"ฟาวิพิราเวียร์" VS "โมลนูพิราเวียร์" ข้อบ่งใช้เป็นอย่างไร ใครใช้ได้บ้าง
 
ไขข้อสงสัย ยาหลักที่ใช้รักษา “โควิด-19” ในประเทศไทยอย่าง “ฟาวิพิราเวียร์” และ “โมลนูพิราเวียร์” มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่ละชนิดเหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มไหนบ้าง?

ในปัจจุบันประเทศไทยมียารักษา “โควิด-19” อยู่หลากหลายชนิด ซึ่งข้อบ่งใช้ของยาแต่ละตัวก็ไม่เหมือนกัน ตลอดจนราคาของยาแต่ละชนิดก็ต่างกันด้วย ทั้งนี้ ยา 2 ชนิดที่ถูกพูดถึง และคุ้นหูคนไทยมากที่สุดคงหนีไม่พ้น “ยาฟาวิพิราเวียร์” และ “ยาโมลนูพิราเวียร์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปทำความรู้จักกับตัวยาทั้ง 2 ชนิดว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มใด ควรได้รับยาชนิดไหน และข้อบ่งใช้ยาเป็นอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่

ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)

ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาตัวแรกที่นำมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยจากการศึกษาข้อมูลในต่างประเทศพบว่า กลไกลการออกฤทธิ์ของยาชนิดนี้ เป็นการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ RNA ไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ มีอาการดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ติดต่อกันเป็นเวลาใน 14 วัน มีสัดส่วนอาการดีขึ้นอยู่ที่ 86.9%  

ข้อบ่งใช้: ผู้ป่วยโควิดอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงกลุ่มเสี่ยง 608 เช่น ผู้มีภาวะอ้วน, ผู้มีโรคประจำตัว ขณะที่สตรีตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 อาจพิจารณาให้ใช้ได้
การให้ยา: ขนาดยารับประทานสำหรับผู้ใหญ่ ในวันแรกอยู่ที่ 1,600 มิลลิกรัม และลดลงเหลือ 600 มิลลิกรัม ในวันที่ 2 ถึงวันที่ 5 ระยะเวลาการรักษาโดยรวมคือ 5 วัน ด้วยยาเม็ดขนาด 200 มิลลิกรัม ดังนั้นจึงต้องรับประทานประมาณ 40 เม็ดต่อคนราคาต่อคอร์ส: 800 บาท

ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)

ยาโมลนูพิราเวียร์ มีกลไกการออกฤทธิ์ไม่ต่างจากยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ RNA ไวรัส และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง โดยได้รับการอนุมัติจากศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (อีโอซี) กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. ให้ใช้ในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ข้อบ่งใช้: ผู้ป่วยโควิดอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง เน้นในกลุ่มเสี่ยง 608 เช่น ผู้มีภาวะอ้วน, ผู้มีโรคประจำตัว ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
การให้ยา: ขนาดยารับประทานสำหรับผู้ใหญ่ 800 มิลลิกรัม หรือ 4 แคปซูล โดยให้รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 วัน รวม 40 แคปซูลต่อคน ทั้งนี้จะต้องได้รับยาภายใน 5 วัน หลังได้รับการวินิจฉัยเริ่มมีอาการป่วยโควิด 

ราคาต่อคอร์ส: ประมาณ 10,000 บาท

อย่างไรก็ตาม แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จะมีการปรับเปลี่ยนตามหลักฐานเชิงประจักษ์ อยู่ภายใต้การประชุมหารือของผู้เชี่ยวชาญโดยตลอด ล่าสุดมีการปรับปรุงเกณฑ์การให้ยาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นไปตาม แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ระบุไว้ว่า

ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย ผู้ที่มีผลตรวจ ATK ต่อ SARS-CoV-2 ให้ผลบวก รวมถึงผู้ติดเชื้อยืนยันทั้งผู้ที่มีอาการและไม่แสดงอาการ แบ่งเป็นกลุ่มตามความรุนแรงของโรค และปัจจัยเสี่ยงได้เป็น 4 กรณี ดังนี้

