก็จะสงบ หรือต้องสร้างภูมิต้านทานขึ้นด้วยการให้วัคซีนอย่างน้อย 60% ของประชากร โรคก็จะสงบ แต่ไม่ใช่หมายความว่าโรคหมดไป เพียงแต่ไม่เกิดการระบาด แต่อาจจะพบได้ประปราย 

ดังนั้น โควิด 19 จะสงบ จึงมีการคาดการณ์ว่าใช้เวลาประมาณ 2 ปี 

ประชากรส่วนใหญ่จำนวนหนึ่งติดโรค และมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น และอีกส่วนหนึ่งได้รับวัคซีนสร้างภูมิต้านทาน เมื่อรวมกันแล้วมากกว่าร้อยละ 60  ส่วนประชาชนที่เหลือ ก็ยังหากเป็นโรคได้ แต่ไม่ได้ถึงกับระบาดมากมาย 

โรคนี้ก็จะเป็นโรคประจำถิ่น แต่ละปีก็ยังอาจพบได้ และยังคงต้องให้วัคซีนในการสร้างภูมิต้านทานเสริมอยู่ตลอด หรือให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาแล้วยังไม่มีภูมิต้านทาน 

ให้ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ เหมือนอย่างที่เราให้วัคซีนในเด็ก  ให้เด็กส่วนใหญ่ไม่เป็นโรคหัด ไม่เป็นโรคโปลิโอ

โควิด 19 ยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน วิถีชีวิตใหม่ ยังมีความจำเป็น ไม่น้อยกว่า 2 ปีแน่นอน

จนกว่าเราจะสร้างภูมิต้านทานให้ประชากรของเรา ได้ในปริมาณที่สูงเกินกว่าภูมิคุ้มกันกลุ่ม

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/81679

12 พ.ค.63- ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ็ก Yong Poovorawan หัวข้อ โควิด-19 เสียงเรียกร้องจากผู้ปกครอง และครู เรื่องการเปิดเทอม โดยระบุรายละเอียดว่า

ต้องยอมรับว่า โควิด-19 มีผลต่อการเรียนการสอนของเด็กนักเรียนทั่วโลก โรงเรียนต่างๆทั่วโลกได้ปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เกือบทั้งหมด ขณะนี้มีบางประเทศกำลังจะทดลอง เริ่มเปิดเทอมหรือได้มีการเปิดเทอมบ้างแล้วในขั้นแรก

 

สิ่งที่สำคัญจะต้องเข้าใจว่า โควิด-19 เป็นกับเด็ก ความรุนแรงจะน้อยมาก แต่เด็กนักเรียนจะเอาเชื้อกลับบ้าน และแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว superspread ไปยังบุคคลในบ้าน โดยเฉพาะถ้ามีผู้สูงอายุ ก็จะมีผลกระทบมาก

มาตรการในการเปิดเทอม จึงมีความสำคัญมาก ในการควบคุมโรคระบาด เมื่อเกิดการระบาดของโรค ก็มีความสำคัญกับประชาชนทั่วไป

การศึกษาเองก็มีความสำคัญกับเด็กนักเรียน ทุกอย่างจะต้องอยู่บนความสมดุล

ระบบสาธารณสุขจะต้องรองรับได้ ถ้ามีผู้ป่วยจำนวนมาก ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ได้จะมีความสูญเสียมาก

การวางแผนเปิดเทอม จะต้องมั่นใจว่า ควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดของโรคในเด็กนักเรียนได้

ในเด็กโต การเรียนสามารถเรียนที่บ้าน ทางออนไลน์ และไปทำการบ้านที่โรงเรียน เป็นครั้งคราวจึงมีความเป็นไปได้สูง

ในเด็กเล็ก จำเป็นจะต้อง แบ่งกลุ่มเด็ก เรียนเป็นวัน เป็นผลัด เพราะถ้ามีการระบาดของโรค ก็จะกระทบเป็นกลุ่มหรือ ผลัด ที่มีจำนวนคนน้อยกว่า และควบคุมได้

ควรมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน และกระจายอำนาจให้แต่ละท้องถิ่นดูแลตามความเหมาะสม

แต่ทุกคนทั้งครู ผู้ปกครองและนักเรียน จะต้องเข้าใจ และตระหนักในผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ขณะนี้เข้าใจว่าทุกคนเป็นห่วงเรื่องการศึกษาของเด็ก แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นห่วงเรื่องผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรค ถ้าไม่สามารถควบคุมได้จะเกิดผลเสียอย่างใหญ่หลวงตามมา.

