"โอไมครอน" แพร่เชื้อไว ไทยประมาท ทำเด็กโคม่าเยอะ เจอ Long COVID ซ้ำ
 
 

"โควิด" ระบาดหนัก พบทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อแล้ว 489,523,949 คน หมอธีระ มองไทยประมาท "โอไมครอน" ส่งผลให้เด็กป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊ค Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) โดยระบุถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด "โควิด" ซึ่งเมื่อวานทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงถึง 1,225,510 คน ตายเพิ่ม 3,578 คน รวมจำนวนผู้ติดเชื้อ 489,523,949 คน เสียชีวิตรวม 6,170,351 คน

โดย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อ "โควิด" สูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรเลีย ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลกจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรปรวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.21 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 74.81 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 33.22 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 27.69 โดยสถานการณ์ระบาดของไทยเมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก

ล่าสุด Wang L และคณะได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยเปรียบเทียบให้เห็นเรื่องความรุนแรงของ "โอไมครอน" และ "เดลตา" ในเด็กเล็กน้อยกว่า 5 ปี ลงใน JAMA Pediatrics เมื่อวานนี้ 1 เมษายน 2565 พบว่า "โอไมครอน" นั้นรุนแรงน้อยกว่า "เดลตา" เพราะมีความเสี่ยงที่จะไปรับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินลดลง 16%, เสี่ยงต่อการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลลดลง 34%, เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงจนต้องเข้าไอซียูลดลง 65%, และเสี่ยงต่อการใส่ท่อช่วยหายใจลดลง 85% แต่ตัวเลขข้างต้น หากอ่านเผินๆ ด้วยกิเลสและความประมาท จะทำให้เข้าใจผิด ไม่กลัว "โอไมครอน"

ข้อมูลสำคัญที่ต้องรู้คือ "โอไมครอน" ทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่เชื้อไวกว่า "เดลตา" และมากกว่าถึง 7 เท่า ตัวเลขข้างต้นสูงมาก จึงไม่แปลกใจที่สุดท้ายแล้วตัวเลขผู้ป่วยเด็กที่ต้องไปรับการรักษาที่แผนกฉุกเฉิน นอนโรงพยาบาล เข้าไอซียู และใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงเสียชีวิตจึงมากกว่าเดิม นี่คือสถานการณ์จริงที่เราเห็นได้จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีการระบาดหนัก 

นอกจากเรื่องติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตแล้ว สิ่งที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วโลกหนักใจคือ แม้รักษาหายในช่วงแรกที่ติดเชื้อแล้ว ผู้ที่เคยติดเชื้อ "โควิด" มาก่อนจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวที่เรียกว่า "Long COVID" ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ทั้งเรื่องความคิดความจำ อารมณ์ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และอื่นๆ จนนำไปสู่ความพิการ ทุพลภาพ ส่งผลกระทบทั้งต่อคนที่ป่วย ครอบครัว และสังคมได้อีกด้วย ดังนั้นไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

อ้างอิง
Wang L, Berger NA, Kaelber DC, Davis PB, Volkow ND, Xu R. Incidence Rates and Clinical Outcomes of SARS-CoV-2 Infection With the Omicron and Delta Variants in Children Younger Than 5 Years in the US. JAMA Pediatr. Published online April 01, 2022.

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/510167?adz=

 
"โอไมครอน" โควิดร้าย หยุดได้ที่ปลายจมูก กุญแจสำคัญป้องกันติดเชื้อ
 
 
 

"โอไมครอน" โควิดร้าย หยุดได้ที่ปลายจมูก "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" เปิดกุญแจสำคัญป้องกันการติดเชื้อ ไม่ให้ลุกลามลงปอด

