5 ก.ย. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 358,062 คน ตายเพิ่ม 859 คน รวมแล้วติดไป 610,172,672 คน เสียชีวิตรวม 6,503,423 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และอิตาลี เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.12 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 84.16
…สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
…Long COVID ในไทย
จากเริ่มระบาด (สายพันธุ์ดั้งเดิม) ต้นปี 2563 มาระลอกสอง (D614G) ปลายปี 2563 สู่ระลอกสาม (อัลฟ่าและเดลต้า) ตั้งแต่กลางปีก่อน เข้าสู่ระลอกสี่ (Omicron BA.1/BA.2) ต้นปีนี้ และห้า (Omicron BA.5) มีคนที่ติดเชื้อจำนวนมากหลายล้านคน ตัวเลขทางการจาก RT-PCR ในระบบ 4,658,542 คน แต่หากรวม ATK และที่ตรวจเองและไม่รายงาน อาจพุ่งไปสูงถึง 10 ล้านคนหรือมากกว่า
มีทั้งที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ อาการน้อย และอาการรุนแรง สัดส่วนของคนที่มีโอกาสประสบปัญหา Long COVID จากงานวิจัยทั่วโลกมีตั้งแต่ 5%-30%
ดังนั้นจำนวนคนที่ประสบปัญหา Long COVID จึงอาจมีจำนวนมากหลายแสนคนถึงหลักล้านคนได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต การทำงาน ค่าใช้จ่าย และความต้องการระบบสนับสนุนทางสังคม
ทั้งนี้ Long COVID เป็นภาวะที่อาจเกิดอาการผิดปกติทั้งทางกายและจิตใจ/อารมณ์ โดยเป็นกลุ่มอาการที่มีความหลากหลายมาก คนที่ประสบปัญหานั้นอาจไม่รู้ว่าตกอยู่ในภาวะดังกล่าว แม้จะกำลังมีความผิดปกติเกิดขึ้น กว่าจะเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาก็อาจปล่อยไว้อยู่นาน
ช่วง BA.5 ขาลงนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับประเทศไทย ที่หน่วยงานต่างๆ จะรณรงค์เรื่องสำคัญ ทั้งเรื่องการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดโอกาสปะทุซ้ำเมื่อมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นในอนาคต และการให้ความรู้ประชาชนในการประเมินสุขภาพของตนเอง สังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นและสัมพันธ์กับภาวะ Long COVID เพื่อที่จะเข้ารับคำปรึกษา รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที และสามารถทำให้เกิดระบบติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้การสนับสนุนด้านการงาน สวัสดิการที่จำเป็น ให้ใช้ชีวิตไปได้โดยไม่สะดุด
ต่างประเทศที่มีการติดเชื้อมาก ปัญหา Long COVID ส่งผลชัดเจนต่อเรื่องคุณภาพชีวิต สมรรถนะการดำรงชีวิต และการทำงาน เกิดปัญหาการขาดแรงงานในระบบ รวมถึงการที่ผู้ป่วย Long COVID ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง ถูกให้ออกจากงาน เพราะเจ็บป่วย ลางานบ่อย ขาดงาน ฯลฯ จนนำมาสู่การเรียกร้องให้มีการพิจารณากฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ป่วย Long COVID ด้วย
ปัญหา Long COVID จึงจัดเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพส่วนบุคคลแต่เพียงอย่างเดียว และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ วางแผนจัดการแบบบูรณาการ
Long COVID เปรียบเหมือนสึนามิหลังเกิดการระบาดใหญ่หลายระลอกในช่วงที่ผ่านมา การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อไปได้มากครับ.
ข้อมูลจาก https://www.bpl.co.th/pweb/administrator/index.php?option=com_content&view=article&layout=edit