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thaipost.net

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/65684

 

23 มี.ค.64-นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ตนจะฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 2 ส่วนกรณีที่องค์การเภสัชกรรม ได้ฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัคร ซึ่งเป็นวัคซีนที่คนไทยผลิตเองจากเชื้อตายโควิด-19 นั้น เป็นวัคซีนที่ร่วมพัฒนากับสถาบันทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเท่าที่ฟังจากนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ว่าวัคซีนตัวนี้ทำมาจากเชื้อตายของโควิด-19 ที่ใช้ไข่ไก่สด ซึ่งทางองค์การเภสัชกรรมมีเทคโนโลยีนี้ และมีโรงงานวัคซีนนี้อยู่แล้ว จึงได้มีการพัฒนาและวิจัยขึ้นมา จนมาถึงขั้นที่ได้ฉีดในอาสาสมัคร จำนวนกว่า 100 คน ซึ่งกว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้เขาก็ต้องผ่านเฟส 1 เฟส 2 เฟส 3 มาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนและเป็นไปตามมาตรฐานทุกอย่าง

นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้ เราก็จะมีวัคซีนไทยแลนด์ ซึ่งคนที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีก็คือคนไทย โดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งการพัฒนาก็จะเป็นไปในหลายรูปแบบ ทั้งการผลิตวัคซีนเองและมาฉีดให้คนไทยเอง โดยทราบว่าความสามารถในการผลิต คือ 30 ล้านโดส ต่อปี นี่คือเบื้องต้น

 

แต่ถ้ามันเวิร์ค กำลังการผลิตเราสามารถขยายได้ในอนาคต ขนาดบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ยังผลิตได้ตั้ง 200 ล้านโดส ต่อปี สิ่งเหล่านี้คือการทำให้คนไทยทุกคนมั่นใจได้เลยว่าวันนี้วัคซีน เราไม่จำเป็นต้องพูดถึง ไม่ใช่ประเด็นหลักแล้ว ตอนนี้มาคิดแค่ว่าจะทำอย่างไรที่จะเปิดประเทศ ถ้าวัคซีนมาเราต้องคิดแล้วว่าต้องเอาไปจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวก่อน เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย ตามเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ เจ้าหน้าที่ด่านหน้าเราสามารถควบคุมได้หมดแล้ว เมื่อแอสตราเซเนกาเข้ามา ก็จะกระจายไปยังคนไทยทุกคน ซึ่งเป็นไปตามแผนที่เราได้วางไว้ ไม่มีอะไรดีเลย์หรือล่าช้าเลย

เมื่อถามว่า รัฐบาลสนับสนุนการผลิตวัคซีนของทางองค์การเภสัชกรรมด้วยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตอนนี้องค์การเภสัชกรรมใช้เงินของตัวเองอยู่ ถ้าสำเร็จเขาก็คงมาขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาให้การสนับสนุน.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/96958

 
8ก.ย.64-นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด19 ให่สัมภาษณ์ในหัวข้อ "ใช้ชีวิตมีคุณภาพอย่างไร ...ถ้าโควิด19ยังแพร่ระบาดไปอีกนาน"ว่า  ถ้าดูจากตัวเลข การติดเชื้่อตอนนี้วันละ 1.4-.1.5 หมื่นราย อาจน่าตกใจเมื่อไปเทียบกับ เม.ย.ปี 63 ที่เราติดเชื้ออยู่แค่หลักพัน อย่างไรก็ตาม แต่ขณะนี้ แนวโน้มโควิดทั้งโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น เหตุผล 2ปัจจัย คือ 1. โควิดสายพันธุ์เดลต้า ได้กระจายทั่วโลก 80-90 % และไทยกระจาย  90%  เชื้อนี้กระจายได้เร็วและรุนแรง  อยากชี้ให้เห็นเชื้อได้ไปทุกที่ ทำให้เกิดการระบาดคนใกลช้ชิด คนในครอบครัว สถานที่ทำงาน ในชุมชน  เพราะมีการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)สุ่มตรวจข้อมูลสอดคล้องที่อู่ฮั่นระบาด  ที่พบคนติดเชื้อไม่มีอาการ  พอไปตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ 5-6 เท่า ของผู้ติดเชื้อยืนยัน เช่นตอนนี้กรุงเทพฯ ติดเชื้อสะสม 2.5แสนราย แต่จริงๆ ต้องคูณเข้าไปอีก 5-6 เท่า เท่ากับคนกทม.ติดเชื้อประมาณ 1.2 ล้านคน และผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ทั้งประเทศตัวเลขก็ประมาณนี้เช่นกัน โดยตัวเลขของเราสะสมยืนยันทั้งประะทเศอยู่ที่ 1.2 ล้านคน เมื่อคูณ 5-6 เท่า เท่ากับเรามีการติดเชื้อ6-7 ล้านคน โดยเป็นการติดเชื้อแฝงและสามารถแพร่เชื้่อให้เราได้  เป็นเหตุผลทำให้เกิดการติดในครอบครัว คนใกล้ชิด 

