ทางเลือกใหม่รักษาโควิด 19 ไม่มีอาการ-ไม่เสี่ยงรักษาฟรี ไม่ต้องรอสายด่วน เดินทางไปรับบริการผู้ป่วยนอกได้ตามสิทธิทุกสิทธิรักษา
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณสายที่โทร.เข้ามาที่สายด่วน สปสช. 1330 ยังมีปริมาณมาก ทั้งในระบบสายด่วน และระบบ Non Voice คือ ไลน์และเฟสบุ๊ก สปสช.ยังคงอยู่ที่ระดับ 60,000-70,000 สายและมีการขยายจนเต็มศักยภาพ แต่ประชาชนที่ติดเชื้อโทรมาจำนวนมากจึงยังเจอกับสายไม่ว่าง
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 1 มี.ค.2565 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ได้เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ที่มีผลตรวจATK เป็นบวก ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการและไม่มีภาวะเสี่ยง สามารถรับบริการแบบ "ผู้ป่วยนอก" หรือ เจอ แจก จบ ได้ โดยไม่ต้องลงทะเบียน หรือรอสายโทรศัพท์จากการโทรสายด่วน โดยสามารถติดต่อเข้ารับบริการตรวจรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ฟรีใน รพ.ตามสิทธิรักษาของแต่ละคน ซึ่งค่าใช้จ่ายรัฐบาลยังเป็นผู้รับผิดชอบ ผู้ติดเชื้อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
“เมื่อตรวจพบว่าตัวเองติดโควิด19 ไม่ต้องตกใจ ขอให้ตั้งสติ และตรวจสอบว่าตัวเองฉีดวัคซีนครบแล้วหรือไม่ มีอาการอะไรหรือไม่ และมีภาวะเสี่ยงอะไรหรือไม่ หากไม่มีอาการ ไม่มีภาวะเสี่ยงสามารถเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอกได้ที่รพ.ตามสิทธิการรักษาของตัวเองได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึง ในรพ.สังกัดสธ. 14 จังหวัดด้วย ไม่ต้องลงทะเบียน ไม่ต้องโทรเบอร์สายด่วนจะได้ไม่ต้องรอการรับสาย
ซึ่งจะได้รับการประเมินอาการ ความเสี่ยง และจ่ายยาตามอาการ แต่หากไม่มีอาการหรืออาการน้อย แต่มีภาวะเสี่ยงให้โทรประสานผ่านสายด่วน 1330 หรือเบอร์ 50 เขตในกทม. หรือรพ.ใกล้บ้าน เพื่อเข้ารับการดูแลที่บ้านหรือแบบ(Home Isolation:HI)” ทพ.อรรถพรกล่าว
สำหรับโรงพยาบาลในสังกัดสธ. 14 จังหวัดรอบ กทม. ที่ผู้ติดเชื้อสามารถเข้ารับการบริการแบบผู้ป่วยนอกได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, นครนายก, สิงห์บุรี, อ่างทอง, นครปฐม, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี, สมุทรปราการ, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตและสังกัดกรมควบคุมโรค เพิ่มศักยภาพให้การดูแลแบบผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” ให้เพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป รองรับบริการได้ประมาณ 18,650 รายต่อวัน
นอกจากนี้ การรับบริการแบบผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ ผู้ติดเชื้อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดย
• สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ไปได้ที่หน่วยปฐมภูมิได้ทุกที่ ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, รพ.สต., หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น
• สิทธิประกันสังคม เข้ารับบริการ รพ.ตามสิทธิที่ลงทะเบียนหรือสถานพยาบาลใกล้บ้านได้ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม., รพ.สต. ฯลฯ
