‘โควิด-19 กลายพันธุ์’ อุปสรรคร้ายต่อ 'พัฒนาวัคซีนต้านไวรัส'
 

นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ลอส อลาโมส (แอลเอเอ็นแอล) หนึ่งในห้องปฏิบัติการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก สังกัดกระทรวงพลังงานสหรัฐ เปิดเผยว่า  ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อกว่า 4 เดือนที่แล้ว ได้กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อได้ไวขึ้นและกำลังระบาดหนักในสหรัฐ

ผลการศึกษาชิ้นใหม่ของห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ลอส อลาโมส ความยาว 33 หน้า ได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ bioRxiv(ไบโออาร์ไคฟ) คลังเอกสารวิชาการออนไลน์ด้านชีววิทยา ระบุว่าไวรัสโคโรน่าที่กลายพันธุ์เริ่มการแพร่ระบาดในยุโรปช่วงต้นเดือน ก.พ.  ก่อนที่จะลุกลามไปยังภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงสหรัฐ แคนาดา และได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่พบในหลายประเทศทั่วโลกภายในช่วงสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

นักวิจัยกำลังจับตาว่า ไวรัสชนิดนี้จะอ่อนกำลังลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น  ในช่วงฤดูร้อนเหมือนกับไวรัสโคโรน่าที่ทำให้เกิดโรคหวัดตามฤดูกาลหรือไม่ หรือจะกลายพันธุ์ต่อไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ทำให้เกิดข้อจำกัดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-19ที่ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนากันอยู่ เนื่องจากนักวิจัยวัคซีนส่วนหนึ่งใช้ลำดับพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่าในช่วงแรก ๆ ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดตั้งต้น เพื่อประโยชน์ด้านการพัฒนาวัคซีน

เบตต์ คอร์เบอร์ นักชีววิทยาของแอลเอเอ็นแอล  ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานผลการศึกษากล่าวว่า  แม้เรื่องนี้จะเป็นข่าวเชิงลบก็อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะทีมนักวิจัยแอลเอเอ็นแอล ได้เก็บบันทึกข้อมูลการกลายพันธุ์นี้ไว้หมดแล้ว  รวมทั้งผลของการกลายพันธุ์ที่มีต่อการแพร่ระบาด และความร่วมมือระหว่างบรรดานักวิจัยในห้องปฏิบัติการของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้มีการศึกษา ติดตาม และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับลำดับพันธุกรรมใหม่ของไวรัสชนิดนี้ ได้อย่างรวดเร็ว และเท่าที่จะเป็นไปได้

มีรายงานว่า เมื่อต้นเดือน มี.ค. นักวิจัยของจีนก็ออกมาระบุว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดอยู่ ถูกตรวจพบว่ามี 2 สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ในการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งและสถาบันปาสเตอร์ในเซี่ยงไฮ้ เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ชี้ว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อได้รวดเร็วขึ้นนั้น  มีสัดส่วนราว 70% ของทั้งหมดที่ถูกนำมาวิจัย และเป็นสายพันธุ์ที่ออกอาการรุนแรงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต พบมากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดใหม่ ๆ ในเมืองอู่ฮั่น

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยของแอลเอเอ็นแอล ได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดยุค และมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์จากประเทศอังกฤษ ทำการวิเคราะห์วิจัยลำดับพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่าอีกหลายพันสายพันธุ์ และจนถึงขณะนี้พบว่า มี14 สายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์  ซึ่งมีผลต่อสไปค์โปรตีน (spike protein) ซึ่งเป็นโครงสร้างชั้นนอกของไวรัสและเป็นกลไกที่นำพาไวรัสเข้าสู่ร่างกายของสิ่งมีชีวิต สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์และแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนให้เกิดขึ้นในเร็วนี้ 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/879396

 

