"ติดโควิด" ต้องกินยาอะไรบ้าง ? เตรียมพร้อมไว้อุ่นใจกว่า
แม้ว่า “โควิด” จะกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” แล้ว แต่จำนวนยอดผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง และการเข้าถึงการรักษา - รับยา กับโรงพยาบาลกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ดังนั้น ทุกคนจึงควรเตรียม “ยา” จำเป็นเบื้องต้นติดบ้านไว้ให้พร้อมเพื่อความอุ่นใจ

หลังจาก ​บอร์ด “สปสช.” มีมติเห็นชอบ ปรับหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 กรณีปรับโรคโควิด-19 เป็น "โรคประจำถิ่น" ตามนโยบายรัฐบาล มีผล 4 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป ยืนยันประชาชนยังคงได้รับการดูแลรักษาตามสิทธิ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

รวมถึงก่อนหน้านี้ ศบค. มีมาตรการผ่อนคลายให้ประชาชนถอดหน้ากากอนามัยได้เมื่ออยู่ที่โล่งแจ้ง ทำให้ผู้คนไม่ตั้งการ์ดสูงเหมือนเมื่อก่อน

ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ขยายเป็นวงกว้าง ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นไม่หยุด ยืนยันจากยอดโควิดล่าสุด (14 ก.ค.) มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงถึง 2,257 ราย และมีผู้เสียชีวิต 28 ราย

ทั้งนี้ จากยอดโควิดที่พุ่งสูงดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยโควิดรายใหม่จำนวนมากเข้าถึงการรักษาได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของเตียงโรงพยาบาลเต็ม, การรอคิวที่ยาวนาน, ปัญหาการลงทะเบียนเข้าระบบการรักษา ที่ปรากฏว่าไม่สามารถลงทะเบียนได้เนื่องจากระบบเต็ม และต้องรอทำใหม่ในวันถัดไป

ถึงแม้ว่า สปสช. จะยืนยันว่า มี "ร้านยา" ที่เข้าร่วมโครงการกับ สปสช. พร้อมจ่ายยาให้กับผู้ที่ติดโควิด (อาการไม่รุนแรง และต้องมีสิทธิบัตรทองเท่านั้น) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถหาซื้อได้ง่าย เนื่องจากไม่ใช่ทุกร้านยาที่เข้าร่วม ดังนั้น การป้องกันปัญหาเหล่านี้ในเบื้องต้น อาจจะต้องเริ่มด้วยตัวเอง โดยการซื้อยาที่สามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้

สำหรับ กลุ่มยารักษาอาการป่วยโควิดเบื้องต้น ที่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป ได้แก่ 

1. “ฟ้าทะลายโจร” 

สำหรับผู้ป่วยระยะแรก ที่ติดโควิด สามารถกินยาสมุนไพร “ฟ้าทะลายโจร” ได้ทันที โดยผู้ใหญ่ทานครั้งละ 60 มิลลิกรัม เด็กทานครั้งละ 11 มิลลิกรัม เช้า กลางวัน และเย็น ติดต่อกัน 5 วัน แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบพบแพทย์

2. “ยาพาราเซตามอล” แก้ไข้ แก้ปวด 

สำหรับผู้ติดโควิด และมีอาการไม่หนักมาก ยังสามารถดูแลตนเองได้ สามารถกินยากลุ่มนี้เพื่อบรรเทาอาการไข้ และปวดหัว โดยกินยาทุก 4-6 ชั่วโมง ตามอาการ

3. “ยาแก้ไอมะขามป้อม” 

เป็นยาสมุนไพรไทยที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการไอ ในผู้ที่ติดโควิดในระยะแรก และมีอาการไม่หนักมาก จิบยาวันละ 3 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการไอ ระคายคอ เสมหะข้น

4. “ยาขิง”

ใช้เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันต้านไวรัส ลดอักเสบ โดยเฉพาะลดเสมหะ แก้คัดจมูก เพิ่มการไหลเวียนโลหิต ขับเหงื่อ โดยกินวันละ 1-2 แคปซูล หลังอาหาร หากอาการดีขึ้น ควรหยุดยา

5. “ยาตรีผลา” 

สำหรับผู้ติดโควิดที่มีอาการไม่รุนแรงมาก โดยตัวยามีสรรพคุณแก้ไอ ละลายเสมหะ โดยใช้ ครั้งละ 300 - 600 มิลลิกรัม เมื่อมีอาการไอ วันละ 3 - 4 ครั้ง

ทั้งหมดนี้เป็นทั้งยาสมุนไพรไทย และยาสามัญประจำบ้าน ที่สามารถหาซื้อได้ทั้งร้านขายยาแผนปัจจุบันและร้านขายยาแผนโบราณ ซึ่งสามารถใช้บรรเทาอาการ ได้เฉพาะผู้ติดโควิดในระยะเริ่มต้นเท่านั้น

หากใช้ยาดังกล่าวแล้วยังอาการไม่ดีขึ้น ก็จำเป็นจะต้องไปโรงพยาบาลในสิทธิของท่าน เช่น โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม, โรงพยาบาลตามสิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นต้น  

อ่านเพิ่ม : "สมุนไพรไทย" บรรเทาอาการโควิด-19 และ Long COVID

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/health/1015444?anf=

 