• สิทธิข้าราชการ ไป รพ.หรือสถานพยาบาลภาครัฐ
เผยแพร่: 8 ต.ค. 2564 10:08 ปรับปรุง: 8 ต.ค. 2564 10:08 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ฟินแลนด์เมื่อวันพฤหัสบดี (7 ต.ค.) หยุดใช้วัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา ในผู้ชายอายุน้อย ท่ามกลางรายงานผลข้างเคียงเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular) ที่เกิดขึ้นน้อยมาก ตามรอยสวีเดนและเดนมาร์กที่จำกัดการใช้วัคซีนตัวดังกล่าวไปก่อนหน้านี้
มิกา ซัลมิเนน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพฟินแลนด์ เปิดเผยว่า ฟินแลนด์จะฉีดวัคซีนของไฟเซอร์แทนโมเดอร์นา ให้ผู้ชายที่เกิดในปี 1991 หรือหลังจากนั้น
"ผลการศึกษาในแถบนอร์ดิกฉบับหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก พบว่า ผู้ชายอายุต่ำกว่า 30 ปีที่ฉีดวัคซีนสไปค์แว็กซ์ของโมเดอร์นา มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เล็กน้อยในอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ" เขากล่าว
ปัจจุบันฟินแลนด์อนุมัติฉีดวัคซีนเฉพาะกับคนที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สวีเดนและเดนมาร์กแถลงเมื่อวันพุธ (6 ต.ค.) จะหยุดใช้วัคซีนของโมเดอร์นาสำหรับวัยรุ่นและเด็กทั้งหมด อ้างถึงผลการศึกษาเดียวกันที่ไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ
ส่วนเจ้าหน้าที่นอร์เวย์เน้นย้ำในวันพุธ (6 ต.ค.) แนะนำให้ผูุ้ชายอายุต่ำกว่า 30 ปี เลือกฉีดวัคซีนของไฟเซอร์
คณะกรรมการด้านความปลอดภัยของอีเอ็มเอ สรุปในเดือนกรกฎาคม ว่าอาการหัวใจอักเสบดังกล่าวที่เกิดขึ้นน้อยมากๆ จะเกิดขึ้นตามหลังการฉีดวัคซีนสไปค์แว็กซ์ของโมเดอร์นา และวัคซีนโคเมอร์เนตีของไฟเซอร์/ไบออนเทค แต่พบบ่อยขึ้นในกลุ่มผู้ชายอายุน้อยหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2
อย่างไรก็ตาม คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบในสหรัฐฯ อียู และองค์การอนามัยโลก เน้นย้ำว่าวัคซีนต้านโควิด-19 ที่สร้างบนพื้นฐานเทคโนโลยี mRNA ของโมเดอร์นาและไฟเซอร์/ไบออนเทค ยังคงมีประโยชน์เหนือกว่าความเสี่ยงต่างๆ
โฆษกของโมเดอร์นาระบุเมื่อช่วงค่ำวันพุธ (6 ต.ค.) ว่าทราบเกี่ยวกับการตัดสินใจของคณะผู้ควบคุมกกฎระเบียบของสวีเดนและเดนมาร์กแล้ว
"มันเป็นลักษณะของเคสอาการเล็กๆ น้อยๆ และแต่ละบุคคลมีแนวโน้มฟื้นตัวในระยะเวลาสั้นๆ ตามหลังการรักษาตามมาตรฐานและการพักผ่อน ความเสี่ยงของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบก็เพิ่มขึ้นมากอยู่แล้วสำหรับคนที่ติดเชื้อโควิด-19 และวัคซีนคือหนทางที่ดีที่สุดในการปกป้องสิ่งนี้" ถ้อยแถลงระบุ
โรแบร์โต สเปรันซา รัฐมนตรีสาธารณสุขของอิตาลี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า อิตาลีไม่มีแผนระงับใช้วัคซีนของโมเดอร์นา และบอกว่าประเทศต่างๆ ในยุโรปควรทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับประสานงานใกล้ชิดยิ่งขึ้น "เราจำเป็นต้องเชื่อใจเจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศ เริ่มด้วยอีเอ็มเอ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใช้อ้างอิงของเรา และได้ลงความเห็นอย่างชัดเจนมากไปแล้วในประเด็นนี้"