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  สรุปสถานการณ์การระบาดของเชื้อ "โอไมครอน" ชี้ให้เห็นว่า การได้รับวัคซีน 3 หรือ 4 เข็ม ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แม้ว่าจะช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเป็นเพราะวัคซีนแบบฉีด จะไปกระตุ้นการผลิตแอนติบอดีในเลือด เพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสที่เข้ามาภายในร่างกายแล้ว วิธีป้องกันให้ได้ผลมากกว่า น่าจะเป็นการป้องกันจุดที่ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกาย ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาวัคซีนรูปแบบต่าง ๆ จนนำไปสู่การผลิต "วัคซีนพ่นจมูก" ที่อาจกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่แท้จริงในสงครามโควิด-19

"โอไมครอน" โควิดร้าย หยุดได้ที่ปลายจมูก กุญแจสำคัญป้องกันติดเชื้อ

ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า "วัคซีนพ่นจมูก" มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิดีกว่าแบบฉีด ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชากรได้เร็วกว่า ลดการแพร่กระจายของเชื้อดีกว่า และยังใช้ง่ายกว่า นักวิจัยเชื่อว่า วัคซีนแบบพ่นจมูกนี้ อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ สามารถป้องกันไวรัสได้ตรงจุด นั่นก็คือเยื่อบุทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นด่านแรกที่ไวรัสโคโรนาจะผ่านเข้าสู่ร่างกาย เปรียบเสมือนการวางทหารรักษาการที่ประตูเพื่อสกัดผู้บุกรุก เมื่อเทียบกับวัคซีนแบบฉีดที่เป็นการวางกองกำลังขับไล่ข้าศึกที่รุกล้ำเข้ามาถึงตัวแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนแบบพ่นจมูกที่อยู่ระหว่างการพัฒนาไม่น้อยกว่า 12 ตัวทั่วโลก

 

"โอไมครอน" โควิดร้าย หยุดได้ที่ปลายจมูก กุญแจสำคัญป้องกันติดเชื้อ

"วัคซีนพ่นจมูก" จะป้องกันพื้นผิวเยื่อเมือก (mucosal vaccine) ของจมูก ปาก และลำคอ ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของไวรัสได้ดีมากกว่าวัคซีนแบบฉีด

ดร.มิชาล ทาล (Michal Tal) นักภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันของเยื่อเมือกมีความสำคัญมาก สำหรับการป้องกันการติดเชื้อ ผู้ที่ติดเชื้อมักจะมีภูมิคุ้มกันของเยื่อเมือกที่แข็งแรงขึ้น นั่นอาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 ถึงมีภูมิต่อต้านเชื้อเดลตา มากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน

นักวิจัยทำการทดลองให้วัคซีนกระตุ้นภูมิทางจมูกกับสัตว์ทดลองหลายชนิด ได้แก่หนู แฟร์ริต หนูแฮมสเตอร์และลิง ผลการวิจัยพบว่า วัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันไวรัสโคโรนา ได้หลากหลายสายพันธุ์

ศ.อากิโกะ อิวาซากิ นักภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล ผู้เป็นหัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า "วัคซีนพ่นจมูก" กระตุ้นเซลล์หน่วยความจำภูมิคุ้มกัน และแอนติบอดีในจมูกและลำคอ ช่วยเสริมการป้องกันจากการฉีดวัคซีนปฐมภูมิ โดยวัคซีนแบบพ่นจมูกจะผลิตแอนติบอดีที่เรียกว่า IgA บนผิวเยื่อเมือก ซึ่งการพ่นวัคซีนเป็นฝอยละออง จะสามารถเคลือบระบบทางเดินหายใจทั้งหมด รวมทั้งปอด ไม่ใช่แค่เพียงปลายจมูกและลำคอเท่านั้น วัคซีนแบบพ่นจมูกจึงเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ 
สอดคล้องกับการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแบบฉีดครบ 2 โดสแล้ว บางรายมีแอนติบอดี IgA เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อขั้นรุนแรงได้

