"อาการโควิดลงปอด" เช็คก่อนสาย ลองสังเกตดี ๆ พร้อมบอกวิธีดูอาการเบื้องต้น 

สังเกตก่อนสาย "อาการโควิดลงปอด" อาการรุนแรงหลังรับเชื้อโควิด19 พร้อมบอกวิธีเช็คเบื้องต้นก่อนอาการทรุดหนักเสี่ยงเสียชีวิต

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่กลับเข้าสู่ช่วงนิวไฮอีกครั้ง ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเมื่อติดแล้วอาการจะไม่รุนแรง แต่ก็ยังพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้ออาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 769 ราย  ผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,854 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เม.ย.65) โดยส่วนใหญ่พบว่า เกิดจากภาวะการติดเชื้อโควิด19ลงปอด ดังนั้น เพื่อเป็นการเช็คตัวเองเบื้องต้น วันนี้ "คมชัดลึกออนไลน์" ได้รวม "อาการโควิดลงปอด" ผลข้างเคียงจากการติดเชื้อโควิด มาให้ได้ลองเช็คอาการของตัวเองเบื้องต้น ทั้งนี้เมื่อเชื้อโควิดลงปอดไปแล้วปอดจะถูกทำลาย ไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ ส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง และทำให้เนื้อปอดไม่สามารถทำงานได้ในที่สุด เหากอาการหนักอาจจะอันตรายถึงชีวิต

 

วิธีสังเกต "อาการโควิดลงปอด" ผู้ติดเชื้อ หรือญาติสามารถสังเกต ได้ดังนี้ 

1. แน่นหน้าอก
 2. หายใจลำบาก
 3. เหนื่อย หอบ แม้ว่าจะไม่ได้ออกแรงกระทำการใดก็ตาม
 4. ไข้ขึ้นมากกว่า 37.5°C ขึ้นไป
 5. มีอาการไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ
 6. ค่าออกซิเจนในเลือดไม่ควรมีระดับต่ำกว่า 95% และควรวัดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
 7. หากมีค่าออกซิเจนในเลือดระดับต่ำกว่า 94% ให้วัดค่าออกซิเจนในเลือดทันที หลังจากการลุกนั่งในเวลา 1 นาที หรือการกลั้นหายใจ ในเวลา 10 – 15 วินาที 

วิธีเช็ค "อาการโควิดลงปอด" หรือไม่

เดินไปมา ลุกยืนหรือลุกนั่ง 3 ครั้ง หรือ กลั้นหายใจ 10 – 15 วินาที หากทำแล้วเหนื่อย และวัดออกซิเจนในเลือดได้ต่ำกว่า 94 ลงไป ให้สงสัยว่าเชื้อโควิดลงปอดไว้ก่อน

การรักษา "อาการโควิดลงปอด"

1. การใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสจะเข้าไปฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสโควิด-19 แบ่งตัวเพิ่มเติม และทำลายเซลล์ในอวัยวะต่างๆ อีกทั้งยังมีการใช้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาแก้อักเสบ เพื่อลดการอักเสบภายในร่างกาย
 

2. การใช้เครื่องช่วยหายใจ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก โดยเฉพาะบริเวณเนื้อปวดที่ถูกทำลาย หรือปอดมีอาการบวมน้ำ
 

3. ใช้เครื่องปอด - หัวใจเทียมแบบเคลื่อนย้าย (Extracorporeal Membrane Oxygenation) หรือ ECMO ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้ สามารถฟอกโลหิตของผู้ป่วยแล้วเติมออกซิเจนเข้าไป ก่อนที่จะคืนกลับเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย 

ที่มา :   โรงพยาบาลเพชรเวช , โรงพยาบาลศิครินทร์  

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/510340?adz=

 
"เดลตาครอน" ไวรัสลูกผสมตัวใหม่ ทำความรู้จัก น่ากลัวกว่า "โอไมครอน" หรือไม่
 
 

