อาร์ซินิก (Arsenic)

                อาร์ซินิก  เป็นสารที่พบปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปโดยเฉพาะในแหล่งน้ำใต้ดิน ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะพบ อาร์ซินิก ในรูปของ arsenite หรือ arsenate ปนเปื้อนอยู่ในน้ำดื่มและน้ำใช้ค่อนข้างสูง องค์การอนามัยโลก กำหนดการปนเปื้อนของ อาร์ซินิก  ในน้ำดื่มไว้ไม่ให้เกิน 10 ppb นอกเหนือจากนี้ อาร์ซินิก  ในรูปของ arsenobetaine และ arsenocholine ยังพบปนเปื้อนในอาหารทะเลจำพวก หอย ปู กุ้ง และปลาที่หากินบนผิวดิน ในทางอุตสาหกรรม อาร์ซินิก  ถูกนำมาใช้ในรูปของแกส arsine และสารประกอบอื่นๆเช่น arsenic trioxide ได้ถูกนำมาใช้ทั้งในอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ เพื่อรักษาโรคหลายอย่างเช่น โรคผิวหนัง โรคมะเร็งในเลือด (promyelocytic leukemia) รวมทั้ง arsphenamine ยังเคยถูกนำมาใช้รักษาโรค ซิฟิลิส อย่างกว้างขวางช่วงก่อนมีการค้นพบยาปฎิชีวนะ

               อาร์ซินิก  ส่วนใหญ่เข้าสู่ร่างกายโดยผ่านทางเดินอาหาร บางส่วนผ่านเข้ามาทางระบบหายใจในรูปแบบของ arsenic trioxide เมื่อเข้าสู่กระแสโลหิตจะเข้าไปสะสมในเม็ดเลือด และตับ ทำให้มีอาการโลหิตจาง และตับอักเสบรุนแรง อาร์ซินิก  ในร่างกายจะถูกขับออกโดยผ่านทางปัสสาวะ แต่การกำจัด อาร์ซินิก จะรวดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับและสภาวะของผู้ป่วย การสะสมของอาร์ซินิกในร่างกายอาจส่งผลให้มีการเสียชีวิตได้

ภาพจาก www.cnn.com

 

                ไวรัสอีโบลา มีการระบาดครั้งแรกเมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้ว แต่ครั้งนั้นการระบาดไม่รุนแรง และไม่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางเหมือนการระบาดครั้งนี้ ซึ่งพบว่าเริ่มมีการระบาดครั้งแรกประมาณเดือน กรกฎาคมและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ในทวีป อาฟริกาตะวันตก และเริ่มมีการแพร่เข้าสู่ทวีปอื่นๆ ทั้งอเมริกา ออสเตรเลียและเอเซีย

                โดยทั่วไปจุลินทรีย์ ที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆจะมีความจำเพาะ และก่อให้เกิดโรคได้เฉพาะในสิ่งมีชีวิตที่มันสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ได้เท่านั้น เช่นจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในพืช ไม่สามารถเข้ามาเจริญและก่อให้เกิดโรคในสัตว์หรือในคนได้ หรือจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคในสัตว์ก็ไม่สามารถเข้ามาก่อโรคในคน และในพืชได้ ในทำนองเดียวกัน จุลินทรีย์ ที่ก่อให้เกิดโรคในคนส่วนใหญ่ ก็ไม่สามารถเข้าไปก่อให้เกิดโรคในสัตว์ และในพืชได้ แต่ก็มีข้อยกเว้น เนื่องจากมีจุลินทรีย์ หลายชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของตัวเองจนสามารถเข้าไปก่อโรคข้ามชนิดของสิ่งมีชีวิตได้ โดยเฉพาะที่พบบ่อยขึ้นในปัจจุบันคือ ปรสิต แบคทีเรีย และไวรัส หลายชนิด สามารถก่อโรคได้ทั้งในคนและในสัตว์เช่น เชื้อ แอนแทรกเป็นแบคทีเรียที่ก่อโรคได้ทั้งในคนและในสัตว์ ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าที่กินพืชเป็นอาหาร หรือ พยาธิใบไม้ในตับ เป็นปรสิตที่ก่อโรคได้ทั้งในคน และในสัตว์จำพวกสุนัขและแมว เป็นต้น แต่ในจำนวนสิ่งมีชีวิตก่อโรคเหล่านี้ ไวรัส เป็นจุลินทรีย์ ที่มีขนาดเล็กที่สุด มีความสามารถเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของตัวเองเพื่อเข้าสู่สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ ได้รวดเร็วที่สุด ในช่วง 20 ปี ที่แล้วมา มีไวรัสที่อาศัยอยู่ในสัตว์ตามปกติได้มีการพัฒนาจนเข้ามาก่อให้เกิดโรคในคนได้หลายชนิด เช่น ไวรัสโรคเอดส์ ซึ่งปกติอาศัยอยู่ในสัตว์จำพวกลิง ไวรัสโรคซาร์ (SAR) ติดต่อสู่คนจากสัตว์จำพวกหมู ไวรัสโรคเมอร์ (MERS) ติดต่อสู่คนโดยผ่านสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงจำพวกค้างคาวและอูฐ และไวรัสโรคไข้หวัดนก นำโรคเข้าสู่คนโดยสัตว์ปีก เป็นต้น