 
‘ไฟเซอร์’ เริ่มทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ในคน
 

ทั้งนี้ ไฟเซอร์ได้พัฒนาวัคซีนดังกล่าวร่วมกับ BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี โดยผู้เข้าร่วมโครงการทดลองดังกล่าวในสหรัฐจะได้รับการฉีดวัคซีน BNT162 หลังจากที่เริ่มมีการทดลองวัคซีนดังกล่าวในคนในเยอรมนีในเดือนที่แล้ว

ไฟเซอร์ ระบุว่า ผู้เข้าร่วมโครงการทดลองวัคซีนดังกล่าวอยู่ในวัย 18-55 ปี ก่อนที่จะรวมผู้ที่มีวัยสูงกว่าเข้าร่วมโครงการดังกล่าวในระยะต่อไป พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า บริษัทจะสามารถผลิตวัคซีนหลายล้านโดสภายในปลายปีนี้

องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทหลายแห่งทั่วโลกกำลังทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 รวมแล้วกว่า 100 ตัว และมีวัคซีนอย่างน้อย 8 ตัวที่กำลังอยู่ในขั้นทดลองกับมนุษย์

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/879240

 

 

"IHU" โควิดสายพันธุ์ใหม่ WHO ยกระดับเฝ้าติดตาม อาจก่อเกิดความเสี่ยงในอนาคต
 

"IHU" โควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.640 มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอันน่าสงสัยว่าจะส่งผลกระทบต่อลักษณะของไวรัส องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงจัดประเภทเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าติดตาม ซึ่งหมายความว่า อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต

"IHU" B.1.640 เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา คณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า โรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ B.1.640 ซึ่งองค์การฯ กำลังเฝ้าติดตามนั้น ไม่ได้แพร่ระบาดเป็นวงกว้างในขณะนี้ และปัจจุบันพบไม่ถึงร้อยละ 1 ของตัวอย่างที่จัดลำดับพันธุกรรมใน ฝรั่งเศส

เชื้อไวรัสฯ B.1.640 สายพันธุ์ดังกล่าว มีอีกชื่อเรียกว่า “ไอเอชยู” (IHU) เนื่องจาก ถูกพบครั้งแรกโดยคณะนักวิชาการจาก สถาบันการติดเชื้อเมดิเตอร์เรเนียนไอเอชยู (IHU Mediterranee Infection) ในเมือง มาร์แซย์ ของฝรั่งเศส

ด้านหัวหน้าฝ่ายเทคนิคของโครงการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การฯ มาเรีย ฟาน เคิร์คโฮฟ แถลงข่าวว่า เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ B.1.640 ถูกพบครั้งแรกในหลายประเทศเมื่อเดือนกันยายน 2021 ซึ่งหลังจากการอภิปรายภายใน องค์การฯ ได้จัดประเภทเชื้อไวรัสฯ ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าติดตาม (VUM) ในเดือนพฤศจิกายน 2021

 

คำจำกัดความขององค์การฯ ระบุว่า เชื้อไวรัสฯ ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าติดตาม คือ เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Sars-CoV-2) ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอันน่าสงสัยว่าจะส่งผลกระทบต่อลักษณะของไวรัส ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต ทว่าหลักฐานทางระบาดวิทยายังไม่ชัดเจน จึงต้องยกระดับการเฝ้าติดตามและประเมินซ้ำขณะรอหลักฐานใหม่

และยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เนื่องจาก เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ "IHU" B.1.640 มีการกลายพันธุ์หลายจุด องค์การฯ จึงจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าติดตาม เพื่อเพิ่มความตระหนักของสาธารณชน พร้อมย้ำว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19ในปัจจุบัน สามารถป้องกันเชื้อไวรัสฯ ทุกสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดอยู่ และมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิต

ฉันคิดว่าการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญมากที่สาธารณชนจะต้องรู้ เมื่อถึงคิวคุณแล้ว ให้รับฉีดวัคซีนเลย เพราะ มันสำคัญมาก

