15 ส.ค.2565-นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า มีผู้สูงอายุจำนวนมากพอสมควรที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดแม้แต่เข็มเดียว เนื่องจากลูกหลานกลัวว่า ผู้สูงอายุจะเป็นอะไรจากการฉีดวัคซีน และคิดว่าผู้สูงอายุไม่ได้ไปไหนอยู่แต่ในบ้าน

ช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมาผู้สูงอายุที่ไม่เคยรับวัคซีน ยังไม่ติดเชื้อ แต่เมื่อมีการระบาดของไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งทำให้ติดกันง่ายมาก มีผู้สูงอายุติดเชื้อไวรัสโควิดจากลูกหลานในบ้าน และป่วยหนักถึงขั้นเข้าห้องไอซียูหลายคนเพราะไม่มีภูมิคุ้มกันเลย ทำให้ห้องไอซียูเริ่มกลับมารับผู้ป่วยโควิดอีกครั้งเหมือนสมัยที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า แต่ครั้งนี้ผู้ป่วยตอบสนองกับการรักษาดีกว่าสายพันธุ์เดลต้า ขอให้ลูกหลานเปลี่ยนความคิด รีบพาคนสูงอายุไปรับวัคซีนป้องกันโรคโควิดโดยด่วน

ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 90 ปีเป็นโรคความดันสูง ไขมันในเลือดสูง หัวใจเต้นผิดปกติ ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโควิดแม้แต่เข็มเดียว ติดเชื้อโควิดจาก หลานชายอายุ 13 ปีเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 มาโรงพยาบาลด้วยคลื่นไส้อาเจียน ต่อมามีไข้สูง เหนื่อยหอบ ระดับออกชิเจนต่ำมาก ตรวจ ATK ครั้งแรกให้ผลลบ แต่ตรวจ RT-PCR SARS-CoV2 CT value N gene 10.23 เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวข้างขวามากกว่าข้างซ้าย (ดูรูป) ต้องเข้าไอซียู ให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง (high-flow nasal cannula) ได้ยาฉีดเรมเดซิเวียร์ 5 วัน ไข้ลง อาการเหนื่อยดีขึ้น เอกซเรย์ปอดฝ้าลดลงมาก (ดูรูป) ระดับออกซิเจนกลับมาเป็นปกติโดยไม่ต้องใช้ออกซิเจน หลังจากอยู่โรงพยาบาล 13 วัน

 

 ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/200577/
 
 
 
 

สวนดุสิตโพล สำรวจโรคฝีดาษลิงส่วนใหญ่ค่อนข้างวิตกกังวลที่สื่อนำเสนอ กังวลพอกับโควิด พอรู้และเข้าใจอยู่บ้างกับโรค มองสาธารณสุขแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุด เชื่อรัฐบาลน่าจะรับมือได้ แนะประกาศแจ้งเตือนข้อมูลที่ถูกต้องต่อเนื่อง

วันนี้ (14ส.ค.) จากการพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในประเทศ ส่งผลให้คนไทยเกิดความวิตกกังวล กลัวว่าอาจเกิดการแพร่ระบาดมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น หลายฝ่ายจึงอยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคฝีดาษลิงอย่างเข้มงวด เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง คนไทยคิดอย่างไร? กับ โรคฝีดาษลิง จำนวนทั้งสิ้น 1,095 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 5-11 สิงหาคม 2565 สรุปผลได้ ดังนี้

1. จากข่าวโรคฝีดาษลิงที่สื่อนำเสนอ ณ วันนี้ ประชาชนมีความวิตกกังวลมากน้อยเพียงใด
ค่อนข้างวิตกกังวล 54.34% ไม่ค่อยวิตกกังวล 27.21% วิตกกังวลมาก 14.16% ไม่วิตกกังวล 4.29%

2. ประชาชนมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงมากน้อยเพียงใด
พอรู้และเข้าใจอยู่บ้าง 66.76% ไม่ค่อยรู้และไม่ค่อยเข้าใจ 24.29% รู้และเข้าใจเป็นอย่างดี 5.30% ไม่รู้และไม่เข้าใจเลย 3.65%

3. แหล่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงที่ประชาชนเชื่อถือมากที่สุด
อันดับ 1กระทรวงสาธารณสุข 37.17%
อันดับ 2กรมการแพทย์ 16.44%
อันดับ 3สื่อโซเชียล เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม14.25%
อันดับ 4กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์13.33%
อันดับ 5สื่อสารมวลชน เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ 9.22%

4. ระหว่างโรคโควิด-19 กับ โรคฝีดาษลิง ประชาชนกังวลโรคใดมากกว่ากัน
กังวลทั้ง 2 โรค พอๆกัน 41.19% กังวลโรคฝีดาษลิง มากกว่า 29.32% กังวลโรคโควิด-19 มากกว่า 24.38%
ไม่กังวลทั้ง 2 โรค 5.11%
 
 
5. ประชาชนคิดว่ารัฐบาลจะรับมือโรคฝีดาษลิงได้หรือไม่
น่าจะรับมือได้ 46.58% ไม่น่าจะรับมือได้ 29.22% ไม่แน่ใจ 24.20%

6. ประชาชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องโรคฝีดาษลิงอย่างไร
อันดับ 1ประกาศ แจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง 81.55%
อันดับ 2แนะนำวิธีการป้องกันดูแลตนเองให้กับประชาชน60.82%
อันดับ 3ภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริง ไม่ปิดบัง 59.36%
อันดับ 4มีกระบวนการคัดกรองและกักตัวกลุ่มเสี่ยงที่มาจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด58.45%
อันดับ 5มีวัคซีนป้องกันโรค 56.16%
 
 
 
"ไม่เคยติดโควิด" เพราะความโชคดี หรือว่ามีพันธุกรรม-ภูมิคุ้มกันแข็งแกร่ง
 
 

"ไม่เคยติดโควิด" เป็นเพราะความโชคดี หรือว่ามีพันธุกรรม และภูมิคุ้มกันในร่างกายที่แข็งแกร่ง ผลวิจัยระบุ เซลล์ของคนบางคนไวรัส SARS-CoV-2 เกาะติดไม่ได้

หลายคนคงกำลังรู้สึกแปลกใจ และเหลือเชื่อมาก ๆ  ที่ไม่ ติดโควิด เลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็น ซีซั่นไหน สายพันธุ์อะไรก็รอดทุกครั้ง หรือแม้กระทั้งบางคนในครอบครัวติด และมีความเสี่ยงสูง แต่กลับพบว่าหลังจากตรวจแล้วหาเชื้อแล้วก็ไม่พบผลบวก และไม่มีอาการแสดงใด ๆ   โดยบทความจากเว็บไซต์ CNB ได้ระบุถึงกรณีที่บางคน "ไม่เคยติดโควิด" เลยแม้แต่ครั้งเดียวไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือออกไปใช้ชีวิตในสถานที่เสี่ยงแค่ไหนก็ตาม ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่ากรณีที่ "ไม่เคยติดโควิด" หรือ การอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ สถานการณ์การระบาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่ ทำไมไม่ติดโควิด อาจจะเป็นเพราะเราโชคดี หรือ เพราะเราไม่ตรวจไม่หาเชื้อ จึงทำให้เรารอดมาได้ทุกซีซั่น 

โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ CNA ระบุว่า มีความคิดเห็นมากมายที่บอกว่าการที่ "ไม่เคยติดโควิด" เป็นอะไรที่มากกว่าความโชคดี โดยเฉพาะบางคนที่ทำหน้าที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เช่น เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ซึ่งมีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อสูงมาก แต่พบว่าหลังจากตรวจหาเชื้อกลับไม่พบว่ามีผลตรวจเป็นบวก  จากการระบาดที่หนักหนาของ โควิด19 ที่ผ่านมา เชื่อว่าคนใกล้ตัวเราเพียงไม่กี่คนที่โชคดีไม่ ติดโควิด และเราเองอาจจะเป็นหนึ่งในคนที่มีพลังวิเศษ ที่ไม่ได้รับเชื้อเช่นกัน อย่างไรก็ตามยังคงเป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนสงสัยอย่างมากว่า มีแนวทางทางวิทยาศาสตร์บอกเราไม่ได้หรือไม่ ว่าทำไมถึง "ไม่เคยติดโควิด" หรือเป็นเพราะว่า เราโชคดี ก็เท่านั้น

อย่างที่ทราบกันดีกว่าประชากรกว่า 60% ในสหราชอาณาจักร มีผลตรวจโควิดเป็นบวกทั้งสิ้น โดยจากผลการศึกษาพบ ว่า อัตราผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่แสดงไม่อาการอาจจะมีแนวโน้มสูงเพิ่มมากยิ่งขึ้น  และคนส่วนใหญ่ก็บอกว่าเป็นเรื่องธรรมดา แม้ว่าจะมีคนติดโควิด 19 แบบไม่รู้ตัว แต่ก็ยังมีบางคนที่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 ซึ่งกรณีดังกล่าวยังคงเป็นคำถามมากมายที่เกิดขึ้นในระหว่างการระบาดใหญ่ และแน่นอนว่า ยังไม่มีคำตอบด้านวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน แต่วิทยาศาสตร์และโชค ดูเหมือนว่าจะมีบทบาทสำคัญทั้งคู่ที่อาจจะทำให้ใครบางคน "ไม่เคยติดโควิด" 

  • เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะ "ไม่เคยติดโควิด" ได้นานขนาดนี้  

เว็บไซต์ CNA ระบุต่อว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าคนที่ "ไม่เคยติดโควิด" เลย อาจจะไม่เคยสัมผัสกับเชื้อไวรัส หรือมีการปกป้องดูแลตัวเองในช่วงที่เกิดการระบาดได้เป็นอย่างดี แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะมีมาตรการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อโควิดมากยิ่งขึ้น แต่ผู้คนจำนวนมากก็จบลงด้วยการ ติดโควิด โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เพราะต้องระมัดระวังอย่างสูงสูดเพื่อให้ไม่ให้ติดเชื้อ แต่จากการระบาดของ โอไมครอน ที่สามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่เชื้อในระดับชุมชน ครอบครัว โรงเรียน ที่มีมากยิ่งขึ้น ยิ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถเลี่ยงการ อยู่ใกล้กลุ่มเสี่ยง และจะไม่ติดเชื้อโควิดได้ยาก   แต่กลับพบว่าเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล และสมาชิกที่ครอบครัวมีคนติดโควิดกลับตรวจไม่พบเชื้อ อย่างไรก็ตามข้อมูลระบุว่า การฉีดวัคซีนสามารถลดความเสี่ยง ในการติดเชื้อรุนแรง และลดโอกาสหารแพร่เชื้อได้ ซึ่งการฉีดวัคซีนอาจะช่วยให้คนใกล้ชิดบางคนหลีกเลี่ยงการติดเชื้อได้อย่างแน่นอน 