                ไวรัสอีโบลา เริ่มระบาดครั้งแรกในปีนี้ เมื่อประมาณเดือน กรกฎาคม 2557 ใน 3 ประเทศ คือ Guinea, Sierra Leone และ Liberia ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกของทวีป อาฟริกา ต่อมาการระบาดได้เข้าสู่ประเทศใกล้เคียง เช่น Nigeria และ Senegal และ Congo รวมทั้งเริ่มกระจายไปสู่นอกทวีปอาฟริกา โรคอีโบลา เป็นโรคระบาดร้ายแรงเนื่องจาก ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงประมาณร้อยละ 50


ตารางแสดงสถานการณ์ล่าสุดโรคอีโบลาในโลก

ประเทศ

จำนวนผู้ติดเชื้อ

จำนวนผู้เสียชีวิต

จำนวนผู้สงสัยติดเชื้อ

Liberia

3,924

2,210

-

Sierra Leone

2,789

879

-

Guinea

1,298

768

-

Congo

70

43

-

Senegal

1

-

-

Nigeria

20

8

-

United States

1*

1

-

Australia

-

-

11

Taiwan

-

-

1

Spain

1

-

-

Czech Republic

-

-

1

Macedonia

-

-

1

รวม

8,084

3,909

14

 

* ติดเชื้อมาจากนอกประเทศ

* ข้อมูลจาก Bangkok Post October 11, 2014

                 

              ข้อมูลปัจจุบันเชื่อว่าไวรัสอีโบลาติดต่อระหว่างมนุษย์จากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่ง เช่นเลือด น้ำเหลือง น้ำมูก น้ำลาย ระยะฟักตัวของอีโบลา ประมาณ 21 วัน หลังการได้รับเชื้อผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง อาเจียน ปวดท้อง มีเลือดออก ที่อวัยวะภายใน ผู้ป่วยจะมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ดี มากกว่า 50% ของผู้ป่วยจะเสียชีวิต สาเหตุที่เชื่อว่าโรคติดต่อโดยการสัมผัสเท่านั้น เนื่องจากการติดต่อมักเกิดขึ้น ภายในครอบครัวหรือผู้ที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่ม เจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุข เช่นแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงน่าจะมีมากกว่า ที่ได้รับรายงานไว้มาก และมีการคาดการณ์ว่า ถ้ายังไม่มีการควบคุมที่ดี เมื่อถึงเดือน มกราคม 2558 อาจมีผู้ติดเชื้อถึง 1.4 ล้านคน อาจก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษกิจ แก่ประเทศที่มีการระบาดมหาศาล

