ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคตับอักเสบ ปัจจุบัน เรารู้แล้วว่ามีอย่างน้อย 5ชนิด ได้แก่ Hep A , Hep B , Hep C , Hep D และ Hep E ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า HepA , Hep E ติดต่อ ผ่าน ทางอาหาร และน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ขณะที่ HepB , Hep C และ HepD ติดต่อผ่านทางเลือด ทางเพศสัมพันธ์ และถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก
ไวรัสตับอักเสบ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนมากกว่าโรคเอดส์ วัณโรค รวมทั้งโรคมาลาเรีย รายงาน ขององค์การอนามัยโลกพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคไวรัสตับอักเสบเพิ่มขึ้น 63% จาก 890,000 ราย ในปี 2533 เป็น 1.45 ล้านรายในปี 2556 ขณะที่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ 1.3 ล้านราย วัณโรค 1.4 ล้านราย และ โรคมาลาเรีย 850,000 ราย ในจำนวนนี้ 96 % มีสาเหตุจากการติดเชื้อ Hep B และ Hep C ผู้เสียชีวิตด้วยโรคไวรัสตับอักเสบส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออก และ เอเชียใต้
ปัจจุบันเรามีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ Hep A และ HepB แล้ว แต่ยังไม่มีสำหรับ HepC แต่ก็มีวิธีรักษาที่ได้ผลดีถึงแม้ว่าจะยังคงมีราคาสูง ประมาณว่าประชาชนกว่า 95% ไม่รู้ตัวเองว่าได้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว เนื่องจากไม่มีการอาการของโรค และมากกว่า 95% ของผู้เสียชีวิตจากไวรัสตับอีกเสบมีสาเหตุจากการติดเชื้อ Hep B และHep C ดังนั้นเด็กทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้นานอย่างน้อย 5 ปี ขณะที่ผู้ใหญ่ควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อค้นหาสภาวะติดเชื้อไวรัสกรณีที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อนก็สามารถได้รับการฉีดวัคซีนได้ แต่ถ้ามีประวัติได้รับเชื้อ Hep B หรือ Hep C ก็สามารถให้การรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อเรื้อรังซึ่งจะนำไปสู่โรคมะเร็งตับ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้
Gram stain ที่ต้องรู้
Gram stain มีการค้นพบครั้งแรก โดย Karl Friedlander และ มีการพัฒนาต่อจนถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โดย Hans Christian Gram ในปี พ.ศ. 2427 รวมแล้วนานกว่า 130ปี วิธีนี้แยกแบคทีเรียออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ Gram negative เป็นแบคทีเรียที่มีสาร Peptidoglycan เคลือบอยู่บนผิวแบบบางๆ จึงถูกล้างออกได้ง่าย โดย Alcohol acetone ดังนั้น สีที่ย้อมเซลล์ (dye iodine complex) จึงหลุดออกมาด้วย จึงทำให้ผนังเซลล์ติดสีชมพู ขณะที่แบคทีเรียกลุ่ม Gram positive มี peptidoglycan เคลือบอยู่บนผิวหนามากล้างออกไม่ได้ด้วย Alcohol acetone เซลล์จึงติดสีม่วงเข้มของ dye iodine complex
Gram stain ใช้ไม่ได้กับ จุลินทรีย์ที่ไม่มีผนังเซลล์ เช่น Mycoplasma และ Ureaplasma รวมทั้งกลุ่ม Spirochetes ที่ตรวจไม่ได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ปกติและจุลินทรีย์ที่มีชีวิตอยู่เฉพาะภายในเซลล์ของโฮสต์ เป็นต้น
วัสดุและอุปกรณ์ สำหรับการย้อม Gram stain