 

และอีกเหตุผลเรื่องวัคซีน ชัดเจนว่าแม้แต่วัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในโลกก็ยังติดเชื้อได้  อย่าง อิสราเอล และอเมริกาฉีด ครบ 2เข็ม ไป 60-70% แล้วแต่ตอนนี้ติดเชื้อใหม่เต็มไปหมด ประชาชนจึงต้องทำความเข้าใจว่าวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้หมด ป้องกันได้แค่ 50-60 % แต่วัคซีนทุกตัวสามารถป้องกันเจ็บป่วยรุนแรง ป้องกันตายได้ 80-90 %  ซึ่งเป็นการปกป้องระบบสาธารณสุขของเราไม่ให้รับภาระเกินไป ซึ่งตอนนี้ ระบบสาธารณสุขของเราหลังแอ่นมาก เตียงไม่พอ ตายวันล2 -3 ร้อยคน และทั่วโลก เมื่อดูกราฟ ตอนนี้ติดเชื้่อ 5-6แสนรายต่อวัน แต่อัตราการตายน้อยลง เพราะส่วนใหญ่ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อย่างในอังกฤษ ฉีดกลุ่มเสี่ยง  90%  การตายก็น้อยลง


นพ.อุดม กล่าวอีกว่า สิ่งที่กล่าวมานี้่ เป็นภาพอยากให้คนไทยได้เห็น ว่าเราจะคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว จะให้ล็อกดาวน์  เศรษฐกิจก็คงไม่ไหว  เดือนละแสนล้านที่เราเสียหาย  เราต้องมาปรับใจใหม่ เป็นเหตุผล ทำให้เราต้องยอมให้มีการยอมผ่อนปรน แม้การติดเชื้อตัวเลขยังเป็นหมื่น แม้เราจะใช้มาตรการเต็มที่ก็ลงมานิดเดียว เราต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ ถ้าเข้มสุขภาพมากไป เศรษฐกิจก็จะเสียหาย ดังนั้น เราต้องดูองค์รวมภาพใหญ่ ให้เกิดความสมดุล จึงต้องมีการผ่อนปรน แต่มีเงื่อนไขว่าทุกองค์กรต้องปฎิบัติตาม กระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เป็นเรื่องต้องแลกกัน 


"ขณะนี้ เป้าหมายควบคุม โควิด เปลี่ยนไปจากเดิม  จากเดิมเราต้องการให้ตัวเลขเป็น 0 ผมบอกได้เลยว่าไม่มีทางเป็น  0 แน่นนอ แต่เราจะต้องปรับเป้าหมาย คือ ต้องทำให้ตัวเลขน้อยลงและให้เราอยู่กับมันได้ และดำเนินชีวิตตามปกติวิถีใหม่ "


นพ.อุดมกล่าวอีกว่า การปรับกลยุทธิ์ของรัฐบาล มีเเป้าหมย 2 ประการ คือ 1 .ฟื้นฟูประเทศ 2.  ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ 3. เปิดประเทศให้ได้ เป็นการเปิดในวงกว้าง ไมใช่แค่ให้คนต่างประเทศเข้ามาอย่างเดียว แต่ต้องให้คนไทยสามารถไปเที่ยว หรือไปโน่นไปนี่ได้ สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ กลับไปเยี่ยมพ่อแม่ได้  อย่างไรก็ตาม แต่การจะไปสู่ 3เป้าหมายใหม่ เราจำเป็นต้องปรับใจใหม่   


