หมอเผย โควิดทำให้ไม่ได้กลับบ้านมาครึ่งปี คิดถึงหนักถึงขั้นเปิด Google Earth ดูหลังคาบ้านตัวเอง

 

หมอเผย โควิดทำให้ไม่ได้กลับบ้านมาครึ่งปี คิดถึงหนักถึงขั้นเปิด Google Earth ดูหลังคาบ้านตัวเอง

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า2019หรือโควิด19ในประเทศ ยอดผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูง ซึ่งในแต่ละวันแตะหลักพัน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็นด่านหน้าต้องทำงานกันอย่างหนัก ไม่ได้กลับบ้านเกิดกันมาหลายเดือน หรือบางคนถึงแม้จะอยู่ในกรุงเทพ แต่ออกมาเช่าบ้านอยู่เพื่อลดการเอาเชื้อไปฝากที่บ้าน

ซึ่ง นพ.ธนา ขำยัง แพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวได้ระบุว่า วันนี้ว่างๆเลยได้มานั่งไขว่ห้างถามไถ่น้องหมอพยาบาล ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า....คิดถึงบ้าน คนอยู่ต่างจังหวัดแล้วไม่ได้กลับบ้าน อันนี้ไม่แปลก แต่บางคนบ้านอยู่ในจังหวัดแท้ๆ แต่ก็กลับไม่ได้ ผมก็เพิ่งมารู้ว่ามีบางคนออกไปเช่าบ้านอยู่คนเดียวมาเป็นเดือนแล้วเพราะเขารู้ตัวว่าเสี่ยงสูง บางคนที่บ้านมีพ่อแม่แก่ บางคนที่บ้านมีลูกยังเล็ก บางคนที่บ้านมีผู้ป่วยติดเตียง เขากลับบ้านไม่ได้...เขากลัวเอาเชื้อไปให้ คือคงต้องยอมรับแล้วว่าในนาทีนี้ ไม่มีใครเสี่ยงเกินบุคลากรใน ER แล้วครับ เพราะพวกเราคือด่านหน้าสุดในการพบเจอผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ที่ walk in เข้ามาเอง ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ที่ต้องเอารถพยาบาลออกไปรับ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครจะเป็น Covid-19 ถึงแม้จะมีการคัดกรองเบื้องต้นอยู่แล้ว แต่ถามหน่อยตอนนี้มีพื้นที่ไหนที่ไม่เสี่ยงบ้าง? แถมคนไข้ covid บางคนไม่ได้มาด้วยไข้ ไอ เหนื่อย ตามตำรา บางคนมาด้วยท้องเสีย บางคนเวียนหัว บางคนรถชนขาหักมาก็มี บางคนมานอนอยู่ใน ER เป็นวันแล้วเพิ่งพบว่าเป็น Covid ก็มี ย้อนมาดูตัวเอง ผมเองก็ไม่ได้กลับบ้านนอกมาจะครึ่งปีแล้ว ยอมรับว่าคิดถึงบ้านนะ ยังเคยถึงขนาดแอบไปนั่งเปิด Google Earth ดูหลังคาบ้านตัวเองมาแล้วเลย... ห่วงทั้งแม่ ห่วงทั้งหมา ไม่รู้จะเป็นยังไงกันมั่ง แม่นี่ก็คุยบ่อย แต่หมานี่ไม่ได้คุยเลย ยังไงก็สัญญาว่าจะรอด เพื่อกลับไปกอดกันให้ได้ครับ

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/news/regional/465887?adz=

 

 

วันที่ 2 ม.ค.64 เพจเฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ชี้แจงเตือนประชาชน ว่า ข่าวปลอม อย่าแชร์ ! เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายผ่านอากาศ (Airborne) โดยระบุว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับเรื่อง เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายผ่านอากาศ (Airborne) ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากที่มีการแชร์ข้อความว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายผ่านทางอากาศได้นั้น ทางกรมควบคุมโรคได้ชี้แจงว่าการติดต่อของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลักๆ ยังคงแพร่กระจายผ่านละอองเสมหะ (droplets) ซึ่งผู้รับเชื้อต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ไอ จาม ในระยะน้อยกว่า 90 ซม. และต้องสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เข้าทางเยื่อเมือก แต่เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถป้องกันได้ ขอให้ทุกคนดูแลร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย

 

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่จากกรมควบคุมโรค สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/index.php หรือโทร. 1422 ได้ตลอด 24 ชม.

