12 ก.ค.63- Mr.Toshihisa Onishi จากสำนักข่าวเกียวโด ประเทศญี่ปุ่น พร้อมทีมข่าวและล่ามได้เดินทางไปยัง หมู่บ้านบางมั่น หมู่ที่ 18 ตำบลนาพญา อ.หลังสวน จ.ชุมพร เพื่อพิสูจน์ดูชีวิตความเป็นอยู่ของลิงกังขึ้นมะพร้าว ที่กำลังกลายเป็นประเด็นปัญหาส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ จากกรณีองค์กรมนุษย์เพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม หรือ PETA (พีต้า) เผยแพร่คลิบวิดีโอรายงานอ้างว่าในประเทศไทยมีการบังคับให้ลิงกังทำงานเหมือนกับใช้เครื่องจักรให้ขึ้นมะพร้าววันละนับพันลูกถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์ จึงส่งผลให้ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในประเทศอังกฤษและยุโรปสั่งเก็บกะทิและผลิตภัณฑ์มะพร้าวออกจากห้างจนเกิดกระแสวิพากษ์อยู่ขณะในนี้นั้น
การลงพื้นที่ของสำนักข่าวดังจากประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆเพราะเป็นข่าวดังระดับโลกที่ส่งผลต่อผลผลิตมะพร้าวในประเทศไทยอย่างแน่นอน สำหรับ จ.ชุมพรนั้นมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากกว่า 1 แสนไร่ โดยเฉพาะหมู่บ้านบางมั่น ตำบลนาพญา ถือเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวจำนวนมาก
นายเสน่ห์ คงสุวรรณ ประธานชมรมผู้เลี้ยงลิงกังขึ้นมะพร้าว จ.ชุมพร นายจินตการ พรหมสุวรรณ รองนายกสมาคมชาวสวนมะพร้าว จ.ชุมพร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้เกี่ยวข้องในท้องที่มาร่วมให้การต้อนรับคณะของผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศเพื่อให้ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงพร้อมกับให้ถ่ายทำบันทึกภาพการใช้ลิงกังขึ้นมะพร้าว ชีวิตความเป็นอยู่ของลิงกังและเจ้าของซึ่งเป็นไปตามวิถีชีวิตความรักความผูกพันระหว่างคนกับลิงกังในชีวิตประจำวันที่สืบทอดมาแต่โบราณหลายชั่วอายุคนแล้ว เพื่อให้ผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศได้เห็นกับสายตาตนเองว่าการเลี้ยงลิงกังไว้ขึ้นมะพร้าวนั้นเจ้าของจะเลี้ยงดูเอาใจใส่อย่างดีมากกว่าการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นอื่นๆ
นายเสน่ห์ อธิบายผู้สื่อข่าวจากญี่ปุ่น ว่า การเลี้ยงลิงกังขึ้นมะพร้าวนั้นมีมาตั้งแต่โบราณรุ่นปู่ย่าตายาย และปัจจุบันการเลี้ยงดูลิงกังนั้นไม่ได้จับมาจากป่าธรรมชาติ เพราะลิงกังเป็นสัตว์คุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 แต่ผู้ที่เลี้ยงลิงกังอยู่ทุกวันนี้เป็นเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนและฝังไมโครชิพ การครอบครองลิงกังไว้กับทางราชการก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นสัตว์คุ้มครอง
“สำหรับลิงกังที่ใช้ขึ้นมะพร้าวทุกวันนี้ได้มีการเลี้ยงขยายเพันธุ์มาจากพ่อแม่พันธุ์ที่มีการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว เมื่อเติบโตก็จะนำมาฝึกหัดให้ปั่นลูกมะพร้าวจนชำนาญ จนรู้หน้าที่ รู้ภาษาที่ใช้สื่อสารกันระหว่างทำงาน พอมีอายุมากกว่า 3 ปี จึงจะนำไปทำงานขึ้นมะพร้าว ในแต่ละวันหนึ่งจะขึ้นมะพร้าวตั้งแต่เวลา 8.00 น-15.00 น มีพักเที่ยงกินอาหารเช่นเดียวกับเจ้าของ และลิงกัง 1 ตัวจะขึ้นมะพร้าวได้ประมาณ 300 ลูก บางคนมีลิงกัง 2-3 ตัว ก็จะขึ้นมะพร้าวรวมกันได้มากนับพันลูก เมื่อกลับมาถึงบ้านก็จะจัดหาอาหารให้ลิงกังได้กินอย่างดี รวมถึงการสร้างที่อยู่ให้กับลิงกังได้หลับนอนในตอนกลางคืนเพื่อให้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่ ” นายเสน่ห์ ระบุ
นายเสน่ห์ กล่าวต่อว่าผู้ที่จะเลี้ยงลิงกังขึ้นมะพร้าวใน จ.ชุมพร ทุกคนได้ขึ้นทะเบียนไว้กับทางราชการแล้วซึ่งจะมีกฎหมายควบคุมและมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการทรมานทารุณกรรมลิงกังขึ้นมะพร้าว หากมีการทรมานทารุณกรรมลิงกังมันก็จะไม่สามารถทำงานขึ้นมะพร้าวให้กับเราได้เลย เพราะมันจะเกิดอาการดื้อและต่อต้านไม่ยอมขึ้นอย่างแน่นอน