ส่วนผู้อำนวยการแผนกภูมิคุ้มกัน วัคซีน และชีววิทยาขององค์การฯ แคทเธอรีน โอไบรอัน กล่าวว่า เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ "IHU" B.1.640 ไม่ใช่สายพันธุ์ที่มีความชุกมากขึ้น แต่เป็นเพียงส่วนน้อยของสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดอยู่

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/hot-social/500224?adz=

 

 
"30บาทรักษาทุกที่" ช่วยผู้ป่วยรอยต่อ กทม.-ปริมณฑล รับบริการสะดวก
ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 กทม. ชี้นโยบาย "ยกระดับบัตรทอง" 30 บาทรักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ เป็นผลดีกับประชาชนในพื้นที่รอยต่อปริมณฑลที่ทำงานใน กทม. ช่วยให้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยได้สะดวก ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวหรือกลับไปรับบริการในพื้นที่ตัวเอง

ทำให้ผู้ที่เดินทางไปทำธุระ ท่องเที่ยว หรือทำงานในต่างพื้นที่แล้วมีเหตุจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล เช่น เจ็บป่วยกระทันหัน ต้องทานยาต่อเนื่องแล้วยาหมดพอดี หรือปวดฟัน เหงือกบวม ต้องพบทันตแพทย์ ฯลฯ สามารถเข้าไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิที่อยู่ในเครือข่ายของ สปสช. ได้เลย โดยไม่จำกัดว่าต้องมีใบส่งตัวหรือต้องเดินทางกลับไปรับบริการในพื้นที่ที่ตัวเองลงทะเบียนไว้

"30บาทรักษาทุกที่" ทลายกำแพงบริการ

ดร.ทพ.วิรัตน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของพื้นที่ กทม. มีการเปิดให้ผู้ใช้ สิทธิบัตรทอง สามารถเข้าไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิในลักษณะข้ามเขตได้ตั้งแต่ปี 2564 แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2563 มีกรณีการยกเลิกสัญญาหน่วยบริการที่มีความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงินค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแก่ประชาชนจึงอนุโลมให้ผู้ที่หน่วยบริการประจำของตัวเองถูกยกเลิกสัญญา สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ จากนั้นเมื่อมีการรับสมัครหน่วยบริการใหม่ ก็ถือโอกาสจัดระบบบริการแบบใหม่โดยให้ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เป็นหน่วยบริการประจำให้แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองใน กทม.

"30บาทรักษาทุกที่" ช่วยผู้ป่วยรอยต่อ กทม.-ปริมณฑล รับบริการสะดวก

เบิกจ่ายตามรายการกว่า 3,000 รายการ

ส่วนหน่วยบริการที่ทำสัญญากับ สปสช. ชุดใหม่ จะเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิภายใต้หน่วยบริการประจำ ในลักษณะเป็นเครือข่ายหรือพวงบริการในเขตนั้นๆ ประกอบกับขณะนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณ 2564 และอยู่ระหว่างเพิ่มจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิชุดใหม่ บางพื้นที่มีหน่วยบริการน้อยแต่จำนวนประชากรมาก ถ้ารอรับบริการเฉพาะในพื้นที่นั้นก็อาจติดขัด

เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนจึงเกิด Model 5 คือ ให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. สามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย สปสช. ที่ไหนก็ได้ โดยเบิกจ่ายตามรายการบริการ หรือ fee schedule กว่า 3,000 รายการ

"จะเห็นว่าในพื้นที่ กทม. เรานำร่องดำเนินการอยู่แล้ว พอปีใหม่ 2565 มีนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศออกมา สิ่งที่ขยายขอบเขตคือจากเดิมที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองไปรับบริการในเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิของตนเองใน กทม. ก็ปรับเป็นรับบริการข้ามเขตสุขภาพได้ เช่น ประชาชนจากเขตใกล้เคียงอย่าง สระบุรี ราชบุรี ระยอง ถ้าเข้ามาใน กทม. แล้วเจ็บป่วย ก็มาเข้ารับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิได้โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว"

"แบบนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนจากเขตอื่นๆ ตามรอยต่อของปริมณฑล เพราะจะมีบางส่วนที่ทำงานใน กทม. เช้านั่งรถมาทำงาน เย็นนั่งรถกลับ กว่าจะถึงบ้านก็มืดแล้ว รพ.สต.ปิดแล้ว แต่พอมีนโยบายนี้ก็สามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการใน กทม. ได้ ซึ่งขณะนี้เริ่มมาได้ 3 เดือนยังอยู่ระหว่างเก็บตัวเลขสถิติข้อมูล แต่เท่าที่มีในปัจจุบันยังไม่มีการร้องเรียนใดๆ" ดร.ทพ.วิรัตน์ กล่าว

"30บาทรักษาทุกที่" ช่วยผู้ป่วยรอยต่อ กทม.-ปริมณฑล รับบริการสะดวก

ดร.ทพ.วิรัตน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับบริการนั้น ตั้งแต่ปี 2564 สปสช.เขต 13 ได้จัดทำตัวชี้วัดเพื่อดูว่ามีโอกาสที่คนไข้จะไป shopping around หรือไปรับบริการไปทั่ว ไปคลินิกนั้นทีคลินิกนี้ทีหรือไม่ อย่างไรก็ดี พบว่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการชุดเก่าในปี 2563 แล้ว ไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในการรับบริการนอกเครือข่ายหน่วยบริการหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับบริการของประชาชน

โรงพยาบาลใหญ่ๆ ก็ไม่ได้มีคนไปรับบริการมากขนาดนั้น แต่ก็ต้องติดตามดูในระยะยาวด้วยเนื่องจาก 2 ปีมานี้เกิดการระบาดของโควิด-19 จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่เห็นภาพการไปรับบริการในสถานการณ์ปกติได้ ต้องดูว่าเมื่อสถานการณ์การระบาดสงบลงแล้วทิศทางพฤติกรรมการรับบริการจะเป็นอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ปัจจุบันในพื้นที่ สปสช.เขต 13 กทม. มีหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งประกอบด้วยศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น หน่วยบริการปฐมภูมิในโรงพยาบาลใหญ่ๆ มีประมาณ 300 แห่ง แต่ยังมีหน่วยร่วมบริการ เช่น หน่วยร่วมบริการด้านเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกพยาบาลและผดุงครรภ์ และร้านยา จะมีเพิ่มขึ้นอีก 600 กว่าแห่ง เฉพาะร้านยามี 488 แห่ง คลินิกเวชกรรม 102 แห่ง คลินิกทันตกรรม 28 แห่ง

โดยรวมระบบบริการมีหน่วยบริการกว่า 955 แห่ง หากเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ลงทะเบียนกับ สปสช. กทม. จะรู้ว่าหน่วยบริการปฐมภูมิของตัวเองอยู่ที่ไหน หน่วยบริการประจำอยู่ที่ไหน หน่วยบริการรับส่งต่ออยู่ที่ไหน และมีความคุ้นเคยกับคลินิกชุมชนอบอุ่นซึ่งจะมีจะมีป้ายสัญลักษณ์ สปสช. เพราะฉะนั้นถ้าเคยใช้บริการคลินิกชุมชนอบอุ่นมาก่อน ผู้ใช้สิทธิจะรู้อยู่แล้วว่าถ้าเห็นป้ายสัญลักษณ์แบบนี้ก็สามารถเข้าไปรับบริการได้เลย

อย่างไรก็ดี ในส่วนของประชาชนที่อาจจะมาจากพื้นที่อื่นๆ สปสช.เขต 13 กทม. จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นระยะๆ รวมทั้งจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์หน่วยร่วมให้บริการ เช่น หน่วยร่วมบริการด้านเวชกรรม คลินิกทันตกรรม ร้านยา ให้มากขึ้น แต่ให้สังเกตง่ายๆ คือหน่วยบริการที่มีป้ายคำว่าชุมชนอบอุ่นต่อท้ายก็เข้าไปรับบริการได้

สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) หรือ คลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

"30บาทรักษาทุกที่" ช่วยผู้ป่วยรอยต่อ กทม.-ปริมณฑล รับบริการสะดวก

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1003038?anf=

WHO ระบุ ผู้ป่วย "โควิด-19" แบบเฉียบพลัน จะเกิดอาการ "Long COVID" ได้ ร้อยละ 10-20 พบเกิดขึ้นทันทีหลังฟื้นตัว เร่งศึกษาเพิ่มเติมถึงผลระยะยาว

เพจ World Health Organization Thailand เผยแพร่ข้อความถึงอาการของ ผู้ป่วยโควิด-19 บางรายจะประสบกับ "กลุ่มอาการหลังโควิด-19" ซึ่งประกอบด้วยอาการเรื้อรังจำนวนมาก เราเรียกสิ่งนี้ว่า "ภาวะหลังโควิด-19" หรือ "Long COVID" อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่ผู้ป่วยฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 แบบเฉียบพลัน หรืออาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ที่เริ่มป่วยและยังคงไม่หายไป

อาการเหล่านี้อาจผันผวนหรือกลับมาอีกเมื่อเวลาผ่านไป ภาวะหลังโควิด-19 สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ติดเชื้อโควิด-19 แม้ว่าจะมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการในช่วงแรกก็ตาม

ในบรรดา 200 อาการที่มีการรายงาน อาการที่พบบ่อยที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หายใจไม่อิ่ม สมองล้า และอ่อนเพลีย ส่วนอาการที่พบได้ไม่บ่อยเท่า ได้แก่ เจ็บหน้าอก มีปัญหาในการพูด วิตกกังวลหรือซึมเศร้า ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ สูญเสียการได้กลิ่นและการรู้รสชาติ

รายงานเบื้องต้นระบุว่าผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณร้อยละ 10-20 จะยังคงมีอาการเรื้อรังเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 แบบเฉียบพลัน อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ยังคงเป็นโรคที่ค่อนข้างใหม่และต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยกลุ่มใดที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบระยะยาวเหล่านี้ และเพื่อให้เข้าใจสาเหตุของภาวะดังกล่าวมากขึ้น

"Long COVID" อาการ 3  อันดับแรกเจอบ่อยสุด พบทันทีหลังฟื้นตัว WHO เร่งศึกษา

องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 (ทั้งที่ได้รับการยืนยันและสงสัยว่าติด) ควรได้รับการดูแลและติดตามหากพบว่าตนมีอาการเรื้อรัง อาการใหม่ หรืออาการที่เปลี่ยนแปลงไป และควรได้รับการดูแลในหลายมิติ ทั้งจากผู้ให้บริการปฐมภูมิ (บุคลากรทางการแพทย์) ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่จิตสังคม และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

เรายังไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับอาการลองโควิด เพราะเรายังไม่เข้าใจสาเหตุและการก่อตัวของอาการ อย่างไรก็ตาม หากเราเข้าใจกลไกของโรคได้ดีขึ้น เราก็จะสามารถพัฒนาวิธีการรักษาที่ตรงจุดได้

องค์การอนามัยโลกกำลังทำงานอย่างเร่งด่วนกับนักวิจัยเพื่อปรับปรุงระบบการเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานเกี่ยวกับภาวะหลังโควิด-19 โครงการศึกษาภาวะหลังโควิด-19 (Post-COVID Condition Core Outcomes) จะศึกษาผู้ป่วยที่มีอาการลองโควิดและค้นหาว่ามีปัจจัยใดบ้างที่เราต้องวัดผลเพื่อทำความเข้าใจและรักษาอาการดังกล่าว

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เพจ World Health Organization Thailand

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/510315?adz=

 

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