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การติดต่อของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลักๆ ยังคงแพร่กระจายผ่านละอองเสมหะ (droplets) ซึ่งผู้รับเชื้อต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ไอ จาม ในระยะน้อยกว่า 90 ซม. และต้องสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่ง

 

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 

ข้อมูลจาก https://siamrath.co.th/n/209061

15 ส.ค. 2565 – ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 1,663 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยในประเทศ 1,663 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 0 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,398,653 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน2,335 ราย หายป่วยสะสม 2,401,480 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 20,256 ราย เสียชีวิต 30 ราย เสียชีวิตสะสม 10,160 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 937 ราย

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฝากกระทรวงสาธารณสุข ความห่วงใยถึงผู้หายป่วยแล้ว อาจพบภาวะลองโควิด (Long Covid) ซึ่งเป็นภาวะที่พบในผู้ป่วยที่เคยเป็นโควิด-19 และรักษาจนหายแล้ว มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองหากเกิดภาวะดังกล่าวเช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย สมองล้า หัวตื้อ (brain fog) หายใจติดขัด และอาจมีอาการอื่นๆ ประกอบ เช่น เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ ท้องเสีย อย่างไรก็ตามอาการลองโควิด (Long Covid) จะค่อยๆ ดีขึ้นตามระยะเวลา

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า สำหรับผู้สงสัยว่ามีอาการลองโควิดใน กทม. สามารถสอบถามและเข้ารับบริการปรึกษาผ่านคลินิก (Long Covid) ติดตามอาการแบบ One Stop Service ผ่านศูนย์ BFC ทั้ง 9 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลลาดกระบัง โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ และโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ หรือบริการผ่าน App “หมอ กทม.” ซึ่งจะครอบคลุมการให้คําปรึกษา การตรวจประเมิน การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือตรวจพิเศษ การวินิจฉัย การดูแลรักษา ติดตามอาการ รวมถึงการส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (ในกรณีจําเป็น) โดยเบิกจ่ายค่ารักษาตามสิทธิของผู้ป่วยได้.

 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/200650/

 

หลากวิธีพิฆาต‘เชื้อดื้อยา’ของนักวิทยาศาสตร์

 

จะสู้รบปรบมือกับสิ่งมีชีวิตจิ๋ว ที่ไม่เกรงกลัวสารปฏิชีวนะพวกนี้ได้อย่างไร เรื่องนี้มีคำตอบหลายอย่างเกี่ยวกับ"เชื้อดื้อยา"

ปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์สายชีวภาพหรือการแพทย์เป็นกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ การพบจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียที่ต้านทานต่อยาปฏิชีวนะมากขึ้น และในจำนวนนี้ก็มีหลายกรณีที่แทบจะหาอนุพันธ์ใหม่ๆ ของยาที่ใช้ฆ่าเชื้อพวกนี้ไม่ได้อีกแล้ว ป่วยการที่จะไปกล่าวถึงยาเก่าๆ ที่ใช้มานาน เพราะมีการผลิตยาปฏิชีวนะเพื่อนำมาใช้รักษาโลกนานกว่า 70 ปีเข้าไปแล้ว

ยารุ่นแรกๆ ที่ผลิตได้จึงใช้รักษาไม่ค่อยได้มานานแล้ว

ถ้าถึงวันหนึ่งที่ "เชื้อดื้อยา" พวกนี้กระจายไปทั่ว วันนั้นหากเรามีแผลแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจจะติดเชื้อจนเสียชีวิตได้ไม่ยากเลย หากวันนั้นมาถึง หัตการที่ทำกันเป็นกิจวัตรและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมาก เช่น การผ่าตัดคลอดบุตรที่เรียกว่า ซี-เซ็กชั่น (C-section) หรือซีซาร์เซ็กชั่น เพราะร่ำลือกันว่าจูเลียส ซีซาร์ ถือกำเนิดมาด้วยวิธีการแบบนี้ ไปจนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพก และการผ่าตัดที่ซับซ้อนอย่างการปลูกถ่ายอวัยวะ คงกลายเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงมาก จนอาจจะจบลงที่การติดเชื้อ (ดื้อยา) และเสียชีวิตในที่สุด