ด้าน Mr.Toshihisa Onishi ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเกียวโด ประเทศญี่ปุ่น กล่าวกับเจ้าของลิงกังและชาวสวนมะพร้าวผ่านล่ามว่าที่ตนเองมาในวันนี้ก็เพื่อจะมาดูมาพิสูจน์ความจริงให้เห็นกับสายตาว่าการฝึกสอนลูกลิงกังให้เก็บลูกมะพร้าว กับการให้ทำงานลิงกังขึ้นมะพร้าวจริง ๆ และการเลี้ยงดูชีวิตความเป็นอยู่หลังลิงกังทำงานขึ้นมะพร้าวเป็นอย่างไร ซึ่งก็ถือว่าเป็นภูมิปัญญาและวิถีชีวิตดั้งเดิม เพราะลิงกังถูกฝึกหัดเรียนรู้จนรู้หน้าที่ตัวเองและวิ่งขึ้นปั่นลูกมะพร้าวด้วยความชำนาญตามที่มีการฝึกฝนมาโดยใช้ภาษาที่สื่อสารเข้าใจระหว่างกันไม่มีการบังคับทุบตีแต่อย่างใด และยังมีความผูกพันความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันระหว่างคนกับลิงกัง ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาวิถีชีวิตของคนไทยที่ควรจะอนุรักษ์ไว้ และตนเองจะได้นำเสนอข่าวให้คนทั่วโลกได้รับรู้ตามที่ได้ลงพื้นที่พบเห็นมากับสายตาตัวเอง.
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/
เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/71199
20 ม.ค.2564 - นายอวิรุทธ์ ชาญชัยกิตติกร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก โดยแชร์บทความจาก https://reporter-journey.com ในเรื่อง เปิดคำสัมภาษณ์ผู้บริหาร AstraZeneca ว่าทำไมวัคซีนจาก Oxford ถึงห้ามขายทำกำไร-และในอาเซียน บริษัทที่เข้าเงื่อนไขการผลิตวัคซีนโดยไม่ประสงค์ต่อกำไรมีเพียงบริษัทเดียวคือ "สยามไบโอไซเอนซ์" ของประเทศไทย ซึ่งมีการแชร์บทความดังกล่าวจำนวนมาก โดยมีเนื้อหาว่า
บทความแปลจาก Reporter Journey นี้ เป็นการคัดบางส่วนจากบทความต้นฉบับของ BBC (ประเทศอังกฤษ) โดยบทความดังกล่าวที่หยิบยกมาชื่อว่า “Oxford-AstraZeneca vaccine: Bogus reports, accidental finds – the story of the jab.” ที่เล่าถึงกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่วันแรก ผ่านผู้ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนจริง ๆ การเผชิญหน้ากับปัญหาและความยากลำบากจริง ๆ รวมทั้งการทดสอบวัคซีนกับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเขียนไว้อย่างละเอียด
ซึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในบทความนี้คือ คำพูดของทาง Sir Mene Pangalos รองประธานบริหารของ AstraZeneca หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 รายใหญ่ของโลก ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง BBC อังกฤษ ถึงข้อตกลงในการผลิตวัคซีนที่คิดค้นและวิจัยโดย Oxford มหาวิทยาลัยชื่อดังอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในความหวังของการมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค
สำหรับเส้นทางการทดสอบวัคซีนของ Oxford นั้นจากเดิมที่มีการวิจัยและทดสอบกันในโรงงานของสถาบันฯ ซึ่งมีขนาดที่เล็กมากและกำลังการผลิตน้อย จึงไม่สามารถรองรับความต้องการได้ ทีมวิจัยจึงตัดสินใจที่จะจ้างการผลิตบางส่วนไปยังอิตาลี แต่เมื่อตัวอย่างวัคซีนชุดแรกพร้อมจะผลิตก็เกิดปัญหาขึ้น จากการปิดตายการเดินทางทั่วยุโรป นั่นหมายความว่าไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ใดที่จะขนส่งไปกรุงโรม ประเทศอิตาลีได้
ในที่สุดทีมวิจัยจึงต้องเช่าเหมาเครื่องบินเพื่อนำวัคซีน 500 โดสไปผลิต เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะได้รับวัคซีนนี้ทันเวลา ซึ่งนี่เป็นส่วนที่สำคัญมากของเรื่องราวการเริ่มต้นขยายปริมาณวัคซีนให้มากขึ้นในหลายเดือนให้หลังจากนั้น โดยผู้ผลิตชาวอิตาลีใช้เทคนิคที่แตกต่างกันใน Oxford เพื่อตรวจสอบความเข้มข้นของวัคซีนว่า มีอนุภาคไวรัสจำนวนเท่าใดเจือปนอยู่ในแต่ละครั้ง เมื่อนักวิทยาศาสตร์ของ Oxford ใช้วิธีการของพวกเขาปรากฏว่า วัคซีนของอิตาลีมีความเข้มข้นขึ้น 2 เท่า!!