1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี 

  • ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้าน หรือ ทำโฮมไอโซเลชัน หรือสถานที่รัฐจัดให้ตามความเหมาะสม
  • ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง
  • อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์

2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง โรคร่วมสำคัญ และภาพถ่ายรังสีปอดปกติ

  • อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ควรเริ่มให้ยาโดยเร็ว
  • หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่ จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่

1) อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป

2) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) (GOLD grade 2 ขึ้นไป) รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ

3) โรคไตเรื้อรัง (CKD) (stage 3 ขึ้นไป)

4) โรคหัวใจ และหลอดเลือด (NYHA functional class 2 ขึ้นไป) และโรคหัวใจแต่กำเนิด

5) โรคหลอดเลือดสมอง

6) เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้

7) ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI 230 กก./ตร.ม.)

8) ตับแข็ง (Child-Pugh class B ขึ้นไป)

9) ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เป็นโรคที่อยู่ในระหว่างได้รับยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมิหรือ corticosteroid equivalent to prednisolone 15 มก./วัน ระยะเวลา 15 วัน ขึ้นไป

10) ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มี CD. cell count น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.

แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี

  • หากไม่มีปัจจัยเสี่ยง ให้ยาฟาวิพิราเวียร์
  • หากมีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือ เรมเดซิเวียร์ หรือ โมลนูพิราเวียร์ หรือ เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์
  • หากมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า 2 ข้อ ให้ยาเรมเดซิเวียร์ หรือ โมลนูพิราเวียร์ หรือ เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ 

4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบที่มี hypoxia (resting O, saturation < 94 % ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการ และได้รับออกซิเจน แนะนำให้ เรมเดซิเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก และควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

ดังนั้น แม้ว่าทั้งยาฟาวิพิราเวียร์และยาโมลนูพิราเวียร์ จะใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยจนถึงปานกลาง แต่จากแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับล่าสุด จะเห็นได้ว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ จะถูกใช้ในผู้ป่วยกรณีที่ 3 เท่านั้น ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์จะใช้ได้ทั้งผู้ป่วยกรณีที่ 2 และ 3 

ที่มา: กรมการแพทย์
 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์

 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/1014058?anf=

 

"รีวิวโอไมครอน" รัวคำถามอาการแรก ยี่ห้อวัคซีนที่ฉีด กินยาอะไรช่วยได้มั้ย
 
"รีวิวโอไมครอน" ไวรัลสุดฮอตโลกออนไลน์ คนไทยต่างแดนตอบคำถามรัว ๆ อาการแรกที่เป็น ยี่ห้อวัคซีนที่ฉีดก่อนติดเชื้อ ได้กินยาอะไรช่วยมั้ย หรือว่ามันค่อย ๆ หายไปเอง

ไวรัล "รีวิวโอไมครอน" สุดฮอตโลกออนไลน์ ท่ามกลางการเกาะติดสถานการณ์ โควิด-19 (COVID-19) โควิดสายพันธุ์ใหม่ Omicron (โอมิครอน หรือ โอไมครอน) ล่าสุด ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ทวีตข้อความระบุ รีวิวโอมิครอนนะคะ วันแรกที่มีอาการคิดว่าเหนื่อย เพราะแบบ เจ็บคอ ปวดหัวหน่อย ๆ แค่นั้น เหมือนนอนไม่พอ วันสองคือวันที่ไปตรวจ ปวดหัว มึน เจ็บคอ นอนทั้งวัน คิดว่า...เป็นแน่ ๆ ๆ ๆ ๆ วันสามตื่นมา อาการหายเกือบหมด ปวดหัวนิดเดียวเหมือนต้องการกาแฟ กับเสียงแหบจากเจ็บคอ แต่ไม่เจ็บละ งานนี้ชาวเน็ตแห่รีทวีตพร้อมสอบถามกันรัว ๆ

รีวิวโอไมครอน, โควิด-19, COVID-19, โควิดสายพันธุ์ใหม่, Omicron, โอมิครอน, โอไมครอน