(ที่มา : รอยเตอร์)
คณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกันขององค์การอนามัยโลก (SAGE) มีคำแนะนำเมื่อวันจันทร์ว่า ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออ่อนแอ ควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 กระตุ้นภูมิ ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนชนิดใดมาก็ตาม ส่วนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ฉีดวัคซีนของซิโนแวคหรือซิโนฟาร์มก็ควรได้ฉีดโดสที่ 3 ด้วย
เอเอฟพีรายงานเมื่อวันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม 2564 ว่า คณะที่ปรึกษาด้านวัคซีนขององค์การอนามัยโลก (WHO) คณะนี้ประชุมกันนาน 4 วันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อทบทวนข้อมูลและข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 และโรคอื่นๆ โดยในวันจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญคณะนี้ออกคำแนะนำว่า ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออ่อนแอในระดับปานกลางและรุนแรง ควรได้รับการเสนอให้ฉีดวัคซีนเพิ่มเติมด้วยวัคซีนทุกชนิดที่ผ่านการอนุมัติการใช้งานแบบฉุกเฉินของ WHO แล้ว
"บุคคลเหล่านี้มีโอกาสน้อยที่จะตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนอย่างเพียงพอ ภายหลังการฉีดวัคซีนชุดแรกตามมาตรฐาน และมีความเสี่ยงสูงต่อโรคโควิด-19 ขั้นรุนแรง" คำแถลงกล่าว
วัคซีนที่ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นวัคซีนสำหรับการใช้งานฉุกเฉิน (EUL) แล้ว ได้แก่ วัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค, แจนเซน, โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม, ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า
นอกจากนี้ SAGE ยังแนะนำว่า ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ฉีดวัคซีนของซิโนแวคและซิโนฟาร์มจากจีนครบโดสแล้ว ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 เพิ่มเติมด้วย ทั้งจากวัคซีนชนิดเดิม หรืออาจพิจารณาใช้วัคซีนต่างชนิดโดยขึ้นอยู่กับการจัดหาและการเข้าถึงวัคซีน.
ผู้เชี่ยวชาญคณะนี้ย้ำว่า พวกเขาไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนโดสกระตุ้นภูมิคุ้มกันแก่ประชากรโดยทั่วไป และตามคำแนะนำนี้ ประเทศทั้งหลายควรตั้งเป้าหมายเริ่มแรกที่การฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด 2 โดสแก่ประชากรก่อน แล้วจึงค่อยฉีดโดสที่ 3 โดยเริ่มที่กลุ่มประชากรที่อายุมากที่สุด.
ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/pdetail/119470
หลังปรากฏตรวจพบเชื้อโรคโควิด-19ที่รพ.รามาธิบดี ด้วยหวั่นว่า “จะเป็นการติดเชื้อในประเทศ”ทั้งที่ไม่มีมากว่า 80 วันแล้ว ก่อนที่ต่อมาจะได้รับการยืนยันว่า “ไม่ได้ติดในประเทศ” และเป็น “ซากเชื้อไวรัสที่ไม่แพร่โรคแล้ว”