- 1.สไลด์จะต้องเช็คด้วย alcohol 95% เพื่อกำจัดไขมัน ฝุ่น และ จุลินทรีย์ ก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง
- 2.สี Gram stain ต้องเก็บไม่ให้ถูกแสงโดยตรง
- 3.ใช้ไอโอดีนชนิดคงตัว (Stabilized iodine) เนื่องจากไอโอดีนทั่วไปจะเสื่อมสภาพ ร้อยละ 60% ภายใน 30วันถ้าเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง ไอโอดีนที่เสื่อมสภาพจะส่งผลให้แบคทีเรียชนิด Gram positive ติดสีไม่ดี
การเตรียมสเมียร์ (Smear preparation)
ป้ายตัวอย่างที่จะทำสเมียร์บนสไลด์โดยหมุนเป็นวงกลมไม่ให้หนาหรือบางเกินไป สเมียร์ที่หนาเกินไปเมื่อย้อมแล้วอาจมองเซลล์ของแบคทีเรียได้ยาก และ การติดสีอาจไม่ชัดเจน กรณีที่ตัวอย่างเข้มข้นมาก อาจแก้ไขโดยการหยดน้ำบนสไลด์ 1-2 หยดเพื่อเจือจางตัวอย่างก่อนทำสเมียร์ ส่วน สเมียร์ที่บางเกินไปอาจตรวจไม่พบเชื้อแบคทีเรีย
ก่อนที่จะนำสเมียร์มาย้อมสีจำเป็นต้องผ่านขั้นตอน Fixation เพื่อนฆ่าเชื้อแบคทีเรียป้องกันไม่ให้เซลล์แตกขณะย้อมสีและทำให้สเมียร์ติดบนสไลด์ไม่หลุดออกขณะย้อมสี
สเมียร์ที่เตรียมเสร็จแล้วต้องทำให้แห้งในอากาศ (air dry) ไม่แนะนำให้ใช้ความร้อนโดยเฉพาะจากเปลวไฟโดยตรง เพราะจะทำให้เซลล์แตกหรือเสื่อมสภาพ การติดสีจะผิดเพี้ยน การใช้ตู้ควบคุมอุณหภูมิอาจทำได้แต่อุณหภูมิไม่ควรเกิน 60 °C สเมียร์ที่แห้งแล้วจึงนำมาผ่านขั้นตอน Fixation โดยสารเคมี โดยใช้ 95-100% alcohol แช่สไลด์ไว้ 1-2 นาที ก่อนปล่อยให้แห้งในอากาศ โดยไม่ต้องล้างด้วยน้ำหรือใช้ความร้อน
การย้อมสีสเมียร์สไลด์
ขั้นตอนการย้อมสี Gran stain ประกอบด้วยสีพื้นฐาน ได้แก่สี crystal violet การใส่สารที่ช่วยให้สีติดดีขึ้น (mordant) Gram’s iodine การล้างสีพื้นฐานออก () ด้วย Alcohol – acetone และ การย้อมสีซ้ำ (Counterstain) ด้วยสี safranin หรือ basic fuchsin โดยมีขั้นตอนโดยทั่วไปดังนี้
- 1.ใส่สี crytalลงบนสไลด์ ปล่อยทิ้งไว้ 1 นาที
- 2.ล้างสีออกด้วยน้ำบริสุทธ์ (deionized water)
- 3.ใส่ Gram’s iodine ลงบนสไลด์จนท่วมแล้ว ทิ้งไว้ 1 นาที
- 4.ล้างอีกครั้งด้วยน้ำบริสุทธ์ เพื่อกำจัด Iodine
- 5.หยด alcohol – acetone ลงบนบริเวณตัวอย่างที่ สเมียร์ ไว้บนสไลด์ เพื่อล้างสีส่วนเกินออก (ปกติใช้เวลาไม่เกิน 10 วินาที)
- 6.ล้างสไลด์ด้วยน้ำบริสุทธ์เพื่อกำจัด alcohol – acetone ออกจากสเมียร์
- 7.ใส่สี safranin หรือ basic fuchsin ลงให้ท่วมสไลด์ แล้วทิ้งไว้ 1 นาที
- 8.ล้างสไลด์ด้วยน้ำบริสุทธ์เพื่อกำจัดสีส่วนเกิน แล้วปล่อยให้แห้งในอุณหภูมิห้อง
- 9.นำมาตรวจหาแบคทีเรียด้วยกล้องจุลทรรศ กำลังขยาย1000เท่า แบคทีเรีย Gram positive จะติดสีม่วงแก่ส่วนแบคทีเรีย Gram negative จะติดสีชมพู
ข้อควรระวัง
- 1.สเมียร์ที่หนาเกินไปจะทำให้ แบคทีเรีย ติดสีไม่แน่นอน โดยเฉพาะการติดสีเป็น Gram positive
- 2.สเมียร์ที่เตรียมในสารละลายเข้มข้นมากเกินไป (hypertonic) หรือ เจอจางมากเกินไป (hypotonic) รูปร่างเซลล์ของแบคทีเรียอาจเปลี่ยนไป
- 3.สเมียร์ที่ทำให้แห้งด้วยความร้อนโดยตรง หรือใช้กล่องควบคุมอุณหภูมิที่อุณหภูมิสูงกว่า 60 °Cจะทำให้แบคทีเรียทั้งหมดติดสี Gram negative
- 4.แบคทีเรียบางชนิดอาจเปลี่ยนจาก Gram positive เป็น Gram negative ได้ถ้าเก็บไว้ในอาหารเลี้ยงเชื้อนานเกินไป เช่น แบคทีเรียกลุ่ม Bacillus , Clostridium , Lactobacillus และ Staphylococcus เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