ปัจจุบัน การฉีดวัคซีนโควิดเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อฝึกเซลล์ภูมิคุ้มกันให้ผลิตแอนติบอดี IgG ไหลเวียนอยู่ในเลือดเพื่อรับมือกับไวรัส ซึ่งแม้จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงและการเสียชีวิตได้ แต่ก็เป็นภูมิชั่วคราวและอาจจะไม่ทันต่อการกลายพันธุ์ของไวรัส และที่สำคัญคือแอนติบอดี IgG ยังเดินทางไปไม่ถึงจมูกและลำคอ การฉีดเข็มกระตุ้นภูมิจึงยังเป็นเรื่องจำเป็น นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนยังต้องอาศัยอุปกรณ์ทางการแพทย์และอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนเข็ม และกระบอกฉีดยาได้ ดังนั้น วัคซีนแบบพ่นจมูกอาจจะเป็นอาวุธที่ช่วยให้เรายุติสงครามโรคโควิด-19 เร็วขึ้น

"โอไมครอน" โควิดร้าย หยุดได้ที่ปลายจมูก กุญแจสำคัญป้องกันติดเชื้อ
 

 
"โอไมครอน" ใกล้ไข้หวัด แต่เจออาการแบบนี้แม้ผลเป็นลบใน 48 ชม.หาหมอทันที 

กรมการแพทย์ แนะ โควิด "โอไมครอน" ใกล้เคียงไข้หวัด แต่หากเจออาการแบบนี้ แม้ตรวจ ATK ผลเป็นลบ ต้องหาหมอทันที อาจเจอโรคอื่น

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการของผู้ป่วยโควิดในปัจจุบันที่เป็นสายพันธุ์ "โอมิครอน" หรือ "โอไมครอน" ขณะนี้ส่วนใหญ่ 50% ไม่มีอาการ ส่วนผู้ที่มีอาการ แบ่งเป็น

  • ไอ และเจ็บคอ 50%
  • อ่อนเพลีย เป็นไข้ 30-40%
  • ถ่ายเหลว 10% 

"โอไมครอน" ใกล้ไข้หวัด แต่เจออาการแบบนี้แม้ผลเป็นลบใน 48 ชม.หาหมอทันที

ทั้งนี้ อาการโควิดใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดแล้ว แต่ช่วงนี้ที่ต้องระวังเพิ่มขึ้น อาจจะเจอ "โรคไข้เลือดออก" ได้ ซึ่งจะมีอาการไข้ และอ่อนเพลียเหมือนกัน หากสงสัยว่าตัวเองมีอาการคล้ายไข้หวัด หรือแม้แต่ถ่ายเหลว เบื้องต้นให้ตรวจ ATK ได้ทันที หากเป็นผลลบ ก็ให้สังเกตอาการตัวเองใน 48 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ดีขึ้น 
ให้ไปโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการโรคอื่น ๆ เช่น ไข้เลือดออก

"โอไมครอน" ใกล้ไข้หวัด แต่เจออาการแบบนี้แม้ผลเป็นลบใน 48 ชม.หาหมอทันที

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการป้องกันติดเชื้อสูงสุด ติดเชื้อแล้วก็ต้องกักตัวเอง เพราะแม้จะไม่มีอาการรุนแรง แต่หากไปพบคนอื่นที่ภูมิต้านทานน้อย มีโรคร่วมก็จะมีความเสี่ยง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการดูแลผู้ติดโควิดแบบผู้ป่วยนอก (OPD) พื้นที่ กทม. โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ใน กทม. เช่น โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลเลิดสิน, โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี รองรับผู้ติดเชื้อได้วันละ 1,000 ราย ทั้งจาก

  1. คลินิกโรคไข้หวัด (ARI Clinic) ซึ่งผู้ติดเชื้อ 70% เลือกรักษาแบบ OPD และอีก 20-30% เลือกรักษาแบบ HI 
  2. การออก QR Code เพื่อให้ผู้ป่วยเก่าส่งต่อให้ผู้อื่นเพื่อเข้าระบบบริการ สัดส่วนเลือกรักษาแบบ OPD 60% และรักษา HI อีก 30-40% อย่างไรก็ตาม เรากำลังทำ QR Code ส่วนกลางขึ้นมาแบ่งเบาภาระสายด่วน 1330 ให้ได้วันละ 1-2 พันราย