หมอมนูญเผยไวรัสโควิด-19 โอมิครอน BA.5 แซงหน้าเชื้อไวรัสทุกชนิดในโลกในด้านการแพร่กระจาย

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 โดยรายละเอียดดังนี้

เชื้อไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 สามารถแพร่ได้เร็วกว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์เดิมทุกสายพันธุ์ และเชื้อไวรัสโรคอื่น ๆ ทุกชนิดในโลก

ด้วยการเปรียบเทียบค่า R0 คนติดเชื้อ 1 คนแพร่เชื้อต่อให้คนอื่นกี่คน 

โควิดโอมิครอน BA.5 แพร่ได้เร็วกว่าไวรัสทุกชนิดในโลก
  • คนติดเชื้อเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อู่ฮั่น 1 คนแพร่เชื้อต่อให้อีก 3.3 คน
  • คนติดเชื้อเชื่อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า 1 คนแพร่เชื้อต่อให้อีก 5.1 คน
  • คนติดเชื้อเชื้อไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 หนึ่งคนแพร่เชื้อต่อให้อีก 9.5 คน
  • คนติดเชื้อเชื้อไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 หนึ่งคนแพร่เชื้อต่อให้อีก 18.6 คน

ในขณะที่คนติดเชื้อไวรัสอีสุกอีใส 1 คนแพร่เชื้อต่อให้อีก 12 คน

และคนติดเชื้อไวรัสหัด 1 คนแพร่เชื้อต่อให้อีก 18 คน

ไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 ในขณะนี้แซงหน้าเชื้อไวรัสทุกชนิดในโลกในด้านการแพร่กระจาย ในอนาคตเชื้อไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่เช่น BA.2.75 ที่เพิ่งพบในประเทศอินเดีย อาจจะแพร่ได้เร็วยิ่งกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.5 ไม่มีใครคาดเดาได้ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ช่วงนี้ขอให้ประชาชนคนไทยทุกคนระมัดระวังตัวมากขึ้น โรคระบาดใหญ่ของโควิดยังไม่จบ เพราะเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.5 แพร่กระจายได้เร็วมาก ติดต่อกันง่ายที่สุด แต่โชคยังดีที่ไม่รุนแรงเพิ่มขึ้น ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือต่อไป และรีบไปรับวัคซีนป้องกันโรคโควิดเข็มกระตุ้นให้ครบทุกคน

ข้อมูลจาก https://www.pptvhd36.com/health/news/1227?utm_source=line&utm_medium=linetoday_original&utm_campaign=news_1227

 

 
"อาการลองโควิด" กระทบ 6 อวัยวะภายในที่สำคัญ ดูแลอย่างไรไม่ให้โดนโจมตี
 
 

"อาการลองโควิด" ส่งผลกระทบ 6 ระบบอวัยวะภายในที่สำคัญ แนะวิธีดูแล และการสังเกตความผิดปกติ ต้องทำอย่างไรเมื่อร่างกายกำลังถูกโจมตีด้วย ภาวะ Long COVID

ภาวะ Long COVID อีกหนึ่งผลข้างเคียยงที่ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดมักจะประสบปัญหาหลังจากที่หายจากการติดเชื้อมาแล้ว ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุ ว่า ผู้ที่หายจากการติดโควิด แล้วมักจะเจอ "อาการลองโควิด" ที่ส่งผกระทบต่อ 6 ระบบร่างกาย ได้แก่ 
1.ระบบทางเดินหายใจ 44.38% เช่น เหนื่อยง่าย หายใจไม่เต็มปอด ไอเรื้อรัง 
2.ระบบสุขภาพ 32.1% เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า
3.ระบบประสาท  27.33% เช่น อ่อนแรงเฉพาะที่แบบเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หลงลืม
4.ระบบทั่วไป  23.41% เช่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ
5.ระบบหัวใจและหลอดเลือด 22.86% เช่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น
6.ระบบผิวหนัง  22.8% เช่น ผมร่วง ผื่นแพ้  

โดย "อาการลองโควิด" ที่มักจะตามมาหลังจากติดเชื้อนั้นสร้างความกังวลต่อเราค่อนข้างมาก เนื่องจากระบบอวัยวะที่ ภาวะ Long COVID เข้าไปโจมตีเป็นส่วนสำคัญของระบบร่างกายอย่างมาก แต่หากได้รับการดูแล และมีการฟื้นฟูอวัยวะส่วนไม่ว่าจะเป็น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางจิตใจ ระบบสุขภาพจิต ระบบประสาท ระบบทั่วไป ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบผิวหนัง อย่างถูกวิธี ก็จะช่วยให้ร่างกายสามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติ 

สำหรับแนวทางการดูแล "อาการลองโควิด" กับระบบอวัยวะทั้ง 6 อย่าง สามารถทำได้ดังนี้  

1. ระบบทางเดินหายใจ  พบภาวะ ไอเรื้อรัง เนื่องจากการติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมีอาการไอทั้งไอแห้ง ไอมีเสมหะ บางรายไอแบบมีเลือดปนมา อาการดังกล่าวเกิดจากการที่เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเนื้อเยื้อทางเดินหายใจ จึงทำให้ระบบทางเดินหายใจไวต่อสิ่งเร้าได้ง่ายขึ้น  โดยเฉพาะอาการไอ แต่โดยปกติแล้วอาการดังกล่าวจะสามารถหายไปเองได้ ขึ้นอยู่กับเวลาและความเสียหายของเนื้อเยื้อทางเดินหายใจ 