"เดลตาครอน" Deltacron ไวรัสลูกผสมตัวใหม่ "อ.เจษฎ์" ไขข้อข้องใจ ชวนทำความรู้จัก น่ากลัวกว่า "โอไมครอน" หรือไม่

จากกรณีที่ องค์การอนามัยโลก หรือ  WHO ออกแถลงการณ์  ยืนยันว่า เชื้อโควิดกลายพันธุ์ ระหว่างสายพันธุ์ "โอมิครอน" หรือ "โอไมครอน" กับเดลตาที่เรียกว่า "เดลตาครอน" พบแล้วจริง และขณะนี้เริ่มพบการระบาดแล้วในหลายประเทศ 

"อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ค อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์  ระบุว่า มีหลักฐานว่า "ไวรัสลูกผสม "เดลตาครอน" Deltacron น่าจะมีจริง แต่ยังไม่ได้มีอะไรน่ากังวลครับ" 

โดย อ.เจษฎ์ ได้ให้ข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น ดังข้อมูลด้านล่างนี้ 

1. การค้นพบไวรัส Deltacron ในประเทศฝรั่งเศส

  • กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยจากสถาบันปาสเตอร์ the Institut Pasteur ในประเทศฝรั่งเศส ได้นำเสนอลำดับพันธุกรรมทั้งหมด (หรือจีโนม genome) ของเชื้อไวรัสโควิด SARS-CoV-2 ที่มีตำแน่งของเชื้อตัวนี้บนแผนภูมิต้นไม้ ที่แปลกมาก (ดูภาพประกอบ เส้นสีส้ม ที่มีกล่องสีส้มล้อม) ลงในฐานข้อมูลด้านระบาดวิทยา ( คลิกอ่านต้นฉบับ
  • จากข้อมูลในนั้น ระบุว่า ไวรัสตัวนี้ได้มาจากชายสูงอายุคนหนึ่งในทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส และลำดับจีโนมของมันนั้น มีส่วนประกอบหลักๆเหมือนกับเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา (ดูภาพประกอบ พวกเชื้อที่ใช้เส้นสีเขียว) แต่มีพันธุกรรมส่วนใหญ่ในบริเวณที่เกี่ยวกับโปรตีนหนาม (spike protein) ที่คล้ายกับสายพันธุ์โอมิครอน 
  • ตามแนวทางการตั้งชื่อแบบดั้งเดิม เชื้อไวรัสลูกผสมตัวนี้ ถ้ามีอยู่จริง น่าจะได้รับการเรียกชื่อว่า “XD” แต่สาธารณชนได้ขนานนามมันไปแล้วว่าเป็น “Deltacron เดลตาครอน”

"เดลตาครอน" ไวรัสลูกผสมตัวใหม่ ทำความรู้จัก น่ากลัวกว่า "โอไมครอน" หรือไม่

2. การค้นพบไวรัส Deltacron ในประเทศสหรัฐอเมริกา

  • หลังจากนั้นหนึ่งเดือน คณะวิจัยอีกทีมหนึ่ง ก็ได้นำเสนอหลักฐานเบื้องต้นของพวกเขา ว่ามีเคสแบบเดียวกันนี้ อีก 3 เคส ซึ่งพบในประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่เชื้อโอมิครอนระบาดอย่างหนัก ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2021 ถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022