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/508141?adz=

"โอไมครอน" ไม่จบแค่หายหรือตาย พบเชื้อโควิดเพิ่ม 2 จุด ในผู้ป่วยลองโควิด 

หมอธีระ เผย "โอไมครอน" ไม่จบแค่หายหรือตาย ผลวิจัยล่าสุด พบเชื้อ "โควิด19" อีก 2 จุด ในผู้ป่วยลองโควิด แนะป้องกันตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) เปิดเผยถึง สถานการณ์ระบาด "โอไมครอน" เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 479,376 คน ตายเพิ่ม 1,312 คน รวมแล้วติดไป 536,995,931 คน เสียชีวิตรวม 6,324,784 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ไต้หวัน เกาหลีเหนือ ฝรั่งเศส บราซิล และเยอรมัน

สำหรับไทยนั้น จำนวนติดเชื้อที่รายงานไม่สามารถนำมาใช้เปรียบเทียบกับประเทศอื่นได้ เพราะหลัง 1 มิ.ย. มีการประกาศปรับมารายงานเพียงจำนวนคนป่วย ไม่ใช่รายงานการติดเชื้อใหม่ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 16 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย

 
 

ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 9.25% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย หากปรับตามคาดประมาณสัดส่วนของคนที่มีโรคร่วมเหมือน UK จะพบว่าคิดเป็น 12.71%

ล่าสุดทีมวิจัยจากสิงคโปร์และสเปน รายงานใน Research Square วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ตรวจพบเชื้อไวรัสโรค โควิด19 ได้ในไส้ติ่ง และเนื้อเยื่อเต้านม ของผู้ป่วยที่มีอาการ Long COVID ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 15 เดือน โดยพบสารพันธุกรรมของไวรัส ที่เป็น replicative intermediate ซึ่งบ่งถึงกระบวนการแบ่งตัวของไวรัสที่ดำเนินอยู่

งานวิจัยนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า หลังติดเชื้อโรค โควิด19 แล้ว ไม่ได้จบแค่หายหรือตาย แต่อาจเกิดภาวะผิดปกติระยะยาว เกิด Long COVID ที่ทำให้เกิดอาการต่างๆ ในหลากหลายอวัยวะ หลากหลายระบบ โดยกลไกหนึ่งที่เป็นไปได้สูงคือ การมีการติดเชื้อไวรัสแฝงระยะยาวในเซลล์ของร่างกาย

การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอนั้นสำคัญมาก ใครจะให้ Move on ถอดหน้ากากทิ้ง ทั้งๆ ที่สถานการณ์ระบาดของไทยยังติดอันดับโลกทั้งติดเชื้อและเสียชีวิต (แม้จะพยายามเปลี่ยนระบบรายงานตัวเลขให้ลดลงไปดังที่เป็นข่าวรับทราบกันมาตลอดก็ตาม) ก็ขอให้ประชาชนไตร่ตรองให้ดี

บทเรียนสองปีที่ผ่านมา ติดเชื้อจำนวนมาก ป่วยมาก ตายกันมาก สูญเสียสมาชิกครอบครัว เสียหายทั้งกาย ใจ และเศรษฐกิจกันมหาศาล คนแบกรับความทุกข์ทรมานคือคนที่ประสบปัญหาโดยตรง คนในสังคมต้องดิ้นรนหายา หาการตรวจ สนับสนุนกันเองเพื่อให้รอดจากวิกฤติ การใส่หน้ากากในสถานการณ์ปัจจุบันจึงยังเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพื่อให้ผ่านพ้นการระบาดไปด้วยกันอย่างปลอดภัย

อ้างอิง
Goh D et al. Persistence of residual SARS-CoV-2 viral antigen and RNA in tissues of patients with long COVID-19. Research Square. 7 June 2022.

