หมอธีระ เผย ยอดเสียชีวิต "โอไมครอน" ของไทยยังติดอันดับ 7 ของโลก พร้อมเผย 3 ข้อ ผลวิจัยเกี่ยวกับ ภาวะ Long Covid แนะการสวมหน้ากากอนามัยยังเป็นสิ่งสำคัญ

 สถานการณ์ โควิด-19 วันนี้ (8 มิ.ย. 65) โดยรวมดีขึ้น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,688 ราย ติดเชื้อสะสม 4,473,867 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มลดลงเหลือ 21 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 30,239 ราย

 

 ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ประเด็น สถานการณ์ระบาดของโควิดในประเทศไทย จากข้อมูล Worldometer พบว่า

 จำนวนติดเชื้อที่รายงานของไทยนั้นไม่สามารถนำมาใช้เปรียบเทียบกับประเทศอื่นได้ เพราะหลัง 1 มิ.ย. มีการประกาศปรับมารายงานเพียงจำนวนคนป่วย ไม่ใช่รายงานการติดเชื้อใหม่ทั้งหมดที่เกิดขึ้น

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

 ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 11.53% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย (อย่างไรก็ตามหากปรับตามคาดประมาณสัดส่วนของคนที่มีโรคร่วมเหมือน UK จะพบว่าคิดเป็น 15.85%

บทเรียนเรื่องวัคซีนในปี 2564 และสิ่งที่ควรทำ

 วัคซีนที่ได้รับการเรียกร้องจากบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในสังคมให้จัดหามาตั้งแต่ต้น และหามาตั้งแต่เนิ่นๆ คือ วัคซีน mRNA ที่มีหลักฐานวิชาการพิสูจน์ชัดเจนว่ามีประสิทธิภาพดีเมื่อเทียบกับชนิดอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน

ปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง? อยากให้ทุกคนได้เรียนรู้และจดจำให้ดี

 ณ ปัจจุบัน ด้วยข้อมูลทางการแพทย์ที่มีนั้น สิ่งที่ควรทำเพื่อแก้ไขสถานการณ์ และรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดประเทศซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดมากขึ้น โดยการตรวจคัดกรองโรคลดลงไปนั้น คือ การเร่งรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย mRNA vaccines

ส่วนวัคซีนชนิดอื่นนั้น ความจำเป็นต้องใช้ลดลง ควรสำรองไว้สำหรับคนที่ไม่สามารถรับวัคซีน mRNA ได้

อัพเดต Long Covid

 Zeng N และคณะ จากประเทศจีน ได้เผยแพร่ผลการทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบจากงานวิจัย 151 ชิ้นจาก 32 ประเทศ รวมกลุ่มตัวอย่าง 1,285,407 คน และวิเคราะห์อภิมานอย่างละเอียด เกี่ยวกับการเกิดภาวะ Long COVID เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระดับสากล Molecular Psychiatry ในเครือ Nature วันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

สาระสำคัญคือ

• หนึ่ง อัตราการพบภาวะ Long COVID ในคนที่เคยติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 โดยเฉลี่ย 50.1% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 45.4%-54.8%) โดยงานวิจัยต่างๆ ประเมินไปจนถึง 12 เดือนหลังการติดเชื้อ

• สอง คนที่เคยติดเชื้อแล้วแล้วมีอาการรุนแรง หรือสูงอายุ จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Long COVID มากกว่า

• สาม คนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการน้อยนั้นพบว่ามีเรื่องโรควิตกกังวล และปัญหาด้านความจำ (memory impairment) บ่อย

งานวิจัยนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ

ในขณะเดียวกัน คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็จำเป็นต้องหมั่นดูแล คอยสังเกตสถานะสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีความผิดปกติ ควรไปตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะภาวะ Long COVID นั้นเป็นได้หลากหลายระบบในร่างกาย รวมถึงปัญหาทางอารมณ์และจิตใจด้วย

การใส่หน้ากากเป็นหัวใจสำคัญ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในสังคมที่ยังมีการระบาดสูงกว่าประเทศอื่นๆ หลายประเทศทั่วโลก และมีความเสี่ยงจากกิจกรรม และสถานที่ต่างๆ ระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน

อ้างอิง

Zeng, N., Zhao, YM., Yan, W. et al. A systematic review and meta-analysis of long term physical and mental sequelae of COVID-19 pandemic: call for research priority and action. Mol Psychiatry. 6 June 2022

 

ข้อมูลจาก https://www.springnews.co.th/news/825583

"โอไมครอน" ไม่จบแค่หายหรือตาย พบเชื้อโควิดเพิ่ม 2 จุด ในผู้ป่วยลองโควิด 

หมอธีระ เผย "โอไมครอน" ไม่จบแค่หายหรือตาย ผลวิจัยล่าสุด พบเชื้อ "โควิด19" อีก 2 จุด ในผู้ป่วยลองโควิด แนะป้องกันตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) เปิดเผยถึง สถานการณ์ระบาด "โอไมครอน" เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 479,376 คน ตายเพิ่ม 1,312 คน รวมแล้วติดไป 536,995,931 คน เสียชีวิตรวม 6,324,784 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ไต้หวัน เกาหลีเหนือ ฝรั่งเศส บราซิล และเยอรมัน

สำหรับไทยนั้น จำนวนติดเชื้อที่รายงานไม่สามารถนำมาใช้เปรียบเทียบกับประเทศอื่นได้ เพราะหลัง 1 มิ.ย. มีการประกาศปรับมารายงานเพียงจำนวนคนป่วย ไม่ใช่รายงานการติดเชื้อใหม่ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 16 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย

 
 

ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 9.25% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย หากปรับตามคาดประมาณสัดส่วนของคนที่มีโรคร่วมเหมือน UK จะพบว่าคิดเป็น 12.71%

ล่าสุดทีมวิจัยจากสิงคโปร์และสเปน รายงานใน Research Square วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ตรวจพบเชื้อไวรัสโรค โควิด19 ได้ในไส้ติ่ง และเนื้อเยื่อเต้านม ของผู้ป่วยที่มีอาการ Long COVID ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 15 เดือน โดยพบสารพันธุกรรมของไวรัส ที่เป็น replicative intermediate ซึ่งบ่งถึงกระบวนการแบ่งตัวของไวรัสที่ดำเนินอยู่

งานวิจัยนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า หลังติดเชื้อโรค โควิด19 แล้ว ไม่ได้จบแค่หายหรือตาย แต่อาจเกิดภาวะผิดปกติระยะยาว เกิด Long COVID ที่ทำให้เกิดอาการต่างๆ ในหลากหลายอวัยวะ หลากหลายระบบ โดยกลไกหนึ่งที่เป็นไปได้สูงคือ การมีการติดเชื้อไวรัสแฝงระยะยาวในเซลล์ของร่างกาย

การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอนั้นสำคัญมาก ใครจะให้ Move on ถอดหน้ากากทิ้ง ทั้งๆ ที่สถานการณ์ระบาดของไทยยังติดอันดับโลกทั้งติดเชื้อและเสียชีวิต (แม้จะพยายามเปลี่ยนระบบรายงานตัวเลขให้ลดลงไปดังที่เป็นข่าวรับทราบกันมาตลอดก็ตาม) ก็ขอให้ประชาชนไตร่ตรองให้ดี

บทเรียนสองปีที่ผ่านมา ติดเชื้อจำนวนมาก ป่วยมาก ตายกันมาก สูญเสียสมาชิกครอบครัว เสียหายทั้งกาย ใจ และเศรษฐกิจกันมหาศาล คนแบกรับความทุกข์ทรมานคือคนที่ประสบปัญหาโดยตรง คนในสังคมต้องดิ้นรนหายา หาการตรวจ สนับสนุนกันเองเพื่อให้รอดจากวิกฤติ การใส่หน้ากากในสถานการณ์ปัจจุบันจึงยังเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพื่อให้ผ่านพ้นการระบาดไปด้วยกันอย่างปลอดภัย

อ้างอิง
Goh D et al. Persistence of residual SARS-CoV-2 viral antigen and RNA in tissues of patients with long COVID-19. Research Square. 7 June 2022.