3. การเกิดไวรัสโควิดลูกผสม ก่อนหน้านี้

  • นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการรายงานถึงไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ แต่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว และโดยมากจะเป็นการผสมกับสายพันธุ์อัลฟ่า Alpha (คลิกอ่านต้นฉบับ)
  • แต่ก็ยังไม่เคยมีไวรัสลูกผสมตัวไหนที่แพร่ระบาดกระจายไปทั่ว และพวกมันก็มักจะหายไปเอง เมื่อมีสายพันธุ์ใหม่ ๆ วิวัฒนาการขึ้นมา 
  • การเกิดลูกผสม หรือการสลับที่กันของลำดับพันธุกรรมในไวรัสเช่นนี้ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้เป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกรณีของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) เนื่องจากมันมีโครงสร้างพันธุกรรมที่ยอมให้เกิดการสลับที่กันของชิ้นส่วนพันธุกรรมทั้งยีนได้ 
  • ดังนั้น ถ้าใครสักคนหนึ่ง ติดโรคโควิดจากเชื้อไวรัส 2 สายพันธุ์พร้อม ๆ กัน (แม้ว่าจะเกิดขึ้นได้ยากมากๆ ก็ตาม) (แต่ก็เกิดได้เวลาที่คนติดเชื้อป่วยกันเป็นแสนเป็นล้านคน)  เชื้อโรคก็จะเกิดกระบวนการ  "รีคอมบิเนชั่น recombination" หรือการผสมรวมกันของลำดับพันธุกรรม ระหว่างที่มันเพิ่มจำนวนตัวขึ้นในร่างกายของผู้ป่วย 
  • ส่วนใหญ่แล้ว การกลายพันธุ์แบบรีคอมบิเนชั่นนี้ มักจะไม่ได้เป็นเรื่องดีสำหรับเชื้อไวรัสเอง พวกมันมักจะตายไป แต่ก็เป็นไปได้เช่นกัน ที่จะมีไวรัสลูกผสมบางตัวที่รอดมาได้ และสามารถจะเพิ่มจำนวนตัว แพร่กระจายต่อไป เหมือนอย่างกรณีของเชื้อ “XD” ที่เจอที่ประเทศฝรั่งเศส 

4. แล้วข่าวไวรัสเดลตาครอน จากประเทศไซปรัส ก่อนหน้านี้ล่ะ ?

  • เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ถึงการพบเชื้อเดลตาครอน ในประเทศไซปรัส และมีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ว่ามีเชื้อลูกผสมตัวนี้จริง 
  • ที่มาของข่าว มาจากการให้สัมภาษณ์สื่อทีวีท้องถิ่นของประเทศไซปรัส โดย Leondios Kostrikis นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยไซปรัส โดยอ้างว่าห้องแล็บของเขาตรวจพบกรณีของเชื้อสายพันธุ์เดลตา ที่มีการกลายพันธุ์ของลำดับพันธุกรรมบางส่วน (ไม่มากนัก) ซึ่งดูคล้ายกับของสายพันธุ์โอมิครอน (ซึ่งผมเคยโพสต์อธิบายตอนนั้นแล้วว่า มันควรจะเรียกว่าเป็น เดลตากลายพันธุ์ไปคล้ายโอมิครอน แทนที่จะเรียกว่า ลูกผสม)
  • แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคน รวมทั้งขององค์การอนาม้ยโลก ได้รีบออกมาแย้งว่า กรณีดังกล่าวนี้ ไม่น่าจะใช่การเกิดไวรัสลูกผสม (แม้ว่าจะเกิดขึ้นได้จากกระบวนการ recombination) เนื่องจากมีหลายคนเชื่อว่า ข้อมูลลำดับพันธุกรรมที่ได้มานั้น แสดงให้เห็นถึงการปนเปื้อนข้ามสายพันธุ์ (cross-contamination) ระหว่างตัวอย่างส่งตรวจ 
  • หรือพูดง่าย ๆ คือ พวกเขาคิดว่า ทีมไซปรัสนั้นได้อ่านลำดับพันธุกรรมที่ปนกันอยู่ ของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนและเชื้อสายพันธุ์เดลตา ไม่ใช่เป็นลำดับพันธุกรรมของไวรัสลูกผสมระหว่าง 2 สายพันธุ์
  • ในการสัมภาษณ์เมื่อเดือนมกราคม กับวารสาร Nature (คลิกอ่านต้นฉบับ) ทาง Kostrikis ได้อ้างว่า คนอื่นตีความคำพูดเขาผิด และเขายอมรับว่า เชื้อไวรัสจากแล็บเขานั้นไม่ได้เป็นลูกผสมจริง ๆ เขาอธิบายว่าการที่เชื้อที่เขาพบนั้น มีลักษณะคล้ายกับทั้งเชื้อสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน ก็เป็นเพราะวิวัฒนาการแบบลู่เข้าหากัน (convergent evolution) ทำนองเดียวกับที่ค้างคาวและนก มีปีกบินได้คล้ายกัน แต่มาจากคนละสายวิวัฒนาการกัน 
  • เขายังโต้แย้งด้วยว่าตัวอย่างเชื้อของเขาไม่ได้มาจากการปนเปื้อน แต่สุดท้ายก็ยอมถอนออกจากฐานข้อมูลลำดับพันธุกรรม ระหว่างที่รอให้ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น ๆ มายืนยันผลการค้นพบของเขา

