"โอไมครอน" กับ 9 คำตอบ ติดแล้วเป็นวัคซีนธรรมชาติจริงหรือ แล้วสูตรไหนสู้ได้
"จ่าพิชิต" ไขข้อข้องใจกับ 9 คำถาม-คำตอบ "โอไมครอน" ติดแล้วเป็นวัคซีนธรรมชาติจริงหรือ แล้ววัคซีนสูตรไหนสู้ได้ เช็คเลย

อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" โอมิครอน (Omicron) รวมทุกคำถาม-คำตอบ ไขข้อข้องใจ โดย นายแพทย์วิทวัส ศิริประชัย อดีตแพทย์ประจำโรงพยาบาลเกาะลันตา อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ หรือ "จ่าพิชิต ขจัดพาลชน" แอดมินเพจดัง Drama-addict โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค รวมข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับ "โอไมครอน" ดังนี้

1. "โอไมครอน" เบากว่า "เดลตา" จริงหรือไม่
 

  • คำตอบ ตอนนี้ข้อมูลจากฝั่งแอฟริกาใต้ และยุโรป ค่อนข้างตรงกัน คือ ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการหนักน้อยกว่าเดลตาพอสมควร แต่มีความสามารถในการแพร่กระจายสูงกว่าเดลตามาก

2. "โอไมครอน" แพร่หนักกว่า "เดลตา" ขนาดไหน 

  • คำตอบ ของเดลตานี่ติดง่ายพอ ๆ กับหัด คือ จากหนึ่งคน สามารถแพร่เชื้อไปได้ 6-8 คน แต่ "โอไมครอน" แพร่ง่ายกว่าเดลตา และน่าจะแทนที่เดลตาเป็นสายพันธ์หลักในเวลาอันใกล้ (โคตรๆ) ตอนนี้ยังไม่เห็นค่า R0 ของ "โอไมครอน" แต่น่าจะไล่ ๆ หรือมากกว่าเดลตา
     

3. ถ้า "โอไมครอน" เบากว่า แปลว่าติดแล้วไม่ตายใช่มั้ย

  • คำตอบ ก็ไม่แน่ เพราะแม้ว่าจะมีรายงานว่าผู้ป่วยส่วนมาก อาการค่อนข้างเบากว่า "โควิด" แต่ยังมีกลุ่มที่อาการหนัก ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตด้วย แต่เท่าที่มีรายงานส่วนมากจะเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น สูงอายุ โรคประจำตัวเยอะ ดังนั้น กลุ่มนี้โปรดระวัง และรีบไปฉีดวัคซีนกันให้ไว

4. ถ้าฉีดวัคซีนจะไม่ติด "โอไมครอน" ใช่หรือไม่

  • คำตอบ ไม่ อันนี้เป็นสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงเดลตาแล้ว คือตั้งแต่ตอนนั้น ไม่ว่าคุณจะฉีดวัคซีนอะไร ก็ไม่สามารถป้องกันไม่ให้ติดโควิดได้ละ แต่มันช่วยป้องกันไม่ให้ตายจากการป่วยหนักได้ ดังนั้นตอนนี้ การฉีดวัคซีน คือเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ  แต่ปัญหาคือ หลาย ๆ ประเทศ เจอยอดผู้ติดเชื้อในกลุ่ม ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนสูงขึ้น และอัตราการแอดมิดในกลุ่มนี้ก็สูงด้วย บ้านเราก็มีปัญหาผู้สูงอายุยังฉีดวัคซีนกันน้อยอยู่ ถ้าไม่เร่งฉีดเพิ่ม กลุ่มนี้อาจป่วยหนักจากระลอกนี้ได้

5. แล้วฉีดวัคซีนสูตรไหนถึงจะกันมันได้

  • คำตอบ ตอนนี้ที่มีข้อมูลออกมาจะเป็นสูตรที่ฉีด mRNA วัคซีน ครบ 2 โดส แล้วบูทส์เตอร์โดส 3 จึงจะมีภูมิเพียงพอในการป้องกัน "โอไมครอน" ได้ ดังนั้น ไปฉีดบูทสเตอร์เป็น mRNA กันด่วน ๆ และไม่ว่าจะฉีดสูตรอะไรมา ไปฉีด mRNA ครับ ไม่ต้องกลัวพวกเฟคนิวส์มรณาบ้าบออะไรนั่นแล้ว