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/hot-social/518174?adz=

 

มีหนาวกันทั้งบาง! นักไวรัสวิทยาเผยที่อ้างว่าวัคซีนป้องฝีดาษคนใช้ป้องฝีดาษลิงได้ 85% นั้นเก่าคร่ำครึ นานกว่า 40 ปีแล้ว อาจต้องตรวจสอบใหม่ ซ้ำร้ายไวรัสยังพัฒนาไปไกล

09 มิ.ย.2565 - ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่า ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนไข้ทรพิษ (ฝีดาษคน) ในการป้องกันการติดเชื้อฝีดาษลิงคือ 85% ตัวเลขนี้ใช้อ้างอิงต่อๆกันไปจนเป็นตัวเลขที่น่าจะเป็นมาตรฐานจริงๆ ไปแล้ว ถ้าสืบหาต้นตอของตัวเลขนี้จะพบว่าเป็นการเก็บข้อมูลในประเทศซาร์อีมาตั้งแต่ปี 1981-1986 หรือ 40 ปีก่อน ในครอบครัวที่มีการสัมผัสผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง ในตารางจะเห็นว่า กลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนฝีดาษพบอัตราการติดเชื้อจากกลุ่มที่สัมผัสผู้ป่วยที่ 9.28% ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับวัคซีน พบอัตราการติดเชื้อที่ 1.31% ตัวเลขดังกล่าวนำมาใส่สูตรคำนวณได้ค่าประสิทธิผลของวัคซีนอยู่ที่ 85% จึงเป็นตัวเลขเดียวที่อ้างอิงต่อๆกันมา

 
 
 

ประเด็นคือ ตัวอย่างที่ใช้คำนวณถือว่าน้อยมาก ผู้สัมผัสเชื้อ 1,420 คน และ ผู้ติดเชื้อ 53 คน ซึ่งถ้าเป็นตัวเลขที่นำมาคำนวณประสิทธิผลของวัคซีนโควิดน้อยๆ แบบนี้คงไม่ได้รับความสนใจเท่าไหร่ เพราะ Real word data ของวัคซีนโควิดต้องระดับหลายหมื่นคน หรือถึงหลักแสนคน ถึงจะสร้างความน่าเชื่อถือ อีกอย่างหนึ่งคือ เนื่องจากตัวเลขนี้เก็บในช่วงการให้วัคซีนไข้ทรพิษยังดำเนินการอยู่ ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่า 40 ปีต่อมาภูมิคุ้มกันที่ยังเหลืออยู่ยังเป็น 85% หรือไม่ และประเด็นเรื่องของสายพันธุ์ไวรัสฝีดาษลิงเมื่อ 40 ปีก่อน กับวันนี้ไม่เหมือนกัน ตัวเลข 85% อาจจะไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้องในการอ้างอิง เพราะไม่น่าจะมีใครทราบว่า วัคซีนฝีดาษคนจะป้องกันฝีดาษลิงสายพันธุ์ปัจจุบันได้เท่าไหร่ คงต้องทำการทดลองกันอย่างจริงจังครับ

ตารางอ้างอิงมาจาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2491159/

 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/x-cite-news/157938/

 

สหรัฐยกระดับเตือนภัยฝีดาษลิง หลังพบผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งทะลุ 1,000 ราย
 
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) ประกาศยกระดับเตือนภัยการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง หลังพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งขึ้นมากกว่า 1,000 ราย

ซีดีซี ยกระดับเตือนภัยโรคฝีดาษลิงสู่ระดับ 2 โดยเตือนให้นักเดินทางเพิ่มความระมัดระวังเพื่อสกัดการแพร่ระบาด ซึ่งรวมถึงการสวมหน้ากากอนามัย

นอกจากนี้ ซีดีซี ยังเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีแผลตามผิวหนัง รวมทั้งสัตว์ป่วยหรือเสียชีวิต ส่วนผู้ที่มีอาการของโรคก็ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น และรีบเข้าพบแพทย์