“ข้อมูลทางระบาดวิทยา คาดว่าเป็นการติดเชื้อในประเทศได้น้อยมาก เพราะประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศมากว่า 80 วันแล้ว อีกทั้ง การเฝ้าระวังและค้นหาเชิงในชุมชน ในพื้นที่ หรือในเหตุการณ์เสี่ยง เช่น กรณีระยอง กทม. กระบี่ หรือบริเวณชายแดนสระแก้ว ผลทั้งหมดเป็นลบ และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นคนเดินทางเข้ามาและอยู่ในสถานกักกัน เกือบ 7 หมื่นราย ตรวจพบ 400 กว่าราย หมายความว่าโอกาสติดเชื้อในประเทศน้อยมาก” นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีการตรวจพบซากไวรัสในผู้ป่วยรายเดิมของประเทศไทย ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 มีกรณีผู้ป่วยหญิงชาวจ.ชัยภูมิที่เคยป่วยโควิด-19 อาการไม่มาก นอนในโรงพยาบาลครบ 14 วัน แพทย์จึงแนะนำให้กลับบ้านและแยกตัวจากคนในครอบครัว แต่ประมาณวันที่ 3-4 เมษายน 2563 เริ่มมีน้ำมูกนิดหน่อย คั่นเนื้อคั่นตัว รู้สึกเหมือนมีไข้ จึงไปโรงพยาบาลหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ทำการตรวจหาเชื้อซ้ำก็พบเชื้อ
ครั้งนั้น นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้น่าจะไม่ได้ติดโควิด-19ซ้ำ โดยเชื้อที่พบน่าจะเป็นซากของเชื้อไวรัส เพราะต่างประเทศสามารถตรวจเจอซากเชื้อได้นานถึง 30 วัน และซากที่พบเป็นตัวเชื้อไม่มีชีวิตแล้วจึงไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว
หรือกรณีช่วงปลายเดือนมิ.ย.2563 กรณีแรงงานเมียนมาร์ จำนวน 23 ราย พบเชื้อโรคโควิด-19 หลังเดินทางกลับจากประเทศไทย โดยเมื่อมีการสอบสวนรายละเอียดพบว่า เคยเป็นต่างด้าวในศูนย์ผู้ต้องกัก อ.สะเดา จ.สงขลา ที่ติดเชื้อรักษาหายและส่งกลับข้ามแดน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายไว้ว่า การตรวจพบเชื้อซ้ำ สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งการตรวจเชื้อโดยการหาสารพันธุกรรม อาจยังพบพันธุกรรมของไวรัสได้ แต่จะเพาะเชื้อไม่ขึ้น เนื่องจากเป็นไวรัสที่ถูกร่างกายทำลายแล้ว ซึ่งในประเทศไทยและต่างประเทศก็มีการรายงานเช่นเดียวกัน โดยหลังจากมีรายงานผู้ติดเชื้อกลุ่มดังกล่าวแล้ว โดยมีรายงานการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ พบว่า เมื่อหายป่วยโควิดแล้วเชื้อไวรัสยังมีอยู่ในร่างกายได้นานถึง 30 วัน
ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงการพบเชื้อในผู้ที่พ้นการกักกันโรค 14 วันว่า มีความเป็นไปได้ใน 4 ประเด็น คือ 1. ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่จะเป็น 2 - 7 วัน อาจพบได้ถึง 14 วัน และอาจจะเป็นไปได้น้อยมากถึง 21 วัน ดังนั้นในทางปฏิบัติผู้ที่พ้นระยะการกักกันโรค 14 วัน มักจะแนะนำให้ไปกักกันที่บ้านต่ออีก 14 วันเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการป้องกัน การกระจายโรค
2.การตรวจพบเชื้อหลังจาก 14 วันไปแล้ว เป็นไปได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในช่วง 14 วันที่อยู่ในสถานที่กักกัน ในอดีต เช่น ในเรือสำราญ ดังนั้นในสถานที่กักกัน เราจึงเคร่งครัด ไม่ให้มีการพบปะกัน ระหว่าง ผู้ที่กักกันด้วยกัน หรือบุคคลภายนอก 3.ผู้ป่วยมาติดเชื้อในประเทศไทย โอกาสนี้เป็นไปได้น้อยมาก ขณะนี้ไม่พบการติดต่อเกิดขึ้นในประเทศไทยมากว่า 80 วันแล้ว 4.ความเป็นไปได้ที่ผู้นั้นติดเชื้อมาจากต่างประเทศ หรือป่วยอยู่ต่างประเทศแล้ว และเมื่อมาถึงเมืองไทย เชื้อมีปริมาณน้อย ในบางช่วงก็ตรวจไม่พบ และต่อมา หรือบางช่วง ก็ตรวจพบ