วิธีดูแล "อาการไอเรื้อรัง" ทำได้ดังนี้  
-ทานยาแก้ไอ เพื่อลดอาการระคายเคืองในลำคอ
-ดื่มน้ำในปริมาณมาก เพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองคอ
-ดื่มน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งมะนาว เพิ่มความชุ่มชื้นในลำคอ และลดเสมหะ
-ใช้สเปย์พ่น เพื่อลดการอักเสบและลดการระคายเคืองในลำคอ
-นอนหลับให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่
-ไม่อยู่ในสถานที่ ที่มีอากาศแห้งมากเกินไป เพราะอาจเกิดการระคายเคืองในลำคอได้
-หลีกเลียงบริเวณที่มีฝุ่นหรือควันเยอะ เพราะอาจทำให้อาการไอกำเริบ

2.ระบบทางเดินหายใจ หลังจากที่หายป่วยจาก โควิด พบว่า "อาการลองงโควิด" ส่วนใหญ่ที่เจอมักจะมีความเกี่ยวข้องกับหัวใจประมาณ 22.86% เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการต่อสู้ของระบบภูมิคุ้มกัน อาการเบื้องต้นมักจะเจอภาวะ ใจสั่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย  มีอาการเจ็บบริเวณหน้าอกแบบแปลก ๆ  หัวใจเต้นผิดจังหวะ   หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งควรพบแพทย์ทันที เนื่องจากภาวะลองโควิดที่กระทบระบบหัวใจไม่สามารถรักษาเองได้ ต้องให้แพทย์วินิจฉัย  

3.ระบบทั่วไป เนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะเข้าไปทำลายระบบทางเดินหายใจและปอด ทำให้ร่างกายไม่สามารถรับอ๊อกซิเจน เข้าไปได้เต็มที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดภาวะอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  ปวดตามข้อ วิธีการดูแลอย่างด่วนที่สุด ดังนี้ 
-ฝึกหายใจ เพื่อฟื้นฟูปอดให้ร่างกายได้รับอ็อกซิเจนเข้าไปเต็มปอด 
-ออกกำลังกายในระดับที่เหมาะสมกับร่างกาย เพื่อให้ร่างกายรู้สึกกระฉับกระเฉง ไม่ง่วงซึม อ่อนล้า  อ่อนเพลีย  
-พักผ่อนระหว่างวันไม่โหมทำกิจกรรมหนัก เช่น ไม่หักโหมเดินทางไกล ไม่ตากแดดนานเกินไป 
-ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ เน้นโปรตีน โพรไบโอติก อาหารที่มีกากใย เลี่ยงอาหาร Junk Food  

4.ระบบประสาท สาเหตุที่ทำให้โควิด มีผลกับระบบประสาทโดยตรง มาจากภูมิคุ้มกันในตัวผู้ป่วยทำงานต่อสู้กับไวรัส จนเกิดการอักเสบกับระบบประสาทและสมอง การตรวจเช็คเบื้องต้น ว่าอาการปวดหัว อ่อนเพลีย ว่าเป็นผลกระทบเรื้อรังจากการติดเชื้อหรือไม่ ทำได้ดังนี้ 
-ปวดศีรษะ
-มึนงงสับสน
-มีอาการสมาธิสั้น
-มีอาการซึม
-มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชาตามร่างกาย หรือชาแขนขา
-หน้าเบี้ยว พูดไม่ได้หรือพูดไม่ชัด
สมองไม่โปร่ง

5.อาการที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง  โดย อาการทางผิวหนังที่เกิดขึ้นหลังจากติดโควิด เกิดจากภูมิต้านทานสร้างเม็ดเลือดขาวมาต่อสู้กับไวรัสภายในร่างกาย  มักจะทำให้เป็นผื่นคัน ผื่นนูนแดง ผื่นตุ่มใสๆ ผื่นแบบลมพิษ หรือบางรายอาจมีอาการผมร่วง
โดย วิธีการแยกระหว่างอาการทางผิวหนังปกติกับอาการผิวหนังปกติ โดยสังเกตุจากอาการผลข้างเคียงจาก Long covid อื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นเป็นไข้ ตัวร้อน ปวดหัว อ่อนเพลีย  หากพบ "อาการลองโควิด" ที่มีผลกระทบจากผิวหนังให้ดูตัวเองด้วยการทาโลชัน ไม่เกาบริเวณที่คัน แต่ให้ลูบเบา ๆ ในจุดที่คันแทน 

6.อาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะจิตใจ จากข้อมูลพบว่า หลังจากที่หายจากโควิดพบว่าผู้ป่วยกว่า 32.1% มีภาวะซึมเศร้าเป็นเวลานาน โดยอาจมีผลกระทบต่อระบบประสาทโดยตรงที่ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติ และทางจิตใจที่เกิดจากสภาวะจิตใจของผู้ป่วย  อย่างไรก็ตามผู้ที่เคยป่วยโควิด และคนใกล้ชิดสามารถดูแลจิตใจหลังจากหายโควิดได้ ดังนี้ 
-หางานอดิเรกทำ  
-ทำกิจกรรม พูดคุบกับครอบครัว  
-หลีกเลี่ยงข่าว หรือสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดภาวะเครียด  
-หากยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ด้านสุขภาพจิตโดจเฉพาะ 