ทั้งนี้มีการพูดคุยไปยังหน่วยงานกำกับดูแลทางการแพทย์ เป็นที่ตกลงกันว่าอาสาสมัครควรได้รับวัคซีนเพียงครึ่งเดียวโดยพิจารณาว่า นี่เป็นเรื่องของความปลอดภัยต่อผู้ทดสอบ และการให้น้อยลงคงปลอดภัยมากกว่าที่จะให้โดสเข้มข้นมากเกินไป แต่หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์นักวิทยาศาสตร์ก็ตระหนักว่ามีบางอย่างเกิดขึ้น อาสาสมัครไม่ได้รับผลข้างเคียงตามปกติ เช่น เจ็บแขนหรือมีไข้ อาสาสมัครประมาณ 1,300 คนได้รับวัคซีนเพียงครึ่งเดียวแทนที่จะเต็ม 1 เข็ม หน่วยงานกำกับดูแลอิสระกล่าวว่าการทดลองควรดำเนินต่อไปและกลุ่ม Half-Dose สามารถอยู่ในเคสการศึกษาได้
ในตอนนั้นทีมวิจัยของ Oxford ยอมกัดฟันเมื่อมีข้อเสนอแนะว่าการให้วัคซีนในสูตรของ Oxford อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเข้มข้น แต่มันได้รับการพิสูจน์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าว่า พวกเขาคือกลุ่มดาวเด่นในแง่ของประสิทธิภาพของวัคซีน
ตั้งแต่เริ่มต้นทีมงานของ Oxford มีเป้าหมายในการสร้างวัคซีนที่สามารถช่วยโลกได้ ดังนั้นพวกเขาต้องการปริมาณหลายพันล้านโดสซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทผู้ผลิตในระดับอุตสาหกรรมเท่านั้นที่สามารถทำได้ ทำให้ Sir Mene Pangalos รองประธานบริหารของ AstraZeneca ยักษ์ใหญ่ด้านเวชภัณฑ์ในเคมบริดจ์ แนะนำว่าบริษัทสามารถช่วยให้ความต้องการของ Oxford เป็นจริงได้
แต่ Oxford ก็มีเงื่อนไขอยู่ว่า “วัคซีนควรมีราคาไม่แพง” ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีผลกำไรสำหรับบริษัทยา กล่าวคือ “บริษัทยาที่จะผลิตวัคซีนของ Oxford ห้ามกระทำการค้าที่ก่อให้เกิดผลกำไร”
“เพราะจุดประสงค์หลักของวัคซีนสูตร Oxford ก็เพื่อช่วยคนทั่วโลก ไม่ใช่ช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับนายทุน”
หลังจากการเจรจาอย่างเข้มข้นพวกเขาบรรลุข้อตกลงเมื่อปลายเดือนเมษายนปี 2563 ว่า วัคซีนนี้จะจัดให้โดยไม่หวังผลกำไรทั่วโลก เพราะเอาเข้าจริงแล้วในช่วงเวลาของการระบาดแบบนี้ วัคซีนหรือยามักจะมีราคาแพงสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ดังนั้นเพื่อการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันจึงต้องไม่มีผลกำไรมาเกี่ยวข้อง
โดยบริษัทที่เข้าเงื่อนไขการผลิตวัคซีนโดยไม่ประสงค์ต่อกำไรคือ “สยามไบโอไซเอนซ์” ของประเทศไทย และถูกกำหนดให้เป็นบริษัทเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนสูตร Oxford กระจายไปทั่วทั้งย่านนี้
ที่สำคัญที่สุด AstraZeneca ตกลงที่จะรับความเสี่ยงทางการเงินแม้ว่าวัคซีนจะไม่ได้ผลก็ตาม
ในเดือนพฤษภาคม 2563 ด้วยความเชื่อมั่นอย่างมาก รัฐบาลสหราชอาณาจักรตกลงที่จะซื้อวัคซีน 100 ล้านโดสและให้การสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนอีกเกือบ 90 ล้านปอนด์
ในช่วงต้นฤดูร้อนที่ผ่านมา ระดับการติดเชื้อโคโรนาไวรัสลดลงในสหราชอาณาจักร แม้ว่านี่จะเป็นข่าวดี แต่ก็ทำให้การใช้ชีวิตยากขึ้นสำหรับการทดลองซึ่งต้องอาศัยอาสาสมัครที่สัมผัสกับไวรัส เพื่อที่จะทราบว่าวัคซีนจะป้องกันพวกเขาได้หรือไม่ ดังนั้นวัคซีนจึงต้องลองส่งไปทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างในประเทศอื่น ๆ ด้วยเพื่อดูว่ามันทำงานอย่างไรในประเทศที่มีลักษณะประชากรที่แตกต่างกัน