รีวิวโอไมครอน, โควิด-19, COVID-19, โควิดสายพันธุ์ใหม่, Omicron, โอมิครอน, โอไมครอน

ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายดังกล่าวยังได้ให้ข้อมูล "รีวิวโอไมครอน" เพิ่มเติมว่า เลยคิดว่า ไม่ใช่หรอกโควิด หายไว... วันนี้วันที่ 4 ผลออก อ้าว อห เป็น งง อาการหายไวกว่าผลตรวจชั้นออกอีกแม่ , สาธุบุญไฟเซอร์นะคะ , ไม่ได้อยู่ไทยนะคะ ไม่ต้องสงสัยค่ะว่ารู้ได้ไงโอมิครอน เพราะมีแต่โอมิครอนกับเดลตาแล้วค่ะตอนนี้ที่นี่ เดลตาแทบไม่เหลือแล้วค่ะ ยอดวันละหลายพันก็เพราะโอมิครอนนี่แหละค่ะ สมัยเดลตาเลขยังไม่สูงเท่านี้เลยค่ะ ถ้าเป็นเดลตาคือชั้นแจ็คพอตมากค่ะ เปอร์เซ็นต์โอมิครอนสูงกว่าเยอะ

รีวิวโอไมครอน, โควิด-19, COVID-19, โควิดสายพันธุ์ใหม่, Omicron, โอมิครอน, โอไมครอน

รีวิวโอไมครอน, โควิด-19, COVID-19, โควิดสายพันธุ์ใหม่, Omicron, โอมิครอน, โอไมครอน

ขณะที่ ชาวเน็ตเข้ามาสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ "รีวิวโอไมครอน" อาทิ

ฉีดไฟเซอร์กี่เข็มคะ

  • ไฟเซอร์สองเข็มค่ะ เข็มสองตอนปลายเดือนกันยายน

แล้วรู้ได้ยังไงคะว่าเป็นโอมิครอน เวลาตรวจมันต่างจากโควิดธรรมดาไหมคะ เท่าที่อ่านตัวเองรีวิวก็ไม่น่าจะรุนแรงเท่าไหร่ แต่ตามอ่านข่าวบางคนบอกติด คือโอกาสรอดน้อย หรือเราเสพข่าวทิพย์ หรือจริง ๆ เป็นผลบุญเจ้าของทวิตเตอร์ ที่ได้ไฟเซอร์

  • ที่ซิดนีย์ตอนนี้ที่ระบาดหนักคือโอมิครอนค่ะ อาจจะมีเดลตานิดหน่อย แต่คิดว่าตัวเองโดนโอมิครอนมาแน่นอน เดลตาน่าจะอาการหนักกว่านี้ค่ะ ส่วนใหญ่ในซิดนีย์ตอนนี้โอมิครอนทั้งนั้นค่ะ

ถ้าเรา ATK จะขึ้นเหมือนโควิดไหมครับ ใช้ด้วยกันได้ไหมครับสำหรับก้านแหย่จมูก

  • มีคนรู้จักเป็นใช้ก็ตรวจเจอนะคะ แต่ต้องมีอาการ แต่ผลก็ไม่ 100% ค่ะ ที่นี่ถ้าใช้ ATK แล้วสองขีดก็ต้องไป PCR ซ้ำค่ะให้ชัวร์

ตรวจ อะไรถึงเจออ่ะ ถ้า ATK จะเจอมั้ย และที่สำคัญ สัมผัสผู้ป่วยหรอคะ ถึงมีอาการ

  • เราตรวจ PCR ค่ะ มีคนรู้จักเป็นตรวจ ATK ก็เจอนะคะ แต่ต้องมีอาการ เราทำอยู่ร้านอาหาร มีลูกค้าที่เป็นมาทานแล้วทางรัฐแจ้งมาทีหลังค่ะ แต่เราใส่หน้ากากตลอดตอนทำงานนะคะ พอมีอาการก็ไปตรวจเลย