ขอบคุณข้อมูลจาก :  เพจหายแล้ว ต้องรักปอด By Imura Long  

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/522114

 

 

 
รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศแจกหน้ากากอนามัยฟรี และให้บริการตรวจโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ฟรีแก่ประชาชนวันนี้ (14 ก.ค.) หลังยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันและผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นจนระบบสาธารณสุขเริ่มเข้าสู่ภาวะตึงตัว

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันในนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา และทางการประเมินว่า การระบาดของเชื้อสายพันธุ์ “โอมิครอน” ระลอกใหม่นี้อาจจะรุนแรงยิ่งกว่าระลอกแรก

โรงพยาบาลหลายแห่งในนิวซีแลนด์มีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้คนไข้ต้องใช้เวลารอการรักษานานขึ้น และแพทย์ต้องขอเลื่อนเคสผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วนออกไปก่อน

“ยอดผู้ป่วยโควิด-19 และอัตราการป่วยเข้าโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ประกอบช่วงนี้เป็นฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรงกว่าเดิม และมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ต้องหยุดงานไป ทำให้ระบบโรงพยาบาลอยู่ในภาวะตึงตัวอย่างมาก” อาเยชา เวอร์รอลล์ รัฐมนตรีฝ่ายการรับมือโควิด-19 ของนิวซีแลนด์ ระบุ

นิวซีแลนด์ซึ่งมีประชากร 5.1 ล้านคน พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 11,382 รายวันนี้ (14) และมีจำนวนผู้ป่วยในชุมชน (active community cases) รวมทั้งสิ้น 68,737 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 765 ราย

มาตรการตอบสนองที่ฉับไวของรัฐบาลในช่วงแรกๆ บวกกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของนิวซีแลนด์ที่เป็นเกาะ ช่วยให้แดนกีวีเกือบจะเป็นดินแดนปลอดโควิดมาได้จนถึงปลายปีที่แล้ว กระทั่งรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกนโยบาย “คุมโควิดเป็นศูนย์” เมื่อต้นปีนี้ และหันมาปรับตัวอยู่ร่วมกับโควิด-19 เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบ

เวอร์รอลล์ ยอมรับว่ารัฐบาลคงไม่สามารถกลับไปใช้นโยบายคุมโควิดเป็นศูนย์ได้อีก ดังนั้น ประชาชนจึงจำเป็นที่จะต้องดูแลตัวเองด้วยการสวมหน้ากาก หมั่นตรวจหาเชื้อ และแยกกักตัวเองหากว่ามีคนในครอบครัวที่ติดโควิด-19

รัฐบาลนิวซีแลนด์อยู่ระหว่างขยายบริการตรวจ ATK และแจกหน้ากากอนามัยฟรีให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงมากขึ้น และอนุญาตให้ร้ายขายยาสามารถจำหน่ายยารักษาโควิด-19 รวมถึงปรับลดเกณฑ์ในการพิจารณาแจกยาต้านไวรัส

“นี่ยังไม่ใช่เวลาที่จะหยุดสวมหน้ากาก หลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่บอกเราว่า การสวมหน้ากากช่วยลดความเสี่ยงที่คุณจะติดเชื้อโควิด-19 ลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง และยังช่วยปกป้องคุณจากเชื้อไข้หวัดใหญ่และโรคอื่นๆ ที่มาพร้อมกับฤดูหนาว ดังนั้นถ้าคุณไม่อยากสวมหน้ากากเพื่อตัวเอง ก็ขอให้สวมเพื่อเห็นแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วย” เวอร์รอลล์ กล่าว

ที่มา : รอยเตอร์
 
 
 
ไขข้อสงสัย "รพ.เอกชน" ออกแพ็กเกจรักษาโควิด-19 ได้หรือไม่
 
กรม สบส. แจง กรณี "รพ.เอกชน" บางแห่งออกแพ็กเกจรักษา "ผู้ป่วยโควิด-19" โดยระบุให้เลือกรูปแบบการรักษาและมีค่าใช้จ่าย สามารถทำได้ แต่จะต้องเป็นยาที่ รพ.เอกชนจัดซื้อมาเอง ไม่ใช่ยาที่รัฐจัดให้ เป็นทางเลือกประชาชน แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษา และมาตรฐานสถานพยาบาล

จากกรณีที่ รพ.เอกชน บางแห่งออกแพ็กเกจรักษา ผู้ป่วยโควิด-19 โดยระบุให้เลือกรูปแบบการรักษาและมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน อาทิ ยาฟาวิพิราเวียร์ ครบโดส 50 เม็ด ราคา 2,900 บาท หรือยาฟาวิพิราเวียร์แบบครบโดสกับปรอทและเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ราคา 3,000 บาท หรือ ยาโมลนูพิราเวียร์ 20-30 เม็ด ราคา 5,700 บาท เป็นต้น ซึ่ง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ระบุว่า สามารถดำเนินการได้ แต่จะต้องเป็นยาที่รพ.เอกชนจัดซื้อมาเอง ไม่ใช่ยาที่รัฐจัดให้ไปเพื่อใช้ในการรักษาฟรีให้กับประชาชนนั้น