6. มีข่าวว่า คนที่ติด "โอไมครอน" แล้ว หลังหายจะมีภูมิสูงมากเหมือนได้รับวัคซีนจากธรรมชาติจริงหรือไม่ จะได้วิ่งแก้ผ้าไปหาผู้ติดเชื้อ

  • คำตอบ อย่าวิ่งแก้ผ้าไปหาผู้ติดเชื้อเด็ดขาด ไม่ต้องไปกระสันต์อยากติดเชื้อขนาดนั้น คือมันมีงานวิจัยว่า ในกลุ่มคนที่เคยฉีดวัคซีน และได้รับบูทสเตอร์แล้ว กลุ่มนี้ถ้าเกิดติด "โอไมครอน" หลังจากนั้น จะมีการกระตุ้นภูมิให้สูงมาก ๆ แต่ข้อมูลนี้ เฉพาะกลุ่มที่ฉีดวัคซีนและบูทสเตอร์แล้วเท่านั้น ดังนั้น ไปฉีดวัคซีนและบูทสเตอร์กันนะครับ

7.ชุดตรวจ ATK สามารถตรวจเจอ "โอไมครอน" ได้หรือไม่

  • คำตอบ อันนี้มีงานวิจัยจาก ศูนย์โรคไวรัสอุบัติใหม่เจนีวา เขาไปทดสอบประสิทธิภาพชุดตรวจ ATK ในการตรวจผู้ติดเชื้อโอไมครอน เบื้องต้นพบว่า ตรวจได้แต่ความไวของบางตัวก็ลดลง ดูเพิ่มเติมได้ในข่าวนี้

8. แล้วการที่มันติดง่ายมากแต่อาการไม่หนักมากนี่ จะส่งผลยังไงกับสถานการณ์ในบ้านเรา

  • คำตอบ อันนี้อยู่ที่แนวทางการแก้ไขสถานการณ์ ยกตัวอย่างที่แอฟริกาใต้ ที่นั่นมีเคสโอไมครอนเยอะ เขาก็ใช้วิธี ตรวจที่โรงพยาบาลอาการไม่หนัก หรือไม่มีอาการ ก็ให้กลับบ้านไปนอนดูอาการ พักผ่อน กินน้ำ กินข้าว แล้วนัดมาดูอาการ จนหาย ถ้าอาการแย่ลงก็แอดมิด ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดความแน่นของเตียงในโรงพยาบาล ลดการใช้ทรัพยากรลงได้ ช่วยให้ผู้ป่วยรายอื่น ๆ ทั้งจากโควิด และไม่ใช่โควิด เข้าถึงการรักษา แต่ถ้าเราแก้ไขตรงนี้ตามแบบแอฟริกาไม่ได้ แอดมิดเต็มพรืดไปหมด สถานการณ์ก็อาจจะคล้าย ๆ ช่วงกลางปีที่แล้ว ดังนั้น ตอนนี้คือวัดกึ๋นคนบริหารงานอย่างเดียวเลยครับ ถ้าบริหารจัดการทรัพยากรทางสาธารณสุขอย่างเหมาะสม เคสเขียว เคสแดง เคสเหลือง ได้รับการดูแลที่เหมาะสมกับระดับความรุนแรงของโรค ใช้ทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่า และเหลือใช้กับเคสที่หนัก ๆ เราก็จะรอด ถ้ามั่วซั่วก็บรรลัยครับ

9. แล้ววิธีป้องกันแตกต่างจากเดลตามั้ย

  • คำตอบ เหมือนกันทุกประการครับ เรื่องหน้ากาก ก็ใส่ตามปกติ คือออกนอกบ้าน ให้ใส่หน้ากากอนามัยชั้นนึง ทับด้วยหน้ากากผ้าอีกชั้นนึง ใส่ให้ถูกวิธี นอกจากจะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ สมมุติซวยติดเชื้อขึ้นมา หน้ากาก ก็จะช่วยลดจำนวนไวรัสที่ร่างกายเราจะได้รับ จากพวกละอองฝอยน้ำลายไปเยอะ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยหนักได้ระดับนึง

สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านโชคดี ยอดผู้ติดเชื้อน่าจะไต่ขึ้นไปสูงสุดแถว ๆ 2-3 สัปดาห์หลังปีใหม่ สถานการณ์เป็นไงต้องติดตามกันไปยาว ๆ จนกว่าจะถึงตอนนั้นครับ