"กลยุทธ์ ของสาธารณสุข ต้องปรับไปจาก ปี 63  ที่เราต้องการหยุดการติดเชื้อ หรือทุเลา ใช้การล็อกดาวน์ เร่งคัดกรองใช้ตรวจแบบPCR   มีการสืบค้นหาผู้เสี่ยงสัมผัส  มากักกันหรือรักษา ซึ่งปี  63 เราทำได้ดี แต่ปี 64 เปลี่ยนไป กลยุทธิ์ใหม่คือ เน้นฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ป้องกันได้ 50-60 % เน้นลดการเจ็บป่วยรุนแรง เราเร่งหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เร่งฉีดประชาชนให้มาก 70 % ตอนนี้เรามาถึงครึ่งหนึ่งของเป้าในเข็ม 1 และได้   30 %ในเข็ม 2  "นพ.อุดมกล่าว

ที่ปรึกษาศบค.กล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่าไม่ได้มีการตรวจน้อยลง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวันละ 5-6 หมื่น แต่คำว่าตรวจน้อยคือ ไปตรวจด้วย ATK  มากขึ้น แต่องค์การอนามัยโลกกำหนดว่า ถ้ายืนยันติดเชื้อต้องตรวจจากPCR  ส่วน ATK ไม่ยืนยัน ตอนนี้เราตรวจATK  เพื่อแก้ปัญหาคอขวด  ให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจได้ง่าย ตรงนี้ ถ้ารวมผล ATK เฉลี่ยวันละ 3พัน บวกกับ ที่ยืนยันวันละ  1.5 หมื่นราย  เท่ากับมีผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละ 1.7 หมื่น ราย  


ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน นพ.อุดม กล่าวว่า ในเดือนก.ย.จะได้แอสตร้า 7.3 ล้านโดส และเดือนหน้า แอสตร้าฯ 11-13 ล้าน และไฟเซอร์ เข้ามา 29 ก.ย.อีก 2 ล้านโดส  ดังนั้น 3เดือนข้างหน้า จนสิ้นปีเราจะมีวัคซีน เดือนละ20 ล้าน เราเร่งฉีด 8-9แสนต่อวัน หรือวันละล้านโดส  ก็คาดว่าเราสามารถทำได้ 

 

"ผมยืนยันว่า ถ้าไม่มีอะไร เปลี่ยนแปลง ภายในธ.ค. เราฉีดวัค ได้ตามเป้า 2เข็ม และฉีดเข็ม3ได้อีกด้วย ซึ่งผลการศึกษา พบว่าหลังฉีดไป 3เดิอน วัคซีนทุกตัวภูมิจะลดลง  ถ้าตกมากก็สู้เดลต้าไมไหว เราจึงต้องฉีดเข็ม 3 เราวางแผนเรียบร้อยแล้ว  อย่างสัปดาห์ก่อนมีข้อมูลจากต่างประเทศว่า พอฉีดไฟเซอร์ ภูมิขึ้น 90 แอสตร้าขึ้น 80   พอไปเดือนที่  4 ไฟเซอร์ ตกกว่า แอสตร้าฯ 20 %  เป็นเหตุผลทำไมอิสราเอล และอเมริกา จึงกลับมาติดเชื้อใหม่ "

นพ.อุดมกล่าวย้ำ เรื่องการปรับกลยุทธิ์อีกว่า  ขณะนี้ ศบค.อนุมัติหลักการเบื้องต้น จากนี้ ต่อไป เราต้องอยู่กับโควิด เน้นเรื่อง Universal Prevention    มาตรการส่วนบุคคล และองค์กรเป็นสำคัญ เป็นการป้องกันครอบจักรวาล ครอบคลุม เบ็ดเสร็จทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา เป็นการระมัดระวังป้องกันตนเองแบบสูงสุด เดิมหลักการนี้ใช้ในรพ.อย่างเดียว แต่ตอนนี้ ต้องใช้กับคนไทยทุกคนเพื่อปกป้องตัวเอง แม้ไม่มีความเสี่ยง ปฎิบัติตัวในการป้องกันไว้คลอดเวลา ต้องคิดเสมอว่าอาจติดเชื้อไม่รู้ตัวและไม่มีอาการ และคนรอบข้างเรา อาจติดเชื้อ แฝงไม่มีอาการ อาจแพร่มาให้เรา เราจึงต้องป้องกันตัวเองสุดความสามารถตลอดเวลา 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/116051

