ธุรกิจการล้างพิษลำไส้ใหญ่กำลังเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง มีศูนย์ให้บริการทั่วประเทศมากกว่า 7,000 แห่ง มีรายได้รวมกับมากกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีแพทย์ มีการจัดทัวร์ธรรมมะ (detox tours) กันอย่างกว้างขวาง มีราคาตั้งแต่เป็นหมื่นหรือเป็นพันบาท ควบคู่กับผลดีที่ได้รับการอ้างถึงก็อาจมีผลเสียที่ตามมาด้วย เช่น ท่อที่ใช้สอดล้างลำไส้ผ่านทวารหนักเข้าไปอาจทำให้ลำไส้ฉีกขาดและติดเชื้อตามมา รวมทั้งทำให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และอาศัยอยู่ในลำไส้ลดจำนวนลง หรือกรณีที่ใช้ น้ำกาแฟอุ่นหรือร้อนฉีดเข้าไปในลำไส้ ทำให้มีการทำลายเซลล์บุผนังลำไส้และเมื่อมีการทำซ้ำๆ ทำให้ผนังบุลำไส้มีการอักเสบเรื้อรังและติดเชื้อได้เป็นต้น เมื่อเร็วๆนี้ มีผู้ที่ได้รับการล้างพิษลำไส้ใหญ่เสียชีวิต ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่ามีสาเหตุจากการเสียน้ำอย่างรุนแรง ปริมาณโปแตสเซียมในเลือดลดลงเฉียบพลัน นำไปสู่อาการหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต
ทางการแพทย์ถือว่า การล้างพิษลำไส้ใหญ่คือการสวนอุจจาระตามปกติ (enema) ซึ่งควรทำเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น เช่นผู้ที่มีท้องผูกเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียง ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ลำไส้ไม่เคลื่อนไหวตามปกติ รวมทั้งผู้ป่วยก่อนได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์จะฉีดน้ำเกลือปริมาณมากเข้าไปในลำไส้ใหญ่เพื่อให้อุจจาระเหลวและกระตุ้นให้ลำไส้ขยับตัวขับอุจจาระออกจนหมด
การล้างลำไส้ใหญ่บ่อยๆ จะทำให้ลำไส้ไม่ทำงานตามปกติ ถ้าไม่ถูกกระตุ้น การถ่ายตามธรรมชาติจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งสามารถทำได้โดยการกินอาหารที่มีกากใยสูงจำพวกผักและผลไม้ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมทั้งการดื่มน้ำสะอาดมากๆ จะช่วยให้ลำไส้ทำงานตามปกติ จะส่งผลดีมากกว่าวิธีอื่น
วัคซีน HPV ควรฉีดหรืไม่ควรฉีด
ไวรัส HPV (Human papilloma virus) มีหลายสายพันธ์แต่มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ HPV16 และ
HPV18 ที่ผู้ติดเชื้อมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก (cervical cancer) สูงถึง 70-75% ส่วนอีก 2 สายพันธุ์ คือ
HPV6 และ HPV11 เป็นสาเหตุของการเกิดหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ (genital warts) โรคมะเร็งปากมดลูกจัด
เป็นโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในสตรีเป็นอันดับที่ 4 รองจากโรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งปอด และโรคมะเร็งเต้านม
วัคซีน HPV ได้ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2549 และถูกบรรจุให้อยู่ในแผนการควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ ระยะแรก
มีการให้วัคซีนแก่นักเรียนระดับมัธยมปีที่ 5 ทั้งประเทศจำนวน 400,000 คน เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า
วัคซีนมีผลดีกับสตรีอายุ 9-14 ปี ซึ่งจะให้ผลการป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ถึง 90%
วัคซีน HPV มีทั้งชนิดที่ป้องกันไวรัส 2 สายพันธุ์ (HPV16 และ HPV18) หรือ bivalent และที่ป้องกันทั้ง 4 สายพันธุ์
(quadrivalent) สำหรับสตรีอายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องได้รับวัคซีน 2 ครั้ง หลังการฉีดวัคซีนครั้งแรก 6 เดือน ส่วนสตรีอายุเกิน 15 ปี
จะต้องได้รับการฉีด 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 2 หลังการฉีดครั้งแรก 1-2 เดือน และ อีกครั้งหลังฉีดครั้งแรก 6 เดือน
แม้ว่า วัคซีน HPV จะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก แต่อาการข้างเคียง (side effects) จากการ
ได้รับวัคซีนก็มีอยู่เช่นกันที่พบบ่อย ได้แก่ เจ็บ บวม แดง และคัน บริเวณที่ฉีดวัคซีน แต่โดยทั่วไปก็จะหายได้เอง อาการอื่นๆที่พบบ่อย
เช่น ได้แก่มีไข้ ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และมีผื่นแดง แต่อาการเหล่านั้นจะหายได้เองเช่นกัน ส่วนอาการแพ้วัคซีนที่รุนแรง