แล้วมีนัดตรวจซ้ำอีกมั้ยคะ

  • ไม่มีแล้วค่ะ เค้าให้กักตัวสิบวันจากวันตรวจ ถ้า 72 ชั่วโมงสุดท้ายไม่มีอาการก็ออกได้เลยค่ะ

ช่วงแรก ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าติดมีอาการคันคอบ้างไหมคะ

  • คันคอมาอย่างแรกเลยค่ะ แต่ปกติเราดื่มน้ำน้อย คันคอเป็นปกติ เลยไม่ได้คิดอะไร

ขออนุญาตถามหน่อยครับ ตอนนี้ไม่มีอาการอะไรแล้ว แต่ผลก็ยังไม่เป็นลบใช่มั้ยครับ

  • ยังไม่ได้ไปตรวจใหม่เลยค่ะ แต่คิดว่ายังไม่น่าเป็นลบนะคะ

ขอสอบถามหน่อย ระหว่างอาการวันที่ 1 - 3 ได้กินยาอะไรช่วยมั้ยคะ หรือว่ามันค่อย ๆ หายไปเองเลยคะ

  • เราใช้ Betadine Gargle กลั้วคอตอนเจ็บคอค่ะ ตอนปวดหัวก็ทานพารา ใช้ยาตามอาการเลยค่ะ

ขอบคุณข้อมูล : ทวิตเตอร์

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/498523?adz=

 
"ลองโควิด" หมอธีระ เผยผลวิจัยคนเลือดกรุ๊ปโอเจอปัญหา Long COVID สูงมาก
 
 

ภาวะ "ลองโควิด" หมอธีระ เผย ผลวิจัยพบว่าเลือดแต่ละกรุ๊ปเจอปัญหา Long COVID ต่างกัน คนเลือดกรุ๊ปโอ มีโอกาสเป็นมากกว่าคนอื่น เพราะสาเหตุนี้

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงประเด็นสถานการณ์ "โควิด" และ การเกิดภาวะ "ลองโควิด" หรืออาการคงค้างภายหลังจากที่มีการ ติดโควิด มาแล้ว โดยระบุ ว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 503,050 คน ตายเพิ่ม 1,053 คน รวมแล้วติดไป 605,292,816 คน เสียชีวิตรวม 6,486,500 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และอิตาลี เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลกจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.07 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.05

สถานการณ์ระบาดของ "โควิด" ในประเทศไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

 

ภาวะ "ลองโควิด" หรือ Long COVID กับกรุ๊ปเลือด

รศ.นพ. ธีระ ระบุต่อว่า Diaz-Salazar S และคณะจากประเทศสเปน ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อ Infectious Diseases เมื่อวานนี้ 27 สิงหาคม 2565เป็นการศึกษาแบบ case-control study ในกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19  จำนวน 121 คน โดยมี 36 คนที่มีปัญหา "ลองโควิด" และอีก 85 คนที่ไม่มีปัญหา"ลองโควิด" พบว่า ผู้ที่มีเลือดกรุ๊ป O จะมีความสัมพันธ์กับการเกิดปัญหา Long COVID มากกว่ากรุ๊ปเลือดอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่าทำให้เสี่ยงมากกว่าราว 6 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่น 95% ตั้งแต่ 1.6-23 เท่า)