  • ทำไมบางคนถึง "ไม่เคยติดโควิด" สามารถอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน 

เว็บไซต์ CNA ระบุว่า บางทฤษฎี ระบุ เอาไว้ว่า สำหรับผู้ที่ "ไม่เคยติดโควิด" เลย อาจจะเกิดจากการที่ ร่างกายมีการสัมผัสและรับเชื้อไวรัสเข้าไปแล้ว แต่ขาดตัวเชื่อมโยงระหว่างไวรัสโควิดกับเซลล์ในร่างกาย การแพร่เชื้อจึงล้มเหลวและไม่สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ ทั้งนี้ข้อมูลจากนักวิจัย ระบุ ว่า ในมนุษย์แต่ละคน ความแตกต่างภูมิคุ้มกันต่อการตอบสนองต่อไวรัส SARS-CoV-2 มีความแตกต่างกัน  แน่นอนว่าคนที่ "ไม่เคยติดโควิด" เลย ภูมิคุ้มกันในร่างกายอาจจะมีการตอบสนองที่รวดเร็ว แข็งแกร่งทำให้ไวรัสไม่สามารถเข้าไปทำลายร่างกายได้ อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกัน ย่อมขึ้นอยู่กับ อายุ พันธุกรรม นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาเกี่ยวกับพันธุกรรม และการติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งพบว่า กว่า 20% พันธุกรรมคืออีกหนึ่งปัจจัยที่กำหนดความรุนแรงของโรค  ดังนั้นส่วนประกอบทางพันธุกรรมของเราจึงอาจเป็นกุญแจสำคัญในการต้านทานเชื้อไวรัส  SARS-CoV-2 ได้

ที่ผ่านมาเคยมีผู้บริจาคเซลล์บริเวณจมูก สำหรับทำการทดสอบ และจากการทดสอบเซลล์บนจานพลาสติก เพื่อทดสอบว่าเซลล์ที่ได้มาจะมีการตอบสนองต่อเชื้อไวรัสอย่างไร ผลปรากฎว่ามีตัวอย่างเซลล์ของผู้บริจาค 1 ราย ที่ไวรัส SARS-CoV-2  ไม่สามารถติดเซลล์ได้ อย่างไรก็ตามการทำการวิจัยยังมีผู้บริจาคเซลล์จำนวนน้อย ซึ่งเน้นแค่การศึกษาความอ่อนไหวทางพันธุกรรมหรือความต้านทานต่อการติดเชื้อเท่านั้น และมีความเป็นไปได้ว่า การติดชื้อไวรัสโคโรนาชนิดอื่น ๆ เช่น โรคซาร์ส (กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลัน) และ เมอร์ส (โรคระบบทางเดินหายใจในตะวันออกกลาง) ในครั้งก่อน ส่งผลให้เกิดภูมิคุ้มกันแบบ cross-reactive  ซึ่งอาจจะเป็นจุดที่ทำให้ภูมิกันของเรารับรู้ ว่า SARS-CoV-2 คล้ายกับไวรัสที่บุกรุกล่าสุดและกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน

อย่างไรก็ตามหากคุณสามารถหลีกเลี่ยงการ ติดโควิด ได้จนถึงปัจจุบัน อาจจะหมายความว่า คุณอาจจะมีภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติ หรือ คุณอาจจะโชคดี แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดโควิดแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะขณะนี้เรายังไม่รู้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะเป็นอย่างไรในอนาคต 

ขอบคุณข้อมูล : เว็บไซต์ CNA

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/covid-19-updated/525813?adz=

 

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จ่อเพิ่ม "วัคซีน TDAP" เป็นวัคซีนพื้นฐานใหม่
 
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จ่อเพิ่ม "วัคซีน TDAP" ป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในหญิงตั้งครรภ์ เป็นวัคซีนพื้นฐานใหม่ เพิ่มภูมิคุ้มกันถึงทารกแรกคลอด ลดป่วยรุนแรงช่วงก่อนรับวัคซีน 

นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมเพิ่มวัคซีนพื้นฐานใหม่เข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ว่า ปัจจุบันในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คณะอนุกรรมการวัคซีนหลักแห่งชาติ มีการบรรจุวัคซีนพื้นฐานเข้าสู่แผนงานแล้ว 11 ชนิด ได้แก่

  • วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG)
  • วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี 
  • วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก 
  • วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี 
  • วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน
  • วัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ (HIB) ซึ่งบรรจุเข้ามาในปี 2562
  • วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรตา ซึ่งบรรจุในปี 2563