และแล้วการทดสอบก็ได้เริ่มขึ้นในแอฟริกาใต้ และบราซิลซึ่งในไม่ช้ากลายเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ผลการวิจัยเบื้องต้นได้รับการเผยแพร่ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วัคซีนจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของอาสาสมัคร 1,000 คนแรกหรือไม่ ตอนนั้นทีมงานรู้สึกกดดัน
Prof Katie Ewer ผู้เป็นหัวหน้าทีมทดสอบกล่าวว่า “ฉันทำงานเกี่ยวกับวัคซีนมานานพอที่จะรู้ว่าวัคซีนส่วนใหญ่ที่ผลิตกันมาจากที่ต่าง ๆ ใช้ไม่ได้ผล และมันเป็นความรู้สึกที่เลวร้ายที่สุดในโลกที่มีความคาดหวังสูงเช่นนี้แล้วก็ไม่เห็นอะไรเลย”
ข่าวดี วัคซีนของ Oxford – AstraZeneca ดูเหมือนจะปลอดภัย และได้กระตุ้นการตอบสนองระบบภูมิคุ้มกันแบบที่พวกเขาหวังไว้ มันผลิตแอนติบอดีที่ต่อต้านไวรัสและเซลล์ T ซึ่งสามารถฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อได้ แต่ข้อมูลยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ เพราะก่อนหน้านี้ทีม Oxford หวังว่าจะผลิตวัคซีนที่สามารถส่งมอบได้ในครั้งเดียวดังนั้นจึงมีวัคซีนเพิ่มขึ้นอีกรอบ
อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมทดสอบ 10 คนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส แสดงให้เห็นว่ามีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นมาก ดังนั้นอาสาสมัครทุกคนจึงได้รับเชิญให้กลับมารับวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มโอกาสในการป้องกัน ซึ่งแม้ว่าผลลัพธ์ในช่วงแรกเหล่านี้จะมีแนวโน้มที่ดี แต่ในขั้นตอนนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าวัคซีนสามารถป้องกันโควิด -19 ได้จริงหรือไม่
อย่างไรก็ตามในบทความยังกล่าวถึงการทดลองวัคซีนจากบริษัทอื่นว่า ในเดือนพฤศจิกายนมีการเผยแพร่ผลการทดลองวัคซีนอีก 2 รายการ คือ Pfizer-BioNTech เป็นเจ้าแรก จากนั้นหนึ่งสัปดาห์ต่อมา Moderna ได้ประกาศว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพประมาณ 95% ทำให้ทีมงาน Oxford เริ่มมีกำลังใจ
ในที่สุดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน คณะกรรมการอิสระด้านความปลอดภัยของข้อมูลก็พร้อมที่จะเปิดเผยผลการวิจัยของ Oxford-AstraZeneca แต่ผลลัพธ์ที่ได้น่าประหลาดใจและซับซ้อนกว่าที่คาดไว้
ในขณะที่ Pfizer-BioNTech และ Moderna มีตัวเลขประสิทธิภาพที่สูงมาก ส่วน Oxford ได้ตัวเลขผลลัพธ์
ว่าป้องกันได้โดยรวม 70%โดยมาจากผู้ได้รับ 2 โดสเต็มสามารถป้องกันไวรัสได้ 62%
ในขณะที่ผลลัพธ์ที่ไม่มีใครคาดคิดคือในกลุ่มเล็ก ๆ ที่ได้รับยาครึ่งโดสครั้งแรก และเต็มโดสในเข็มที่ 2 จะมีภูมิคุ้มกันสูงสุด 90% แถมยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากการรับวัคซีนสูตร Oxford
มันเรื่องที่น่าสนใจคือ เมื่อรับวัคซีนไป ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายค่อย ๆ ถูกสร้างขึ้นเรื่อย ๆ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ นอกจากนี้อาสาสมัครทั้งหมดในกลุ่มนี้อายุต่ำกว่า 55 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความแข็งแรงของร่ายกายสูง
เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ทีมวิจัย Oxford ได้เผยแพร่การวิเคราะห์ข้อมูลการทดลองของพวกเขาในวารสารทางการแพทย์ Lancet ความโปร่งใสนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญมั่นใจได้ว่า แม้ประสิทธิภาพของวัคซีนต่อการฉีด 1 เข็มจะน้อยกว่าของ Pfizer-BioNTech เล็กน้อย แต่ความปลอดภัย และอาการแพ้ที่รุนแรงไม่มีปรากฏเหมือนกับวัคซีนของบริษัทอื่น