นอกจากนี้ยังมีจำนวนอาการผิดปกติต่างๆ มากกว่ากรุ๊ปเลือดอื่นอีกด้วย ทั้งนี้พบว่าผู้ที่มีเลือดกรุ๊ป O จะมีค่าสารเคมีในเลือดที่บ่งถึงการเกิดกระบวนการอักเสบมากกว่ากรุ๊ปเลือดอื่น  แม้การศึกษานี้มีจำนวนกลุ่มประชากรที่ศึกษาไม่มากนัก แต่ก็ให้ผลการศึกษาที่น่าสนใจ และน่าติดตามว่าจะมีการศึกษาขนาดใหญ่ในอนาคตที่จะพิสูจน์ให้เห็นผลที่สอดคล้องกันหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ปัญหา "ลองโควิด" Long COVID เป็นเรื่องจริงและทำให้ประเทศทั่วโลกต้องเตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
WHO Webinar on "Scientific strategies from recent outbreaks to help us prepare for Pathogen X" องค์การอนามัยโลกกำลังจะจัดประชุมเพื่อพัฒนาแนวทางรับมือโรคระบาดในอนาคต ในวันจันทร์และอังคารที่จะถึงนี้ 29-30 สิงหาคม 2565 เนื้อหาการประชุมจะมีการทบทวนประสบการณ์ทั่วโลกที่ได้เรียนรู้จากการรับมือโรคระบาดหลายชนิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา 
ทบทวนข้อมูลความรู้วิชาการ วิธีการจัดการโดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ คาดการณ์อนาคตว่าการระบาดทั่วโลกจะเป็นไปในลักษณะใด
รวมถึงการวางแผนรับมือการระบาด ทั้งที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น และที่จะเกิดขึ้นโดยที่ไม่คาดคิด

นอกจากนี้ยังจะมีการหารือถึงแผนการศึกษาวิจัยที่จำเป็น และระบบการสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยให้ตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ใครสนใจสามารถเข้าไปลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมรับฟังได้ฟรีในเว็บไซต์องค์การอนามัยโลกครับ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อลงไปได้มาก

อ้างอิง
Diaz-Salazar S et al. Blood group O is associated with post-COVID-19 syndrome in outpatients with a low comorbidity index. Infectious Diseases. 27 August 2022.

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/covid-19-updated/527788?adz=

 

"ล็อกดาวน์" ไม่ได้ผล "หมอมนูญ" ซัด กักตัวคนป่วย-กลุ่มเสี่ยงก็พอ ถึงเวลาเปิดเมืองแล้ว

 

"หมอมนูญ" ชี้ "ล็อกดาวน์" ไม่ได้ผล ถึงเวลาเปิดเมืองแล้ว แนะ กักตัวเฉพาะคนป่วย-กลุ่มเสี่ยง ไม่ใช่"ล็อกดาวน์" ทั้งเมือง ระบุ หมอ-พยาบาลติดเชื้อ ยังไม่ปิดโรงพยาบาล

 

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ค หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC  ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หัวข้อ "กักตัวคนป่วยและกลุ่มเสี่ยง ไม่ใช่ล็อกดาวน์ทั้งเมือง" โดยระบุว่า  โรงพยาบาลเป็นสถานที่เสี่ยง มีคนไข้โรคโควิด-19 เข้ามารับการรักษาทุกวัน มีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ติดเชื้อไวรัสจากคนไข้ ขณะปฏิบัติงานในทุกโรงพยาบาล

 

"ล็อกดาวน์" ไม่ได้ผล "หมอมนูญ" ซัด กักตัวคนป่วย-กลุ่มเสี่ยงก็พอ ถึงเวลาเปิดเมืองแล้ว

 

เมื่อวินิจฉัยว่า ติดเชื้อไวรัสโควิด ก็ให้หยุดทำงาน และถูกกักตัว จนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ จึงให้กลับมาทำงาน นอกจากนี้ คนที่ใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อในแผนกนั้น ต้องได้รับการตรวจยืนยันว่า ไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้หยุดงาน และตรวจซ้ำอีกครั้ง 4-5 วัน ให้แน่ใจว่าไม่ติดเชื้อ จึงให้กลับมาทำงานได้ เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้ผู้อื่น

ต้องยอมรับว่า บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลทุกคน ถึงแม้จะระวังตัวเต็มที่ ดูแลตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ได้รับวัคซีนครบแล้ว ก็ยังติดเชื้อไวรัสโควิด การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา ทำได้ยากมาก ๆ

 

ไม่มีใครมาสั่งปิดโรงพยาบาล เมื่อพบบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โรงพยาบาลปฎิบัติกับคนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับคนติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ อัตราตายของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ร้อยละ 0.1 (ไม่ใช่ร้อยละ 2) พอ ๆ กับไข้หวัดใหญ่ปี 2009 แต่ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล อัตราตายน้อยกว่าประมาณร้อยละ 0.03  ประเทศไทยไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ปี 2009

