สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา สวนสวยลอยฟ้า กลางแม่น้ำเจ้าพระยา แห่งแรกของเมืองไทย พร้อมจะเปิดให้บริการแล้ว ปลายเดือนมิถุนายนนี้ ปั้นแลนด์มาร์กใหม่แม่น้ำเจ้าพระยา
จากซากรางรถไฟฟ้าลาวาลิน ที่ถูกทิ้งร้างนานเกือบ 30 ปี กลายเป็นสะพานด้วน กลางแม่น้ำเจ้าพระยาในวันนี้ ได้ถูกปรับเปลี่่ยนให้กลายเป็นสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจร บนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า พร้อมจะอวดโฉม เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของคนกรุงแล้ว
สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ ช่องกลางสะพานพระปกเกล้า เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ภารกิจเร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการทันที เพื่อให้การบริหารราช การพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และพร้อมที่จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมทันที ตามนโยบายที่ 4"คุณภาพชีวิตที่ดี" (care) ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
เป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อการพักผ่อน ออกกำลังกาย และยังสามารถชมวิว และบรรยากาศอันสวยงามของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เต็มไปด้วย สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯ อย่าง พระปรางค์วัดอรุณฯ, พระบรมธาตุมหาเจดีย์ วัดประยุรฯ, วัดซางตาครู้ส ชุมชนกุฎีจีน, สะพานพุทธ, ไปรษณียาคาร, ยอดพิมาน, ไอคอนสยาม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีทางเดิน และทางจักรยาน ความยาว 280 เมตร เชื่อมสัญจรฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ตลอดเส้นทางร่มรื่นไปด้วยเงาไม้ ให้เดินชมวิวกันได้ชิลๆ โดยเฉพาะยามเช้าและยามเย็น เชื่อแน่ว่าเมื่อพร้อมเปิดให้บริการแล้ว จะเป็นอีกแหล่งเช็คอินของคนกรุงแน่นอน
ที่มาของ สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา เริ่มต้นจากภาพทิ้งร้างของสะพานเก่าๆ ตรงกลางสะพานพระปกเกล้า ซึ่งเป็น ซากสะพานจากโครงการลาวาลิน โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพยุคแรก ตั้งแต่ปี 2522 ที่เริ่มศึกษาเส้นทาง จนนำมาสู่การเซ็นสัญญากับ บริษัท ลาวาลิน ในปี 2533 และเริ่มก่อสร้างได้เพียง 2 ปี บริษัท ลาวาลิน กลับประสบปัญหาด้านการเงิน จนทิ้งร้างโครงการ เหลือเพียงซากสะพานไว้ให้ดูต่างหน้า
จากนั้น ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับด้านการพัฒนาเมือง ซึ่งเกิดมาจากความร่วมมือของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีแนวคิดที่จะพัฒนาเมืองในย่านต่างๆ รวมถึง ย่านกะดีจีน-คลองสาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ทางขึ้น-ลงสะพานพระปกเกล้าฝั่งธนฯ
UddC จึงมีแนวคิดที่จะปัดฝุ่นปรับโฉมซากสะพานแห่งนี้ ให้กลายเป็นสวนลอยฟ้าเหนือแม่น้ำ ได้รับการออกแบบโดย N7A ในด้านของสถาปัตยกรรม และ LandProcess ออกแบบด้านของภูมิสถาปัตยกรรม โดยใช้ชื่อเรียกขานว่า สะพานพระปกเกล้า Sky Park และส่งต่อให้กับ กรุงเทพมหานคร ซึ่งโครงการในปี 2561 ภายใต้งบประมาณเกือบ 130 ล้านบาท โดยมีบริษัท เอสจีอาร์ เอนเตอร์ไพร์ส จำกัด ประมูลโครงการนี้ไปในราคา 122 ล้านบาท และเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562
นอกจากนี้ ทางกรุงเทพมหานคร ยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ด้วย อาทิ กรมทางหลวงชนบท เจ้าของที่ดินบริเวณใต้สะพานพระปกเกล้า ไปรษณีย์ไทย เจ้าของไปรษณียาคาร พิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเกี่ยวกับกิจการไปรษณีย์ไทยในอดีต กรมเจ้าท่า ที่ดูแลเรื่องการสัญจรของเรือที่ลอดใต้สะพานแห่งนี้ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่ดูแลโครงการรถไฟฟ้าของลาวาลินในอดีต
กรุงเทพมหานคร ยังได้เปิดประกวด ให้ตั้งชื่อสวนสาธารณะลอยฟ้าดังกล่าว และตัดสินคัดเลือก ใช้ชื่อว่า "สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา" (Chao Phraya Sky Park) โดยจะเปิดให้ใช้บริการอย่างเป็นทางการปลายเดือนมิถุนายนนี้
สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาแห่งนี้ จะกลายเป็น แลนด์มาร์กแห่งใหม่ ของกรุงเทพ ด้วยการออกแบบพื้นที่ที่มีความยาวเพียง 280 เมตร และกว้างประมาณ 9 เมตรให้ใช้งานได้อย่างคุ้มค่า โดยทำเป็นสองชั้นด้วยกัน ที่ออกแบบเป็นทางเดินสโลปทางเดินขึ้นลงสลับไปมาเรื่อยๆ คล้ายๆ กับสยามสแควร์วัน ที่มีสโลปเชื่อมต่อชั้นต่างๆ
เริ่มตั้งแต่ปลายสะพานฝั่งธนบุรีเหนือสวนป่าเฉลิมพระเกียรติถึงปลายสะพาน ฝั่งพระนคร ระยะทางประมาณ 280 เมตร จะมีทั้งทางเดินในร่ม ทางจักรยาน จุดชมวิว สโลปที่เป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ และพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมนันทนาการ ทางขึ้นลงของสวนแห่งนี้ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนฯ จะมีลิฟต์สำหรับการขึ้นลงของผู้พิการและคนชราอีกด้วย
อดใจรอกันนิด เพราะกรุงเทพมหานคร ยืนยันแล้วว่า จะเปิดให้บริการได้ปลายเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมทั้งเชิญ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในพิธีเปิด
วิธีการเดินทางไป สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
-
รถเมล์ มาลงที่ใต้สะพานพุทธ ได้ทั้งสาย 3, 7ก, 9, 42, 8, 73, 73ก และ 82
-
เรือด่วนเจ้าพระยา ลงที่ท่าสะพานพุทธ จอดท่านี้เฉพาะเรือด่วนธงสีส้ม และเรือประจำทาง (แบบธรรมดา ไม่มีธง)
-
รถไฟฟ้า ให้ลงจากรถไฟฟ้าที่ MRT สถานีสนามไชย ประตู 3, 4 หรือ 5 แล้วเดินมาทางปากคลองตลาด ไปสะพานพุทธ หรือออกประตู 2 แล้วเดินไปขึ้นรถเมล์สาย 9 หรือ 82 หน้าโรงเรียนวัดราชบพิธ ฝั่งถนนพระพิพิธ แล้วลงรถเมล์ที่ใต้สะพานพุทธ