Kessy Pieru ; How wel do you know “The Gram Stain” Hardy Diagnostic (2016)
เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN : Thailand Pesticide Alert Network) รายงานผลการสุ่มสำรวจตัวอย่างผักและผลไม้ ปี 2559 พบว่าจากการสำรวจ ผัก 10 ชนิด ผลไม้ 6 ชนิด รวม 138 ตัวอย่าง จากตลาดสดและห้างสรรพสินค้า 7 แห่งในเขต กทม. และปริมณฑล เชียงใหม่ และอุบลราชธานี โดยส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ที่ประเทศอังกฤษ พบว่ามีผักและผลไม้ที่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินระดับมาตรฐานดังนี้
พริกแดง กะเพรา ถั่วฝักยาว คะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ มะเขือเปราะ กะหล่ำปลี |
100% 66.7% 66.7% 55.6% 33.3% 22.2% 11.1% 0% 0% |
ส้มสายน้ำผึ้ง ฝรั่ง แก้วมังกร มะละกอ มะม่วงน้ำดอกไม้ แตงโม |
100% 100% 71.4% 66.7% 44.4% 0% |
รายงานโดยสรุปพบว่า
1.อัตราสารพิษตกค้างในผัก และผลไม้เกินค่ามาตรฐานสูงถึง 46.4 %
2.ผักและผลไม้ซื้อจากตลาดสด และห้างสรรพสินค้า มีอัตราส่วนสารพิษตกค้างไม่แตกต่างกันมาก คือ 48% และ 46% ตามลำดับ
3.ผักและผลไม้ที่มีตราคุณภาพ “Q” จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร และอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พบสารเคมีสูงถึง 57.1%
4.แม้แต่ผักและผลไม้อินทรีย์ก็ยังมีสารเคมีตกค้างถึง 25%
ต่อมา สำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ออกมาโต้แย้งว่าผลการสุ่มตัวอย่างของ ไทยแพน ไม่ได้มาตรฐานและข้อมูลที่ได้มาผิดพลาด แต่อย่างไรก็ตามเราในฐานะผู้บริโภคก็ควรตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ เพื่อหาทางดูแลสุขภาพของตัวเองไม่ว่าข้อมูลของใครจะถูกผิดหรือผิดอย่างไร
มีรายงานเมื่อประมาณ 1 ปีที่แล้วมาจากองค์การอนามัยโลก โดยหน่วยงาน International Agency for Research on Cancer (TARC) แจ้งว่า เนื้อแดงปรุงแต่ง (processed meats) เช่นไส้กรอก แฮม เบคอน รวมทั้งอาหารไทยจำพวก กุนเชียงและ แหนมเป็นต้น มีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยยะสำคัญกับ โรคมะเร็งในผู้ที่บริโภคเกินความเหมาะสม
เนื้อสัตว์ไม่เป็นเหตุโดยตรงของการกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็ง แต่สารเคมีที่ใช้ในการปรุงแต่งอาหาร ในขบวนการผลิตเป็นสาเหตุหลัก สารปรุงแต่งที่ใช้ในอาหารเหล่านี้คือสารในเตรต (nitrate) และในไตร (nitrite) ซึ่งใส่ในอาหารในรูปของโปแตสเซี่ยมในเตรต โปแตสเซี่ยมในไตร โซเดียมในเตรต และ โซเดียมในไตร ซึ่งสารเคมีเหล่านี้จะทำให้เนื้อมีสีแดงน่ากิน และกำจัดจุลินทรีย์ทำให้เนื้อไม่เน่าเสีย
องค์การอนามัยโลกกำหนดปริมาณของในเตรตและในไตร ที่เหมาะสมในปริมาณที่ร่างกายได้รับไม่เกินวันละ 3.7 มิลลิกรัม สำหรับในเตรตและ 0.07 มิลลิกรัม สำหรับในไตร ถ้าร่างกายได้รับเกินระดับความปลอดภัยก็จะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ร่างกายได้รับด้วย