 

24 เม.ย.2565 -นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ Blockdit “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย”

ถ้าจะให้โควิดเป็นโรคติดต่อทั่วไปของไทยได้ จะต้องเพิ่มการตรวจให้มากขึ้นอีก 3.5 เท่า และฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 อย่างน้อยวันละ 245,882 โดส

 
 
 

จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งสัญญาณต่อสาธารณะมาอย่างต่อเนื่องว่า เป้าหมายของการที่จะทำให้โควิดเป็นโรคติดต่อทั่วไปในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 นั้น (เหมาะสมแล้วที่ใช้คำว่าโรคติดต่อทั่วไป : Post-Pandemic แทนคำว่าโรคประจำถิ่น)

เมื่อมาพิจารณาเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข จะพบว่า

1) ช่วงต่อสู้ (Combatting ) 12 มีนาคมถึงต้นเมษายน

2) ช่วงคงที่ (Plateau) เมษายนถึงพฤษภาคม

3) ช่วงลดลง (Declining) พฤษภาคมถึง 30 มิถุนายน

4) ช่วงเริ่มสงบหรือโรคติดต่อทั่วไป 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป

เป้าหมายดังกล่าวมีความน่าสนใจว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
จึงต้องไปดูหลักเกณฑ์ของการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือ โรคติดต่อทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย

1) มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิดเฉลี่ยรายสัปดาห์ น้อยกว่า 0.1% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ติดต่อกัน

2) การฉีดวัคซีน

2.1 ประชากรทั่วไป

ฉีดเข็ม 3 มากกว่า 60%

2.2 ผู้สูงอายุ

ฉีดเข็ม 1 มากกว่า 80%

ฉีดเข็ม 3 มากกว่า 60%

3) แนวโน้มในปัจจัยต่างๆ

3.1 จำนวนผู้ติดเชื้อ

3.2 จำนวนผู้ป่วยหนัก

3.3 อัตราการครองเตียงในระดับ2,3

เมื่อดูไปทีละเกณฑ์ จะพบความน่าสนใจคือ

1) อัตราการเสียชีวิต

ขณะนี้เรามีผู้ติดเชื้อรวม (PCR +ATK) ในช่วงเจ็ดวันล่าสุด 255,588 ราย คิดเป็นค่าเฉลี่ยติดเชื้อวันละ 36,512 ราย
มีผู้เสียชีวิตในช่วงเจ็ดวัน 895 ราย เฉลี่ยวันละ 127 ราย

คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.35%

แต่เป้าหมายที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ จะต้องมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 0.1%

เพื่อให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวบนฐานผู้ติดเชื้อวันละ 36,512 ราย จะต้องมีผู้เสียชีวิตไม่เกินวันละ 36 ราย ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่ห่างไกลจากผู้เสียชีวิตในปัจจุบันมาก

จำนวนผู้เสียชีวิต 127 รายต่อวัน เป็นตัวเลขที่แม่นยำกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มีการรายงาน

ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อรวม ผู้ติดเชื้อเฉพาะ ATK หรือผู้ติดเชื้อเฉพาะ PCR ก็ตาม

ก็แปลว่า อัตราการเสียชีวิต 0.1% จะต้องมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อวันละ 127,000 ราย

ดังนั้นจึงต้องเร่งทำการตรวจให้มากขึ้นอีก 3.5 เท่าตัว เพื่อให้พบผู้ติดเชื้อแท้จริงให้ได้ 127,000 รายต่อวัน

ก็จะทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตที่ 127 รายต่อวัน คิดเป็น 0.1% เพราะปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตค่อนข้างแม่นยำ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานต่ำกว่าความเป็นจริง

ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน = 127 รายหารด้วย 36,512 ราย = 0.35%

จึงต้องเร่งตรวจเพิ่มขึ้นอีก 3.5 เท่า

แต่ถ้ายังคงมียอดผู้ติดเชื้อเพียงวันละ 36,512 ราย ณ ปัจจุบันก็จะต้องบริหารจัดการให้มีผู้เสียชีวิตไม่เกินวันละ 36 ราย ซึ่งเป็นไปได้ยาก
และถ้ายอดรายงานผู้ติดเชื้อรายวันต่ำลงไปอีก ก็จะยิ่งทำให้อัตราผู้เสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ ลงไปแตะ 0.1% ลำบากมากยิ่งขึ้น
การเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อที่แท้จริง ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงด้วย จึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะทำให้อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อลงมาอยู่ที่ 0.1%