อย่างเช่น การระบาดในรอบแรกของประเทศไทย ได้ทำการศึกษาร่วมกับ สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย กทม. พบว่า ก่อนกลับจากโรงพยาบาลตรวจไม่พบเชื้อ หลังจากนั้นติดตาม ก็ยังมีการพบเชื้อ แต่เชื้อมีปริมาณน้อยมาก ในการติดตามระยะยาวที่เราทำการศึกษา จำนวน 212 ราย พบว่าในช่วง 4-12 สัปดาห์ หลังจากที่มีอาการ และผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว ยังตรวจพบเชื้อได้ประมาณ 6.6 %ของผู้ป่วย
“เราพบไวรัสได้หลังจากมีอาการ 36– 105 วัน แต่ปริมาณไวรัสที่พบน้อยมากดังนั้น การพบเชื้อดังกล่าว ผู้ป่วยไม่มีอาการ รวมทั้งการตรวจปริมาณไวรัส ถ้ามีเป็นจำนวนน้อย โอกาสที่จะแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นก็น้อยมากๆ ดังข้อมูลในการระบาดรอบแรก ที่ได้ทำการศึกษาในประเทศไทยถึงแม้จะตรวจพบเชื้อ ก็ไม่พบว่าแพร่กระจายไปสู่ผู้ใดเลย”ศ.นพ.ยงระบุ
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com
เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/894604
โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิเคราะห์สถานการณ์โควิดล่าสุด : ฉบับรวบรัด
1. ประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ระบาดซ้ำ โดยที่การ
ระบาดซ้ำครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามาแบบไม่ทันตั้งตัว แรง และกระจายเร็ว หาต้นตอลำบาก
ทำให้ภาพรวมดูรุนแรงกว่าระลอกแรก ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์การระบาดของทั่วโลกที่เจอมาก่อน
2. ระบาดซ้ำครั้งนี้ต่างจากระลอกแรก เพราะไม่ใช่แค่มีกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบบครั้งแรกที่เห็นในผับบาร์หรือสนามมวย แต่รอบนี้มีมากมายหลายกลุ่ม (multiple clusters)
และแต่ละกลุ่มแพร่กระจายวงกว้าง เป็น multiple superspreading events ทำให้เปลี่ยนจากเดิมที่เห็นกลุ่มเสี่ยงชัดเจน แต่ตอนนี้คือ แพร่กระจายไปทั่ว และทำให้ทุกคนล้วนมีความเสี่ยง (Everyone is at risk)
โดยเสี่ยงทั้งที่จะติดเชื้อจากการดำรงชีวิตประจำวันในสังคม (Risk to get infected) และเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวว่าตนเองนั้นมีเชื้อไวรัสอยู่ (Risk to spread)
3. ปัญหาของระบบตรวจและรายงานการติดเชื้อที่ตอบสนองต่อการระบาดได้ไม่ดีนัก การรายงานนั้นดูจะไม่ทันต่อสถานการณ์ ทำให้ส่งผลต่อการรับรู้ ความเชื่อมั่น และที่สำคัญคือทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถเตรียมตัวรับมือกับการระบาดได้
4. ระบบบริการตรวจโควิดของประเทศไทยนั้นไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการยามที่เกิดโรคระบาดซ้ำ
ตอนนี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่า สถานการณ์การระบาดนั้นกระจายเร็ว และมากเกินกว่าที่ระบบการติดตามสอบสวนโรคจะรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องการได้ประวัติ การทราบตัวบุคคลที่สัมผัสความเสี่ยงอย่างครบถ้วน และการได้ข้อมูลละเอียดให้ทันเวลา เราจึงเห็นการประกาศสู่สาธารณะให้คนประเมินตัวเองและมารายงานต่อหน่วยงานรัฐถี่ขึ้นเรื่อยๆ