อีกทั้ง Oxford-AstraZeneca ก็มีข้อได้เปรียบที่สำคัญคือขวดของมันสามารถเก็บและขนส่งได้ที่อุณหภูมิตู้เย็นปกติ ในขณะที่ Pfizer-BioNTech ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ซึ่งมีต้นทุนตู้แช่และการขนส่งที่สูง ทำให้วัคซีนจะมีราคาสูงตามไปด้วย
-------------------------------
แหล่งข่าว
https://reporter-journey.com/2021/01/19/เปิดคำสัมภาษณ์ผู้บริหา/?fbclid=IwAR33X4S1s3d1IZ4qYGvqSYpHphpqcVMYo19AcAWoyh9inZM7hb0wV6rHga4
https://www.bbc.com/news/health-55308216
ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/90396
เราเคยเชื่อว่าถ้าคนไทยฉีดวัคซีนได้ประมาณ 70% ของประชากร ก็จะเกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” หรือ herd immunity จะทำให้โควิด-19 หยุดการระบาด
และเราก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้
แต่คุณหมอยง ภู่วรวรรณ เพิ่งจะบอกเราว่ามันไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว
ท่านยืนยันผ่านเฟซบุ๊กว่า
“วัคซีนทุกชนิดไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนจากประเทศตะวันตกหรือตะวันออก เพียงแต่ลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการตายเท่านั้น...”
แปลว่า คำว่า “ภูมิคุ้มกันหมู่” หมดความหมายไปแล้ว
นั่นย่อมแปลว่า รัฐบาลไทยก็ต้องปรับยุทธศาสตร์และการทำความเข้าใจกับคนไทยเสียใหม่
มิฉะนั้นการรณรงค์สู้กับโควิดจะหลงทิศหลงทางได้
คุณหมอยงอธิบายว่า
“เมื่อเกิดโรคติดต่อ เราจะได้ยินคำว่าภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อลดการระบาดของโรคและยุติการระบาด
ภูมิคุ้มกันหมู่จะได้ผลในการป้องกันการระบาด ภูมิคุ้มกันนั้นจะต้องป้องกันการติดโรคได้ และเมื่อมีภูมิคุ้มกันในกลุ่มประชากรมากจำนวนหนึ่ง ก็จะช่วยป้องกันคนที่ไม่มีภูมิไปด้วย เช่น โรคหัด โปลิโอ ประชากรส่วนใหญ่ใด้วัคซีนในการป้องกันโรค โรคก็จะเบาบาง และในที่สุดก็จะยุติการระบาด
เมื่อมาดู covid-19 จุดมุ่งหมายการให้วัคซีนในระยะแรก ต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
แต่ในปัจจุบันเห็นได้ชัดแล้วว่า วัคซีนทุกชนิดไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนจากประเทศตะวันตกหรือตะวันออก เพียงแต่ลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการตาย และยังพบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเมื่อติดเชื้อ ปริมาณไวรัสที่อยู่ในตัว สามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้
ดังนั้น วัคซีนที่ใช้ในขณะนี้จึงไม่สามารถที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ เพราะถึงแม้มีภูมิคุ้มกันก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลงตลอดเวลา และขณะเดียวกันระยะฟักตัวของโรค covid-19 สั้นมาก จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ลดความรุนแรงของโรคได้
เมื่อไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในแต่ละคนก็ไม่สามารถจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ในการลดการติดเชื้อในประชากรหมู่มากได้ จะเห็นได้ว่าทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอิสราเอล ที่มีการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก ก็ยังพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน แต่ความรุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดในระลอกก่อนมีวัคซีนลดลง อัตราตายและอัตราการป่วยนอนโรงพยาบาลลดลง”
แล้วทางออกคืออะไร?