5. แล้วตกลงว่าเชื้อที่เจอที่ฝรั่งเศสนั้น เป็นไวรัสลูกผสม จริงหรือเปล่า ?

  • คราวนี้ เหล่านักวิทยาศาสตร์ มั่นใจกันมากขึ้นมาก ว่าเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่พบที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น มาจากการเกิดรีคอมบิเนชั่นจริง ๆ เพราะข้อมูลลำดับพันธุกรรมในครั้งนี้ ดูชัดเจนกว่าคราวของไซปรัส 
  • และทีมวิจัยของสถาบันปาสเตอร์ ก็รายงานว่า พวกเขาสามารถเพาะเลี้ยงเชื้อนี้ได้ในห้องปฏิบัติการด้วย (อ้นนี้เป็นหลักฐานสำคัญเลย ว่ามีเชื้อไวรัสอยู่จริง ไม่ใช่แค่ลำดับพันธุกรรม) แสดงว่า มันไม่ได้เป็นผลลัพธ์มาจากการปนเปื้อนข้ามตัวอย่างกัน 

6. น่ากังวลแค่ไหน กับเชื้อลูกผสมโควิดอย่าง เดลตาครอน

  • การที่พบเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ที่รวมสารพันธุกรรมจากเชื้อเดิม 2 สายพันธุ์ ไม่ได้แปลว่า มันจะรวมเอาลักษณะที่อันตรายจากทั้งสองนั้นเอาไว้ 
  • เชื้อเดลตา และโอมิครอน ยังเป็นไวรัสที่มีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะการที่มันเข้าโจมตีเซลล์ของร่างกายเราด้วยวิธีที่ต่างกัน และวิธีการในต่อสู้กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราของพวกมันยังแตกต่างกันอีกด้วย การ mix & match ผสมกันระหว่างเดลตากับโอมิครอน จึงอาจจะทำให้มีเก่งขึ้น หรือทำให้มันแย่ลง ก็ได้

อ.เจษฎ์ สรุปความคืบหน้าล่าสุดว่า ตั้งแต่มีการพบเชื้อไวรัสลูกผสม "เดลตาครอน" เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ตอนนี้มีรายงานการพบเพิ่มเติมมาเป็นประมาณ 30 เคสแล้วในประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก (โดยไม่ชัดเจนว่าพวกมันมาจากจุดกำเนิดเดียวกันหรือเปล่า) แสดงว่าเชื้อนี้สามารถแพร่กระจายได้ แต่ก็ยังมีจำนวนน้อยมากเกินกว่าที่จะระบุได้ว่า เชื้อลูกผสมนี้ จะเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวล ไปกว่าเชื้อสายพันธุ์เดิม ๆ ที่ระบาดอยู่ ตอนนี้ อย่างเช่น โอมิครอน