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/499787?adz=

"โอไมครอน" เตรียมหนาว หลังทาง CEO ของไฟเซอร์ ออกมาให้ข้อมูลว่า วัคซีนสูตรใหม่นี้คิดค้นขึ้นมาเพื่อไวรัสสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะ ยืนยัน พร้อมใช้งานมีนาคมนี้

เกาะติด "โอไมครอน" หรือ โอมิครอน (Omicron) โควิดสายพันธุ์ใหม่ ล่าสุด เตรียมรับข่าวดี หลัง CEO ของไฟเซอร์ Albert Bourla กล่าวกับสำนักข่าวต่างประเทศว่า ตอนนี้ไฟเซอร์ดำเนินการผลิตวัคซีนสูตรใหม่แล้ว เนื่องจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของโอไมครอนแพร่กระจายในหลายประเทศ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เองก็ต้องการวัคซีนสูตรนี้เป็นอย่างมาก เพื่อสกัดการแพร่ระบาดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ประกอบกับผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วแต่ก็ยังไม่รอดจากสายพันธุ์นี้ด้วย

 

วัคซีนสูตรใหม่นี้ คาดว่าจะพร้อมใช้งานภายในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ วัคซีน 2 เข็ม และเข็ม 3 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังมีประสิทธิภาพอยู่ ซึ่งจะช่วยลดอัตราการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อ "โอไมครอน" ได้ 

ในขณะที่วัคซีนสูตรใหม่นี้ เป็นวัคซีนที่พุ่งเป้าไปจัดการโอไมครอนโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยป้องกันเคสติดเชื้อหลังจากการฉีดวัคซีน (breakthrough infections) ที่อาจจะติดเชื้อแล้วมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการเลยได้

ในขณะที่ CEO ของโมเดอร์นา Stephane Bancel เองก็ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมาว่า ทางบริษัทกำลังพัฒนาเข็มกระตุ้นที่อาจจัดการกับ "โอไมครอน"  และสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่อื่น ๆ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง 2022

ทั้งนี้ อิสราเอลได้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์ โดสที่ 4 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป, กลุ่มบุคลากรการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 เกิน 4 เดือน และกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องแล้ว ซึ่งหลังจากการฉีดโดสที่ 4 พบว่า แอนติบอดี้เพิ่มขึ้นมากถึง 5 เท่าเลยทีเดียว

ข้อมูล : CNBC

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/hot-social/500687?adz=

"โอไมครอน" ติดเชื้อซ้ำ เร็วสุด 20 วัน ฉีดวัคซีน ไม่ต้องรอถึง 3 เดือน 

"โอไมครอน" Omicron เปิดข้อมูลใหม่ ติดเชื้อซ้ำ เร็วกว่าเดิม 20 วัน ก็ติดได้ "หมอมานพ" แนะ ไม่ต้องรอ 3 เดือนถึง ฉีดวัคซีน ซ้ำ

(9 ก.ค.65) "หมอมานพ" ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะ​แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ manopsi ให้ความรู้เรื่อง โควิด กับการ ติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะสายพันธุ์ โอไมครอน Omicron BA.4 / BA.5 ระบุว่า 

ช่วงนี้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก BA.4/BA.5 อย่าแปลกใจเมื่อพบว่า คนรอบตัวเราหลายคนที่ติดหนนี้ ไม่ใช่การติดเชื้อครั้งแรก การติดเชื้อซ้ำไม่ใช่เรื่องแปลก นับตั้งแต่ยุค original "โอไมครอน" Omicron ระบาด เพราะเชื้อดื้อภูมิมากอยู่แล้ว สายพันธุ์ใหม่ยิ่งดื้อกว่าอีก

 

เทรนด์นี้ เรามาว่ากันเรื่องการ ติดเชื้อซ้ำ 

การติดเชื้อซ้ำในยุค โอไมครอน Omicron เพิ่มสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกับการติดเชื้อ หลังได้วัคซีนครบ 2 เข็ม (breakthrough infection) เป็นเหตุให้ต้องมีการฉีด boosyer กันขนานใหญ่ สิ่งสำคัญในรายงานยุค Omicron คือการติดเชื้อซ้ำเกิดเร็วขึ้น สามารถพบได้ 20 วัน หลังติดหนก่อน