เรื่องนี้ไม่ได้ไกลตัวเราคนไทยเลยนะครับ ผมรู้จักเพื่อนบางคนที่ต้องไปเข้าห้องผ่าตัดด้วยโรคบางอย่าง ปรากฏว่า กลับติดเชื้อดื้อยา กลับมาให้ต้องรักษาอีกรอบ ซึ่งสะบักสะบอมกว่ารอบแรก เพราะกว่าจะรู้ว่าเป็นเชื้อดื้อยาก็โดนยาไปหลายขนานทีเดียว ที่น่าเจ็บใจ ก็คือ สถานที่ซึ่งควรจะปลอดภัยสุดยอดอย่างห้องผ่าตัด กลับเป็นแหล่งเพาะเชื้อดื้อยาสำคัญ...เหมือนกันทั่วโลก

นักวิทยาศาสตร์จะสู้รบปรบมือกับสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่ไม่เกรงกลัวสารปฏิชีวนะพวกนี้ได้อย่างไร คำตอบอาจมีได้หลายแบบครับ ตัวอย่างแรกที่จะเล่าให้ฟังอาศัยอนุภาคนาโนครับ

 

 

แบคทีเรียหลายชนิดสร้างสารชีวพิษ (toxin) ที่ทำลายเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่มันไปอาศัยอยู่ด้วยได้ สารชีวพิษที่พบบ่อยที่สุดชนิดหนึ่งมีหลักการทำงานคือ การไปเกาะและเจาะ จนทำให้เกิดรูรั่วขึ้นที่บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ สุดท้ายเซลล์นั้นก็จะแตกออกในที่สุด

ตัวอย่างแบคทีเรียกลุ่มนี้คือ พวก E. coli ที่เป็นญาติกับพวกที่อาศัยอยู่ในทางเดินอาหารของพวกเราด้วย อีกกลุ่มก็คือ แบคทีเรียสกุลลิสเทอเรีย (Listgeria) ที่โจมตีได้ทั้งระบบประสาทส่วนกลางและทางเดินอาหาร ชื่อสกุลดังกล่าวมาจากแพทย์ผ่าตัดชาวอังกฤษ โจเซฟ ลิสเทอร์ (Joseph Lister) ที่บุกเบิกเรื่องการผ่าตัดในสภาวะปลอดเชื้อ และใช่ครับ ... ถูกนำมาใช้ดัดแปลงเป็นชื่อน้ำยาบ้วนปากยี่ห้อดังรายหนึ่งด้วย

เชื้อที่ก่อโรคแอนแทร็กซ์ ซึ่งเคยมีการนำมาใช้ก่อการร้ายเป็นข่าวดังในประเทศสหรัฐอเมริกาก็อยู่กลุ่มนี้เช่นกัน ถ้ายังจำกันได้คือ รายที่เอาผงที่มีเชื้อแอนแทร็กซ์ส่งไปทางซองจดหมายนั่นแหละครับ

แม้แต่พิษจากงูพิษ แมงป่อง และดอกไม้ทะเล ก็ออกฤทธิ์แบบนี้เช่นกัน

ฉางเหลียงเฟิง (Liangfang Zhang) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก คิดค้นวิธีการจัดการสารชีวพิษจากแบคทีเรียเหล่านี้ โดยใช้การเคลือบอนุภาคนาโนเข้ากับเซลล์เม็ดเลือดแดง สารนาโนเหล่านี้จำเพาะกับสารชีวพิษแต่ละชนิด และทำหน้าที่เหมือนเหยื่อล่อให้สารพิษพวกนี้มาจับ คล้ายเป็นฟองน้ำที่คอยดูซับเอาสารพิษไว้ จนไม่อาจไปทำร้ายเซลล์อื่นๆ ได้