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/508641?adz=

"เทียบอาการโควิดกับไข้เลือดออก" คล้ายกันหลายจุด แต่พบ 2 อาการที่แตกต่าง 

"เทียบอาการโควิดกับไข้เลือดออก" พบมีอาการคล้ายคลึงกันหลายจุด ไข้สูง-ท้องเสีย แต่สามารถแยกอาการได้ง่าย ๆ เพียงแค่สังเกตความต่างจาก 2 อาการนี้

เกาะติดสถานการณ์การระบาดของโควิ19  สายพันธุ์ "โอไมครอน" ซึ่งล่าสุดมีข้อมูลระบุว่าเกิดการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องและขณะนี้ในประเทศไทยพบว่ามีผู้ติดเชื้อ โอไมครอนสายพันธุ์ BA.2 มากถึง 80% แต่เบื้องต้นพบว่าผู้ที่ติดเชื้อไม่ได้มีอาการที่ชัดเจร และรุนแรงในบางหลายที่ได้รับเชื้ออาการคล้าย ไข้หวัดใหญ่ หรือในบางรายอาจจะมีการคล้ายไข้เลือดออก ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้ลองสังเกตุอาการเพื่อ "เทียบอาการโควิดกับไข้เลือดออก"    กันแบบชัด ๆ ว่าตกลงแล้วเราเป็นอะไรกันแน่ เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาให้ถูกต้อง และถูกวิธี  

 

"เทียบอาการโควิดกับไข้เลือดออก"   อาการไข้เลือดออก : โรคไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี    ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นไปตามอาการ มีไข้ให้เช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้เท่านั้น ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม นํ้าผลไม้ หรือนํ้าเกลือแร่ร่วมด้วย

อาการไข้เลือดออกที่แสดงออกอย่างชัด ๆ มีดังนี้ 

  • มีไข้สูงแบบเฉียบพลัน และต่อเนื่องเป็นเวลา 2-7 วัน
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง
  • อาจมีจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา
  • ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้องและเบื่ออาหาร

ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการไข้ลดลงอย่าเพิ่งวางใจ เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะช็อกจนกระทั่งเสียชีวิตได้ หรือหากมีไข้สูงต่อเนื่องกว่า 2 วัน แม้จะเช็ดตัวหรือทานยาลดไข้แล้วก็ไม่ดีขึ้น ให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกไว้ก่อน และรีบพบแพทย์   

"อาการโอไมครอน"  โดย "โอไมครอน" เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ของโควิด  ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ทางละอองฝอย เสมหะน้ำลาย ผ่านการสัมผัสเยื่อบุตา จมูก ปาก 

"อาการโอไมครอน" มีดังนี้  

มีไข้
ไอ เจ็บคอ
ปวดกล้ามเนื้อ
มีน้ำมูก
ปวดศีรษะ
หายใจลำบาก
ได้กลิ่นลดลง
 

ลักษณะการติดเชื้อโควิด "โอไมครอน"  จะเป็นการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนไม่ได้ลงปอด ส่วนใหญ่ติดแล้วอาการไม่หนักมาก  คล้ายกับเป็นไข้หวัด หรือในบางรายมีอาการคล้ายกับไข้เลือดออกเช่นกัน   ในผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วมักจะอาการไม่รุนแรง   บางครั้งอาจจะไม่แสดงอาการเลยจึงทำให้มีอัตราการแพร่ระบาดเร็ว และส่งผลให้มีคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น  

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/509418?adz=

 

อยู่เวรเมื่อคืน โดนตามมาผ่าตัดเคสสุดท้ายตอนตี 5 จากนั้นมาราวด์คนไข้ที่วอร์ด

บรรยากาศค่อนข้างน่าหดหู่..วอร์ดที่เคยรับผู้ป่วยทั่วไป กำลังจะถูกยุบไปอีกวอร์ด เพื่อปรับเป็นวอร์ดสำหรับผู้ป่วยโควิด...วอร์ดที่ 6 ในโรงพยาบาล