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า หากเป็นคนไข้โควิด-19 ไปรักษาใน รพ.ตามสิทธิ เป็นไปตามระบบนั้น โรงพยาบาลที่รักษาตามสิทธินั้นๆ ย่อมไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ เพราะรัฐเป็นผู้สนับสนุนยาไปยังโรงพยาบาล แต่หากรพ.เอกชน ต้องการทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายและมีกำลังจ่าย ก็สามารถทำได้ แต่การรักษาต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ และยาส่วนที่จะนำคิดค่ารักษาจะต้องเป็นของเอกชน เนื่องจากปัจจุบันในส่วนยาจากภาครัฐจะเตรียมยาไว้ให้รพ.เอกชนที่ดูแลคนไข้ตามสิทธิ

“สิ่งสำคัญการออกแพ็กเกจใดๆ ต้องอิงอาการคนไข้เป็นหลัก ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษา และมาตรฐานสถานพยาบาล กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะมีการประชุมหารือและกำชับรพ.เอกชน ในการปฏิบัติเรื่องนี้ให้ถูกต้อง หากสงสัยว่า รพ.เอกชนทำได้หรือไม่ให้แจ้งมาที่ สบส. เพื่อตรวจสอบต่อไป และการออกแพ็กเกจต้องแจ้งล่วงหน้า และแจ้งราคาให้ประชาชนทราบล่วงหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"แต่ที่สำคัญการให้ยาต้องรักษาตามอาการ ตามมาตรฐาน หากทำผิดนอกเหนือจากนั้น จะผิดทั้งพรบ.สถานพยาบาลฯและหากแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายนอกเหนืออาการก็จะเข้าข่ายผิดเรื่องการประกอบวิชาชีพ จะเป็นในส่วนของแพทยสภาตรวจสอบ” นพ.ธเรศกล่าว

ว่ากันว่า การที่ รพ.เอกชนที่ออกแพ็กเกจอาจเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกสบาย เพื่อให้ผู้ป่วยที่สามารถจ่ายได้มีทางเลือก ว่ากันว่ากรณีเช่นนี้หากเป็นการอำนวยความสะดวกได้จริงและไม่ผิดหลักเกณฑ์ใดๆ ก็น่าจะทำได้ และประชาชนก็ได้ความสะดวกสบาย ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นผู้รับบริการจะต้องรับผิดชอบเอง 

“โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด” ใช้ภาวะฉุกเฉิน

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิดที่ใช้ในการรักษาโควิด-19นั้น ยังขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นเดียวกับทั่วโลก แต่เมื่อยาได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย.แล้ว สถานพยาบาลเอกชนก็สามารถจัดซื้อยาดังกล่าวมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ หากบริษัทผู้ผลิตมียาที่ขายให้ได้ อย่างไรก็ตาม การสั่งจ่ายยาดังกล่าวของสถานพยาบาลให้กับผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่เป็นแนวทางการรักษาที่ออกโดยกรมการแพทย์

ล่าสุด กรมการแพทย์ ได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 24 วันที่ 11 ก.ค. 2565 โดยความร่วมมือของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างาน ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการใน ประเทศ และต่างประเทศ

 

ไขข้อสงสัย "รพ.เอกชน" ออกแพ็กเกจรักษาโควิด-19 ได้หรือไม่

รักษาตามความรุนแรง-ปัจจัยเสี่ยง 4 กรณี

1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้านแบบ ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้ายไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์

2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ อาจพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์ ควรเริ่มยาโดยเร็ว หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี โดยหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หากมีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ

โดยมีลำดับการให้ยา คือ โมลนูพิราเวียร์ ,เรมเดซิเวียร์,เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) และฟาวิพิราเวียร์ หากมีปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อขึ้นไป ให้เรมเดซิเวียร์ หรือเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) หรือโมลนูพิราเวียร์  ทั้งนี้ การจัดลำดับการให้ยา พิจารณาจากปริมาณยาที่มีในประเทศ ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราการป่วยหนักและอัตราตาย ความสะดวกในการบริหารยา และราคายา

ซึ่งข้อมูลปัจจุบัน เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่มีราคาสูงที่สุด ส่วนฟาวิพิราเวียร์ ไม่ช่วยลดอัตราการป่วยหนัก แต่ช่วยลดอาการได้ หากได้รับยาเร็วตั้งแต่วันแรกที่มีอาการในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง  ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่รุนแรง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ,โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี

4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการและได้รับออกซิเจน แนะนำให้เรมเดซิเวียร์ โดยเร็วที่สุด เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ร่วมกัยให้ยาคอร์ดิโคสเตียรอยด์ (corticosteroid) 

สปสช.ส่งยาถึงบ้านฟรี

ในส่วนของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง 30 บาท สปสช.ได้เพิ่มการรักษาด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) กับ 2 ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันด้านสุขภาพดิจิทัล คือ บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการ Good Doctor Technology แอปพลิเคชัน และ ทรู เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) เพื่อทำการดูแลผู้ป่วยฯ ผ่านบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) พร้อมบริการจัดส่งยาถึงบ้านพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล 5 จังหวัด นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เท่านั้น