จนถึงแก่การเสียชีวิตพบได้น้อยมาก ประมาณ 2.6 ใน 10,000 จากข้อมูลนี้ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นระงับการแนะนำให้ฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียน
สำหรับประเทศไทยกระทรวงสาธารณะสุขแนะนำให้การฉีดวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจ พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า
จะให้ลูกได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่
ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคตับอักเสบ ปัจจุบัน เรารู้แล้วว่ามีอย่างน้อย 5ชนิด ได้แก่ Hep A , Hep B , Hep C , Hep D และ Hep E ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า HepA , Hep E ติดต่อ ผ่าน ทางอาหาร และน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ขณะที่ HepB , Hep C และ HepD ติดต่อผ่านทางเลือด ทางเพศสัมพันธ์ และถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก
ไวรัสตับอักเสบ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนมากกว่าโรคเอดส์ วัณโรค รวมทั้งโรคมาลาเรีย รายงาน ขององค์การอนามัยโลกพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคไวรัสตับอักเสบเพิ่มขึ้น 63% จาก 890,000 ราย ในปี 2533 เป็น 1.45 ล้านรายในปี 2556 ขณะที่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ 1.3 ล้านราย วัณโรค 1.4 ล้านราย และ โรคมาลาเรีย 850,000 ราย ในจำนวนนี้ 96 % มีสาเหตุจากการติดเชื้อ Hep B และ Hep C ผู้เสียชีวิตด้วยโรคไวรัสตับอักเสบส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออก และ เอเชียใต้
ปัจจุบันเรามีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ Hep A และ HepB แล้ว แต่ยังไม่มีสำหรับ HepC แต่ก็มีวิธีรักษาที่ได้ผลดีถึงแม้ว่าจะยังคงมีราคาสูง ประมาณว่าประชาชนกว่า 95% ไม่รู้ตัวเองว่าได้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว เนื่องจากไม่มีการอาการของโรค และมากกว่า 95% ของผู้เสียชีวิตจากไวรัสตับอีกเสบมีสาเหตุจากการติดเชื้อ Hep B และHep C ดังนั้นเด็กทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้นานอย่างน้อย 5 ปี ขณะที่ผู้ใหญ่ควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อค้นหาสภาวะติดเชื้อไวรัสกรณีที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อนก็สามารถได้รับการฉีดวัคซีนได้ แต่ถ้ามีประวัติได้รับเชื้อ Hep B หรือ Hep C ก็สามารถให้การรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อเรื้อรังซึ่งจะนำไปสู่โรคมะเร็งตับ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้
สถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศไทย
สำนักคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ได้รายงานข้อมูลการศึกษาด้านความปลอดภัยของอาหารที่คนไทยกินอยู่เป็นประจำวัน เมื่อปี 2552 โดยแยกออกเป็นกลุ่มของอาหาร ดังนี้
1. กลุ่มเนื้อสัตว์บก
เนื้อไก่และหมูจากฟาร์มมีอัตราการตกค้างของยาปฏิชีวนะและสารเร่งเนื้อแดงค่อนข้างสูง กล่าวคือ เนื้อไก่และเนื้อหมูมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะร้อยละ 5.5 และเนื้อหมูมีอัตราการปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดงร้อยละ 6.0
ร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปมีการปนเปื้อนของสีสังเคราะห์ และวัสดุกันเสียสูงเกินค่ามาตรฐาน เนื้อหมูสดที่จำหน่ายในตลาดสดทั่วไปมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ซึ่งก่อให้เกิดโรคในคนได้ เช่นEscherichia coli, Staphylococcus aureus, Clostridium perfringens และ Salmonella spp
2. กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์
แม้จะมีการพัฒนาด้านความปลอดภัยของนมมากขึ้น ในปัจจุบัน แต่ยังคงพบปัญหาการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะและจุลินทรีย์เกินมาตรฐานอยู่เสมอ รวมทั้งคุณภาพด้านโภชนาการของนมที่มีโปรตีนต่ำกว่ามาตรฐานสูงถึงประมาณร้อยละ 35