เห็นเพื่อน ๆ ที่เป็นหมออายุรกรรมต้องแบ่งกันไปโรงพยาบาลสนามที่ขยายไปหลายร้อยเตียงก็ไม่มีวันพอ ต้องแบ่งกันไปราวด์คนไข้ทั้งธรรมดาที่ไม่ได้ลดลงเลย และคนไข้โควิดอีก 120 กว่าคนในโรงพยาบาล รวมถึง 2 ICU

เห็นเพื่อน ๆ หมอกแผนกอื่น ๆ ต้องหารเวรกันไปออกตรวจ ARI คลินิก หารเวรกันไปออกหน่วยวัคซีนทั้งในและนอกโรงพยาบาล

เห็นพยาบาลควงเวรกันไม่หยุดไม่หย่อน เพราะส่วนหนึ่งต้องถูกแบ่งไปโรงพยาบาลสนาม บางคนบ้านไม่ได้กลับ บางคนลูกเล็กไม่ได้เห็นหน้าลูกเป็นเดือน ๆ

พยาบาลบางคนควงเวรเช้าบ่าย เช้าบ่ายดึก ติด ๆ กัน

เห็นเพื่อน ๆ หมอผ่าตัดที่ผ่าตัดทั้งเคสปกติ เคสฉุกเฉิน และเคสโควิดกันเป็นเรื่องปกติ หมอสูติ ฯ ผ่าคลอดเคสโควิดแทบจะรายวัน บางวันมีสองเคสสามเคสก็มี

เห็นน้อง ๆ วิสัญญีที่สู้สุดใจ ต้องอยู่เวรดมยา ดมได้หมดทุกกรณีไม่เคยเกี่ยงงาน ไม่พอยังถูกตามไปช่วยใส่ท่อช่วยหายใจแทบทุกคืน ดึกดื่นแค่ไหนก็ไปทั้ง ๆ ทีเป็นแค่ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ กัน

เห็นหมอเอ็กซ์เรย์ต้องไปอ่านฟิล์มผู้ป่วยวันละหลายร้อยราย แม้กระทั่งมี AI มาช่วย ก็ไม่สามารถแบ่งเบาภาระได้เลย เห็นเจ้าหน้าที่เอ็กซ์เรย์เข็นรถคันใหญ่ ๆ หนัก ๆ ไปตามตึกทั้งคืน

เห็นผู้บริหารมาลงพื้นที่เอง ไม่ใช่แค่สั่งการ เห็นหัวหน้าพยาบาล หัวหน้าวอร์ดลงมาปฏิบัติงานเองกับน้อง ๆ ทำงานกันไม่เว้นวันหยุด

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะร่วมมือร่วมใจกันขนาดไหนก็มีแต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้น
ในท้ายที่สุด ภาพที่ไม่อยากให้เห็นคือ หลายโรงพยาบาลต้องเลือกผู้ป่วย ว่าคนไหนจะได้รับการรักษา คนไหนจะได้เข้า ICU คนไหนจะรอด คนไหนจะไม่รอด
แม้กระทั่งคนใกล้ชิดผมที่ป่วย มีเงิน มีประกันชีวิต ติดต่อโรงพยาบาลอันดับต้น ๆ ของประเทศก็ยังต้องรอ

เมื่อถืงวันนี้ การมีเงินอาจไม่สามารถซื้อชีวิตคุณได้
ดังนั้น เป็นกำลังใจให้ทุกฝ่าย ตอนนี้เราอย่าพึ่งไปหวังพึ่งใคร และโทษใครไม่ได้ แต่เราพึ่งตัวเราเองก่อน ดูแลตัวเองและครอบครัวก่อน
เหตุการณ์ทั้งหมดคงไม่มีใครอยากให้เกิด และเชื่อว่าทุกฝ่ายก็คงช่วยกันอย่างเต็มความสามารถอยุ่แล้ว