วิธีการที่จะประสบผลสำเร็จคือ การเร่งให้มีการตรวจ ATK โดยการจัดการของภาครัฐ เพื่อที่เมื่อเจอผลเป็นบวก จะได้มีการรายงานครบถ้วนทุกราย

แต่ในขณะนี้ การตรวจเอทีเคโดยภาครัฐอาจจะยังมีจำนวนไม่มากนัก ทำให้ประชาชนที่ซื้อชุด ATK มีจำนวนมาก และเมื่อตรวจด้วยตนเองและมีผลบวกแล้ว ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้รายงานเข้าสู่ระบบ ทำให้ตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริง

2) การฉีดวัคซีน

2.1 สำหรับประชากรทั่วไป

กำหนดเข็ม 3 ให้มากกว่า 60%

ปัจจุบันฉีดเข็ม 3 แล้วได้ 36.4% หรือ 25.28 ล้านโดส เป้าหมาย 60% คือ 42 ล้านโดส ยังขาดอีก 16.72 ล้านโดส จึงต้องเร่งฉีดใน 68 วันที่เหลือให้ได้เฉลี่ยเพิ่มวันละ 245,882 โดส ซึ่งมีโอกาสจะเป็นไปได้ แต่ต้องใช้ความพยายามมากขึ้น

2.2 ในกลุ่มผู้สูงอายุ

ฉีดเข็มสามให้ได้มากกว่า 60% เป้าหมาย 60% ของกลุ่มผู้สูงอายุ 12.7 ล้านคนเท่ากับ 7.62 ล้านโดส ขณะนี้ฉีดได้ 39.8% หรือ 5.06 ล้านโดส ยังจะต้องฉีดอีก 2.5 ล้านโดส เฉลี่ยวันละ 37,647 โดส ซึ่งก็พอจะมีโอกาสเป็นไปได้

ในส่วนเข็มที่ 1 ต้องฉีดให้ได้มากกว่า 80% นั้นในขณะนี้ผู้สูงอายุฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 84.1% หรือ 10.6 ล้านโดสจึงไม่เป็นปัญหาแต่ประการใด

กล่าวโดยสรุป เป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ให้วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 โควิดจะเข้าสู่สถานการณ์เป็นโรคติดต่อทั่วไป จะต้องดำเนินการที่สำคัญประกอบด้วย

1) เร่งการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้มากขึ้นอีก 3.5 เท่า จึงจะทำให้พบอัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 0.1%

2) เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับประชาชนทั่วไป ให้ได้วันละ 245,882 โดส ในจำนวนดังกล่าวต้องเป็นการฉีดให้กับผู้สูงอายุไม่น้อยกว่าวันละ 37,647 โดส

จึงถือว่าเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทาย แต่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ประการใด ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย และมีปัจจัยตัวแปรเป็นจำนวนมากพอสมควร

หมายเหตุ : ส่วนตัวของผู้เขียน ดีใจที่หยุดพักการใช้คำว่า “โรคประจำถิ่น” มาใช้คำว่า “โรคติดต่อทั่วไป” เพราะจะเป็นการส่งสัญญาณต่อสาธารณะที่จะเข้าใจได้ง่ายและถูกต้องเหมาะสม เนื่องจาก “โรคประจำถิ่น” อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า เป็นโรคที่ไม่ต้องให้ความสนใจ เป็นโรคที่ไม่รุนแรง

แต่แท้จริงแล้ว โรคประจำถิ่นคือ โรคที่มีการระบาดอยู่ในบางภูมิภาคของโลก ไม่ระบาดทั่วโลก ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง อาทิเช่น ประเทศไทยมีมาลาเรียและไข้เลือดออก ถือเป็นโรคประจำถิ่นของโลกมนุษย์ แต่มีความรุนแรง ไข้เหลืองถือว่าเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกาและอเมริกาใต้ ไม่ใช่โรคระบาดทั่วโลก แต่ก็มีความรุนแรงเช่นกัน

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/128999/

 

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