                ข้อมูลล่าสุด (12 ตุลาคม 2557) มีผู้ป่วยในประเทศแถบอาฟริกาตะวันตกทั้งสิ้น 8,398 คน เสียชีวิตแล้ว 4,033 คน และพยาบาลผู้ดูแลผู้เสียชีวิตด้วยอีโบลาคนแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาด้วยแล้ว

red meat with cancer

                  มีข้อมูลรายงานทางวิชาการจำนวนมาก ที่เชื่อมโยงการกินเนื้อแดง (red meat) เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแพะ เนื้อแกะ โดยเฉพาะในรูปแบบของเนื้อแปรรูป (processed meats) มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ เนื้อแดงแปรรูปเหล่านี้ ได้แก่ แฮม ไส้กรอก เบคอน ซาลามี ซึ่งน่าจะรวมถึง แหนม กุนเชียง และไส้กรอกอิสานของไทยด้วย ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าอาหารแปรรูปเหล่านี้มีสารเคมี ไนโตรซามีน (nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งซึ่งเมื่อมีการสะสมในร่างกายทำปฏิกิริยากับปัจจัยอื่นในร่างกาย เช่นการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร หรือสารอื่นที่ร่างกายได้รับผ่านทางอาหาร ก็จะทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ โดยมีหลักฐานยืนยันชัดเจนจากโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหารบางชนิด เช่นมะเร็งท่อน้ำดี และมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นต้น นอกเหนือจากนี้เนื้อแดงแปรรูปยังประกอบไปด้วย ไขมันอิ่มตัว โซเดียม และสารอื่นในขบวนการผลิต ซึ่งเป็นสารที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจร่วมด้วย

                ล่าสุดศูนย์วิจัยโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก WHO International Agency for Research on Cancer (IARC) รายงานผลการศึกษาจาก 800 โครงการทั่วโลก จัดให้เนื้อแดงแปรรูป อยู่ใน กลุ่มที่ 1 (Group 1) ของอาหารที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในคน (carcinogenic to human) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับบุหรี่ เหล้า แร่ใยหิน และเบนซิน และจัดให้เนื้อแดงปกติอยู่ในกลุ่ม 2A (Group 2A) หมายถึงอาหารที่อาจก่อมะเร็งในคน (probably carcinogenic to human) ซึ่งได้แก่เนื้อแดง ที่ได้รับความร้อนสูงจากการ ปิ้ง ย่าง หรือ อบ

                สำหรับในประทศไทย มีรายงานจาก สถาบันวิจัยโรคมะเร็ง พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 1 ของคนไทย โดยมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น ปีละไม่น้อยกว่า 120,000 คน สาเหตุสำคัญคืออุปนิสัยของการกินอาหารของคนไทยเปลี่ยนไป เริ่มกินอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าโรคมะเร็งทางเดินอาหารเป็นโรคมะเร็ง อันดับที่ 3 ของผู้ชาย รองจากมะเร็งตับ และมะเร็งปอด ส่วนผู้หญิง โรคมะเร็งลำไส้เป็นอันดับ 5 รองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งตับ และมะเร็งปอด

                อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโรคชี้แจงว่า รายงานนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหยุดกิน เนื้อแดงแปรรูป แต่ควรควบคุมให้กินเนื้อแดง เนื้อแดงแปรรูป แต่พอประมาณ เช่นสัปดาห์ละ ประมาณ 5 ขีด เป็นต้น โดยหันมากินอาหารโปรตีนจากแหล่งอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ไข่ เต้าหู้ และถั่ว รวมทั้งการกินอาหารให้หลากหลายมากขึ้น

เกลือและสุขภาพ

salt 1

                เกลือเป็นสารประกอบที่จำเป็นต่อชีวิตโดยเฉพาะโซเดียมเป็นสารที่เราได้รับพร้อมกับอาหารทุกวันมากบ้างน้อยบ้างตามพฤติกรรมของแต่ละคน เกลือโซเดียมที่ใช้ในการประกอบอาหารอยู่ในหลายรูปแบบ ที่สำคัญคือ เกลือแกง หรือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ผงชูรส หรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต (Sodium Monoglutamate) และผงฟูโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium Bicarbonate) ในโมเลกุลของเกลือเหล่านี้ โซเดียมเป็นสารที่มีความสำคัญต่อร่างกายมากที่สุด เนื่องจากโซเดียมทำหน้าที่ความคุมความสมดุลของน้ำในร่างกาย และเกลือแกงเป็นเกลือที่ใช้ในการประกอบอาหารมากที่สุด นอกจากเราจะได้รับเกลือแกงจากการประกอบอาหารโดยตรงแล้ว เกลือแกงยังเป็นส่วนประกอบของซอสชูรสต่างๆ เช่น น้ำปลา น้ำซีอิ้ว ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ เป็นต้น นอกจากนั้นเกลือแกงยังเป็นสารที่สำคัญในการถนอมอาหาร เช่น เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า รวมทั้งของหมักดองต่างๆ