3. กลุ่มธัญพืชและผลิตภัณฑ์
กลุ่มธัญพืชจำพวกถั่วเมล็ด เช่น ถั่วลิสง กากถั่วลิสงและข้าวโพด พบว่ามีการปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อรา โดยเฉพาะสารแอฟลาทอกซินสูงเกินมาตรฐานถึงร้อยละ 11.36 ขณะที่ ข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว พบว่ามีการปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น แคดเมี่ยม เมทธิลโบรไมด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นต้น
4. กลุ่มสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ
สัตว์น้ำที่มีการเพาะเลี้ยงในฟาร์ม และมีการวางจำหน่ายเป็นอาหารประจำวันจำพวก กุ้งและปลา หลากหลายชนิด มีการสำรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ เช่น Nitrofuran, Chloram phenicol, Oxytetracycline และ Oxolinic acid ในระดับสูงถึงร้อยละ 18.82 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ นอกจากนั้นยังมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ เช่น Vibrio parahaemolyticus, Vibrio cholerae และ Salmonella spp ในผลิตภัณฑ์กุ้งกุลาดำ ปลาหมึกแช่แข็ง และสินค้าอาหารทะเลต่างๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำอื่นๆ เช่น ลูกชิ้นปลา เนื้อปลาแช่เย็น และแหนมปลา ยังมีการพบมีการปนเปื้อนของสารเคมีจำพวกบอแรกซ์ ซึ่งห้ามใช้ในอาหารอยู่เป็นจำนวนมาก
5. กลุ่มผักและผลไม้
ปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีที่ใช้ป้องกัน และกำจัดศัตรูพืช จากการสำรวจตัวอย่างผักและผลไม้ในตลาดพบว่า พบสารเคมีตกค้างถึงร้อยละ 36 ในจำนวนนี้ร้อยละ 6 มีการตกค้างเกินกฎหมายกำหนด มีการพบสารห้ามใช้ในอาหารเช่น สีสังเคราะห์ สารกันรา และสารฟอกขาวในผักและผลไม่ร้อยละ 22.67 และยังมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว และแคดเมียม ในผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ร้อยละ 5 เป็นต้น
*ข้อมูลจาก : กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย โดยคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ 2554
มีข้อมูลจาก ผ.ศ.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ.อยุธยา หัวหน้าศูนย์สเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าในร่างกายเรามีสเต็มเซลล์หลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติไม่เหมือนกันให้กำเนิดเซลล์ต่างชนิดกัน ขึ้นอยู่กับสเต็มเซลล์ชนิดนั้นมาจากเนื้อเยื่อชนิดใดปกติ สเต็มเซลล์ของแต่ละเนื้อเยื่อจะทำหน้าที่สร้างเซลล์ใหม่ของเนื้อเยื่อชนิดนั้นขึ้นทดแทนที่สูญไปในแต่ละวันหรือหลังจากเนื้อเยื่อนั้นได้รับบาดเจ็บ สเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อหนึ่งไม่สามารถเปลี่ยนไปสร้างเซลล์ของเนื้อเยื่ออีกชนิดหนึ่งได้ เช่น สเต็มเซลล์เลือดไม่สร้างสมอง หรือเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ
ปัจจุบันการนำสเต็มเซลล์ไปใช้ทางการแพทย์ ที่ได้รับการยอมรับได้แก่ การปลูกสเต็มเซลล์ของเลือดที่ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือดและสเต็มเซลล์ผิวหนังในผู้ป่วยแผลไหม้เพื่อสร้างผิวหนังใหม่ นอกเหนือจากนี้การปลูกสเต็มเซลล์ระบบอื่นยังทำได้ยาก
การฉีดสเต็มเซลล์เพื่อหวังสรรพคุณอื่นๆ เช่นลดอาการอักเสบ เพื่อการเกิดเส้นเลือดใหม่ ลดความเสื่อมของร่างกาย แก้สมองพิการ ความสวยงาม ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้เพียงพอว่าจะเกิดประโยชน์เพียงพอที่จะนำไปใช้ในเวชปฏิบัติทั่วไปและยังผิดกฎหมายด้วย
คลินิกที่โฆษณาว่ามีการฉีด สเต็มเซลล์บอกเลยว่า 90% ปลอม ไม่รู้ว่านำอะไรมาฉีด และจากการนำสิ่ง ที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์เพื่อความงามต่างๆมาส่องดูก็ไม่พบเซลล์ซักตัวแต่กลับมีโปรตีนบางตัวที่เป็นอันตราย บางรายอาจถึงตาย มีสารกดภูมิคุ้มกันที่ฉีดแล้วอาจทำให้กระปรี้กระเปล่าแต่เป็นสารก่อมะเร็งหรือมียาสเตียรอยด์ ฉีดแล้วมีผลทำให้อวัยวะในร่างกายเสื่อม
อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 25 ธันวาคม 2561
หน้าที่ 141 จาก 147