การทดลองในหนูปรากฏว่า หนูที่ติดเชื้อดื้อยาหากได้รับอนุภาคนาโนแบบนี้ ก็อยู่รอดปลอดภัยดี คาดว่าจะทดสอบระดับคลินิกในคนได้ในอีกไม่นาน

จุดแข็งของวิธีการนี้ ก็คือ เนื่องจากมันไม่ได้ฆ่าเชื้อต้นเหตุ จึงมีโอกาสที่เชื้อพวกนี้จะดื้อยาน้อยมาก จุดนี้สำคัญมากในการสร้างสารปฏิชีวนะรุ่นใหม่ครับ เพราะถ้าเรายังใช้วิธีเดิมๆ คือ ฆ่าเชื้อด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง พวกเชื้อโรคที่หลุดรอดไปได้ เพราะมีสารพันธุกรรมเหมาะสม ก็จะถ่ายทอดความสามารถนี้ให้กันอย่างรวดเร็ว สารปฏิชีวนะใหม่ๆ จึงสิ้นฤทธิ์เร็วมาก วนเวียนกลายเป็นวัฏจักรไม่จบสิ้น

แต่วิธีนี้ก็มีจุดอ่อนคือ ต้นทุนที่แพงกว่ายาปฏิชีวนะมาก การทำให้สารไปเคลือบในจุดที่ต้องการก็ยังเป็นเรื่องยาก อนุภาคนาโนพวกนี้จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือไม่ ก็ยังตรวจสอบกันอย่างละเอียด จุดอ่อนข้อสุดท้ายคือ ต้องตรวจสอบจนแน่ใจว่าพวกมันจะย่อยสลายได้เอง ไม่หลงเหลือตกค้างสะสมในตัวผู้ป่วย

อีกวิธีการหนึ่งที่มีผู้ทำวิจัยกันอยู่คือ การใช้สิ่งที่เรียกว่า เพปไทด์ต้านจุลินทรีย์หรือ เอเอ็มพี (AMP, Antimicrobial peptides) วิธีการนี้เกิดจากความรู้ว่า มีโปรตีนสายสั้นๆ ในระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์และพืช ที่ใช้รับมือเชื้อโรคที่รุกล้ำร่างกายของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น โดยกลไกการทำงานก็คือ มักจะเป็นการโจมตีที่เยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อโรค จนทำให้พวกมันตายในที่สุด

ตัวอย่างที่ทดสอบกันอยู่ได้แก่ AMP ที่สกัดมาจาก เพรียงหัวหอม (tunicate) ที่เป็นสัตว์ทะเลที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน โดยนักวิจัยเติมกรดอะมิโนไม่กี่ตัวเข้าไปในโปรตีนสายสั้นๆ ที่ได้ และเมื่อใช้รักษาหนูที่ติดเชื้อ E. coli หรือเชื้อดื้อยาอื่น ก็พบว่าช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของหนู ทำให้เกิดการอักเสบน้อยลง และยังช่วยดึงดูดเอาเม็ดเลือดขาวมาสู้กับเชื้อโรคมากขึ้นอีกด้วย

วิธีการรักษาแบบนี้ค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่กินเวลาและแพงอยู่สักหน่อย วิธีการนำส่งสารไปยังเซลล์เป้าหมาย ก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติม ผลิตภัณฑ์สุดท้ายอาจจะเป็นครีมทาแผลเปิด รวมถึงอาจใช้ทาตามอุปกรณ์ผ่าตัด เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อีกทางหนึ่ง

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่ตัวอย่างงานวิจัยนะครับ ยังมีวิธีการอีกหลายแบบที่ทำวิจัยกันอยู่ และไม่มีใครแน่ใจว่าสุดท้ายแล้ว วิธีการใดกันแน่ที่ดีที่สุดครับ

  การต่อสู้กับเชื้อโรคดื้อยาจึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สำคัญเรื่องหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันเลยล่ะครับ