สำคัญอย่าประมาทเด็ดขาดนะครับ
ไม่ใช่ว่าฉีดวัคซีนแล้ว จะไปไหนมาไหนใช้ชีวิตได้ตามปกติ
วัคซีนกันไม่ให้เกิดภาวะที่รุนแรงได้แต่ไม่ทั้งหมด และที่สำคัญไม่ได้กันติด บางทีไม่มีอาการก็เหมือนพาหะนำเชื้อดี ๆ นี่เอง ที่อาจไปติดคนที่คุณใกล้ชิดได้
เชื่อเถอะครับ มันอันตรายและร้ายแรงกว่าที่คิดเยอะเหลือเกิน

สถานการณ์ทั่วโลกกำลังจะดีขึ้น อีกไม่นานมันก็ต้องค่อย ๆ หมดไป
ทนอีกนิดนะครับ วันหนึ่งเราต้องผ่านมันไปให้ได้
เป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะครับ

จากหมอคนหนึ่งในดินแดนระบาด

"แอนติบอดี ค็อกเทล" ยาใหม่ เพื่อพลิกการรักษาผู้ป่วย"โควิด-19"

ยาใหม่อีกตัว แอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail) เพื่อพลิกการรักษาโควิด-19 ป้องกันไม่ให้ปอดอักเสบรุนแรง และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่ก็มาพร้อมผลข้างเคียงของยา...

ไม่ว่าจะเป็น ยาต้านไวรัสออกฤทธิ์กว้างอย่าง ‘ฟาวิพิราเวียร์’ หรือ ‘ฟ้าทะลายโจร’ สมุนไพรที่บรรเทาอาการป่วยโควิดได้ดี

ยาทั้ง 2 ชนิดที่กำล้งใช้อยู่ ล้วนไม่ได้มีหน้าที่รักษา COVID-19 โดยเฉพาะ แต่เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยก็ได้รับข่าวดีอยู่บ้าง

เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศอนุมัติให้มีการใช้ยาหลักตัวสำคัญอีกตัวหนึ่งแบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อต่อสู้กับสายพันธุ์เดลต้าที่กำลังระบาดอย่างหนัก ในชื่อยา'แอนติบอดี ค็อกเทล' (Antibody Cocktail)

"แอนติบอดี ค็อกเทล" ยาใหม่ เพื่อพลิกการรักษาผู้ป่วย"โควิด-19"

นวัตกรรมยาAntibody Cocktail

เมื่อเห็นคำว่าค็อกเทล ขออย่าเพิ่งนึกถึงสูตรไขว้อันเลื่องชื่อ เพราะยา 'แอนติบอดี ค็อกเทล' Antibody Cocktail เป็นนวัตกรรมยาที่คิดค้นเพื่อรักษาโรค COVID-19 โดยเฉพาะ และได้รับอนุมัติใช้อย่างแพร่หลายในประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น อังกฤษ ฯลฯ

เพราะยาชนิดนี้เมื่อใช้ในผู้ป่วยระยะเริ่มต้น จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรง และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตอย่างเห็นผลได้นั่นเอง

Antibody Cocktail ผลิตขึ้นจากการผสม (ค็อกเทล) กันของ 2 โปรตีนที่มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อโรค (แอนติบอดี) คือ ‘Casirivimab’ (คาซิริวิแมบ) และ ‘Imdevimab’ (อิมเดวิแมบ) จนได้เป็นโปรตีนที่เรียกว่า ‘Monoclonal Antibody’ (โมโนโคลนอลแอนติบอดี)

โปรตีนดังกล่าว มีคุณสมบัติลบล้างการทำงานของเชื้อไวรัส โดยออกฤทธิ์ต่อโปรตีนส่วนหนามของ COVID-19 และนำสู่การยับยั้งการติดเชื้อในเซลล์ของผู้ป่วย

ที่สำคัญ การผสมกันของสองแอนติบอดีนี้ ยังพบการทดลองในห้องปฏิบัติการ ว่าสามารถออกฤทธิ์ต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ อย่าง สายพันธุ์เดลต้า และสายพันธุ์เอปซิลอน ได้อีกด้วย