วัคซีนใหม่ที่กำลังพิจารณาเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมีหลายชนิด แต่ที่คืบหน้าที่สุด คือ  วัคซีน TDAP สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ในการป้องกันโรคบาดทะยัก (Tetanus) คอตีบ (Diphtheria) และไอกรน (Acellular Pertussis) เนื่องจากภูมิคุ้มกันของโรคต่างๆ เหล่านี้ซึ่งเคยได้รับในตอนเด็ก เวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันจะลดลง การให้ในหญิงตั้งครรภ์เพื่อหวังผลเพิ่มภูมิคุ้มกัน 2 ส่วน ทั้งในหญิงตั้งครรภ์และป้องกันในเด็กทารกด้วย ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวัคซีนหลักแห่งชาติแล้ว เหลือกระบวนการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เข้าใจว่าปี 2565 ก็น่าจะเสร็จเรียบร้อย ก็จะเสนอเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

“การฉีดให้หญิงตั้งครรภ์และมีผลไปถึงทารกด้วยนั้น จะช่วยลดการป่วยของเด็กทารกใน 3 โรคนี้ก่อนที่จะเริ่มรับวัคซีนพื้นฐานตามเกณฑ์ ซึ่งจะมีช่องว่างหรือ Gap อยู่ เนื่องจากเด็กทารกจะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เข็มแรกคือ 2 เดือน ตามด้วย 4 เดือน 6 เดือน เป็น 3 เข็มแรก และต่อด้วย 1 ขวบครึ่งและ 5 ขวบ ซึ่งต้องรอ 3 เข็มแรกภูมิคุ้มกันถึงจะพอป้องกันได้ แต่จากข้อมูลพบว่า บางครั้งเด็กป่วย เช่น โรคไอกรนตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่อายุไม่ถึง 4 เดือน ส่วนใหญ่ติดในครอบครัว เป็นช่วงที่เด็กยังมีภูมิคุ้มกันไม่เต็มที่หรือยังขึ้นไม่ทัน เนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีนหรือวัคซีนไปเพียงเข็มเดียว ก็จะป่วยก่อนแล้วไอกรนในเด็กเล็กมักรุนแรงมากด้วย ถ้าให้วัคซีน TDAP ในหญิงตั้งครรภ์จะช่วยลดในลูกได้”นพ.นครกล่าว 

      ส่วนความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีนเอชพีวีเพื่อฉีดย้อนหลังให้เด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ไม่ได้ฉีดไป 2 ปีจากสถานการณ์โควิด-19 นพ.นครกล่าวว่า บริษัทที่นำเข้าวัคซีนเอชพีวีก็มีวัคซีนเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก ซึ่งทางกรมควบคุมโรคและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่ระหว่างการเตรียมการงบประมาณในการจัดซื้อ เพราะขณะนี้เป็นช่วงปลายปีงบประมาณ

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1020710?anf=

 

 
"ติดโควิด" เลิก กักตัว เปิด 14 ข้อ วิธี ทำความสะอาด-ฆ่าเชื้อ บ้าน แบบเอาอยู่
 
 

"ติดโควิด" เลิก กักตัว หมอนิธิพัฒน์ เปิด 14 ข้อ วิธี ทำความสะอาด-ฆ่าเชื้อ ภายใน บ้าน ทั้งอุปกรณ์ ห้องน้ำ แบบเอาอยู่

"ติดโควิด" กักตัว ที่บ้าน หายแล้ว มีวิธีทำความสะอาด หรือ ฆ่าเชื้อ ภายในบ้าน และอุปกรณ์ อย่างไร กำลังเป็นคำถามยอดฮิต หลังจากมีการปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นแบบผู้ป่วยนอก (Outpatient with Self Isolation : OPSI) หรือ "เจอ แจก จบ" ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 ซึ่งเป็นอีกทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับผู้ติดเชื้อ แต่เมื่อหายจากโควิด เลิกกักตัวแล้ว จะทำความสะอาดอย่างไร ไม่ให้มีเชื้อไวรัสโควิด หลงเหลืออยู่ มีคำแนะนำมาให้แล้ว

"หมอนิธิพัฒน์" รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ค นิธิพัฒน์ เจียรกุล ให้ข้อมูลว่า จากคำถามยอดฮิตช่วงนี้คือ มีคนที่บ้านติดโควิด จะทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อห้องพักและอุปกรณ์ทุกชนิดในห้องอย่างไร หลังจากเลิกกักตัวแล้ว ก่อนอื่นมาตั้งหลักคิดกันก่อน คือ ต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้ที่จะปฏิบัติงาน และสภาพแวดล้อมภายนอกให้ได้มากที่สุด และป้องกันไม่ให้มีการทำร้ายสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานจากสารเคมีที่ใช้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ถ้าไม่มีใครใช้งานห้องนั้นต่อ ให้ผู้ติดเชื้อที่ครบระยะกักตัวเป็นผู้ทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อก่อนออกจากห้องตามรายละเอียดด้านล่าง แล้วให้เปิดหน้าต่างห้องทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนเริ่มใช้งานใหม่ แต่ถ้าคนในห้องไม่สามารถทำได้เอง ให้ช่วยทำให้มากที่สุด เพื่อลดภาระคนที่อยู่นอกห้อง โดยทิ้งเวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนเข้าทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อในห้อง

 

แนวทางทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ หลังเลิกกักตัว จาก ติดโควิด

แนวทางทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ หลังเลิกกักตัว จาก ติดโควิด
 