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/904115?anf=

15 มิ.ย.65-บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จับมือศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดงานเสวนาเชิงวิชาการออนไลน์ โรช คอนเน็ค เดอะ ดอทส์ (Roche Connect the Dots) ในหัวข้อ “ล้วงลึก เจาะประเด็น “ฝีดาษลิง” และการตรวจหาเชื้อแบบ PCR” เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิงทั่วโลก

  
 
 

ผศ. นพ. โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสตระกูล ออโธพอกซ์ (orthopox) โดยติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือ การรับประทานเนื้อสัตว์ตระกูลสัตว์ฟันแทะ ซึ่งเมื่อติดเชื้อในคนจะทำเกิดอาการไข้ มีผื่นตุ่มน้ำ ตุ่มหนองตามร่างกาย คล้ายโรคฝีดาษ(smallpox) ที่ถูกกำจัดไปแล้วในไปปี ค.ศ 1968 ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงอัพเดต เมื่อวันที่4 มิ.ย.65 มีรายงานผู้ป่วยยืนยันประมาณ 1,500 คน กระจายทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศกลุ่มเสี่ยงในแถบยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะในประเทศสเปน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และโปรตุเกส ที่มีรายงานการระบาดพบจำนวนผู้ติดเชื้อเกิน 20 คน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผศ.นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า แต่ปัจจุบันยังไม่พบรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่ามีการแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด เนื่องจากไวรัสมีระยะฟักตัวนานได้ถึง 21 วัน และในบางรายพบว่าอาการผื่นตุ่มน้ำเกิดขึ้นเพียงในเยื่อบุช่องปาก และที่อวัยวะเพศถึง 60% คล้ายกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างเริม หรืออาจจะเป็นเชื้อซิฟิลิส ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคฝีดาษลิง ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อต่อไปยังผู้อื่นได้ สำหรับผู้ที่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง มีความจำเป็นต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 3 สัปดาห์ จึงจะสามารถสังเกตอาการที่ชี้ชัดได้ว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อหรือไม่ หากไม่พบว่ามีการปรากฎ ก็ไม่จัดว่าเป็นผู้ป่วย

สำหรับแนวทางการรักษาในปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร สามารถรักษาด้วยยาต้านไวรัส 3 กลุ่ม ซึ่งถึงแม้จะยังไม่ใช่ยามาตรฐานเฉพาะสำหรับโรค แต่สามารถใช้ยารักษาฝีดาษในมนุษย์ได้ ได้แก่ Tecovirimat และ Cidofovir, Brincidofovir ซึ่งอาจส่งผลข้างเคียงต่อตับได้เพียงเล็กน้อย และเนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อที่สามารถหายได้เองในผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง และอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ การใช้ยาต้านไวรัส ยังมีความจำเป็นเฉพาะผู้ป่วยบางรายได้เท่านั้น ที่มีความเสี่ยงอันตรายจากโรคถึงชีวิต เช่นผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด


ในด้านการป้องกัน โดยการฉีดวัคซีน ผศ.นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนทั่วไปยังไม่มีความจำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีนเหมือนกับโรคระบาดอื่น ๆ เช่นโควิด 19 เนื่องจากโอกาสในการแพร่ระบาดยังเป็นวงจำกัด จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ ได้แก่ แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์เจ้าหน้าที่พยาบาล ที่มีโอกาสสัมผัสโรคนี้ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย ซึ่งสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังจากมีความเสี่ยง” ผศ.นพ. โอภาส กล่าว

ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวถึงการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม และเพื่อวางแผนแนวทางการปัองกันและรักษาว่า โรคฝีดาษลิงที่ระบาดขณะนี้ว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์แล้วมากถึง 40 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม และมีการกลายพันธุ์เร็วขึ้น ดังนั้นการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสก่อโรคฝีดาษลิง หรือ MONKEY POX จะช่วยในการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ และช่วยตอบคำถามว่าทำไมจึงมีการระบาดของโรคฝีดาษลิงพร้อมกันกว่า 100 รายในหลายประเทศนอกทวีปแอฟริกา(ซึ่งถือเป็นโรคประจำถิ่น) ทั้งในยุโรบ สหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย

เมื่อถามว่าสถานการณ์โรคนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป หัวหน้าศูนย์จีโนม ฯ กล่าวว่า ต้องประเมินในแง่ดีที่สุดและเลวร้ายที่สุด จากการศึกษาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ฝีดาษลิงมีการกลายพันธุ์เร็วขึ้นเป็น 1 ตำแหน่งต่อเดือน จากเดิมเพียง 1 ตำแหน่งต่อปี ซึ่งการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น อย่างรวดเร็วเช่นนี้ ในแง่ร้ายถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงอันตรายที่ต้องเตรียมรับมือ ส่วนในแง่ดี การกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วไม่เป็นผลดีต่อตัวไวรัสเอง เช่น โควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่กลายพันธุ์มาก จะทำให้ไวรัสอ่อนแอลง


“ถ้ามองโลกในแง่บวก ผมมองว่า การระบาดของฝีดาษลิงจะสงบลงเองในอีก 3-4สัปดาห์ข้างหน้า และอีกมุมในแง่ร้ายสุด ซึ่งเราดูจากแผลคนติดเชื้อที่มักเกิดในร่มผ้า คล้ายซิฟิลิส มันอาจก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือเป็นศักราชใหม่ของโรคซิฟิลิส แต่ไม่ใช่ซิฟิลิสโดยตรง แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะเรามีวัคซีนและยาต้านไวรัส “ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์กล่าว


ศ.เกียรติคุณ ดร. วสันต์ กล่าวอีกว่าเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูง ที่จะมีคนติดเชื้อเข้ามาในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่ามีการระบาดของโรคฝีดาษลิงในคนเกิดขึ้นในประเทศเป็นจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำการ PCR “สวอป” น้ำลาย ส่วนน้ำหรือหนองจากตุ่มแผล ทำการสกัดสารพันธุกรรม (nucleic acid purification) จะเป็นด่านแรก เพื่อดูว่าเป็นหรือไม่ แล้วค่อยดูสายพันธุ์ว่าเป็นแบบไหน จากแอฟริกา หรือยุโรป

ด้าน ดร. พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ หัวหน้าศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการว่า เนื่องจากโรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่มีข้อมูลและประสบการณ์ในการตรวจหาเชื้อฯ มาแล้ว และด้วยแผนปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่มีความพร้อม และการตอบโต้สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา เป็นเสมือนการซ้อมแผนในสถานการณ์จริง ทำให้มีความพร้อมรับมือ สามารถตรวจเชื้อได้ในทันที โดยในปัจจุบันสามารถใช้วิธี RT-PCR และการถอดรหัสสารพันธุกรรม ซึ่งถือเป็นการป้องกันเชิงรุกที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการตรวจวินิฉัยเชื้อ ซึ่งจะสามารถแยกผู้ป่วยออกจากสังคมเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้รวดเร็ว ลดการแพร่ระบาดได้


สำหรับการตรวจวินิจฉัยเชื้อสามารถทำได้โดยเก็บตัวอย่างทั้งการสะกิดแผล เลือด และการสว็อบ ซึ่งผลตรวจจะออกภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนน้ำยาสำหรับตรวจ RT-PCR ต้องเป็นน้ำยาที่สามารถตรวจจับเชื้อที่เป็นสาเหตุของการระบาดในปี 2022 นี้ อย่างไรก็ดี ผู้ที่พบอาการผิดปกติต้องสงสัย สามารถขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ข้อมูลจากการสอบสวนโรคจะถูกส่งไปยังกรมควบคุมโรค


” อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้คณะกรรมการพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์จะมีการพิจารณาระดับความรุนแรงของโรคฝีดาษลิง เพื่อการจัดลำดับอีกครั้ง จากที่จัดให้เป็นโรคมีความรุนแรงระดับ 3 ก็จะมีการประเมินจากสถานการณ์ของโรคอีกครั้ง” ดร.พิไลลักษณ์กล่าว

 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/education-news/162195/

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