ผู้ได้รับสารในเตรตและในไตร เกินระดับความเหมาะสมจะก่อให้เกิดอาการเฉียบพลัน โดยสารจะเข้าไปขัดขวางเม็ดเลือดแดงไม่ให้นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย มีอาการหายใจลำบาก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และถ้าได้รับมากอาจถึงกับเสียชีวิตได้ สำหรับอาการเรื้อรังมีสาเหตุจากสารในไตร เมื่อทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหาร และสารเอมีน (amines) ในเนื้อสัตว์ จะเปลี่ยนสภาวะเป็นสารในไตร ซามีน (nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogenic) นอกเหนือจากนี้ สารในเตรตและในไตร ในเนื้อที่ถูกความร้อนจากการประกอบอาหาร ก็จะถูกเปลี่ยนเป็นสารในไตร ซามีน อีกด้วย
ตามมาตรฐานสากลกำหนดไว้ว่าสารในเตรต ในไตร หรือสารกันบูดต้องผสมในอาหารได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม แต่สำหรับประเทศไทย ได้มีการกำหนดมาตรฐานไว้ว่า สารในเตรตต้องมีปริมาณไม่เกิน 500 มิลลิกรัม และสารในไตร ต้องมีปริมาณไม่เกิน 125 มิลลิกรัม ต่อเนื้อ 1 กิโลกรัม
รายงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ) ผลการสำรวจไส้กรอก 15 ยี่ห้อที่วางขายในท้องตลาด พบว่ามี 11 ตัวอย่างที่ผสมสารทั้ง 2 ชนิดในระดับไม่เกินมาตรฐานมี 3 ตัวอย่างที่ผสมเกินมาตรฐาน มีเพียง 1 ตัวอย่างที่พบว่าไม่มีการผสมสารในเตรตหรือในไตร ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคคือต้องเลือกซื้ออาหารที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข หรือตรวจสอบข้อมูลบนสลากให้ชัดเจน แต่ปัญหาที่พบคือผู้ผลิตมักใส่ข้อมูลเป็นรหัสตัวเลข ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป
ธุรกิจการล้างพิษลำไส้ใหญ่กำลังเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง มีศูนย์ให้บริการทั่วประเทศมากกว่า 7,000 แห่ง มีรายได้รวมกับมากกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีแพทย์ มีการจัดทัวร์ธรรมมะ (detox tours) กันอย่างกว้างขวาง มีราคาตั้งแต่เป็นหมื่นหรือเป็นพันบาท ควบคู่กับผลดีที่ได้รับการอ้างถึงก็อาจมีผลเสียที่ตามมาด้วย เช่น ท่อที่ใช้สอดล้างลำไส้ผ่านทวารหนักเข้าไปอาจทำให้ลำไส้ฉีกขาดและติดเชื้อตามมา รวมทั้งทำให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และอาศัยอยู่ในลำไส้ลดจำนวนลง หรือกรณีที่ใช้ น้ำกาแฟอุ่นหรือร้อนฉีดเข้าไปในลำไส้ ทำให้มีการทำลายเซลล์บุผนังลำไส้และเมื่อมีการทำซ้ำๆ ทำให้ผนังบุลำไส้มีการอักเสบเรื้อรังและติดเชื้อได้เป็นต้น เมื่อเร็วๆนี้ มีผู้ที่ได้รับการล้างพิษลำไส้ใหญ่เสียชีวิต ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่ามีสาเหตุจากการเสียน้ำอย่างรุนแรง ปริมาณโปแตสเซียมในเลือดลดลงเฉียบพลัน นำไปสู่อาการหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต
ทางการแพทย์ถือว่า การล้างพิษลำไส้ใหญ่คือการสวนอุจจาระตามปกติ (enema) ซึ่งควรทำเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น เช่นผู้ที่มีท้องผูกเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียง ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ลำไส้ไม่เคลื่อนไหวตามปกติ รวมทั้งผู้ป่วยก่อนได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์จะฉีดน้ำเกลือปริมาณมากเข้าไปในลำไส้ใหญ่เพื่อให้อุจจาระเหลวและกระตุ้นให้ลำไส้ขยับตัวขับอุจจาระออกจนหมด
การล้างลำไส้ใหญ่บ่อยๆ จะทำให้ลำไส้ไม่ทำงานตามปกติ ถ้าไม่ถูกกระตุ้น การถ่ายตามธรรมชาติจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งสามารถทำได้โดยการกินอาหารที่มีกากใยสูงจำพวกผักและผลไม้ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมทั้งการดื่มน้ำสะอาดมากๆ จะช่วยให้ลำไส้ทำงานตามปกติ จะส่งผลดีมากกว่าวิธีอื่น