ข้อมูลข้างต้น เป็นข้อมูลสนับสนุนว่า คำแนะนำที่บอกว่า คนที่ติดเชื้อแล้วต้องรอ 3 เดือน จึงฉีดวัคซีนได้ เป็นข้อมูลล้าสมัย การทิ้งระยะแบบนั้นในยุค โอไมครอน และ BA.4/5 ระบาด ทำให้คนมีโอกาสติดเชื้อซ้ำก่อนได้วัคซีนเพิ่มขึ้นอีก และต้องย้ำอีกทีว่า การติดเชื้อซ้ำไม่ใช่เรื่องดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะพบว่า ผู้ที่ติดเชื้อซ้ำมีโอกาสป่วยหนัก หรือเสียชีวิต มากกว่าผู้ติดเชื้อแค่หนเดียวอยู่ดี

ดังนั้น การติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะจากโอไมครอน ไม่ใช่วัคซีนเข็มกระตุ้นธรรมชาติ อย่างที่เขาหลอกลวง

โอไมครอน ติดเชื้อซ้ำ เร็วกว่าเดิม

 

โอไมครอน ติดเชื้อซ้ำ เร็วกว่าเดิม

เหตุสำคัญของการติดเชื้อซ้ำ

  1. เชื้อสายพันธุ์ใหม่มีการกลายพันธุ์บน spike ที่ต่างจากเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ภูมิหรือ antibody ที่เกิดจากการติดเชื้อก่อนหน้านี้หรือจากวัคซีนมีผลยับยั้งเชื้อได้น้อยลง
  2. เวลาผ่านไประดับภูมิที่เรามีลดลงไปเรื่อย ๆ ทำให้มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้

นอกจากนี้ผู้ที่ติดเชื้อในยุค Omicron เป็นต้นมา โดยเฉพาะที่ติดหลังได้รับวัคซีนแล้วอาการจะน้อยมากและมักสร้างภูมิหรือ antibody น้อยมาก หรือไม่สร้างเลย ข้อมูลเก่าพบว่า คนติดเชื้อจะมีภูมิสูง พอที่จะป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ในระยะ 3 เดือน แต่ปัจจุบันไม่เป็นจริง

หมอมานพ ยังระบุว่า แม้การติดเชื้อซ้ำไม่ใช่เรื่องน่ายินดี แต่อย่างน้อย ข่าวดีของผู้ติดเชื้อซ้ำ คือโอกาสป่วยหนัก เสียชีวิต ลดลงมาก คือโอกาสป่วยหนัก นอนโรงพยาบาลลดลง 90% และถ้านอนโรงพยาบาล โอกาสเสียชีวิตลดลง 60% เทียบกับคนที่ติดครั้งแรก

เมืองไทยมีสถิติเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ เพราะไม่มีการรวบรวมข้อมูล ยิ่งยุคที่ยอดรายงานต่ำกว่าความจริงมากแบบนี้ ยิ่งไม่มีทางรู้ข้อมูลจริง ข้อมูลจาก UK พบว่าราว 1/4 ของคนติดเชื้อใหม่เป็นการติดเชื้อซ้ำ

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/521821?adz=

 

"โอไมครอน" ทำคนเข้า ICU พุ่ง 2 เท่า ไม่ฉีดวัคซีน แถมอายุน้อยลง-ไร้โรคประจำตัว
 
 

"หมอเฉลิมชัย" เผยข้อมูล "โอไมครอน" ในแคนาดา ทำคนเข้า ICU พุ่ง 2 เท่า ส่วนใหญ่ไม่ฉีดวัคซีน แถมอายุน้อยลง และไม่มีโรคประจำตัว

เกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ค Chalermchai Boonyaleepun ระบุว่า ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนโควิด ป่วยหนักจนต้องเข้าไอซียู มากกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนสูงมากถึง 4-15 เท่าตัว นับเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงในการป่วยหนักจากโควิด เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า วัคซีนสามารถป้องกัน หรือลดการติดโควิดได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด และการลดการติดเชื้อนั้น น้อยกว่าการลดการป่วยหนัก หรือการเสียชีวิต จึงมักมีคำถามอยู่เสมอว่า แล้วผู้ที่ฉีดวัคซีนจะช่วยลดการป่วยหนัก หรือการเสียชีวิตได้มากกว่าผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนสักกี่เท่าตัว ผู้เขียนลองพยายามรวบรวมตัวเลขจากประเทศแคนาดา โดยเฉพาะในรัฐ Ontario พบตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้