ถึงเวลาแล้วเราควรเอาบทเรียนจากมาตรการที่ใช้กับโรงพยาบาล นำไปใช้กับทุกสถานประกอบการ หน่วยงานต้องรับผิดชอบกับคนงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นแคมป์ก่อสร้าง งานก่อสร้าง โรงงาน ระบบขนส่งสินค้าพัสดุ ห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม ตลาด ร้านค้า สนามกอล์ฟ สนามกีฬา สวนสาธารณะ เมื่อพบคนติดเชื้อ ให้คนติดเชื้อ และคนใกล้ชิดหยุดทำงาน กักตัวจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ เพื่อลดการแพร่เชื้อไวรัสโควิดให้ผู้อื่น ไม่ควรมีการสั่งปิดสถานที่ใดที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด ทุกคนที่แข็งแรง ไม่มีอาการ สามารถทำงานตามปกติต่อไปได้

การ "ล็อกดาวน์" ปิดเมือง ปิดการเดินทาง ผลออกมา ยอดผู้ติดเชื้อของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกนี้ นอกจากจะไม่ลดลงยังเพิ่มขึ้น เป็นการยืนยันว่า ไม่ได้ผล ควรผ่อนคลายบ้างแล้ว เพราะการระบาดครั้งนี้ เกิดขึ้นในบ้านมากที่สุด

โรคโควิด-19 ทำให้คนไทยเดือดร้อนมากพอแล้ว การ "ล็อกดาวน์" ยิ่งทำให้คนไทยเดือดร้อนมากขึ้นอีก

 
 

"ล็อกดาวน์" ไม่ได้ผล "หมอมนูญ" ซัด กักตัวคนป่วย-กลุ่มเสี่ยงก็พอ ถึงเวลาเปิดเมืองแล้ว

 

ถึงเวลาควรเปิดเมือง ใครมีงานทำก็ไปทำ ค้าขายก็ค้าขายไป ไปท่องเที่ยวก็ไป ยกเว้นไปสถานที่คนรวมตัวกัน รวมกลุ่มกันมาก ๆ ไม่เว้นระยะห่าง สถานที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ติดแอร์ เช่น ผับ บาร์ สนามมวย บ่อนการพนัน โรงหนัง กิจกรรมสันทนาการ สังสรรค์ ทานอาหารร่วมกัน (เพราะต้องถอดแมสก์) ทุกคนต้องระวังตัวเต็มที่ ดูแลตัวเอง ทั้งนอกบ้าน และในบ้าน ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ และรีบฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้เร็วที่สุด

 

 

 

"วัคซีนเข็ม 3" สูตรไขว้ หลังฉีดเชื้อตาย 2 เข็มแรก "หมอเฉลิมชัย" เผยผลวิจัยเห็นพ้อง ให้ภูมิคุ้มกันที่ขึ้นสูงมาก

อัปเดต "วัคซีนโควิด" น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ หรือ "หมอเฉลิมชัย" รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ค Chalermchai Boonyaleepun ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 สูตรไขว้ ได้ผลดีมาก ยืนยันจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Oxford ที่บราซิล บราซิลเป็นประเทศที่มีการระบาดของโควิด และมีเชื้อกลายพันธุ์ที่มีความรุนแรง และการดื้อต่อวัคซีนมากที่สุดประเทศหนึ่ง จึงเป็นประเทศที่วัคซีนหลายชนิด ได้ไปทำการทดลองและวิจัย เช่น วัคซีนไวรัสเป็นพาหะของ AstraZeneca และวัคซีนเชื้อตายของ Sinovac เป็นต้น

โดยการวิจัยในช่วงแรกพบว่า การฉีดวัคซีนเชื้อตายของ Sinovac 2 เข็ม ให้ประสิทธิผลในการป้องกันที่แตกต่างกันใน 3 ประเทศ ได้แก่ ตุรกี 83.5% ชิลี 65.9% และบราซิล 50.7% ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากชนิดไวรัสที่ดื้อต่อวัคซีนที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่เมื่อดูเรื่องประสิทธิผลในการป้องกันการนอนโรงพยาบาล ในบราซิลเพิ่มขึ้นเป็น 83.7% และชิลีเพิ่มขึ้นเป็น 87.5% 