2. เลือกใช้น้ำยาทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อตามคำแนะนำ อ่านและทำความเข้าใจวิธีใช้ผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด พร้อมการแก้ไขขั้นต้น ถ้าได้รับพิษจากสารเคมีในน้ำยานั้น ใช้การเช็ดด้วยน้ำยา หลีกเลี่ยงใช้การสเปรย์ เพราะทำให้เชื้อโรคที่ตกค้างฟุ้งกระจายง่าย

3. เตรียมอุปกรณ์ปฏิบัติงานและอุปกรณ์ป้องกันตนเองให้พร้อม ทั้งผ้าหรือวัสดุที่จะใช้ทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ ถุงใส่เสื้อผ้า/เครื่องนอน/ของใช้ส่วนตัวที่จะซักเพื่อใช้ซ้ำ ถุงขยะติดเชื้อ หน้ากาก แว่นตา เสื้อคลุมพลาสติก ถุงมือ 2 คู่สำหรับใส่สองชั้น และถุงหุ้มเท้า เตรียมสเปรย์แอลกอออล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 60% สำหรับฆ่าเชื้อที่พื้นผิวถุงใส่อุปกรณ์ และรองเท้าแตะสำหรับใส่ เมื่อเลิกใช้แล้ว ให้อยู่บริเวณด้านนอกประตูเข้าออก ที่สามารถหยิบใช้ได้ง่าย เมื่อจะออกจากห้อง 

4. ศึกษา ทบทวน และ วางแผนวิธีการทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนเริ่มงาน ควรมีคู่หู (buddy) คอยช่วยกำกับดูแลภายนอกห้องระหว่างปฏิบัติงาน เพื่อติดตามและช่วยตัดสินใจปัญหาเฉพาะหน้า โดยสื่อสารกันผ่านโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่น

5. ถ้ามีเครื่องปรับอากาศและมีการใช้งาน ให้ปิดหน้าต่างและประตูห้องก่อน เปิดแอร์ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของ triethylene glycol (TEG) เช่น 
น้ำยายี่ห้อ FamilyGuard โดยพ่นที่ช่องนำลมเข้า ซึ่งมักอยู่ด้านบนของเครื่อง แล้วเปิดแอร์ทิ้งไว้ก่อนเป็นเวลานานอย่างน้อย 5 นาทีจึงปิดแอร์ 

6. เปิดหน้าต่างห้องขณะปฏิบัติงาน ถ้าหน้าต่างอยู่ห่างจากหน้าต่างหรือประตูห้องพักอื่นไม่เกิน 8 เมตร ให้ปิดหน้าต่างหรือประตูห้องพักอื่นในระหว่างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ เปิดประตูได้ถ้าเป็นห้องในบ้าน หรือสถานที่ที่อยู่คนเดียว ไม่เปิดประตูห้องถ้าอยู่ในบริเวณส่วนกลางที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น ไม่เปิดพัดลมหรือเปิดแอร์ระหว่างการปฏิบัติงานเพราะจะทำให้ฟุ้งกระจาย

7. เก็บรวบรวมเสื้อผ้า/เครื่องนอน/ของใช้ส่วนตัวที่จะซัก ใส่ถุงที่เตรียมไว้และมัดปากถุงให้เรียบร้อย

8. ทำความสะอาดห้องน้ำ ถ้ามีอยู่ในห้อง โดยใช้น้ำยาตามคำแนะนำ

9. ทำความสะอาดพื้นผิวในห้อง โดยเช็ดด้วยน้ำยาที่ผสมถูกต้อง ในปริมาณที่เหมาะสม และด้วยระยะเวลาที่นานพอ ตามคำแนะนำโดยเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องดูดฝุ่น 

10. พื้นห้องถ้าไม่ได้เอาพรมออกไว้ก่อนใช้ห้อง ให้ใช้น้ำยาที่เตรียมไว้ทำความสะอาดเท่าที่ได้

11. พื้นผิวของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ ถ้าหุ้มด้วยพลาสติกไว้ก่อนใช้ห้อง ใช้แผ่นกระดาษชุบน้ำยาทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อสำเร็จรูปเช็ดที่พลาสติกหุ้มก่อนถอดทิ้งในถุงขยะติดเชื้อ ถ้าไม่ได้หุ้มพลาสติกไว้ก่อนใช้ห้อง ให้ใช้แผ่นสำเร็จรูปทำความสะอาดพื้นผิวเท่าที่ได้ โดยตรวจสอบคุณสมบัติของน้ำยาและชนิดของอุปกรณ์ที่จะทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อนั้นให้ดีก่อน อย่าลืมถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าก่อนเริ่มงานด้วย

12. เมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติงาน ทิ้งผ้าหรือวัสดุที่ใช้ทำความสะอาดอื่นทั้งหมดลงถุงขยะติดเชื้อ ถอดอุปกรณ์ป้องกันตัวทั้งหมด โดยถอดถุงมือชั้นนอกเป็นลำดับสุดท้าย ระมัดระวังระหว่างการถอดเครื่องมือ ป้องกันตัวไม่ให้สัมผัสถูกผิวเสื้อผ้าและเนื้อตัวเราเอง รวบรวมใส่ถุงขยะติดเชื้อและมัดปากถุงให้เรียบร้อย สเปรย์ด้วยแอลกอออล์ให้รอบ ทั้งถุงใส่ผ้าที่จะซักและถุงขยะติดเชื้อ ก่อนส่งมาวางไว้นอกห้อง

13. เมื่อออกจากห้องให้ถอดถุงมือชั้นในทิ้งในถุงแยกต่างหาก รีบล้างมือด้วยสบู่นานอย่างน้อย 20 วินาที แล้วอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้า

14. คนที่เป็นโรคภูมิแพ้จมูก หรือโรคหืดที่ยังควบคุมอาการได้ไม่ดี ควรหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานนี้

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/covid-19-updated/525874?adz=

 

 
"ติดโควิดกินอะไรหายไว" งด อาหาร แบบ IF ลดรุนแรง เมื่อ ติดโควิด ได้จริงหรือ?
 