                 องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าแต่ละวันเราไม่ควรกินเกลือเกินกว่า 5 กรัม (ประมาณ 1 ช้อนชา) แต่จากข้อมูลการสำรวจพบว่าคนทั่วโลกรวมทั้งคนไทย กินเกลือมากกว่านั้นถึง 2 เท่า คนไทยกินเกลือเฉลี่ยวันละ 10.8 กรัม ปกติเกลือส่วนเกินถ้าไม่มากมักจะถูกขับออกผ่านไต ออกทางปัสสาวะ และเหงื่อโดยไม่กระทบต่อสุขภาพมากนัก แต่ถ้าเกลือส่วนเกินมีปริมาณมาก เกลือจะดึงน้ำในร่างกายมาสะสมในกระแสโลหิต เมื่อมีการสะสมมากเข้า หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงซึ่งจะนำไปสู่โรคหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน ขณะเดียวกันไตก็จะทำงานหนักมากขึ้น ทำให้เกิดโรคไตตามมา

                รายงานจากกระทรวงสาธารณะสุขพบว่า จากการสำรวจอัตราการเป็นโรคความดันโลหิตสูงของคนไทยที่ช่วงปี 2543-2553 พบว่าคนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นจาก 259 ต่อ 100,000 คน เป็น 1,349 ต่อ 100,000 คน เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า และประมาณ 20 ล้านคน ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคไต  และโรคหัวใจ รวมทั้งอัมพาต ถ้าผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถควบคุมการบริโภคเกลือให้ลดลงได้ โรคก็จะนำไปสู่อาการไตวาย ซึ่งต้องทำการล้างไต และฟอกเลือดเป็นประจำ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล จนกว่าจะได้รับการแก้ เช่น เปลี่ยนไต ซึ่งก็ต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมาก

                แม้ว่าเราจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ถ้าไม่มีเกลือแต่เราก็สามารถควบคุมให้มีความเหมาะสมได้ วิธีที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ

  1. ลดการใส่เกลือรูปแบบต่างๆ ในการปรุงอาหารลง 30-50% โดยค่อยๆลดลงเป็นขั้นตอนเพื่อให้ลิ้นได้มีโอกาสปรับการรับรสเค็มตามเหมาะสม
  2. หลีกเลี่ยงการเติมเกลือ น้ำปลา หรือซอส ในอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วก่อนบริโภค
  3. ลดหรือหลีกเลี่ยง อาหารที่ได้รับการถนอมด้วยเกลือในปริมาณมาก เช่น เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า รวมทั้งอาหารอบทอดที่ผสมเกลือปริมาณสูง เช่น มันฝรั่งทอด และของขบเขี้ยวต่างๆ

 

เปรียบเทียบประสิทธิผล 6 วัคซีนโควิด-19 ไทยเลือก ซิโนแวค - แอสตราเซนเนกา ถ่ายทอดการผลิต

 

กระทรวงสาธารณสุข เผย เตรียมขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 จากจีน ให้ได้ภายใน 14 กุมภาพันธ์ นี้ เปรียบเทียบประสิทธิผล ไทยเลือก ซิโนแวค - แอสตราเซนเนกา ถ่ายทอดการผลิต

 

10 มกราคม 2564 ที่ ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นายแพทย์ นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวความคืบหน้าวัคซีน โควิด-19 ในประเทศไทย

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกระบวนการจัดหาวัคซีน โควิด-19 ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบทุกขั้นตอน คำนึงถึงเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก ผ่านการขึ้นทะเบียนทั้งต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย ก่อนให้บริการประชาชน ส่วนการได้วัคซีนเร่งด่วน 2 ล้านโดส จาก ซิโนแวค ประเทศจีน เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายแบบดั้งเดิม มีความปลอดภัยสูง หลังฉีดยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง คาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศจีนเร็วๆ นี้ เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน

 
ธุรกิจโฆษณา
 

 

“รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณซื้อวัคซีน โควิด-19 จาก ซิโนแวค กรมควบคุมโรคได้แสดงความต้องการใช้ไปยังองค์การเภสัชกรรมให้ซื้อและเป็นตัวแทนจำหน่าย พร้อมทำเอกสารเพื่อยื่นขึ้นทะเบียน อย. ด้วย เนื่องจาก ซิโนแวค ไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย โดยจะขึ้นทะเบียนให้ได้ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมได้เห็นชอบสำรองงบประมาณในการสั่งซื้อไปก่อน 1 พันกว่าล้านบาท” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศจีนจะส่งวัคซีนมาถึงไทยภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ลอตแรก 2 แสนโดส เดือนมีนาคมอีก 8 แสนโดส และเมษายนอีก 1 ล้านโดส หลังจากนั้น ช่วงเดือนพฤษภาคมจะมีวัคซีนลอตใหญ่จาก แอสตราเซนเนกา อีก 26 ล้านโดส เพื่อกระจายให้ประชาชนต่อไป และเมื่อดำเนินการได้ดีจะเจรจาขอซื้อเพิ่มจาก แอสตราเซนเนกา อีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 63 ล้านโดส จะครอบคลุมประชาชนประมาณ 30 กว่าล้านคน จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันของประเทศไทยได้ เป็นเป้าหมายและแผนงานที่ดำเนินงานไว้ การดำเนินงานถือว่าก้าวหน้าเป็นไปตามแผน

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเพื่อหยุดการระบาดของโรคในชุมชน ไม่จำเป็นต้องฉีดให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันทั้ง 100% หลักการ คือ ฉีดเพื่อให้สังคมและชุมชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาระดับหนึ่ง ประมาณ 60 - 70% จะลดอำนาจการแพร่กระจายเชื้อลง จนหยุดการแพร่ระบาดในชุมชนได้ แต่ในระดับบุคคลอาจพบผู้ป่วยบ้าง แต่จะไม่เกิดการระบาดในชุมชน ทั้งนี้ วัคซีน โควิด-19 ที่มีการฉีดในต่างประเทศ ยังไม่มีของบริษัทใดที่ทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 อย่างครบถ้วน แต่ที่ประเทศไทยต้องจัดหาวัคซีนเข้ามาก่อนนั้น เนื่องจากหากรอให้มีผลการทดลองครบถ้วนแล้วมาเจรจาจัดซื้ออาจสายเกินไป

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานจัดหาวัคซีน โควิด-19 ของประเทศไทย จะพิจารณาจากคุณสมบัติของวัคซีน ราคา จำนวนที่จะขายให้ได้ และเวลาที่จะส่งมอบ ซึ่งการซื้ออาจต้องรอวัคซีนส่งมานาน 6 เดือน 8 เดือน หรือเป็นปี ซึ่งไทยได้หาทางเลือกเจรจาวัคซีนหลายชนิด แต่ไม่เกิน 3 ชนิด เพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อนในการขนส่งและการฉีด ซึ่งทั้งหมดผ่านกลไกการพิจารณาอย่างเป็นระบบ รอบคอบ และถี่ถ้วน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนผ่านคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนเพื่อคนไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พิจารณาเรื่องการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบก่อนนำมาฉีด

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า องค์การยูนิเซฟประเมินว่าวัคซีน โควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีจำกัด ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายการให้วัคซีน คือ การลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต และปกป้องระบบสุขภาพประเทศ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีน คือ 1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน 3. ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ ที่จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศ และในพื้นที่ที่มีการระบาด โดยเริ่มในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี จันทบุรี ระยอง และ ตราด  ฉีดคนละ 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน ทั้งนี้ การพิจารณากลุ่มเป้าหมายและแผนการฉีดจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันที่ 11 มกราคม 2564 หากเห็นชอบจะได้ดำเนินการหรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้ จะพิจารณาเรื่องสถานบริการ บุคลากร และระบบการกระจายวัคซีน รวมทั้งระบบการลงทะเบียนผู้ป่วยต่อไปด้วย