"โอไมครอน" ทำคนเข้า ICU พุ่ง 2 เท่า ไม่ฉีดวัคซีน แถมอายุน้อยลง-ไร้โรคประจำตัว

 

หลังจากที่มีการระบาดของไวรัส "โอมิครอน" ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ติดเชื้อได้ง่าย แต่ติดแล้วมักจะมีอาการไม่รุนแรงมากนัก แคนาดาก็พบความจริงว่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าระลอกที่แล้ว ซึ่งเกิดจากเดลตาเป็นจำนวนมาก แต่ที่คาดว่าจะพบผู้ป่วยหนักในไอซียูน้อยลง กลับไม่เป็นความจริง ขณะนี้โรงพยาบาลในแคนาดาหลายแห่ง เช่น Toronto General มีผู้ป่วยหนักเข้าไอซียูจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม พบผู้ป่วยที่เป็นโควิดแล้วเข้าไอซียูเพิ่มเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับ 2 สัปดาห์ก่อนหน้า ที่น่าสนใจคือ ในผู้ป่วยหนักที่เข้าไอซียูนั้น ส่วนใหญ่หรือ 70% เป็นคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และพบคนที่ไม่มีโรคประจำตัว และอายุน้อยลง คืออยู่ในช่วง 20-40 ปีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่แคนาดา มีผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเพียงแค่ 13% ฉีดวัคซีนแล้ว 87% คิดเป็นผู้ฉีดวัคซีนมากกว่า 6.7 เท่า ในไอซียูพบผู้ฉีดวัคซีนแล้วเพียง 30% และไม่ได้ฉีดวัคซีนสูงถึง 70% คิดเป็นความแตกต่าง 2.3 เท่า

เมื่อนำมาคำนวณแล้วพบว่า คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเข้าไอซียูมากกว่าคนที่ฉีดวัคซีน 15.6 เท่า  ( 6.7 × 2.3 เท่า) ในขณะเดียวกันการเก็บตัวเลขในเขต Ontario คนที่นอนไอซียู 343 ราย พบว่าฉีดวัคซีน 167 ราย ไม่ได้ฉีดวัคซีน 176 ราย เมื่อคิดสัดส่วนของจำนวนผู้ฉีดวัคซีน ที่มีมากกว่าถึง 6.7 เท่า จึงทำให้พบว่า คนไม่ฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงเข้าไอซียูมากกว่า 6.7 เท่า และพบว่าจำนวนผู้ที่ต้องนอนโรงพยาบาลจากป่วยเป็นโควิด ในเขต Ontario  เป็นกลุ่มที่ฉีดวัคซีน 171 รายต่อล้านประชากร ในขณะที่เป็นกลุ่มไม่ฉีดวัคซีน 762 รายต่อล้านประชากร ซึ่งสูงกว่ากันถึง 4.5 เท่า จนหมอแคนาดาบอกว่า เดิมก็ทราบกันอยู่ว่า โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดโควิดแล้วป่วยหนัก แต่ขณะนี้ต้องนับปัจจัยไม่ยอมฉีดวัคซีน เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงอีกอันหนึ่ง ที่ทำให้ป่วยหนักจากโควิด เพราะพบกลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีนต้องเข้าไอซียูเพราะป่วยหนักมากกว่า 4-15 เท่าตัว

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/502527?adz=

 
"โอไมครอน" ระยะเวลาแพร่กระจายโรคอยู่นานกี่วัน พบเชื้อสูงสุด 3 จุดในร่างกาย 

"หมอยง" ไขข้อข้องใจ "โอไมครอน" ระยะเวลาแพร่กระจายโรค อยู่นานกี่วัน พบเชื้อสูงสุด 3 จุดในร่างกาย แถมระยะฟักตัวสั้น ต้องกักตัวกี่วัน กลับมาใช้ชีวิตปกติ

อัปเดตโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วอยู่ในขณะนี้ ทำให้ยังพบตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นรายวัน และด้วยคุณสมบัติของ "โอไมครอน" ที่ไม่ค่อยแสดงอาการ และมีระยะฟักตัวสั้น ทำให้หลายคนเกิดข้อกังวล ว่าระยะเวลาใด ที่พบการติดเชื้อ เมื่อตรวจ ATK