 

"ติดโควิดกินอะไรหายไว" หมอดื้อ กางข้อมูล งด อาหาร เป็นระยะ แบบ IF ลดรุนแรง เมื่อ ติดโควิด เมื่อเทียบกับคนกิน อาหาร ปกติได้ จริงหรือ?

"ติดโควิดกินอะไรหายไว" สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด โดยเฉพาะระลอกสายพันธุ์โอไมครอน ที่ครองการระบาดอยู่ในขณะนี้ ประกอบกับ หลังจากมีการปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นแบบผู้ป่วยนอก (Outpatient with Self Isolation : OPSI) เน้นการดูแลรักษาตัวที่บ้านด้วยตัวเอง การเลือกรับประทานอาหาร เมื่อติดโควิด จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ช่วยในการบรรเทาอาการของโรคได้

"หมอดื้อ" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ให้ข้อมูลเรื่องอาหารที่น่าสนใจ สำหรับคน ติดโควิดกินอะไรหายไว ระบุว่า การงดอาหารเป็นระยะ IF ลดความรุนแรงเมื่อติดโควิด

โดย หมอดื้อ อ้างอิงจากรายงานในวารสาร british medical journal (nutrition) ชี้ประโยชน์ของคนที่ทำ IF intermittent fasting วันละ 12-14 ชม. ช่วงเวลานั้นทานแต่น้ำ ไม่ใช่น้ำหวาน น้ำอัดลม (ระยะเวลาที่เหลือต้องไม่ทาน มโหฬาร) เมื่อติดโควิด เข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต 11% เทียบกับคนกินปกติ 24% ทั้งนี้ ไม่จำกัดเชื้อชาติ การดื่มเหล้า และปัจจัยทางสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งการศึกษานี้ เป็นการศึกษาก่อนที่จะมีการใช้วัคซีน 

อาหาร IFอาหาร IF

ข้อสำคัญการงดอาหาร IF

ไม่ได้ช่วยป้องกันการติดโควิด และนี่คือประโยชน์ของการกินไม่มาก และรายงานอื่น ๆ ของการเข้าใกล้มังสวิรัติ ออกกำลัง ตากแดด ช่วยปรับการใช้พลังงานของเซลล์ให้สมดุลย์ ช่วยภูมิคุ้มกันต่อสู้กับโรคร้ายรวมกระทั่งถึงไวรัสต่าง ๆ

ต้องเสียสตางค์หรือไม่?

ต้องใช้ยาหรือไม่?

ทำง่ายเพื่อตัวเองครอบครัวและประเทศ

อาหารแบบ IF

อาหารแบบ IF

Intermittent Fasting (IF) คืออะไร

การทำ Intermittent Fasting (IF) เป็นวิธีการลดน้ำหนักอีกวิธีหนึ่ง โดยการควบคุมแคลอรี และจำกัดเวลาในการทานอาหาร โดยมีหลากหลายวิธีในการปฏิบัติ แต่วิธีที่ได้รับความนิยมก็คือ จำกัดเวลาทานอาหาร ชั่วโมง และอดอาหาร 16 ชั่วโมง ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ เราสามารถ ทานได้เวลา 6:00-14:00 โดยหลังจาก 14:00 เป็นช่วงงดอาหาร ทานได้เพียงแต่น้ำเปล่า หรือกาแฟ ชา ที่ไม่ใส่น้ำตาล (งดเว้นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ในช่วงอดอาหาร เพราะจะกระตุ้นให้เกิดความหิวและอยากน้ำตาลได้)  สรุปคือ จะไม่ได้ทานอาหารมื้อหนึ่ง นั่นก็คือ มื้อเย็น 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/health/526021?adz=

 

ช่วงนี้อยากให้ทุกคน เช็กก่อนใช้! ATK ไหนจริง ไหนปลอม มีวิธีดูอย่างไร

ช่วงนี้มีการลักลอบผลิตชุดตรวจ ATK ปลอม หลอกขายให้กับประชาชนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นจำนวนมาก ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จึงขอแนะนำวิธีสังเกตเบื้องต้น ว่า ATK แบบไหนจริง ATK แบบไหนปลอม

โดยให้สังเกตหมายเลขล็อตที่กล่องชุดตรวจโควิด กับหมายเลขล็อตซองบรรจุภัณฑ์ด้านใน หากเป็นของจริง หมายเลขล็อตจะต้องตรงกัน

ดังนั้นก่อนที่จะเลือกซื้อชุดตรวจโควิด – 19 ทุกครั้ง ขอให้ท่านตรวจสอบผลิตภัณฑ์ตามวิธีข้างต้น และควรเลือกซื้อจากแหล่งขายที่น่าเชื่อถือ  

 

เช็กก่อนใช้! วิธีดู ATK ไหนจริง ไหนปลอม
หรือสั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาตนำเข้าถูกต้องจาก อย.

โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อชุดตรวจ ATK ที่ได้รับอนุญาตผ่านเว็บไซต์ https://www.fda.moph.go.th/sites/Medical/SitePages/test_kit_covid19.aspx

 

11 ส.ค.2565 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่าโควิด-19 เราไม่สามารถหนีกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ

ในอดีตที่ผ่านมามีการระบาดของโรคร้ายแรงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไข้ทรพิษ กาฬโรค และความรู้ การแพทย์ไม่ทันสมัยเหมือนสมัยนี้ เราก็สามารถผ่านพ้นกันมาได้จนทุกวันนี้ การระบาดของโรค จะไม่ยืดยาวนานอย่าง โควิด-19 ในปัจจุบัน

ตามกฎเกณฑ์ของวิวัฒนาการ กระต่ายเคยทำลาย พืชเกษตรเสียหายมาก มนุษย์จึงใช้ไวรัสที่ก่อโรครุนแรงในกระต่ายถึงเสียชีวิต และเป็นโรคระบาด ใส่ให้กระต่าย ผลปรากฏว่ากระต่ายเสียชีวิตจำนวนมากแต่ก็จะมีจำนวนหนึ่งที่ทนต่อไวรัสนี้ และหลงเหลืออยู่แพร่พันธุ์ต่อมา เพิ่มจำนวนได้เท่าเดิม

เมื่อมองย้อนไปถึงการระบาดของโรคในอดีต การระบาดส่วนใหญ่จะใช้เวลาปีเดียว มีการติดต่อกันมาก อย่างเช่นอหิวาตกโรคในรัชกาลที่ 2 หรือ ไข้หวัดใหญ่สเปน ในรัชกาลที่ 6 ระบาดอยู่เพียงปีเดียว ก็เปลี่ยนเป็นโรคประจำฤดูกาล แต่มีการสูญเสียค่อนข้างมากโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากร

 
 
 

เราประมาณการกันว่า ไข้หวัดใหญ่ ระยะเวลา 3 ปี เกือบทุกคนจะเป็นหนึ่งครั้ง และเมื่อครบ 9 ปีโดยเฉลี่ยแล้วจะเป็นครบทั้งไข้หวัดใหญ่ A (H1N1, H3N2) และ B รวม 3 ตัว ดังนั้นในเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน การให้ครั้งแรกของชีวิตจะต้องให้ 2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน แต่ถ้าใครอายุเกิน 9 ปี ก็ถือว่าน่าจะเคยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มาแล้ว การให้วัคซีนจะเป็นเข็มกระตุ้น 1 ครั้ง Covid 19 ก็น่าจะเช่นเดียวกันถ้าใช้ระยะเวลา 3 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ก็น่าจะเคยติดเชื้อมาเป็นส่วนใหญ่แล้ว

ในปัจจุบันการแพทย์เราดีขึ้นก็ตาม การระบาดของโรคเราต่อสู้กับมันมาตลอด ทำให้ระยะเวลาในการระบาดยืดยาวออก และในที่สุดประชากรส่วนใหญ่ ก็คงจะต้องเคยติดโรค เปรียบเสมือนไข้หวัดใหญ่ โรคทางไวรัส ส่วนใหญ่เป็นในเด็กอาการจะไม่มีรุนแรง อาการจะรุนแรงในกลุ่มเปราะบาง

เรายืดระยะการระบาดมาถึง 2 ปีครึ่งแล้ว เพื่อให้มีการพัฒนา การรักษา การป้องกัน ด้วยวัคซีน ปัจจุบันก็ทราบแล้วว่า วัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ช่วยลดความรุนแรง การระบาดในระยะหลัง จึงมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก อาจจะเป็นจำนวนเป็นหลายหมื่น ถ้ารวมผู้ติดเชื้อมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ และไม่ได้ตรวจ ก็อาจจะเป็นแสนก็ได้ ปัญหาของโรค จึงอยู่ในกลุ่มเฉพาะเปราะบาง จำนวนการนอนโรงพยาบาล จึงอยู่ที่ 2,000 - 3,000 คน การเสียชีวิต 20-30 คน

เรารับความจริงแล้วว่า โรคนี้จะอยู่กับเราตลอดไป และจะอยู่ด้วยกันได้ ไวรัสจะทำร้ายเราน้อยลง เรามีระบบภูมิต้านทานที่ดีขึ้น ที่เคยได้รับวัคซีน หรือติดเชื้อมาแล้ว และมียาที่ดีขึ้น อัตราการสูญเสียก็จะน้อยลง เหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วๆไป โดยเฉพาะในเด็ก เมื่อเป็นแล้ว โตขึ้นก็จะมีภูมิต้านทาน และถ้าได้รับเชื้อความรุนแรงของโรคก็จะน้อยลงเอง

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/198446/

 

 
"ปลูกฝี" เผยข้อมูล ภูมิคุ้มกัน ฝีดาษลิง อยู่นานถึง 88 ปี เช็ค เกิดปีไหน รอด
 
 