นอกจากนี้ นพ.โอภาส ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการกระจายวัคซีนนั้น ประเทศไทยมีระบบคลังวัคซีนใหญ่ 2 แห่ง คือ กรมควบคุมโรค และ องค์การเภสัชกรรม ร่วมกันกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยมีระบบควบคุมอุณหภูมิความเย็นอย่างต่อเนื่อง ไปยังโรงพยาบาลศูนย์ / โรงพยาบาลทั่วไป / โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ประมาณ 11,000 แห่ง เพื่อให้ผู้ที่มีเกณฑ์ได้รับวัคซีนเข้ารับบริการใกล้บ้านมากที่สุด ส่วน กทม. จะมีศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่นๆ โรงเรียนแพทย์และภาคเอกชน โดยจะมีการอบรมเรื่องการฉีดวัคซีน การเก็บวัคซีน การเตรียมจุดบริการ ระบบการขึ้นทะเบียนโดยใช้แอปพลิเคชัน และให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. สำรวจประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้บริการได้อย่างครบถ้วน ติดตามให้มารับวัคซีนเข็มที่ 2 ได้อย่างแม่นยำ รวมถึงการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีน ซึ่งจะติดตามผู้ได้รับวัคซีนทุกคนเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ตามหลักมาตรฐานสากล

นพ.นคร กล่าวว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบวัคซีนโควิด-19 ที่มีผลการทดสอบประสิทธิภาพในมนุษย์ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนการขึ้นทะเบียนนั้น พบว่า วัคซีนของ ไฟเซอร์ มีประสิทธิผล 95% โดยฉีด 2 โดส ห่างกัน 21 วัน , วัคซีนของ โมเดอร์นา มีประสิทธิผล 94.5% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 28 วัน , วัคซีนของ แอสตราเซนเนกา มีประสิทธิผล 62 - 90% ขึ้นกับปริมาณการฉีด โดยฉีด 2 โดส ห่างกัน 28 วัน , วัคซีนของ รัสเซีย มีประสิทธิผล 92% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 14 - 21 วัน ส่วนวัคซีนของ ซิโนฟาร์ม ประเทศจีน มีประสิทธิผล 79% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 21 วัน โดยวัคซีนทั้ง 5 ตัว ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศต้นทางแล้ว นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนของ ซิโนแวค ประเทศจีน มีประสิทธิผล 78% ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค ร่วมกันศึกษาวัคซีนเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง จึงมีการพิจารณาจองซื้อและจัดหาแหล่งวัคซีน ซึ่งการจองซื้อกับบริษัทแอสตราเซนเนกา 26 ล้านโดสนั้น มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตในประเทศไทย โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี สามารถส่งต่อวัคซีนให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านได้ต่อไป

 

โดย นพ.นคร ยังกล่าวด้วยว่า ผลข้างเคียงของวัคซีนแต่ละชนิด อาจมีอาการทั่วไป เช่น ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดบริเวณที่ฉีด ซึ่งยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ดังนั้น เป็นข้อสังเกตได้ว่าการใช้วัคซีนในช่วงเกิดการระบาดนี้เป็นการใช้ในภาวะเร่งด่วน และได้ทำการศึกษาไปพร้อมกัน ซึ่งหากมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก เช่น 1 ล้านโดส ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ยากในรูปแบบอื่นๆ อาจปรากฏขึ้นได้ ดังนั้น วัคซีนทุกตัวต้องเก็บข้อมูลเพื่อดูความปลอดภัยไปพร้อมกัน จะทำให้ทราบข้อมูลและระมัดระวัง เพื่อการหยุดยั้งการระบาดของโรค ลดอัตราป่วย และเสียชีวิต ส่วนการเก็บรักษาวัคซีนมีความแตกต่างกันไปบ้าง เช่น อุณหภูมิ เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาการนำวัคซีนมาใช้ในประเทศไทย

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/news/regional/454728?adz=

 

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