สรุป :
"สถานการณ์การระบาดในปัจจุบันวิกฤติมาก และมีแนวโน้มจะคุมได้ยาก"
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น :
จากประสบการณ์ของต่างประเทศที่ระบาดซ้ำ หากไทยเราไม่สามารถจัดการการระบาดนี้ได้ภายในกลางมกราคม (4 สัปดาห์นับจากเริ่มระบาดซ้ำ) จำนวนการติดเชื้อจะมีแนวโน้มถีบตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถจะคุมได้อีก
และอาจพบจำนวนการติดเชื้อต่อวันสูงกว่าระลอกแรก 5 เท่า คือประมาณ 940 คนต่อวัน และใช้เวลาในการควบคุมการระบาดยาวนานกว่าเดิม 2 เท่า คือ 88 วัน หรือสามเดือน
ทั้งนี้หากเข้าสู่แนวทางการระบาดดังกล่าวข้างต้น มาตรการเดิมที่เคยใช้ได้ผลในระลอกแรก เช่น การล็อคดาวน์ หรืออื่นๆ จะได้ผลตอบสนองที่ช้าลงกว่าเดิม และส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่ และต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
สิ่งที่ควรพิจารณาดำเนินการตอนนี้ มีดังนี้ :
1. ดำเนินมาตรการเข้มข้นใน"ทุกจังหวัดที่มีรายงานเคสติดเชื้อ" ไม่ว่าจะสีใดก็ตาม โดยขอความร่วมมือจากประชาชนให้
"อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อบ้านเกิด"
ตั้งแต่บัดนี้จนถึงกลางเดือนมกราคม 2564
2. รณรงค์ใช้นโยบาย "ใส่หน้ากาก 100%"
3. ตั้งด่านคัดกรองทุกจังหวัด และรณรงค์ให้งดการเดินทางระหว่างจังหวัดโดยไม่จำเป็น
4. ปิดกิจการเสี่ยงต่างๆ และงดการจัดงานที่มีการรวมคนจำนวนมากทั่วประเทศ
5. กิจการอาหารและเครื่องดื่ม ให้เปิดบริการแบบซื้อกลับบ้าน หรือบริการส่งถึงบ้าน ไม่ควรนั่งในร้าน
6. รณรงค์"การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างมีสติและระมัดระวัง" (Travel with caution) จนถึงกลางเดือนมกราคม 2564...โดยต้องเลี่ยงการโฆษณาว่าท่องเที่ยวแล้วปลอดภัย เพราะ
#ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงกระจายตัว และยากที่จะการันตีความปลอดภัย
7. รณรงค์"เคานท์ดาวน์ปีใหม่ที่บ้าน" ในรูปแบบต่างๆ พร้อมกันทั่วประเทศ (หมายรวมถึงสวดมนต์ข้ามปี และกิจกรรมอื่นๆ ผ่านทางออนไลน์)
8. ปรับระบบรายงานการติดเชื้อใหม่ให้เป็นแบบ real time เพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้รับทราบสถานการณ์ของพื้นที่ตนเอง
9. งดการประชาสัมพันธ์เรื่องความเพียงพอของระบบสาธารณสุข เพราะขัดต่อหลักความเป็นจริงที่เห็นจากทั่วโลกว่า
#การระบาดที่รุนแรงนั้นมักเกินขีดความสามารถของระบบที่มี ดังนั้นจึงต้องเน้นย้ำให้"ป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ"
นอกจากนี้ยา Favipiravir ที่มีอยู่ 500,000 เม็ดนั้น พอสำหรับการรักษาคนเพียง 7,000 กว่าคนเท่านั้น
ซึ่งหากระบาดซ้ำแบบประเทศอื่นๆ จะมีโอกาสที่ไทยจะติดเชื้อราว 23,000-33,000 คน หรือมากกว่านั้นได้
วิกฤติครั้งนี้ หากเราร่วมแรงร่วมใจช่วยกันสู้ ยังมีสิทธิที่จะบรรเทาผลกระทบจากการระบาดซ้ำนี้ได้ครับ
สู้ๆ นะครับ
ด้วยรักต่อทุกคน
#ใส่หน้ากากเสมอ
#ลดละเลี่ยงไปพื้นที่เสี่ยง
#อยู่บ้านกันนะครับ
#เชื่อในเรื่องที่ควรเชื่อ
#ทำในสิ่งที่ควรทำ
#ประเทศไทยต้องทำได้
หน้าที่ 69 จาก 147