คนเคย "ปลูกฝี" มีความหวัง หมอดื้อ เผยข้อมูล ระดับ ภูมิคุ้มกัน กัน "ฝีดาษลิง" อยู่นานถึง 88 ปี เช็คเลย คนเกิดปีไหน รอด

(8 ส.ค.2565) "หมอดื้อ" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊ค ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ และเรียกได้ว่าเป็นข่าวดี สำหรับ "โรคฝีดาษลิง" โดยระบุว่า คนปลูกฝีกันไข้ทรพิษ กัน "ฝีดาษลิง" ได้ ภูมิอยู่นาน 88 ปี

"หมอดื้อ" อ้างอิงข้อมูล เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันจากการปลูกฝี (Immunity from smallpox vaccine) ใน Am J Med (American journal of medicine) ปี 2008 ทำการวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษ (Vaccinua IgG) และความสามารถในการป้องกันโรค (neutralizing Ab titer, NAb) ในประชากร 246 คน โดย 209 คน เคยได้รับการฉีดวัคซีน ฝีดาษอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เมื่อ 13-88 ปี โดยเจาะเลือดเก็บไว้ตรวจเป็นระยะมาก่อน

  • 8 คน มีประวัติเป็นฝีดาษตอนเด็ก
  • 29 คน ไม่มีทั้งประวัติการติดเชื้อ หรือได้รับวัคซีนฝีดาษ

พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษไม่ลดลง แม้ในกลุ่มได้รับวัคซีนมาแล้ว 88 ปี รวมถึงระดับ NAb ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และพบว่า titer ของระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการติดเชื้อฝีดาษได้คือ 32 ซึ่งมีคนไข้มากกว่า 97% ที่มีระดับภูมิคุ้มกันระดับนี้

ปลูกฝี ระดับภูมิต้านฝีดาษลิงนาน 88 ปี

 

ปลูกฝี ระดับภูมิต้านฝีดาษลิงนาน 88 ปี

สรุปคือจากการศึกษานี้พบว่า ส่วนใหญ่คนที่เคยปลูกฝีสามารถมีระดับภูมิคุ้มกันที่ป้องกันโรคฝีดาษได้นานถึง 88 ปี โดยไม่ขึ้นกับจำนวนครั้งที่ฉีดวัคซีนกระตุ้น เพราะคนที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นก็ไม่ได้มีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าคนที่ฉีดเพียงครั้งเดียวอย่างมีนัยยะสำคัญ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากอินเดีย พบว่า "ฝีดาษลิง" ช่วงระยะฟักตัว 5-21 วัน คนไข้อาจไม่มีอาการใด ๆ เลย ไม่มีไข้ ไม่เมื่อยตัว ไม่มีผื่น แต่ก็สามารถแพร่เชื้อได้แล้วทางละอองฝอยน้ำลายไอจาม (droplet) โดยประสิทธิภาพในการแพร่เชื้อแทบไม่ต่างจากระยะที่มีอาการแสดงชัดเจน และอัตราเสียชีวิตเริ่มเพิ่มขึ้นจากเดิม 1% ไปเป็น 3-6% ข้อมูลนี้เน้นว่า ต้องพิจารณาส่งตรวจ PCR จากการ swab ช่องจมูกและน้ำลายให้มากขึ้น ถ้าต้องการยุติการแพร่ระบาดให้เร็ว

ปลูกฝี ภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษนานถึง 88 ปี

 

ปลูกฝี ภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษนานถึง 88 ปี

หลักสังเกตว่าตนเองเคยปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแล้วหรือไม่อย่างไร ได้แก่

  1. ถ้าเป็นคนอายุมากกว่า 48 ปี ที่เกิดก่อนปี 2517 มีโอกาสสูงที่จะเคยปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการระดมปลูกฝีในช่วงนั้นเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ฝีดาษหมดไปจากประเทศไทย ส่วนใหญ่จะฉีดกันที่โรงเรียน
  2. ถ้าอายุน้อยกว่า 42  ปี คือเกิดหลังปี 2523 ถือว่าไม่เคยได้รับการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษมาก่อน
  3. กรณีผู้ที่อายุ 43-47 ปี คือเกิดก่อนปี 2523 แต่เกิดหลังปี 2517 เป็นช่วงก้ำกึ่ง จะต้องตรวจดูแผลเป็นต่อไป
  4. ในการตรวจสอบแผลเป็น ซึ่งส่วนใหญ่จะฉีดที่ต้นแขนซ้าย

ในกรณีที่เป็นการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ แผลเป็นจะเป็นลักษณะแผลแบนเรียบ หรือเป็นหลุมลงไปเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นการปลูกฝีป้องกันวัณโรคที่เรียกว่า BCG แผลเป็นนั้นจะนูนขึ้นมา


ดังนั้น การตรวจสอบว่าตนเองเคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษคน/ไข้ทรพิษหรือยัง ก็ใช้หลักสองประการดังกล่าวคือ ดูว่าเกิดก่อนปี 2517 และตรวจสอบว่าแผลเป็นที่เกิดขึ้น เป็นแผลที่เรียบหรือเป็นหลุมลงไปเล็กน้อย ก็ถือว่าเคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษแล้ว

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/news/525511?adz=