หากในอนาคต ซีดีซี ยกระดับเตือนภัยสู่ระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดซีดีซีจะแจ้งเตือนให้ชาวอเมริกันหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็นไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง

ซีดีซี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงจำนวน 1,019 รายใน 29 ประเทศทั่วโลก โดยอังกฤษมีผู้ติดเชื้อสูงสุดจำนวน 302 ราย ตามมาด้วยสเปน 198 ราย ส่วนโปรตุเกสมี 153 ราย และแคนาดามี 80 ราย ขณะที่สหรัฐมี 30 ราย

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/world/1008734?anf=

"ธปท." แจง กมธ.งบฯ  ประเมิน2จุดเสี่ยง ทำภาวะเงินเฟ้อฟุ่งถึงปี66
 
ธนาคารแห่งประเทศไทย แจง กมธ.งบฯ ประเมินสถานการณ์ไทย มี2จุดเสี่ยง ต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ และขาดแคลนอาหาร-พลังงานภาคการผลิต ทำภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ต่อเนื่องถึงปี 2566

         นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 แถลงผลการประชุมนัดแรก  เมื่อ วันที่ 7 มิถุนายน ซึ่งเชิญพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ งบประมาณรายจ่าย และการตรวจสอบงบการเงินของหน่วยรับงบประมาณในภาพรวม 5 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงบประมาณ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน  โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2565 และปี 2566 ซึ่งกลไกหลักที่เป็นปัจจัยของการฟื้นตัวคืออุปสงค์ภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยว

         นายเผ่าภูมิ กล่าวด้วยว่าสำหรับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ ที่จะทำให้เกิดปัญหาต่อการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19  ธปท.ประเมินว่าการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า

         "ธปท. ประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ GDP จะสามารถกลับฟื้นตัวอยู่ในระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 ขณะที่อัตราผู้ว่างงานจะมีแนวโน้มลดลงในช่วงต่อจากนี้ และเรื่องของการท่องเที่ยวได้มีการคาดการณ์ว่าทั้งปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนประมาณ 5.6 ล้านคน" นายเผ่าภูมิ กล่าว

           โฆษกกมธ.งบฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับหน่วยงานที่เข้ามาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ ยังระบุว่า ในอนาคตมี 2 ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจที่ไทยจะต้องเจอ คือ เรื่องของต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพในประเทศที่สูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนอาหาร วัตถุดิบและพลังงานในภาคการผลิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ และยังได้มีการคาดการณ์ว่าภาวะเงินเฟ้อต่อจากนี้อาจจะสูงขึ้น และทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป และจะมีแนวโน้มลดลงในช่วงปี 2566 

         โฆษกกมธ.งบฯ แถลงด้วยว่า คณะกรรมาธิการได้มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือปัญหาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จัดการกับเงินเฟ้อ ที่มีการใช้มาตรการที่รุนแรงในการขึ้นดอกเบี้ย จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และส่งผลต่อการส่งออกของประเทศไทยที่จะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศในระยะต่อไป.

 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/politics/1008901?anf=

วิธีจดแจ้งปลูกกัญชา กัญชง ผ่านแอปฯ "ปลูกกัญ" เช็กเลย 3 ขั้นตอนง่ายๆ
 
เปิดวิธีลงทะเบียนจดแจ้งปลูกกัญชา กัญชง ผ่านแอพพลิเคชั่น "ปลูกกัญ" เช็กเลย 3 ขั้นตอน ทำได้ง่าย ๆ เพียงปลายนิ้ว

ภายหลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น "ปลูกกัญ" และเว็บไซต์ http://plookganja.fda.moph.go.th เพื่อช่วยประชาชนในการจดแจ้งการปลูกกัญชา กัญชง ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โดยมีเพียง 3 ขั้นตอนง่าย ๆ

ข่าวเกี่ยวข้อง :

สำหรับ วิธีลงทะเบียนจดแจ้งปลูกกัญชา กัญชง 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ทำผ่านแอปฯ "ปลูกกัญ"  มีดังนี้