Dr.Alois Alzheimer เป็นผู้ที่พบว่าโรคนี้มีสาเหตุจากความผิดปกติของสมองเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว แม้จะมีความพยายามอย่างมากที่จะหาสาเหตุที่แท้จริง ของความผิดปกติของสมองและลดความเสียหายของเซลล์ประสาทของสมองและลดความเสียหายของเซลล์ประสาทของสมองให้ช้าลง แต่ก็ไม่ได้ผลดีมากนัก ยังคงมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นของมนุษย์ และการวินิจฉัยโรคที่มีความถูกต้องมากขึ้น
อย่างไรก็ตามเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วมาก็ได้มีการพบว่า สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์เกิดขึ้นจากการสะสมของโปรตีน Amyloid Beta-Amyloid (1-40) และ Beta-Amyloid (1-42)เพิ่มขึ้นในสมอง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกำจัดออกได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ โปรตีน Amyloid จะเข้าไปเกาะติดกับเซลล์ประสาทในสมอง ในปริมาณที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง เซลล์ประสาทค่อยๆเสื่อมลง หมดสภาพการทำหน้าที่ตามปกติในที่สุด ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความจำ และสภาวะการเรียนรู้ไป องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ประมาณ 36 ล้านคนทั่วโลก และจำนวนอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในเวลา 14-15 ปีอาการของโรคจะเริ่มจากผู้ป่วยมีความจำสั้น มีความเสื่อมของการเรียนรู้ สูญเสียความจำ จนช่วงท้ายของโรคผู้ป่วยจะไม่สามารถดำรงชีวิตตามปกติได้ ไม่สามารถทำงานได้ ต้องพึ่งพาการดูแลอย่างใกล้ชิด
ปัจจุบันความก้าวหน้าด้านวิชาการ ภาพทางการแพทย์ ทำให้แพทย์สามารถค้นหาโปรตีน Amyloid ที่เข้าไปเกาะบนเซลล์ประสาทได้ตั้งแต่ระยะแรกของการสะสม แต่ก็ยังไม่มีวิธีการที่จะเข้าไปยับยั้งการสะสมของโปรตีนนี้ได้ ดังนั้นเป้าหมายของการแก้ไขโรคนี้คือ การผลิตวัคซีนที่จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าไปทำลาย โปรตีน Amyloid ก่อนที่จะเข้าไปเกาะเซลล์ประสาท และการพัฒนายาที่จะเข้าไปป้องกันไม่ให้โปรตีน Amyloid เข้าไปเกาะบนเซลล์ประสาท รวมทั้งช่วยให้เซลล์ประสาทสามารถทำงานได้ท่ามกลางการสะสมของโปรตีน Amyloid ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาวิจัยกันอย่างเข้มข้นซึ่งคาดว่าอาจได้ผล อย่างใดอย่างหนึ่งในเร็วๆนี้
การวินิจฉัยโรคที่แม่นยำปัจจุบันทำได้โดยการตรวจหาโปรตีน Amyloid ที่เกาะอยู่บนเซลล์ประสาทในสมองหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว สำหรับการวินิจฉัยเบื้องต้น แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการที่ผู้ป่วยสูญเสียความจำ ร่วมกับการใช้เครื่องมือด้านภาพทางการแพทย์ MRT,SPECT หรือ PET เป็นต้น ปัจจุบันมีเทคนิคที่พัฒนาขึ้นใหม่โดยการตรวจหาปริมาณ Beta-Amyloid โปรตีนชนิด (1-40) และ (1-42) ในน้ำไขสันหลัง (CSF) ด้วยวิธี ELISA แต่วิธีนี้ยังเป็นวิธีใหม่ที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก
สำหรับการป้องกันและลดความเสี่ยงของสมองให้ช้าลง ในปัจจุบันที่ได้ผลดีพอสมควรคือ การกินอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกาย และการมีกิจกรรมทางสังคมที่สม่ำเสมอจะทำให้โรคพัฒนาช้าลง รวมทั้งจะช่วยให้อาการบางอย่างกลับคืนดีขึ้นได้
โรคไข้เลือดออก Crimean-Congo
โรคนี้มีการระบาดรุนแรงตั้งแต่ช่วงปี 1944 – 1945 ที่คาบสมุทร Crimean ซึ่งมีผู้เสียชีวิตประมาณ 10 % ต่อมาจึงพบว่า เป็นไวรัสชนิดเดียวกับชนิดที่แยกได้จากประเทศ Congo จึงเป็นที่มาของชื่อ Crimean – Congo Hemorrhagic Fever (CCHFV) โรค CCHFV มีรายงานพบในหลายพื้นที่ของทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรป และ เอเชีย ปัจจุบัน มีรายงานโรค CCHFV ในหลายประเทศ อาทิเช่น ปากีสถาน อิหร่าน อินเดีย เป็นต้น รวมทั้งมีรายงานตรวจพบแอนตีบอดีต่อ CCHFV ในหลายประเทศ ในทวีปยุโรป
CCHFV เป็น Single standard RNA ไวรัส เป็นไวรัสที่อยู่ในสัตว์เลี้ยง และ สัตว์ป่า จำพวก โค กระบือ แพะ แกะ กระต่าย โดยสัตว์ไม่แสดงอาการเกิดโรค คนได้รับเชื้อไวรัสโดยการกัดของเห็บซึ่งติดเชื้อ (Tickborne) และ การได้รับเชื้อจากเลือดของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยตรง อาการของโรคช่วงแรกจะมีอาการมีไข้ หนาวสั่น ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หลังอาการช่วงแรก 3 – 6 วัน จะมีอาการของเลือดออกเป็นจุดๆ ใต้ผิวหนัง เหงือก จมูก และ อวัยวะภายใน อัตราการเสียชีวิต อาจสูงถึง 50 %
การวินิจฉัยอาจทำได้หลายวิธี เช่น ตรวจหาแอนตี้บอดี้ต่อไวรัส ตรวจหาไวรัส RNA โดยวิธี RT – PCR รวมทั้งการแยกเชื้อของผู้ป่วยโดยตรง ที่สำคัญ คือ จะต้องวิเคราะห์ แยกโรค จากการติดเชื้อชนิดอื่น เช่น Leptospirosis, dengue hemorrhagic fever, typhoid fever, Ricket tsia infection etc .,
การป้องกันและการรักษา ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการที่ได้ผลดี การพัฒนาวัคซีนกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการสำหรับการรักษา ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการที่ชัดเจน โดยมีการพยายามใช้การรักษา โดยใช้ เซรั่มจากผู้ที่หายจากโรค รวมทั้งใช้ยาต้านไวรัสทั่วๆไป แต่ผลการรักษาปัจจุบันยังไม่มีความแน่นอน
ยังไม่เคยมีรายงานโรค CCHFV ในประเทศไทย แต่ควรจะมีการเฝ้าระวังที่เข้มงวด เพราะโรคนี้มีโอกาสแพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทย ได้เช่นเดียวกับโรคติดต่อระหว่างสัตว์ และ คน ชนิดอื่นๆ
โรคไข้เลือดออก Dengue hemorrhagic fever
โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุจากการติดเชื้อ Dengue Virus โดยมียุงเป็นพาหะ ยุงลาย (Aedes aegypti) เป็นยุงที่แพร่พันธุ์ได้ดีในเขตเมืองและเขตชุมชน โรคไข้เลือดออกจึงแพร่กระจายในเขตชุมชนทั่วไป ไวรัสไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ คือ DENV -1 ,DENV – 2,DENV – 3 และ DENV – 4 แต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกัน ดังนั้น การติดเชื้อไวรัสใด สายพันธุ์หนึ่งแล้ว จึงไม่มีผลต่อการที่ร่างกายจะมีภูมิต้านทาน ต่อไวรัสสายพันธุ์อื่นจึงเป็นโรคไข้เลือดออกซ้ำได้ ซึ่งข้อมูลพบว่า การติดเชื้อนี้ อาการของโรคจะรุนแรงกว่าการติดเชื้อครั้งแรกมาก