คุณหมอยงตอบว่า
“ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ใน covid-19 จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้ในขณะนี้ ทั้งที่แต่เดิมคิดว่าถ้าประชากรส่วนใหญ่ได้วัคซีนถึง 70% แล้วโรคจะทุเลาลง แต่ความเป็นจริง ประเทศที่ฉีดวัคซีนได้สูงแล้วก็ยังพบการระบาดของโรค
ทางออกของ covid-19 ทุกคนจะต้องได้รับวัคซีน หรือเคยติดเชื้อ และให้มีภูมิพื้นฐานอยู่ และเมื่อติดเชื้อ อาการของโรคก็จะน้อยลง หรือไม่มีอาการ แล้วจะกระตุ้นภูมิต้านทานให้สูงขึ้น และการติดเชื้อครั้งต่อๆ ไปอาการจะน้อยลงไปเรื่อยๆ จนไม่มีอาการ
การติดเชื้อครั้งแรกเมื่อยังไม่มีภูมิต้านทานเลย อาการจะรุนแรงได้ และเมื่อมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะจากวัคซีนหรือการติดเชื้อครั้งแรก การติดเชื้อครั้งต่อไปอาการก็จะน้อยลง และในที่สุดก็จะเป็นแบบไม่มีอาการ และโรคนี่ก็จะอยู่กับเรา โดยที่ติดเชื้อแล้วอาการไม่รุนแรง หรืออัตราการเสียชีวิตน้อยมาก อย่างเช่นโรคทางเดินหายใจทั่วไป
เป้าหมายการฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ใน covid-19 ภูมิคุ้มกันไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ป้องกันความรุนแรงของโรคได้ ภูมิคุ้มกันหมู่ที่ตั้งเป้าไว้จึงไม่สามารถที่จะนำมาใช้ได้ ทุกคนจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาจากการฉีดวัคซีน หรือติดโรค แล้วเมื่อเป็นซ้ำก็จะไม่มีอาการหรืออาการน้อยลง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ปริมาณการฉีดวัคซีนที่คาดไว้แต่เดิมในการลดการระบาดของโรค เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้ หรือกล่าวว่า ต่อไปนี้ทุกคนจะต้องสร้างภูมิขึ้นมาเพื่อลดความรุนแรงของโรคที่จะเกิดในกรณีที่เป็นซ้ำ และในอนาคตเด็กเล็กที่เกิดมา ยังไม่มีภูมิก็จะมีการติดโรคโดยธรรมชาติ ซึ่งโรคนี้ไม่รุนแรงสำหรับเด็ก และก็จะเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมาหลังจากการติดเชื้อในวัยเด็ก แบบโรคทางเดินหายใจทั่วไปที่เราพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่เคยติดเชื้อในวัยเด็กและมีภูมิอยู่แล้ว
โรคนี้จะอยู่กับเราตลอดไป จำนวนวัคซีนที่จะใช้จึงต้องใช้สำหรับประชากรทุกคนในประเทศไทยทุกคน ในการสร้างภูมิคุ้มกันพื้นฐาน เพื่อลดความรุนแรงของโรคในกรณีที่มีการติดเชื้อ หรือให้เป็นแบบไม่มีอาการในครั้งต่อไป”
นั่นแปลว่าต้องฉีดวัคซีนให้คนไทยทุกคน หรือต้องฉีด 100% เท่านั้น!.
ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/115837
เมื่อผมอายุไม่ถึง 7 ขวบ ผมชอบเอาหนังสติ๊กไปยิงนกกระจิบที่ชอบบินมาหาแมลงกินที่พุ่มไม้ใกล้บ้าน ผมเคยยิงมันตายแล้วคิดภูมิใจว่ามีฝีมือยิงแม่น
ภายหลังโตเป็นผู้ใหญ่ ผมจึงสำนึกได้ว่าผมทำบาป ยิงนกตาย พรากมันจากพ่อ-แม่-ลูก-คู่รักของมันโดยไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลย
เมื่อผมเรียนวิชารัฐศาสตร์จบปริญญาตรี-เอกใหม่ๆ ผมเชื่อว่าการปกครอในระบอบประชาธิปไตยดีเลิศ ผมไม่ได้สนใจที่จะเรียนรู้พฤติกรรมในการเลือกตั้งของไทยว่าเขาเลือกผู้แทนกันมาอย่างไร
ผมเคยเขียนบทความลงในวารสารต่างๆ ยืนหยัดความเชื่อของผมว่าการทำรัฐประหารเป็นงานเลวร้ายที่จะอ้างเหตุผลใดๆ มาลบล้างไม่ได้ทั้งสิ้น