  1. ลงทะเบียน
  2. จดแจ้งตามวัตถุประสงค์
  3. รับเอกสารจดแจ้งอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ยังสามารถ ลงทะเบียนจดแจ้งปลูกกัญชา กัญชง ได้ที่เว็บไซต์ http://plookganja.fda.moph.go.th หรือหากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ call center โทร 1556 กด 3

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มีผลบังคับใช้ วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2% ประชาชนสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเพียงแต่จดแจ้งนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการจดแจ้งการปลูก กัญชา กัญชง ให้แก่ประชาชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้จัดทำแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" และเว็บไซต์ http://plookganja.fda.moph.go.th

โดยแอปฯ "ปลูกกัญ" สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง IOS และ Android เพื่อออกใบรับจดแจ้งในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยจดแจ้งเพียง 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ซึ่งจะทำให้ทราบจำนวนและแหล่งที่ปลูกกัญชา และกัญชงทั่วประเทศ อีกทั้งยังเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้ประกอบการแสวงหาวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานออกสู่ตลาด แถมยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย

วิธีจดแจ้งปลูกกัญชา กัญชง ผ่านแอปฯ "ปลูกกัญ" เช็กเลย 3 ขั้นตอนง่ายๆ

 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/1008756?anf=

 

 

ระอุ! OR ผนึก บุญรอดฯ ลุยเครื่องดื่มสำเร็จรูป
 
 
ธุรกิจเครื่องดื่มระอุ ยักษ์ใหญ่ OR ผนึก บุญรอด เจ้าตลาดเครื่องดื่ม ตราสิงห์ ตั้งบริษัทร่วมทุนฝ่ายละ 50% ลุยธุรกิจผลิตและเครื่องดื่มสำเร็จรูป คาดสรุปดีลภายในไตรมาส 3/65

 นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) เปิดเผยว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการจัดการ OR เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 มีมติอนุมัติให้บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ OR ถือหุ้นร้อยละ 100 จัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ร่วมกับบริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ซึ่ง Modulus ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 และบุญรอดเทรดดิ้ง ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน โดยเงินลงทุนในส่วนของ Modulusจะอยู่ภายในวงเงินไม่เกิน 210 ล้านบาท

การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าว มีวัตถุประสงค์การลงทุน เพื่อดำเนินการธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมดื่ม 

 นางสาวจิราพร กล่าวว่า Modulus ได้เข้าลงนามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นร่วมกับบุญรอดฯ แล้วเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565และคาดว่าจะสามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2565

สำหรับบริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายและทำตลาดเบียร์ อาหาร และเครื่องดื่ม อยู่ในเครือสิงห์ ขณะที่ OR เป็นเจ้าของสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และมีสินค้าประเภทเครื่องดื่มได้แก่ ร้านคาเฟ่อเมซอน ที่มีสาขากว่า 3,400 แห่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Beverage) แบบพร้อมดื่มใน ปี 2564 รวมน่าจะอยู่ที่ 97-1.99 แสนล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในกรอบ 0.5%-1.5% จากปี 2563 สอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดยเครื่องดื่มน้ำอัดลมและโซดา ครองส่วนแบ่งตลาด 31%

  • น้ำดื่ม 22%
  • เครื่องดื่มชูกำลัง 13%
  • น้ำผักและผลไม้ 9%
  • กาแฟ 7% ชา 7%
  • เกลือแร่ 4%
  • อื่นๆอีก 7%

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/business/1008749?anf=

 
ไทยป่วยใหม่ 2.2 พันราย   ดับ 20 คน ขยายเวลาผับตี 2 ส่อวืด นายกฯ ชี้ต้องดูกฎหมายเก่าด้วย สธ.ไฟเขียวยกเลิกเขตติดโรคติดต่ออันตราย "โควิด" นอกราชอาณาจักรทั้งหมด ยังไม่พิจารณาเป็นโรคเฝ้าระวัง ไร้ข้อสรุปถอดหน้ากาก รอประเมินเปิดผับบาร์ 2 สัปดาห์ เคาะ "ฝีดาษวานร" โรคติดต่อเฝ้าระวัง ลำดับที่ 56