ประเทศไทยเป็นแหล่งระบาดของโรคไข้เลือดออกแห่งหนึ่งโดยมีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปี พศ. 2557 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 36,404 ราย เสียชีวิต 30 ราย แต่ในปี 2558 พบผู้ป่วย สูงถึง 111,826 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 108 ราย และมีข้อมูลว่าโรคนี้มักมีการระบาดใหญ่ โดยจะมีผู้ติดเชื้อมาก ช่วงฤดูฝน เนื่องจากยุงลายมีการแพร่พันธุ์มาก
ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกระบาดอยู่ในมากกว่า 100 ประเทศ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเขตร้อน และ เขตอบอุ่นของโลก รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า แต่ละปีมีผู้ติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกไม่น้อยกว่า 400 ล้านคน เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 22,000 คน ได้มีความพยายามที่จะผลิตวัคซีน ป้องกันโรคไข้เลือดออก มานานกว่า 40 ปี จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ ผลจากการวิจัยของบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศฝรั่งเศส (Sanofi) ได้ประกาศผลสำเร็จของวัคซีน โดยใช้ชื่อว่า “Dengvaxia” ผลจากการทดลองกับอาสาสมัครกว่า 40,000 คน ใน 15 ประเทศ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยวัคซีนให้ผลดีในอาสาสมัครอายุ 9 ปีหรือสูงกว่า ถึง จำนวน 2 ใน 3 และ เพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 90 % ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยบริษัท Sanofi ใช้เวลานานถึงกว่า 20 ปี ใช้เงินไปทั้งสิ้น 59,000 ล้านบาท ขณะนี้วัคซีนกำลังถูกนำไปใช้ใน มากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก
หมามุ่ยได้รับความสนใจจากการที่นายกรัฐมนตรีแนะชาวนาให้หันมาปลูกหมามุ่ยแทนปลูกข้าว เพื่อ ลดความเสียหายจากความแห้งแล้ง เนื่องจากเมล็ดจากฝักของหมามุ่ยได้ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคหลายอย่าง และ เป็นที่นิยมในประเทศอินเดียมานาน หมามุ่ยเป็นวัชพืชที่ลำต้นเป็นเถาชอบขึ้นอยู่ทั่วไปตามป่าละเมาะ และป่าโดยทั่วไป หมามุ่ยเป็นพืชทนความแห้งแล้งได้ดี มีฝักขนาดยาว 5 – 10 ซม. มีขนเล็กๆ โดยรอบ เป็นที่รู้กันว่า ขนของฝักหมามุ่ย จะก่อให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง ถ้ามากระทบผิวหนัง หมามุ่ยเป็นพืชที่พบได้ทุกภาคในประเทศไทย
เมล็ดของหมามุ่ย มีคุณสมบัติเป็นยารักษาได้หลายโรค เป็นที่นิยมใช้อย่างกว้างขวางในประเทศอินเดีย และ ประเทศอื่นๆอีกกว่า 100 ประเทศ คุณสมบัติทางยาที่สำคัญของเมล็ดหมามุ่ย คือ
- ใช้ควบคุมอาการของผู้ป่วยโรค พาร์คินสัน (Parkinson’s disease) ช่วยลดอาการสั่นเนื่องจากเมล็ดหมามุ่ยมีสาร L-dopa ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอยู่ค่อนข้างสูง
- ใช้แก้ปัญหาอวัยวะเพศ ไม่แข็งตัวในผู้ชาย (erectile dysfunction) ช่วยให้มีการแข็งตัวได้นาน ช่วยเพิ่มปริมาณ และ ความแข็งแรงของสเปิร์ม
ในต่างประเทศผลิตภัณฑ์จากเมล็ดหมามุ่ยถูกบรรจุไว้ในแคปซูลทำให้สะดวกในการกิน แต่ประเทศไทยคุณสมบัติทางยาของเมล็ดหมามุ่ย ยังไม่ได้การรับรองจากองค์การอาหารและยาของประเทศไทย แต่ผู้สนใจอาจทำกินเองในรูปของเมล็ดหมามุ่ยคั่ว บดเป็นผงละลายกินในน้ำ โดยผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลอภัยภูเบศ แนะนำว่า ไม่ควรกินวันละเกินกว่า 15 เมล็ด หรือ ปริมาณผงประมาณ 5 กรัม
หน้าที่ 5 จาก 9