เมื่อผมเกษียณอายุราชการแล้ว ผมเห็นคนพันธุ์ทักษิณยึดอำนาจรัฐในไทย โดยผ่านการเลือกตั้งสกปรก ผมเห็นพวกเขาโกงบ้านกินเมือง ใช้อำนาจปกครองประเทศโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของตนและพรรคพวก จนที่สุดผมได้ข้อสรุปว่าคนไทยจะแตกแยกกันทุกหย่อมหญ้าและประเทศชาติจะล่มจมในที่สุด ถ้าหากเราจะหวังลมๆ แล้งๆ รอคอยพระสยามเทวาธิราชมากอบกู้สถานการณ์ให้
การใช้กำลังเข้ายึดอำนาจโดยทหารเป็นทางออกที่เลวร้ายน้อยที่สุด แล้วสถานการณ์ก็บังคับให้ทหารทำรัฐประหารจริงๆ ถึง 2 ครั้ง ซึ่งผมก็เห็นชอบด้วย นั่นคือผมได้เปลี่ยนทัศนคติทางการเมืองอย่างชัดเจน
จากเดิมที่ว่าทหารต้องห้ามในการทำรัฐประหาร มาเป็นทหารมีสิทธิ์ธรรมชาติที่จะทำรัฐประหารได้ ถ้าเรามีประชาธิปไตยจอมปลอมที่ไม่ยึดหลักกฎหมายในการปกครองประเทศ
สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ผมมีเวลาวิเคราะห์ปัญหาการเมืองไทยมากขึ้น ผมดูจากของจริงมากกว่าเชื่อตามตำรา
ผมเห็นคนไทยในวงการวิชาการ สื่อมวลชน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักการเมืองจำนวนมาก มีทัศนคติทางการเมืองเหมือนผมสมัยมันสมองยังไม่โต ยิงนกกระจิบเล่นโดยไม่รู้จักคิดให้รอบคอบว่าแล้วใครจะได้อะไร จะเอาระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่ แล้วได้ประชาธิปไตยจอมปลอมที่ใครเป็นใหญ่กันแน่ รณรงค์ชวนคนอื่นให้ออกเสียงไม่รับช่วงรัฐธรรมนูญโดยไม่คิดให้รอบคอบว่าถ้าไม่รับฉบับนี้แล้วผลจะเป็นอย่างไร
ปัจจุบัน มีการรณรงค์กันอย่างแพร่หลายว่านายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากการเลือกตั้ง “ไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอก” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นแชมป์ล่าสุดที่ออกมาสอนคนให้เชื่อเช่นนั้น ตอนที่ผมยังเป็นหนุ่มและฟุ้งซ่านประชาธิปไตยในแผ่นกระดาษนั้น ผมตกหลุมตำราวิชาการฝรั่งไม่ลึกเท่ากับอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์
เรามีตัวอย่างให้เห็นกันชัดๆ ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา เรามีนายกรัฐมนตรี 9 คน (ไม่รวมที่เป็นไม่เกิน 2 เดือน) เป็น “คนนอก” 5 คน ได้แก่ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คุณอานันท์ ปันยารชุน พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
ส่วนที่เป็น “คนใน” มี 9 คน คือ พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายทักษิณ ชินวัตร นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงค์สวัสดิ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เราเห็นแล้วยังว่าใครทำประโยชน์ให้แก่ช่าติ ใครทำลายประเทศชาติมากกว่ากัน
มีใครมองไม่เห็นบ้าง “นายกฯ คนนอก” เช่น พลเอกเปรม และคุณอานันท์ นั้นมีคุณูปการต่อประเทศชาติมากเพียงใด พลเอกประยุทธ์ใช้เวลา 2 ปีเศษกอบกู้ประเทศเรา ซึ่งจมปลักอยู่กับกองเพลิงแห่งความขัดแย้งให้เป็นได้อย่างทุกวันนี้ เรียกว่าเป็นผู้นำที่ไม่ธรรมดา แต่อนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นเรายังมองไม่เห็น
ส่วน “นายกฯ คนใน” นั้น ผู้ที่มีคุณสมบัติกอบกู้ชื่อเสียงของนักการเมืองในสายตาของผมมีคนเดียว คือ คุณชวน หลีกภัย
ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้นพูดเก่ง มีหลักการ-หลักวิชา เหมาะกับการเป็นผู้นำของประเทศประชาธิปไตยตะวันตก ท่านมีปัญหาเรื่องการตัดสินใจในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง กรณีการประชุมสุดยอดอาเซียน + 6 ที่โรงแรมรอยอลคลิฟบิชรีสอร์ทที่พัทยา (10 เมษายน 2552) ซึ่งถูกม็อบเสื้อแดงบุกขับไล่อภิสิทธิ์และผู้นำต่างประเทศหนีกระเจิงตั้งแต่วันแรก และต้องล้มเลิกการประชุมคราวนั้น ประเทศไทยเสียหายอย่างใหญ่หลวงอย่างประเมินค่ามิได้ การประชุมที่สำคัญยิ่งครั้งนั้น นายกรัฐมนตรีผู้เป็นเจ้าภาพจะต้องมีข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้าน