"วัคซีนเข็ม 3" สูตรไขว้ หลังเชื้อตาย 2 เข็ม ผลวิจัยเห็นพ้อง กระตุ้นภูมิสูงมาก

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ก็มีผลการวิจัยอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่พบระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนของวัคซีน mRNA และไวรัสเป็นพาหะที่สูงมากกว่าวัคซีนเชื้อตาย ประกอบกับมีข้อมูลการศึกษาจากประเทศไทยที่พบว่า การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ (Heterologous) โดยเริ่มต้นด้วยวัคซีนเชื้อตาย แล้วตามด้วยวัคซีนไวรัสเป็นพาหะ หรือ mRNA ได้ผลดีมาก จึงทำให้กระทรวงสาธารณสุขบราซิลสนับสนุนทุนวิจัย และให้นักวิจัยร่วมกันศึกษาระหว่างทีมของมหาวิทยาลัย Oxford กับของบราซิลเอง ได้ทำการศึกษาวิจัยวัคซีนสูตรไขว้ในทำนองเดียวกับประเทศไทย แต่ใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ 1,250 ราย และล่าสุด ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระดับโลก คือ Lancet แล้ว โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 4 กลุ่ม  ในแต่ละกลุ่มจะถูกกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนที่แตกต่างกัน ได้แก่

  1. วัคซีนเชื้อตายของ Sinovac 
  2. วัคซีนไวรัสเป็นพาหะของ AstraZeneca 
  3. วัคซีนไวรัสเป็นพาหะของ Johnson 
  4. วัคซีน mRNA ของ Pfizer 

นพ.เฉลิมชัย ระบุว่า การทดลองนี้ ทดลองทั้งในกลุ่มอาสาสมัครที่อายุ 18-60 ปี และกลุ่มที่มากกว่า 60 ปีขึ้นไป เบื้องต้นตรวจพบว่า ภูมิคุ้มกันที่ 6 เดือนหลังจากฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยในกลุ่มอายุ 18-60 ปี ระดับภูมิคุ้มกันที่ตรวจพบได้ เหลือ 20.4% ในขณะที่กลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี เหลือ 8.9% เมื่อฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 แล้ว พบว่า วัคซีนทุกเทคโนโลยีจากทั้ง 4 บริษัท สามารถกระตุ้นได้ดี ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดเพียง 2 เข็ม โดยกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนเชื้อตายของ Sinovac จะขึ้นสูงไป 12 เท่า ในขณะที่ฉีดด้วยไวรัสเป็นพาหะของ Johnson & Johnson เพิ่มขึ้น 77 เท่า ของ AstraZeneca เพิ่มขึ้น 90 เท่า ของ Pfizer เพิ่มขึ้น 152 เท่า

โดยเป็นการวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อส่วนหนาม ทั้งแบบระดับภูมิคุ้มกันปกติ และภูมิคุ้มกันชนิดต่อต้านทำลายล้าง(NAb) ส่วนจุดเด่นของวัคซีนชนิดเชื้อตายที่ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 คือ สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อส่วนอื่นที่ไม่ใช่ส่วนหนามได้ ในขณะที่วัคซีนอีก 3 ชนิด ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันดังกล่าวได้ งานวิจัยดังกล่าวนี้ เป็นการยืนยันว่า การฉีดวัคซีนสูตรไขว้เข็ม 3 ตามหลังวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มแรก ให้ภูมิคุ้มกันที่ขึ้นสูงมาก จะเป็นประโยชน์กับประเทศรายได้น้อย และปานกลาง ที่นำร่องด้วยการฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มแรกว่า เมื่อฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนเทคโนโลยีอื่น จะได้ภูมิคุ้มกันที่สูงมาก และเป็นประโยชน์ในการควบคุมการระบาดของโควิด-19

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/502668?adz=

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