ลงทะเบียนได้ที่ 

  • แอปพลิเคชัน Good Doctor Technology ให้บริการโดย บริษัท กู็ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย): คลิก หรือ
  • แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) โดย ทรู เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด : คลิก

พบแพทย์ผ่านออนไลน์ ซักถามและจ่ายยาตามอาการ ให้คำแนะนำการใช้ยารักษาโควิด-19 พร้อมจัดส่งถึงบ้าน ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย

สอบถามได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือไลน์ไอดี @nhso หรือ คลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

แนวปฏิบัติ สิทธิประกันสังคม ม.33/ 39

สำนักงานประกันสังคมเผยแนวปฏิบัติผู้ติดเชื้อโควิด-19มาตรา 33 และมาตรา 39  กรณีมีอาการเข้าข่ายหรือตามดุลยพินิจของแพทย์ ติดเชื้อโควิด-19ตรวจATKได้ ณ สถานพยาบาลประกันสังคมและสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการทั่วประเทศ ตรวจ ATK ขึ้น 1 ขีด ไม่ติดโควิด-19  ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ติดโควิด-19 

1.รักษาตามแนวทาง “เจอ แจก จบ” 

ผู้ประกันตนที่มีอาการป่วยไม่รุนแรง รักษาแบบ OP - self isolation “เจอ แฉก จบ ” ณ สถานพยาบาลประกันสังคมและสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐ และเอกชนทุกแห่ง/คลีนิกและร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

2.กรณีที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน 

ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ณ สถานพยาบาลประกันสังคมและสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐและเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

3.เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สีเหลือง-สีแดง

อาการ ได้แก่ หอบเหนื่อยหนักมาก พูดไม่เป็นประโยค แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว มีภาวะช็อค/โคม่า ซึมลง ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ค่าอ๊อกซิเจนต่ำกว่า 94

หากเข้าเกณฑ์คัดแยกผู้ป่วย สีเหลือง-สีแดง ใช้สิทธิ UCEP Plus ณ สถานพยาบาล ทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ผู้ประกันตน ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 สำนักงานประกันสังคม จะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่สถานพยาบาล และแพทย์ผู้ดูแลรักษาพิจารณาแล้วว่าผู้ป่วย เข้าเกณฑ์การดูแลรักษาในที่พักระหว่างรอเข้ารักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล (Home Isolation) และการดูแลรักษาในโรงพยาบาลสนาม สำหรับคนในชุมชน (Community Isolation) ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/health/1015193?anf=

 

ด่วนต้องรู้ "รักษาโควิด" แบบเร็วสุด 2 ขั้นตอน หมอธีระวัฒน์ แนะก่อนทรุดหนัก 

"รักษาโควิด" แบบเร็วที่สุด หมอธีระวัฒน์ แนะทำตาม 2 ขั้นตอนก่อนอาการทรุดหนัก พร้อมบอกวิธีสังเกตตัวเองแบบไหนเข้าข่ายวิกฤตต้องไปหาหมอด่วน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ หมอธีระวัฒน์ โพสต์ข้อความผ่าน เพจเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ถึงขั้นตอนการ "รักษาโควิด" ในเบื้องต้นด้วยตนเองสำหรับกรณีที่ไม่รุนแรง ว่า 

การ "รักษาโควิด" เป็นขั้นเป็นตอน แบบเร็วสุด กันอาการยกระดับดูแลตัวเอง เนื่องจากต้องจ่ายเองในปัจจุบัน
ขั้นที่ 1- ฟ้าทะลายโจร ทานครบ 5 วัน ทันทีที่มีอาการ ( 2 ขีด อาจยังไม่ขึ้น )
ขั้นที่ 2- อาการเอาไม่อยู่ภายใน 2 วัน

2.1  ความอิ่มตัวออกซิเจนยังมากกว่า 96% หลังเดิน 6 นาที เปลี่ยนเป็น มอลนูพิราเวีย หรือ ฟาวิพิราเวีย ซื้อที่รัานยา ให้ญาติไป เพื่อสำแดงตัวตนเข้าระบบ ดีกว่า ไป โรงพยาบาล เอง เพราะต้องเดินทาง อาจแพร่เชื้อ และใช้เวลานานที่ โรงพยาบาล กว่าจะแจ้ง ประเมิน และรับยา ที่ร้านยา ยาต้องถูก ไม่ปลอม เข้าถึงได้  มอลนูพิราเวีย  ทำในประเทศเพื่อนบ้าน (ราคา ชุดละ ตั้งแต่ 1900 ขึ้นไป ยาผู้ผลิต ชุดเป็นหมื่น)

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ ระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับ "การรักษาโควิด" เพิ่มเติม 2.2 ความอิ่มตัวออกซิเจน ไม่ถึง 96% เดิน 6 นาที หรือมีอาการระบบต่างๆ ไม่จำเป็นต้องปอด เริ่มไม่ไหว  (เห็นแบงค์ 1000 บาทตกอยู่ยังไม่มีแรงหยิบ) ติดต่อขอความช่วยเหลือไป รพ ด่วน

ทั้งหมดนี้ ประมวลจาก ประชาชนที่ติดเชื้อตกใจ และหายาไม่ได้ รพ อาจเต็มหมด และเพื่อเป็นการช่วยตนเองเพื่อไม่ให้เป็นภาระมากกับระบบ และ โรงพยาบาล  

ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช้ยาเกินจริงเพราะอาจทำให้ "ดื้อยา"  เพื่อทำให้ ไม่เกิดคอขวด  เพราะกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการเข้าถึงยาโดยผ่านร้านยาที่มีเภสัชกร อยู่แล้ว และมีระบบสร้างอยู่แล้ว เพื่อกันความแออัดในโรงพยาบาลที่บุคลากรมีจำกัด

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/522080?adz=

 

"วัคซีนเข็ม 4" Moderna-ไฟเซอร์ ต้าน โอไมครอน หมอ มีคำตอบ อะไรดี แล้วดีต่อใคร
 

"วัคซีนเข็ม 4" ฉีดวัคซีน Moderna-ไฟเซอร์ ต่อ "โอไมครอน" ประสิทธิผลอะไรดีที่สุด แล้วดีต่อใคร หมอดื้อ มีคำตอบให้

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาด ยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังคงเพิ่มจำนวน โดยล่าสุด ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อ ในวันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 รวม 2,391 ราย (ยังไม่นับรวม ATK) โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวัน  25 ราย โดยแบ่งจำนวนผู้ติดเชื้อ "โควิด19" เป็น ติดเชื้อในประเทศ 2,391 ราย ไม่มีผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ ผู้ป่วยสะสม 2,327,489 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) แบ่งเป็น 

-หายป่วยกลับบ้าน 1,901 ราย
- หายป่วยสะสม 2,327,441 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)
- ผู้ป่วยกำลังรักษา 24,082 ราย

มีจำนวนผู้ป่วยที่ปอดอักเสบ
- รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 776 ราย
- เสียชีวิตสะสม 9,209 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)

โดย "หมอดื้อ" ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ค ให้ข้อมูล เรื่องการ ฉีดวัคซีน หลังจากเริ่มมีคำถามว่า วัคซีนเข็ม 4 จำเป็นแค่ไหน แล้วใครเหมาะสมที่ควรได้รับ วัคซีนเข็มกระตุ้น วัคซีนเข็ม 4 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 / BA.5 

"หมอดื้อ" ระบุว่า ผลการศึกษา วัคซีนเข็ม 4 mRNA  มีประโยชน์ ในผู้สูงอายุเฉลี่ย 80 ปี กันติดไม่ดีนัก กันมีอาการหนักยังได้ผล แม้เทียบเข็มต่อเข็ม ไม่มากเท่าเมื่อสมัยเดลตาก็ตาม

 

ผลการศึกษาการฉีดวัคซีนเข็ม 4 ของ Moderna ต่อ "โอไมครอน" (ช่วงระยะต้น ตั้งแต่ ธันวาคม-เมษายน 2565) ในคนอายุเฉลี่ยประมาณ 84 ปี ในสถานดูแลคนชราระยะยาว เมื่อเทียบกับคนฉีดสามเข็มนานกว่า 84 วันขึ้นไป

เข็มที่สี่ มีประสิทธิผลมากกว่าสามเข็ม

  • ในการป้องกันการติดเชื้อ 16%
  • ในการกันการเกิดอาการ 20%
  • ในการกันอาการหนักเข้าโรงพยาบาล 29%

รายงาน 6/7/65 ในวารสาร british medical journal จากการศึกษาในแคนาดา ผลการศึกษา วัคซีนเข็ม 4 ของวัคซีนไฟเซอร์ ในวารสาร JAMA 23/6/65 จากอิสราเอล ในช่วงเวลาใกล้กัน และได้ผลคล้ายกัน ในกลุ่มอายุเฉลี่ยประมาณ 80 ปี และระยะติดตามประมาณ 73 วัน

  • สี่เข็มประมาณ 24,000 คนได้สามเข็มประมาณ 19,000 คน
  • เข้าโรงพยาบาลเพราะอาการเบาถึงปานกลาง 217 ต่อ 493
  • เข้าโรงพยาบาลเพราะอาการหนัก 108 ต่อ 259
  • เสียชีวิต 39 ต่อ 85

ที่มา ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/522091?adz=

 

'หมอยง' เชิญชวนคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปรับวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอเข็ม 4 เพื่อใช้ศึกษา โดยขอตรวจภูมิต้านทานก่อนฉีดและหลังฉีด

13 ก.ค.2565 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด 19 การศึกษาวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ เป็นเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4” ระบุว่า ขณะนี้มีการระบาดของโควิด 19 อย่างมาก วัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรค ทางศูนย์มีโครงการศึกษา ให้วัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 4 วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ (วัคซีนไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา ขนาดครึ่งโดส)

โดยผู้ที่จะฉีดเข็ม 4 เคยได้รับวัคซีน 3 เข็มแรกมาแล้ว ดังนี้
>> Sinovac + Sinovac + AstraZeneca
>> Sinovac + Sinovac + Pfizer
>> Sinovac + Sinovac + Moderna
>> Sinovac + AstraZeneca + AstraZeneca
>> Sinovac + AstraZeneca + Pfizer
>> Sinovac + AstraZeneca + Moderna
>> AstraZeneca + AstraZeneca + AstraZeneca