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,224 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,224 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,224 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 4,824 ราย อยู่ระหว่างรักษา 26,889 ราย อาการหนัก 725 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 359 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 11 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 17 ราย มีโรคเรื้อรัง 3 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,471,179 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,414,072 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,218 ราย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอขอขยายเวลาการเปิดสถานบริการถึงเวลา 02.00 น. ว่าได้มีการพิจารณาเป็นระยะๆ ซึ่งได้ให้แนวทางไปแล้วใน ศบค. วันนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งจะมีข้อยุติในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ การที่จะขยายเวลาไปมากกว่ากฎหมายเวลาเดิม ต้องย้อนไปดูกฎหมายเดิมว่าให้สถานบริการแต่ละสถานบริการก่อนหน้าโควิด-19 ให้เปิดไปจนถึงเวลาเท่าไหร่ มีทั้งเที่ยงคืน ตี 1 ตี 2 จะไปดูว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะกฎหมายเก่ายังมีผลบังคับใช้อยู่ ถ้าจะแก้ตรงนั้นใหญ่โตไปขอให้เข้าใจแล้วกัน

"ส่วนเรื่องของการถอดหน้ากากอนามัย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังพิจารณาอยู่ ผมคิดว่าหลายคนก็คงยังไม่อยากถอด หลายคนก็อยากถอด บางอย่างก็เป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่ใช่ประกาศให้ถอดแล้วทุกคนต้องถอดหมด เพราะหลายคนยังไม่ไว้ใจ เขาก็ยังไม่ถอดหน้ากากอนามัย" นายกฯ ระบุ

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 4 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.ยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคโควิด-19 ที่เคยประกาศไว้ทั้งหมด เพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวก สอดคล้องกับสถานการณ์โรคที่ดีขึ้น ส่วนมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าไทยก่อนหน้านี้มีการลดระดับไปเยอะแล้ว โดยหากมีการฉีดวัคซีนครบโดส ไม่ต้องตรวจเชื้อด้วย RT-PCR หรือ ATK แต่หากยังฉีดวัคซีนไม่ครบ เข้าประเทศยังต้องตรวจ ATK

2.ที่ประชุมเห็นชอบกำหนดให้โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 พร้อมกำหนดชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ฝีดาษวานร” และกำหนดอาการของโรค 3.รับทราบสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย และสถานการณ์โลกดีขึ้น หลังเปิดเทอมยังไม่พบการระบาดที่น่ากังวล ส่วนการเปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ 6 วันแล้วยังไม่พบเหตุการณ์ผิดปกติ แต่ต้องประเมินผลอีก 2 สัปดาห์ 4.เห็นชอบข้อเสนอแนะมาตรการควบคุมป้องกันโรคโควิด ในสถานบันเทิง ผับ บาร์ ตามที่กรมอนามัยเสนอ

ส่วนเรื่องการถอดหน้ากากนั้น ที่ประชุมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่มีข้อสรุป จึงยังคงใช้มาตรการเหมือนเดิม ประเมินสถานการณ์อีกสักระยะ ซึ่งบอกไม่ได้ว่าต้องใช้เวลาแค่ไหน ก่อนเสนอ ศบค.พิจารณา ซึ่ง ศบค.จะมีการประชุมสัปดาห์หน้า ขณะนี้ประเมินสถานการณ์ทุกวัน แม้ว่าสถานการณ์ค่อนข้างคงที่ แต่ต้องรอดูผลกระทบจากการเปิดผับบาร์ด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่พบผลกระทบใดๆ

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนฝีดาษวานร นพ.โอภาสกล่าวว่า รอง ผอ.ศูนย์ควบคุมป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (USCDC) ได้เข้าพบและหารือร่วมกันกับกรมควบคุมโรค แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเตรียมการเรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันฝีดาษวานรรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันทางองค์การเภสัชกรรมได้ประสานไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อเตรียมการแล้ว แต่ขณะนี้ดูเหมือนความรุนแรงของโรคไม่ได้มาก ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