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/hot-social/518174?adz=

"โอไมครอน"สายพันธุ์ย่อยระบาดหลายปท.ติดเชื้อเพิ่ม พบ ลองโควิด ทำศก.แย่ 

การแพร่ระบาดของ "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อยในหลายประเทศ ส่งผลให้พบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม ขณะที่ "Long COVID" ส่งผลให้เศรษฐกิจมีปัญหา

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) เปิดเผยถึงการแพร่ระบาดของ "โอไมครอน" ภาพรวมในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย แอฟริกา และโอเชียเนีย มีจำนวนติดเชื้อเพิ่มขึ้นกันตั้งแต่ 10-46% ซึ่งหลายประเทศจะเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ สายพันธุ์ย่อยโอไมครอน ได้แก่ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ในขณะที่ทวีปแอฟริกาและโอเชียเนียนั้นมีจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ทวีปอื่นยังมีแนวโน้มลดลง

มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียจาก Long COVID

Culter D ได้เผยแพร่บทความวิชาการวิเคราะห์เรื่องนี้ใน JAMA Forum วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาคาดประมาณว่าสหรัฐอเมริกาจะมีผู้ป่วยที่ประสบปัญหา ลองโควิด โดยมีอาการผิดปกติตั้งแต่ 3 อาการขึ้นไป อย่างน้อย 9.6 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนคนที่เสียชีวิตจาก โควิด19 ถึง 10 เท่า

เคยมีการสำรวจชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้ที่ประสบปัญหา Long COVID นั้น มีถึง 44% ที่ไม่สามารถทำงานได้ และ 51% ต้องจำกัดระยะเวลาทำงานลงเมื่อประเมินภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ คาดว่าจะทำให้แรงงานต้องออกไปจากระบบมากกว่า 1,000,000 คน ทำให้แรงงานเหล่านั้นสูญเสียรายได้ไปอย่างน้อยปีละ 50,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

ภาวะลองโควิด มีหลากหลายอาการ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้อย่างครบถ้วนในเวลาอันสั้น แต่หากดูอาการที่พบบ่อย เช่น อ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าอย่างเรื้อรัง ซึ่งหากพิจารณาค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเทียบเท่ากับโรค Chronic fatigue syndrome ก็จะยังมีค่าใช้จ่ายสูงราวคนละ 9,000 ดอลล่าร์ต่อปี แต่หากเป็นโรคอื่นที่รุนแรง ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาท ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านี้มาก

ทั้งนี้จึงเห็นได้ว่า ผลกระทบจะไม่หยุดอยู่แค่การขาดแคลนแรงงาน การขาดรายได้จากการทำงานของแต่ละคน แต่จะส่งผลกระทบต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาภาวะ Long COVID และค่าชดเชยหรือสวัสดิการสังคมต่างๆ ที่ต้องช่วยเหลือ ทำให้มีการประเมินมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจาก Long COVID ที่อาจสูงถึง 2.6 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ

สำหรับประเทศไทยนั้น ส่วนตัวแล้วประเมินว่า หากพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานทางการ (RT-PCR) รวมกับจำนวนที่ตรวจ ATK แล้ว จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงราว 5-6 ล้านคน แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปแล้วและหวังว่าจะมีผลในการลดความเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ได้บ้าง ก็ยังอาจมีผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID ราว 600,000-1,200,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก และจำเป็นต้องมีการเตรียมระบบรองรับ ทั้งเรื่องการดูแลรักษา ให้คำปรึกษา และระบบสนับสนุนทางสังคมต่างๆ

การให้ความรู้อย่างทันท่วงทีแก่ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้ตระหนักว่าปัญหา Long COVID นั้นมีอาการมากมายหลายหลายระบบของร่างกาย เรื้อรัง แนะนำวิธีประเมินสถานะสุขภาพของตนเอง และแนวทางการเข้าถึงบริการ ควรมีระบบเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาใช้วางแผนนโยบายและมาตรการในอนาคตและที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้ประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์ระบาดว่ายังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กระจายทั่ว การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน ค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเป็นกิจวัตรใส่หน้ากากนะครับ เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
โควิด...ติด...ไม่ใช่แค่คุณ
โควิด...ไม่จบที่หายและตาย แต่ที่ทรมานระยะยาวคือ Long COVID

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/514906?adz=

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