"หมอยง" ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ Yong Poovorawan หัวข้อ "สายพันธุ์โอมิครอน" ระยะติดต่อของโรค ระบุว่า เดิมเรามีการกักตัวผู้ติดเชื้อ หรือสัมผัสโรคนานถึง 14 วัน เมื่อเข้าสู่ยุค "โอมิครอน" และส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว มีภูมิต้านทาน ทำให้ระยะเวลาในการแพร่กระจายโรค หรือติดเชื้อสั้นลง

การศึกษาในญี่ปุ่น คลิกอ่านต้นฉบับ  การติดเชื้อสายพันธุ์ "โอมิครอน" ตรวจพบเชื้อได้สูงสุดในน้ำลาย ลำคอ หรือโพรงจมูกในช่วง  2 - 5 วัน หลังตรวจพบ หรือมีอาการ เชื้อจะลดลงอย่างรวดเร็ว ระยะแพร่กระจายโรคจะอยู่นาน 6-9 วัน 

"หมอยง" ระบุว่า การติดต่อของโรคจะเกิดได้สูงในช่วง 7 วันแรก โดยเฉพาะ 2 ถึง 5 วัน หลังตรวจพบหรือมีอาการของโรค การกักตัวในระยะหลัง จึงมีแนวโน้มสั้นลง มาอยู่ที่ 7 วัน ก็สามารถออกจากการกักตัว และให้ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในการป้องกันการแพร่กระจายโรค เช่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกนอกบ้าน อยู่ให้ห่างจากบุคคลอื่น ล้างมือลดการจับต้อง เป็นเวลาอย่างน้อยอีก 3 วัน เราจะต้องอยู่กับ covid19 ตลอดไป แนวทางการปฏิบัติตนจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุและผล เพื่อให้การกระทบต่อชีวิตประจำวันให้น้อยที่สุด

เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ ที่ "หมอมนูญ" นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ระบุว่า เชื้อสายพันธุ์ "โอมิครอน" มีระยะฟักตัวสั้นมากเพียง 2-3 วัน ระหว่างอยู่ในระยะฟักตัว คนที่รับเชื้อสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นตั้งแต่วันที่ 2 หลังรับเชื้อ ก่อนหน้าที่จะมีอาการ 1-2 วัน และคนที่ได้รับวัคซีนครบโดส และได้เข็มกระตุ้น จะแพร่เชื้อหลังมีอาการอีกประมาณ 5 วัน ส่วนคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนอาจแพร่เชื้อหลังมีอาการได้นานกว่านั้น 

เพราะฉะนั้นกว่าคนที่รู้ตัวว่าติดเชื้อไวรัสโควิดโดยการตรวจ ATK ได้แพร่เชื้อให้คนอื่นในบ้านไปแล้วอย่างน้อย 2-3 วัน โดยที่ไม่ได้มีการป้องกันตัวเองไม่ให้แพร่เชื้อให้คนอื่นเลย เมื่อทราบว่าตนเองติดเชื้อ ก็เหลือเวลาที่จะแพร่เชื้อให้คนอื่นในบ้านได้อีกประมาณ 3-4 วันเท่านั้น 

"โอไมครอน" ระยะเวลาแพร่กระจายโรคอยู่นานกี่วัน พบเชื้อสูงสุด 3 จุดในร่างกาย

 

ช่วงนี้ถ้าป้องกันตัวเองดี ๆ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่นั่งทานอาหารกับผู้อื่น อยู่ห่าง ๆ ผู้อื่น อย่าอยู่ในห้องปรับอากาศ เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ใช้ห้องน้ำแยกกับผู้อื่น แยกทิ้งขยะกับผู้อื่น หมั่นล้างมือเมื่อมือเปื้อนละอองน้ำมูกและเสมหะ โอกาสแพร่เชื้อให้คนในบ้านจะลดลงมาก จึงเป็นที่มาว่า ทำไมผมแนะนำให้กักตัวที่บ้าน แทนที่จะมานอนกักตัวในโรงพยาบาล ฮอสพิเทล หรือศูนย์พักคอยในชุมชน หลังจากที่ไม่มีอาการแล้ว ให้ตรวจ ATK ซ้ำ 5 วันหลังครั้งแรก ถ้าให้ผลลบ สามารถออกนอกบ้านได้ แต่ยังต้องใส่หน้ากากอนามัยต่อไปจนครบ 10 วัน

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/508630?adz=

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