วันเดียวกัน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวเปิดการประชุมว่า สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้น และพบว่ากิจกรรมซึ่งจัดขึ้นหลายกิจกรรม อาทิ งานดนตรีในสวน มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประชาชนอยากใช้ชีวิตในรูปแบบปกติ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมข้อมูลการเตรียมพร้อม ศักยภาพการรองรับผู้ป่วยของ กทม. ทั้งผู้ป่วยโรคโควิด-19 และโรคฝีดาษลิง ก่อนนำเข้าที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ในสัปดาห์นี้ โดยจะเป็นการนำเสนอมาตรการที่จะทำให้คนกรุงเทพฯ ได้มีชีวิตที่สะดวก ภายใต้มาตรการความปลอดภัยและปลอดโรค

จากนั้น นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม  โดยได้กำชับให้สำนักอนามัย สำนักการแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมหารือเตรียมมาตรการเพื่อเข้าสู่แนวทางการเป็นโรคประจำถิ่นของกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเข้าที่ประชุม ศปก.ศบค.พิจารณาต่อไป

นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวถึงกรณีการกระจายวัคซีนโควิด-19 จำนวน 16.8 ล้านโดส สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการวัคซีนของประชาชนว่า ขณะนี้มีการสื่อสารทำให้เข้าใจผิดว่าการจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ไป รพ.สต. ทำให้เกิดปัญหาวัคซีนล้นตู้เย็น และให้ รพ.สต.เป็นถังขยะทิ้งวัคซีนนั้น ไม่เป็นความจริง  ขอชี้แจงว่าการจัดสรรวัคซีนโควิดให้แก่ รพ.สต.เป็นไปตามแผนการเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ผ่านความเห็นชอบจากอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. เมื่อวันที่ 20 พ.ค.65 เพิ่มความครอบคลุมในทุกกลุ่มเป้าหมายที่ครบกำหนด ซึ่งแผนการจัดสรรวัคซีน 16.8 ล้านโดสสำหรับ รพ.สต. ตัวเลขนี้เป็นโควตา จะทยอยส่งเป็นรอบๆ ไปที่คลังวัคซีนจังหวัด ขณะนี้มี 20 จังหวัดที่ได้รับครบตามโควตา โดยมีการประสานแจ้งแผนการจัดส่งให้หน่วยบริการทราบก่อนทุกครั้ง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะกระจายวัคซีนต่อไปที่ รพ.สต. ตามศักยภาพการฉีดและความจุของตู้เย็นแต่ละ รพ.สต. ซึ่งหากยังไม่พร้อม ก็สามารถปฏิเสธการรับวัคซีนตามโควตาได้.

 ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/one-newspaper/156935/

30 พ.ค. 2565 – ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19 วัคซีนเข็มที่ 4

การให้วัคซีนครบ หมายถึงให้เบื้องต้น 2 เข็ม และตามด้วยเข็ม กระตุ้นเข็มที่ 3 ระดับภูมิต้านทานจะขึ้นมาสูง แล้วก็ค่อยๆ ลดลงอีก ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ อยากให้ทุกคนได้รับอย่างน้อย 3 เข็ม

 
 

มีคำถามเข้ามามากโดยเฉพาะ เข็ม 4

การให้เข็ม 4 จะเป็นการกระตุ้นให้ระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นอีก ดังนั้น บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 ที่มีอายุเกิน 60 ปี หรือ ถ้าอายุน้อย แต่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 1 อย่าง หรือ บุคคลที่เสี่ยงต่อการติดโรค บุคลากรทางการแพทย์ ทำงานอยู่ด่านหน้า ควรจะได้รับเข็ม 4 เพื่อให้ระดับภูมิต้านทานสูง และถ้าติดโรค ก็จะได้ลดความรุนแรงของโรคลง

ขณะนี้มีวัคซีนเพียงพอ ขอให้กลุ่มดังกล่าวไปรับวัคซีน โดยเฉพาะถ้าให้เข็ม 3 มานานแล้วอย่างน้อย 4 เดือน

ในกลุ่มที่มีอายุน้อย หรือวัยรุ่น ขณะนี้ให้ได้รับวัคซีนเพียง 3 เข็ม รอดูสถานการณ์ถ้ามีการระบาดของโรคมาก ค่อยพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/151260/