โดยในการศึกษานี้ จะขอตรวจภูมิต้านทานก่อนรับวัคซีน และหลังการฉีดวัคซีน 1 เดือน อีก 1 ครั้ง เพื่อดูการตอบสนองของภูมิต้านทานต่อโควิด-19 โครงการวิจัยนี้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมทางการวิจัยในมนุษย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ผู้ที่สนใจจะมารับการฉีดวัคซีน มีคุณสมบัติดังนี้
- ได้รับวัคซีนมาแล้ว 3 เข็ม
- อายุ 18 ปีขึ้นไป
- สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี
- ไม่มีโรคประจำตัว
- ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน
- ยินดีให้ตรวจเลือดวัดภูมิต้านทานก่อนการฉีดวัคซีนครั้งที่ 1 และ และหลังการฉีดวัคซีน 1 เดือน อีก 1 ครั้ง
และผลของภูมิต้านทานจะแจ้งให้ทราบ
- ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 4 ) และการฉีดวัคซีนจะเริ่มในสัปดาห์หน้าตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม เป็นต้นไป

โดยการกรอกกูเกิลฟอร์ม https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLScacafzWGh75BdxFOmo6OIJLF8MoVNrrqt1MpQItyJ7RdRdrQ/viewform

 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/179985/

 

 

"หมอยง" ย้ำป่วยโควิดพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากแต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เพราะได้รับวัคซีนแล้ว ย้ำหากติดเชื้อซื้อยากินเองขอให้พิจารณาและปรึกษาแพทย์ให้ดี

วันนี้ (11 ก.ค.65) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า

โควิด 19 ชีวิตต้องเดินหน้า

ยง ภู่วรวรรณ   11 กรกฎาคม 2565

ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ติดเชื้อ โควิด 19 ที่กำลังติดเชื้ออยู่ทุกคน ถึงแม้ขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง เพราะส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับเกิน 3 เข็มขึ้นไป จะเป็น 4 เข็ม 5 เข็ม ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่อาการจะน้อยลง

ในกลุ่มเสี่ยงหรือผู้สูงอายุ จะเป็น 608, 708, หรือ 808 นอกจากได้รับวัคซีนแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษ ขณะนี้ ยาต้านไวรัส สำหรับผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต จำเป็นจะต้องให้เร็วที่สุด ทันทีที่ทราบว่าติดเชื้อ หรืออย่างช้าก็ไม่เกิน 5 วัน

ยาที่ใช้ในกลุ่มเสี่ยงในการป้องกันความรุนแรงดังกล่าว เช่น Remdesivir ให้เข้าเส้นเลือด  3 วัน จะให้เป็นผู้ป่วยนอก ให้แล้วกลับมานอนบ้าน หรือผู้ป่วยในก็ได้ จะลดความรุนแรงได้มาก 

ยาไวรัสชนิดรับประทาน Paxlovid ในกลุ่มเสี่ยงก็สามารถใช้ได้ดี แต่จะมีปฏิกิริยากับยาอื่นหลายชนิด รับประทาน 5 วัน มีรายงานหลังรับประทานครบแล้ว มีอาการเป็นซ้ำ เมื่อรับประทานยาครบแล้วมีอาการเกิดขึ้นอีก ที่ต้องติดตาม 

ยาอีกตัวหนึ่งคือ Monulpiravia ใช้รับประทานมีอาการข้างเคียงต่ำ แต่ห้ามให้ในคนท้องและเด็กเด็ดขาด เพราะยาอาจจะไปมีผลต่อการเปลี่ยนพันธุกรรม ซึ่งยังไม่ทราบระยะยาว ขณะนี้เริ่มมีใช้แพร่หลายขึ้น และได้ทราบว่ามีการหาซื้อกันเอง หรือนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็ขอให้พิจารณาและปรึกษาแพทย์ให้ดี

เด็กนักเรียน ก็ต้องเดินหน้า การติดในโรงเรียน ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นขณะเรียนหนังสือ การเรียนหนังสือในชั้นเรียนมีความจำเป็น จึงไม่ควรปิดโรงเรียน โรงเรียนควรมีมาตรการในการป้องกันการติดเชื้ออย่างเต็มที่ 

เด็กนักเรียนมักจะติดในช่วงรับประทานอาหาร หรือเล่นด้วยกัน ก่อนเข้าเรียน หรือหลังเลิกเรียนแล้ว ก่อนกลับบ้าน มีการซื้ออาหารรับประทานกัน จุดดังกล่าวจึงเป็นการแพร่กระจายเชื้อหรือติดต่อโรค ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ การไปโรงเรียนควรรีบไปและรีบกลับ ลดการติดต่อให้น้อยที่สุด ดูแลสุขอนามัย ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ กำหนดระยะห่าง

การทำกิจกรรมบางอย่างที่เป็นการรวมกลุ่ม เช่นการเข้าค่ายของนักเรียน ก็ควรจะงดกิจกรรมทั้งหมด เน้นเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนในชั้นเรียน ในช่วง 2-3 เดือนนี้ ก็จะช่วยได้มาก

การศึกษาของเด็กนักเรียนในวัยนี้ จะมีผล เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในวัยทำงานที่มีคุณภาพ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ

 

ข้อมูลจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

ภาพจาก TNN ONLINE

ข้อมูลจาก https://www.tnnthailand.com/news/covid19/118972/