 

ข้อมูลจาก นายแพทย์น๊อต เตชะวัฒนวรรณา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต และผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า ทำให้เราจะเข้าใจได้ว่าปกติแล้ว ร่างกายของผู้ที่ได้รับเชื้อหรือผู้ที่ได้รับวัคซีน COVID-19 จะมีแอนติบอดีที่สามารถจดจำและคอยกำจัดไวรัสอยู่แล้ว
แต่จุดอ่อนคือ หากเชื้อมีการกลายพันธุ์ แอนติบอดี ที่มีอาจไม่ได้จำเพาะต่อไวรัสนั้นทั้งหมด และทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

"แอนติบอดี ค็อกเทล" ยาใหม่ เพื่อพลิกการรักษาผู้ป่วย"โควิด-19"

ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์

 “Antibody Cocktail เป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่ม ’Neutralizing Monoclonal Antibodies’ (NmAbs) หรือ ‘ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์’ ที่มีความไว (susceptible) ต่อไวรัสและเชื้อกลายพันธุ์

ทำงานด้วยวิธีเข้าจับโปรตีนส่วนหนาม (Spike Protein) โดยตรง และทำให้ไวรัสที่เข้าสู่ร่างกายมีปริมาณลดลง ซึ่งจะส่งผลในการยับยั้งการติดเชื้อ COVID-19 โดยทันทีทันใด”

จนถึง ณ ตอนนี้ ผู้ที่สามารถรับยา Antibody Cocktail ในการรักษาได้ จะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าเป็นผู้ติดเชื้อ COVID-19 (ระยะเวลาไม่เกิน 10 วัน) หรือเป็นผู้มีอาการของโรค ความรุนแรงตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง

หรือเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่อาการรุนแรงขึ้นได้เมื่อติดเชื้อ ได้แก่ ผู้สูงอายุ, ผู้เป็นโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน (BMI มากกว่า 30), โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงภาวะความดันโลหิตสูง, โรคปอดเรื้อรัง รวมถึงโรคหอบหืด, โรคเบาหวาน, โรคไตเรื้อรัง

รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต, โรคตับเรื้อรัง และรวมถึงผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือภูมิคุ้มกันถูกกด จากผลการประเมินโดยแพทย์ผู้สั่งจ่ายยา

"แอนติบอดี ค็อกเทล" ยาใหม่ เพื่อพลิกการรักษาผู้ป่วย"โควิด-19"

ซึ่งการให้ยาจะดำเนินการฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือโดยการฉีดเข้าทางชั้นใต้ผิวหนัง (SC) โดยที่ ‘ห้าม’ ฉีดเข้าทางชั้นกล้ามเนื้อ (IM) เด็ดขาด

และจะให้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นโดยบุคลากรทางแพทย์ และหลังจากได้รับยาแล้ว อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้

โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง เช่น อาการผื่นแพ้ อาการคล้ายหวัด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือความดันต่ำ แต่พบได้น้อยมาก

"แอนติบอดี ค็อกเทล" ยาใหม่ เพื่อพลิกการรักษาผู้ป่วย"โควิด-19" 

นับวันที่วิกฤตการณ์จากโรคระบาดเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน ทางเลือกของการใช้ยา Antibody Cocktail หรือยาแอนติบอดีแบบผสม อาจเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาหลายอย่าง

ทั้งปัญหาเตียงเต็ม วัคซีนขาด หรือช่วยบรรเทาผลกระทบต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ สมกับที่เป็นยารักษาโรค COVID-19 ‘โดยตรง’  

สามารถศึกษาข้อมูลและวิธีใช้ของ Antibody Cocktail ยารักษาโรค COVID-19 ได้ที่ https://youtu.be/JpTuzXwO-F0 / Website: www.praram9.com / Line: lin.ee/vR9xrQs

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/health/962217?anf=

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