ถ้าไม่มีก็ต้องถือว่าบริหารงานข่าวกรองไม่เป็น ท่านน่าจะรู้ว่าลำพังกำลังตำรวจนั้นเชื่อถือไม่ได้ และงานสำคัญเช่นนั้นจะเลื่อนหรือยกเลิกก็ไม่ได้
ทำไมท่านไม่ขอกำลังทหารมาช่วย ถ้าท่านมัวกังวลใจว่าเอาทหารมาใช้งานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในไม่เป็นประชาธิปไตย ก็หมายความว่าท่านเอาหลักวิชาประชาธิปไตยมาประยุกต์ใช้กับประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่เป็น เช่นเดียวกับที่ท่านถูกม็อบเสื้อแดงไล่ต้อนซุกรถหนีออกมาจากกระทรวงมหาดไทย
2 วันต่อมาและการสลายการชุมนุมที่ยืดเยื้อของม็อบเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ (12 มีนาคม – 19 พฤษภาคม 2553) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะท่านตัดสินใจ แก้ปัญหาไม่เป็น
สิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมเห็นภัยจากระบอบประชาธิปไตยสามานย์มากขึ้น สหรัฐฯ ได้ชื่อว่าเป็น แชมเปี้ยนของระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่มีประเทศใดเสมอเหมือนในการทำร้ายคนบริสุทธิ์ทั่วโลก
ใครเป็นผู้นำไล่ล่าสังหารซัดดัม ฮุสเซ็นของอิรัก ใครไปโค่นล้มรัฐบาลมูอัมมาร์ อัล กัดคาฟี่ของลิเบีย ทำให้ 2 ประเทศนี้ประสบภาวะสงครามแหลกลานมาจนถึงทุกวันนี้ ยังมีอัฟกานิสถาน ซีเรีย และอื่นๆ อีกมากมาย ฉะนั้น คนไทยทั้งหลายจงอย่าหลงไหลคลั่งไคล้าระบอบประชาธิปไตยให้มากนักเลย
มีคนสร้างประเด็นความขัดแย้งให้พวกเราตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งผ่านประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา “นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง”
คนที่เล่นการเมืองเป็นอาชีพของไทยมีไม่ถึง 1% ของประชากรทั้งหมด ต้องการผูกขาดอำนาจแต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดของประเทศก็ได้แล้ว แม้พรรคการเมืองจะคัดสรร “คนนอก” มาอยู่ในบัญชีผู้แข่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158-159 ก็ไม่ยอม
คนดีๆ มีความสามารถมากมายไม่อยากไปแย่งตำแหน่งนั้นกับนักการเมืองหรอก บางคนแม้ท่านจะเอาดอกไม้ธูปเทียนไปเชิญก็ยังไม่ยอมรับด้วยซ้ำ
คิดได้หรือไม่ว่าท่านกำลังเรียกร้องคนไทยทั่วประเทศให้ตัดสิทธิ์ของคนอาชีพอื่นมากกว่า 99% มิให้เขาได้ผู้นำที่ดีมีความสามารถ เพราะเขาไม่ยอมสมัครเลือกตั้ง ส.ส. หรือเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ที่นักการเมืองได้ทำให้สกปรกไปแล้ว
“คนนอก” เป็นคนไทยหรือเปล่า? ตอบคำถามนี้ได้ไหม?
กลัวทหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีใช่ไหม?
ทหารไม่ใช่คนไทยหรือไร?
ทหารรักชาติไม่เป็นหรือ?
ท่านกลัวทหารเอารถถังมาหนุนหลังปกครองประเทศหรือ?
ทุกวันนี้ท่านก็ด่าทหารกันอย่างเสรีอยู่แล้ว ทำไมไม่กลัวล่ะ?
ถ้าไม่ทำผิดกฎหมายก็ไม่ต้องกลัวทหาร
ผมกลัวนายกฯ ที่ไม่บังคับใช้กฎหมายมากกว่า
เพราะคนไม่เคารพกฎหมายทำให้ผมเดือดร้อนด้วย
แทนที่จะมารณรงค์ต่อต้าน “นายกฯ คนนอก”
เรามาช่วยกันรณรงค์ให้คนไทยอย่าแบ่งแยก “คนใน” “คนนอก” ดีกว่า
คอยต่อต้านนายกคนต่อๆ ไป ที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และ/หรือ
ไม่บังคับใช้กฎหมาย
อย่างเคร่งคัดด้วย
เขียน ธีระวิทย์
หน้าที่ 65 จาก 147